วิธีแผลงพยัญชนะ

วิธีแผลงพยัญชนะนี้ เนื่องจากวิธีสนธิในภาษาบาลีบ้างเกิดขึ้นในภาษาไทย จะวางไว้พอเป็นหลักดังนี้

(๑) แผลงพยัญชนะตัวหน้าของอักษรนำ หรืออักษรควบให้มีสระ อำ ประสมอยู่ด้วย เช่น จรัส เป็น จำรัส, แสลง เป็น สำแลง, ครบ เป็น คำรบ  กราบ เป็น กำราบ ฯลฯ

(๒) ประกอบ “อำน” เข้ากับพยัญชนะต้น เช่น เกิด เป็น กำเนิด, คูณ เป็น คำนูณ, โจทย์ เป็น จำโนทย์, เดิน เป็น ดำเนิน, ทูล เป็น ทำนูล ฯลฯ

(๓) ควบตัว ร เข้ากับพยัญชนะต้นตัวหน้า เช่น กะทิ เป็น กระทิ, จะเข้ เป็น จระเข้, ชอุ่ม เป็น ชรอุ่ม, ตะบอง เป็น ตระบอง ฯลฯ

(๔) แผลง ข เป็น กระ กำ, กำห และ ขน เช่น ขจาย เป็น กระจาย, ขจร เป็น กำจร, ขลัง เป็น กำลัง, แข็ง เป็น กำแหง, ขด เป็น ขนด, ขาน เป็น ขนาน ฯลฯ

(๕) แผลง ฉ เป็น จำ, ชำ, ฉล และ ประจ เช่น ฉงาย เป็น จำงาย, ฉลุ เป็น จำลุ, เฉียง เป็น เฉลียง, เฉิด เป็นประเจิด (แผลงต่อไปเป็น “บรรเจิด” ก็ได้) ฯลน

(๖) แผลง ช เป็น ชำร เช่น ชะ เป็น ชำระ, ช่วย เป็น ชำร่วย ฯลฯ

(๗) แผลง ฏ เป็น ฎ และ ต เป็น ด เช่น ฏีกา เป็น ฎีกา, ตารา เป็น ดารา, ตำรู (จาก ‘ตรู’) เป็น ดำรู ฯลฯ

(๘) แผลง ถ เป็น ดำ, ถล และ ตัง เช่น ถกล เบน ดำกล, ถก เป็น ถลก, ถวาย เป็น ตังวาย ฯลฯ

(๙) แผลง ท เบน ชำ เช่น เทราะ เป็น ชำเราะ, ทรุด เป็น ชำรุด, แทรก เป็น ชำแรก ฯลฯ

(๑๐) แผลง บ เป็น ผน เช่น บวก เป็น ผนวก, บวช เป็น ผนวช ฯลฯ

(๑๑) แผลง ป เป็น บ เช่น ปารมี เป็น บารมี, ปรุง เป็น บำรุง ฯลฯ

(๑๒) แผลง ผ เป็น ประ และ ผน เช่น ผจญ เป็น ประจญ, ผสาน เป็น ประสาน, แผก เป็น แผนก ฯลฯ

(๑๓) แผลง พ เป็น ไพ และ พิน เช่น เพราะ เป็น ไพเราะ(คำนี้เขมรเป็น พิเราะ คำ ไพเราะ น่าจะแผลงจาก พิเราะ ของเขมรก็ได้), พิศ เป็น พินิศ ฯลฯ

(๑๔) แผลง ร เป็น ฤ, ระง, ระบ และ รำบ เช่น รติ เป็น ฤดี, รม เป็น ระงม, รำ เป็น ระบำ, ราญ เป็น รำบาญ ฯลฯ

(๑๕) แผลง ล เป็น ลบ, ลม และ มล เช่น ลัด เป็น ละบัด, โลภ เป็น ละโมภ, ลาว เป็น มลาว, ลนลาน เป็น มลนมลาน, ลัก เป็น มลัก ฯลฯ

(๑๖) แผลง ส เป็น สว และ สัน เช่น สาง เป็น สวาง, สรวง เป็น สันรวง ฯลฯ

พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดและการันต์ ยังมีวิธีใช้แตกต่างออกไปจากภาษาเดิมอีก มีข้อสำคัญควรจะสังเกต ดังต่อไปนี้

(๑) พยัญชนะที่เป็นพยางค์ท้ายของศัพท์เดิม แผลงมาเป็นตัวสะกดใน ภาษาไทยโดยมาก เช่น สุขะ เป็น สุข (สุก), นาคะ เป็น นาค (นาก), นิติ เป็น นิติ (นิด), ธาตุ เป็น ธาตุ (ธาด) เป็นต้น

(๒) คำบาลีเอามาลดตัวสะกดเดิมออกเสีย เหลือไว้แต่ตัวตามหลังเป็น ตัวสะกด บางทีก็อ่านออกเสียงด้วย ที่ใช้ชุกชุมนั้นคือคำที่มีตัวสะกดและตัวตาม เป็น จฺจ, ชฺช, ณฺญ, ฏฺฏ, ฏฺฐ, ฑฺฒิ, ตฺติ, ทฺท, นฺน, สฺส เช่น กิจฺจ, เวชฺช, ปุญฺญ, วฏฺฏ, อฏฺฐ, วฑฺฒน, สมฺปตฺต, สมุทฺฑ โสตาปนฺน, โสมนสฺส เราใช้ เป็น กิจ, เวช, บุญ, วัฏ, อัฐ, วัฒน์, สมบัติ, สมุทร, โสดาบัน, โสมนัส ดังนี้ เป็นต้น

ที่ลดเสียเช่นนี้ ก็เพื่อจะกันไม่ให้รุงรัง เพราะภาษาไทยเราออกเสียง พยัญชนะตัวเดียวเป็นทั้งตัวสะกดและอ่านออกเสียงด้วยก็ได้ เช่น ราชการ อ่าน ราด-ชะกาน เป็นต้น แต่มีเสียงอยู่ทางหนึ่ง คือทำให้ฟั่นเฝือ ไม่รู้ได้ว่า ศัพฑ์เดิมเป็นตัวซ้อน (สองตัว) หรือตัวเดียว เช่น กิจ, สุจริต, วิชา, ธัช, ทวิช ซึ่งศัพท์เดิม เป็น กิจฺจ, สุจริต, วิชฺชา, ธช, และ ทวิช เป็นต้น และในที่ต้องการลหุใช้เป็น กิ-จะ, วิ-ชา เช่นนี้ ยิ่งทำให้เสียงแปลกจากเดิม ซึ่ง เป็น กิด-จ, วิด-ชา ไปทีเดียว ฯลน ดีกว่า (บัดนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนว่า กิจ, วิชา)

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร