คนพูดน้ำลายกระเซ็น

Socail Like & Share

อรสาแอบปลีกตัวออกไปจากห้องอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครสังเกต ขณะที่กำลังสนทนากันอยู่อย่างเพลิดเพลินในกลุ่มเพื่อน เธอยืนอยู่ที่อ่างล้างหน้า กำลังเอาผ้าเช็ดหน้าแตะน้ำเช็ดที่จมูกและแก้มอย่างนุ่มนวล จึงอดไม่ได้ที่จะต้องถามเธอว่า “ทำไมต้องทำอย่างนั้น?”

อรสาหันมาด้วยสีหน้าไม่ค่อยพอใจ จนอดคิดไม่ได้ว่าเธออาจไม่ชอบคำถามแบบนั้น แต่อรสาก็บอกว่า
“ยายสายสุรีย์น่ะซีเธอ เรียกชื่อฉันทีเดียว น้ำลายเต็มหน้าฉันหมดเลย ไอ้เราจะบอกหรือก็จะโกรธเอา จะเช็ดก็ไม่รู้จะตั้งต้นตรงไหน เพราะมันเต็มไปทั้งหน้า เลยต้องเดินออกมาเอาดื้อๆ ให้เสียมารยาทอย่างนี้เอง”

“สายสุรีย์พูดเก่งจนเกินพอดี เรื่องที่เธอคุยก็สนุกดี แต่เมื่อเธอเล่าต้องมีคนถอยฉากออกมาห่างๆ ในระยะปลอดภัย เพราะกลัวเธอจะพ่นน้ำลายใส่หน้าเอา”
“แล้วยังชอบเรียกชื่อตัวเองอีกนะเธอ”
“สายสุรีย์ยังโง้น สายสุรีย์ยังงี้ โธ่! เขาช่างไม่รู้ตัวเลยว่าไอ้ตัว ส. ทั้งหลายของเขาน่ะ มันทำให้คนต้องหลบกันเป็นพัลวัน พอเจอเขาเข้าละแทบจะต้องกางร่มกั้นกันทีเดียว”

เมื่อสอบถามเธอต่อว่า
“เขารู้ตัวหรือเปล่าว่า พูดแล้วน้ำลายกระเด็นบ่อยๆ”

อรสาตอบว่า

“ทำไมจะไม่รู้ แต่เขาไม่รู้ว่าจะแก้ยังไงน่ะซี ไอ้ที่เสียน่ะ”
“เป็นเธอ เธอจะแก้อย่างไร? ของมันเคยทำมาแต่ไหนๆ จะแก้น่ะไม่ใช่ง่ายนา”
“สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ พูดให้ช้ากว่านี้มากที่สุด และพอถึงตัวอักษรอันตราย เช่น บ, ป, ผ, ฝ, ส, ฟ พวกนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะขัดขวางไม่ให้เขาเป็นนักพูดที่พูดแล้วมีคนกล้าฟังใกล้ๆ ได้เลยนี่”

บางครั้งเราก็เคยเผลอพูดแบบพ่นน้ำลายใส่หน้าผู้ฟังมาแล้ว ซึ่งทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้พูดต้องปล่อยเลยตามเลย เพราะไม่รู้จะไปสรรหาคำขอโทษได้ที่ไหน และการจะนำเอาผ้าเช็ดหน้ามารอไว้ที่ปากขณะพูด หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าซับริมฝีปากบ่อยๆ ก็ไม่ควรทำ วิธีแก้ก็คือ ควรพยายามใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในเวลาพูด และพูดให้ช้าลง

ควรหลีกเลี่ยงการสนทนาชนิดเร็วปรื๋อ ถ้ารู้ตัวว่าพูดแล้วน้ำลายกระเซ็นและต้องไม่หัวเราะเสียงดังๆ เป็นอันขาด เพราะจะมีคนหลบกันมากกว่าเวลาพูดเสียอีก

หากท่านต้องยืนฟังประจันหน้ากับคนที่พูดน้ำลายกระเซ็นคนหนึ่ง ควรยืนห่างกันพอสมควรเพื่อความปลอดภัย และในบางครั้งต้องฝืนคุยกับคนที่ชอบยื่นหน้าเข้ามาจนชิด ยิ่งถอยหนีก็ดูเหมือนว่าเขาจะยิ่งขยับเข้ามาใกล้ จนอยากจะเอามือยันเอาไว้ หรือผลักให้กระเด็นไปเลยทีเดียว

ในการสนทนา ควรยืนห่างกันในระยะชั่วเอื้อมแขน เพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีใครอยากให้หน้าของตัวเองเปื้อนน้ำลายของคนอื่น เพราะแค่เพียงนิดเดียวก็เป็นที่น่ารังเกียจแก่เขา

ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ที่จะต้องสนทนากันอย่างใกล้ชิดเกินพอดี เพราะแม้ว่าจะอยู่ไกลกันกว่าชั่วมือเอื้อม ผู้ฟังก็อาจได้ยินเสียงของท่านได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์