การปลูกเรือนเครื่องผูก

Socail Like & Share

เรือนเครื่องผูก4
การปลูกเรือนเครื่องผูก มีวิธีและกระบวนการปลูกเรือนที่ไม่สู้ยุ่งยากและซับซ้อนเสมอด้วยการปลูกเรือนเครื่องสับหรือเรือนฝากระดานก็ดี กระนั้นก็ตามขึ้นชื่อว่างานช่างทำของอย่างหนึ่งๆ แม้จะมีขนาดเล็กย่อมสักเท่าใดๆ ก็ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน มีลำดับทำก่อนทำหลังไปจนกว่าจะสำเร็จ การปลูกเรือนเครื่องผูกเป็นการช่างทำสิ่งของขนาดใหญ่อย่างหนึ่ง จึงมีขั้นตอนซึ่งต้องทำนี่ก่อนทำโน่นทีหลังเป็นไปโดยลำดับเช่นกัน การปลูกเรือนเครื่องผูกทั่วไปมีวิธีและกระบวนการกล่าวโดยถ้อยความมีตามลำดับต่อไปนี้
วัสดุและอุปกรณ์
วัสดุและอุปกรณ์ที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันให้เป็นเรือนหลังหนึ่งๆ เรียกว่า ตัวไม้เครื่องเรือน หรือ ทัพสัมภาระการปรุงเรือน เรือนเครื่องผูกได้อาศัยตัวไม้หรือทัพสัมภาระในการปรุงเรือนดังนี้

เรือนเครื่องผูก3
ไม้ไผ่  เป็นวัสดุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการปลูกเรือนเครื่องผูก เรือนประเภทนี้ส่วนมากใช้ไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ทำเป็นทัพสัมภาระในการปรุงเรือนเกือบทั้งหลังตั้งต้นแต่ใช้ทำเป็นเสาเรือน ตง ไม้แม่เตาไฟ ขื่อ แป จันทัน กลอน อกไก่ กบหู ไม้ข้างควาย ไม้เสียบหนู ไม้ข่มหัวกลอน ฝาเรือน พื้นเรือนและชาน กรอบและบานประตูหน้าต่างกับบันได ฯลฯ ไม้ไผ่ที่นิยมหามาใช้ทำเรือนได้แก่ ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่ลำมะลอก ไม้ไผ่ตง และไม้ไผ่รวก
ใบจาก เป็นต้นไม้ล้มลุกประเภทหนึ่งชอบขึ้นอยู่ตามริมน้ำ หรือชายเลนที่บริเวณใกล้ปากแม่น้ำสายต่างๆ ต้นจากมี ๒ ชนิดด้วยกัน คือ จากน้ำเค็ม และจากน้ำจืด ใบจากที่ได้จากต้นจากซึ่งขึ้นอยู่ตามบริเวณที่มีน้ำจืดมีคุณภาพคงทนดีกว่าใบจากที่ได้จากต้นจากซึ่งขึ้นอยู่ในที่น้ำเค็มขึ้นถึง ใบจากได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมุงหลังคาเรือน และทำฝาเรือนโดยตัดเอาใบออกจากทางจากแต่ละทางๆ นำมาเรียงลำดับเข้ากับไม้ทับลากแล้วเย็บร้อยขึ้นเป็นตับๆ นำไปมุงทับคลุมหลังคาโดยซ้อนกันถี่ๆ เป็นเครื่องกันแดดและฝนได้ประเภทหนึ่ง
หญ้าคา และแฝก เป็นพืชชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ตามที่ดอนทั่วไป สามารถไปเกี่ยวเก็บมาใช้ทำเป็นเครื่องมุงหลังคา และทำฝาเรือนชนิดหนึ่งได้โดยไม่ต้องซื้อหากัน แต่ได้ยินท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า การเกี่ยวแฝกนั้นถ้าไม่คุ้นเคยมักจะโดนคมแฝกบาดเอาได้ง่ายๆ และแผลที่เกิดจากคมแฝกบาดนี้เจ็บปวดทารุณเอาการ ฉะนั้นคนที่อยู่ตามที่ลุ่มริมน้ำมีความต้องการใช้แฝกมุงหลังคาทำเป็นฝาบ้านก็มักอาศัยเอาสิ่งของเครื่องกินต่างๆ ไปแลกเอาแฝกมาจากคน ซึ่งอยู่ตามที่ดอนๆ ที่คุ้นเคยกับแฝกและชำนาญในการเกี่ยวแฝกเป็นอย่างดี ผู้ใหญ่ท่านนี้ยังเล่าให้ฟังต่อมาอีกว่า ของกินที่เอาไปแลกกับแฝกนั้นได้แก่ หมากดิบสด หรือใบพลูสด โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกัน คือ หมากดิบสด ๔ ลูก แลกได้แฝกที่เกี่ยวเป็นคำขนาดสองมืออ้อมจำนวน ๘ กำ หรือพลูสดเรียบหนึ่ง แลกได้แฝก ๔ กำ เป็นต้น นี้เป็นอัตราการแลกเปลี่ยนกันเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีก่อนโน้น ในชนบทแถบจังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี
แฝกและหญ้าคานี้เมื่อเกี่ยวได้แล้วนำมากรองเป็นกำเล็กๆ เอามาเข้ากับไม้ตับเย็บร้อยขึ้นเป็นตับๆ ใช้ทำเป็นเครื่องมุงและฝาเรือน
หวาย  หวายใช้เป็นเครื่องร้อยรัด ถักผูกตัวไม้เครื่องเรือนแต่ละชิ้นแต่ละส่วนคุมให้ติดต่อกันขึ้นเป็นเรือนทั้งหลัง หวายที่นำมาจักหรือเลียดให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อใช้ผูกส่วนประกอบต่างๆ ของเรือนนี้ ส่วนมากนิยมใช้หวายลิง ซึ่งแต่ก่อนที่ดาดดื่นในพื้นถิ่นชนบท
ต้นหมากและเหลาชะโอน ในชนบทบางพื้นถิ่นใช้ไม้หมากบ้าง ไม้เหลาชะโอนบ้าง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นคล้ายต้นหมาก แต่มักมีลำต้นโตกว่าและมีหนามตามปล้องนำมาผ่าออกยาวไปตามลำต้นเป็นซี่แบนๆ ไม้หมากก็ดี ไม้เหลาชะโอนนี้ก็ดี เอามาเหลาเกลาผิวด้านนอกที่ขรุขระออกให้เกลี้ยง ใช้วางเรียงปูเป็นพื้นเรือนแทนฟากไม้ไผ่ก็มี ไม้หมากและไม้เหลาชะโอนนี้ทำเป็นพื้นเรือนอยู่ไปนานๆ ผิวจะเกลี้ยงเป็นมันสวยงามดีไม่น้อยเลย และยังแข็งแรงทนทานดีกว่าพื้นฟากอีกด้วย
เครื่องมือปลูกเรือนเครื่องผูก
การปลูกเรือนประเภทเครื่องผูก ไม่สู้จะได้ใช้เครื่องมือในการปรุงเครื่องเรือนมากเสมอด้วยเครื่องมือจำนวนมากที่ใช้ในการปรุงเรือนประเภทเครื่องสับทั้งนี้เพราะเหตุว่าเรือนเครื่องผูกอาศัยวิธีการปลูกเรือนด้วยการผูกรัด ถักพันด้วยเส้นตอก เส้นหวายเป็นสำคัญ มิได้ใช้วิธีการ เข้าปากไม้ใส่ลิ่ม สอดสลัก ทำร่องรางเข้าลิ้น รับเดือยต่างๆ เพื่อคุมตัวไม้เข้าด้วยกันขึ้นเป็นเรือน การทำเรือนเครื่องสับจึงต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ มีจำนวนมาก ส่วนเครื่องมือสำหรับปรุงและปลูกเรือน เครื่องผูกนี้มีจำกัดอยู่ไม่มากอย่าง แต่ละอย่างลำดับได้ดังนี้
พร้า  พร้าคือมีขนาดใหญ่ ใบพร้ามีลักษณะแบนยาวด้านหนึ่งบางเป็นข้างคม อีกด้านหนึ่งหนาเป็นข้างสัน โคนพร้ามีแกนเป็นกั่นสวมติดกับด้ามทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้จริง รูปร่างเป็นท่อนกลมยาวพอจับถนัดมือ ส่วนปลายของพร้าตีเป็นรูปต่างๆ กันตามหน้าที่ใช้งาน พร้าที่ใช้เป็นเครื่องมือปรุงเรือนเครื่องผูกมีลักษณะต่างๆ กันโดยเฉพาะส่วนปลายที่ใช้ในงานต่างกัน คือ
พร้าขอ  ใบพร้าเป็นรูปแบบยาว สันหน้าปลายงุ้มเล็กน้อย ด้ามทำด้วยลำไม้ไผ่หรือไม้จริงเป็นท่อนกลมยาว พร้าขอนี้ใช้สำหรับตัดไม้ ไม่จำเพาะแต่ไม้ไผ่เท่านั้น
พร้าโต้  ใบพร้าเป็นรูปโค้งขึ้นทางด้านสันทางตอนปลายพร้า ส่วนด้านคมนั้นริมเป็นเส้นตรง พร้าโต้มักทำสันให้หนากว่าพร้าชนิดอื่นๆ ส่วนด้ามทำเป็นท่อนกลมขนาดพอมือ จับได้ถนัด พร้าชนิดนี้ใช้สำหรับผ่าไม้สับไม้กระบอกทำเป็นพื้นฟาก  โดยเฉพาะใช้ส่วนที่เป็นสันหนาทุบลำไม้กระบอกให้แตกเป็นริ้วๆ ได้เป็นอย่างดีเพราะมีน้ำหนัก
พร้าเสียม ใบพร้าเป็นรูปแบนยาวปลายผายออกไปและตีให้เป็นรูปมนกลม พร้าเสียมนี้ใช้สำหรับผ่าไม้ หรือใช้ขุดดินแทนเสียมก็ได้
มีดตอก  เป็นมีดชนิดหนึ่ง ตัวใบมีดมีรูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ด้านข้างคมโค้งแอ่นพอสมควร ด้านข้างสันดุ้งขึ้นเป็นเหลี่ยม ส่วนปลายแหลม ตรงโคนต่อเข้ากับด้าม มีลักษณะเป็นท่อนกลมยาว ปลายงอนเชิดขึ้นเล็กน้อยมีดชนิดนี้ใช้สำหรับจักตอก จักหวายทำเป็นเส้นยาวๆ ใช้เหลาลูกประสัก ตัดหรือแต่งปากไม้ เป็นต้น
ขวานหมู เครื่องมือทำด้วยเหล็ก รูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ส่วนสันหนา มีปล้องยาวตลอดอยู่ใต้สันไว้สำหรับสอดด้ามซึ่งทำด้วยไม้แก่น ยาวประมาณ ๑ ศอก ขวานหมูใช้สำหรับตัดไม้ ถาก หรือฟัน หรือสับซี่ฟาก
หนังปลากระเบนแห้ง  หนังปลากระเบนหรือส่วนโคนหางปลากระเบนตากแห้ง ชนิดที่มีผิวหนังหยาบและแข็งได้ถูกนำมาใช้ทำหน้าที่ต่างตะไบเหล็กใช้ถู ถากฝน หัวไม้ให้เรียบ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของช่างไม้แต่โบราณ
เหล็กหมาด เครื่องมือทำด้วยเหล็กเส้น ตีเป็นรูปท่อนสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ตอนปลายเรียวแหลม ตอนโคนสอดติดกับด้ามไม้เป็นรูปท่อนกลมยาว ใช้สำหรับเจาะ ไขให้เกิดเป็นรูด้วยมือปั่น
จำปา  เครื่องมือทำด้วยลำไม้ไผ่ ขนาดยาวประมาณ ๑ วา ตอนปลายไว้ลำต่อออกไปจากข้อชั่วปล้อง ๑ แล้วผ่าจักให้เป็นซี่ๆ ปลายแต่ละซี่เสี้ยมให้แหลม จึงคลี่ขยายซี่ให้บานออกไปเหมือนกลีบจำปา จึงใช้ไม้ซีกเล็กๆ ขัดโคนง่ามซี่แต่ละซี่มิให้หุบเข้ารวมกันได้อีก เครื่องมือชนิดนี้เรียกว่า “จำปา” ใช้สำหรับสักลงบนพื้นดินอ่อนๆ เพื่อขุดให้เป็นหลุมสำหรับฝังโคนเสาเรือน “จำปา” นี้เป็นเครื่องมืออย่างเก่าใช้กันอยู่ในพื้นบ้านทั่วไปตามชนบท
ตอกและหวาย  ตอกและหวายเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปลูกเรือนประเภทเครื่องผูกให้ตั้งขึ้นสำเร็จเป็นหลังได้ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยเรือนชนิดนี้อาศัยการปลูกเป็นเรือนด้วยวิธีผูกรัดมัดถักด้วยเส้นตอกบ้าง เส้นหวายบ้างทั่วไปทั้งเรือน
ตอก คือ ไม้ไผ่ตัดออกมาเป็นปล้องระหว่างข้อ แล้วผ่าออกเป็นไม้จำเลาะเสียก่อน จึงจักออกเป็นไม้สรร แล้วนำเอาไม้สรรนี้มาจักเป็นเส้นตอก ตอกเส้นที่ใช้สำหรับผูกมัดเครื่องเรือนส่วนมากนิยมจักเป็นชนิดตอกเหลี่ยม คือ เส้นตอกแบนยาวข้างตอกเป็นเหลี่ยมทั้งสองด้าน
หวาย คือ ไม้ประเภทเครือคล้ายเถาวัลย์ นำมาผ่าออกเป็นเส้นตามยาว ลำหวายแล้วจึงเหลาขี้หวายออกให้เหลือแต่ผิว จึงนำมาเลียดออกเป็นเส้น ใช้ถักฟากเรือน ผูกแปเรือนหรือตัวไม้เครื่องบน หวายที่ใช้ผูกเครื่องเรือนนี้ส่วนมาก นิยมใช้หวายน้ำ แต่จำเพาะส่วนที่ใช้เป็นตับจากนั้นจะใช้ได้ก็แต่หวายลิงเท่านั้น
องค์ประกอบของเรือนเครื่องผูก
องค์ประกอบของเรือนเป็นคำใหม่ มีความหมายเช่นเดียวกับตัวไม้ต่างๆ ที่ใช้คุมและปรุงเรือนขึ้นเป็นหลัง ตัวไม้หรือองค์ประกอบเรือนเครื่องผูกมีรูปร่าง ลักษณะขนาดตำแหน่งและหน้าที่ต่างกันออกไป องค์ประกอบแต่ละชิ้นๆ ล้วนมีความหมาย มีความสำคัญเฉพาะตัว หรือมีความสำคัญร่วมกันในแต่ละส่วนของเรือน การปรุงตัวไม้หรือองค์ประกอบประเภทเครื่องผูกอาจจะไม่แสดงให้เห็นกลวิธีที่สลับซับซ้อนในเชิงวิชาการเข้าปากไม้ ดั่งเช่นปรากฎให้เห็นได้ในเรือนประเภทเครื่องสับก็ดี แต่การจัดปรุงเรือนเครื่องผูกขึ้นด้วยรู้จักและเข้าใจลำดับตัวไม้ที่เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบเรือนได้อย่างมีระเบียบ เรียบง่าย และกลมกลืนกันทั้งในด้านวัสดุ ขนาด ส่วนสัด สี และผิวแห่งตัวเรือน ก็ควรนับถือว่าเรือนเครื่องผูกเป็นเรือนที่อาศัยตัวไม้หรือองค์ประกอบเรือนที่ได้รับการพิจารณาเป็นอย่างดี และปรุงแต่งสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว กับเมื่อคุมกันเป็นเรือนขึ้นแล้ว ยังมีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเองสมบูรณ์ทุกประการ ดังนี้ว่าโดยเฉพาะตัวไม้ของเรือนเครื่องผูกแล้ว ไม่พอที่จะนำไปเปรียบเทียบกับรูปแบบและวิธีการปรุงตัวไม้สำหรับเรือนประเภทอื่นๆ เพราะใช้วัสดุที่นำมาใช้เป็นตัวไม้และวิธีปรุงตัวไม้ให้เป็นส่วนประกอบเรือนต่างกัน ย่อมมีความหมายและความสำคัญในตัวของมันเองเป็นต่างหากขาดจากกัน องค์ประกอบของเรือนเครื่องผูกหรือตัวไม้สำหรับเรือนเครื่องผูกหลังหนึ่งๆ ในพื้นบ้านตามชนบทมีองค์ประกอบหรือตัวไม้ที่ใช้ปรุงขึ้นเป็นเรือนดังนี้
แระ  แระเป็นสิ่งที่ทำขึ้นแล้ววางปูไว้ที่ก้นหลุมสำหรับรองรับตีนเสาเรือนกันมิให้ทรุด แระเป็นสิ่งที่ทำขึ้น แล้ววางปูไว้ที่ก้นหลุมสำหรับรองรับตีนเสาเรือนกันมิให้ทรุด แระที่ใช้รองเสาเรือนเครื่องผูกนี้ส่วนมากใช้ไม้ไผ่สับเป็นฟาก วางปูลงในก้นหลุมไขว้ทับกันสองชั้น
เสาประเด  คือ เสาเรือนทำด้วยไม้ไผ่ลำยาวโคนเสาฝังอยู่ในดิน ลำเสาตั้งตรงขึ้นไป ปลายเสาทำหน้าที่รับ “ขื่อ” เสาประเภทนี้ปักรายเป็นสองแถวขนานไปตามทางยาวของเรือน ระยะห่างระหว่างช่วงเสาคู่หนึ่งๆ เป็นที่หมายกำหนดความยาวของห้องหนึ่งๆ สำหรับเรือน และระยะห่างระหว่างช่วงเสาคู่หนึ่งๆ นี้ เรียกตามภาษาช่างปลูกเรือนว่า “ห้อง” เรือนหลังหนึ่งอาจมีขนาด ๒ ห้อง หรือ ๓ ห้องบ้าง สุดแท้แต่ความประสงค์ของเจ้าของเรือน ถ้ามีขนาด ๒ ห้องก็ใช้เสาประเด ๖ ต้น แต่ถ้าทำเรือนขนาด ๓ ห้องต้องใช้เสาประเด ๘ ต้น และถ้าทำขนาดยาวของเรือนเพิ่มขึ้นก็จะต้องเติมเสาประเดนี้คู่ ๑ ปักต่อออกเสมอไป
เสาหมอ หรือตอหม้อ คือ เสาเรือนขนาดสั้น ทำด้วยลำไม้ไผ่ เสาหมอหรือเสาตอหม้อมีขนาดสั้นกว่าเสาประเด ตามปกติยาวไม่เกิน ๑๕๐ เมตร โคนเสาฝังลงในดินประมาณ ๕๐ ซม. ส่วนที่พ้นดินขึ้นมาตั้งลำเสาตงปลายเสาทำหน้าที่รับ “รอด” เสาหมอหรือเสาตอหม้อนี้ปักอยู่ในที่เคียงกันกับโคนเสาประเดแต่อยู่เข้าไปในเรือน การที่ต้องใช้เสาหมอปักเคียงขนาบกับเสาประเดเพื่อรับ “รอด” เช่นนี้ ก็เพราะเนื่องมาแต่เสาเรือนเครื่องผูกเป็นเสาไม้ไผ่ ไม่เหมาะที่จะเจาะรูกว้างๆ ทำเป็นช่องเพื่อสอด “รอด” วางประจำไว้ ดังเช่นที่ทำในเสาเรือนเครื่องสับ เพราะไม้ไผ่ย่อมแตกง่าย ไม่สู้ทนทานมั่นคง จึงต้องตั้งเสาหมอ หรือเสาตอหม้อขึ้นมาทำหน้าที่รับ “รอด” แทนการที่จะสอดผ่านเข้าไปในเสาประเด เสาหมอในเรือนประธานหลังหนึ่งๆ จะมีจำนวนต้นเสาเท่ากับจำนวนเสาประเด
เสาดั้ง  คือ เสาเรือนขนาดยาว ทำด้วยไม้ไผ่ โคนปักอยู่ในดิน อยู่ระหว่างกลางเสาคู่หน้าด้านสกัดหัวและท้ายเรือน ต้นเสาตั้งตรงยืนขึ้นไปรับไม้กบทู ปลายเสาส่วนที่พ้นหลังขื่อขึ้นไปทำหน้าที่เป็นเอ็นรับแผงจั่วปิดหัวและท้ายเรือน เสาดั้งในเรือนเครื่องผูกมักมีเพียง ๒ ต้นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรือนยาวเกิน ๓ ห้องจึงจะเติมเสาดั้งในระหว่างการคู่เสาที่ ๒ และคู่ที่ ๔ เพื่อค้ำกบทูมิให้หลังคาเยิ่นหย่อนยุบลงมา
อนึ่ง เสาดั้งเป็นเสาที่ตั้งอยู่ตรงกลางทางด้านหน้าของหัวและท้ายเรือนเหตุดังนี้จึงเรียกว่า ดั้ง ซึ่งแปลว่า “ข้างหน้า”
ดั้งแขวน  เสาสั้นๆ ตั้งขึ้นอยู่บนขื่อประจำห้อง ทำหน้าที่ค้ำยันกบทู หรืออกไก คล้ายกันกับเสาดั้ง แต่ปลายเสาไม่หยั่งลงมาฝังอยู่กับพื้นดิน และตำแหน่งที่ตั้งอยู่ดูคล้ายกับแขวนลอยอยู่ข้างใต้หลังคา จึงเรียกว่า ดั้งแขวน
ไม้แม่เตาไฟ  ไม้แม่เตาไฟ คือ ไม้กรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้สำหรับกำกับเชิงเรือน หรือรูปทรงเรือนทำด้วยไม้ไผ่ลำยาวๆ คู่หนึ่งมีขนาดยาวเท่ากับขนาดความยาวทั้งสิ้นของตัวเรือน อีกคู่หนึ่งมีขนาดยาวเท่ากับความกว้างของด้านกว้างตัวเรือน ไม้แต่เตาไฟนี้ต้องทำขึ้นก่อนที่จะลงมือขุดหลุมปักเสา ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า การจะกำหนดความกว้างและยาวของเรือน ตลอดจะแบ่งปันระยะห้องในเรือนเพื่อหมายตำแหน่งทีจะขุดหลุมและปักเสาปันออกเป็นห้องๆ ได้นั้น ล้วนแต่ได้อาศัยกรอบไม้แต่เตาไฟนี้เป็นต้นแบบในการวางพื้นผัง และกำหนดระยะถี่ห่างของเรือนทั้งสิ้น การประกอบไม้แม่เตาไฟขึ้นเป็นกรอบเชิงเรือนนี้ให้เอาลำไม้ไผ่คู่หนึ่งวัดให้ยาวได้ขนาดความยาวของเรือนที่ต้องการ แล้วเหลือหัวและท้ายเผื่อออกไปข้างละ ๑ คืบจึงตัด แล้วนำมาวางบนพื้นให้ขนานกัน มีระยะห่างตามขนาดความกว้างพอดีตัวเรือน ส่วนไม้ไผ่อีกคู่หนึ่งนั้นวัดให้ยาวเท่ากับขนาดความกว้างของตัวเรือนทั้งคู่ และเหลือไม้ตรงหัวและท้ายเผื่อออกไปข้างละ ๑ คืบจึงตัด ต่อไปก็นำเอาลำไม้ไผ่คู่หลังนี้วางขวางลงตรงหัวและท้ายลำไม้ไผ่คู่แรก ให้ปลายลำไม้คู่หลังข่มบนปลายไม้คู่แรกทั้งสองด้านทำให้เป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้างและยาวร่วมในกรอบเท่ากับความกว้างและยาวของเรือนตามความต้องการ จึงวัดสอบความกว้างและยาวแต่ละด้านในแน่นอนถูกต้อง แล้วจัดการเจาะรูตรงหัวไม้ที่ก่ายตรงกันให้ทะลุแต่ลำไม้ท่อนบนตลอดลงไปถึงลำล่างทั้งสี่มุมจึงใส่ลิ่มจิ่มไว้พอแน่น ก็จะสำเร็จเป็นกรอบไม้แม่เตาไฟตำแหน่งของไม้กรอบแม่เตาไฟปกตินั่งอยู่บนปลายรอด
ไม้แม่เตาไฟนี้เป็นตัวไม้ที่อยู่ในตำแหน่งและหน้าที่เช่นเดียวกับไม้ “พรึง” ในเรือนประเภทเครื่องสับ และยังมีชื่อเรียกในพื้นถิ่นอื่นอีกว่า ไม้กรอบรัดตีนฝา ก็เรียก หรือภาษาถิ่นปักษ์ใต้เรียกว่า “โนะ” ก็เรียก
รอด  ตัวไม้ที่เป็นโครงสร้างสำคัญ ทำหน้าที่รับพื้นเรือนทั้งหลัง ไม้รอดทำด้วยไม้ไผ่วางขวางเรือน พาดอยู่บนหัวเสาหมอหรือเสาตอหม้อ ไม้รอดวางพาดประจำระหว่างเสาเรือนแต่ละคู่ๆ และปลายไม้รอดจะเหลือยาวทอดออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้านสำหรับกรอบไม้แม่เตาไฟ ซึ่งวงไปโดยรอบตีนฝาเรือน
ตง  ตัวไม้โครงสร้างที่เป็นส่วนรองรับพื้นเรือน ไม้ตงทำด้วยไม้ไผ่วางพาดขวางทับบนหลังรอดยาวไปตามขนาดยาวของเรือน ไม้ตงต้องใช้จำนวนมากกว่ารอดและวางเรียงถี่ๆ เพื่อช่วยหนุนมิให้พื้นฟากอ่อนเยิ่นยุบลงปกติการวางตงแต่ละตัวๆ กะขนาดห่างระหว่างกันประมาณ ๑ คืบ
รา  ตัวไม้ช่วยเสริมความมั่นคงให้แก่ตง ราทำด้วยไม้ไผ่ สอดขวางอยู่ใต้ตงแต่ละตัว และขนานไปกับรอด ราอาจมีในช่วงเสาคู่หนึ่ง ๒ ถึง ๓ อัน ปกติราจะทำหน้าที่ประกับตงแต่ละอันมิให้ห่างออกจากกัน ราแขวนอยู่ใต้ตงด้วยการที่ใช้หวายร้อยถักให้ติดแน่นกับตงเป็นระยะๆ
ฟาก  คือส่วนที่เป็นพื้นเรือนคู่กับเครื่องผูกมาแต่โบราณ ชาวไทยในชนบทคุ้นเคยกับ “ฟาก” เป็นอย่างดี ฟากมีความสัมพันธ์กับชีวิตมาตั้งแต่แรกเกิด พอทารกพ้นจากครรภ์มารดาหลังตกถึงพื้นฟาก ก็เริ่มนับอายุตั้งแต่เวลานั้นเป็นลำดับมา และเวลาที่ตั้งต้นอายุนี้เรียกว่า “เวลาตกฟาก” คติเช่นนี้มีปรากฎให้เห็นได้อย่างน้อยในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายแก้ว มีความว่า
“ฝ่ายตะแกเป็นหมอดู         คิดคูนเลขอยู่ให้หลานชาย
ปีขาลวันอังคารเดือนห้า        ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย
กรุงจีนเอาแก้วแพรวพราย        มาถวายพระเจ้ากรุงอยุธยา
ให้ใส่ปลายยอดพระเจดีย์ใหญ่    สร้างไว้แต่เมื่อครั้งเมืองหงสา
เรียกวัดเจ้าพระยาไทยแต่ไรมา    ให้ชื่อว่าพลายแก้วผู้แววไว”
ฟากทำขึ้นจากไม้ไผ่นำมาผ่าออก  แล้วสับให้เป็นริ้วทั่วลำจึงแผ่ออกเป็นแผ่นแบนยาว เกลาข้อปล้องให้เกลี้ยงเรียบทุกๆ ผืน จึงนำไปปูทับบนหลังตง ทำเป็นพื้นเรือนต่อไป
ไม้ทับหลังฟาก  คือ ไม้ซีกวางทับลงบนหลังพื้นฟากอยู่ในแนวเดียวกับหลังตงซึ่งทอดรับอยู่ข้างใต้พื้นฟาก ไม้ทับหลังฟากนี้ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าออกตามยาวของลำเลาะข้อและตาให้เรียบเกลี้ยงอย่างที่เรียกว่าไม้สรร วางทับลงบนหลังพื้นฟากให้ได้แนวเดียวกับหลังตง จึงใช้หวายร้อยรัดไม้ทับหลังฟากสอดลงไปพันผูกกับตง เพื่อให้ไม้ทับหลังข่มกดพื้นฟากแนบสนิทและมั่นคง การถักหวายร้อยรัดไม้ข่มพื้นฟากให้ตรึงกับตงนี้ ช่างทำเรือนแต่โบราณนิยมถักด้วยวิธีที่เรียกว่า “ถักจูงนาง”
ขื่อ  คือ ตัวไม้โครงสร้างเครื่องบนของหลังคาเรือน “ขื่อ” ทำด้วยไม้ไผ่ทอดวางอยู่บนปลายเสาคู่หัวเรือนและคู่ท้ายเรือน ปลายขื่อทั้งสองข้างทำหน้าที่รองรับ “แป” ข้างละอัน ขื่อยังทำหน้าที่เป็นกรอบกำกับหัวเสาเรือนทางด้านสกัดมิให้โย้แยกออกจากกัน และยังเป็นคานที่พะเสาดั้งให้มีกำลังตั้งอยู่อย่างมั่นคงอีกด้วย
ขื่อประจำห้อง  คือ ตัวไม้ที่พาดอยู่บนปลายเสาคู่ที่อยู่ถัดเข้าไปจากเสาคู่หน้าทางด้านสกัดตอนหัวและท้ายเรือน ปลายขื่อทั้งสองด้านทำหน้าที่รับแปหัวเสาด้านละอัน และตอนกลางบนหลังขื่อประจำห้องเป็นที่ตั้ง “ดั้งแขวน” ขึ้นไปรับกบทู หรืออกไก่
กบทู คือ ตัวไม้เป็นลำยาว ส่วนปลายยื่นออกมาจากหัวและท้ายเรือนพอสมควร วางพาดและกดอยู่บนปลายเสาดั้งและดั้งแขวนไปตามยาวของเรือน กบทูนี้เป็นตัวไม้ส่วนประกอบโครงหลังคา มีเฉพาะแต่ในส่วนหลังคาเรือนเครื่องผูกเท่านั้น และมักจะเป็นหลังคาชนิดผูกเครื่องมั่น ส่วนโครงหลังคาโรงมักไม่มีกบทู หรือผูกหลังคาลำลองก็จะไม่มีกบทู จึงเป็นเหตุให้คนในชั้นหลังไม่สู้จะได้พบเห็นตัวไม้นี้ และมักพากันชื่อว่าไม่มีตัวไม้ส่วนที่เป็นโครงหลังคาเรือนชื่อว่า กบทู ทั้งที่ในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชากดในกัณฑ์ชูชกก็ได้มีพรรณนาเกี่ยวกับตัวไม้เครื่องบน หรือโครงหลังคาเรือนไว้อย่างกระจ่างชัดว่า
“ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก ไม้ข้างควายแขวะเป็นรูสอดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้วย กบทู ย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างๆ”
หรือในบทละครเรื่องระเด่นลันได ที่พระมหามนตรี(ทรับพย์) แต่งในรัชกาลที่ ๓ พรรณาความตอนที่ระเด่นลันไดนอนคิดถึงนางประแดอยู่ในเรือน ได้กล่าวพาดพิงถึงกบทูตอนหนึ่งว่า
“แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูด
นอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง
ครางกระหึ่มครึ้มก้องบนกบทู”
อาศัยตัวอย่างหลักฐานทางวรรณคดีที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ก่อนท่านได้พรรณาและคัดมาแสดงไว้ในที่นี้ คงพอจะอ้างได้ว่ากบทู เป็นตัวไม้ตัวหนึ่งมีในเรือนเครื่องผูกจริง มิได้มีขึ้นด้วยอำนาจกลอนพาไป
กบทู  คือ ตัวไม้เป็นลำยาว ส่วนปลายยื่นออกมาจากหัวและท้ายเรือนพอสมควร วางพาดและกดอยู่บนปลายเสาดั้งและดั้งแขวนไปตามยาวของเรือน กบทูนี้เป็นตัวไม้ส่วนประกอบโครงหลังคา มีเฉพาะแต่ในส่วนหลังคาเรือนเครื่องผูกเท่านั้น และมักจะเป็นหลังคาชนิดผูกเครื่องมั่นส่วนโครงหลังคาโรงมักไม่มีกบทู หรือผูกหลังคาลำลองก็จะไม่มีกบทู จึงเป็นเหตุให้คนในชั้นหลังไม่สู้จะได้พบเห็นตัวไม้นี้ และมักพากันชื่อว่าไม่มีตัวไม้ส่วนที่เป็นโครงหลังคาเรือนชื่อว่า กบทู ทั้งที่ในวรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดกในกัณฑ์ชูชกก็ได้มีพรรณนาเกี่ยวกับตัวไม้เครื่องบน หรือโครงหลังคาเรือนไว้อย่างกระจ่างชัดว่า
“ผ่าไม้ครอบคร่อมอกไก่ ไม้ข้างควายแขวะเป็นรูเสียดเสียบหนูแน่นขันขัด ปั้นลมดัดเดาะหักห้วย กบทู ย้อยแยกแครกคราก จั่วจุจากจัดห่างๆ”
หรือในบทละครเรื่องระเด่นลันได ที่พระมหามนตรี(ทรัพย์) แต่งในรัชกาลที่ ๓ พรรณาความตอนที่ระเด่นลันไดนอนคิดถึงนางประแดอยู่ในเรือน ได้กล่าวพาดพิงถึงกบทูตอนหนึ่งว่า
“แล้วเอนองค์ลงเหนือเสื่อกระจูด
นอนนิ่งกลิ้งทูดอยู่ในห้อง
เสนาะเสียงสำเนียงพิราบร้อง
ครางกระหึ่มครึ้มก้องบนกบทู”
อาศัยตัวอย่างหลักฐานทางวรรณคดีที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่ก่อนท่านได้พรรณาและคัดมาแสดงไว้ในที่นี้ คงพอจะอ้างได้ว่า กบทู เป็นตัวไม้ตัวหนึ่งมีในเรือนเครื่องผูกจริง มิได้มีขึ้นด้วยอำนาจกลอนพาไป
กบทู เป็นตัวไม้โครงสร้างส่วนหลังคา ทำหน้าที่รับจันทันใหญ่ และจันทันพรางซึ่งพาดก่ายอยู่บนหลังกบทู รายเป็นระยะห่างๆ เท่าๆ กัน ไปตามความยาวของเรือน
แปหัวเสา  คือ ตัวไม้โครงสร้างเครื่องบนของหลังคาเรือน แปทำด้วยไม้ไผ่ทั้งลำ วางทอดยาวไปทางด้านข้างเรือนทั้งสองด้าน โดยที่ท้องแปพาดอยู่บนปลายไม้ขื่อแต่ละอันๆ ไม้แปทั้งคู่ที่วางบนปลายขื่อตรงกับหัวเสาประเดซึ่งอยู่ข้างล่างนี้เรียกว่า “แปหัวเสา” ทำหน้าที่รับไม้จันทันใหญ่และจันทันพรางเป็นระยะๆ เข้าไปตามยาวของตัวเรือนเช่นเดียวกันกับกบทู
แปลาน คือ ตัวไม้เครื่องบนหลังคาเรือนมีลักษณะเป็นลำยาวเช่นเดียวกับแปหัวเสา ต่างกันแต่ตรงตำแหน่งที่วางอยู่ คือ แปลาน จะวางพาดอยู่บนหลังจันทันวางรายเป็นระยะขึ้นไปเหนือแปรหัวเสา แปลานมีด้านละ ๓ อันบ้าง ๔ อันบ้าง แปเหล่านี้ทำหน้าที่รับไม้จันทัน
แปเชิงชาย คือ ตัวไม้เครื่องบนรับหลังคาเรือน มีลักษณะเป็นเช่นเดียวกับแปลาน ต่างกันแต่ตำแหน่ง ซึ่งจัดวางอยู่ต่ำลงมาจากแปหัวเสา โดยวางพาดบนหลังจันทันและทำหน้าที่รับไม้กลอนเช่นเดียวกับแปลาน
จันทัน คือตัวไม้เครื่องบนหลังคาเรือน ทำด้วยไม้ไผ่ลำยาว เป็นคู่ๆ นำเอาส่วนปลายมาไขว้กันแล้วเจาะรูให้ทะลุตลอดทั้งสองลำจึงสอดเดือยขัดไว้ แล้วถ่างไม้ทั้งคู่ออกจากกัน นำขึ้นไปวางคร่อมบนหลังกบทู และทอดขาทั้งสองข้างจันทันทับหลังแปลงมาเป็นลำดับจนสิ้นความกว้างของหลังคาเรือน หรือความยาวของจันทัน ซึ่งตัวจันทันเองก็ทำหน้าที่กำหนดความกว้างของพื้นหลังคาแต่ละด้านอยู่ในตัวของมันเองแล้ว หน้าที่โดยตรงของจันทันคือรับกลอนจันทันนี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามตำแหน่งที่วาง คือจันทันที่วางคร่อมบนกบทูตรงกับแนวขื่อเรียกว่า จันทันใหญ่และจันทันซึ่งวางคร่อมบนกบทูทอดลงมาระหว่างกลางช่วงเสาแต่ละห้องเรียกว่า จันทันพราง
อกไก่ คือตัวไม้เครื่องบนที่ทำหน้าที่เป็นโครงรับสันแห่งหลังคาเรือน อกไก่ทำด้วยไม้ไผ่ลำยาววางทอดไปบนง่ามหัวไม้จันทันที่ไข้กันโดยลำดับ ตอนปลายไม้อกไก่ยาวยื่นออกไปจากความยาวของเรือนข้างละประมาณ ๒ ศอก หรือ ๑ เมตร ไม้ช่วงที่ยาวยื่นออกมานี้เรียกว่า “ไขราจั่ว” อกไก่ทำหน้าที่รับกลอนซึ่งเป็นโครงสร้างหลังคาอีกสิ่งหนึ่ง
กลอน คือตัวไม้เครื่องบน ใช้ค้ำจุนและรับเครื่องมุงหลังคา กลอนทำด้วยไม้ไผ่ลำขนาดยาวพอๆ กับความยาวของไม้จันทัน กลอนทำขึ้นโดยจับไม้เป็นคู่ๆ คล้ายกับทำจันทันแล้วเจาะรูที่ใกล้กับหัวไม้ให้ทะลุตลอดทั้งสองลำ สอดเดือยให้ติดกัน จึงถ่างขาไม้ทั้งคู่ออก นำไปวางคร่อมบนหลังอกไก่ ปล่อยให้ปลายไม้ทอดทับบนหลังแปลงไปทางด้านข้างหลังคาทั้งสองข้าง กลอนมีหน้าที่เป็นโครงสร้างของหลังคารองรับเครื่องมุงชนิดต่างๆ เช่น จาก แฝก หญ้าคา เป็นต้น
ไม้นอนแนบ คือตัวไม้กระหนาบหลังกลอนทำด้วยไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกอย่างที่เรียกว่า ไม้สรร มีขนาดยาวเท่ากับอกไก่หรือกบทู วางทอดบนหลังกลอน ขนานไปกับแปลาน แปหัวเสา และแบเชิงชาย ตรงที่ไม้นอนแนบทาบอยู่บนหลังกลอนจะต้องใช้หวายพันรัดอ้อมลงไปรั้งไม้แป เพื่อให้ไม้นอนแนบกระชับกับหลังกลอน หน้าที่ของไม้นอนแนบคือช่วยกำกับกลอนมิให้รวน
ไม้ขัดเชิงกลอน คือไม้ไผ่ผ่าซีกเลาะข้อออกให้เรียบอย่างที่เรียกว่า ไม้สรร ไม้ขัดเชิงกลอนชุดหนึ่งมีจำนวน ๓-๔ อัน ใช้ขัดปลายกลอนตรงใกล้กับชายหลังคาขัดยาวไปตามเชิงชายคาแบบขัดแตะ เพื่อกำกับปลายกลอนมิให้รวนเสียระยะ
ข่มหลบ คือไม้ไผ่เลือกเอาขนาดที่ลำใหญ่ๆ นำมาผ่าตามยาวแล้วเลาะข้อออกให้หมด จะได้ตัวไม้รูปคล้ายกาบกล้วย จึงตัดให้ยาวเท่ากับอกไก่ นำมาวางครอบบนสันหลังคาเรือน ครอบทับจากที่มุงหลังคาตรงที่เรียกว่าจากหลบ เพื่อบังคับจากหลบและกันฝนรั่ว
ไม้ข้างควาย คือไม้ไผ่ผ่าซีกอย่างไม้สรรตัดให้มีขนาดยาวเท่าๆ กับอกไก่ ไม้ข้างควายสำหรับเรือนหลังหนึ่งๆ ใช้จำนวน ๒ อัน ไม้ทั้งคู่นี้ตรงด้านข้างเจาะทำเป็นช่องยาวๆ คล้ายรูปตัวตะปูดอกเห็ด ขนานไปตามหน้าไม้เว้นระยะห่างกันพอสมควรสำหรับสอดไม้เสียบหนู ไม้ข้างควายใช้วางกระหนาบขนานริมไม้ข่มหลบอยู่ทั้งสองข้าง เพื่อช่วยไม้ข่มหลบบังคับจากหลบให้แนบกับอกไก่
ไม้เสียบหนู คือไม้ไผ่ตัดเอาเนื้อไม้ตรงปล้อง ผ่าออกให้เป็นซีก ตัดให้ยาวประมาณ ๒ คือ เหลาปลายด้านหนึ่งให้อ่อนโค้งและแหลมคล้ายหัวเรือชะล่า ส่วนปลายด้านตรงกันข้ามตัดให้โผล่ขึ้นเล็กน้อย แล้วเจียนเนื้อไม้ตรงกลางเว้าลงไปจนทำให้ได้รูปร่างทั้งอันคล้ายเบ็ดตกปลาไม้เสียบหนูนี้ให้สำหรับสอดเข้าไปที่ช่องด้านข้างไม้ข้างควายข้างหนึ่ง และให้ทะลุจากหลบออกไปสอดติดอยู่กับช่วงในไม้ข้างควายอันที่อยู่อีกด้านหนึ่งของหลังคา เพื่อรั้งไม้ข้างควายให้บีบและหนีบริมข่มหลบให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฉะนั้นไม้เสียบหนูจึงต้องมีจำนวนหลายอันให้พอที่จะสอดรั้งไม้ข้างควานให้แน่น กระนั้นก็ดีการทำไม้เสียบหนูก็ใช่ว่าจะทำตามจำนวนเท่าใดก็ได้ ด้วยมีคติความเชื่อแต่กาลก่อน มีปรากฎในตำราปลูกเรือนว่าไว้เป็นสิ่งควรรับฟังดังนี้
“ประการหนึ่ง ให้ทำไม้เสียบหนูอาริยะ ท่านให้ทำแต่ ๓ ๕ ๗ ๙ ๑๑ เป็นสวัสดีแล

ห้ามมิให้ทำ ๒ ๔ ๖ ๘ ๑๐ ๑๒ จะอัปรีย์มีทุกข์มากแล”
ปั้นลม คือกรอบไม้กำกับหัวหลังคาเรือนทั้งสองข้าง  เพื่อป้องกันลมมิให้ตีหัวจากมุงหลังคาเปิดปลิวปั้นลมทำด้วยไม้ไผ่มีอยู่ด้านละ ๒ ลำ ไม้ที่ใช้ทำต้องเลือกลำตรงๆ และขนาดเขื่องๆ นำมาวางทาบจับให้เป็นคู่ วัดระยะจากหัวไม้เข้ามายาวประมาณ ๑ ศอก จึงเจาะรูให้ทะลุตลอดถึงกันทั้งสองลำ แล้วสอดไม้ร้อยให้ติดกันทั้งคู่ ต่อไปก็ถ่างปลายไม้ออกจากกัน นำขึ้นไปวางคล่อมบนหัวอกไก่ ขาทั้งสองข้างไม้ปั้นลมจัดให้วางพาดบนหัวแปเป็นลำดับลงมาทั้งสองด้าน
จั่ว คือฝาแผงแบบหนึ่งรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม ใช้สำหรับปิดด้านสกัดหัวและท้ายหลังคาเรือน เพื่อกันแดด ลม และฝน จั่วเรือนเครื่องผูกส่วนมากกรุด้วยไม้ตับจากซ้อนทับกันเป็นแนวขวางจำนวนค่อนข้างถี่ แต่ที่กรุด้วยใบตาลหรือแฝกก็พอมีอยู่บ้าง
ฝาเรือน ฝาคือเครื่องกำบังหรือเครื่องกั้นของเรือน ฝาเรือนตามปกติทำสำเร็จเป็นแผงๆ เสียก่อนจึงนำไปกั้นหรือห้อมล้อมเรือน แต่ที่กั้นเป็นฝาติดกับตัวเรือนเลยก็มี และฝาเรือนเครื่องผูกยังมีแบบต่างๆ หลายแบบ ซึ่งจะอธิบายต่อไปโดยลำดับดังนี้
ในชั้นต้นนี้ขอแนะนำให้รู้จักชื่อ ลักษณะ และตำแหน่งฝาต่างๆ สำหรับกั้นหรือกำบังเรือนเสียก่อน ฝาที่ใช้กั้นสำหรับเรือนเครื่องผูกมีชื่อเรียกตามลักษณะนามว่า “แผง” หรือ “ฝาแผง” ทั้งนี้ก็โดยเหตุที่ฝาส่วนมากกั้นด้วยเครื่องกั้นชนิดที่ทำสำเร็จรูปมีลักษณะเป็นแผง ซึ่งส่วนมากเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียกตามลักษณะต่างๆ กัน เช่น ลำแพน และขัดแตะ เป็นต้น
ฝาสำหรับเรือนหลังหนึ่งๆ มีลักษณะและที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่างๆ กัน ฝาซึ่งกั้นอยู่ทางด้านข้างตามความยาวของเรือนเรียกว่า ฝาเรียง เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะใช้แผงฝากั้นเรียงต่อกันตั้งแต่สองแผงขึ้นไป ส่วนฝาที่กั้นอยู่ทางด้านหัวและท้ายเรือนเรียกว่า “ฝาหุ้ม” เหตุที่มีชื่อเช่นนี้เนื่องมาแต่วิธีการเข้าฝา คือฝาหุ้มจะทำกว้างกว่าตัวเรือนข้างละเล็กน้อย เมื่อเข้าฝาด้านนี้ริมฝาจะปิดหุ้มริมฝาด้านข้างของฝาเรียงไว้ทั้งหมดนั่นเอง ฝากั้นขวางในตัวเรือนเพื่อแบ่งเป็นห้องเรียกว่า ฝาระจัน และฝากั้นอยู่ตอนหัวและท้ายระเบียงใต้พาไลเรียกว่า “ฝาเสี้ยว” เหตุที่ชื่อเช่นนี้ก็เนื่องมากแต่ว่า รูปร่างของฝาไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมดังเช่นฝาชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ก็โดยที่ส่วนปลายฝาหรือด้านบนของฝาทำให้เพล่เฉลียงลงตามความลาดของหลังคาพาไลซึ่งคลุมระเบียงอยู่ จึงแลดูเป็นรูปเสี้ยวไม่เป็นแผงฝาสี่เหลี่ยม
ฝาเรือนเครื่องผูกมีอยู่หลายแบบ ฝาแต่ละแบบที่นำมาพรรณนาต่อไปในที่นี้ล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุที่มาแต่การใช้วิธีการต่างๆ ในการนำเอาวัสดุมาประกอบเข้าด้วยกันให้เป็นฝา หรืออย่างที่ช่างปลูกเรือนเขาเรียกว่า “วิธีเข้าฝา” เพื่อให้ได้สิ่งกั้นหรือกำบังเรือนเป็นสำคัญ ส่วนแบบฝาที่งามๆ แปลกๆ ต่างๆ นั้นล้วนแต่เป็นความคิดและการประดิษฐ์ทำขึ้นในโอกาสที่มีเวลาว่างมากๆ หรือมีทุนทรัพย์ยิ่งขั้น ก็อาจจะคิดทำฝาให้มีแบบพิสดารแตกต่างออกไปไม่มีที่สิ้นสุดได้ แบบฝาเรือนเครื่อง ผูกทั่วไปในพื้นบ้านตามชนบทมีแบบต่างๆ ต่อไปนี้
ฝาจาก ฝาแบบนี้กรุฝาด้วยใบจากที่เย็บสำเร็จเป็นตับ นำมาเข้าเป็นฝาด้วยวิธีผูกร้อยตับจากติดกับไม้คร่าวฝา โดยเรียงตับจากทับกันจากหัวฝาลงมาหาตีนฝา ต้านข้างนอกเรือน มีไม้ไผ่ผ่าซีกพาดกระหนาบตามแนวนอน ทับปลายตับจาก เป็นระยะเพื่อกันคนเลิกฝา ไม้กระหนาบฝานี้ผูกร้อยติดกับไม้คร่าวฝาที่อยู่ด้านในตัวเรือน
ฝาทางจาก ฝาแบบนี้ใช้ทางจากที่มีใบจากทับกันไปตามความยาวและความกว้างของเรือน โดยผูกทางจากให้ติดกับคร่าวที่พาดตามแนวขวางอยู่ข้างในเรือน ฝาแบบนี้จะแลเห็นทางจากเป็นเส้นตั้งขึ้นมีระยะเท่าๆ กันเป็นแนวฝา และช่วงว่างระหว่างทางจากแต่ละอันจะเห็นใบจากที่ได้รับการจัดเรียงเป็นเส้นทะแยงไปทางเดียวกันอย่างมีระเบียบ เป็นฝาที่มีความงามในตัวของมันเองพอสมควร
ฝากระแชงอ่อน เป็นฝาที่ใช้ใบจากอ่อนหรือใบเตย นำมาเย็บเพลาะเข้าเป็นผืน แล้วกระหนาบด้วยซีกไม้ไผ่ซึ่งสานเป็นตารางไว้ทั้งสองด้านริมฝาเข้าไม้เป็นกรอบประดับทั้ง ๔ ด้านเพื่อช่วยให้มั่นคงขึ้น ฝากระแชงอ่อนเป็นฝาชนิดแผง คือทำให้สำเร็จเป็นแผงก่อนจึงนำเข้าไปกั้นกับตัวเรือน
ฝาสาน ฝาสานหรือฝาลำแพนก็เรียก ใช้ไม้ไผ่จักเป็นซี่แบนยาวหรือใช้ขี้ไม้จักเป็นซี่แบนๆ นำมาสานขึ้นเป็นผืน แล้วเข้ากรอบทั้ง ๔ ด้านยกขึ้นกั้นทำเป็นฝาเรือน ฝาสานนี้มีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามลวดลายที่สานก็มี เช่น ฝาลายอำ ฝาลายสอง เป็นต้น
ฝาขัดแตะ เป็นฝาที่ใช้ไม้ไผ่ซีกแบนๆ สอดขัดกับไม้เซ็นซึ่งทำหน้าที่เป็นคร่าวฝาทางนอนตั้งขึ้นไป โดยเอาไม้ซีกขัดด้านนอกเซ็นหนหนึ่ง แล้วขัดด้านในเซ็นหนหนึ่งสลับกันไปจนสิ้นความยาวของไม้ซีก ฝาขัดเป็นฝาที่มีความมั่นคงกว่าฝาแบบต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแต่ข้างต้น
ฝาสอด เป็นฝาแบบหนึ่ง ที่ส่วนประกอบฝาค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร กล่าวคือฝาแบบนี้มีคร่าวทำด้วยไม้ไผ่ตั้งรายขึ้นแต่พื้นเรือนไปชนหัวแป ไว้ช่องระหว่างคร่าวแต่ละอันประมาณ ๑ ศอก โคนคร่าวทำเป็นปากไม้ ๒ ขา จัดให้นั่งคร่อมอยู่บนไม้รับตีนคร่าว ส่วนปลายคร่าวเจาะเป็นช่อง โตพอสมควร สอดไม้ร้อยหัวคร่าวแต่ละอันกำกับให้หัวคร่าวอยู่ในแนวเดียวกัน ลำต้นคร่าวแต่ละต้นเจาะเป็นช่องๆ ไว้
ระยะห่างกันพอควร จึงสอดไม้เซ็นหรือบางถิ่นเรียกว่า “ลูกนายฝา” ช่องละคู่หนึ่งแล่นยาวไปตามแนวฝา ต่อจากนี้จึงเอาใบจากอ่อนคลี่ออกสอดลงในระหว่างกลางไม้เซ็นทั้งคู่ สอดยาวลงไปในระหว่างกลางเสาคร่าวแต่ละอันจนเต็มหน้าฝา ก็จะได้ฝาสอดแบบหนึ่ง
ฝาสอดแบบนี้ ในบางถิ่นเปลี่ยนชื่อวัสดุที่กรุฝาเป็นอย่างอื่นก็มี คือใช้ผืนฟากสอดลงตรงกลางระหว่างไม้เซ็นแต่ละคู่ๆ จนเต็มผืนฝาแทนการใช้ใบจาก ฝาสอดแบบนี้จึงมีความมั่นคงแข็งแรงกว่าฝาสอดแบบแรก
ฝาหอยโฃ่ง เป็นฝาอีกแบบหนึ่ง มีโครงสร้างคล้ายกันกับฝาสอด แต่มีที่ต่างกันตรงกรุฝา การกรุฝาหอยโข่งใช้ไม้ไผ่ซี่เล็กๆ สอดเป็นแนว ตั้งขึ้นมาขัดไม้เซ็นเหมือนทำฝาขัดแตะ และไม้เซ็นมีช่วงละชิ้นเดียว ไม่ทำเป็นคู่อย่างที่ใช้กับฝาสอด ฝาหอยโข่งควรกล่าวได้ว่าเป็นฝาที่มีความมั่นคง แข็งแรงกว่าฝาเรือนแบบอื่นๆ ทั้งหมด ที่ใช้เป็นฝากั้นเรือน เครื่องผูก
ฝาเรือนเครื่องผูกอาจมีแบบต่างๆ ออกไปจากที่กล่าวในที่นี้อีกมาก เช่น ฝาใบตองตึง ฝาต้นแยง ฯลฯ ซึ่งเป็นแบบที่มีพื้นฐานในการเข้าฝาไม่สู้แตกต่างไปจากวิธีการ และแบบของฝาดังได้กล่าวมาแต่ข้างต้น จึงงดไว้เสียจะไม่พรรณนาให้ยาวต่อไปกว่านี้
เครื่องมุง คือสิ่งที่นำมาปกปิดส่วนบนของเรือน หรือหลังคาเรือน เพื่อกันแดด กันฝน เครื่องมุงหลังคาเรือนเครื่องผูกทั่วไปในภาคกลาง ภาคใต้นิยมใช้จากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมใช้แฝก และภาคเหนือนิยมใช้ใบตองตึง จากก็ดี แฝกและใบตองตึงก็ดี เมื่อนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมุง จำต้องนำมาเย็บร้อยทำเป็นคบโดยไม้ไผ่ซีกยาวๆ ขนาดเล็กกว่านิ้วก้อยเล็กน้อยสอดทำเป็นโครงตับ เรียกว่า “ไม้ตับจาก” หรือถ้าทำตับแฝก ตับใบตองตึง ก็ต้องมีไม้นี้สอดเป็นกระดูของเครื่องมุงแต่ละตับเช่นกัน
ไม้ทับหลังคา เป็นไม้ไผ่ท่อนยาวๆ ร้อยหัวไม้เป็นคู่ๆ แล้วถ่างปลายออกนำไปวางคล่อมลงบนสันหลังคาเรือน เว้นระยะห่างๆ กัน ทำหน้าที่ทับเครื่องมุงหลังคามิให้ลมตีตลบหลังคา
แม่กระได เรือนเครื่องผูกทั่วไปยกพื้นเรือนสูงอยู่เหนือระดับพื้นดินอย่างน้อย ๑ เมตร ดังนั้นการขึ้นและลงเรือนจึงต้องทำกระไดใช้เป็นทางขึ้นลง แม่กระได ทำด้วยไม้ไผ่คู่ เจาะด้านข้างให้เป็นช่องเหนือข้อ ช่องสำหรับสอดลูกกระไดขั้นต่ำสุดต้องเจาะให้ทะลุทั้งสองข้าง และช่องที่ใช้สอดกระไดขั้นบนสุดก็ต้องเจาะทำนองเดียวกัน ส่วนช่องสอดลูกกระไคระหว่างขั้นแรกและขั้นสุดท้าย ไม่ต้องเจาะให้ทะลุรอดออกไป ลูกกระไดทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก ลบเหลี่ยมให้หมดคม นำมาสอดขวางอยู่ระหว่างไม้แม่กระได ทั้งคู่โดยตั้งด้านหนาขึ้น ลูกกระไดลูกล่างสุดและลูกบนสุดนั้นต้องทำให้ยาวกว่าลูกอื่น เมื่อสอดเข้าไปในช่องแล้วจะ เหลือปลายยื่นออกมาทั้งสองข้าง ทำเช่นนี้ไว้สำหรับเจาะรูที่หัวไม้ลูกกระได เพื่อใส่สลักบังคับมิให้แม่กระไดทั้งตรงหัว และตีนกระไดแยกออกจากกัน
อนึ่ง การทำขั้นกระไดขึ้นเรือน มีจำนวนขั้นกี่มากน้อยจึงจะดี หรือไม่ดีอย่างไร มีคำคนแต่ก่อนท่านกล่าวไว้ เป็นความควรรับฟังว่า “กระไดขั้นคู่กระไดผี กระไคขั้นคี่ กระไดคน” ซึ่งหมายถึงจำนวนขั้นที่เป็นเลขคู่คือ ๒๔๖๘ เป็นกระไดผี ขั้นกระไดที่เป็นเลขจำนวนี่ คือ๑๓๕๗๙ เป็นกระไดคน คติความเชื่อเช่นว่านี้ได้ยินท่านผู้ใหญ่ให้คำอธิบายไว้ว่า กระไดขั้นคู่นั้น ลูกกระไดขั้นสุดท้ายมักจะอยู่ในระดับเสมอพื้นเรือนหรือพื้นชาน เวลาก้าวขึ้นก้าวลงก็ดีมักเกิดเป็นเหตุขึ้นด้วยขาดการระมัดระวัง เพราะแต่ก่อนนั้น กระไดเรือนมิได้ทำติดถาวรมั่นคงกับตัวเรือน เป็นกระไดที่พาดก่ายเกยริมเรือนริมชานไว้เปล่าๆ อาจถอนชักขึ้นเก็บไว้บนเรือนในตอนค่ำๆ เพื่อกันมิให้คนแปลกหน้าล่วงขึ้นเรือน
และจะทอดลงมาพาดไว้ในตอนกลางวันใช้เป็นทางขึ้นลงตามปกติ ธรรมเนียมทำกระไดเช่นนี้พึงเห็นตัวอย่างได้จากบทละครเรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อนั้น
โฉมระเด่นลันไดใจหาญ
ครั้นพลบค่ำเข็นบันไดไว้นอกชาน
ยกเชิงกรานสุมไปใส่ฟืนตอง”
การที่กระไดยกถอดย้ายได้เช่นนี้ จึงเมื่อเอากระได พาดเข้ากับเรือนแต่ละวันๆ ย่อมมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้เช่น พาดสูงบ้างต่ำบ้างถ้าพาดสูงไป ลูกกระไดที่อยู่ข้างบนสุดลอยอยู่เหนือพื้นชาน ก็อาจเป็นเหตุให้ก้าวขึ้นแล้วมักถีบกระไดให้หักหนีออกไปจากเรือน ทำให้คนผู้นั้นเสียการทรงตัว อาจหงายหลังตกลงไปได้ หรือเมื่อพาดกระไดต่ำ ลูกกระไดขั้นบนสุดอยู่ต่ำกว่าพื้นชานเล็กน้อยก็ไม่ดีอีก เพราะจะทำให้ก้าวไม่พ้น ปลายเท้าไปสะดุดพื้นริมชาน อาจจะทำให้ลมขะมำไปข้างหน้า ดังนี้คนแต่ก่อนจึงกำหนดให้ทำขั้นกระไดเป็นจำนวนคี่ ขั้นสุดท้ายข้างบนให้เหลือระยะที่จะพาดพื้นชานเท่ากับความกว้างของลูกขั้นแต่ละลูก ก็จะ พอเหมาะแก่การก้าวขึ้นลง ทั้งนี้โดยอาศัยพื้นชานเป็นขั้นกระไดแถมมาเป็นจำนวนคู่อยู่ในตัวด้วย
ไม้ร้อย ตัวไม้ขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ไผ่ เหลาเป็นท่อนกลมยาวคล้ายตะเกียบ ใช้สำหรับร้อยหัวกลอน หัวปั้นลม หัวจันทัน เป็นต้น
ลูกประสัก ตัวไม้ขนาดเล็ก ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นท่อนกลมปลายเรียว ใช้สำหรับดอกเพื่อเป็นที่มั่น ในการผูกรั้งเครื่องเรือน
จากหลบ คือจากส่วนที่คลุมอยู่บนสันของหลังคาเรือน ใช้จากมาเย็บร้อยตรงส่วนโคนใบเข้าด้วยกัน คล้ายกับใบปกแฟ้มหนังสือ จึงนำไปครอบลงบนสันหลังคาทับอยู่ตามแนวไม้อกไก่ เพื่อกันฝนรั่วเข้าในเรือน
กลอนใบพัดหรือกลอนหางปลา คือตัวไม้ ที่เป็นโครงหลังคาไขราปีกนก ตรงที่ต่อออกมาหน้าตีนจั่ว กลอนตรงนี้มิได้วางทอดออกไปตรงๆ แต่วางคลี่ออกไป คล้ายโครงพัดด้ามติ้วหรือหางปลาช่อน จึงเรียกกันว่า กลอนใบพัด หรือกลอนหางปลา
กรอบประตูหน้าต่าง กรอบประตู- หน้าต่าง ทำด้วยไม้ไผ่นำมาตัดต่อเข้าเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านในของกรอบตัวยืนเจาะเป็นช่องสอดไม้เซ็น ขวางลงเป็นระยะห่างเท่าๆ กันจึงใช้ไม้ซีกสอดตั้งขัดแตะขึ้นไป กรุเป็นบานประตูหรือบานหน้าต่าง
วิธีปลูกเรือนเครื่องผูก
การปลูกเรือนเครื่องผูก ไม่สู้เป็นการเอิกเกริกวุ่นวายเหมือนกับการปลูกเรือนประเภทเครื่องสับ หรือเรือนฝากระดานที่ต้องทำกันอย่างเป็นพิธีรีตองมาก ทั้งนี้จะพึงเห็นได้โดยอาศัยความที่คนแต่ก่อนเขียนไว้และเหลือตกมาถึงปัจจุบัน มีปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าเล่มหนึ่ง ซึ่งพรรณนาว่าด้วยการปลูกเรือนเครื่องสับ ความว่า
“บัดนี้เวลากาลจวนกฤษ์ยาม จงชวนกันกระทำตามประ¬เพณี เอาแป้งหอมน้ำมันดีมาจี้เจิมเฉลิมเข้า เอาน้ำมนต์ประพรมเสาเอายันต์ปิดเข้าจงเร็วไว กันฟ้ากันไฟโพยภัยทั้งหลาย จวนฤกษ์พรรณรายวุ่นวายแต่งตัว เอามงคลแจกทั่ว ตามอย่างตามธรรมเนียม เอะอะตระเตรียม พร้อมพรั่งตั้งใจ ประคองเสาเข้าไว้ คอยท่านผู้ใหญ่บัญชา พอได้ฤกษ์เวลา ปลูกกล้วยเป็นทอง ท่านจึงให้ลั่นฆ้อง เข้าเป็นสำคัญ โห่เลื่อนลั่นขึ้นสามลา
ผู้เฒ่ามาประพรมน้ำมนต์ ทุกตัวตนล้วนคนขยัน ยกเสาพลันทันท่วงที่ เสียงมะมี่วิ่งไปมา ฉวยมีดพร้า คว้าสายระยาง ทำต่างต่างตามจำนง ยกเสาส่งตรงเสือกใส่ สำคัญได้ดังใจหมาย ขื่อทั้งหลายรายทุกเสา ดั้งสอดเข้าถึงที่ดี แปรยาวรีส่งขึ้นไป จันทันใส่อกไก่สับ ดั้งแขวนปรับปรุงขยันเหยียบจันทันถูกท่าทาง แปลานวางถูกจังหวะเหล็กตาปูกะประกอบดี ขวานต่อยตีจงแน่นแฟ้น จับปลิงแขวนแน่นประกับแปหัวเสาสับเสร็จทันใด คนเข้าใจให้เชิงกลอน จวนแดดร้อนเร่งรัดทำบ้างส่งน้ำแจกหมากพลู คนผู้รู้ให้ปั้นลม กลอนระดมดูเรียบร้อย เหล็กตาปูน้อยต่อยตีเสร็จ มุงทำสำเร็จ กระเบื้องหลบ พรึงฝาครบพื้นกระดาน พอเสร็จการประกอบฤกษ์ เวลาเลิกเลี้ยงอาหาร คาวหวานเรียง วรารส อิ่มหนำหมดทุกตัวตน แต่บรรดาคนที่มาช่วยต่างอำนวยอวยพระพร ให้ท่านเป็นเศรษฐีถาวรภูลสวัสดิ์ ประกอบไปด้วยสิริสุขสมบัติเจริญดี ให้โห่ขึ้นสามที ลั่นฆ้องอวยชัย”
อาศัยความว่าด้วยการปลูกเรือนประเภทเครื่องสับหรือเรือนฝากระดาน ดังที่คัดมาแสดงนี้ คงจะพอช่วยให้นึกเห็นภาพการปลูกเรือนประเภทดังกล่าวได้บ้างว่าเป็นพิธีรีตองอย่างมาก แต่การปลูกเรือนประเภทเครื่องผูกนั้น เป็นการไม่วุ่นวายหนักหนา ไม้ไร่ จากคา หรือก็เป็นของที่มีอยู่ไม่ไกลมือ อาจหยิบฉวยมาใช้ทำเรือนได้ไม่ทันนาน ส่วนช่างที่จะทำเรือนนั้นเล่าก็อาศัยออกปากบอกแขกเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงที่พอมีความเข้าใจปลูกเรือนมาช่วยกันคนละแรงสองแรงตามกำลังของผู้มีน้ำใจแก่กัน ก็อาจปลูกเรือนขึ้นได้สำเร็จด้วยเวลาไม่นานวัน ซึ่งเวลาที่ใช้ในการทำเรือนเครื่องผูกนี้จะกินเวลาอยู่ในระหว่าง ๗-๑๐ วันไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ แม้แต่ก่อนอาจไม่มีเครื่องทุ่นแรงมือต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานดีเท่าสมัยปัจจุบันก็ดีช่างปลูกเรือนเครื่องผูกทำเรือนหลังหนึ่งๆ ก็ใช้เวลาตกอยู่ในระหว่าง ๗-๘ วันเท่านั้น ความข้อนี้พึงเห็นได้จากบันทึกของชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่ได้เข้ามาเห็นเมืองไทยเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ว่า
“วันรุ่งขึ้น เราออกเดินทางต่อไปถึงพระประแดง ซึ่งทางการเตรียมเรือนพักหลังแรกไว้ให้อาคารหลังเล็กๆ นี้ แม้จะใช้เวลาปลูกสร้างเพียงแปดวัน ด้วยฝาเสื่อลำแพนและพื้นฟากก็แข็งแรงและน่าอยู่พอสมควร”
วิธีการปลูกเรือนเครื่องผูกตามพื้นบ้านในชนบทในเมืองไทย ซึ่งเป็นวิธีที่ชาวบ้านทำเรือนขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยอยู่กันโดยทั่วไปนั้น มีวิธีการโดยลำดับต่อไปนี้
เมื่อแรกจะปลูกเรือนนั้น ในชั้นต้นต้องปราบและฉายพื้นที่ดินบริเวณที่ได้กำหนดขึ้นให้เป็นที่ปลูกทำเรือนเสียก่อน การปราบที่ก็คือการตัดรอน ถอนต้นไม้ หลักตอ และหินผาอันเป็นสิ่งที่กีดขวางต่อการที่จะปลูกเรือนลงในที่นั้นอย่างหนึ่ง กับทำการขุดคัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในที่นั้น ออกไปเสียให้พ้น ให้เป็นพื้นที่บริสุทธิ์สะอาดแก่การที่จะเป็นที่อยู่อย่างปกติสุขต่อไป การปลูกเรือนโดยมิได้ปราบที่เสียก่อน ท่านว่าหาความสุขสบายมิใคร่ได้ เพราะอาจไปพบปัญหาอย่างที่คนโบราณท่านกล่าวห้ามไว้ว่า “ อย่าปลูกเรือน คล่อมตอ” ทั้งนี้เนื่องมาแต่ตอไม้ที่ตัดทิ้งไว้ แล้วไม่ขุดคัดเอาไปทิ้งที่อื่นเสียก่อน เมื่อปลูกเรือนก็ทำคล่อมอยู่บนตอไม้ นั้น พอนานสักหน่อยตอผุลงไปก็กลายเป็นเชื้อให้มดบ้าง ปลวกบ้าง มาจับทำรังอาศัยแล้วก็ไต่ขึ้นมาทำความรำคาญ หรือทำลายสิ่งของบนเรือนต่อไป เหตุเช่นตัวอย่างนี้คนแต่ก่อนท่านจึงได้แนะนำว่าเมื่อแรกจะปลูกต้องปราบพื้นที่เสียก่อน ต่อไปจึงจัดการฉายที่คือเกลี่ยหน้าดินให้ราบเรียบเสมอกัน อย่าให้เป็นหลุมเป็นบ่อ และไม่ให้มีที่เขินขึ้นเป็นมูลดินได้จึงจะดี
พอปราบและฉายพื้นที่เรียบร้อยพร้อมอยู่แล้ว จึงจัดเอา “ไม้แม่เตาไฟ” มาประกอบกันเข้าเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้ความกว้างและความยาวตามขนาดของเรือนที่จะปลูก โดยจัดวางกรอบ “ไม้แม่เตาไฟ” ลงบนพื้นดินตรงที่ที่ได้กำหนดจะปลูกให้เป็นเรือนขึ้นมา แล้วจัดกรอบ “ไม้แม่เตาไฟ” ให้ได้มุมได้ฉากพอดีแล้ว จึงจัดการปัก “ฉะมบ” คือ ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกยาวประมาณ ๑ ศอก เสี้ยมปลายให้แหลมเพื่อปักดินได้ การปักฉะมบคือการกำหนดที่หมาย ตำแหน่งหลุมเสาที่จะขุดขึ้นเพื่อฝังโคนเสาเรือนแต่ละเสา เมื่อจะปักฉะมบนี้ให้ปักตรงมุมร่วมในของ “ไม้แม่เตาไฟ” ทั้ง ๔ มุมก่อน จึงปักฉะมบตรงที่จะขุดหลุมปักเสาแบ่งห้องต่อไป โดยปักที่ร่วมในริมกรอบไม้แม่เตาไฟเท่านั้น พอปักฉะมบลงไว้เป็นที่หมายตำแหน่งหลุมเสาให้ครบทุกเสาแล้วจึงถอดกรอบ “ไม้แม่เตาไฟ” ออกไปเก็บพักไว้ที่อื่นก่อน งานต่อไปคือขุดหลุมเพื่อลงเสาต่อไป
การขุดหลุมเพื่อนำเสามาลงนี้ ให้ทำวงหลุมเสาโดยกำหนดให้หลักไม้ “ฉะมบ” เป็นศูนย์กลางหลุมเสา หลุมเสาของเรือนเครื่องผูกต้องขุดเป็นหลุมคู่กัน สำหรบเสาประเด หลุมหนึ่งกับสำหรับเสาตอหม้อหรือเสาหมออีกหลุมหนึ่ง ตำแหน่งหลุมของเสาจะต้องอยู่ถัดจากหลุมเสาประเดทางข้างของเรือนเสมอ หลุมเสาหลุมหนึ่งๆ ลึกประมาณ ๗๐-๘๐ เซนติเมตร หลุมที่ขุดลงไปในดินนี้ขั้นต้นมักใช้พร้าหัวเสียม ขุดหน้าดินที่ค่อนข้างแข็งก่อน พอถึงดินอ่อนจะเปลี่ยนเป็นขุดด้วยจำปา เพราะเมื่อขุดหลุมลึกลงไปมาก ย่อมไม่เป็นการสะดวกที่จะล้วงลงไปควักเอาขี้ดินขึ้นมา จึงต้องใช้จำปา ขูดสักลงในก้นหลุม กลีบจำปาก็จะหนีบเอาขี้ดินติดขึ้นมา เมื่อเวลาดึงกลับ ซึ่งอาจนำไปกระทุ้งทิ้งเสียในที่อื่นได้ง่าย หลุมเสาแต่ละหลุมต้องขุดให้มีลักษณะเป็น ‘’รุ้ง” คือให้ก้นหลุมผายออกเป็นดังตีนช้าง ส่วนปากหลุมให้ลงขนาดที่กำหนดไว้แต่เดิม ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการที่จะ “กระดี่” ตีนเสาเมื่อยกใส่หลุมให้ได้แนว ซึ่งต้องใช้ไม้กระดาน “แพน” ที่ปากหลุมทีละน้อยๆ ถ้าทำปากหลุมกว้างเท่ากัน หลุมเวลา “กระดี่” เสาให้เข้าแนวกระดานที่แพนจะกดปากหลุมให้ผายกว้างออกไปทำให้เสียวง และจับแนวเสายาก
เมื่อขุดหลุมเสาครบถ้วนทุกตำแหน่งแล้ว จึงจัดการยกเสาลงหลุม แต่ก่อนจะยกเสาต้องปู “แระ” ที่ก้นหลุม เพื่อรองตีนเสาแต่ละหลุมๆ เสียให้ครบจึงยกเสาประเดตั้งลง ในหลุมแรกที่มักอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อน แล้วจึงลงเสาต้นต่อไปในหลุมที่อยู่ถัดไปทางซ้ายมือตามลำดับ จนเวียนมาบรรจบเสาคเนแรกที่ลงไว้ในหลุมต้น พอลงเสาประเดแล้วจึงปักเสาหมอ ลงในหลุมเทียบข้างเสาประเด แต่ละต้นๆ จัดการจัดระดับและปรับระยะความสูงต่ำของปลายเสา หมอแต่ละต้นให้เสมอกัน จึงใช้หวายมัดเสาหมอให้ติดแนบแน่นกับเสาประเดเป็นคู่ๆ
พอดั้งเสาประเดและเสาหมอขึ้นมั่นคงแล้ว ก็เอา “รอค” มาวางพาดบนปลายเสาหมอแต่ละคู่ๆ จัดการเจาะรูที่ใกล้กับปลายเสาหมอแต่ละต้น แล้วสอด “ลูกประสัก” ตอกให้ติดกับปลายเสา จึงใช้หวายมัดรั้งรอดลงมาผูกพันไว้กับลูกประสักนี้ให้แน่น ทำเช่นนี้ทุกตำแหน่งที่ไม้ “รอด” พาดทับหัวเสาหมอ ไม้รอดแต่ละตัวจะต้องเผื่อปลายไม้แต่ละข้างให้เหลือยาวออกไปจากขนาดความกว้างของตัวเรือน และเลยออกไปพ้นแนวเสาประเดพอสมควร
พอถึงตอนนี้ให้นำ “ไม้แม่เตาไฟ” ที่ถอดพักไว้ กลับมาประกอบเข้าเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมเสาเรือนทั้ง ๔ ด้าน โดยวางพาดไว้บนปลายรอด แต่นี้จะต้องจัดการจับแนวเสาเรือนให้ได้ระดับโดยอาศัย “ไม้แม่เตาไฟ” เป็นเครื่องบังคับเชิงเรือนพอจับแนวเสาได้สำเร็จจึงใช้หวายมัด หัวรอดให้ติดกับ “ไม้แม่เตาไฟ” ให้มั่นคง แล้วจึงจัดการกลบหลุมเหยียบดินให้แน่นๆ ทุกโคนต้นเสา
ขั้นต่อมา เอาไม้ขื่อขึ้นวางพาดประจำบนปลายเสา ประเดแต่ละคู่ๆ เจาะรูทำไม้ร้อยต่ำลงมาจากปลายเสาประมาณ ๑ คืบทุกต้นเสา แล้วใช้หวายผูกรัดรั้งขื่อให้กดทับหัวเสาแนบแน่นโยงลงมาพันกบ “ไม้ร้อย” ทั้งสองข้าง โดยผูกถักแบบ “หูกระพง”
พอวางขื่อประจำหัวเสาครบทุกต้นเสาแล้ว ก็นำไม้ “แป” ขึ้นไปวางพาดทางด้านข้างเรือนทับลงบนปลายขื่อทั้งสองข้าง แล้วจัดการผูกมัด “แป” ให้ติดกับปลาย “ขื่อ” ทุกตัวให้มั่น
“ขื่อ” และ “แป” ประจำหัวเสานี้ ทำหน้าที่เป็นกรอบบังคับทรงเรือนตอนบนเช่นเดียวกับ “ไม้แม่เตาไฟ” ซึ่งทำหน้าที่บังคับรูปทรงเรือน อยู่ทางตอนกลางเรือน
ต่อไปเอาเสาดั้งนั่งบนกลางเสารอดอันที่อยู่ทางหัวและทำยเรือน ตั้งสอดผ่านหลัง “แป” ขึ้นไป ทำไม้ร้อยที่ตีนเสาผูกรั้งด้วยหวายผูกติดกับท้องรอด ตอนกลางเสาผูกมัดติดกับกลางขื่อ ส่วนขื่อตรงกลางห้องนั้นมักจะไม่ทำเสาดั้งแต่จะตั้ง “ใบดั้ง” ขึ้นไปบนหลังขื่อ โคนใบดั้งเจาะรูสอด “ไม้ร้อย” เช่นเดียวกับตีนเสาดั้ง แล้วผูกรั้งไว้กับท้องขื่อประจำห้อง
พอตั้ง “เสาดั้ง” และ “ใบดั้ง” พร้อมแล้ว นำเอาไม้ “กบทู” ขึ้นวางพาดบนปลาย “เสาดั้ง” และ “ใบดั้ง” ยาวไปตามตัวเรือน ที่ปลาย “เสาดั้ง” และ “ใบดั้ง” เจาะรู ทำไม้ร้อยใช้หวายผูกรั้งให้กบทูทอดแนบแน่นบนปลายไม้ทุกอัน
นำเอาไม้ “จันทัน” แต่ละคู่ๆ ที่ร้อยหัวไม้ให้ติดกัน แล้ววางคล่อม
ลงบนหลังไม้ “กบทู” ปล่อยให้ปลาย “จันทัน” แต่ละข้างวางทาบทับอยู่บนหลัง “แป” หัวเสาจัดวางจันทัน แต่ละคู่ๆ ให้ห่างกัน เว้นระยะกว้างเท่าๆ กัน
เอาไม้ “อกไก่” ขึ้นวางพาดทับบนง่ามไม้หัว “จันทัน” ที่ไขว้กันไว้แต่ละคู่ๆ ทอดไปตามยาวของเรือน ตอนนี้จะต้องผูกรั้ง “ไม้อกไก่” ไว้กับไม้ “กบทู” โดยใช้หวายผูกรัดเป็น “หูกระพง” อยู่ระหว่างกลาง “จันทัน” แต่ละคู่
ขั้นต่อมาจึงจัดส่ง “แปลาน” และ “แปเชิงชาย” ขึ้นไปจัดวางลำดับทับลงบนหลัง “จันทัน” ยาวไปตามตัวเรือน เว้นระยะห่างเท่าๆ กันจากข้างบนสันหลังคาลงมา แล้วผูกรัดแปให้ติดมั่นกับ “จันทัน” แต่ละตัวๆ
นำเอาไม้ “กลอน” แต่ละคู่ที่จัดการร้อยหัวไว้เป็นคู่ๆ ซึ่งทำเตรียมไว้เช่นเดียวกับไม้จันทน ขึ้นไปวางคล่อมทับบนหลัง “อกไก่” ปล่อยให้ขากลอนแต่ละข้างทอดทับบนหลัง “แป” ตัวบนสุดลงมาตามลำดับ แล้วจัดวางกลอน แต่ละคู่ วางให้มีระยะห่างเท่าๆ กัน แต่ต้องถือหลักว่า วางกลอนให้ตรงแนวจันทันจั่วและจันทันประจำห้องเสียก่อน จึงแบ่งระยะวางกลอนในระหว่างห้องให้ห่างเท่าๆ กันโดยลำดับ
พอจัดวาง “กลอน” ได้ตรงตามตำแหน่งและจังหวะดีแล้ว จึงเอาไม้ “นอนแนบ” ขึ้นวางพาดขวางทับบนหลัง “กลอน” ทอดเป็นแนวตามความยาวของหลังคา ตรงแนวของแปลานและแปเชิงชายที่อยู่ข้างใต้ มัดหลังไม้ “นอนแนบ” ลงไปผูกกับท้อง “แป” เพื่อประกับ “กลอน” ให้ ติดแน่นกับ “แป” ทุกๆ ตัว
ตรงปลาย “กลอน” หรือ เชิงชายคา นำเอาไม้ไผ่ ผ่าซีกที่เรียกว่า “ไม้ขัดเชิงกลอน” มาทำการขัดยกหนึ่งข่มหนึ่งสลับกันไปประมาณข้างละ 3-4 ซีก เพื่อประกับเชิงกลอนมิให้รวน
พอมาถึงขั้นนี้ กล่าวได้ว่าปรุงรูปทรงโครงร่างของเรือนสำเร็จเป็นหลังหนึ่งแล้ว งานขั้นต่อไปคือขั้นตอนทำการมุงหลังคาเรือนต่อไป
การมุงหลังคาเรือนในที่นี้จะอธิบายเฉพาะวิธีมุงด้วยเครื่องมุงที่เป็นจากเท่านั้น ส่วนเครื่องมุงชนิดอื่นจะยกไว้ เพราะวิธีการไม่สู้ต่างกว่าวิธีมุงด้วยจากกี่มากน้อย
ใบจากเป็นใบของต้นไม้ชนิดหนึ่งในจำพวกปาล์ม ขึ้นเป็นกอ เกิดอยู่ตามป่าชายเลนที่น้ำเค็มขึ้นถึง ใบจากที่ตัดออกจากทางจากนำมาเย็บเพลาะกันเข้าให้มีรูปร่างสี่เหสี่ยมผืนผ้าเรียกว่า “ตับ” จากตับหนึ่งๆ มีความกว้างประมาณ ๔๐-๕๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร
วิธีมุงหลังคาด้วยจาก เริ่มด้วยเอาตับจากวางพาดบนหลังไม้กลอนทางตอนล่างก่อนจึงใช้ตอกไม้ไผ่ร้อยหัวจากให้ทะลุลงไปข้างใต้ เกี่ยวกระหวัดรัดไม้ “กลอน” แล้วปิดปลายเส้นตอกทั้งคู่ให้เป็นเกลียว จึงสอดปลายตอกเหน็บไว้ กับตอกรัดข้างไม้กลอน ทำเช่นนี้เป็นระยะที่ตับจากทับอยู่ตรงไม้กลอน จึงวางจากตับต่อไปทับจากตับแรกกะให้หัว จากห่างกันพอสมควร ตามปกติที่มุงกันอยู่ทั่วไปมักจัดหัวจากให้ห่างกันประมาณชั่วฝ่ามือเรียกว่า “มุงถี่” แต่ถ้าทุนทรัพย์น้อยไม่พอที่จะใช้จากมากๆ ก็จะจัดหัวจากให้ห่างกว่านี้ก็ได้ อย่างที่มีตัวอย่างกล่าวไว้ให้เห็นได้ในเรือนของชูชก ในมหาเวสสันดรชาดกว่า
“เกลากลอนใส่ซีนครุคระ มุ่งจะจากปรุโปร่ง แลตะละโล่งลอดเห็นฟ้า”
การมุง “จะจะ” คือมุงจากห่างๆ ไม่เบียดหรือซ้อนกันมาก ทำให้หลังคาเกิดมีช่องอยู่ทั่ว ไม่สู้จะกันฝนได้
ทำการมุงหลังคาด้วยการนำเอาตับจากซ้อนทับแล้วร้อยลงไปผูกพันกับกลอนเป็นลำดับขึ้นไปจนชนแนวไม้อกไก่ ทั้งสองด้าน ก็จะเกิดเป็นหลังคาเรือน ๒ ตับคลุมอยู่ด้านละตับ พอคุ้มแดดกันฝนให้แก่คนที่อยู่ข้างใต้เรือนได้แล้ว แต่ยังไม่เป็นการเรียบร้อยพอ
งานที่ต้องทำในส่วนหลังคาคือ ปิดช่องว่างตรงแนวสันหลังคา เหนืออกไก่กับทำจั่วอุดช่องว่างตรงหัวหลังคาทั้งสองด้าน การปิดช่อง ว่างบนสันหลังคาต้องนำเอาตับจากมาคลี่ออกแล้วเย็บร้อยกันเข้าให้เป็น “จากหลบ” ดังวิธีที่ได้อธิบายมาแล้ว วางครอบลงบนสันหลังคาเรือน ปิดทับไปจนตลอดความยาวของสันหลังคา พอมุง “จากหลบ” ครอบปิดเรียบร้อยแล้ว ก็เอาไม้ “ครอบอกไก่” หรือ “ข่มหลบ” วางทาบทับบน “จากหลบ” แต่ละตับเป็นแนวยาวไปตามแนว “อกไก่” ที่ทอดอยู่ข้างใต้ ต่อจากนี้จึงส่ง “ไม้ข้างควาย” ขึ้นไปวางกระหนาบริม “ไม้ครอบอกไก่” หรือ “ข่มหลบ” ทั้งสองข้าง แล้วเอาไม้เสียบหนูสอดเข้ากับรูข้าง “ไม่ข้างควาย” ให้รอดใต้ไม้อกไก่ไปโผล่ออกที่ช่องของไม้ข้างควายด้านตรงกันข้ามจึงบิด “ไม้เสียบหนู” ให้ตะแคงขึ้นและสับลงตรงบ่าในรูของไม้ข้างควาย ทำเช่นนี้ ไปจนครบทุกตำแหน่ง เป็นสำเร็จการปิดสันหลังคาเรือน ต่อไปจึงทำแผงจั่วปิดหัวหลังคา
ขั้นตอนต่อไปคือการจัดวาง “ตง” ซึ่งเป็นตัวไม้ สำคัญทำหน้าที่รองรับพื้นเรือน “ตง” จะถูกนำมาวางพาดขวางทับบน “รอด” สลับกนไป โดยมีระยะห่างเท่าๆ กัน ตรงตำแหน่งที่ “ตง” พาดทับ “รอด” ใช้หวายผูกรั้งให้ติดกันทุกตำแหน่ง
เมื่อวางตงได้จังหวะแล้วจึงปู “ฟาก” ทำเป็นพื้นเรือน การปู “ฟาก” นี้ต้องปูโดยวางซี่ฟากหรือผืนฟากทางยาวให้ขวางกับแนวที่วาง “ตง” ทั้งนี้เพื่อให้ผืนฟากมีกำลังในการรองรับ ผู้คนและสิ่งของที่อยู่ในเรือนได้โดยไม่ฉีกหรือแยกออกจากกัน พอ ปู “ฟาก” เต็มเรือนแล้ว ก็เอา “ไม้ทับ หลังฟาก” มาวางทับลงบนพื้น “ฟาก” ให้ตรงกับแนว “ตง” ที่สอดอยู่ใต้พื้นฟาก และใช้หวายร้อยถักผูก “ไม้ทับหลังฟาก” ไว้กับ “ตง” โดย “ข่มหรือกระหนาบ” ฟาก ไว้ระหว่างกลางด้วยวิธีถักที่เรียกว่า “ถักจูงนาง” การที่ต้องมี “ไม้ทับหลังฟาก”ด้วยนี้ก็เพื่อกำกับมิให้พื้น “ฟาก” แตกแยกออกจากกัน
อนึ่ง ในการวางลำดับ “ตง” แต่ละตัวสำหรับพื้น “ฟาก” นั้น ถ้าวางห่างกัน พอปูพื้น “ฟาก” แล้วให้คนขึ้นไปลองขย่มดูความมั่นคง ถ้าสังเกตเห็น “ตง” หย่อนเยิ่นมาก ก็ให้เอาไม้ “รา” สอดขวางเข้ารับท้อง “ตง” ตรงตำแหน่งที่อยู่ระหว่างกลาง “ตง” แล้วใช้หวายถักผูกไม้ “รา” ให้ติดกำกับ “ตง” เข้าไว้ ก็จะช่วยสนับสนุนมิให้ตง และพื้น “ฟาก” อ่อนเยิ่นลงได้
พอปูพื้นเรือนเสร็จ จะยังไม่เข่าฝาเรือน เพราะเรือนบางหลังต้องการทำ “ระเบียง” และ “ชาน” ต่อออกไป การปลูกทำระเบียงต่อ ออกไป ทางด้านข้างของเรือน ต้องปักเสาระเบียง ขึ้นอีกแถวหนึ่งห่าง ออกมาจากตัวเรือนมีขนาดกว้างตามแต่จะพอใจกำหนด แต่มักจะไม่กว้างเสมอ ด้วยความกว้างของเรือน เสาระเบียงมีจำนวนเท่ากันกับเสา ประเดที่ปักรายอยู่ทางด้านข้างเรือน แต่ขนาดของเสาระเบียง
เตี้ยกว่า และต้องปักตั้งเสาหมอขึ้นเทียบเคียงทั้งที่โคนเสาประเดและเสาระเบียงทุกโคนต้นเสาเพื่อรับรอดระเบียงด้วย
เมื่อตั้งเสาระเบียงและเสาหมอสำหรับระเบียงแล้ว จึงวาง “รอด” และ “ตง” รับพื้นระเบียงตามลำดับ
ส่วนหลังคาพาไลที่จะทำขึ้นคลุมระเบียงต่อไปนั้น ต้องนำเอา “แป” ขึ้นพาดบนหัวเสาระเบียงทุกด้าน ผูกมัดรั้งให้ติดกันดังเช่นที่ทำมาแล้วแก่หัวเสาเรือนกับขื่อ แล้วนำ เอาไม้ “จันทัน” สำหรบพาดระเบียงพาดบนหลัง “แป” หัวจันทันที่อยู่ทางด้านในระเบียง เอาสอดเข้าไปเกยกับชายจันทันของเรือน จึงผูกหัวจันทันระเบียงแขวนฝากไว้กับชายไม้จันทันเรือน แต่ในเรือนบางหลังอาจทำไม้คอสองพาดอยู่ทางด้านข้างใต้แปลงมาเพื่อรับหัวจันทันระเบียงก็มี พอวางจันทันและผูกมัดเรียบร้อยจัดการวางกลอนลำดับไปบนหลังจันทนและแป และจัดการมุงหลังคาพาไลสำหรับคลุมระเบียงต่อไป ส่วนการปูพื้นฟากสำหรับเป็นพื้นระเบียง ย่อมทำโดยวิธีเดียวกันกับวิธีปูฟากเป็นพื้นเรือนนั่นเอง แต่ทำพื้นลดระดับต่ำลงกว่าพื้นเรือน
ต่อไปยังมีการที่จะทำชานต่อออกไปแต่ทางด้านข้างระเบียง เสาชานทั้งหมดเป็นเสาหมอหรือเสาตอหม้อ ปักเป็นแนวขนานไปกับเสาระเบียงแถวหนึ่ง หรือสองแถวตามความพอใจที่ต้องการชานกว้างมากหรือน้อย และต้องไม่ลืมปักเสาหมอเคียงกับโคนเสาระเบียงด้วยสำหรับรับรอดชานต่อไปก็จับการวางรอด ตง และปูพื้นชานด้วยฟากตามลำดับ อนึ่ง พื้นของชานจะทำลดระดับต่ำลงกว่าพื้นระเบียงเล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพื่อเผื่อไว้สำหรับคนที่ก้าวจากชานจะเข้าระเบียง ศีรษะ จะได้ไม่ติดหรือชนชายคาพาไลที่คลุมระเบียงนั้นเอง
ครั้นทำเรือน ระเบียง และชานสำเร็จ ก็จัดการเข้าฝาเรือนแต่ละด้าน และกั้นฝาห้องตามลำดับไป การเข้าฝาและกั้นห้องนี้เห็นจะไม่ต้องอธิบายความอย่างพิสดาร เพราะไม่เป็นวิธีการซับซ้อนแต่อย่างไร ในกรณีที่เป็นฝาแผงชนิดต่างๆ ก็อาจนำเอาฝาขึ้นวางไว้บนหลังไม้แม่เตาไฟ และพิง พะผูกติดกับเสา รอด และแก แต่ละด้านก็เป็นฝาเรือนติด อยู่กับเรือนได้ แต่มีคติความเชื่ออย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเข้าฝา ที่คนโบราณท่านแนะไว้ว่า “ถ้าจะเข้าฝาเรือนอย่าเอาฝารีหุ้มฝาขวาง มักอยู่ไม่เป็นสุข” วิธีเข้าฝาเรือนที่ถูก คือ ให้ฝาเรือนด้านขวางหรือด้านสกัดหัวเรือนหุ้มริมฝาทางด้านข้าง หรือด้านรี ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันฝนไม่ให้สาดลอดเข้าไปตามแนวฝาได้นั่นเอง
งานปลูกเรือนเครื่องผูกใกล้จะเสร็จลงในเวลาไม่ช้าแล้ว ยังมีงานที่ต้องปรุงเรือนให้เสร็จเรียบร้อยอีกเล็กน้อย คือ จัดการยกจั่วขึ้นอุดหัวหลังคาทั้งสองด้านแล้วทำหลังคากันสาดตรงไขราใต้จั่วออกมากันฝนสาดฝาหุ้มเรือน พองานขั้นนี้เสร็จก็จัดการยกเอาไม้ปั้นลมขึ้นไป ติด คร่อมหัวอกไก่ และปล่อยให้ขาไม้ปั้นลมทอดพักอยู่บนหัวแปแต่ละตัว ลงมา ตามลำดับ ปั้นลมนี้ใช้เป็นกรอบประจำหัวหลังคาเรือนทั้งสองด้าน ทำหน้าที่กั้นลมตีจากหัวหลังคามิให้หลุดปลิวไปและปั้นลมนี้ยังเป็นส่วนประกอบประดับหลังคาให้แลดูสวยงาม จึงต้องตัดไม้ไผ่เอาที่ลำงามๆ มาใช้ทำด้วย
การสรุปงานปลูกเรือนเครื่องผูก ให้สำเร็จสมบูรณ์ลงได้ก็อยู่ตรงที่จัดการพาดกระได หรือบันไดเข้ากับเรือน เป็นคติความเชื่อของช่างปลูกเรือนไทยอย่างสำคัญว่ากระได หรือบันไดเรือนจะต้องทำขึ้นเป็นรายการหลังสุด ทั้งนี้เนื่องมาแต่การปลูกเรือนตามพื้นบ้านในชนบทนั้นไม่มีแบบที่เขียนขึ้น ไว้ล่วงหน้าเพื่อเป็นแนวทางในการปลูกเรือน การทำเรือน อาศัยประสบการณ์เป็นสำคัญ ส่วนสัดต่างๆ กำหนดอย่างคร่าวๆ ฉะนั้นการจะทำกระไดให้ได้ส่วนดีขึ้นไว้ล่วงหน้า ย่อมไม่ได้ จึงต้องมาทำในขั้นสุดท้าย ต่อเมื่อเห็นขนาดสูงต่ำของเรือนหรือชานแน่นอน ก็จะ จัดทำกระไดขึ้นแล้วแบ่งส่วนสัด ระยะห่างระหว่างลูกกระไดแต่ละลูก ให้พอเหมาะกับความสูงของเรือนชาน กับยังจะต้องให้เป็นที่สะดวกในการที่จะก้าวขึ้นหรือลงสำหรับคนผู้ซึ่งจะเข้าอาศัยอยู่ในเรือนนั้นต่อไป พอทำกระไดพาดเรือนเสร็จ ก็เป็นอันว่าสำเร็จ การปลูกเรือน แต่นี้ไป
“พอเสร็จการประกอบฤกษ์ เวลาเลิกอาหารเลี้ยงคาวหวานเรียงวรารสอิ่มหนำหมดทุกตัวตน แต่บรรดาคนที่มาช่วย ต่างอำนวยอวยพระพร ให้ท่านเป็นเศรษฐีถาวร พูลสวัสดิ์ ประกอบด้วยศิริสุขสมบัติเจริญดี ให้โห่ขึ้นสามที ลั่นฆ้องอวยชัย”
ที่มาโดย:จุลทัศน์  พยาฆรานนท์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาเขตกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *