โลกและจักรวาลในโลกทรรศน์ของชาวอีสาน

Socail Like & Share

ชาวอีสานสืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง และมีความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติใกล้ชิดกับกลุ่มคนไทยในลานช้าง (ลาว) รวมทั้งมีความคล้ายคลึงกันทางด้านภาษา วรรณกรรม ตลอดจนความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งถ้าศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์แล้วพบว่า ชาวอีสานตลอดจนเวียงจันทน์ หลวงพระบาง ตกอยู่ใต้อำนาจการเมืองของราชธานีไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๒ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเมื่อก่อนหน้านี้ หัวเมืองอีสาน (เว้นโคราช) มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับราชธานีมากนัก ครั้นเมื่อมีการจัดตั้งหัวเมืองอีสานสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา ก็พบว่าหัวเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑- รัชกาลที่ ๔ นั้น ประชากรส่วนใหญ่ก็เป็นประชากรที่อพยพกวาดต้อนมาจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงเป็นส่วนใหญ่ ในการควบคุมหัวเมืองอีสานนั้นรัฐบาลกลางก็ยอมให้ปกครองกันเองตามธรรมเนียมการปกครองของลานช้าง คือ ใช้ระบบ อาญาสี่ (เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร) และขึ้นกับราชธานีไทยแบบประเทศราช (ยกเว้นเมืองนครราชสีมาเป็นหัวเมืองชั้นนอกและมีอำนาจควบคุมปกครองหัวเมืองเขมรป่าดงอีกด้วย) ครั้นปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (รัชสมัยรัชกาล ที่ ๕) เป็นต้นมา ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมือง หัวเมืองอีสานจึงถูกผนวกเป็นรัฐประชาชาติเดียวกันกับราชธานีไทย โดย ส่งข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณไปควบคุมเรียกว่า “ระบบเทศาภิบาล” และลดอำนาจเจ้าเมืองลงจนถึงยกเลิกเจ้าเมือง ฉะนั้นโลกทรรศน์ต่างๆ ความเชื่อ คตินิยมของชาวอีสานยังคงมีลักษณะร่วมกับวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขงมาก กว่าวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในการศึกษาโลกทรรศน์ของสังคมอีสานจึงใช้เอกสาร ตำนาน และนิทานปรัมปรา ที่มีอิทธิพลและเจริญสืบเนื่องอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงอันมี อาณาจักรลานช้าง (ลาว) เป็นศูนย์กลาง
๑. ความเชื่อในการกำเนิดโลก
ความเชื่อในการกำเนิดโลก ชาวอีสานมีความเชื่อสืบทอดกันมาเกี่ยวกับการกำเนิดโลก ๒ แนวด้วยกัน คือ แนวตามพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง (ตามอัคคัญสูตร) และตามแนวความเชื่อดั้งเดิมของสังคมอีกแนวหนึ่ง คือ สรรพสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ พระยาแถน หรือแถนฟ้าหลวง หรือแถนฟ้าขื่น เป็นผู้สร้างผู้กำหนด แนวความเชื่อนี้ปรากฏเป็นเอกสาร ลายลักษณ์อยู่ในเรื่อง “ขุนบรม” หรือ “ขุนบอฮม” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวความเชื่อในเรื่องการกำเนิดโลก และจักรวาลตามแนวนี้มิได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ครั้นเมื่อมีการเขียนบันทึกตำนานทางพุทธศาสนา หรือตำนาน บ้านตำนานเมืองนั้น นิทานเรื่องขุนบรมก็ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรรวมอยู่ด้วย จึงพบว่าตำนานขุนบรมนั้นมีการบันทึกตามแนวตำนาน พุทธ ศาสนา อยู่บ้าง เช่น พยายามอธิบายว่า แถนฟ้าขื่นนั้นก็คือ พระอินทร์นั่นเอง เป็นการเชื่อมโยงความคิดระหว่างความเชื่อพื้นบ้านเข้ากับความเชื่อทางด้านศาสนาพุทธให้ผสมกลมกลืนกัน ดังปรากฏในนิทานเรื่องขุนบรม หน้า ๗๙ ว่า “แถนฟ้าขื่นนั้น คือ ตนพระยาอินทร์เจ้าฟ้าแล แถนองค์นี้หูหิ้งแล แถนผู้ให้เป็นฝน เป็นลมนั้นก็ดี แถนแต่งเป็นเครื่องไร่ เครื่องนา แลตั้งให้เป็นโลกทั้งหลายฝูงนี้ทั้งมวลเป็นองค์ประเสริฐยิ่งนักแล ชาวเมืองล่างปางก่อนนั้นเขาเรียกว่า ผีฟ้าผีแถนว่าอั้น” และนอกจากนี้ในหนังสือนิทานเรื่องขุนบรมนั้นยังได้กล่าวว่า มนุษยโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง (ปุ้ง- ใหญ่ ป่องกลาง) ๒ ผล ภายในน้ำปุ้งสองผลนี้ได้มีมนุษย์ชายหญิงมากมาย วัวควาย ช้างม้า และสรรพสิ่งต่างๆ ออกมาตามรอยรู ที่แถนสิ่ว แถนซี (ไช, เจาะ) ได้เจาะรูน้ำปุ้งทั้งสองผลนั้น ในการพิจารณาในความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลกนี้ แสดงให้เห็นว่าเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ก่อนที่แนวความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลกของอินเดียจะเข้ามาสู่ในบริเวณนี้ คือ ที่เชื่อว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและเป็นผู้ทำลาย วนเวียนกันเช่นนี้ เป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่เรียกว่ามานวัตร หรือสมัยพระมนู ซึ่งแนวคิดในการกำเนิดโลกและสรรพสิ่งต่างๆ จากผลน้ำเต้าปุ้งนี้ เป็นความเชื่อของคนไทยที่อยู่ตามแถบลุ่มแม่น้ำโขงขึ้นไปจนถึงพวกไทยใหญ่ ไทยเขิน ไทยลื้อ อีกด้วย
ความเชื่อที่ว่าแถนฟ้าเป็นผู้สร้างโลกนี้ น่าจะเป็นความเชื่อของกลุ่มคนไทยที่เล่าสืบทอดกันมาโดยปากต่อปาก ผ่านชั่วอายุหนึ่งถึงอีกชั่วอายุหนึ่ง จนไม่อาจจะสืบหาต้นตอยุคสมัยของการกำเนิดแนวคิดนี้ได้ ครั้นเมื่อถึงสมัยเริ่มมีการบันทึกตำนานเรื่องราวที่เล่าสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก ก็ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์ และได้คัดลอกสืบต่อกันมา ฉะนั้นตำนานที่เป็นนิทานปรัมปราจึงได้รับการสืบทอดจดจำต่อมาในสังคมของคนไทยลุ่มแม่น้ำโขง
ความเชื่อในการกำเนิดโลกและจักรวาลนี้ ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มคนไทยที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก นั่นคือกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (สุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ) จะอธิบายการกำเนิดโลกตามแนวมานวัตรดังกล่าวข้างต้นแนวหนึ่ง อีกแนวหนึ่งเป็นแนวของพุทธศาสนา ดังปรากฏอยู่ในอัคคัญสูตร คือ ก่อนจะกำเนิด โลกมีการรวมตัวของธาตุเป็นสารละลายร้อน ครั้นเย็นลง กลายเป็นแผ่นดิน พวกเทวดาหอมกลิ่นอายดินก็พากันลงมา กินง้วนดิน ง้วนดินมีส่วนทำให้เทวดาหมดอิทธิฤทธิ์ ไม่สามารถจะกลับไปสู่พิมานได้ จึงกลายเป็นมนุษย์ แนวคิดดังกล่าวนี้ยังปรากฏอยู่ในโองการแช่งน้ำพระพิพัฒน์อีกด้วย จากการศึกษาความเชื่อเรื่องการกำเนิดโลก และจักรวาลนี้ อาจจะแยกแยะการสืบทอดวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยแต่ละ กลุ่มได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ชัดเจนนักก็ตาม แต่เราอาจเห็นแนวคิด ความเชื่อที่สืบทอดกันมาแตกต่างกัน
๒. ความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์
เรื่องมนุษย์คู่แรกต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับความเชื่อมนุษย์คู่แรกของศาสนาคริสต์ ที่เชื่อกันว่า อาดัมกับอีวา เป็นมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษยชาติทั้งมวล ในแนวคิดดังกล่าวนี้พุทธศาสนาไม่ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า มนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นเผ่าพันธุ์คือใครนี้ และไม่ได้ให้ความสำคัญต่อมนุษย์คู่แรก แต่จากการสืบสวน จากแนวคิดพื้นบ้านของคนไทยกลุ่มต่างๆ พบว่าแต่ละกลุ่มมีเรื่องราวอธิบายการกำเนิดมนุษย์ว่า มนุษย์ทั้งหมดนี้ย่อมสืบพืชพันธุ์กันมาจากมนุษย์คู่แรก เล่าสืบทอดกันมาแบบปากต่อปาก ชั่วอายุหนึ่งต่อชั่วอายุหนึ่งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่มีการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ฉะนั้นในปัจจุบันนี้จึงมีลักษณะอยู่ในความทรงจำที่เลือนลาง ดังนี้
ในความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกต้นเผ่าพันธุ์ของประชาคมลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อว่า “ปู่สังกะลาย่าสังกะสี” เป็นบรรพ¬บุรุษคู่แรกที่เป็นต้นเผ่าพันธุ์ แต่เป็นภาพที่เลือนลางอยู่มาก กล่าวคือ เราไม่ได้เรื่องราวเกี่ยวกับปู่สังกะสาย่าสังกะสีที่เป็นรูปนิทานอธิบายเหตุที่มา หรือนัยประวัติของบรรพบุรุษคู่แรกนี้ กระนั้นก็ตามยังพบอยู่ในสำนวนพูดที่กล่าวถึงอดีต อันยาวนานมักจะกล่าวว่า “เมื่อครั้งปู่สังกะสาย่าสังกะสี” และนอกจากนี้ยังพบว่าประชาคมในภูมิภาคอีสานเกือบทุกผู้ทุกนาม จะรู้จักปู่สังกะสาย่าสังกะสีในความเชื่อเดียวกันคือเป็นมนุษย์คู่แรกของเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ประชาคมอีสานยังมีการกล่าวถึงชื่อบรรพบุรุษอื่นๆ อีก แต่มีความสำคัญน้อยกว่า ปู่สังกะสาย่าสังกะสี เช่น ปู่อึ้ม ย่าเผิ้ง และยายจำสวน ซึ่งการกล่าวถึงบรรพบุรุษต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ เป็นลักษณะสืบทอดแนวคิดกันต่อมา ไม่พบรายละเอียดว่าบรรพบุรุษ เหล่านั้นได้มีอิทธิฤทธิ์ในการปกป้องคุ้มครองเพทภัยแก่อนุชนรุ่นหลังอย่างไร จึงไม่มีพิธีกรรมในการเซ่นสรวงบวงพลีวิญญาณบรรพบุรุษเหล่านั้น ซึ่งต่างไปจากวิญญาณที่ให้คุณให้โทษแก่ประชาคมประเภทอื่นๆ เช่น ผีปู่ตา ผีแถน ตลอดจนผีฟ้า (นางเทียม) ประชาคมอีสานจะเกรงกลัว ต่อดวงวิญญาณดังกล่าวมาก จึงมีพิธีกรรมเซ่นสรวงกัน ประจำปี หรือตามโอกาสฤดูกาล
ผีบรรพบุรุษอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จัก และเคารพของชาวอีสาน คือ เฒ่าไลเฒ่าเยอ แม่ย่างาม แม่มด บรรพบุรุษ กลุ่มนี้มีลักษณะเป็นวิญญาณกึ่งเทพกึ่งผี ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองแผ่นดินไม่ให้เกิดเพทภัย หรือภัยพิบัติตามธรรมชาติ บรรพบุรุษทั้งสองคู่นี้เดิมเป็นเทพและแถนฟ้าขื่นได้บัญชาให้ลงมาปราบผีเผต ผียักษ์ที่มาเบียดเบียน มนุษย์ อันเป็นลูกหลานของขุนบรม ถืงแม้ว่าเฒ่าไล แม่ย่างาม เฒ่าเยอ แม่มดนี้ อาจจะไม่ค่อยอยู่ในความทรงจำของชาวอีสานแล้วก็ตามที แต่มีการบันทึกอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม และได้กำหนดหน้าที่ดูแลเพทภัยของแผ่นดินคล้ายกับพระเลอเมือง พระทรงเมืองของภาคกลาง

ในความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ ประชาคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาคมภาคเหนือต่างก็มีเช่นเดียวกัน แต่อยู่ในลักษณะเลือนลางมาก โดยเฉพาะภาคกลาง กล่าวคือ ในประชาคมภาคเหนือเชื่อว่าบรรพบุรุษคู่แรกของเผ่าพันธุ์คือ “ปู่แสะย่าแสะ” แต่นัยประวัติของปู่แสะย่าแสะของภาคเหนือนั้น มีรูปแบบต่างไปจากปู่สังกะสาย่าสังกะสีของอีสาน คือ เป็นกึ่งเทพกึ่งผีเหมือน เฒ่าไล แม่ย่างาม และเฒ่าเยอ แม่มดของอีสาน เป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่คุ้มครองเพทภัยมากกว่าเป็นมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตามจากความเชื่อของชาวพื้นบ้านมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นบรรพบุรุษมนุษย์คู่แรกของเผ่าพันธุ์ แม้ในปัจจุบันนี้ยังมีพิธีกรรมทรงเจ้าเข้าผีเชิญดวงวิญญาณของปู่แสะย่าแสะมาประทับทรงเพื่อช่วยขจัดภัยพิบัติ หรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บและช่วยเหลือเกื้อกูลให้ประสบโชคแก่ลูกค้า หรือเรียกว่าลูกเลี้ยงที่มาหามาเป็นสานุศิษย์ ส่วนความเชื่อเรื่องมนุษย์คู่แรกอันเป็นบรรพบุรุษของประชาคมภาคกลางนั้นเกือบจะไม่อยู่ในความทรงจำของประชาชนทั่วไป แต่ในกลุ่มที่เป็นเจ้าพิธีเกี่ยวกับภูติผีวิญญาณ ยังรู้จักอยู่โดยเฉพาะพวกสัปเหร่อ จะเล่าเรียนวิชาสืบทอดกันมาว่าวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นเจ้าของท้องที่ พื้นดิน และเชื่อว่าเป็นมนุษย์คู่แรกนั้นชื่อว่า “ยายกะลาตากะเล” ฉะนั้นก่อนที่จะเผาศพจะต้องจัดอาหารที่เป็นเครื่องยำใส่กระทงวางไว้ที่มุมเชิงตะกอน ๔ มุม เพื่อขออนุญาตใช้ที่ดินของยายกะลาตากะเล ซึ่งในความหมายเดียวกันนี้ท่านพระยาอนุมานราชธนได้เขียนไว้ในหนังสือ วัฒนธรรมและ ประเพณีต่างๆ ของไทย เรียกชื่อว่า “ยายกะลาตากะลี”
ถึงอย่างไรก็ตามความเชื่อในเรื่องมนุษย์คู่แรกต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้เกือบจะไม่อยู่ในความทรงจำของประชาคมภาคกลางแล้วในปัจจุบัน ส่วนในภาคเหนือนั้น ความเชื่อในเรื่องปู่แสะย่าแสะได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นกึ่งเทพกึ่งผีที่มีอิทธิฤทธิ์สามารถให้คุณและให้โทษแก่มนุษย์ได้ แต่ในภาคอีสานความเชื่อเรื่อง “ปู่สังกะสาย่าสังกะสี” ยัง แสดงให้เห็นว่าเป็นมนุษย์คู่แรกที่เป็นต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์เด่นชัด และยังไม่มีอิทธิฤทธิ์สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าในภาคอีสานนั้นมีดวงวิญญาณที่ให้คุณให้โทษแก่ประชาคมจำนวนมาก เช่น ผีแถน หรือ ผีฟ้า ผีปู่ตา ผีมเหสักข์หลักเมือง ฯลฯ เป็นต้น
ถ้าเราจะยึดเกณฑ์จากความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์นี้ อาจจะสรุปได้ว่าชนชาติไทยกลุ่มต่างๆ นั้นมีการสืบทอดวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ กัน นอกจากนี้ยังอาจจะแยกเผ่าพันธุ์ที่ย่อยไปจากความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษ ต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์อีกก็ได้ โดยพิจารณาจากความเชื่อ พิธีกรรม หรือคตินิยมอื่นๆ เป็นเกณฑ์กำหนด
๓. ความเชื่อเรื่องวีรบุรุษและรัฐ
ในความเชื่อเรื่องรัฐ การกำเนิดรัฐ และกำเนิดผู้นำทางสังคมของอีสานนั้นมีหลักฐานค่อนข้างจะชัดเจนกว่าคนไทยในกลุ่มอื่นๆ เพราะว่ามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรม ดังที่เชื่อว่าขุนบรมนั้นเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขแถนฟ้าขื่น แถนฟ้าท่านบัญชาให้มาเกิดในมนุษยโลกเพื่อเป็นผู้ปกครองประชาชนที่เกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง ๒ ผลนั้น ฉะนั้นขุนบรมจึงเป็นเทพหรือเทวดานั่นเอง และได้รับบัญชาให้ลงมาคุ้มครองป้องภัยแก่มวลมนุษย์ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้คล้ายคลึงกับอินเดียที่เชื่อว่า ชนชั้นผู้ปกครองเป็นเทวบัญชา และจีนก็เชื่อสวรรค์บัญชาให้มาเกิด และในนิทานเรื่องขุนบรมนั้นได้กล่าวไว้ชัดเจนถึงหน้าที่ของชนชั้นผู้ปกครอง พร้อมทั้งบริวารขุนบรมที่เป็นมูลนายช่วยเหลือในการควบคุมสังคมว่าได้ติดตามขุนบรมมาจากเบื้องบน ตามบัญชาของแถนฟ้า และมีเชื้อสายมาจากผีแถนผีฟ้าเช่นเดียวกันว่า “จึงให้หาลูกแถนมาต้อนหน้านั้นชื่อว่า ขุนธรรมราช ผู้หนึ่งนั้นชื่อว่าขุนแสงมโนศาสตร์ เจ้านั้นรู้ศาสตร์เพททั้งมวล ไปก่อนขุนบรมราชา ผู้หนึ่งชื่อ ขุนอุ่น ผู้หนึ่งชื่อขุนคลี สองขุนนี้ขี่ม้าตามหลังขุนบรม” รวมทั้ง เฒ่าไล แม่ย่างาม เฒ่าเยอ แม่มด ไปช่วยปราบพวกผีพวกยักษ์ และให้ขุนคัว ขุนลางเชิงเป็นพลเสนา ฯลฯ เมื่อพิจารณารายชื่อบริวารของขุนบรมที่ตามลงมาเกิด และหน้าที่แถนฟ้าขื่นได้กำหนดให้แก่บริวารนั้น น่าจะพร้อมมูลตามหลักรัฐศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในฮีตสิบสองคองสิบสี่ของอีสาน คือ เง่าเมือง หมายถึงอำมาตย์ที่ซื่อสัตย์ (ขุนธรรมราช) ตาเมืองหมายถึงนักปราชญ์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (ขุนแสงมโนศาสตร์) ขางเมือง (แปเมือง) และเขตเมือง หมายถึง เสนาข้าราชบริพารที่ซื่อสัตย์ (ขุนอุ่น ขุนคลี) เมฆเมือง หมายถึงเทวดาอารักษ์หลักเมือง (เฒ่าเยอ แม่ย่างาม เฒ่าไล แม่มด) และฝาเมือง หมายถึงทแกล้วทหาร (ขุนคัว ขุนลางเชิง) แสดงให้เห็นว่าแนวคิดในการกำเนิดชนชั้นผู้ปกครองที่ปรากฏอยู่ในนิทานเรื่องขุนบรมนี้ เป็นภาพแผนผังที่นำมาจากการจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองในสังคมของคนไทยลุ่มแม่น้ำโขงนั่นเอง แนวคิดในการกำหนดชนชั้นของชุมชนภาคอีสานนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่พบว่ามีการจัดจำแนก เป็นมูลนาย ไพร่ ทาส ไว้ชัดแจ้งเหมือนวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่ามีการจำแนกอย่างหลวมๆ ระหว่างมูลนายและไพร่บ้านไทยเมือง และได้สร้างความเชื่อว่าชนชั้นผู้ปกครองนั้นได้ถูกจัดส่งมาโดยแถน ให้มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าไพร่บ้านไทยเมืองที่เกิดจากผลน้ำเต้าปุ้ง และชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่แถนสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นของที่คู่กัน (คือคู่กันมาจากแถนแนนมาจากฟ้า) จะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในแนวคิดเดียวกันนี้กลุ่มคนไทยในภาคอื่นๆ ก็มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน คือ มีการแยกให้เห็นถึงการกำเนิดของชนชั้นผู้ปกครองต่างไปจากพวกไพร่บ้านไทยเมืองเช่นเดียวกัน เช่น ในภาคเหนือเชื่อว่า ลาวจักรราช ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชนชั้นผู้ปกครองนั้นได้ลงมาจาก สวรรค์ โดยไต่บันไดเงินลงมา เพื่อมาจัดตั้งบ้านแปงเมือง ดังปรากฏอยู่ในพงศาวดารโยนกว่า “ลาวจกเทวบุตรกับนางเทวธิดา รับเทวโองการแห่งสมเด็จอมรินทราธิราชแล้วก็พาบริวาร พันหนึ่งจุติจากเทวโลก ลงมายังยอดเขาเกตุบรรพต ถือเอาปฏิสนธิเป็นเพศมนุษย์โดยอุปปาติกกำเนิด ทรงสิริลักษณ์ดังราชกุมารอันมีชันษาได้ ๑๖ ปี แล้วก็นฤมิตรเกริ่นเงินก่ายลงมาจากจอมเขาเกตุบรรพต ลงมาสถิตเหนือแท่นเงินภายใต้ ร่มไม้หมากทัน (พุทรา) อันมีในที่ใกล้ฝั่งน้ำแม่ละว้านที ในพงศาวดารโยนกนั้นไม่ได้กล่าวถึงการกำเนิดโลกและจักรวาลเหมือนกลุ่มชนอีสาน แต่กล่าวว่าเมื่อลาวจกได้มาอยู่ที่ใต้ร่มพุทรานั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเมืองไชยวรนคร และภายหลังได้ครองเมืองด้วยบุญบารมี ของลาวจก และบริวารพันหนึ่งนั้นก็คือข้าราชบริพาร (มูลนาย) นั่นเอง
ส่วนประชาคมภาคกลางนั้นก็มีความเชื่อเรื่องชนชั้นผู้นำ อยู่ในนิทานพื้นบ้านอยู่บ้าง แต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเพียงตำนาน เช่น พระร่วงส่งส่วยน้ำ เรื่องท้าวแสนปม ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่าสืบต่อมา ปากต่อปาก จากชั่วอายุหนึ่งถึงอีกชั่วอายุหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าชนชั้นผู้ปกครองนั้นมีบุญญาธิการ แต่ไม่ได้จุติมาจาก สวรรค์เหมือนภาคอีสาน (ขุนบรม) และภาคเหนือ (ลาวจก เทพบุตร) แต่เรื่องพระเจ้าอู่ทองที่บันทึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๒ โดย วัน วลิต ชาวฮอลลันดา ที่เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ๙ ปี (พ.ศ. ๒๑๗๖-๒๑๘๕) ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้กล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกโดยสืบถามจากชาวบ้าน และสรุปว่าชาวไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อกันว่า (เล่ากันว่า) พระเจ้าอู่เป็นโอรสกษัตริย์จีน แต่ถูกเนรเทศเพราะมีนิสัยชอบรังแกลูกเมียขุนนาง จึงลงเรือพร้อมกับบริวารมาขึ้นฝั่งที่ปัตตานี สร้างเมืองลังกาสุขะ ภายหลังอพยพมาอยู่ที่ละคร (นครศรีธรรมราช) สร้างเมืองละครและขยายอำนาจมาถึงเมืองกุย (กุยบุรี) ภายหลังพระเจ้าอู่เคลื่อนย้ายต่อมาสร้างเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) และเมืองบางกอก ในที่สุดมาตั้งอยู่ที่เมืองอยุธยา จากนิทานพื้นเมืองของภาคกลางที่เล่าสืบต่อมาเกี่ยวกับชนชั้นผู้นำนั้นมีหลายเรื่อง แต่ละเรื่องมีลักษณะร่วมกันคือชนชั้นผู้นำมิได้เป็นเทพ หรือจุติมาจากสวรรค์ เป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ แต่มีบุญญาธิการ โดยเฉพาะเรื่องพระเจ้าอู่ (ภายหลังเรียกว่าอู่ทอง) นี้ชี้ให้เห็นว่าประชาคมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาติดต่อกับเมืองภายนอกอยู่มาก ฉะนั้นการสร้างนิทานนัยประวัติจึงกล่าวถึงเมืองจีน
เมืองลังกาสุขะ เมืองละคร ฯลฯ ซึ่งต่างไปจากประชาคมภาคเหนือและภาคอีสาน มักจะกล่าวถึงเมืองแถน เมืองสวรรค์ และนำมาผูกพันกับเรื่องชาติกำเนิด อธิบายความเป็นมาของประชาคมนั้นๆ
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *