โคบุตร-นิพนธ์เรื่องแรกของสุนทรภู่

Socail Like & Share

ท่านจะพิศวงเมื่อได้ฟังกลอนวิเศษของชายหนุ่มอายุ ๒๐ ปี แห่งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งว่า

“อันมนุษย์สุดเชื่อมันเหลือปด    พูดสบถแล้วสะบัดไม่ขัดสน
เพราะแต่คำนํ้าจิตคิดประจญ    ปากเป็นผลใจเป็นพาลเหลือมารยา
ใครหลงลิ้นกินลูกยอก็พอม้วย    ต้องตายด้วยปากมนุษย์ที่มุสา
คนทุกวันมันมิซื่อถือสัจจา        สู้สัตว์ป่าก็ไม่ได้ใจลำพอง”

แต่ท่านจะไม่ประหลาดใจเลย เมื่อทราบว่ากลอนนี้เป็นฝีปากสุนทรภู่ในเรื่องโคบุตร สุนทรภู่คนนี้แหละที่ชาติไทยเทิดทูนในฐานะบุคคลสำคัญของชาติคนหนึ่ง สุนทรภู่คนนี้แหละที่ชาติไทยจะได้สำแดงคารวะอย่างสมเกียรติ โดยสร้างอนุสาวรีย์เพื่อท่าน มีวันที่ระลึกสำหรับท่านสุนทรภู่

ท่านผู้นี้มีความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณคดีไทย เป็นกวีที่มีนามคู่กับชาติ ชาติไทย- สุนทรภู่ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษางานวรรณกรรมของท่าน ในอันดับแรกนี้ขอเสนอ “ศึกษาโคบุตร” เป็นการเชิญชวนให้ชมชื่นวรรณกรรมอันเกิดจากนํ้ามือและสมองของผู้ที่เหมาะสม กับนามอมตกวีที่ชาติไทยเทิดทูน

โคบุตรมีความพิเศษอยู่หลายประการ ตามความสันนิษฐานทางวรรณคดีกล่าวกันว่า เป็นงานเรื่องแรกของสุนทรภู่อมตกวีที่ชาติไทยบูชา แต่งเมื่ออายุอย่างมากก็ราว ๒๐ ปี หรือราว พ.ศ. ๒๓๔๘ ในรัชกาลที่ ๑ ท่านสุนทรภู่ได้เริ่มศักราชใหม่แห่งการกวีของเมืองไทย โดยสร้างโคบุตรขึ้นด้วยกลอนสุภาพ นับตั้งแต่เดิมมาเรื่องนิทานมักเขียนเป็นลิลิต, ฉันท์ หรือกาพย์ สุนทรภู่เป็นคนแรกที่เสนอศิลปะของกลอนสุภาพในการสร้างนิทานประโลมโลก และก็เป็นผลสำเร็จ โคบุตรกลายเป็นวรรณกรรมแบบฉบับที่นักแต่งทั้งหลายถือเป็นครู นับได้ว่าโคบุตรมีส่วนสำคัญยิ่งในประวัติวรรณคดีของชาติไทย

ก่อนจะพิจารณาโคบุตร ขอให้ท่านได้ทวนชีวประวัติของสุนทรภู่ก่อนแต่งเรื่องนี้พอเป็นเค้า สุนทรภู่เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๓๒๙ คือเมื่อสร้างกรุงเทพฯ ได้สัก ๔ ปี เราเสียใจที่ไม่รู้จักชื่อพ่อแม่ของท่าน เป็นครอบครัวคนธรรมดาสามัญ และดูเหมือนจะยากจนเสียด้วย สุนทรภู่อาภัพมาตั้งแต่เยาว์ ดูเหมือนเกิดมาไม่ทันได้ ๒ ขวบ พ่อแม่ก็มีเรื่องต้องหย่าร้างกัน พ่อกลับไปบวชที่บ้านเกิดคือบ้านกรร อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แม่คงอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ได้ผัวใหม่ สุนทรภู่อยู่กับแม่ ครั้นต่อมาแม่ของท่านได้ไปเป็นพระนมพระธิดาในเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง
เลยเป็นโอกาสให้แม่ของท่านถวายตัวสุนทรภู่เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ท่านมหากวีผู้นี้ได้รับการศึกษาจากพระวัดชีปะขาว (ศรีสุดาราม) คลองบางกอกน้อย มีความรู้พอเป็นเสมียนได้ ซึ่งนับว่าดีนักหนาสำหรับคนสามัญในสมัยแห่งการศึกษายุคเพิ่งสร้างกรุงเทพฯ เมื่อเรียนเสร็จสุนทรภู่ก็ออกมาเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ตอนนั้นอายุรุ่นหนุ่มตะกอ ร่าเริง สนุกสนาน ในฐานะที่เป็น คนหนุ่มมีความรู้ และอุปนิสัยเป็นกวีสุนทรภู่จึงได้ออกโรงในการแต่งสักวาและดอกสร้อยบ่อยๆ จนกลายเป็นบุคคลเด่นในวงสังคมของท่าน อนึ่ง อิทธิพลแห่งวรรณคดีน่าจะจรรโลงใจให้ท่านเคลิบเคลิ้ม หลงใหล เลยเบื่องานเสมียนและทอดทิ้งตำแหน่งเสีย หันหน้าเข้าสู่โลกวรรณคดีอันแรงด้วยอานุภาพลึกลับ เข้าใจว่าในระยะนี้เองที่สุนทรภู่แต่งโคบุตร คือเมื่ออายุอย่างมากก็ ๒๐ ปี หรือราว พ.ศ. ๒๓๔๘

ทีนี้ขอให้เราพิจารณาวัตถุประสงค์แห่งการแต่งโคบุตรของท่าน ท่านเริ่มคำนำว่า

“แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
เป็นปฐมสมมุติกันสืบมา    ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง    จึงสำแดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย    ให้เพริดพรายพริ้งเพราะเสนาะกลอน”

จากคำนำดังนี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า สุนทรภู่แต่งโคบุตรขึ้นเพื่อถวายเจ้านายของตน

ปัญหาต่อไปมีว่า กวีหนุ่มผู้นี้ได้เค้าเรื่องจากไหน? เป็นเรื่องแต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา จริงหรือ? เข้าใจว่าสุนทรภู่จะได้สร้างโคบุตรขึ้นจากเรื่องสมัยอยุธยาแล้วจึงใช้อานุภาพแห่งความคิดคำนึงของตนขยายเรื่องให้วิจิตรพิสดาร แทรกนั่นนิดประดิษฐ์นี่หน่อย ร้อยกรองขึ้นด้วยศิลปะอันงาม สง่าของตน จนกลายเป็นเรื่องโคบุตร-ประโลมโลกที่คนชอบ

กวีหนุ่มอายุ ๒๐ ปี กำลังลำพอง คะนอง และภาคภูมิ ดำเนินเรื่องของตนอย่างตรงไปตรงมา นิ่มนวล อ่อนหวาน ห้าวหาญ และเผ็ดร้อน บางตอนก็ครํ่าครวญด้วยศิลปะอันน่าชมชื่น รู้, เห็น, คิด ฝัน แล้วก็เขียน-เขียนไป

หนังสือเรื่องโคบุตรเป็นเรื่องของการผจญภัยและความรัก แต่เป็นรักซ้อน จึงหึงกันอย่างเกรียวกราว เป็นลักษณะของการสร้างเรื่องของคนหนุ่มคะนองโดยแท้ ตัวเอกของเรื่องคือ โคบุตร มณีสาคร อำพันมาลา และลางที่จะเป็นสาลิกาลิ้นทองด้วย

เรื่องโดยย่อมีว่า โคบุตรเป็นวีรบุรุษนักผจญภัยที่ชนะแทบทุกครั้ง ไปช่วยปราบกบฎที่เมืองพาราณสี อันเป็นเหตุให้มีความสัมพันธ์กับมณีสาคร (นางเอก) และอรุณ (น้องนางเอก) แต่สุนทรภู่ สร้างเรื่องให้โคบุตรไปได้อำพันมาลา (นางรอง) เสียก่อนโดยใช้สาลิกาลิ้นทอง ซึ่งได้นามว่า “พ่อร้อยลิ้นกินหวานนํ้าตาลทา” เป็นแม่สื่อ ครั้นโคบุตรพาอำพันมาลากลับพาราณสี ท้าวพรหมทัตผู้หวังจะให้โคบุตรได้กับมณีสาครธิดาของตนก็เสียดาย ถึงกับปรารภว่า

“… ได้จินดามาถือถึงมือแล้ว      เสียดายแก้วกลับคืนเปีฌนของเขา…”

ส่วนโคบุตรจากมณีสาครไปแต่วัยเด็ก ครั้นกลับมาพบมณีสาครกำลังรุ่นกำดัดก็

‘‘กำเริบจิตรำพึงตะลึงหลง แต่แรกรู้ว่างามอร่ามทรง จะเดินดงไปให้ยากลำบากใย คิดแค้นตา น่าจะตำให้แตกหัก ไม่รู้จักคนงามก็เป็นได้ ให้กลัดกลุ้มรุมรึงตะบึงไป ด้วยพระทัยร้อนร่านในการรัก”

ในที่สุดโคบุตรก็สามารถจัดการเรื่องรักของตนสำเร็จ โคบุตรยกมณีสาครขึ้นเป็นฝ่ายขวา และอำพันมาลาตกลงเป็นฝ่ายซ้าย และก็เป็นธรรมดาย่อมเกิดการอิจฉาและหึงหวงกันขึ้น ในที่สุดอำพันมาลาทำเสน่ห์จนโคบุตรลุ่มหลง แต่อรุณน้องของมณีสาครจับเสน่ห์อำพันมาลาได้ โคบุตรจึงขับอำพันมาลาเสียจากเมืองทั้งๆ ที่นางกำลังมีครรภ์ อำพันมาลาต้องรับทุกข์ ระเหระหนไปในป่าในดงจนไปเกิดบุตร เดชะบุญได้ราชสีห์ซึ่งเคยมีบุญคุณแก่โคบุตรมาช่วย และราชสีห์สามารถนำนางกลับไปมอบแก่โคบุตร อนึ่ง ขณะนั้นมณีสาครก็มีบุตรแล้ว โคบุตรจึงจัดการสมโภชและให้นามตามชื่อบิดามารดา ผสมกันว่า มณีสุริยัน และอำพันสุริยา

แต่โคบุตรเคยมีกรรมเก่าอยู่ในคราวท่องเที่ยวผจญภัย คือเคยฆ่าหัสกรรจ์มัจฉาตายเป็นเหตุให้ตะวันนาคาสหายของหัสกรรจ์มัจฉาคิดแก้แค้น มณีกลีบสมุทรลูกสาวอายุ ๑๙ ปี อาสาพ่อไปใช้กลอุบายจับโคบุตรโดยยอมเสียสละพรหมจารีย์ของตน และในที่สุดตามวิสัยเจ้าชู้ โคบุตรได้พานางมณี กลีบสมุทรเข้าวัง เป็นเหตุให้เกิดการหึงกันอย่างครื้นเครงอีกคราวหนึ่ง จะอย่างไรก็ตามมณีกลีบสมุทร ก็ไม่พ้นมือพระเอกของสุนทรภู่ พอมีครรภ์อ่อนๆ มณีกลีบสมุทรก็นึกถึงหน้าที่ของตัวตามที่บิดาใช้มา จึงใช้อุบายสะกดโคบุตรนำไปยังเมืองพ่อ แต่โคบุตรเป็นผัวเสียแล้วจะปล่อยให้พ่อฆ่าไม่ลง นางจึงนำโคบุตรไปซ่อนไว้ก่อน สุนทรภู่เขียนมาเพียงนี้ก็จบเล่ม ๘ สมุดไทย (ต่อไปนั้นคนอื่นแต่งต่อซึ่งเราจะไม่พิจารณา)

แม้โคบุตรจะเป็นงานเรื่องแรก และดูเหมือนจะเป็นงานทดลอง เราก็เห็นศิลปะอันงดงามของสุนทรภู่ ท่านได้เสนอศิลปะของท่านให้ชาววังหลังทั้งไพร่และเจ้านายได้ชมชื่นกันอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในที่นี้ขอให้เราพิจารณาศิลปะของท่านเป็นเรื่องๆ ไป คือ

ศิลปะในการสร้างเรื่อง ศิลปะกระบวนกลอน ศิลปะในวิธีเขียน ตลอดจนคติธรรมและปรัชญา

ก่อนอื่นจะพิจารณาถึงศิลปะในการสร้างเรื่อง สุนทรกู่วางโครงเรื่องง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ดำเนินเรื่องอย่างได้จังหวะ พยายามคลี่คลายให้เรื่องหมดไปเป็นตอนๆ ในเวลาเดียวกัน ได้แทรกข้อความอันคมขำ หรือบทสนทนาที่จับใจไว้ทั่วไป จึงอ่านได้ไม่เบื่อ อนึ่ง สุนทรภู่มีความคิดและความฉลาด ในการจัดตัวละคร สุนทรภู่ใช้สาลิกาเป็นแม่สื่อ ก็มีเหตุผลสมควร เพราะนกชนิดนี้พูดได้ และเมื่อมันเป็นสาลิกาของสุนทรภู่ มันจึงพูดเพราะนักหนา อันนกพูดได้นี้มีตำนานอยู่ ๔ จำพวกคือ สาลิกา นกแก้ว กระตั้ว และนกเอี้ยง หนังสือสิทธิธนู ของพระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) บิดาพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ) เจ้าของอิลราชคำฉันท์ อธิบายว่า นางโรหิณีเป็นผู้มีวาสนามาก มีนกสำหรับประกาศเกียรติคุณ ๔ มุมเมือง ดังคำกลอนของท่านว่า

“ดงข้างฝ่ายบูรพา มีหมู่สาริกาอักนิฐ กระตั้วอยู่หนอุดรดงชิต นกเอี้ยงสถิตดงปัจฉิมประจำงาน ดงทิศใต้ฝ่ายข้างนครเขา ต่อกับแดนเราข้างอิสาน มีนกแก้วอยู่ในดงดาน คือดงที่พระกุมารเข้าไป อันฝูงสกุณีทั้ง ๔ หมู่ รู้พูดภาษาคนได้ ด้วยอานุภาพนางทรามวัย บันดาลเป็นไปทั้งนี้ สำหรับประกาศเกียรติคุณ ชมบูญชมโฉมมารศรี ให้แพร่หลายไปทั่วธาตรี โดยมีกิตติศัพท์ลือมา อันพันธุ์นกเนื่องจากสกุณี ในตระกูลทั้งสี่ทิศา แม้นคนใดสอนให้เจรจา สกุณาจึงพูดได้ดังใจ”

อีกเรื่องหนึ่ง คือสุนทรภู่กำหนดให้ราชสีห์เป็นผู้อุปถัมภ์คํ้าชูในเรื่องของท่าน ข้อนี้เป็นความคิดดีอีกประการหนึ่ง แม้ฝรั่งก็ใช้เหมือนกัน ท่านย่อมเคยเห็นทาร์ซานมาแล้วในภาพยนตร์ ไม่มีใครจะยิ้มเยาะสุนทรภู่ได้เลย ถ้าเรานึกถึงนกพิราบสื่อสารเดี๋ยวนี้เปรียบเทียบกับนกสาลิกาของสุนทรภู่ และเราจะต้องชมราชสีห์ของสุนทรภู่ไม่น้อยกว่าช้างของทาร์ซาน สรุปความได้ว่า โคบุตรถูกสร้างขึ้นอย่างกะทัดรัดสมส่วน ประกอบด้วยความคิดคำนึงอันน่าชมเชย

ส่วนกระบวนกลอนในโคบุตร แม้จะยังไม่ประณีตหมดจดดังกลอนพระอภัยมณี หรือขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงามก็ตาม เราก็ต้องชมว่า ท่านเริ่มต้นดีอย่างที่นักกลอนรุ่นหลังก็ยังขึ้นไม่ถึงกวีหนุ่มบรรจงกลอนของท่านอย่างง่ายๆ เบาหู ใช้คำตลาดจึงจับใจประชาชน กล่าวได้ว่าสุนทรภู่รู้จิตวิทยาประชาชนเป็นอย่างดี ในเรื่องศิลปะแห่งกลอน ท่านถือ “เสียง” เป็นสำคัญที่สุด ถือว่าเสียงสัมผัสเป็นสิ่งเรียกร้องความไพเราะจึงได้รับเกียรติเป็น “บิดาแห่งสัมผัสใน” เพราะเป็นผู้ริเริ่มสัมผัส ในขึ้นในกลอนสุภาพ นับว่าเป็นผู้สร้างศิลปะแห่งความงามให้แก่คำประพันธ์ไทยเป็นอย่างมาก ถ้าท่านจะสังเกตให้ดี จะเห็นได้ว่า สุนทรภู่ได้เริ่มเล่นสัมผัสในตั้งแต่วรรณกรรมเรื่องแรก คือโคบุตรนี้ เช่น

“คลี่ประทุมอุ้มนางขึ้นวางตัก”
“นางขยับจับสาลิกากอด”
“เอานกแอบแนบชมอารมณ์ชื่น” และ

“เสียดายบุตรสุดหวังกำลังสาว    ไม่เคยคาวหมององค์ที่ตรงไหน
บริสุทธิ์ดุจแก้วอันแววไว        ยังมิได้มีฝ้าเป็นราคี
จะต้องไปใช้อุบายให้ชายชิด        ถึงสมคิดเป็นเมียได้เสียศรี
จะชอกขช้ำซ้ำสิ้นทั้งอินทรีย์        จะเสียศรีสิ้นสาวเป็นคาวไป..”

งานทุกชิ้นของท่าน โดยเฉพาะพระอภัยมณี-พราวไปด้วยสัมผัสในทั้งนั้น แม้แต่โคลงและกาพย์ ร่าย ก็นิยมสัมผัสใน (ศึกษานิราศเมืองสุพรรณและพระไชยสุริยา)

ด้วยเหตุที่สุนทรภู่เทิดสัมผัสในเป็นศิลปะอันสูง จึงยอมเสียสละถ้อยคำเพื่อแลกกับศิลปะที่ตนรัก เป็นการเสียสละอย่างไม่กลัวใครว่าไร้ภูมิ ท่านยอมใช้คำผิดบ่อยๆ เช่นให้ พังงา, บำญัติ และ ตัดษัย แทนที่จะใช้พงา บัญญัติ และตักษัย ที่ใช้ผิดมิใช่ว่าไม่รู้ แต่ใช้ทั้งรู้ๆ เพื่อประสงค์อย่างเดียว คือสัมผัสใน เช่น “แล้วตรัสหยอกบอกสั่งแก่พังงา’’ ทุกคืนคํ่าบำญัติระมัดกาย “แม้นไม่แน่แล้วจงฟัดให้ตัดษัย” ดังนี้เป็นต้น

ทีนี้จะพูดถึงวิธีเขียนของสุนทรภู่ในเรื่องโคบุตร ท่านเขียนตามอารมณ์คนหนุ่มคะนองจริงๆ ตรงไปตรงมา รวบรัดและชัดเจน มีความง่ายเป็นหลักสำคัญ บทรักหวานจ๋อย บทโลมยวนยี บทชม น่าเพลิดเพลิน และบทโศกก็ชวนสะอื้น ยิ่งกว่านั้นเมื่อถึงบทหึงก็แสบหูถึงขึ้นช้างขึ้นม้าทีเดียว ท่านพยายามเอาใจประชาชน ชอบอย่างไร เขียนอย่างนั้น แต่ก็อยู่ในกรอบข่ายแห่งศีลธรรมและวัฒนธรรม สุนทรภู่จึงได้รับความนิยม เป็นกวีสำหรับประชาชน และเป็นอมตกวีสำหรับชาติ

ในที่สุดเราก็มาถึง “เพชรของสุนทรภู่” ซึ่งฉายแสงแพรวพราวอยู่ในโคบุตร นั้นคือ ปรัชญา คติธรรม และการอุปมาอุปไมยอันแหลมคม จริงอยู่สุนทรภู่ยังหนุ่มอายุ ๒๐ ปี ยังไม่ได้บวช ยังกำลังฟุ้งซ่าน แต่ท่านจะตะลึงเมื่อเด็กหนุ่มๆ เสนอคติปรัชญาลงไปว่า

“จงตรองตรึกนึกกำดัดสมบัติทิพย์        วิมานลิบลอยสลอนอัปสรสวย
สมบัติใครในมนุษย์ถึงสุดรวย    จะเปรียบด้วยทิพย์สมบัติไม่ทัดทัน
ทรัพย์ทั้งนี้ที่เอาไว้ไม่กะผีก        สู้แต่ซีกหนึ่งไม่ได้ในสวรรค์
อย่างห่างใยในสมบัติจงตัดมัน    หมายสวรรค์เถิดออเจ้าไปเฝ้าชม”

ในที่นี้จะขอเสนอ “แก่นสาร” ทำนองนี้อีกบางตอนเพื่อแสดงว่ากวีหนุ่มผู้นี้สมกับนาม “กวี-ปรัชญาเมธี” เพียงไร

น้องชายเตือนสติพี่สาวผู้พยาบาทให้มั่นอยู่ในขันตีว่า

“ใครเกิดมาถ้าจิตนั้นติดปราชญ์        ย่อมหมายมาดขันตีเป็นที่ตั้ง
เหมือนเขาพระสุเมรุมาศไม่พลาดพลั้ง    ใครชิงชังเหมือนหนึ่งว่าพายุพาน
ถึงแสนลมที่จะหมายทำลายโลก        ไม่คลอนโยกหนักแน่นเป็นแก่นสาร
ใครเกิดจิตอิจฉาเป็นสามานย์    สันดานพาลผู้ใดทำกรรมอนันต์”

แม่ให้โอวาทลูกสาวก่อนเข้าหอว่า

“…ภัสดาอุปมาเหมือนบิดร            จงโอนอ่อนฝากองค์พระทรงฤทธิ์
สรงเสวยคอยระวังอย่าพลั้งพลาด        เมื่อไสยาสน์ผ่อนพร้อมถนอมจิต
ถ้าท้าวโศกแม่อย่าสรวลควรคิด        ระวังผิดอย่าให้ผ่านวรกาย
ผัวเดียดแม่อย่าเคียดทำโกรธตอบ        เอาความชอบมาดับให้สูญหาย
ถึงท้าวรักก็อย่าเหลิงระเริงกาย        ครั้นระคายแล้วก็มักมีคาว
ความลับแม่อย่าแจ้งแถลงไข        จงกล้ำกลืนกลบไว้อย่าให้ฉาว
แม้นปากชั่วตัวดีจะมีคาว            พระทัยท้าวเธอจะแหนงระแวงความ
อันหญิงชั่วผัวร้างนิราศรัก            อัปลักบณ์น่าคนจะหยาบหยาม มารดาพร่ำร่ำสอนจงทำตาม….”

แม่อีกคนหนึ่งเตือนลูกสาวที่จะสละพรหมจารีย์เพิ้อจับศัตรูของพ่อว่า

“ลูกคิดนี้ดีแล้วหรือแก้วแม่    เป็นสาวแส้ดุจศรีมณีฉาย
จะคิดแนบแอบชิดสนิทชาย    ได้สมหมายแล้วจะมาคิดฆ่ามัน (ฟัน?)
ไม่รักซื่อถือแซ่เอาแต่ได้    ผิดวิสัยพูดจา ไม่น่าขัน
จงอยู่เล่นเป็นหม้ายสบายครัน    คิดฉะนั้นดีแล้วหรือแก้วตา”

และแม่คนเดียวกันนี้ปรารภในตอนหลังว่า

“เห็นลูกรักจักแบนเสียแม่นมั่น    วิสัยสาวคราวกำหนัดนี้กลัดมัน
พระทรงธรรม์คิดอุบายให้ชายชม    จะหลงลืมปลื้มจิตไม่คิดกลับ
ดูเช่นกับเขาว่าก็น่าสม            ใช้แมวไปหาปลาย่างต่างอารมณ์ แมวก็สมปรารถนากินปลาเพลิน… ”

สุนทรภู่ได้เตือนเรื่องการเข้าหาคนว่า

“ตามโบราณก่อนเก่าท่านเล่ามา    ว่าญาติใครได้ดีเขามีทรัทย์
ตัวแค้นคับเข็ญใจอย่าไปหา        ถึงรักแรงแข็งขันได้สัญญา
อนาถาแล้วไม่นับเขาอับอาย”

เมื่อพูดถึงความทะเยอทะยานอย่างเกินตัว สุนทรภู่ก็ว่า “อย่าใฝ่สูงให้เกินคักดิ์จะหักกลาง ดูรูปร่างเสียก่อนจะนอนเตียง”

ฉากที่มีคารมคมคายเต็มไปด้วยคำเหน็บแนม การประชดประชัน การย้อนถ้อยคำกัน ตลอดจนด่า-คือฉากของการหึง เสียดายถ้าจะไม่เล่าไว้ เพราะมี “เพชร” แพรวพราวทีเดียว โคบุตรเข้าโลมมณีกลีบสมุทรในห้อง
“…เมื่อรักจักกลืนยังขืนรอ แม่รูปหล่ออย่าสลัดตัดอาลัย เหมือนน้ำอ้อยย้อยถูกจมูกมด สุดจะอดเหลือทนพ้นวิสัย….” มณีสาครกับอำพันมาลาหมั่นไส้เต็มทน จึงส่งลูกชายเล็กๆ เข้าไปเป็นก้างขวางคอขัดจังหวะเข้าไว้ เด็กน้อยจึงเข้าไป “เหน็บ” จนมณีกลีบสมุทรว่า “เด็กเท่านี้ฝีปากเหมือนขวากตำ” และยังกระทบกระเทียบว่า “คนคัดท้ายคงจะมีเห็นดีครัน แล้วลอยหน้าว่าสองพี่น้องพลอด ชะพ่อยอดหูดจาว่าขยัน เออลูกแม่แท้อยู่ดูสำคัญ เป็นผัวฉันได้หรือพ่อไม่พอคำ” ทำให้เมียเก่าทั้งสองทนไม่ไหว แหวออกไปว่า “อย่าเผยอเย่อหยิ่งกิ่งจะหัก ช่างพูดยักว่าใครนี้ใช้สอย นางแพพานด้านหน้ามาตะบอย เมื่อลูกน้อยว่าไม่พออย่าท้อใจ จะเที่ยวหามาถวายให้หลายอย่าง…จงเลือกเอาเฝ้าชมให้สมใจ จะทุกข์ไยว่า พระหน่อไม่พอคำ…” ตอนนี้มณีกลีบสมุทรก็ย้อนให้อย่างแสบแก้วหู เมียเก่าโมโหสุดขีด จึงพรวดพราดเข้าไปในห้อง “อีชาติข้าหน้าด้านสะพานช้าง ช่างหมดยางไม่มีอายเสียดายศรี มาว่าได้ไม่กลัวทำตัวด็ ได้นั่งที่แล้วจะถองเจ้าของเรือน” พระเอกคือโคบุตรทำท่าจะเข้าข้างคนใหม่ เลยตวาดเมียเก่าว่า
“ถือว่ารักแล้วก็หยิ่งเหมือนกิ้งก่า ไม่เกรงกลัวตัวดีแกล้งตีปลา ให้ลูกมาขัดคอไม่พอแรง ยังเข้ามาท้ารบจะตบต่อย ดูช่างคอยหยิบผิดมันคิดแกล้ง.” เป็นเหตุให้รุนแรงยิ่งขึ้นถึงแก่ตบตีกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย

เราไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมสุนทรภู่จึงแต่งเรื่องโคบุตรค้างไว้เพียง ๘ เล่มสมุดไทย อาจเบื่อ อาจเกียจคร้าน หรืออาจถูกอิทธิพลมืดบังคับให้ยุติ จะอย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เสียดายเรื่องโคบุตรจึงได้แต่งต่อมา

วรรณกรรมเรื่องแรกของอมตกวีจบลงแล้ว ท่านได้เสนอศิลปะของท่านให้ผู้อ่านทึ่งพอใช้ อาจพูดได้ว่าโคบุตรให้หลายสิ่งหลายอย่างอันเป็นบรรทัดฐานแห่งวรรณกรรมประเภทจักรๆ วงศ์ๆ โคบุตรมีอิทธิพลมากในวรรณกรรมสมัยก่อน รัศมีแห่งเกียรติศักดิ์ทางวรรณกรรมของสุนทรภู่เริ่มฉายแสงแล้วรำไร และเป็นสะพานที่ทอดให้สุนทรภู่ไต่ขึ้นไปสู่ตำแหน่งอาลักษณ์ที่รุ่งโรจน์ในภายหลัง และในที่สุดเป็นอมตกวีที่ชาติไทยเทิดทูนจนทุกวันนี้

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด