การละเล่นเนื่องในวันสงกรานต์

เล่นสงกรานต์
พิธีกรรมเพื่อคลายเครียด
“ดูช้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหนาร้อน” – เสฐียร โกเศศ อ้างคติโบราณมาแล้วอธิบายว่า หน้าหนาวช้างกำลังตกมันอาละวาดมาก เพราะขาดสิ่งที่ต้องการจึงเกิดเป็นโรคประสาทอย่างรุนแรง  แต่เรื่อง “ดูสาวให้ดูหน้าร้อน” นี้เห็นจะเป็นด้วยเป็นฤดูหลังการเก็บเกี่ยว งานพิธีต่างๆ จะ ทยอยกันมีมาให้สนุกสนานรื่นเริง นับตั้งแต่งานพิธีเกี่ยวกับ วัดวาอารามงานแต่งงาน งานศพ และงานอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้สาวๆ มีโอกาสแต่งเนื้อแต่งตัวไปเที่ยวงานเหล่านั้นได้เต็มที่ไม่เหมือนฤดูอื่นที่ต้องทำงาน
งานพิธีที่สำคัญที่ทุกคนต่างรอคอยก็คือ “สงกรานต์” ซึ่งจะมีขึ้นในฤดูเดือนห้าเป็นประมาณ
ดังกล่าวมาในตอนก่อนแล้วว่าเดือนแรกของปีคือ “เดือนอ้าย” ซึ่งเป็นคติที่มีมาก่อน ส่วนที่ว่า “สงกรานต์” เป็นเรื่องของการขึ้นปีใหม่นั้นมาสมัยหลัง ดังนั้นในการเสนอการศึกษาครั้งนี้ไม่ผูกติดอยู่กับกรณีว่าจะเป็นปีใหม่หรือไม่เป็นปีใหม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่จะพิจารณา “สงกรานต์” ในแง่ของพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาของมนุษย์ที่เกิดขึ้นระหว่างเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวและเตรียมที่จะถึงฤดูการผลิตใหม่
กึ่งกลางของช่วงเวลาที่เสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวกับฤดูการผลิตใหม่นั้นประมาณว่าเป็นวันที่ร้อนจัดที่สุดด้วยเหตุทางธรรมชาติที่พระอาทิตย์โคจรมาใกล้โลกที่สุด ซึ่งต่อมาภายหลังมนุษย์จึงศึกษาแล้วตกลงว่าเป็นวันสำคัญทางสุริยคติ แล้วถือกันว่าเป็นการเปลี่ยนศกใหม่ แต่ความเป็นธรรมชาติ มิได้เปลี่ยนแปลงไม่ว่าชนชาติใดจะเรียกชื่อนั้นว่าวันอะไร หรือจะเป็นเทศกาลอะไร
แต่เพื่ออนุโลมให้เข้าใจง่ายขึ้นและไม่สับสน จึงจะเรียกพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาของมนุษย์นว่า“สงกรานต์” ตามที่เรียกกันในสมัยหลังๆ
ลักษณะสำคัญของพิธีกรรม “สงกรานต์” จะมีดังต่อไปนี้
๑. เซ่นสรวงบูชา เสฐียรโกเศศ บันทึกเรื่องนี้เอาไว้แล้วว่าเมื่อถึงวันสงกรานต์ มีพิธีบวงสรวงผีปู่ย่าตายายประจำหมู่บ้านซึ่งทางภาคอีสานเรียกว่า “ผีปู่ตา” ภาคเหนือ เรียกว่า “ผีปู่ย่า” และทางภาคใต้เรียกว่า “ผีตายาย” ต่อมา ก็กลายเป็นมีเรื่องของ “ผีประจำเมือง” ประเภท “ผีเสื้อเมือง” เข้าร่วมด้วย อันเป็นเหตุทำให้เกิดการละเล่นเกี่ยว กับผีอีกมากมาย
การทำพิธีกรรมนี้ก็คือนัดหมายกันนำอาหารหวานคาว ไปเซ่นสรวงสังเวยบูชากันที่ศาล หรือที่เรียกกันว่า “หอผี” ต่างครัวก็ต่างไป แล้วมีการบูรณะศาลหรือหอผีเพื่อขอความคุ้มครองและขอความอยู่เย็นเป็นสุขซึ่งหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงปลอดภัยจากผีนั้นๆ
๒. กินเลี้ยง เมื่อเสร็จพิธีกรรมในการเซ่นสรวงบูชาผีบรรพบุรุษต่างๆ แล้ว ก็มีการกินเลี้ยงร่วมกันโดยเอาอาหารที่นำมานั้นแบ่งปันกันกิน
๓. การละเล่น หรือการพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากเสร็จพิธีกรรมทั้งหมด ๒ ข้อแล้วก็จะเป็นการละเล่น ซึ่งจะได้แก่การสาดน้ำ ร้องเพลง และพิธีกรรมอื่นๆ ที่ต่อเนื่อง เมื่อคติพระพุทธศาสนาแพร่เข้ามา บทบาทของพระสงฆ์ก็จะมีส่วนสำคัญในพิธีกรรมเหล่านี้ทั้งหมด
การละเล่นที่แสดงออกในพิธีกรรมนี้จะมีอิสระเสรีสูงมาก เสฐียรโกเศศ จดเอาไว้ว่าผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในการเล่นสาดน้ำและเล่นมอมหน้า การสาดน้ำนั้นไม่จำเพาะแต่จะสาดกันเองระหว่างหนุ่มสาว หากสามารถ “ถือขันน้ำ เร่ขึ้นกุฏิเพื่อสรงน้ำหลวงพี่ด้วย ปะเหมาะหลวงพี่ไม่ทันรู้ตัว ได้ยินเสียงโครมครามเหมือนมีโจรขึ้นปล้น ยังไม่ทันรู้ว่าเรื่องอะไรก็พอดีถูกสาดน้ำเข้าโครมใหญ่ ดีมิดีที่นอนหมอนมุ้งถูกน้ำสาดเปียกหมด… ตอนนี้ไม่ใช่สรงน้ำพระ แต่เป็นเรื่องสาดน้ำพระ”
เรื่องสาดน้ำพระนี้มีเล่นกันในภาคอีสานแต่ก่อน กล่าวโดยสรุปว่าการเล่นสาดน้ำไม่มียกเว้นว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือเป็นใคร ผู้หญิงก็บุกรุกสาดน้ำพระได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องผิด (๒๕๐๐ : ๑๔๔) นอกจากนั้นยิ่งหนักขึ้นไปอีกก็คือการแห่พระสงฆ์ด้วยเกวียนโดย “ชาวบ้านช่วยกันตกแต่งเกวียน คาดผ้าสีแพรเป็นเพดานหลังคา และประดับประดาด้วยสิ่งต่างๆ ตามแต่จะเห็นงาม….แล้วนิมนต์พระสมภารเจาวัดหรือพระสงฆ์ที่นับถือขึ้นนั่งบนเกวียน มีขบวนแห่อย่างครึกครื้น เวียนประทักษิณอุโบสถสามรอบ แล้วก็ชักเกวียนไปยังที่ซึ่งจัดไว้ แต่ว่าไม่ได้ชักอย่างตรงไปตรงมา เขาเล่นชักเย่อกันด้วย โดยแบ่งพวกชาวบ้านออก เป็นพรรค บ้านเหนือ และพรรคบ้า,นใต้ หรือตลาดบ้านเหนือและตลาดบ้านใต้ พวกที่ชักล้วนเป็นคนหนุ่มคนสาวกำลังฉกรรจ์ทั้งนั้น ชกเย่อกันไป ชักเย่อกันมา ไม่ไปถึงไหน ลางทีนานตั้งชั่วโมงก็ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะกัน ถ้านานถึงเช่นนั้นก็ต้องหยุดพักเอาแรงกันเสียพักหนึ่ง แล้วจึงลงมือชักเย่อกันใหม่ต่อไป จนกว่าใครจะแพ้ลงข้างหนึ่ง ฝ่ายที่ชนะก็เต้นรำทำเพลงเยาะเย้ยฝ่ายที่แพ้อย่างสนึกสนาน
การเล่นสาดน้ำพระสงฆ์ก็ดี การนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นเกวียนแล้วเล่นชักเย่อก็ดี ไม่ถือเป็นบาป และไม่ถือเป็นผิด มิหนำซ้ำยังสามารถถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย บางทีก็ถึงขนาดกอดรัดฟัดเหวี่ยงเพื่อจับตัวพระสงฆ์ เรียกค่าไถ่ก็มี สำหรับ พระสงฆ์เอง ก็ถือเป็น สนุกไปกับฆราวาส โดยไม่ยึดว่าเป็นอาบัติ นอกจากนั้นแล้วการเล่นกันเองระหว่างหนุ่มสาวผู้เฒ่าผู้แก่ก็ถึงขนาดฉุดกระชากลากถูกันจนเสื้อผ้าขาดกระรุ่งกระริ่งไปทั้งหมด พวกผู้หญิงดูจะจงใจแก้แค้น ผู้ชาย หรือผู้หญิงมักจะเล่นสนุกกับผู้ชายมากกว่าจะเล่นกับผู้หญิงด้วยกันเอง บางทีพวกผู้หญิงก็รวมกลุ่มกันจับผู้ชายมาเล่นแผลงๆ ด้วยการมัดไว้กับต้นเสาเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นเหล้าหรือของกินต่าง ๆ สุดแต่จะหาซื้อได้ หากผู้ชายที่ถูกจับมัดเรียกค่าไถ่ไม่ยอมปฏิบัติตามสิ่งที่ผู้หญิงต้องการก็อาจจะถูกทำประจาน เป็นต้นว่า ถูกจับถอดเสื้อกางเกงล่อนจ้อนเปลือยกาย และอาจจะถูกทำพิเรนๆ กับของลับ ฝ่ายชายบางรายถึงขนาดเอาในสับปะรดซึ่งมีความหยาบจนสากมาแกล้งถูที่ของลับผู้ชายให้เจ็บปวด ผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวมีลูกมีผัวแล้วจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเล่นแผลงๆ เช่นนี้
จากการแสดงออกของมนุษย์ในเทศกาลสงกรานต์ เราจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นพิธีกรรมที่ต้องการเป็นขบถต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมของสังคม ทั้งนี้โดยได้รับการอนุมัติหรือได้รับการยอมรับจากสังคมแล้วที่จะแสดงอาการขบถนี้
อาการขบถ ในพิธีกรรม เนื่องในสงกรานต์นี้ จะมีลักษณะต่อต้านความสัมพันธ์ทางสังคมของคนที่เน้นความแตกต่างทางเพศ เน้นระบบอาวุโส และเน้นการเคารพนับถือพระสงฆ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในชีวิตประจำวันแล้วสังคมจะเคร่งครัดมากต่อการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการอบรมสั่งสอนว่าเป็นประเพณีต้องปฏิบัติตามหรือในภาษาปัจจุบันหมายถึงมรรยาททางสังคมนั่นเอง
จากการศึกษาบทบาท สถานภาพของผู้หญิงในสังคมไทยจะเห็นได้ว่ามีหลักฐานในอดีตยืนยันว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องทำงานหนัก รับภาระในครอบครัวมาโดยตลอดในขณะที่ผู้ชายมักจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีหรือมากกว่าถูกเกณฑ์เป็นทหารรับใช้ราชการ ผู้หญิงไทยจึงมีภาวะค่อนข้างกดดันที่ต้องรับภาระหลังการแต่งงาน ทั้งในการอบรมเลี้ยงดูลูก ทำมาหากิน และขณะเดียวกันฐานะทางสังคมของผู้หญิงกลับตกต่ำกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งจากอิทธิพลของพุทธศาสนา และแม้ว่าจากการเปรียบเทียบกับสังคม จีน-อินเดีย ผู้หญิงไทยจะมีสถานภาพสูงกว่าก็ตาม ความกดดันนั้นได้รับการผ่อนคลายและแสดงออกในวันสงกรานต์อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะด้วยการกินเหล้า เล่นการพนัน สนุกทั้งวันทั้งคืน ไม่สนใจงานบ้าน แสดงกิริยาก้าวร้าวข่มขู่ผู้ชาย การยอมให้ชายอื่นถูกเนื้อต้องตัวได้
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางสังคมอีก ๒ ด้านก็ได้รับการต่อต้าน ซึ่งแสดงถึงข้อขัดแย้งลึกๆ ในสังคมที่สมาชิกในสังคมเก็บกดไว้และแสดงออกในวันสงกรานต์ เช่น เด็กสามารถเล่นกับผู้ใหญ่ได้ ยั่วเย้าได้โดยไม่ถือว่าเป็นบาปเสียมรรยาทหรือเป็นการล่วงละเมิด และเช่นเดียวกับสถาบันสงฆ์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ชาวบ้านให้ความเคารพยกย่องและพึงปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเคารพก็ถูกต่อต้านด้วยพฤติกรรมที่ไม่คำนึงถึงข้อห้ามหรือความเหมาะสมที่ผู้หญิงพึงสำรวมต่อสงฆ์ เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องบาปกรรม ทั้งพระสงฆ์เองตามประเพณี ความเชื่อก็ต้องประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และมีข้อห้ามมากมายที่ไม่สมควรวิสาสะกับผู้หญิง แต่ในวันสงกรานต์ กฎเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ ได้รับการอะลุ้มอล่วยให้ ละเมิดได้ พระสงฆ์สามารถเล่นกับสีกาหรือชาวบ้านได้ โดยไม่ถือว่าอาบัติ ถือเป็นการผ่อนคลายความเครียดเพื่อให้สามารถกลับไปอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่อไปได้
พิธีกรรมที่แสดงออกในรูปการละเล่นในวันสงกรานต์ จึงเป็นพิธีกรรมที่ต่อต้านข้อห้าม ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดไว้ โดยเฉพาะระหว่างความสัมพันธ์ของผู้หญิง-ผู้ชาย, ผู้น้อย-ผู้ใหญ่ และพระสงฆ์กับฆราวาส เป็นการต่อต้านที่ไม่เพียงเป็นที่ยอมรับจากสังคมเท่านั้น ยังได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติอีกด้วย
พฤติกรรมทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงข้อขัดแย้งในสังคม ระหว่างสัมพันธภาพของกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นได้ และได้รับการผ่อนคลายหรือแสดงความกดดันออก เพื่อที่ความกดดันหรือความไม่พึงใจต่อสถานภาพ และบทบาทของบุคคลในสังคมจะไม่ถูกสะสมจนถึงขั้นที่เกิดการขัดแย้งอย่างแท้จริง เพราะการขัดแย้งที่แสดงออกในวันสงกรานต์ถูกพรางด้วยความสนุกด้วยเหตุนี้จึงน่าเป็นข้ออธิบายได้ว่า เหตุใดการละเล่นส่วนใหญ่จึงมีความรุนแรงก้าวร้าว ล่วงละเมิดกฎเกณฑ์ประเพณีที่เคยปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างเห็นได้ชัด พิธีกรรมที่ขบถต่อระเบียบทางสังคมนี้นับว่าเป็นพิธีกรรมที่มีบทบาททางสังคมอย่างยิ่ง ในแง่ที่ทำให้ความกดดันและความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายระบายออก เพื่อสังคมจะสามารถกลับไปสู่ภาวะปกติสุขเช่นเดิมได้อีก พิธีกรรมดังกล่าวนี้ไม่เพียงปรากฏในสังคมไทย แต่พบปรากฏในกลุ่มสังคมดั้งเดิมหลายเผ่าพันธ์ที่สังคมเน้นความแตกต่าง ของเพศชาย เพศหญิง ที่สถานภาพของผู้หญิงถูกกดว่าต่ำกว่าชายและในกลุ่มที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ให้อิสระแก่ปัจเจกชนอย่างจำกัด พิธีกรรมดังกล่าวจึงทำหน้าที่ผ่อนคลายปัญหาต่างๆ ในแง่ความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงก็เพื่อรักษาดุลย์ของสังคมให้อยู่โดยปกติสุขนั่นเอง
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาเพื่อคลายความเครียด หรือผ่อนคลายความกดดันในโอกาสสำคัญของช่วงเวลาดังกล่าวมาเช่นนี้ ไม่จำเพาะแต่ที่ปรากฏในสังคมไทย-ลาว เท่านั้น หากยังพบในกลุ่มชนอื่นๆ ที่มีสภาพสังคมลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย
จากการศึกษาพิธีกรรมของชนเผ่าซูลูในอัฟริกา แมกซ์ คลักมาน (Max Gluckman) เรียกพฤติกรรมนี้ว่า “พิธีกรรมที่เป็นขบถ” (ritual of rebellion) เพราะในสังคมของพวกซูลูมีความเชื่อว่าผู้หญิงมีอำนาจที่ชั่วร้ายสิงอยู่ และพร้อมกันนั้นก็มีอำนาจฝ่ายดีอยู่ในตัวเองด้วย (ตรง ข้ามกับผู้ชายเพราะผู้ชายไม่มีอำนาจที่ชั่วร้ายมาขัดแย้งอยู่) ตัวอย่างเวลาผู้หญิงมีประจำเดือน จะมีอันตรายต่อนักรบ พืช และวัว¬ควายที่เลี้ยงไว้ ถ้าหากให้ผู้หญิงเข้าใกล้หรือจับต้องในช่วงนี้ ผู้หญิงอาจกลายเป็นผีปอบทำร้ายผู้ชายได้ แต่ประจำเดือนของผู้หญิงก็มีคุณตรงที่ทำให้เกิดเด็กๆ ได้
การตั้งครรภ์ของผู้หญิงมีผลทางไสยศาสตร์ ต่อสังคม คือทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นสำหรับชาวอัฟริกันแล้วเห็นว่าความเป็นผู้หญิงเป็นทั้งผู้ให้กำเนิดวงศ์ตระกูล (ในฐานะภรรยาเป็นผู้ให้กำเนิดทารกที่จะสืบสกุลทางสามี) และเป็นทั้งจุดจบของวงศ์สกุล (ในฐานะลูกสาวที่นำจุดจบมาสู่วงศ์สกุลของบิดา) ข้อขัดแย้งเหล่านี้จะแสดงออกเฉพาะในช่วงเวลาหนึ่งของปี เมื่อจะเริ่มมีการเพาะปลูกที่ผู้หญิงจะได้ รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์แก่พืชผลและสังคม
ในพิธีกรรมผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชาย ถือหอกไล่ต้อนควายและวัว รีดนมวัวได้ ในขณะที่ยามปกติงานเหล่านี้เป็นของต้องห้ามของผู้หญิง และในบางช่วงของพิธีกรรม พวกผู้หญิงเด็กสาวจะเปลือยกายและตะโกนร้องเพลงหยาบๆ พวกผู้ชายต้องซ่อนตัวเองอยู่ในกระท่อมไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะอาจถูกพวกนี้จับหรือโจมตีเอาได้
คลักมาน เชื่อว่าพิธีกรรมนี้เป็นเสมือนเครื่องระบายความเครียดของผู้หญิงที่ถูกกดในสังคม และเป็นสิ่งที่สังคมได้หาทางออกเตรียมเอาไว้ให้โดยผ่านพิธีกรรม ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็มีจุดหมายเพื่อความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของสังคม ทั้งนี้เพราะหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรมนี้แล้ว ผู้หญิงก็จะกลับไปมีสถานภาพดังเดิม
ลักษณะของ “พิธีกรรมที่เป็นขบถ” มิได้มีเพียงเท่าที่กล่าวมาแล้วนี้เท่านั้น หากยังมีอีกลักษณะหนึ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
ในสังคมของชนเผ่าสวาสี (Swasi) มีพิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยวอันถือว่าเป็นพิธีกรรมระดับชาติที่มีเป้าหมายหรือศูนย์รวมอยู่ที่ความเป็น “กษัตริย์” พิธีกรรมนี้จะแสดงออกมาในรูปของการละเล่น ที่เกี่ยวกับการร้องเพลง กล่าวคือ เนื้อหาของเพลงที่ร้องออกมาจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเกลียดชังและต่อต้านกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ แต่เพลง เหล่านี้ก็มีโอกาสนำมาร้องและเล่นได้เฉพาะเนื่องในโอกาสที่มีพิธีกรรมช่วงเวลานี้เท่านั้น และถือเป็นเพลงการละเล่นที่ศักดิ์สิทธิ์
บทบาทของการละเล่นเพลงอีนเกี่ยวเนื่องในพิธีกรรมดังกล่าวก็เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งภายในสังคมของพวกสวาสี ซึ่งเป็นชนเผ่าที่อยู่ทางตอนใต้ของอัฟริกา และมีระบบกษัตริย์ที่ค่อนข้างมีอภิสิทธิ์มาก ดังนั้นจึงมีความกดดันทางสังคมสูง เพราะมีความเหลื่อมล้ำมากจนเห็นได้ชัดเจน
เมื่อได้ทำพิธีกรรมประจำปีนี้แล้ว ชาวสวาสีจะรู้สึกว่าตนได้ระบายความไม่พึงพอใจออกมาทั้งหมด การละเล่นที่แสดงออกมาทางเพลงซึ่งมีส่วนได้ตะโกนบริภาษกษัตริย์ ทำให้ชาวสวาสีเกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจว่าแท้ที่จริงแล้วการเป็นกษัตริย์ไม่ได้สบายนัก ทำให้ความรู้สึกกดดันผ่อนกลายลงไป ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นขบถต่อกัน ก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ กล่าวคือชาวสวาสียังคงมีความจงรัก
ภักดีต่อกษัตริย์เหมือนเดิม ทำให้สังคมเกิดความสงบสุข และดำเนินวิถีชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่เกิดจลาจล ทั้งยังมีความเชื่อร่วมกันอีกว่าพิธีกรรมนี้จะนำความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงมาสู่ประเทศของตน
ขณะนี้ยังไม่มีตัวอย่างในอดีตหรือปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสังคมในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันที่จะแสดงออกให้เห็นดังชนเผ่าสวาสี แต่ในสังคมชนชาติไทย-ลาวเผ่าหนึ่งที่ “เสฐียรโกเศศ” บันทึกเอาไว้นั้นค่อนข้างจะให้ภาพที่ใกล้เคียง ถึงกระนั้นก็ไม่ควรด่วนสรุปว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน หรือมีความหมายอย่างเดียวกัน ดังจะคัดมาเสนอไว้ประกอบการพิจารณาต่อไปดังนี้
เสฐียรโกเศศ บันทึกเอาไว้ตอนหนึ่งถึงเรื่องวันสงกรานต์ที่แคว้นเชียงตุงว่า ประเพณีสงกรานต์ของแคว้นนี้ เจ้าฟ้าเชียงตุงจะต้องออกขุนนางประทับนั่งขัดสมาธินิ่งคล้ายพระพุทธรูปอยู่บนอาสนะ พวกขุนนางก็เข้าเฝ้าถวายบังคมโดยลำดับ เสร็จแล้วเจ้าฟ้าก็อวยพร เมื่ออวยพรเสร็จประตูด้านหลังที่นั่งก็ค่อยแย้มออก เจ้าฟ้าเชียงตุงจะเสด็จหายลับเข้าไปในประตู ทันใดนั้นพวกข้าราชการซึ่งเฝ้าอยู่อย่างสงบเสงี่ยมต่าง ก็ลุกขึ้นอย่างขมีขมัน เพื่อแย่งกันหนีออกจากที่เฝ้าอย่างสับสนอลหม่าน เหตุที่ต้องต่างหนีกันเช่นนั้นก็เพราะขณะนั้นเองมีพวกราษฎรยกพวกแห่กันมาเพื่อสาดน้ำสงกรานต์
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการละเล่นในพิธีกรรม เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดอีกอย่างหนึ่งก็คือการละเล่นละครนอกอันเป็นการละเล่นของสามัญชนชาวบ้านเท่านั้น
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมท แสดงเรื่องราวของละครนอกเอาไว้ในหนังสือ “นาฏศิลป์ไทย” มีข้อความตอนหนึ่งว่าละครในเล่นเรื่องอุณรุท-รามเกียรติ์-อิเหนา ๓ เรื่อง นี้เท่านั้น บทละครในทั้ง ๓ เรื่องนี้ท้าวพระยามหากษัตริย์ เป็นตัวเอกทั้งสิ้น และบทละครก็แต่งไปในทางยกย่องส่งเสริม ท้าวพระยามหากษัตริย์ที่เป็นตัวเอกนั้น ไม่มีตอนใดเลยในบทละครที่จะทำให้มองเห็นไปว่าหมิ่นหรือมองเห็นท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลก เป็นการยกย่องสรรเสริญโดยตลอดเพราะเป็นที่เล่นในพระราชฐาน แต่ละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่นดูกันนั้นท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาวสารพัด ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุกฏในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็นตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละครนอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็รักษาลักษณะของละครนอกไว้ครบถ้วน
การละเล่นอย่างละครนอกที่ผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการทำให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นตัวตลกเช่นนี้ เราอาจจะต้องตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมให้พิจารณาการละเล่นเล่านิทานที่เกี่ยวกับ เรื่อง “ศรีธนญชัย” ได้อีกด้วยว่าเป็นการละเล่นที่ผ่อนคลายความเครียดของมนุษย์ในสังคมได้จริงๆ
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาที่แสดงออกด้วยการละเล่นเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคม ในขณะเดียวกัน ก็เพื่อ “บงการ” ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคง ในสังคมนั้น ยังปรากฏเรื่องราวตามที่เสฐียรโกเศศอธิบายว่าทำได้โดยการเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปหญิงชายกอดกันกลม เรียกว่า “ปั้นเมฆ” เอาไปวางไว้ในที่ต่างๆ เช่น กลางท้องนา เพื่อให้เทวดาเล็งทิพยเนตรลงมาเห็นรูปหญิงชายกอดกันก็เกิดการกระตุ้นเร้าใจบันดาลให้ฝนเทลงมาๆ (เรื่อง “ปั้นเมฆ” มีปรากฏในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ใน “วัฒนธรรมหลวง” ด้วย) และเพื่อให้แน่ใจเพราะเกรงว่าเทวดาจะไม่เห็นจึงต้องมีการจุดบั้งไฟให้ดังกึกก้องสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า เทวดาจะได้มองลงมาบนพื้นโลก ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็จะพากันร้องรำทำเพลงต่างๆ เช่น แห่นางแมว เซิ้ง ตลอดถึงเพลงที่ล้วนแล้วแต่แสดงความหยาบคาย รวมทั้งการแสดงกิริยาอาการที่ปกติแล้วจะไม่ทำกันออกมา เมื่อเทวดาเห็นเข้าจะได้ทนไม่ไหวจึงต้องส่งน้ำฝนลงมาบนพื้นโลก เรื่องความหยาบคายนี้มีถึงขนาดคนแก่คนหนุ่มสาวแสดงการร่วมเพศในขบวนแห่อย่างนางแมวเพื่อให้ผู้คนที่พบเห็นเอาน้ำสาดก็มี และไทยอาหมในแคว้นอัสสัมมีตระกูลที่จะต้องทำพิธีขอฝนด้วยการแก้ผ้าเปลือยกายล่อนจ้อนไต่เชือก ปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านแล้วประกาศคำขอฝน
ด้วยเหตุที่เป็นช่วงเวลาของการพิธีกรรมเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของสังคม และเพื่อความอุดมสมบูรณ์รวมทั้งความมั่นคงดังกล่าว บรรดาของอุจาดลามกทั้งหลายจึงมีโอกาสนำออกมาแสดงตอบโต้เป็นการละเล่นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการ พูดจาหรือร้องรำทำเพลง อย่างการละเล่นเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองทั้งหลาย เช่น เพลงฉ่อย เพลงโคราช และเพลงหมอลำ เป็นต้น ดังนั้นเหตุที่มาของการร้องเล่น ตอบโต้กันอย่างหยาบๆ และเผ็ดร้อนหรือที่เรียกกันว่า “แดง ๆ” ด้วยเรื่อง “สี ๆ” นั้น มิได้เป็นเพราะความเป็น “ไพร่” หรือชั้นต่ำอย่างที่เข้าใจกันมาแต่เดิม และทั้งไม่น่าจะเป็นปมเพศที่ถูกเก็บกด
ในสังคมฮินดูของประเทศอินเดีย มีพิธีกรรมโหลี ในวันโหลีที่ผู้คนจะแสดงการร้องรำ ทำเพลงที่หยาบโลนเป็นลามกอนาจารด้วย รวมทั้งมีการแสดงท่าร่วมเพศและกล่าวคำหยาบคายเท่าที่อยากจะกล่าวตะโกนโดยไม่มีใครรังเกียจ แต่เขาก็ผูกนิทานอธิบายพิธีกรรมนี้ขึ้นมาว่าการร้องเพลงหยาบคายนั้นเพื่อขับไล่นางยักษ์ผู้ที่ทำให้เกิดโรคระบาดหนีไป เรื่องนี้มิได้หมายความว่าการร้องรำทำเพลงประเภทพื้นบ้าน พื้นเมืองของไทยที่ด่าทอกันและอวดอวัยวะเพศกันนั้นจะต้องได้คติมาจากอินเดีย หากนำมาแสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบชี้ให้เห็นว่ามนุษย์อาจจะมีแนวคิดที่พ้องกันหรือมีการติดต่อกันอย่างเหนียวแน่นได้
ลักษณะการแสดงความก้าวร้าวอย่างรุนแรงเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของมนุษย์ในสังคมนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งคือ การละเล่นต่อสู้กัน ดังจะเห็นร่องรอยความเก่าแก่ที่อยู่ในสังคมมาแต่โบราณในกฎมณเฑียรบาลที่พระเจ้าแผ่นดินตราขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ซึ่งย่อมเป็นประจักษ์พยานว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และร่องรอยอันนี้มีอยู่ใน “วัฒนธรรมหลวง” ดังนั้นจึงจะ ต้องพักตัวอยู่ใน “ประเพณีราษฎร์” เป็นเวลาช้านานก่อนหน้าที่จะติดตามเข้ามาเป็น “ประเพณีหลวง”
กฎมณเฑียรบาล – เริ่มต้นกล่าวถึงงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์โดยระบุว่าเป็นพระราชพิธีเดือนห้า แต่มิได้กำหนดชื่อเรียก “สงกรานต์” และไม่มีข้อความตอนใดเกี่ยวข้องกับลักษณะ “สงกรานต์” ที่เกี่ยวกับการสาดน้ำ หากระบุรายละเอียดตั้งการพระราชพิธีออกสนามใหญ่เพื่อจัดให้มีพิธีกรรม
พิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาในพระราชพิธีเดือนห้าของกษัติริย์กรุงศรีอยุธยาจะเริ่มต้นด้วยการรัวกลองมโหรทึก และจับระบำ ต่อด้วยการละเล่นโมงครุ่ม ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จจออกเพื่อทรงเป็นประธานในพิธีกรรมนี้ จึงเริ่มการละเล่นล่อช้าง (เถื่อน) แข่งเกวียนเทียมวัวหรือมิฉะนั้นก็ชักเย่อวัวเทียมเกวียน จากนั้นจึงถึงรายการชนควาย ชนแรด ชนช้าง หัวล้านชนกัน ตีไก่ ต่อยมวย ตีคลีขี่ม้า การละเล่นต่อสู้ด้วยอาวุธ ฯลฯ
เสร็จการละเล่นหน้าพระที่นั่งชุดนี้แล้ว การละเล่นชุดที่สองก็ออกมาหลังจากตระเตรียมการพิธีปรับปรุงสนามใหญ่ให้เรียบร้อย
ชุดที่สองนี้จะเริ่มด้วยล่อช้างล่อม้าที่เป็นพาหนะแล้ว การละเล่นระเบงซึ่งเป็นการแสดงอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยการร่ายรำสั้นๆ แล้วจึงมีรำดาบตามด้วยโมงครุ่มอีก จากนั้นเป็นการละเล่นกุลาตีไม้ พุ่งหอก ยิงธนู เล่นแพน (หางนกยูง) บนที่สูง ตลอดถึงการเล่น (กระโดด) ลอดบ่วงและไต่เชือกหนัง ฯลฯ
จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการละเล่นชุดแรกเป็นเรื่องของความก้าวร้าวรุนแรง โดยแสดงออกมาในรูปสัญลักษณ์ของการต่อสู้อย่างรุนแรง (ลาลูแบร์ ได้ชมการละเล่นชุดนี้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และมีบันทึกว่าการละเล่นเหล่านี้ของชาวสยามไม่รุนแรงเท่าที่ควร แสดงให้เห็นว่าเป็นการละเล่นในพิธีกรรมถือเอาเป็นสมมติหรือเอาเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความรุนแรงเท่านั้น)
ส่วนชุดที่สองซึ่งจะเล่นหลังจากชุดแรกนานพอสมควร โดยมีพิธีกรรมอย่างอื่นมาขั้น
การละเล่นชุดที่สองมีลักษณะของการทำมาหากินอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการดีเกราะเคาะไม้ที่เล่นออกมาในรูป กุลาตีไม้ การพุ่งหอก การยิงธนู และเล่นแพนเพื่อต้อนสัตว์ ฯลฯ สะท้อนให้เห็นอาชีพล่าสัตว์ทั้งสิ้น การละเล่นชุดนี้เป็นเรื่องของพิธีกรรมที่ขอความอุดมสมบูรณ์และความปลอดภัยมั่นคงในชีวิตและสังคม
การละเล่นเหล่านี้มีประชาชนล้อมวงมุงดูด้วยความสนุกสนานที่ได้จากพิธีกรรมในส่วนนี้ทำให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียดในอีกลักษณะหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเรื่องของการได้ดูการละเล่นของราชสำนัก แต่ท้ายที่สุดก็จะต้องมีการละเล่นที่จัดสำหรับพิธีกรรมขอความ อุดมสมบูรณ์ ในการประกอบอาชีพทำมาหากินและความมั่นคงของชีวิตและสังคม
ดังกล่าวมาแล้วว่าการละเล่นที่ปรากฏในกฎมณเฑียร บาลนี้เป็นประเพณีหลวงแล้ว แต่ร่องรอยที่เหลืออยู่เราย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ามีพื้นฐานมาจากสังคม แบบชนเผ่าดั้งเดิมที่มีอาชีพล่าสัตว์หรือการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งรองรับมาก่อน ที่น่าประหลาดก็คือการละเล่นเหล่านี้มีปรากฏสืบมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยมีการเพิ่มเติมการละเล่นที่คล้ายคลึงกันเข้าไปอีก เช่น กะตั้วแทงควาย เป็นต้น และการละเล่นบางชนิดเพิ่งสูญหายไปจากพิธีกรรมใน “ประเพณีหลวง” เมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ถึงแม้ว่าพิธีกรรมจริงจะไม่ใช้การละเล่นอย่างนี้แล้ว แต่การละเล่นชนิดนี้ก็ยังจดจำสืบทอดกันต่อมาโดยไม่ขาดสาย
ในหมายกำหนดการ พระราชพิธี เดือนห้าของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลดังได้ยกมาแล้วนั้น นอกจากการละเล่นอื่นๆ แล้ว การละเล่นที่เกี่ยวกับการประโคมดนตรีก็มีระบุอยู่ด้วย ดังข้อความตอนหนึ่งว่า “อินโทรตี อินทเภรี ศรีเกดตี ฆ้องไชย ขุนดนตรีตีหรทึก” ในรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปเกี่ยวกับดนตรีที่มี บทบาทสำคัญอย่างยิ่งในพีธีกรรมต่างๆ ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของดนตรีกับความเชื่อ ดนตรีที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโลกของมนุษย์กีบโลกอีนศักดิ์สิทธิ์ลึกลับตามความเชื่อทางศาสนา ดนตรีจึงมิได้มีความหมายเฉพาะเป็นเพียงเครื่องให้ความบันเทิงดังที่เข้าใจ
จากข้อความดังที่ยกมา จะเห็นว่าพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นทรงตั้งข้าราชการให้มีตำแหน่งประจำในการเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชนิด และที่ปรากฏตอนนี้อย่างน้อย ๓ ชนิด คือ กลอง ๒ และฆ้อง ๑
เครื่องดนตรีชนิดที่เรียกกันว่า กลองมโหรทึก (หรทึก) มีบทบาทสำคัญมากในการพระราชพิธี ซึ่งล้วนเป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนา และจะมีปรากฏทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องใช้ประโคมโดยเฉพาะในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จเข้าเสด็จออกขุนนางในกิจการต่างๆ มีหลักฐานทางเอกสารว่าใช้งานที่เกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์สืบมาอย่างน้อย ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
กลองมโหรทึกทำด้วยโลหะผสมประกอบด้วยทองแดง ตะกั่ว และดีบุก อย่างละมากน้อยตามเกณฑ์ของการหล่อโลหะซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “สำริด” และบางทีก็เรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “กลองสำริด” และทำด้วยการหล่อหลอมลงในแบบที่กำหนดไว้อันแสดงให้เห็นความก้าวหน้าทางเทคนิควิทยาของการหล่อหลอมโลหะด้วย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าว ว่ากลองมโหรทึกที่ใช้อยู่ในงานพิธีต่างๆ ทั้งในงานหลวง และงานราษฎร์เป็นกลองที่มีรูปกบโลหะตัวเล็กๆ อยู่บนหน้ากลองประจำ ๔ ทิศ บางลูกก็ทำกบซ้อนกัน ๓ ตัว และทางด้านข้างของตัวกลองมักทำช้างเดินตามกัน ๓ ตัว ตัวหน้าเขื่อง ตัวกลางย่อม และตัวหลังเล็ก เบื้องหลังช้างมีหอยโข่งหรือหอยทากเรียงกันไปอีก ๓ หรือ ๔ ตัว
เรื่องราวของกลองมโหรทึกมีรายละเอียดมากมาย นักโบราณคดีขุดค้นพบกลองชนิดนี้กระจายอยู่เกือบทั่วประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ประเทศจีนตอนใต้ลงมาจนทั่วแหลมทองก็พบเช่นเดียวกัน จากการค้นคว้ากล่าวว่ากลองมโหรทึกมีอายุเก่าที่สุดมาตั้งแต่สามพันปีมาแล้วโดยประมาณ และกระทั่งถึงทุกวันนี้รูปทรงและลักษณะสำคัญไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดเลย
ไม่จำเพาะแต่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรมของชนเผ่าไทย- ลาวเท่านั้น แต่กลองมโหรทึกมีความสำคัญต่อพิธีกรรมของชนเผ่าอื่นๆ เป็นจำนวนมากที่ใช้ตีกลองชนิดนี้เพื่อขับไล่ผีร้ายและแสดงความยินดีต่อความอุดมสมบูรณ์
เพราะกลองมโหรทึกมีรูปกบรูปเขียด ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพนธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของมนุษย์ยุคแรกเริ่มที่อาศัยอยู่อย่างเป็นชนเผ่า จึงกล่าวได้ว่ากลองชนิดนี้ใช้ในงานพิธีกรรม เพื่อความอุดมสมบูรณ์มาก่อน ในขณะเดียวกันก็ใช้ตีเพื่อขับไล่ผีร้ายที่จะมารังควานความสงบสุขเป็นการสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ให้แก่ ชุมชน และสังคมมนุษย์ที่รวมกันอยู่
ร่องรอย ของการขับผีร้ายเพื่อปัดรังควานความไม่ดีทั้งมวลให้ออกไปจากสังคมจึงยังคงปรากฏอยู่ต่อมาจนเมื่อกลายเป็น “ประเพณีหลวง” แล้วดังกรณีที่พระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะต้องเริ่มต้นด้วยการตีกลองมโหรทึกในทุกพิธีกรรม การเอาเสียงกลองมโหรทึก เพื่อขับไล่ผีร้ายนี้ต่อมากลายเป็นใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าดังปรากฏในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนที่ว่าด้วย “พิธีสัมพัจฉรฉินท์” โดยทางภาคใต้ที่นครศรีธรรมราชเรียก “พิธีไล่แม่มด” แต่ชาวไทยลื้อที่สิบสองพันนายังจำได้ว่าพิธีขับไล่ผีร้ายดังนี้เคยใช้กลองชนิดหนึ่งระดมตีเพื่อให้เกิดเสียงดังกึกก้องเหมือนเสียงปืน
นายธนิต อยู่โพธิ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของกลองมโหรทึกต่อพิธีกรรมทางศาสนาว่ารัชกาลที่ ๔ พระราชทานกลองมโหรทึกให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดบวรนิเวศ โดยให้เลขวัดมีหน้าที่ประโคม และรัชกาลที่ ๕ พระราชทานกลองมโหรทึกให้วัดเบญจมบพิตร ทั้งนี้ก็เพื่อประโคมเวลาพระภิกษุลงพระอุโบสถทำวัตรสวดมนต์
ใน “ประเพณีราษฎร์” เราจะเห็นฆ้องและกลองแขวนอยู่ประจำวัดในชนบทเป็นส่วนมาก บางวัดก็แขวนไว้ในศาลา แต่บางวัดก็สร้างหอกลองขึ้นโดยเฉพาะ และจะตีฆ้อง กลองขัดกันเป็นเวลานานประมาณหนึ่งชั่วโมงทุกวัน แต่ก่อนตีทั้งเช้าและเย็นเรียก “ยํ่ารุ่ง” และ “ย่ำค่ำ” ต่อมาตีเฉพาะตอนเย็นเท่านั้น และปัจจุบันไม่ค่อยมีตี การตีฆ้อง กลองในลักษณะเช่นนี้นั้นด้านหนึ่งก็ถือการบอกหมายกำหนด เวลา แต่อีกด้านหนึ่งนั้นหมายถึงการขับไล่ผีร้ายและให้เกิดศิริมงคลเพื่อความมั่นคงของชุมชน
การบรรเลงดนตรีของมนุษย์ชนเผ่า ยุคเริ่มแรกไม่ได้บรรเลงขึ้นมาโดดเดี่ยว หากมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นตีเกราะเคาะไม้ก่อนออกล่าสัตว์หรือเป่าใบไม้เพื่อเลียนเสียงสัตว์ในการเรียกสัตว์ ล้วนเป้นเรื่องของการทำมาหากินไปทั้งสิ้นโกร่งและเกราะที่ทำด้วยไม้ไผ่แล้วแขวนไว้ประจำบ้านหรือประจำหมู่บ้าน นอกจากเป็นเครื่องตีเพื่อเตือนสัญญาณก่อนที่จะประดิษฐ์ กลองแบบต่างๆ ขึ้นมาแส้ว ยังเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นเพื่อพิธีกรรมเกี่ยวกับผีอีกด้วย แม้เมื่อไม่นานมานี้เมื่อเกิด “ราหูอมจันทร์” คือ เมื่อเกิดจันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เป็นต้น ประชาชนจะตีเกราะเคาะไม้ด้วยความเชื่อว่าราหูจะได้คาย
เมื่อสังคมมีพัฒนาการขึ้นมา เครื่องดนตรีกลายเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จะใช้ติดต่อสื่อสารกับเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีสิ่งเหล่านี้จะมีอำนาจมาก กลองมโหรทึกก็สะท้อนลักษณะเช่นนี้ออกมาในรูปของการติดต่อกับผี และในขณะเดียวกันก็แสดงถึงความมั่งคั่งด้วยดังปรากฏคตินี้อยู่ในชนเผ่าต่างๆ หลีกฐานจากจารึกหลีกที่ ๒๑ ซึ่งพบที่ศาลเจ้าเมืองลพบุรี เป็นจารึกที่มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ กล่าวถึงการอุทิศสิ่งต่างๆ ให้กับศาสนสถานในเมือง ละโว้ (ลพบุรี) และในบรรดาสิ่งของที่อุทิศให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยผ่านศาสนสถานนั้นมีนางระบำ ๑ คน นักร้อง ๑ คน นักดีด ๑ คน นักสี ๑ คน โดยจารึกมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเพื่อให้ “ทำการรับใช้ของพระกัมรเดงอัญศรีบรมวาสุเทพ ทุกวัน” เรื่องนี้เราจะเห็นอย่างชัดเจนขึ้นมาอีกว่าการละเล่นดนตรีตลอดถึงการละเล่นร้องรำต่างๆ ได้มีส่วนสัมพันธ์อย่างสำคัญกับพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนาสืบต่อมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกไม่ขาดสาย
ลักษณะให้นักดนตรีนักร้องนักรำประโคมถวายเพื่อบำเรอรับใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนานี้มีปรากฏก่อนหน้านี้แล้วที่ภาพปูนปั้นที่ฐานศาสนสถานซึ่งขุดพบที่เมืองคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นรูปนักดนตรีและนักร้องจำนวน ๕ คนนั่งเรียงแถวกันประหนึ่งกำลังบรรเลงบำเรอถวายศาสนสถาน
ความเชื่อว่าอุทิศสิ่งต่างๆ ให้กับศาสนสถานหรือวัดวาอารามแล้วจะได้บุญได้กุศลสูงส่งนี้เป็นคติที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาตลอดในบ้านเมืองแว่นแควนและใกล้เคียง ดังนั้นเราจึงพบการทำจารึกเพื่อประกาศแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าใครเป็นผู้อุทิศสิ่งของผู้คนถวายวัดจึงมีอยู่มากมายในประเทศไทย ดังตัวอย่างจารึกหลักที่ ๑๐๖ ซึ่งพบที่วัดช้างล้อม (ร้าง) จังหวัดสุโขทัยอันเป็นเรื่องราวในสมัยกรุงสุโขทัยระบุถึงการออกบวช สร้างวัด แล้วอุทิศผู้คนสิ่งของให้กับวัดและมีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวว่าได้อุทิศ “พาทย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอันกลองสามอัน แตร สังข์ เขาควาย แต่งให้ไว้ถวายแก่พระเจ้า
เราจะเห็นว่านี้มิใช่การบริจาคเครื่องดนตรีให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปกองไว้เฉยๆ หากได้บริจาคผู้คนที่จะกระทำการละเล่นดนตรีและการละเล่นร้องรำเอาไว้ประจำวัดหรือศาสนสถานนั้นๆ ด้วย และมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำบำเรอกล่าวคือ บรรเลงและร้องรำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันนับเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางศาสนา บุคคลเหล่านี้จะมีหน้าที่นำเครื่องดนตรีมาเล่นและร้องรำในพิธีกรรมของชุมชนที่อยู่แวดล้อมวัดและศาสนสถานเหล่านั้นด้วย เช่น พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการขับไล่ผีร้ายและวอนไหว้ผีดีเพื่อความอุดมและมั่นคง พิธีกรรมที่เกี่ยวกับงานศพและอื่นๆ ตลอดถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบำบัดหรือรักษาโรค ฯลฯ การละเล่นเช่นนี้ในท้ายที่สุดก็มีพัฒนาการเป็นวงดนตรีแบบต่างๆ เช่น มังคละ ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนแถบพิษณุโลก พิจิตร กาหลอ ในภาคใต้ และ ตุ้มโมง ในกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่ากุยและถูกเรียกว่าส่วย แถบสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะวัดหรือศาสนสถานเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน หรือเป็นหลักของชุมชน บ้านเมืองในสมัยโบราณขยายกว้างขวางออกไปได้ก็ด้วยการอาศัยวัดและศาสนสถานตั้งชุมชนทั้งนั้น ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความกลมกลืนกันเพื่อความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อความมั่นคงรวมกัน
ทั้งนี้โดยมีการละเล่นอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพิธีกรรมของความ เชื่อศาสนา เป็นตัวโยงใยให้แสดงออกมาในรูปของสัญลักษณ์ต่างๆ นั่นเอง
เมื่อเรียกว่า “ดนตรี” นั้นหมายรวมทั้งที่เป็นการบรรเลงโดยไม่มีการร้องรับและทั้งที่มีการร้องรับขับลำนำคำคลอไปด้วย และทั้งหมดนี้จะทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับเทวดา หรือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทำให้ความเชื่อทางศาสนานั้นมีปรากฎการณ์ขึ้นจริงต่อหน้าต่อตาเดี๋ยวนั้นกรณีเช่นนี้จะพบได้ทุกครั้งที่มีการไหว้ครู เช่น ไหว้ครูโขน ละคร และ ดนตรีไทยของกรมศิลปากร หรือของกลุ่มอื่นๆ ก็ตาม พิธีกรรมเช่นนี้จะต้องบรรเลงดนตรีปี่พาทย์ เริ่มด้วยสาธุการเพื่อนมัสการพระพุทธเจ้า ต่อจากนั้นจึงมีการอัญเชิญเทวดาที่เป็น “ครูใหญ่” ด้านศิลปะชนิดนั้นๆ เทวดาแต่ละองค์จะมีเพลงประจำองค์อันเป็นที่รับรู้กัน เมื่อดนตรีเปลี่ยนเป็นเพลงใดเพลงหนึ่งก็จะหมายความว่าเทวดาองค์นั้นๆ กำลัง เสด็จเข้ามาสู่บริเวณพิธี เพลงบางเพลงใช้เวลาบรรเลงนานเพราะเป็นเพลงยาว แต่เพลงบางเพลงใช้เวลาบรรรเลงน้อยเพราะเป็นเพลงสั้น นั่นก็จะหมายความถึงการติดต่อสื่อสารที่แสดงให้เห็นถึงความยากง่ายด้วยทั้งแสดงให้เห็นความขลังศักดิ์สิทธิ์ด้วย
จากการศึกษาภาคสนามในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีการไหว้ครูหรือเข้าทรงตามพิธีกรรมของ “ประเพณีราษฎร์” ต่างก็มีความคล้ายคลึงกันกับ “ประเพณีหลวง” ที่กล่าวมา ดังที่เห็นจากพิธีลงข่วงซึ่งสมาชิกที่เคยรักษาอาการป่วยต่างๆ ด้วยการเข้าทรงผีฟ้าซึ่งมีอยู่ทั้งหมดในหมู่บ้านจะมาร่วมกันทำพิธีไหว้ครูผีฟ้า ในพิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่หัวค่ำไปจนเกือบสว่าง สมาชิกที่ร่วมไหว้ครูผีฟ้าจะร่วมกันร่ายรำโดยมีเสียงแคนคลอตลอดเวลาและต่างก็มีความสนุกสนานเพลิดเพลินในพิธีกรรมนี้ แต่เมื่อเสร็จสิ้นพิธีนี้แล้ว ทุกคนจะบอกว่าไม่รู้ว่าตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง
ความไม่รู้ตัวดังที่กล่าวอ้างมานั้น จะสอดคล้องกับความจริงที่ว่า โดยปกติแล้วต่างก็เป็นชาวไร่ ชาวนาแขนขาเก้งก้างและไม่เคยหัดรำมาก่อน แต่เมื่อเข้าพิธีแล้วก็ให้เกิดความขลัง ยิ่งเมื่อเสียงแคนคลอขึ้นก็จะค่อยๆ เคลิบเคลิ้มขึ้น นั่นคือลักษณะที่เชื่อกันว่าผีฟ้าเข้าสิง อาการที่แสดงออกมาก็คือตัวอ่อนแขนอ่อนแล้วก็ร่ายรำเข้าทำนองเพลง และ จังหวะของเพลงได้ในที่สุด
การร่ายรำได้อย่างถูกต้องตามจังหวะจะโคนนี้ ชาวบ้านจะยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ผู้รำ เพราะรำไม่เป็น และไม่เคยหัดรำมาก่อน แต่ที่รำนั้นคือผีฟ้าต่างหาก
นี่คือตัวอย่างของการใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างโลก ที่ขลัง และศักดิ์สิทธิ์อันเต็มไปด้วยภูตผีวิญญาณ ให้มาปรากฏในโลกของความเป็นจริง
บทบาทของดนตรีเช่นที่กล่าวมานี้ มีปรากฏอยู่ในกลุ่มชนเผ่าไทย-ลาวเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย แม้ในกล่มชนเผ่าอื่นก็เช่นเดียวกัน ดังปรากฏในแถบอีสานใต้ที่จังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ ในขณะเดียวกันก็มีปรากฏในกลุ่มชาวมุสลิมทางภาคใต้ของประเทศไทย และแท้ที่จริงแล้วชนชาตอื่นๆ ก็มีอยู่ด้วยดังมีตัวอย่างในชนเผ่าเคอร์มีส (kurmis) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีภาษาพูดของตนเองเผ่าหนึ่งในเขตเบงกอลตะวันตกของประเทศอินเดีย กลุ่มชนเผ่านี้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำเพราะอยู่ในบริเวณแห้งแล้ง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและเป็นกำลังขวัญแก่กลุ่มชนๆ นี้จึงมีพิธีร่ายรำที่เรียกว่า chhau dance อันเป็นการละเล่นร่ายรำ สวมหน้ากากในพิธีกรรมขอฝนจากพระพิฆเณศวร์ ซึ่งจะต้องกระทำกันเป็นประจำทุกปี เครื่องดนตรีที่สำคัญสำหรับการร่ายรำอันสำคัญนี้ก็คือกลอง ที่จะต้องระดมตีกันอย่างรุนแรง และให้ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าดนตรีจะทำหน้าที่สื่อสารกับเทวดาหรือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และดนตรี จะทำหน้าที่สร้างโลกที่เต็มไปด้วยภูตผีวิญญาณให้ปรากฏเป็นความจริงขึ้นมาแก่ตา
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ