วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น

รามเกียรติ์
(พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๙๔)
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ยุครัตนโกสินทร์ เป็นยุควรรณคดีที่รุ่งเรืองมากที่สุด ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ โดยได้อาศัยวรรณคดีเก่าๆ มาปรับปรุงดัดแปลงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น และทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ สร้างวรรณคดีเรื่องใหม่จนกลายเป็นวรรณคดีอมตะหลายเรื่อง เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น

นอกจากนั้น ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีคนที่มีความรู้และสนใจในการศึกษา    ความต้องการที่จะหาหนังสืออ่านมีมากขึ้นเป็นลำดับ จึงทำให้นักประพันธ์มีอาชีพดีขึ้นผิดกับสมัยก่อน แม้แต่ท่านสุนทรภู่เองก็ได้ รับรายได้จากมันสมองชนิดที่ไม่คุ้มค่า จึงมีคำกล่าวเสมอว่า อย่าริอ่านเป็นนักประพันธ์ จะไส้แห้ง แต่นักประพันธ์สมัยนี้ที่มีชื่อเสียง สามารถหารายได้จากผลงาน เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อย่างสบาย

แม้ว่าวรรณคดีประเภทกวีประพันธ์ จะไม่เฟื่องฟูในสมัยนี้ เพราะขาดความนิยมเหมือนสมัยก่อน แต่วรรณคดีประเภทร้อยแก้ว นวนิยาย ได้ก้าวหน้าจนสามารถยึดเป็นอาชีพได้

บทละครรามเกียรติ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดให้แต่ง และซ่อมของเดิมให้ดีขึ้น

ลักษณะเป็นบทละคร สมัยนี้การละครซึ่งแสดงในรั้วในวังเจริญขึ้นเรื่อยๆ จึงมีบทละครต่างๆ สำหรับใช้ในการแสดงเกิดขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็เพื่อรักษาวรรณคดีของชาติที่มีคุณค่าเอาไว้

บทละครรามเกียรติ์นี้ มีผู้แต่งหลายคน สังเกตได้บางตอนก็มีความไพเราะมาก แต่โดยที่พระองค์ก็ทรงร่วนพระราชนิพนธ์ด้วย จึงถวายพระเกียรติให้เป็นผลงานของพระองค์ มีเนื้อเรื่องเกือบจะครบบริบูรณ์ มี ความยาวถึง ๑๑๗ เล่มสมุดไทย มี ๓ ตอน คือ

ตอนอวตารของพระนารายณ์ลงมาเกิดเป็นพระราม สำหรับปราบยุคเข็ญ และกำเนิดตัวละครต่างๆ ที่เป็นบริวาร

ตอนทำสงคราม ตั้งแต่พระรามเดินดง ไปจนถึงปราบยักษ์ มีทศกัณฐ์ เป็นต้น

ตอนปลาย เป็นการรบเผ่าพงศ์ยักษ์ทั้งหลาย มาจนถึงพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนางสีดา และการราชาภิเษก

นับว่าเป็นรามเกียรติเรื่องเดียว ที่มีความไพเราะ และสมบูรณ์มากที่สุด มีทั้งได้ความรู้ในการแสดงกลยุทธต่างๆ ได้ความรู้ในทางคติสอนใจ ปลุกใจให้เข้มแข็ง แสดงให้เห็นถึงความภักดีของทหารที่มีต่อแม่ทัพ การแสดงความกตัญญู ความซื่อสัตย์ต่อสตรี  คือนางสีดา ความห้าวหาญของแม่ทัพ เช่น หนุมาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังแสดงถึงความเด็ดขาดของแม่ทัพ ความมีระเบียบวินัยในกองทัพ ตัวอย่างเช่น
เมื่อนั้น                พระสยมภูวนาถเรืองศรี
ได้ฟังกริ้วโกรธคืออัคคี        จะไหม้ตรีโลกให้บรรลัย
จึงสาบด้วยวาจาสิทธิ์        ตัวมึงทำผิดเป็นโทษใหญ่
อย่าช้าจงเร่งลงไป        เป็นกาสรอยู่ในพนาวัน
ชื่อว่ากำแหงทรพา        สาใจที่มึงโมหันธ์
เมื่อได้มีบุตรชายฉกรรจ์    ชื่อว่าทรพีอันชัยชาญ
ผลาญชีวิตมึงบรรลัย        จึงให้พ้นชาติเดียรฉาน
สิ้นทุกข์มาเป็นนายทวาร    ในสถานไกรลาศบรรพตา ฯ

บทละครเรื่องอุณรุท
พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นเรื่องเดียวกับอนิรุทคำฉันท์ของศรีปราชญ์ ได้เค้าโครงมาจากคัมภีร์มหาภารตะ และปุราณะ เมื่ออวตารของพระนารายณ์ ปางกฤษณาวตาร

มีเนื้อความพิศดารว่า อนิรุทคำฉันท์ ชื่อตัวละครก็ผิดกัน พรรณนาความแจ่มแจ้ง กล่าวโดยทั่วไปแล้วสู้กลอนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ไม่ได้ มีความไพเราะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย    กระบวนกลอนเลียนแบบรามเกียรติ์ เช่น
สิบเศียรสิบหน้ายี่สิบกร     สูงเยี่ยมอัมพรเวหา
สิบปากเขี้ยวงอกออกมา    ยี่สิบตาดังดวงอโนทัย
แผดเสียงสิงหนาทตวาดร้อง กึกก้องฟากฟ้าดินไหว
กระทืบบาทครื้นครั่นสนั่นไป ถึงเมรุไกรสัตภัณฑ์

กลอนนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อยกทัพไปรบกับพม่าที่ท่าดินแดง เมืองกาญจน¬บุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๙

เป็นนิราศกลอนเรื่องแรก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชนิพนธ์รำพันความรักต่อมเหสี และนางสนมทุกคน กล่าวถึงตำบลต่างๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างเสด็จ เป็นต้นว่า คลองด่าน มหาไชย เมืองสมุทร ด่านท่าขนอน เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรบ
เห็นดาวดึกนึกหวลรัญจวนหา     ในอุราเพียงทัพด้วยเขาหลวง
อันหาบหามที่เขาตามมาทั้งปวงฺ     ไม่หนักทรวงเหมือนพี่หนักอาลัยไกล เขาหนักหาบถึงที่ก็ได้พัก        พี่หนักรักนี้ไม่ปลงเอาลงได้
มีแต่คอนค่อนทุกข์ทุกวันไป         จะเห็นใจฤที่ใจการุญกัน

ชมพรรณมิ่งไม้นานา             บางผลปนผกาเขียวขจี
ลางต้นสาขาดูน่าชม            รื่นร่มมิดแสงพระสุรศรี
สดับเสียงปักษาสุวาที            ลิงค่างบ่างชนีว่าวกดง
เสนาะเสียงจักจํ่นสนั่นไพร         แม่ม่ายลองไนในป่าระหง
เรไรร้องหริ่งหริ่งอยู่ริมพง         ส่งเสียงดังสำเนียงอนงค์นวล

กฎหมายตราสามดวง
สาเหตุจะเกิดวรรณคดีเรื่องนี้ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง อยู่กินกันมาเป็นเวลานาน ต่อมาฝ่ายภรรยาไปมีชู้ และได้ฟ้องหย่าสามี คณะลูกขุนได้ตัดสินความ อนุญาตให้หย่าได้ ซึ่งตามกฎหมายสมัยนั้นระบุว่า แม้สามีไม่ผิดหญิงก็ฟ้องหย่าได้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงเห็นว่ากฎหมายเก่าควรจะได้รับการแก้ไข จึงทรงโปรดให้ลูกขุน และราชบัณฑิตช่วยกันชำระ ลักษณะเป็นร้อยแก้ว ซึ่งความจริงไม่น่าจะถือเป็นวรรณคดี    น่าจะถือเป็นตำรา
กฎหมายมากกว่า หากจะจัดเป็นวรรณคดี ก็ควรจะจัดเข้า ในลักษณะวรรณคดีวิชาการ ให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีและอักษรศาสตร์ จำนวนลูกขุนและราชบัณฑิตที่ชำระมี ๑๗ คนด้วยกัน

เมื่อชำระเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประทับตราสามดวง คือ
ตราราชสีห์ ตราคชสีห์ และตราบัวแก้ว
จึงเรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ในปัจจุบันเรียกว่า “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ จุลศักราช ๑๑๖๖”

เนื้อเรื่อง กล่าวถึงตำนานพระธรรมศาสตร์ หลักอินทภาษและบทกฎหมาย รวม ๒๘ เรื่อง
ตัวอย่าง
“มโนสารฤาษี มีความวิตก ที่จะให้พระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ จึงแวะไปกำแพงจักรวาฬ เห็นบาลีคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ อันคัมภีร์กลายเป็นลายลักษณ์ อักษร ปรากฏอยู่ในกำแพงจักรวาฬ มีปริมณฑลเท่ากายคชสาร มโนสารฤาษีจึงกำหนด บาลีนั้น แม่นยำจำได้แล้วกลับมาแต่งเป็นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์……”

ดาหลังรัชกาลที่ ๑
ลักษณะ เป็นบทละครคำกลอน เพื่อใช้เป็นบทละครแสดงเป็นบทละครใน
รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้แต่งซ่อมของเจ้าฟ้ากุณฑลซึ่งมีอยู่เดิม แก้ไขให้ดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น

เนื้อเรื่อง  นับตั้งแต่ปะดาระกาหลาสร้างเมืองกุเรปัน ดาหา ตาหลัง สิงหส่าหรี ระเด่นมนตรี โอรสท้าวกุเรปันได้หมั้นกับบุษบากาโหละ ธิดาของท้าวดาหา แต่ระเด่นมนตรีไปรักบุษบาส่าหรี ลูกสาวยายบิบิไร้หนีชาวไร่

ท้าวกุเรปันให้ตำมะหงง ฆ่าบุบบาชาวไร่ อิเหนารู้ก็โกรธ นำศพนางหนีไปเผาบนเกาะ แล้วปลอมเป็นปันหยี ไปตีเมืองต่างๆ จนได้ชายามากมาย

องค์ปะตาระกาหลา นิรมิต บุษบา กาโหละ เป็นชาย ชื่อมิสาประหมังกุหนิง ออกติดตามพบระเด่นในเมืองมิสา แล้วหนีไปบวชเป็นแอหนัง

เรื่องราวซับซ้อน ไม่เหมาะที่จะเล่นละคร ชื่อตัวละครก็เป็นแบบชะวา ฟังจำได้ยาก

อิเหนารัชกาลที่ ๑
ลักษณะ เป็นบทละคร เพื่อใช้ในการเล่นละครใน มีผู้รู้จักกันแพร่หลาย แม้ชื่อตัวละครก็คุ้นหูกว่าดาหลัง
รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งซ่อมบทพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ

เนื้อความ ท้าวกุเรปันกษัตริย์วงศ์เทวา มีโอรสกับประไหมสุหรี องค์ปะตาระกาหลา ทรงทำกริชจารึก นามอิเหนามาวางไว้ จึงให้ชื่อพระกุมารว่า อิเหนา

ท้าวกุเรปันได้หมั้นบุษบา ธิดาของท้าวดาหาให้กับอิเหนาซึ่งเป็นราชโอรส แต่อิเหนาไปรักกับจินตะหรา ธิดาท้าวหมันหยา ท้าวดาหารู้เรื่องจึงยกนางบุษบาให้ระตูจรกา

ทำวกระหมังกุหนิง และวิหยาสะกำ จึงยกกองทัพมาชิงนาง อิเหนาได้มาช่วยปราบข้าศึก และเกิดรักบุษบา จึงทำอุบายเผาเมืองดาหา แล้วพาบุษบาหนีไปซ่อนไว้

ปะตาระกาหลาโกรธมาก จึงบันดาลให้เกิดลมหอบเอาบุษบาไปไว้ในกลางป่า และแปลงให้เป็นอุณากรรณ อิเหนาปลอมเป็นปันหยีออกติดตาม ปราบบ้านเมืองต่างๆ จนได้ชายามากมาย อุณากรรณตามหาอิเหนา และแปลงเป็นแอหนัง ได้ไปคืนดีกันที่ดาหลัง

อิเหนาจึงมีชื่อ และคนนิยมมากกว่าดาหลัง ถ้อยคำสำนวนก็ไพเราะ ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพพจน์ เช่น

ว่าพลางอุ้มนางขึ้นบนตัก     สุดรักของพี่ ไม่มีสอง
จุมพิตชิดเชยปรางทอง      ค่อยประคองเคียงเค้าเยาวมาลย์
อิงแอบแนบนางพลางชม     แรกภิรมย์ร่วมรักสมัครสมาน
พายุพัดอัศจรรย์บันดาล    ไหวสท้านสะเทือนสุถดล
ฟ้าลั่นครั่นครึกกึกก้อง        โพยมพยับอับละอองอายฝน
คงคาสาครกระฉ่อนชล    โกมลไม่แย้มยังแนบใบ

ถ้อยคำในการพระราชนิพนธ์สละสลวย    เป็นวรรณคดีที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่ง

ราชาธิราช
เดิมเป็นพงศาวดารมอญ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้แปล โดยมีผู้ช่วยเหลือ เช่น พระยาอินทร์ อัครราช พระพิรมย์รัศมี และพระศรีภูริปรีชา

วรรณคดีเรื่องนี้ เพื่อที่จะสั่งสอนคนให้อยู่ในระเบียบวินัยให้เป็นคนกล้าหาญ รู้ความกตัญญู และเพื่อให้มีความรู้มีสติปัญญา และความรู้ในทางประวัติศาสตร์ แปลและเรียบเรียงเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๔ จ ศ. ๑๑๔๗
เป็นร้อยแก้ว อ่านเข้าใจง่าย
เนื้อเรื่องแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ
ตอนที่ ๑ กล่าวถึงการสร้างเมืองเมาะตะมะ ทำนองเป็นเทพนิยาย เรื่องราวของมะกะโท (พระเจ้าฟ้ารั่ว) ซึ่งเกี่ยวข้องกับพงศาวดารไทยด้วย
ตอนที่ ๒ เป็นตอนกำเนิดราชาธิราช และการทำสงครามกับพระเจ้ามณเทียรทอง ซึ่งมอญเป็นฝ่ายชนะ เป็นส่วนใหญ่
ตอนที่ ๓    กล่าวถึงการขยายอำนาจของราชาธิราช อำนาจของมอญ และกล่าวถึงกำเนิดของมังมณีนิล ราชโอรส

เนื่องจากมีคนแปลและเรียบเรียงหลายท่าน ดังนั้น สำนวนจึงไม่เหมือนกัน มีภาษาบาลีปนสันสกฤตมาก

ถ้าจะพูดถึงสำนวนโวหารแล้ว ดูจะแพ้สามก๊กเป็นบางตอน แต่บางตอนก็อยู่ในระดับสามก๊ก มีสำนวนเปรียบเทียบยกอุทาหรณ์เป็นภาษิตเตือนใจ จึงเป็นวรรณ¬กรรมที่ดีเด่น และน่าอ่านเรื่องหนึ่งในวงวรรณกรรมไทย

สามก๊ก
เป็นผลงานของเจ้าพระยาคลัง (หน) เป็นผู้อำนวยการแปลและเรียบเรียง เจ้าพระยาคลัง (หน) ผู้นี้มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี  นับว่าเป็นนักปราชญ์ผู้มีความรู้ปราดเปรื่องผู้หนึ่ง

สามก๊กนี้เป็นเรื่องอิงพงศาวดารจีน ในราชวงศ์ฮั่น เป็นเรื่องเล่า นักปราชญ์จีน ได้แต่ขึ้น ชื่อล่อกวนตง แต่งในราชวงศ์ไต้เหม็ง ต่อมามีนักปราชญ์จีน ๒ ท่าน ชื่อกิมเสี่ยถ่างกับเม่าจงกัง ได้ช่วยกันแก้ไขเพิ่มเติมให้ดีขึ้น จนเป็นที่นิยมแพร่หลาย

เจ้าพระยาคลัง (หน) ผู้อำนวนการแปลและเรียบเรียง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๕-๒๓๔๘ จึงสำเร็จเรียบร้อย โดยมีสำนวนโวหารไพเราะ และรักษาเนื้อความเดิมไว้เป็นส่วนมาก

มีเนื้อความโดยย่อ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าจิวบูอ๋องถึงพระเจ้าเลนเต้  สมัยนั้นเกิดมีโจรพวกหนึ่ง เรียกว่า โจรผ้าเหลืองก่อกวน ทำให้ราษฎรเดือดร้อน ข้าราชการก็แตกความสามัคคี

ต่อมาตั๋งโต๊ะ เจ้าเมืองเชียงหลง ได้ฆ่าหองจุเปียนตาย แล้วก็แต่งตั้งหองจูเหี้ยนโอรสพระเจ้าเลนเต้ขึ้นเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่ก็ถูกตั๋งโต๊ะกดขี่ข่มเหงมาก

อ้องอุ้นจึงได้ออกอุบายให้ลิโป้ ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของตั๋งโต๊ะฆ่าตั๋งโต๊ะ ถึงแก่ความตาย
ลิฉุยกับกุยกี่ จึงได้เป็นใหญ่แทน แล้วโจโฉจึงมาปราบได้ พยายามกำจัดศัตรูจนหมดสิ้น คงเหลือเพียงสองก๊กคือ ก๊กซุ่นกวย (ง้อก๊ก) และก๊กเล่าปี่ (จ๊กก๊ก)

ต่อมาโจยี่ได้เป็นกษัตริย์แทนเหี้ยนเต้ และได้ตั้ง วุยก๊กขึ้น และต่อมาสุมาเอี๋ยนได้ปราบวุยก๊กได้ตั้งเป็นราชวงศ์จิ้น และปราบก๊กต่างๆ ได้ กินเวลาเรื่องราวสามก๊กถึง ๑๑๑ ปี

สามก๊กนี้เป็นแบบโวหารที่มีสำนวนไพเราะ ให้คติกินใจ มีประโยชน์ เช่น

“ยาดีกินขมปาก แต่เป็นประโยชน์แก่คนไข้ คนซึ่งกล่าวคำไม่เพราะหู แต่เป็นประโยชน์แก่กาลข้างหน้า” ให้คำสอนในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น
“คำโบราณกล่าวไว้ว่า ธรรมดาภรรยาอุปมาเหมือนเสื้อผ้า ขาดแลหายแล้วก็หาได้ พี่น้องเหมือนแขนซ้าย ขวา ขาดแล้วยากที่จะต่อได้”

พูดถึงกลยุทธแล้ว ใช้เป็นตำราพิชัยสงครามได้เป็นอย่างดี เช่น กลยุทธขงเบ้ง เป็นต้น ตอนที่ขงเบ้งขึ้นไปดีดกระจับปี่ลวงข้าศึกเล่น เช่น

“แลขึ้นไปเห็นขงเบ้งแต่งตัวอ่าโถง หน้าตาแช่มชื่นสบายอยู่ ก็คิดว่ากองทัพเรายกมาเป็นการจวนตัวถึงเพียงนี้ ขงเบ้งหามีความสะดุ้งใจไม่ กลับตีกระจับปี่เล่นเสียอีกเล่า”

ให้เล่ห์เหลี่ยมและชั้นเชิงการทูตได้เป็นอย่างดี จึงเห็นว่าวรรณคดีสามก๊กร้อยแก้วนี้ ให้ประโยชน์หลายด้าน แก่ผู้อ่าน อ่านสนุก มีคติเตือนใจ รู้กลยุทธชั้นเชิงการรบ มีโวหารอันคมคาย เฉียบแหลม มีปัญญาที่เป็นปริศนา ยอกย้อน ทำให้เกิดมีความคิด และไหวพริบดี แสดงถึงอุปนิสัยใจคอของคนทุกแง่ทุกมุม ความเฉลียวฉลาดของตนย่อมเอาชนะ แม้กระทั่งคนที่มีร่างกายแข็งแรง มีฝีมือเป็นเลิศได้ สามก๊กจึงยกย่องคนที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ ดังเช่นขงเบ้ง เป็นต้น

เรื่องที่แปลจากพงศาวดารจีน นอกจากสามก๊กแล้วก็ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น ซันบ้อเหมา เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น บ้วนฮวยเหลา ไซอิ๋ว ยี่จับสี่เห่า ไซจิ้น ไคเพ็ก ซ้องกั๋ง ล้วนแต่เป็นสำนวนที่น่าอ่านทั้งสิ้น บางสำนวนก็ติดปากบรรดานักอ่านพงศาวดารจีนอย่างแม่นยำ

ลิลิตพระพยุหยาตราเพชรพวง
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๐
ความมุ่งหมาย    เพื่อถือเป็นแบบอย่างของการจัดขบวนพยุหยาตราทั้งชลมารคและสถลมารค คำประพันธ์มีโคลงสี่สุภาพ มีร่ายสุภาพเป็นบทนำบทเดียว

เนื้อเรื่อง กล่าวถึงเรื่องต่างๆ พร้อมกับหน้าที่แต่ละคำ แต่ละตำแหน่งโดยละเอียด กล่าวถึงคเชนทร พยุหยาตรา อัศวพยุหยาตรา ให้ความรู้ในด้านโบราณคดี  สำนวนไพเราะ บางโคลงก็เลียนแบบของกำสรวล ศรีปราชญ์อย่างเพราะพริ้งอีกด้วย ตัวอย่างเช่น
ชลพิมานไชยที่ห้า        ระหงฉาย
รันทดรันทวยพาย        ตื่นเต้น
กระแหนะกระหนกพราย    เพราเพริศ
ลีลาศลอยลำเหล้น        แล่นล้ำใครเสมอ
ศรีสามารถเลิศลํ้า        ลำทรง
เหมพิมานปันยงค์        ยาตรเยื้อน
เฉกอาสน์อิศรองค์        อมเรศ
จากสถานทิพย์เหลื้อม        ล่องฟ้ามาดิน

คำประพันธ์บางบทเลียนโคลงในกำสรวลศรีปราชญ์ ดังเช่นตอนชมกรุง กำสรวลศรีปราชญ์
อยุธยายศยิ่งฟ้า            ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ        ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร์        ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ        นอกโสม

ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง
อยุธยาโสภิสโพ้น        มาแปลง เป็นฤา
ฤาว่าบุญเพรงแสดง        พระสร้าง
สิงหาศน์พิมานแสยง        สยบโลกย์
แสงสุวรรณพร่างพร้าง        พรพริ้มพรายตา

บทมโหรีเรื่องกากี
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้แต่งจากเค้าเรื่องชาดก ชื่อกุณาล และกากาติ แต่งสำหรับขับร้องในวงมโหรี เป็นกลอนแปดประเภทกลอนขับร้องที่มีความไพเราะมาก

เนื้อเรื่อง  แบ่งออกเป็น ๓ ตอน คือ
ตอนที่ ๑ กล่าวถึงท้าวพรหมทัต มีมเหสี ชื่อกากี มีรูปร่างงดงามมาก ใครเห็นใครชอบ

วันหนึ่งพระยาครุฑเวนไตย แปลงเป็น มานพ มาเล่นสกากับท้าวพรหมทัต นางกากีก็ได้แอบมาดูการเล่นสกา ทั้งสองมองตากันแล้วก็เกิดรักกัน เวนไตยแสดงอิทธิฤทธิ์ บังแสงตะวันให้มืด แล้วพานางกากีไปสู่วิมานฉิมพลี

พระเจ้าพรหมทัตทรงทราบจึงให้คนธรรม์ ผู้บรรเลงดนตรี แปลงเป็นไรติดพระยาครุฑไปยังวิมานฉิมพลี และได้นางกากีเป็นภรรยา แล้วกลับมาทูลพระเจ้าพรหมทัต

ตอนที่ ๒ คนธรรม์ดีดพิณยั่วพระยาครุฑว่า ตนเองก็ได้นางกากีเป็นภรรยาด้วย พระยาครุฑโกรธ จึงคืนกากีให้พระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตจึงจับนางลอยแพ

ตอนที่ ๓ กล่าวถึงความทุกข์ยากนางกากีที่ผจญกรรมในการลอยแพ ได้เป็นภรรยาของพ่อค้า นายโจร และท้าวทศวงศ์ผู้เฒ่าจนกระทั่ง คนธรรม์ไปชิงนางกลับมา เป็นภรรยาของตนที่เมืองพาราณสี

ลีลาการแต่งไพเราะ เป็นที่นิยมขับร้องโดยทั่วไป เช่น
เสียดายขนงก่งริมที่ยักยวน            เสียดายเนตรน่าชวนเสน่หา
เสียดายปรางช่างเบือนกระบวนมา     ให้นาสาสูบรสรัญจวนใจ
เสียดายโอษฐ์เอื้อนคำให้กำหนัด         เสียดายกรสอดรัดกระหวัดไหว
เสียดายเต้าเคล้าคลึงอุราใน            เสียดายในน้ำใจทุกสิ่งอัน
รื่นรื่นชื่นจิตพี่จำได้                เหมือนเมื่อไปร่วมภิรมย์สมศรี
ในสภาพพิมานฉิมพลี                กลิ่นชาบทรวงพี่ไม่เว้นวาย
นิจจาเอ๋ยจากเชยมาเจ็ดวัน            กลิ่นสุคนธรสรื่นก็เหือดหาย
ฤาว่าใครแนบน้องประคองกาย        กลิ่นสายสวาทซาบอุมามา

มหาเวสสันดรชาดก
กัณฑ์กุมารและมัทรี
เจ้าพระยาพระคลัง(หน)เป็นผู้แต่ง เพื่อใช้เทศน์เผยแพร่ทางศาสนา เป็นเรื่องมหาเวชสันดรชาดก ดูเหมือนแพร่ทางศาสนา เป็นเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ดูเหมือนว่ากัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี จะเป็นที่นิยมของคนฟังเป็นอันมาก จึงได้เลือกสรรค์แต่งขึ้น มีพรรณนาโวหารทำให้เกิดภาพพจน์ ดึงดูดจิตใจคนฟังเทศน์ให้เศร้าสลดตามไปด้วย

แม้จะพรรณนาถึงความงามในอาศรมศาลาของพระเวสสันดร ก็พรรณนาเอาไว้อย่างน่าฟังว่า

อิเม เต ธมฺพุกา รุกฺขา

ควรจะสงสารเอยด้วยต้นหว้าใหญ่ใกล้อาราม งามดิ้ยกิ่งก้านประกวดกัน ใบชะอุ่มประชุมช่อ เป็นฉัตร ชั้นดึงฉัตรทอง แสงพระจันทร์ดั้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังให้หยดย้อย เหมือนหนึ่งนํ้าพลอยพร้อยๆ อยู่พรายๆ ต้องกับแสงกรวดทราย ที่ใต้ดินอร่าม วาม วาว ดู เป็น วน วงแวว ดั่งบุคคลเอาแก้วมาระแนง แกล้งมาปรายโปรยโรยรอบ ปริมณฑลก็เหมือนกัน งามดังปาริชาติ ในเมืองสวรรค์มาปลูกไว้”

ฟังแล้วทำให้เกิดภาพพจน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ ยามราตรีที่มีน้ำค้างหยดย้อย และต้องแสงจันทร์สาดส่องเป็นประกายดุจเพชรพลอยอันแวววาว    ยังมีโวหารที่ไพเราะจับใจอีกมาก ในมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร และนางมทรี

ลิลิตพระยาศรีวิชัยชาดก
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นผู้แต่ง ลักษณะเป็นร่ายสุภาพ ตามด้วยโคลงสี่สุภาพ โคลงดั้นวิวิธมาลี แทรกบ้าง

ความมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อเป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาสอนคน และเพื่อแผ่กุศลให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน สืบเนื่องมาจากนิทานชาดก จับตอนพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพระศรีวิชัย พระองค์ได้ทรงเลี้ยงนก ชื่อสุรเสน นกตัวนี้ฉลาดพูดภาษาคนได้ และได้ปล่อยให้ไปสืบราชการในเมืองต่างๆ
นกได้นำความมากราบทูลว่า พระนางศรีไวยกา ธิดาของกษัตริย์วิรัฐนคร    มีพระสิริโฉมอันงดงามมาก พระองค์จึงส่งราชทูตไปสู่ขอ แต่พระราชบิดาไม่ยอมยกให้ และตรัสว่า ต่อเมื่อได้พระศรีวิชัยเหาะไปจึงจะยกให้

พระศรีวิชัย จึงทำพิธีบวงสรวง แล้วเทพเจ้าก็อุ้มสม ได้นางศรีไวยกามาเป็นพระชายา

ตอนบทอุ้มสมนี้ คล้ายกับอุณรุทคำฉันท์ และวรรณคดีโบราณหลายเรื่องที่นิยมแต่งในสมัยนั้น บทอุ้มสม เช่น

“…พิศภูธรงามถงาด เหนือรถราชเรียบพล ดูดำ กลแก่นนคร เหตุใดหนอมาสรวง สรรพ มิกปวงสมโภช เสียงคฤโฆสเนียรนาทฤาว่าท้าวพรหมมาศครรไลย ใยมิมีราชวิหคหงษ์…”

จะเห็นได้ว่าเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้ฝากผลงานอันเป็นวรรณคดีที่ดีเด่นไว้หลายเรื่อง แต่ละเรื่องก็ได้รับความนิยมตลอดมาจนทุกวันนี้

ไตรภูมิโลกวินิจ
ของเดิมเป็นอักษรขอมจานใบลาน ทั้งหมด ๕๙ ผูก รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระธรรมปรีชา (แก้ว) ชำระจากของเดิม ร่วมกับคณะราชบัณฑิต

พระธรรมปรีชา (แก้ว) นี้ เป็นคนเมืองพิจิตร มาเมื่อตอนปลายกรุงศรีอยุธยา ได้บวชเรียนมีความรู้แตกฉานในเรื่องพระพุทธศาสนา เมื่อสึกออกมาได้รับราชการ เป็นอาลักษณ์มาตั้งแต่กรุงธนบุรี จนถึงรัชกาลที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๑ ได้เป็นประธานในการชำระพระไตรปิฎก และแต่งไตรภูมิโลกวินิจฉัย ใน พ.ศ. ๒๓๔๕

ความมุ่งหมายตามพระราชโองการ ร. ๑ ก็เพื่อที่จะให้ใช้เทศน์สั่งสอนคน ทำนองเดียวกันกับไตรภูมิพระร่วง แต่รสโวหารไม่เหมือนกัน แต่งเป็นร้อยแก้ว มีภาษาบาลีขึ้นต้นคล้ายร่ายยาว

เนื้อเรื่องแบ่งเป็น ๔ ตอน คือ
๑. มนุสสกถา กล่าวถึงความพินาศของโลก การสร้างโลกใหม่ และสร้างที่อยู่ของมนุษย์
๒. นิรยกถา กล่าวถึงเรื่องราวในนรก
๓. เทวกถา กล่าวถึงเรื่องราวบนสวรรค์
๔. วิสุทธิกถา กล่าวถึงข้อธรรมที่พึงปฏิบัติ

เป็นสำนวนที่ไพเราะและถูกต้องภาษาบาลีสันสกฤต ยึดเป็นหลักการในการศึกษาเล่าเรียน มีคติเตือนใจว่า บัณฑิตนั้นไม่ควรจะมั่วสุม หรือคบค้าสมาคมกับคนพาล เช่น

ธรรมดาว่าไกรสรราชสีห์นี้    มีชาติอันสะอาด รังเกียจเอียดอาย อสุจิลามกยิ่งนัก เมื่อจะกัดเนื้อนั้น ถ้าเห็นเนื้อนั้น มีตัวอันแปดเปื้อนด้วยอสุจิโสโครกอยู่แล้วก็ละเสีย จะได้กัดก็หามิได้ มาตรแม้นจะเสียชัย ไม่ ควรที่จะยอมแพ้เลยก็ยอมแพ้ เพราะเหตุที่เกลียดแก่อสุจิ เยี่ยงอย่างมีมาแต่โบราณ….

เป็นคติเตือนใจของบัณฑิตได้เป็นอย่างดี

มหาชาติคำหลวง ทาณกัณฑ์
พระเทพโมลี (กลิ่น) นิพนธ์ เมื่อดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระรัตนมณี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๘

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมของเก่าที่หายไป ๖ กัณฑ์ จึงเป็นมหาชาติคำหลวง
ลักษณะ มีร่าย โคลง ฉันท์ ปนภาษาบาลี

เนื้อเรื่อง ตอนพระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนท์ แก่เมืองกลิงคราช ทำให้ประชาชนโกรธ พระเจ้ากรุงสญชัยจึงต้องเนรเทศพระเวสสันดรไปเขาวงกต

เพื่อเทศน์สั่งสอนประชาชนให้เข้าใจ และเลื่อมใสในพระพทธศาสนา

มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มหาพน
พระเทพโมลี (กลิ่น) นิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ทำนองร่ายยาวแทรกคาถาภาษาบาลี สำหรับเทศน์สั่งสอนประชาซน ซึ่งเป็นประเพณีนิยมของชาวไทย ซึ่งนับถือพุทธศาสนา

เนื้อความ ตอนชูชกเดินทางไปถึงอาศรมพระฤาษี ชื่ออัจจุดฤาษี ชูชกได้กล่าวเล่ห์กลจนทำให้ฤาษีหลงกล ชี้ทางให้ไปสู่เขาวงกต และพรรณนาธรรมชาติอันสวยงามของป่าหิมพานต์

ผู้นิพนธ์ได้บรรยายละเอียดละออ มีโวหารไพเราะดังเช่น

“…ครั้นแสงพระสุริยส่องระดม ก็ดูเด่นดังดวง ดาว วาว วาว แวบจะวาบวาบที่เวิ้งวุ้ง วิจิตรจำรัสจำรูญ รุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้น คัคนัมพรพื้นนภากาศ บ้างก็เกิดก่อ ก้อนประหลาดศิลาลาย แลละเลื่อมๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อม ก็ชะงุ้มซะโงกชง่อนผา ที่ผุดเผินเป็นแผ่นภูตะเพิงพัก…”

นับว่า พระเทพโมลี (กลิ่น) ได้นิพนธ์ด้วยโวหาร ถ้อยคำไพเราะ จนสมเด็จพระปรมานุชิต ฯ ทรงเว้นกัณฑ์นี้ไว้ คงจะเข้าพระทัยว่าของเดิมดีอยู่แล้ว

ที่มา:โฆฑยากร