คติความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนเครื่องผูก

Socail Like & Share

เรือนเครื่องผูก5
คนไทยส่วนมาก แม้จะได้รับนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานแล้วก็ดี แต่คติความเชื่อเกี่ยวกับผีสาง โฉลก และโชคเคราะห์ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่นับถือกันอยู่ก่อนจะได้รับเอาพระพุทธศาสนาและเข้ารีดเป็นพุทธศาสนิก ก็ได้รับความนับถือควบคู่กันมาโดยลำดับ เกือบจะกล่าวได้ว่าความเชื่อส่วนใหญ่ยังมีอยู่เสมอด้วยความนับถือในหมู่คนแต่อดีตเทียว
คติความเชื่อเกี่ยวกับผีสาง โฉลก และโชคเคราะห์ต่างๆ ล้วนแต่มีอิทธิพลแทรกอยู่กับการดำรงและดำเนินชีวิตของชาวไทยในทุกกรณีก็ว่าได้ ตัวอย่างเช่นนี้มีปรากฏจัดไว้ในสมุดไทยซึ่งพบในพื้นบ้านแห่งหนึ่ง ดังได้คัดบางตอนมาแสดงในที่นี้ว่า
“เมื่อจะทำการมงคลทั้งปวง จะยาตรามีที่ไปก็ดี เมื่อเดือนขึ้นค่ำ ๑ พระพุฒตกได้ในมหาเศรษฐี พระพฤหัศบดี เสด็จอยู่ในอากาศ ให้ฤกษ์อุดม เทพจรอยู่หัวใจ พระนารายณ์เสด็จมาให้ฤกษ์ เร่งทำมงคลการทุกอัน ท้าวพญาจะให้ลาภ ยาตราไปหนบกจะเสียสิ่งสิน ยาตราไปหนเรือจะได้ลาภ ผิแลกล่าวเมียอยู่ด้วยกันดี ไถ่ข้าซื้อ ควายวัว ตัดผม นุ่งผ้าใหม่ดี จะมีคนดำแดงตาเหลืองจะให้ลาภ เจรจาถ้อยความไปสู่ขุนนางมิดี จะเสียสัตย์”
ความที่คัดมานี้เป็นเพียงตอนสั้นๆ ว่าถึงโชคเคราะห์ เพียงในวันเดียวของปีเท่านั้น ยังมีความเชื่อเข้าไปผูกพันกับการดำเนินชีวิตหลายกรณีด้วยกัน คนไทยในปัจจุบันก็เถอะ จะว่าไม่ถือคติเกี่ยวกับโฉลกโชคเคราะห์กันหรือกระไร แต่จะมีคนกี่มากน้อยพอใจจะ “เผาผีวันศุกร์ ตัดจุกวันอังคาร แต่งงานวันพุธ” หรือชอบที่จะ “ตัดผมวันพุธ” ที่คนส่วนมากไม่ทำการในวันดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นว่าคติความเชื่อต่างๆ อันเกี่ยวกับผีสาง โฉลก และโชคเคราะห์ ยังเป็นสิ่งที่คนไทยยอมรับนับถืออยู่เป็นปกติ
การปลูกเรือนเครื่องผูกขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่ควรอาศัยอยู่ด้วยความปลอดภัย มั่นใจ และเป็นปกติสุข ย่อมจะต้องได้รับการเอาใจใส่ ไม่จำเพาะแต่ด้านความมั่นคง แข็งแรง และมีพื้นที่ภายในเรือนพอเหมาะ สะดวกสบายแก่ความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังต้องการในด้านขวัญและสบายใจอีกด้วย ดังนี้คติความเชื่อเกี่ยวกับโฉลกโชคเคราะห์ต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการปลูกเรือน เพื่อบำรุงขวัญ และสนับสนุนจิตใจให้เจริญขึ้นด้วย
คติความเชื่อเกี่ยวกับการปลูกเรือนเครื่องผูกที่จะได้นำมาแสดงและพรรณนาต่อไปโดยลำดับนี้ คติบางอย่างเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล และอธิบายให้เห็นสาระสำคัญในความเชื่อนั้นๆ ได้ แต่คติความเชื่อบางประการไม่อาจสามารถอธิบายให้เห็นต้นสายปลายเหตุได้นั้นก็มิได้หมายความว่า คติความเชื่อนั้นขาดเหตุผลหรือไร้สาระไปเสียสิ้น การทั้งนี้อาจเป็นด้วยเหตุว่าคติความเชื่อนั้นเก่าเกินกาลที่จะมีผู้ใดทรงจำต้นเหตุที่มาไว้ได้ประการหนึ่ง หรือหากจะเป็นคติความเชื่อที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเราก็ดี แต่ภูมิปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะตีความอันเป็นความเชื่อนั้นๆ ออกตรงตามเหตุผลต้นปลายได้ ก็มักจะด่วนลงความเห็นเสียก่อนว่าเป็นเรื่องไร้สาระอีกประการหนึ่งย่อมได้
คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนและการปลูกเรือนเครื่องผูก ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อ และได้รับความนับถือในหมู่คนไทย ในพื้นบ้านแต่ก่อน เท่าที่พอจะรวบรวมไว้ได้มีโดยลำดับต่อไปนี้
โฉลกเดือนสำหรับปลูกเรือน
การปลูกเรือนที่อยู่อาศัยให้เป็นเคหะสถานที่อยู่ดีมีสุขนี้ ท่านแต่ก่อนได้แสดงอุปเท่ห์ของโฉลกไว้ดังนี้
“ผิแลปลูกเรือน ในเดือน ๕ ทุกข์เท่าฟ้าจะถึงตน เรือนนั้นบ่เป็นผล จะเกิดอุบาทว์จัญไร
เดือน ๖ เงินทองตกอยู่นา แก้วแหวนทั้งทุนทรัพย์ ก็เนืองนอง
เดือน ๗ โจรร้าย เอาเท็จมาทั้งผอง สิ่งสินคนจักปอง ทั้งทุนทรัพย์จักประลัย
เดือน ๘ โจรร้าย ระวังระไว สิ่งสินสักเท่าใด ก็มิอาจคงอยู่นาน
เดือน ๙ ยศศักดิ์เท่าเจ้า  จำนงสิ่งสินมั่นคง ก็สวั่สดิพูนมา
เดือน ๑๐    จักไร้ทรัพย์นา ก็โรคาพยาธิจะเบียนตน
เดือน ๑๑    เขาจะเอาเท็จมาแปดปน เรือนนั้นมิเป็นผล เกิดพยาธิอยู่โดยหมาย
เดือน ๑๒    เงินทองอยู่เหลือหลาย ช้างม้า วัวควาย มีทั้งทาสทาสี
เดือน ๑    อยู่ก็กลายเป็นสุขดี สิ่งสินจะมากมี เพราะเดือนนั้นให้ผล
เดือน ๒    คิดจงดีให้ชอบกล เดชะกุศล อาจจะกันทั้งศัตรู
เดือน ๓    ไฟไหม้ลามวู พี่น้องเป็นศัตรู อยู่มิดีจะผิดกัน
เดือน ๔    ทุกข์ภัยและแสนโศกก็กลับบันเทาหาย เพราะว่าเดือนนั้นสิให้ผลโฉลกปลูกเรือนทั้ง ๑๒ เดือนแล้ว”
ความเชื่อในการเลือกที่ดินสำหรับปลูกเรือน
เมื่อจะปลูกเรือนลงตรงที่ใด ก็มีอุปเท่ห์ในการเลือกพื้นที่เป็นมงคลควรอยู่หรือไม่ควรอยู่ดังนี้
“สิทธิการิยะ ถ้าจะปลูกเรือนแต่งตั้งบ้าน ท่านให้เอาข้าวสุกมาปั้นเป็นรูปช้างใส่กระทง ๑ รูปวัวกระทง ๑ รูปสิงห์กระทง ๑ ไปวางไว้กลางแจ้งให้กากิน ถ้ากากินรูปช้าง อยู่ที่อันนั้นท่านจะทำร้ายมิดี ถ้ากากินรูปวัว จะมีลาภดี ถ้ากากินรูปสิงห์ จะตายอย่าอยู่เลย
ความเชื่อเช่นนี้มีอีกตำราหนึ่งว่าต่างกันออกไปว่า
“ถ้าจะปลูกเรือน ให้ข้าวแก่กา ๓ กระทง กระทง ๑ ใส่ข้าวตาก กระทง ๑ ใส่ข้าวแดง กระทง ๑ ใส่ข้าวขาว ถ้ากากินข้าวตากอย่าอยู่มิดี ถ้ากากินขาวแดงทราม ถ้ากากินข้าวขาวดี มีสวัสดีนักหนาแล”
ความเชื่อเกี่ยวกับรูปพื้นที่ที่จะปลูกเรือน
พื้นที่ดินที่จะปลูกเรือนขึ้นเป็นที่อยู่นี้ ต้องเลือกสรรรูปร่างของพื้นที่ให้ต้องลักษณะอันเป็นมงคลด้วยจึงจะอยู่เป็นสุข ท่านแต่ก่อนได้แสดงแผนที่พื้นดินที่จะทำการและไม่ควรทำการปลูกเรือนไว้เป็นลำดับ คือ
พื้นที่รูปวงกลมสัณฐานดั่งหน้าแว่นอยู่สวัสดี มีชัย ชนะศัตรู ดีแล
พื้นที่ใดรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ท่านว่าอยู่ดีนักแล
พื้นที่ใดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ดีนักแล อยู่เป็นสุขมาก
พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู นี้ดี อยู่จะได้แก้ว แหวน เงินทอง
พื้นที่รูปทรงกระโถน อยู่เป็นทุกข์หนัก
พื้นที่เป็นรูปตะโพน อยู่เป็นทุกข์มากรังแต่จะเข้าทุน
พื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ท่านว่าอยู่เป็นทุกข์ เป็นที่อยู่ของคนพาล
พื้นที่รูปสามเหลี่ยมชายธง เป็นที่มีตะบะ เดชะมาก
พื้นที่รูปขั้นกระได ๒ ขั้น ท่านว่าอยู่เป็นสุขสบายมาก
พื้นที่เป็นรูปกระได ๓ ขั้น ท่านว่าทุกข์กับสุขเท่ากันอย่าอยู่เลย
พื้นที่เป็นรูปขวด ท่านอยู่สุขมากดี
พื้นที่เป็นรูปปืน ท่านว่าเป็นทุกข์มิรู้วาย
พื้นที่เป็นรูปดั่งกังสดาล ท่านว่าอยู่ไปจะได้เป็นใหญ่ เร่งอยู่เถิด
พื้นที่เป็นรูปดั่งเรือชะล่า ท่านว่าน้ำตาตกมิรู้วาย
พื้นที่เป็นรูปดั่งปลา ท่านว่ามิดี
พื้นที่เป็นรูปดั่งสำเภา ท่านว่าอยู่เป็นสุขดี
พื้นที่เป็นรูปดั่งเมล็ดข้าวสารหัก มิดี
พื้นที่เป็นรูปดวงจันทร์ครึ่งดวง อยู่เป็นสุขดี
พื้นที่รูปดั่งปีกนก    ท่านว่าอยู่ไปเข็ญใจนัก
พื้นที่รูปดั่งฝ่ามือ    ท่านว่าพลันตายอย่าอยู่เลย มิดีเลย
พื้นที่รูปดั่งหวีสับ    ท่านว่ามีสุขมากดีอยู่เถิด
ความเชื่อเกี่ยวกับการวางตำแหน่งเรือนให้ต้องโฉลก
เกี่ยวกับการจัดวางตำแหน่งเรือนให้เหมาะสมกับพื้นที่บ้านให้เป็นที่ต้องโฉลก ทำให้เกิดโชคลาภและอยู่ดีมีสุขนั้น ท่านแต่ก่อนจัดไว้เป็นตำราว่า
“สิทธิการิยา ถ้าบุคคลใดจะปลูกเรือนให้ปักหลัก ๔ มุม แล้วจึงเอาเชือกชักให้เป็นตารางให้ได้ ๑๖ เตา จึงพิจารณาดูแผนที่นั้นเถอด ดูได้ที่ใดดีจึงปลูก ถ้าแลที่อันนั้นคับแคบแลจะปะที่ร้าย ให้บ่ายผันดู แม้นจะได้ที่ร้ายนั้นบ้าง ที่ดีบ้างก็มิเป็นได้ แต่อย่าให้ถูกสะดือนั้นร้ายนักแลสะดือเรือนนั้นอย่าให้ถูกกัน แต่ ๒ ศอก ๓ ศอก ขึ้นไปเถอค แลให้ทำประตูที่ดีนั้น ให้ปลูกต้นไม้ตามทิศนั้น
ถ้าแลทิศนั้นพึงจะตั้งบ้านใหม่ แลให้ชักเชือกเป็นดั่งก่อนนั้นแล้ว จึงนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป ถ้ามากนี้ยิ่งดี ให้สวดเจริญพระปริท ให้อาราธนาพระเจ้า (หมายถึง พระพึทธปฏิมา) ๓ องค์ คือ พระนาคปรกองค์หนึ่ง อยู่เหนือ พระห้ามสมุทรองค์หนึ่งอยู่ใต้ พระเจ้าสมาธิ อยู่กลางองค์หนึ่ง บูชาด้วยเครื่องบูชาแล้วจึงสวดเจ็ดตำนานทิพยมนต์ มหาสมัยแลธรรมจักร ให้รดน้ำที่ (ดิน) ๓ วัน ครั้นฤกษ์ดียามดี จึงตั้งกระทู้ รั้ว เถอด อายึ วรรโณ สุขัง พลัง อยู่ในฐานที่เป็นสุขสำราญ หาภัยอันตรายมิได้เลยทีเดียวแล”
ความเชื่อเกี่ยวกับการกองไม้ไว้สำหรับปลูกเรือน
การปลูกเรือนแต่ละหลังๆ ต้องตระเตรียมไม้ไร่ไว้ให้พอแก่การ เมื่อหาไม้มาได้เท่าใดๆ ก็จะต้องมากองรวมกันเข้าไว้ เพื่อจัดการปรุงเป็นตัวไม้สำหรับทำเรือนต่อไป การกองไม้ก็ต้องดูให้ต้องด้วยโฉลกที่ควรและไม่ควร ท่านแต่โบราณแนะนำว่า
“ท่านให้ดูกองไม้ไว้ เดือน ๗ ๘ ๙ กองไม้ไว้ทักษิณ จึงดี เดือน ๑๐ ๑๑ ๑๒ กองไม้ไว้หนบูรพา จึงดี เดือน ๑ ๒ ๓ กองไม้ไว้หนประจิม จึงดี เดือน ๔ ๕ ๖ กองไม้ไว้หนอึดร จึงดี”
ความเชื่อเกี่ยวกับการขุดหลุมฝังเสาเรือน
เมื่อลงมือปลูกเรือนต้องขุดหลุมเพื่อปักเสาก่อนการทำสิ่งอื่น การขุดหลุมย่อมได้ดินขึ้นมา ท่านให้สังเกตสิ่งที่ติดกับขี้ดินนั้นด้วยว่ามีอะไร และควรพยากรณ์ดีร้ายอย่างไร นี้ก็เป็นความเชื่ออย่างหนึ่ง มีตำราเขียนไว้ดังนี้
“ถ้าแลขุดหลุมปลูกเรือน ขุดเสาแรก ถ้าแลได้ หินแลง เอาอ้อยใส่ที่หลุมนั้น เจ้าเรือนจะเป็นดี มีโภคทรัพย์
ถ้าได้ตอ หลัก เจ้าเรือนจะเก้ดพยาธิ ไข้เจ็บเดือดร้อนใจนัก
ถ้าได้ถ่านไฟ ปูน กระเบื้อง ให้เอาน้ำมันงา แก้วแหวน ใส่ในหลุมนั้น จึงจะดี เจ้าเรือนบ่มิร้อนใจเลย
ถ้าแลได้เหล็ก เจ้าเรือนจะตาย ให้บูชาเคราะห์เสียก่อนจึงอยู่ดีแล

ถ้าได้เหล็กมีด พร้า ท้าวพญารักแล
ถ้าได้ทองแดง เร่งให้ประหยัด ไฟจะไหม้บ้านแล มูลนาย เจ้าเรือนประหยัดเถอด
ถ้าได้งู เจ้าเรือนจะได้ข้าคน ช้างม้า วัวควาย มากหลาย
ถ้าได้กรวดทราย เจ้าเรือนนั้นจะได้เงินทอง แก้วแหวนมาแล
ถ้าได้เงินก็ดี อิฐก็ดี จะอยู่ดีกินดี จะเกิดสมบัติมาก
ถ้าได้ตะกั่ว จะได้ข้าคนมาก
ถ้าได้ไม้ จะเกิดความแล
ความเชื่อเกี่ยวกับเสาเรือน
เสาเรือนแต่ละต้นๆ คนแต่ก่อนเชื่อว่ามีนางไม้หรือภูติพราย รักษา ประจำอยู่ในไม้นั้น ดั่งมีความกล่าวตามคำทำขวัญของเก่าตอนหนึ่งว่า
“ย่อมไปตัดไม้ ป่าใต้ฝ่ายเหนือ นางไม้หลายเหลือ เลือกตรงตัดเอา’’
แม้เสาเรือนเครื่องผูกจะทำด้วยลำไม้ไผ่ก็ดี แต่คนโบราณก็ยังมีความเชื่อกันอยู่ว่ามีนางไม้ หรือรุกขเทวดา ประจำรักษาไม้นั้นอยู่ ความเชื่อในเรื่องเช่นนี้โปรคดูได้จาก บทละครเรื่องมณีพิไชย ตอนพระมณีพิไชยไปพบต้นไผ่ที่นางยอพระกลิ่นอาศัยอยู่ มีความว่า
‘‘บัดนั้น พหลพลพฤนท์สิ้นทั้งหมู่ ฉวยมีดพร้าพากันเกลียวกรู พรั่งพรูตัดไม้ไผ่เป็นควัน โค่นลงทั้งกอซอเล็กน้อย ยับย่อยดื่นดาษขาดสะบั้น แต่ไม้ไผ่ใหญ่ล้ำลำสำคัญ จะสับฟันอย่างไรไม่ไหวเลย บ้างเอาขวานฟันฟาดฉาดเปล่า ไม่ยักเข้าเหนียวหนออีพ่อเอ๋ย ช่างแข็งเป็นเหล็กไหลกระไรเลย ยังไม่เคยพบเห็นไม้เช่นนี้ พวกโยธาพากันฟันจนหอบ ต่างเหน็ดเหนึ่อยเมื่อยหมอบอยู่กับที่ บ้างมีดยู่บู้บิ่นสิ้นเหล็กดี พวกโยธีต่างอัศจรรย์ใจ บ้างก็ว่าน่าจะมีผีสาง เป็นนางไม้พฤกษาเขาอาศัย จึงหอมหวลอวลอบอยู่ข้างใน บ้างว่าไม้รุกขเทวดา”
อาศัยเหตุแห่งความเชื่ออันเป็นปรัมปราคติดั่งนี้ จึงเมื่อจะยกเสาเรือนขึ้นใส่หลุมต้องมีการรับมิ่งชิงขวัญเสาดูให้ต้องโฉลกกับปีเกิดของเจ้าของเรือนจึงจะเป็นสวัสดิมงคลแก่เจ้าเรือนและบริวารในเรือนนั้น การรับมิ่งชิงขวัญเสาที่มีมาในตำราของเก่าว่าดังนี้
“สิทธิการิยะ เจ้าเรือนปีชวด ให้เอากิ่งราชพฤกษ์มา ๓ กิ่ง มือหนึ่งถือทอง มือหนึ่งถือใบราชพฤกษ์ ปัดหลุมแลเสาแรก เจ้าเรือนนั้นถือเสาแล้วจึงยกเสานั้นแล
เจ้าเรือนปีฉลู เมื่อแรกจะยกเสา ให้เอาดินจอมปลวกใส่ในหลุม เอาใบมะตูม ใบราชพฤกษ์ ใบรัก ใบกลอยผูกปลายเสาเอาใบหนาดกวาดปากหลุม จึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีขาล ให้เอาข้าว ๕ กระทงตั้งรอบหลุม เอาเทียนเล่ม ๑ ตามเอาน้ำ ๓ ขันรดเสา เอาผ้าปัดต้นเสา แล้วจึงยกแล
เจ้าเรือนปีเถาะ เอาใบตะเคียน ใบเสียงภมร ใบยอ ใบกล้วยผูกปลายเสา เอาผ้าพัน ๓ รอบแล้ว จึงยกเสาแล
เจ้าเรือนปีมะโรง ให้เอามะกรูด สน กำยานเผารมต้นเสา บัตรข้าวกระทง ๑ ธูปเทียนบูชาแล้วยกเสาเถอค
เจ้าเรือนปีมะเส็ง ให้เอาใบรัก ใบยอ ใบทองหลาง ใบไผ่ผูกปลายเสา ข้าว ๓ กระทง เทียน ๓ เล่มบูชา จึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนบมะเมีย เอาใบชุมเห็ดกวาดปลายเสา จนถึงตีนเสา เอาน้ำรดแล้ว เอาใบขี้เหล็ก ใบมะยมใส่ตีนเสา เอาธูปเทียนบูชา ให้ได้ยินเสียงไก่ขันแล้วจึงยกเสาเถอด
เจ้าของเรือนปีมะแม เอาใบหมากผู้ ๓ใบ ใบหมาก ๓ ใบ ห่อพันเสาเมื่อยกเสาจึงแก้เอามาใส่ในหลุมแล้วเอากระแจะเจิมต้นเสา จึงยกเถอด
เจ้าเรือนปีวอก เอาเทียน ๓ เล่มผูกเสา เจ้าเรือนถือต้นเสา จึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีระกา เอาผ้าขาวลาดตีนเสา เอาข้าวกระทง ๑ ธูปเทียนบูชาเอาศาสตราวึธ ผ้าใหม่ชุบกระแจะเจิมต้นเสา แล้วจึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีจอ เอากระออมมาลูกหนึ่ง เอาใบบัวหุ้ม แล้วตั้งตีนเสา เอาด้ายเกี่ยวต้นเสา เอาใบหนาดกวาดแต่ปลายเสา แล้วจึงยกเสาเถอด
เจ้าเรือนปีกึน เอาใบทองหลาง ใบราชพฤกษ์ กล้วยค้น ๑ ผูกปลายเสา ข้าว ๕ กระทงเรียงรอบปากหลุม ธูปเทียนบูชา แล้วจึงยกเทอด
ความเชื่อเกี่ยวกับการยกเสาแรกเรือนเครื่องผูก
เมื่อจะยกเสาเรือนเสาแรกของเรือนเครื่องผูกนี้ คนแต่ก่อนท่านถือว่าเป็นการสำคัญมาก เพราะเป็นการเริ่มลงหลักปักฐานของชีวิตและครอบครัว จึงจะต้องประกอบการ ให้เป็นสิริมงคล เป็นกำลังแห่งน้ำใจอย่างสำคัญสำหรับผู้เป็นเจ้าของเรือนและคนในครอบครัว ดังนี้คนแต่ก่อนท่านจึงได้รวบรวมเอาข้อสังเกตซึ่งได้จากประสบการณ์ นำมา เขียนขึ้นเป็นตำราชี้แนะการอันควร มิควรอย่างไร เกี่ยวกับการยกเสา แรกของเรือนเครื่องผูก มีเนื้อความดังต่อไปนี้
“ถ้าจะยกเสาแรก เดือน ๔ ๕ ๖ ให้ยกทักษิณ แลอาคเนย์ก่อน จะมีลาภอันดีแล
ถ้าเดือน ๗ ๘ ๙ สามเดือนนี้ ให้ยกเสาข้างหรดีก่อน
ถ้าเดือน ๑๐ ๑๑ ๑๒ ในสามเดือนนี้ ให้ยกเสาแรกข้างทิศพายัพก่อนดีแล
ถ้าเดือน ๑ ๒ ๓ ให้ยกเสาแรก ข้างอีสานก่อนอยู่ดีกินดี จะมีทั้งช้างม้า วัว ควายมากแล”
เมื่อยกเสาแรกตั้งขึ้นแล้ว จะต้องระมัดระวังมิให้เสาที่ยกตั้งตีนเสาลงในหลุม มีอันเป็นคือ เอน ชาย บ่าย หรือล้ม ลงไปได้ ถ้าการเป็นไปดั่งที่กล่าว ท่านก็ได้ให้คำพยากรณ์กำกับไว้ว่า
“ยกเสาแรกขึ้นแล้วตั้งให้ตรง อย่าให้ล้มไปข้างประจิม
พ่อเรือนจะตาย ถ้ามิดังนั้นจะจากที่บ้าน
ถ้าปลายเสาแรกชายไปข้างบูรพา ไฟจะไหม้แล
ถ้าเอนไปข้างอุดร จะตีด่ากัน
ถ้าเอนไปข้างทักษิณ เจ้าเรือนจะเกิดลาภแล
ถ้าเอนไปข้างอิสาน จะเกิดลาภเงินทองแก่เจ้าเรือนแล”
ความเชื่อเกี่ยวกับขนาดความกว้างของประตูเรือน
การเว้นช่องว่างในฝาเรือนเพื่อทำประตูเป็นทางเข้าออก ก็มีความสำคัญอยู่ด้วย ขนาดกว้างช่องประตูที่ดีนั้นต้องกว้างพอเหมาะแก่การเดินเข้าเดินออก ขนาดต้องไม่แคบเกินหรือไม่กว้างมาก เรื่องเช่นนี้คนแต่ก่อนท่านให้ข้อสังเกตที่เป็นคติความเชื่อควรแก่การสนใจต่อไปนี้
“ถ้าจะทำประตูบ้าน ๔ ชั่วฝ่าตีน
ถ้าประตูในเรือน ประตูระเบียง ประตูโรง เอา ๓ ชั่วฝ่าตีนเท่ากัน ดีนักแลชื่อภัทรราช ถ้ากว้างกว่านี้ไฟจะไหม้แล
ประตูพาดบันไดเอา ๔ ชั้นฝ่าตีน แลกว้างกว่านั้นจะเกิดพยาธิโรคาเบียดเบียนเกิดโรคะโรคาต่างๆ แลมิดีอย่าทำเลย”
ความเชื่อเกี่ยวกับการพาดบันไดสำหรับเรือน
เรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่ยกพื้นค่อนข้างสูงเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม ดังนี้การที่จะขึ้นหรือลงจากเรือนให้สะดวก จึงต้องทำบันไดพาดเรือนสำหรับเป็นทางขึ้นลง การพาดบันไดกับเรือนนี้ คนแต่ก่อนไม่ทำบันไดติดตายกับเรือน แต่จะทำบันไดไว้ต่างหาก เมื่อจะขึ้นลงจึงเข็นบันไดพาดเข้ากับเรือน คติเช่นนี้พึงเห็นได้จากพระอธิบายในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานึภาพ เกี่ยวกับคติการทำบันไดเรือนไทยอย่างเก่า ความว่า
“ว่าถึงบันไดเรือน คิดดูก็ชอบกล เรือนแบบไทยโบราณ ใช้บันไดพาดนอกชาน กลางคืนเข็นบันไดขึ้นเสีย ให้เป็นเครื่องป้องกันภัย กลางวันจึงกลับพาดบันไดสำหรับให้คนขึ้นลง อย่างนี้เป็นแบบเก่าที่สุด ครั้นผู้มีกำลัง พาหนะทำเรือนฝากระดานอยู่ มีคนบริวารพอคุ้มภัย ไม่ จำเป็นต้องเข็นบันไดขึ้นลง ถึงกระนั้นบันไดไม้จริงที่ทำประจำที่ ก็เอาบันไดไม้ไผ่มาทำด้วยกระดาน”
คติในการทำบันไดเรือนยังมีต่อไปถึงตำแหน่ง และทิศทางที่ควรพาดและไม่ควรพาด คติเช่นนี้เคยได้ยินคำท่านผู้ใหญ่ท่านแนะนำว่า “อย่าพาดบันได สวนตะวัน” คือพาดบันไดลงตรงทิศตะวันตกและทิศตะวันออก เพราะแสงแดด จะแทงตา ทำให้อาจพลัดตกบันไดได้ แต่ก็ยังมีคติความเชื่อ ในเรื่องนี้เขียนไว้เป็นตำรามาแต่ก่อนมีรายละเอียดพ สมควรดังนี้
“ถ้าจะพาดกระไดเรือน ทิศบูรพามิดี
ถ้าพาดทิศทักษิณ ดี มีลาภทุกประการแล
ถ้าพาดทางทิศอุดร ชื่อกระเฌอพ่อค้า กระไดค่าก็ว่า
ดีนักแล
ถ้ากระไดอยู่ข้างทิศประจิม ชื่อกระไดพระแล
ถ้าพาดกระไดทุกทิศ ย่อมมิสถาพร ถ้ามีทุกทิศจะเป็น
อัปมงคลทุกเมื่อแล นักปราชญ์ พึงพิจารณาดูเถอด”
คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนเครื่องผูกที่ได้พรรณนามาโดยลำดับนี้ เป็นคติความเชื่อเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับการจดบันทึกขึ้นไว้ในสมุดเป็นคู่มือเตือนจำของคนในพื้นบ้านพื้นถิ่นตามชนบทเพื่อทำการปลูกบ้านสร้างเรือนให้เป็นไปได้ด้วยทางแห่งสิริมงคล เป็นสิ่งบำรุงขวัญ และกำลังน้ำใจแก่ผู้เป็นเจ้าของเรือนและผู้อยู่อาศัยในเคหสถานแห่งนั้นๆ
คติความเชื่อนอกเสียจากที่ได้รับการจดลงในเล่มสมุดดังได้คัดข้อความบางส่วนมาแสดงในที่นี้แล้ว ยังมีคติความเชื่อที่เป็นความทรงจำและถ่ายทอดด้วยปากสืบๆ กันมาก็มีอยู่มาก ดังจะกล่าวพอเป็นตัวอย่างในที่นี้สัก 2-3 ตัวอย่าง เช่น
“อย่าปลูกเรือนใกล้วัด ไม้กวาดหลังคา” นี้เป็นข้อห้าม 2 ประการ คือ ไม่ให้ปลูกเรือนใกล้วัด เพราะเกรงว่า คนจะไปทำความรำคาญให้แก่การปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ซึ่งต้องการความเงียบสงบ ส่วน “ไม้กวาดหลังคานั้น คือห้ามมิให้ปลูกเรือนเคียงกับไม้ใหญ่ที่ทอดกิ่งก้านสาขาลงมาถึงหลังคา พอมีลมพัดกิ่งไม้เหล่านั้นก็โยกไหว กวัดกวาดหลังคาส่งเสียงน่ารำคาญ และถ้าพอดีพอร้ายลมพัดจัดกิ่งไม้จะปัดเกี่ยวหลังคาเปิดเปิงทำให้ฝนรั่ว หรือถ้าเป็นลมพายุ ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้ หักลงมาทับหลังคาก็อาจเป็นอันตรายได้ทั้งทรัพย์สินและคนในเรือน
“ครัวไฟ ไว้ตะวันตก” ตำแหน่งที่ตั้งของครัวไฟที่เหมาะแก่สุขลักษณะนั้นควรวางไว้ทางด้านทิศตะวันตก เพราะเป็นที่รับลมตะเภาซึ่งพัดขึ้นมาจากทางทิศใต้ โกรก เรือนครัวพาเอากลิ่นบงอับบงราของอาหารและเสบียงในครัว ตลอดจนควันไฟที่เกิดจากการหุงต้มออกไปโดยไม่เข้ามาตลบ และอบอยู่ในเรือน
“อย่าปลูกเรือน ขวางตะวัน” คือห้ามมิให้ปลูกเรือน โดยวางรูปเรือนเอาด้านข้างยาว ไม่ว่าจะเป็นข้างเรือนประธาน หรือด้านระเบียง ขวางทางตะวันขึ้นและตะวันตก เพราะเรือนจะรับแสงแดดร้อนทั้งตอนเช้าและตอนบ่ายเสมอกันทุกห้องท่านจึงว่า “ปลูกเรือนขวางตะวัน เจ้าเรือนพลังเสียจักษุ” อยู่ไม่สุขสบาย จึงมีคำแนะนำให้ปลูกเรือนยาวไป
ตามตะวันขึ้นและตะวันตก ถ้าวางรูปเรือนในลักษณะเช่นนี้แล้วจะรับลมได้ตลอดทั้งปี เป็นที่อยู่อันควรแก่ความสบายยิ่ง
“อย่าทำเรือนหลังคาตาก ทุกข์ยากมาถึงตน” เรือนทรงไทยไม่ว่าจะเป็นเรือนเครื่องผูกหรือเรือนเครื่องสับ ย่อมจะทำหลังคาเป็นทรงจั่ว จะต่างกันก็แต่ส่วนหลังคา “กรวด” มากหรือน้อยเท่านั้น ถ้าทรงหลังคา “กรวด” มาก คือ จั่วพนมแหลมจัด เรียกว่า “ทรงตัวผู้” แต่ถ้าทำ “กรวด” น้อย คือ ทำตีนจั่วกว้าง ปลายจั่วไม่แหลมนัก เรียกว่า “ทรงตัวเมีย”ส่วนหลังคาตาก คือ ทำหลังคาจั่วต่ำกว่าหลังคาทรงตัวเมียลงมามากจนดูเกือบแบนราบ เป็นหลังคาที่รับแดดจัดทั้งผืนหลังคา และไม่มีที่เหลือใต้หลังคาภายในเรือน พอสำหรับระบายความร้อน ซึ่งถ่ายลงมาจากหลังคาย่อมทำให้ภายในเรือนร้อน กลายเป็นที่อยู่ไม่ควรสบาย ท่านแต่ก่อน จึงได้ห้ามไว้
คติความเชื่อเกี่ยวกับเรือนและการปลูกเรือนดั่งที่ได้คัดมาบางส่วน และพรรณนาไว้ในที่นี้ควรกล่าวได้ว่าเป็นมรดกทางความคิดของคนไทย ซึ่งบรรพชนได้พากเพียรศึกษาเหตุผลและสังเกตจำสาระต่างๆ จากประสบการณ์จนสามารถประมวลขึ้นไว้เป็นความรู้ เพื่อการชี้แนะ และเป็นประโยชน์แก่คนผู้สืบเชื้อสายที่จะเกิดตามมาในภายภาคหน้า จะได้มีที่อยู่อาศัยและการดำรงชีวิตที่ดีกว่า คติความเชื่อ ดังกล่าวในกรณีเช่นนี้หากว่าจะคิดเห็นว่าเป็น “ปรัมปราคติ” ก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาในวัตถุประสงค์แล้วย่อมเกิดขึ้นมาแต่ความคิดที่เปี่ยมด้วยความสุจริตใจของบรรพชน เพื่อยังให้เกิดชีวิตวัฒนา จึงควรเป็นวัฒนธรรมประเภทหนึ่งโดยแท้
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *