กองทัพ ๔ เหล่าในสมัยโบราณ

Socail Like & Share

นอกจากนี้การจัดกองทัพสมัยโบราณซึ่งนิยมจัดเป็น ๔ เหล่าก็มีเหล่าช้างอยู่ด้วย กองทัพ ๔ เหล่าสมัยโบราณนั้นคือ

๑. หัตถานิก พลช้าง กำหนดช้าง ๓ เชือกขึ้นไป คนกำกับเชือกละ ๑๒ คน คือคนขี่ ๔ คน คนระวังเท้าช้างเท้าละ ๒ คน สี่เท้า ๘ คน รวม ๑๒ คน

๒. อัสสานิก (หรือหัยยนิก) พลม้า กำหนด ๓ ม้าขึ้นไป คนกำกับม้าละ ๓ คน คือคนขี่ ๑ คน คุมข้าง ๒ คน

๓. รถานิก พลรถ กำหนดรถ ๓ คันขึ้นไป คนกำกับรถละ ๔ คน คือสารถีคน ๑ ทหารคน ๑ ระวังหมุดรถ ๒ คน

๔. ปัตตานิก พลเดินเท้า กำหนดคนถืออาวุธครบมือ ๔ คนขึ้นไป

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องช้างโบราณมาแล้ว จะขอพูดถึงช้างอีกสัก ๓ เชือก ซึ่งเป็นช้างที่พวกเราเคยได้ยินชื่อ นั่นคือช้างปัจจัยนาเคนทร์ เป็นช้างคู่บารมีของพระเวสสันดร คุณสมบัติของช้างเชือกนี้ก็คือ ถ้าพระเวสสันดรขี่ไปที่ใด ก็บันดาลให้ฝนตก ณ ที่นั้น จนเมื่อเมืองกลิงครัฐเกิดฝนแล้ง ชาวเมืองกลิงครัฐมาขอช้างเชือกนี้ พระเวสสันดรก็พระราชทาน ให้ไป เป็นเหตุให้พระองค์ต้องถูกเนรเทศไปอยู่ป่า ถ้าเมืองเรามีช้างอยู่อย่างนี้ เรื่องกลัวฝนช้างปัจจัยนาเคนทร์แล้งอย่างทุกวันนี้เห็นจะไม่มีเป็นแน่ ช้างอีกเชือกหนึ่งก็คือช้างปาลิไลยก์ ซึ่งเป็นช้างที่คอยปรนนิบัติพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงเบื่อหน่ายเพราะพระภิกษุสงฆ์แตกสามัคคีกัน แล้วหลีกเร้นไปอยู่ป่า ได้ทรงอาศัยช้างปาเลไลยก์หรือปาลิไลยก์ กับวานรคอยปรนนิบัติจนพระองค์เสด็จกลับเข้ามาในเมือง อีกเชือกหนึ่งคือช้างนาลาคีรีซึ่งเป็นช้างที่ดุร้าย ซึ่งพระเทวทัตให้คนปล่อยมาหวังจะให้ทำร้ายพระพุทธองค์ แต่พระองค์ก็ทรงแผ่เมตตาให้ช้างนาลาคีรีคลายความดุร้ายลงได้ โดยไม่อาจทำร้ายพระองค์ได้ นี่เป็นช้างในพุทธศาสนาของเรา

ว่าถึงช้างแล้ว เราอดภาคภูมิใจไม่ได้ในการที่ไทยเรารู้จักจับช้างมาใช้งานนานมาแล้ว อย่างน้อยก็ในสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏอยู่ในศิลาจารึกว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เราจับช้างจนเป็นสินค้าได้ ยิ่งกว่านั้นว่ากันว่า เบ้งเฮกซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในสามก๊ก นั้นก็เป็นคนไทย และเบ้งเฮกนั้นมีกองทัพประกอบด้วยกองทัพช้างและสัตว์ร้ายต่างๆ อีกด้วย แสดงว่าเราใช้ช้างมานาน แม้แต่จีนเองก็เพิ่งมีช้างใช้สมัยกุบไลข่าน เพราะรบชนะพระเจ้านรสีหบดีกษัตริย์พม่า เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๑๔ และได้ช้างไว้ ๒๐๐ กว่าเชือก มาร์โคโปโลไปเห็นช้างที่เมืองจีน ก็เลยวาดภาพไปอวดพวกฝรั่ง แต่ช้างของมาร์โคโปโลมีรูปร่างเหมือนหมูไปหมด มาร์โคโปโลจะวาดรูปช้างตอนเมาหรือไม่เมาก็ไม่ทราบ จึงเห็นช้างเป็นหมูไป

สมัยสุโขทัยนอกจากจะจับช้างขายเป็นสินค้าแล้ว ช้างยังเป็นพาหนะที่สำคัญสำหรับกษัตริย์ด้วยพ่อขุนรามคำแหง ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดชนะเมื่อพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา จนพระราชบิดาขนานพระนามว่า พระรามคำแหง นอกจากนี้เมื่อมาถึงสมัยอยุธยา
กองทัพช้างนับเป็นกองทัพสำคัญอย่างยิ่งยวดกองทัพหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ เคยยกกองทัพช้างไปตีนครธมหรือนครวัดเสียจนกลายเป็นเมืองร้าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชแห่งพม่า แสดงให้เห็นความสามารถในการบังคับ และฝึกหัดช้างของคนไทยเป็นอย่างดี เพราะช้างมีความสำคัญในกองทัพอย่างนี้เอง จึงต้องมีนายกองช้าง คอยหาช้างมาฝึกไว้ใช้งานในราชการสงคราม จนถึงกับตั้งเป็นกรมขึ้นเรียกว่า กรมช้าง มีพระเพทราชาเป็นพระคชบาลจางวางขวาถือศักดินา ๕๐๐๐ พระสุรินเทวราชาพระคชบาลจางวางซ้ายถือศักดินา ๕๐๐๐ เช่นเดียวกัน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่อื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกองทัพช้างทั้งนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของช้างเป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับเขียนเป็นตำราว่าด้วยการดูลักษณะช้าง และการขี่ช้างขึ้นไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมัยนี้เองที่เราส่งช้างบรรทุกเรือเป็นสินค้าไปขายปีละเป็นร้อยเชือก ว่ากันว่า เรือลำหนึ่งบรรทุกช้างได้ถึง ๑๔ ถึง ๒๖ เชือก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี