ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณในสังคมอีสาน

Socail Like & Share

รำผีฟ้า
ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณของสังคมไทยทุกภูมิภาคนั้นได้ผสมผสานกับพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน แต่เราอาจจะพอแยกให้เห็นว่าส่วนใดเปฌนความเชื่อทางพุทธศาสนา และส่วนใดเป็นความเชื่อเรื่องภูติผี แต่อย่างไรก็ตามถ้าเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (Popular Bhuddhism) นั้นจะแยกได้ยากมาก เพราะพิธีกรรมต่างๆ นั้นเป็นความเชื่อเรื่องภูติผีปะปนอยู่มาก เช่น คนไทยนิยมนำพระพุทธรูปมาเป็น
เครื่องลางของขลัง ซึ่งตามปรัชญาพุทธศาสนาแล้วจะปฏิเสธอาถรรพ์เวทย์ หรือไสยเวทย์อย่างสิ้นเชิง แต่ตามที่คนไทยชาวพุทธประพฤติปฏิบัตินั้นหาได้ปฏิเสธเรื่องคาถาอาคมและไสยเวทย์แต่อย่างไร ยิ่งในสังคมสมัยอดีตความเชื่อเรื่องไสยเวทย์ยังมีอิทธิพลต่อสังคมมากเท่านั้น ส่วนการทรงเจ้าเข้าผีนั้นอาจจะแยกออกจากพุทธศาสนาได้ค่อนข้างจะชัดเจน
ความเชื่อเรื่องภูติผีนั้นฝังแน่นอยู่กับคตินิยมของคนไทยอย่างแน่นแฟ้นตั้งแต่สมัยอดีต แม้แต่ทางบ้านเมือง ยังมีราชพิธีเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องภูติผีอยู่ไม่น้อยในรอบปีหนึ่งๆ เช่นการเซ่นสรวงพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และหลักเมือง รวมทั้งพิธีสอบสวนคดีความสมัยอดีตโดยใช้พิธีลุยไฟ ดำน้ำ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลย ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวเป็นความเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณทั้งสิ้น แม้แต่สมัยกรุงสุโขทัยซึ่งศาสนาพุทธกำลังเจริญรุ่งเรือง แต่การนับถือผีสางก็ยังนิยมกันอยู่ เช่น พระขะพุงผี และถือว่าเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏอยู่ศิลาจารึก หลักที่ ๑ ว่า เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้… มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้ แลไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยงเมืองนี้ดี ผิไหว้ บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…”
ความเชื่อเรื่องภูติผีฯ ในสังคมอีสานนั้นยังฝังแน่นอยู่ในวิถีประชาของสังคมในรอบศตวรรษที่ผ่านมา นั่นคือ ก่อนที่จะได้พัฒนาแนวคิด ไปตามทัศนะของกระแสความคิดใหม่ๆ ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลต่อวิถีประชาในสมัยการใช้ระบบโรงเรียนตาม พ.ร.บ. ประถมศึกษา (พ.ศ. ๒๔๖๔) หรือสมัยที่มีการพัฒนาการคมนาคมหัวเมืองอีสาน (น่าจะเริ่มนับจากสมัยสร้างทางรถไฟ คือปลายรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖) แม้ว่าในปัจจุบันนี้ความเชื่อเรื่องภูติผีจะเจือจางลงไปมากก็ตาม แต่ในชนบทที่ห่างไกลยังมีพิธีกรรมเรื่องภูติผีในรอบปีอยู่ ความเชื่อเรื่องภูติผีที่สำคัญๆ ของอีสาน ซึ่งเป็นบ่อเกิดในพิธีกรรมต่างๆ น่าจะได้แก่
๑. ผีแถน หรือผีฟ้าผีแถน
ในความเชื่อของสังคมอีสานนั้น เชื่อว่าผีที่ยิ่งใหญ่กว่าผีทั้งหลายนั้นคือ ผีแถน มีลักษณะเป็นเทพมากกว่าเป็นผี นั่นคือผีแถนเป็นผู้สร้างโลก สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ให้แก่โลก คงปรากฏอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม และยังเชื่อว่ามนุษย์นั้น ติดต่อกับแถนได้ในสมัยก่อน เช่น อาจจะขอร้องให้พระยาแถนช่วยเหลือดับยุคเข็ญแก่มนุษยโลกได้ แต่ภายหลังพระยาแถนอดทนต่อความรำคาญของพวกมนุษย์ไม่ไหวจึงไม่ยอมให้ติดต่ออีก นอกจากนี้ชนชั้นผู้ปกครองมีเชื้อสายสืบมาจากพระยาแถนอีกด้วย
แต่ในการศึกษาพิธีกรรมในรอบปีของสังคมอีสานแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีพิธีกรรมใดๆ ที่เป็นพิธีกรรมที่เซ่นสรวง บวงพลีพระยาแถนโดยตรง แต่อาจจะมีพิธีกรรมเกี่ยวเนื่องอยู่บ้าง เช่น การแห่บั้งไฟ ลำผีฟ้าผีแถน (รักษาโรค) ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวก็ไม่ได้แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่าเป็นการเซ่นสรวงเพื่อแสดงความขอบคุณที่คุ้มครองเพทภัย หรือวิงวอนให้คุ้มครองเพทภัยแก่สังคมมากนัก แต่จากความเชื่อที่ติดค้างอยู่ในกระแสความคิดของปัจเจกบุคคลชาวอีสาน หรือการอ้างถึงพระยาแถนนั้น ดูเหมือนว่าสังคมอีสานเคารพเกรงกลัวพระยาแถน เหมือนเทพเจ้าสำคัญที่สุดในสังคมนั้น
เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของพระยาแถนตามทัศนะ ความเชื่อของสังคมอีสานที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรม จึงใคร่จะกล่าวถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องดังนี้
๑. พิธีแห่บั้งไฟ เพื่อให้พระยาแถนให้ฝนแก่มนุษย์ พิธีแห่บั้งไฟของชาวอีสานนั้น มีความเชื่อว่าพระยาแถนลืมหน้าที่ที่จะต้องให้ฝนแก่มนุษย์โลก ฉะนั้นจึงต้องจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเตือนพระยาแถนให้ทราบว่าชาวบ้านชาวเมืองกำลังเดือดร้อนต้องการน้ำฝนเพื่อการปลูกพืชและถึงฤดูการทำนาแล้ว ชาวอีสาน จึงต้องทำบั้งไฟ จุดให้พลุ่งขึ้นไปบนฟ้า เสมือนหนึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างมนุษย์ กับพระยาแถน นอกจากนี้ยังมีการเล่นอวัยวะเพศผู้ชาย (ทำด้วยไม้ท่อนใหญ่ๆ นำมาแห่ด้วย) และการเซิ้ง การรำที่มีความหมายในเชิงหยาบโลน ในบางท้องที่อาจจะทำรูปตุ๊กตาชายหญิงประกบกันและสามารถขยับขึ้นลงได้ การเซิ้งก็คดีการเล่นอวัยวะเพศก็ดี เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการแห่บั้งไฟ และเชื่อกันว่าถ้าไม่เซิ้งคำหยาบๆ หรือเล่นอวัยวะเพศรวมอยู่ในพิธีแห่ บั้งไฟแล้วฝนฟ้าจะไม่ตก เพราะพวกผีเผต ผียักษ์จะมาขัดขวางไม่ให้ฝนตกลงมาถึงพื้นดิน ในความคิดที่มีการเล่นสิ่งสกปรกหยาบโลนนี้น่าจะเป็นความเชื่อที่ว่า พวกภูติผีไม่ชอบคำหยาบคาย หรือสิ่งอัปมงคล ซึ่ง เราจะสังเกตได้จากการตั้งชื่อเด็กของคนไทยมักจะตั้งชื่อในความ หมายที่ต่ำหยาบ เพื่อให้ผีเกลียดผีจะไม่รบกวนเด็กทารก เช่น อ้ายหมา หมู หนู หรือชมเด็กที่น่ารักว่า “น่าตาน่าเกลียด” หรืออีกกระแสความคิดหนึ่งเชื่อว่าเป็นการทำให้ผีพอใจ เพราะพวกผีชอบสิ่งสกปรก และจะให้สิ่งที่มนุษย์ต้องการ แต่ความเชื่อในกลุ่มชาวเกษตรกรรมโบราณเชื่อกันว่า อวัยวะเพศ (ชาย) เป็นเครื่องหมายแห่งการเจริญพืชพันธุ์ จะเป็นความเชื่อกระแสความคิดใดๆ ก็ตาม ต่างก็เป็นความเชื่อที่สังคมอีสานยึดมั่น และได้กระทำพิธีกรรมกันสืบต่อมา เพื่อต้องการผลแห่งพิธีกรรม (คือฝน) โดยไม่ได้ยึดมั่นในหลักปรัชญาแห่งความเชื่อนั้นๆ ว่าจะเป็น กระแสความคิดใด
๒. การเทศน์เรื่องพระยาคันคากตำนานแห่บั้งไฟ ในบางท้องที่จะมีการเทศน์เรื่องพระยาคันคาก (คางคก) หรือท้าวคันคาก รวมอยู่ในพิธีแห่บั้งไฟด้วยเรื่องท้าวคันคากนี้ เป็นตำนานพื้นบ้านกล่าวถึงท้าวคันคากต่อสู้กับพระยาแถน เพื่อให้แถนส่งน้ำฝนลงมายังมนุษย์โลก เนื่องจากพวกกบ เขียด อันเบนบริวารของท้าวคันคากเดือดร้อน เพราะไม่มีน้ำอาศัย เป็นสงครามใหญ่ระหว่างสัตว์กับเทพเจ้า ในที่สุดพระยาแถนพ่ายแพ้จึงต้องให้ฝนตามฤดูกาล ซึ่งเรื่องราวคันคากนี้ก็เป็นความเชื่อส่วนหนึ่งเกี่ยวกับพระยาแถนตามโลกทรรศน์ของชาวอีสาน จนมีการผูกเป็นตำนานและพระสงฆ์ นำมาเทศน์ในที่ประชุมชนรวมอยู่ในพิธีกรรมการขอฝน ซึ่งบางแห่งจัดเป็นพิธีใหญ่มีการตระเตรียมงานอยู่หลายวันรวมทั้งนิมนต์ภิกษุมาสวดคาถาปลาคอ 108 จบ ในพิธีกรรมเดียวกันนี้ด้วย (คาถาปลาคอนี้เป็นคาถาภาษาบาลีคล้ายกับคาถาที่ใช้สวดในพิธีพิรุณศาสตร์ของภาคกลาง)
๓. การรำผีฟ้าเพื่อรักษาโรค บางแห่งเรียกว่า “รำผีแถน” เป็นการรักษาโรคแบบหนึ่งของชาวอีสาน โดยมีความเชื่อว่าโรคที่เกิดจากการกระทำของภูติผี หรือโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ ญาติพี่น้องจะหาหมอทำ (ธรรม?) มาทำพิธีตั้งขันห้าขันแปด (เครื่องบูชา) และมีหมอแคนมาเป่า เจ้าพิธีจะรำแบบหมอลำเนื้อความในทำนองขับไล่ผี และเชิญพระยาแถนมาช่วยปกป้องคุ้มภัยแก่คนไข้ เจ้าพิธีจะอยู่ในลักษณะภวังค์เหมือนคนทรงสามารถถามไถ่อาการคนไข้หรือสาเหตุการเจ็บป่วยได้ เช่น ผิดผี หรือชะตาถึงเคราะห์จะต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ หรือเซ่นผี เสียผี ฯลฯ ซึ่งรวมอยู่ในพิธีรำผีฟ้าผีแถนนี้ด้วยลักษณะการรักษาโรคโดยวิธีรำผีฟ้าผีแถนนี้เป็นความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณของสังคมอีสาน ซึ่งไม่อาจจะอธิบายตามแนววิทยาศาสตร์ได้ แต่ผู้เจ็บป่วยก็มักจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บนั้นหลังทำพิธี
๒. ผีปู่ตาวิญญาณบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน
ผีปู่ตา บางท้องที่เรียกว่า “ผีตาปู่” เป็นดวงวิญญาณบรรพบุรุษประจำหมู่บ้านที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง ไม่อาจจะกำหนดได้ว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษสายใด สกุลใด แต่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษของชาวหมู่บ้านนั้นทุกคน ในชนบทอีสานทุกหมู่บ้านจะมีศาลปู่ตา (เรียกว่า ตูบปู่ตา) สร้างด้วยไม้ มุงหลังคา (หญ้า สังกะสี) ไม่ใหญ่มากนัก การตั้งตูบปู่ตาเป็นทำเลอยู่นอกหมู่บ้านไม่ไกลนัก (ไม่กำหนดทิศที่แน่นอน) มักจะยึดพื้นที่เป็นดอนน้ำท่วมไม่ถึง มีต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นอยู่หนาแน่น (เพราะชาวบ้านไม่กล้าไปตัดไม้ในบริเวณนั้น) บางครั้งเรียกว่าดอนปู่ตา หรือดง ปู่ตง
จากความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อว่า “เจ้าปู่ (ผีปู่ตา) จะเป็นผู้คุ้มครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากอันตราย และภัยพิบัติทั้งปวง วัวควายและสัตว์เลี้ยงทุกอย่างก็ถือว่าอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าปู่ด้วย นอกจากนี้เจ้าปู่ยังแสดงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ให้ปรากฏ โดยวิธีบันดาลให้สิ่งต่างๆ เป็นไปตามความปรารถนาของผู้บนบาน (ในภาษาท้องถิ่นว่า-บา) เมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาตามที่บาปู่ตาไว้แล้วชาวบ้านจะแก้บนหรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “เสียค่าคาย” ในการเสียค่าคายนี้อาจจะมาทำรวมในวันที่มีพิธีเลี้ยงผีปู่ตาประจำปี ของหมู่บ้านก็ได้ โดยปกติจะกำหนดในเดือน ๖ (วันกำหนด โดยชาวบ้าน) ฉะนั้น ผีปู่นั้นเป็นเสมือนที่พึ่งทางใจของชาวบ้านเมื่อได้รับความเดือดร้อน เช่น ของหาย เดินทางไกลไปรับ หรือเมื่อถูกเกณฑ์ทหาร ชาวบ้านจะไปบาผีปู่ตา ที่ตูบ เพื่อวิงวอนให้เจ้าปู่ช่วยบันดาลให้สมกับความตั้งใจ ไม่เพียงแต่เท่านั้นชาวบ้านทุกคนยังเกรงกลัวต่ออิทธิฤทธิ์ของเจ้าปู่ ไม่มีใครที่จะดูแคลน หรือไม่ยำเกรง ฉะนั้น เรื่องเล่าที่แสดงถึงอิทธิฤทธิ์ของเจ้าปู่ยังคงจดจำและคิดอยู่ที่ปากชาวบ้านทุกคน เช่น คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อไม่เคารพผีปู่ตา กล่าววาจาเชิงดูถูกดูแคลน มักจะมีอันเป็นไป เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ หรือมีอาการเพ้อ จึงต้องไปหาหมอจ้ำ (เจ้าพิธีที่ติดต่อกับวิญญาณผีปู่ตา) เพื่อทำพิธีขอขมาผีปู่ตาอาการดังกล่าวจะหายไปทันที ฉะนั้นคนไม้ สัตว์ ในบริเวณดอนปู่ตาชาวบ้านจะไม่กล้าไปนำมาไว้ที่บ้าน เพราะเกรงว่าจะมีอันเป็นไป หรือที่เรียกว่า “ขวง” หรือเข็ดขวง
๑) สถานะของผีปู่ตาในความเชื่อของชาวอีสาน
ผีปู่ตา เป็นผีบรรพบุรุษของชาวบ้านที่เชื่อกันว่าเมื่อบรรพบุรุษของตนสิ้นชีวิตไปแล้วก็จะกลับมาให้ความคุ้มครองป้องภยันตรายแก่ลูกหลานของผู้ตาย และไม่อาจจะกำหนดเฉพาะได้ว่าเป็นบรรพบุรุษของสกุลใด มีชีวิตอยู่ในสมัยใด จึงเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษรวมๆ ของชาวบ้าน ในสังคมนั้นๆ เมื่อพิจารณาทางด้านเชื่อทำให้เข้าใจว่าเป็นผีบรรพบุรุษของญาติทั้งฝ่ายหญิงและชาย คือ ปู่ และตา ฉะนั้น น่าจะสรุปได้ว่าเป็นผีบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์

ตามลักษณะของพิธีกรรม และความเชื่อเรื่องผีปู่ตานี้ ส่อให้เห็นว่าชาวบ้านอีสานมีทัศนะเกี่ยวกับโลกว่ามีโลกของผีและโลกของมนุษย์ โลกของผีอันเป็นที่อยู่ของวิญญาณที่ล่วงลับไปแล้ว และอาจจะติดต่อสื่อสารกันได้ระหว่างโลกของผีและมนุษย์ โดยผ่านตัวกลางคือหมอจ้ำหรือขะจ้ำ ขะจ้ำจะถูกคัดเลือกโดยเจ้าปู่ เมื่อขะจ้ำคนเดิมล่วงลับไปแล้วขะจ้ำ จะทำหน้าที่ดูแลตูบปู่ตา และเช่นสรวงบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนประจำวันพระ (๑๕ คํ่า และ ๘ คํ่า) การสื่อสารระหว่างโลกมนุษย์และโลกผีนั้นจะกระทำครั้งใหญ่ประจำปีเรียกว่าการเลี้ยงผี ปู่ตา ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมารวมกันออกเงิน ซื้อหมู ๒ ตัว เหล้า และอาหารอย่างอื่นเท่าที่หาได้แล้ว แห่แหนด้วยกลองยาวมารวมชุมนุมกันที่ตูบปู่ตาตั้งแต่บ่าย เมื่อเจ้าปู่มาซูน (เข้าทรง) ขะจ้ำแล้ว มนุษย์กับผีสามารถสื่อสารติดต่อกันได้ ผีปู่ตาจะสั่งสอนกล่าวตักเตือนชาวบ้าน หรือตอบคำถามของชาวบ้านที่สงสัยเรื่องราวที่เกี่ยวกับตนเอง หรือชุมชน ตลอดจนการทำนายดินฟ้า นอกจากนี้ยังมีการขอร้องให้เจ้าปู่ช่วยคุ้มครองป้องกันภัย เช่น ไม่ให้วัวควาย เป็นโรคห่า หรือคุ้มครองลูกหลานที่ออกไปประกอบอาชีพในต่างถิ่น เป็นต้น นอกจากพิธีกรรมประจำปีนี้ ชาวบ้าน อาจจะติดต่อกับผีปู่ตาได้ในบางครั้งโดยไปหาขะจ้ำเข้าทรง เพื่อขอร้องให้ขจัดปัดเป่าภัยพิบัติของตนก็ได้ ซึ่งเป็นความ ต้องการของปัจเจกบุคคล หลังจากนั้นก็มีการเสียค่าคายตามกำหนดหรือตามที่เจ้าตัวบาไว้ (บนบาน)
จากแนวคิดที่ว่าผีหรือวิญญาณมีโลกเฉพาะ และย่อมอยู่เหนือธรรมชาติ คือ อิทธิฤทธิ์ ฉะนั้นขะจ้ำก่อนที่จะเชิญวิญญาณเจ้าปู่มาซูนนั้น จะต้องเตรียมตัวตามขั้นต่างๆ เพื่อให้บริสุทธิ์หรืออยู่ในสภาพเหนือมนุษย์นั้นคือจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายด้วยเสื้อผ้า เฉพาะเช่นเสื้อคลุมยาว สวมมงกุฎดอกไม้ และถือดาบเป็นอาวุธ ครั้น เมื่อผีเจ้าปู่มาเข้าทรงแล้ว เสียงพูดจะเปลี่ยนไป ใช้สรรพนามว่า “กู” เพื่อแสดงถึงความอยู่เหนือกว่าชาวบ้าน ดื่มเหล้าไม่เมา (จำนวนมาก ๆ) สูบยาโดยใช้ใบตองห่อพริกแห้งเป็นการแสดงให้เห็น “สภาพเหนือมนุษย์” ของขะจ้ำ ในขณะที่เจ้าปู่มาซูน
๒) ผีปู่ตาเป็นสถาบันที่ให้ความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน
ความเชื่อเรื่องผีปู่ตานี้เป็นบ่อเกิดของการเข้าเจ้าทรงผี เพื่อมนุษย์จะติดต่อกับวิญญาณ และการเช่นสรวงสังเวยก็เป็นส่วนที่มนุษย์จะอุทิศสิ่งของมีค่า อาหารต่อวิญญาณที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์หรือเพื่อเป็นการตอบแทนผลประโยชน์ที่ตนได้รับจากความช่วยเหลือของวิญญาณ การที่ชาวบ้านได้กระทำ พิธีเลี้ยงผีปู่ตาประจำปีหรือเสียค่าคายในการบาเจ้าปู่นั้น ก็เป็นการเอาใจหรือแสดงความกตัญญูที่ผีปู่ตาได้คุ้มครองรักษาเพทภัยต่างๆ แก่ตน ครอบครัว และชาวบ้านส่วนรวมทั้งหมู่บ้าน ให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และป้องกันภัยธรรมชาติอันที่จะมาเบียดเบียนชาวบ้านให้เกิดภัยพิบัตินานาประการ
สถาบันของผีปู่ตาได้รับการรับรองและร่วมมืออย่างดี จากสังคมของหมู่บ้านทางด้านการจัดองค์การของผีปู่ตา มีศาลที่บูชา มีกำหนดพิธีกรรมในการบวงสรวงที่แน่นอนมีผู้แทนในการติดต่อสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับผีปู่ตา (ขะจ้ำ) มีผู้ช่วยขะจ้ำทำหน้าที่ช่วยเหลือในการทำพิธี ตลอดจนการเรี่ยไรเงินเพื่อใช้ในพิธีกรรมด้วย ถ้าเราพิจารณาถึงความ เชื่อและหน้าที่ของสถาบันผีปู่ตาแล้ว จะเห็นว่าเป็นสถาบันกลางของสังคมอันเป็นที่ยึดมั่นทางจิตใจ สามารถช่วยขจัดทุกข์ร้อนไม่ให้สังคม เกิดยุคเข็ญทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของผีปู่ตานั้น มีส่วนให้ชาวบ้านวางใจต่อเพทภัยที่จะบัง เกิดแก่ส่วนรวมและส่วนบุคคล ไม่เพียงแต่เท่านั้นการที่ชาวบ้านได้ร่วมกระทำพิธีกรรมจะได้ร่วมมือร่วมแรงกันเป็นการเสริมสร้างสามัคคีธรรมระหว่างบุคคลในหมู่บ้าน โดยปราศจากช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน และที่น่าจะพิจารณาให้ชัดไปได้ว่า สถาบันผีปู่ตานั้นทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของชาวบ้าน ไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดประพฤตินอกรีดประเพณีของสังคม โดยอาศัยอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติของเจ้าปู่ ซึ่งเป็นผลให้สังคมอยู่กันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และไม่ประพฤติผิดฮีตบ้านดองเมือง (จารีตประเพณี) อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมอย่างแท้จริง
ถึงแม้ว่าสังคมชาวอีสานจะนับถือศาสนาพุทธโดยทั่วไป แต่ก็เป็นการผสมผสานเรื่องความเชื่อผีสางเข้ากับพุทธศาสนาอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเหตุว่าพุทธศาสนาให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่ชาวบ้านไม่ได้ โดยเฉพาะอำนาจที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้นเป็นความเชื่อที่พุทธศาสนาปฏิเสธอย่างสิ่นเชิง แต่ชาวบ้านหรือชาวพุทธหาได้ปฏิเสธไม่ เช่นน้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาค ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการทำของ สิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติฉะนั้นจึงหันเข้ายึดมั่นในอำนาจของผีปู่ตา และขอความคุ้มครองจากผีปู่ตา รวมทั้งพระสงฆ์ที่เป็นชาวอีสานเองก็ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณ
๓. ผีมเหสักข์หลักเมือง
ผีมเหสักข์หลักเมือง บางครั้งเรียกว่า “ผีอาฮัก” (อารักษ์) มีลักษณะเช่นเดียวกับหลักเมืองของภาคกลาง ต่างแต่ว่าในภูมิภาคอีสานนั้นมิใช่จะมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น (ส่วนใหญ่หลักเมืองไม่ค่อยจะมี เพราะถูกห้ามหลังกบฏผีบ้า ผีบุญ สมัยรัชกาลที่ ๕) แต่ตามหมู่บ้านนั้นมีทุกหมู่บ้านเรียกว่า “หลักบ้าน” ซึ่งมักจะอยู่ในที่เด่นเห็นได้ชัด เช่น ทางสามแพร่งภายในหมู่บ้าน หรือบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน (แต่บางแห่งพบว่าอยู่บริเวณหน้าวัด แต่นอกเขตรั้ว) บริเวณใกล้หลักบ้านนั้นจะมีศาลากลางบ้านเป็นส่วนใหญ่ สำหรับใช้ในพิธีกรรมตอกหลักบ้านหลักเมือง หรือเรียกว่า “บุญชำฮะ”
ในความเชื่อที่ว่าหมู่บ้านจะอยู่ได้ปกติสุขนั้น เพราะผีอาฮักคุ้มครอง ให้ความเที่ยงตรง สังคมจะอยู่สงบสุข ถ้าบ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายชุกชุม เจ้านายวุ่นวายแย่งอำนาจเกิดการตีรันฟันแทงหรือผู้คนในหมู่ บ้านทะเลาะวิวาทกันอยู่เนืองๆ เชื่อว่าหลักบ้านไม่เที่ยงตรง คือ หลักบ้านมันเหงี่ยงมันหง่วย จะต้องทำพิธีตอกหลักบ้านหลักเมือง คือ ถอดหลักบ้านแล้วตอกหลักใหม่ให้เที่ยงตรง ในพิธีกรรมนี้จะนิมนต์พระภิกษุ มาสวดมนต์ (ชยันโต) ด้วย
ตามปกติแล้วถ้าไม่มีเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ จะกระทำพิธีเซ่นสรวงหลักบ้านในเดือนเจ็ด เรียกว่า “บุญชำฮะ” ชาวบ้านจะพากันมาสร้างผาม (ปะรำพิธี) ที่บริเวณหลักบ้าน (ถ้ายังไม่มีศาลากลางบ้าน) นิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์เย็น เช้าทำบุญถวายจังหัน ชาวบ้านทุกครัวเรือน จะนำดอกไม้ธูปเทียนอาหารมาร่วมพิธี พร้อมกับโอน้ำ ด้าย
หรือมีอาการผิดปกติถ้าเป็นผู้ใหญ่ ฯลฯ ส่วนเหตุการณ์สำคัญๆ บังเกิดแก่เครือญาติเป็นหน้าที่ของทุกคนจะต้องมาที่บ้านต้นตระกูลเพื่อจุดธูปเทียนบอกกล่าวพ่อเชื่อแม่เชื่อ เช่นแต่งงาน บวชนาค ขึ้นบ้านใหม่ หรือไปค้าขายได้กำไร และมีเด็กเกิดในตระกูล ฯลฯ เป็นต้น
๔. ความเชื่อผีอื่นๆ
ความเชื่อเรื่องผีสางในภาคอีสานนั้นยังมีอีกจำนวนมาก และผีบางจำพวกไม่เคยที่จะให้คุณแก่มนุษย์เลย เช่น ผีโพง ผีกะ (ปอบ) ผีเป้า (ผีกระสือ) ชาวอีสานถือว่าเป็นผีชั้นเลว ชอบแต่ที่จะรังแกมนุษย์ จึงไม่มีพิธีกรรมเซ่นสรวงบวงพลี แก่ผีเหล่านี้ จึงไม่กล่าวถึง
ส่วนผีเล็กๆ แต่สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ ที่น่าจะต้องกล่าวถึงได้อีก เช่นผีประจำไร่นา ช่วยให้ธัญพืชงอกงาม ไม่ถูกรบกวนจากศัตรูพืช หรือวิญญาณอื่นๆ เรียกว่า “ผีตาแฮก” การไหว้ผีตาแฮกจะกระทำกันทุกปีในราวเดือนหก คือเริ่มจะทำนา ชาวบ้านจะนำอาหารและไก่ต้ม ของหวาน ไปเลี้ยงผีตาแฮกที่ท้องนา และอธิษฐานให้พืชพันธุ์ดี เจริญงอกงามและฝนตกลงตามฤดูกาล ฯลฯ
ผีที่น่าจะต้องกล่าวถึงอีกประเภทหนึ่ง คือ “ผีฟ้า” มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่นับถือ นัยว่าจะเป็นผีฟ้าผีแถนนั่นเอง ต่างแต่ว่าพวกคนทรงนับถือ และนำมาทำพิธีกรรมในกลุ่มของตนเรียกว่า “นางเทียม” ฉะนั้นจึงมักเรียกว่า “ผีฟ้า นางเทียมนั้นคือคนทรงนั่นเอง นางเทียมจะเชิญวิญญาณให้มาซูน (ประทับทรง) พวกลูกค้าจะขอร้องให้ช่วยขจัดปัดเป่า ความเดือดร้อน รวมทั้งทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ พวกผีฟ้านางเทียมก็คือการทรงเจ้าเข้าผีของภาคกลางนั่นเอง ครั้นเมื่อถึงพิธีเลี้ยงผีฟ้าประจำปี พวกนางเทียมต่างๆ จะมารวมกันที่บ้านที่พวกนางเทียมถือว่าเป็นครู กระทำพิธีเซ่นสรวงด้วยอาหาร เหล้ายาพวกนางเทียมจะอยู่ในอาการภวังค์ และร่ายรำตามทำนองแคนและกลอง ชาวบ้านที่เป็นสานุศิษย์ก็จะไปร่วมพิธีด้วย
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *