ประวัติความเป็นมาของพิธีตรุษไทย

ประเพณีส่วนประชุมชนหรือส่วนรวมที่ได้ปฏิบัติกันสืบมาแต่โบราณในยุครัตนโกสินทร์ เช่นสวดภาณยักษ์

ตรุษ หรือที่เรียกกันว่า ตรุษไทยนั้นเป็นเทศกาลหนึ่งของไทย ตรงกับวันแรม ๑๔ คํ่าเดือน ๔ ถึงวันขึ้น ๑ คํ่าเดือน ๕ รวม ๓ วัน ตรุษแปลว่าตัดหรือขาด จึงหมายความถึงการตัดปีเก่าให้ขาดไป วันขึ้น ๑๔, ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ถือเป็นวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้น ๑ คํ่าเดือน ๕ เป็นวันต้นของปีใหม่ ในวันนี้ ชาวไทยจะพากันไปทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ขนมที่ใช้ทำบุญที่จะขาดเสียมิได้ คือ ข้าวเหนียวแดง อาจมีการเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันด้วยแล้วแต่จะเล่นกัน เช่น เพลงพิษฐาน มอญซ่อนผ้า ชักเย่อ เพลงพวงมาลัย ฯลฯ กลางคืนเล่นเข้าแม่ศรี ลิงลมเป็นต้น ปัจจุบันไม่มีการเล่นฉลอง เพียงแต่ทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระตามประเพณีเดิม วันตรุษไทยนี้คนรุ่นใหม่บางคนแทบจะไม่รู้จักเพราะมีการ เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่หลายครั้ง

ประวัติความเป็นมาของพิธีตรุษไทยได้นำแบบอย่างพิธีตรุษมาจากลังกา ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดิมเป็นพิธีในราชสำนักหรือที่เรียกกันว่าพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นพระราชพิธีใหญ่พิธีหนึ่งได้ถือปฏิบัติสืบมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีดังกล่าวเป็นการทำบุญขึ้นปีใหม่ (สัมพัจฉรฉินท์ แปลว่า สิ้นปีหรือ ขาดปี) นิมนต์พระมาสวด ๓ วัน วันที่ ๓ ประกาศเทวดาแผ่ส่วนบุญแก่เทวดา ยักษ์ นาค สัตว์เดียรัจฉาน ฯลฯ กลางคืนสวดอาฏานาฏิยสูตร (ชาวบ้านเรียกว่า สวดภาณยักษ์) เป็นการขับผีซึ่งไม่ได้นับถือ พุทธศาสนา ผีที่มีมิจฉาทิฐิและไม่ดูแลรักษาพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ และราษฎรให้ออก ไปจากขอบเขตหรือขอบเขตจักรวาล ระหว่างสวดก็ยิงปืนอาฏานาด้วยเพื่อขู่และขับไล่ผี คนโบราณเชื่อกันว่าการสวดอาฏานาฎฏยสูตรเป็นการขับไล่ผีหรือขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว การยิงปืนก็เป็นการขู่ สำทับให้ผีวิ่งหนี ชาวบ้านจึงหาขมิ้น ปูน ใส่ชามวางไว้ และหาของกินเล็กๆ น้อยๆ พร้อมทั้งกระบอกนํ้า เรียกว่า ข้าวผอกกระบอกนํ้า ผูกกับกิ่งไม้ไว้ที่บันไดเรือนหรือในบริเวณบ้าน เพราะมีความเชื่อว่า ผีอาจวิ่งหกล้มได้รับบาดเจ็บจะได้ทาขมิ้นกับปูน หรือผีวิ่งเหน็ดเหนื่อยหิวโหยจะได้หยิบของกินและนํ้าดื่มได้

นอกจากนี้ในพิธีตรุษของหลวงผู้เข้าร่วมพิธีต้องมีมงคลและพิสมร (ใบลานลงยันต์พับเป็นสี่เหลี่ยม) สำหรับห้อยป้องกันภัยจากผี มี ๓ ขนาด ขนาดเล็กสำหรับมนุษย์ ขนาดกลางสำหรับม้าต้นขนาดใหญ่สำหรับช้างต้น และยังต้องถือกระบองเพชรหรือวางไว้ใกล้ตัว เพื่อป้องกันผีวิ่งมาชน หรือแลบลิ้นหลอก เป็นต้น พิธีตรุษนี้ได้วิวัฒนาการดัดแปลงและแก้ไขมาโดยลำดับ จนถึงรัชกาลที่ ๕ มีทีท่าว่าจะยกเลิกประเพณีนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ยังมีคนเชื่อถือและเกรงกลัวฤทธิ์เดชของผีอยู่มาก ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงประชาชนจะกล่าวโทษรัฐบาล ต่อมาความเชื่อถือผีสางลดน้อยลง พิธีตรุษของหลวงก็ลดลงโดยลำดับจนกระทั่งยกเลิกไป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
และได้กลายมาเป็นพิธีตรุษของราษฎรต่อมา ในปัจจุบันบางแห่งจัดให้มีการสวดภาณยักษ์ขึ้นตามวัด จะมีชาวบ้านที่เชื่อเรื่องผีสาง และผู้สนใจไปร่วมพิธีด้วย แต่การสวดภาณยักษ์ในปัจจุบันนี้บางครั้ง ก็ไม่ได้จัดทำในวันตรุษอาจจะจัดวันอื่นๆ ตามแต่ที่ทางวัดเห็นความสะดวกและเหมาะสม แต่ที่แน่แท้ก็คือการทำบุญตักบาตรของชาวบ้านในวันตรุษไทยยังคงมีอยู่

ที่มา:กรมศิลปากร