คำนาม

คำทั้งปวงที่มีลักษณะดังแสดงมาแล้วนั้น จำแนกออกเป็นชนิดต่างๆ กันดังนี้

๑. คำนาม เป็นคำบอกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น
๒. คำสรรพนาม เป็นคำใช้แทนชื่อต่างๆ
๓. คำกริยา(กริยาอ่านว่า“กฺริ-ยา” ทั้งนี้เพื่อให้ต่างกับคำ “กิริยา” ซึ่งหมายถึงความประพฤติ เช่น กิริยาดี กิริยาไม่ดี ฯลฯ) เป็นคำบอกอาการของคน สัตว์ สิ่งของ เป็นต้น
๔. คำวิเศษณ์ เป็นคำประกอบคำอื่นให้มีความต่างออกไป
๕. คำบุพบท เป็นคำสำหรับนำหน้านามและสรรพนาม
๖. คำสันธาน เป็นคำเชื่อมคำหรือความให้ติดต่อกัน
๗. คำอุทาน เป็นคำบอกเสียงต่างๆ

ข้อสังเกต คำภาษาไทยเรามักเป็นคำโดดๆ ไม่มีที่สังเกตแน่นอนว่าเป็น คำชนิดไร คำชนิดหนึ่งจะนำไปใช้เป็นคำอีกชนิดหนึ่งก็ได้ แล้วแต่รูปของประโยค ทำนองเดียวกับภาษาจีนซึ่งอยู่ใกล้กับไทย

ดังนั้นจึงควรสังเกตว่า การที่แยกชนิดคำออกเป็นชนิดๆ ต่อไปนี้ ก็เพื่อ จะให้รู้ว่าต้นรากของคำนั้นๆ เป็นคำชนิดใด ให้ถือเป็นหลักไว้ก่อน ส่วนที่จะเอาคำเหล่านี้ไปใช้ในหน้าที่คำชนิดอื่นนั้น จะได้อธิบายต่อไปข้างหน้า

คำนาม ‘นาม’ เป็นคำบาลี แปลว่าชื่อ ในที่นี้ใช้เรียกคำพวกหนึ่งที่บอกชื่อสิ่งที่มีรูป เช่น คน สัตว์ บ้านเมือง เป็นต้นก็ดี หรือที่ไม่มีรูป เช่น เวลา อายุ ใจ อำนาจ บาป บุญ เป็นคนก็ดี นับว่าเป็นคำนามทั้งนั้น และคำนามนี้แบ่งออกไปอีกเป็น ๕ พวกด้วยกัน คือ (๑) สามานยนาม (๒) วิสามานยนาม (๓) สมุหนาม (๔) ลักษณนาม (๕) อาการนาม ดังจะ อธิบายต่อไปนี้:-

สามานยนาม คำนามที่เป็นชื่อทั่วไป เช่น คน บ้าน เมือง ใจ ลม เวลา เป็นต้น ซึ่งใช้เรียกได้ทั่วไป

สามานยนามนี้ ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น ๒ ชั้น คือ เป็นชื่อแห่งสิ่งของ จำพวกใหญ่ เช่น คน นก ฯลฯ ชั้นหนึ่ง และเป็นชื่อแห่งสิ่งของจำพวกย่อยออกไปจากจำพวกใหญ่อีกชั้นหนึ่ง เช่น ตัวอย่างคำ จีน แขก ฝรั่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นจำพวกย่อยของ “คน” และคำ ยาง ดุเหว่า เอี้ยง ฯลฯ เป็นจำพวกย่อยของ ‘นก’ ดังนี้เป็นต้น สามานยนามบอกจำพวกย่อยนี้ให้ชื่อว่า ‘สามานยนามย่อย’

สามานยนามย่อยนี้ ในภาษาอื่นโดยมากเขาใช้อย่างเดียวกับสามานยนามจำพวกใหญ่ คือเขาจะเรียกชนิดใดก็เรียกลอยๆ ว่า จีน แขก ฝรั่ง ยาง ดุเหว่า เอี้ยง ฯลฯ เหมือนกันหมด แต่ในภาษาไทยโดยมากต้องใช้ควบกันว่า คนจีน คนแขก นกยาง นกดุเหว่า ฯลฯ เป็น ๒ ชั้นอยู่ดังนี้ บางทีก็มีคำชื่อบอกชนิดย่อยลงไปอีก เช่น นก-เขา-ชวา นก-ยาง-กรอก ฯลฯ เมื่อเป็นดังนี้ คำ ‘ชวา’ และ ‘กรอก’ ก็เป็นสามานยนามย่อยของ ‘นกเขา’ และ ‘นกยาง’ อีกชั้นหนึ่ง เป็นชั้นๆ กันขึ้นไปจนถึงชนิดใหญ่ คำสามานยนามย่อยนี้ ถ้าคำใดใช้จนชินแล้ว ก็กล่าวขึ้นลอยๆ ได้ เช่น จีน แขก แร้ง กา ฯลฯ ไม่ต้องใช้นามจำพวกใหญ่นำหน้าว่า คนจีน คนแขก นกแร้ง นกกา ดังกล่าวแล้ว

วิสามานยนาม  คำนามที่เป็นชื่อเฉพาะที่สมมติตั้งขึ้นสำหรับเรียก คน สัตว์ และสิ่งของบางอย่าง เพื่อให้รู้ชัดว่า คนนี้ สัตว์ตัวนี้ ของสิ่งนี้ ฯลฯ เช่น ตัวอย่าง ชื่อคน-สอน สิน ฯลฯ ชื่อบรรดาศักดิ์-ญาณภิรมย์ อุดมจินดา ฯลฯ ชื่อสกุล-มาลากุล ณ สงขลาฯ  ชื่อสัตว์ เช่น ช้าง-มงคล พังแป้น ฯลฯ ชื่อเมือง-นนทบุรี ราชบุรีฯลฯ ชื่อสิ่งของ เช่น เรือ-เสือ ทะยานชน เสือคำรนสินธุ์ และวัน-อาทิตย์ จันทร์ ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง และวิสามานยนามที่ใช้ในภาษาไทยโดยมาก ต้องมีสามานยนามอยู่ข้างหน้าด้วย เช่นนาย-สอน หลวง-ญาณภิรมย์ ช้าง-มงคล เมือง-นนทบุรี วัน-อาทิตย์ เป็นต้น เว้นแต่บางคำที่ใช้อยู่มากจนรู้ทั่วกันแล้ว จึงใช้เรียกลอยๆ ได้ เช่น คำพูดว่า ‘สอน มานี่,ฉันจะไป เชียงใหม่, เขามาจาก ฮ่องกง’ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต วิสามานยนามนี้ต้องเป็นคำใช้เป็นชื่อตั้งขึ้นเรียกคนคนเดียว สัตว์ตัวเดียว และของสิ่งเดียว ถึงจะเป็นชื่อของหมู่คณะ ก็ต้องเป็นหมู่เดียว คณะเดียว เช่น ‘ชาติ-ไทย’ หมายความว่าไทยชาติเดียว และ‘สโมสร-สามัคยาจารยสมาคม’ ก็หมายความถึงสโมสรนั้นแห่งเดียว ถึงแม้จะเผอิญมีชื่อซ้ำกันบ้าง ก็หมายความเฉพาะคน เฉพาะสิ่ง ไม่ทั่วถึงกันได้ ถ้าอยู่ใกล้กันก็ต้องเติมสร้อยหรือบอกเครื่องหมายท้ายชื่อให้สังเกตได้ว่า คนนี้ สิ่งนี้ เช่น นาย-แดง (เล็ก) นาย-แดง (ใหญ่) วัดสามจีนใต้ วัดสามจีนเหนือ เป็นต้น

สมุหนาม  คำนามที่เป็นชื่อ คน สัตว์ และสิ่งของที่รวมอยู่มากด้วยกัน เรียกว่า ‘สมุหนาม’ เช่น ทหารมากด้วยกัน เรียก ‘กอง’ ภิกษุ ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป เรียกว่า ‘สงฆ์’ ช้างหลายตัวรวมกันอยู่ เรียกว่า ‘โขลง’ และคำที่หมายถึงจำนวนมากอื่นๆ อีก เช่น หมู่ คณะ ฝูง บริษัท นิกาย รัฐบาล เป็นต้น

ข้อสังเกตุ สมุหนามนี้ต่างกับสามานยนาม คือ สามานยนามเป็นชื่อของ ชนิด เช่น คน จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ จำกัดจำนวนเป็นคนๆ ไป แต่สมุหนามนั้นเป็นชื่อของหมวดหมู่แห่งชนิดนั้นๆ อีกทีหนึ่ง จำกัดจำนวนรวมกันอยู่มากๆ คือหมายความว่า จำนวนหนึ่งก็มีอยู่หลายคนหลายสิ่ง ถ้าแม้จะใช้สมุหนามนั้นเป็นเอกพจน์ว่า หมู่หนึ่ง หมวดหนึ่ง ก็ต้องมีหลายคน หลายสิ่งรวมอยู่ในหมู่และหมวดนั้น และสมุหนามนี้ถ้าจะให้รู้ละเอียดต่อไปอีก ก็ใช้เติมสามานยนามหรือวิสามานยนามเข้าข้างท้าย เช่นตัวอย่าง ฝูง-นก (ของนก) พวก-นักเลง (ของนักเลง) รัฐบาล-ไทย (ของไทย) ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง คำที่เป็นชื่อของสถานที่ เช่น บ้านเมือง ศาล สโมสร ฯลฯ เหล่านี้ ถ้าหมายความถึงสถานที่นั้นก็นับว่าเป็นสามานยนามดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าหมายความถึงประชุมชนที่ทำการรวมกันอยู่ในสถานนั้น ต้องนับว่าเป็นสมุหนาม ตัวอย่างเช่นพูดว่า ‘บ้านเมืองทำโทษ ศาลตัดสินยกฟ้อง สโมสรนี้ต้องการคนดี’ เป็นต้นดังนี้ คำ บ้านเมือง ศาล สโมสร ในที่นี้เป็นสมุหนาม

ลักษณนาม คำนามที่ใช้บอกลักษณะของสามานยนามอีกทีหนึ่ง เช่นคำเรียกพระว่า ‘รูป’ เรียกสัตว์ว่า ‘ตัว’ เรียกเรือว่า ‘ลำ’ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า ‘ลักษณนาม’ ตามธรรมดาสามานยนามในภาษาไทย จะเอาคำวิเศษณ์บางชนิดมาประกอบเข้าข้างท้ายห้วนๆ ว่า พระสอง ม้าสาม เรือเดียว ฯลฯ ดังนี้ไม่ได้ ต้องมีคำนามอีกจำพวกหนึ่งมาประกอบท้ายคำวิเศษณ์เหล่านั้น จึงจะได้ความสมบูรณ์ เช่นตัวอย่างว่า พระสองรูป ม้าสามตัว เรือลำเดียว ดังนี้ คำ รูป ตัว ลำ เหล่านี้เรียกว่าลักษณนาม และลักษณนามที่ประกอบกับวิเศษณ์ นี้ รวมกันเป็นวลีประกอบคำข้างหน้าอีกทีหนึ่ง เช่น ‘เรือลำหนึ่ง’ ‘ถูกเฆี่ยน สามยก’ ฯลฯ ดังนี้บทว่า ‘ลำหนึ่ง’ก็ดี ‘สามยก’ ก็ดี เป็นวลี ทำหน้าที่เป็น บทวิเศษณ์ขยายคำ ‘เรือ’ และบท ‘ถูกเฆี่ยน’ ตามลำดับ ดังจะแสดงต่อไปข้างหน้า ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะคำเท่านั้น

และ ลักษณนามนี้ ก็คือ สามานยนามหรือสมุหนามนั้นเอง แต่เอามาใช้ ในที่บอกลักษณะของนามข้างหน้าคล้ายกับคำวิเศษณ์ จึงเรียกชื่อต่างออกไปอีกอย่างหนึ่ง จะเลือกคัดเอาไว้พอเป็นที่สังเกตเป็นพวกๆ ดังต่อไปนี้:-

๑. ลักษณนามบอกชนิด
silapa-0073 - Copy
๒. ลักษณนามบอกหมวดหมู่

silapa-0074 - Copy

๓. ลักษณนามที่บอกสัณฐาน

silapa-0074 - Copy1

silapa-0075 - Copy

๔. ลักษณนามบอกจำนวนและมาตรา

silapa-0075 - Copy1

๕. ลักษณนามบอกอาการ

silapa-0075 - Copy2

๖. ลักษณนามซ้ำชื่อ
สามานยนามบางคำ ที่ไม่ต้องการบอกลักษณะดังข้างบนนี้ เมื่อจะใช้ กับคำวิเศษณ์เช่นนั้น ต้องเอาคำสามานยนามเดิมนั้นเองมาใช้เป็นลักษณนามประกอบคำวิเศษณ์นั้นๆ เช่น ประเทศสองประเทศ เมืองสองเมือง บ้านสองบ้าน วัดสี่ วัด ดังนี้เป็นต้น คำสามานยนามที่ซ้ำกับชื่อข้างหน้า คือ ประเทศ เมือง บ้าน วัด นั้นเรียกว่า ลักษณนาม เหมือนกัน

ข้อสังเกต ลักษณนาม นี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องสังเกตให้แม่นยำ จะใช้ปนกันเป็นคนสองตัว ถ้วยสองอัน ฯลฯ ไม่ได้ ลักษณนามจำพวกที่ซ้ำชื่อข้างหน้าใช้ทั่วไปได้มาก แต่มักใช้ในการทำบัญชี เพราะเป็นการสะดวก นึกง่าย แต่ก็ใช้ไม่ได้ทั่วไปทุกคำ เช่นคำ ‘พระ เรือ’ จะใช้ว่า ‘๒พระ ๒ เรือ’ ดังนี้ก็ไม่ได้ ต้องให้ถูกตามระเบียบ

อาการนาม คำนามที่เป็นชื่อแห่งกิริยาอาการ หรือความปรากฏ เป็นต่างๆ แห่ง คน สัตว์ และสิ่งของซึ่งเนื่องมาจากคำกริยา หรือคำวิเศษณ์เช่น การกิน การอยู่ ความตาย ความสวย ความงาม เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า ‘อาการนาม’ และคำอาการนามนี้ โดยมากเป็นคำประสมที่มี
คำว่า ‘การ’ หรือ ‘ความ’ นำหน้าเป็นพื้น มีข้อยกเว้นบ้าง ดังจะอธิบายต่อไป

คำ ‘การ’ และ ‘ความ’ ที่นำหน้านั้น มีที่ใช้ต่างกัน คือ ถ้านำหน้าคำกริยา มักใช้ ‘การ’ แต่ถ้าคำกริยาที่มีความว่า มี เป็น เกิด ดับ เจริญ เสื่อม หรือ กริยาที่เกี่ยวกับจิตใจ มักใช้ ‘ ความ ’ นำหน้า เช่น ความมี ความเป็น ความเกิด ความตาย ความคิด ความรัก เป็นต้น และถ้านำหน้าคำวิเศษณ์แล้ว ใช้ ‘ความ’ เป็นพื้น เช่นความดี ความชั่ว ความสวย ความงาม เป็นต้น

ข้อสังเกต คำกริยาที่ไม่มี ‘การ’ หรือ ‘ความ’ นำหน้า เรียกว่ากริยา สภาวมาลา ใช้ในหน้าที่นามได้เหมือนกัน เช่น ‘หาบ ดีกว่าคอน’ เป็นต้น ส่วนอาการนามที่มาจากคำวิเศษณ์นั้น ถึงไม่มี ‘ความ’ นำหน้า ก็นับว่าเป็นอาการนามได้เหมือนกัน เช่น ‘รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา’ เป็นต้น

ข้อสังเกต ๒ คำอาการนามทั้งหมด ต้องมีคำกริยา หรือวิเศษณ์ อยู่เป็น หลัก และมีคำ ‘การ’ หรือ ‘ความ’ ประกอบข้างหน้า หรือละไว้ในที่เข้าใจดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าไม่มีคำกริยา หรือ วิเศษณ์ อยู่เป็นหลักแล้ว ถึงจะมีคำ การ ความ นำหน้า ก็ไม่นับว่าเป็นอาการนาม เช่น ตัวอย่าง การเรือน ความวัว (ในประโยคว่า ‘ความวัวยังไม่หาย…’) เป็นต้น เหล่านี้ก็จัดเป็นสามานยนาม คำประสมอย่างอื่นไม่ใช่อาการนาม

คำนามที่มาจากบาลีและสันสกฤต คำเหล่านี้ให้วินิจฉัยอย่างเดียวกับคำไทยที่อธิบายมาแล้ว เช่น มนุษย์ เทวดา ฯลฯ เป็นสามานยนาม, สาวัตถี (ชื่อเมือง) เวสสันดร (ชื่อกษัตริย์) ฯลฯ เป็นวิสามานยนาม, สงฆ์ คณะ ฯลฯ เป็นสมุหนาม พระ ๒ รูป เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ‘รูป’ และ ‘องค์’ เป็นลักษณนาม แต่จำพวกอาการนามนั้นให้สังเกตดังนี้คือ คำที่เราเคยใช้เป็นกริยา เช่น เทศน์ อุตสาหะ กรุณา ฯลฯ ถ้านำมาใช้เป็นนาม โดยเอาคำ ‘การ’ หรือ ‘ความ’ นำหน้าว่า การเทศน์ ความอุตสาหะ ความ กรุณา ดังนี้ก็ดี หรือละคำ ‘การ’ หรือ ‘ความ’ ไว้ในที่เข้าใจ ดังพูดว่า ‘เขา มีเทศน์, เขามีอุตสาหะ, เขามีกรุณา’ ดังนี้ก็ดี นับว่าเป็นอาการนาม แต่ถ้าคำที่ไม่เคยใช้เป็นคำกริยาเลย เช่น ตัณหา ขันตี ฤทธิ์เดช เป็นต้นเหล่านี้ นับว่าเป็นสามานยนาม ถึงแม้คำเหล่านี้มีคำแปลเป็นอาการนาม เช่น ตัณหา แปลว่า ความอยากได้ ก็ไม่นับว่าเป็นอาการนาม ตามคำแปล เพราะคำแปลอาจจะผูกให้เป็นอย่างไรก็ได้

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร