วันอาสาฬหบูชา

คือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ๑ วันวันอาสาฬหบูชา

หลังจากสมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในวันเพ็ญ เดือน ๖ แล้ว ได้ทรงใช้เวลาทบทวนสัจธรรม และทรงคำนึงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ลึกซึ้งมาก ยากที่ผู้อื่นจะรู้ตาม แต่อาศัยพระกรุณานี้เป็นที่ตั้งจึงทรงพิจารณาแบ่งบุคคลออกเป็น ๔ ประเภทคือ

๑. อุคฆติตัญญู ผู้ที่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ทันทีทันใดในขณะที่มีผู้สั่งสอน เปรียบเหมือนดอกบัวที่โผล่ขึ้นพ้นนํ้าแล้ว พร้อมที่จะบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์ในวันนั้น

๒. วิปัจจิตัญญู สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ ต่อเมื่อท่านได้ขยายความให้พิสดารออกไป เปรียบเหมือนดอกบัวที่ตั้งอยู่เสมอระดับนํ้า จะบานในวันรุ่งขึ้น

๓. เนยยะ ผู้ที่พากเพียรพยายาม ฟัง คิด ถาม ท่องอยู่เสมอไม่ทอดทิ้ง จึงได้รู้ธรรมวิเศษ เปรียบเหมือนดอกบัวที่ยังไม่โผล่ขึ้นจากนํ้า แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากนํ้าแล้ว ก็ย่อมจะโผล่และบานขึ้นในวันต่อๆ ไป

๔. ปทปรมะ ผู้ที่แม้ฟัง คิด ถาม ท่องแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ธรรมวิเศษได้ เปรียบเหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้นํ้าติดกับเปือกตม รังแต่จะเป็นอาหารเต่าและปลา

เมื่อทรงเล็งเห็นเหตุนี้แล้ว พระพุทธองค์ตกลงพระทัยที่จะสอนบุคคลประเภทแรกก่อน จึงเสด็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ ถึงกรุงพาราณสี ในตอนเย็นวันขึ้น ๑๔ คํ่า เดือน อาสาฬหะ ประทับแรมอยู่กับพระปัญจวัคคีย์นั้น รุ่งขึ้นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ สรุปลงด้วยอริยสัจ ๔ ได้แก่

๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ ความดับทุกข์
๔. มรรค ทางที่จะปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศน์กัณฑ์นี้ว่า “ปฐมเทศนา”

ขณะที่ทรงแสดงธรรมอยู่นั้น ท่านโกณฑัญญะ หรือ อัญญาโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์มีความเข้าใจในหลักสัจธรรมของพระพุทธองค์ จึงได้สมัครเข้าเป็นสาวกนับเป็น “ปฐมสาวก”ของพระพุทธเจ้า

หลังจากนั้นพระอัญญาโกณฑัญญะทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาต ด้วย “เอหิภิกขุ อุปสัมปทา” นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์

จะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์สำคัญๆ ในวันนี้มีถึง ๔ ประการด้วยกันคือ

๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงได้ปฐมสาวก
๓. เป็นวันแรกที่พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก
๔. เป็นวันแรกที่บังเกิดรัตนะครบสาม เป็นพระรัตนตรัย คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ

เดิมทีเดียว วันนี้ไม่มีพิธีพิเศษ คงเนื่องมาจากเป็นวันก่อนเข้าพรรษาเพียงวันเดียว ประชาชนชาวพุทธได้ประกอบการบุญการกุศลเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ต่อมาสังฆมนตรี มีมติให้ชาวพุทธประกอบการบูชาเป็นพิเศษในวันนี้ และเรียกว่า “วันอาสาฬหบูชา” เมื่อรัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุมัติ

จึงนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา พวกเราชาวพุทธต่างก็ประกอบการบูชาเป็นพิเศษตลอดวันนั้น นับตั้งแต่รับศีล ฟังเทศน์ สนทนาธรรม สวดมนต์ เดินเวียนเทียนพระพุทธสถาน เช่น รอบโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ หรือต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันวันมาฆบูชา วิสาขบูชา ต่างกันที่เปลี่ยนคำบูชาพระก่อนเวียนเทียนตามประกาศของสำนักสังฆนายก

ที่มา:กรมศิลปากร