วันวิสาขบูชา

ความจริง “วิสาข” เป็นชื่อดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในจักรราศี หากเมื่อพระจันทร์โคจรผ่านดาวกลุ่มนี้ในวันเพ็ญเดือน ๖ จึงเรียกว่า “วันวิสาข” หรือวันวิสาขปุรณมี แปลว่า วันพระจันทร์เต็มดวง โคจร ผ่านกลุ่มดาววิสาขวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๓ ประการด้วยกันคือ

๑. เป็นวันประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายาอัครมเหสีในพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมีพระประสูติกาลคือ เจ้าชายสิทธัตถะ ณ ป่าลุมพินีวันซึ่งเป็นดินแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุกับกรุงเทวทหะปัจจุบัน เรียกว่า ตำบลรุมมินเด แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล ครั้งนั้นตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เป็นวันตรัสรู้ หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงถือเพศฆราวาสมา ๒๙ พรรษา จนมีพระโอรส คือพระราหุล แล้วทรงเบื่อหน่ายทางโลก จึงเสด็จออกบรรพชา ทรงประจักษ์หลักธรรมขึ้นในพระปัญ¬ญา และได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมริมฝั่งแม่นํ้า เนรัญชรา ปัจจุบันอยู่ที่เมืองคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา

๓. วันปรินิพพาน หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดเผยแพร่พระศาสนาและสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน จนพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน แขวงเมืองกุสินารา ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี

เนื่องจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยพระคุณธรรม ๓ ประการอย่างสมบูรณ์คือ
๑. พระองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เองนี้ จัดเป็นพระปัญญาคุณ
๒. พระองค์ทรงบริสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง ทั้งกาย วาจา ใจ จัดเป็นพระบริสุทธิคุณ
๓. พระองค์ทรงสั่งสอนประชาชน โดยมิได้ทรงเลือกเพศ ชั้น วรรณะ จัดเป็นพระกรุณาคุณ

ฉะนั้น ในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ หรือในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๗ ในปีอธิกมาส จึงเป็นวันระลึก ถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งชาวพุทธได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมา แต่ครั้งกรุงสุโขทัย หากถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่พบหลักฐานว่าได้ทำกันมาอย่างไร เพิ่งจะปรากฏ “พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา” สมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.๒๓๖๐ และให้ราชการหยุด ๑ วัน เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศล ประกอบพิธีวิสาขบูชาได้สะดวก นับแต่ทำบุญถวายอาหาร บิณฑบาตในตอน เช้า ปล่อยนก ปล่อยปลา หรือไปบำเพ็ญกุศล ถวายสังฆทานที่วัด รับศีล ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลอุโบสถ ครั้นถึงเวลาเย็นหรือกลางคืน ก็นำดอกไม้ ธูป เทียน เครื่องสักการะมาชุมนุมกันรอบพระอุโบสถ หรือเจดีย์ที่ทางวัดกำหนดจัดพิธีไว้ไหว้พระสวดมนต์คารวะพระรัตนตรัยแล้วก็ทำการประทักษิณ คือ ประนมมือถือดอกไม้ ธูปเทียน เดินเวียนรอบพุทธสัญลักษณ์ พลางเปล่งวาจาสรรเสริญพระคุณจนครบ ๓ รอบ จากนั้นก็อาจมีพระธรรมเทศนาเรื่องปฐมสมโพธิ ซึ่งเป็นพระพุทธประวัตินับแต่ตอนวิวาหมงคล ระหว่างพระเจ้าสิริสุทโธทนะ กับพระนางสิริมหามายา จนถึงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

บางแห่งจัดให้มีการประกวดโคมไฟ หรืออุบะดอกไม้ที่ประชาชนจัดมาเป็นเครื่องสักการบูชา บางวัดก็ตกแต่งวัดให้วิจิตรงดงาม โดยปักธงฉัพพรรณรังสี ธงเสมาธรรมจักร ธงชาติสลับกันตามแนวกำแพงวัด แนวกำแพงแก้วรายรอบอุโบสถ เจดีย์ วิหาร และสิ่งสักการบูชาทั้งหลาย

ที่มา:กรมศิลปากร