วันเข้าพรรษา

“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่เป็นประจำ แต่พอเข้าฤดูฝนถนนหนทางเป็นโคลนเลนทั่วไปหมด และทางเดินบางวันเข้าพรรษาสายต้องผ่านไร่นา ซึ่งเจ้าของเขาไถหว่านปลูกพืชทั่วบริเวณเสียแล้ว การเดินทางไม่สู้สะดวก จึงไม่มีใครไปไหนมาไหนโดยไม่จำเป็น เพราะเกรงจะเหยียบยํ่าเข้าไปในนาทำให้เกิดความเสียหาย พระพุทธองค์ทรงทราบดี จึงทรงตั้งระเบียบการจำพรรษาขึ้น ให้พระภิกษุสงฆ์หยุดพักการเดินทางระหว่างฤดูฝน กำหนดตั้งแต่วันแรม ๑ คํ่าเดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ รวมเวลา ๓ เดือนเต็ม เว้นแต่มีกิจธุระจำเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

ระหว่างเดินทางก่อนหยุดเข้าพรรษา หากพระภิกษุสงฆ์เข้ามาทันในหมู่บ้านหรือในเมืองก็จะหาที่พักพิงได้ตามสมควร แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม่ใหญ่เป็นที่พักแรม ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากเช่นนี้ จึงช่วยกันปลูกเพิง เพื่อให้ท่านได้อาศัยพักฝน รวมกันหลายๆ องค์ ที่พักดังกล่าวเรียกว่า “วิหาร” แปลว่าที่อยู่ของสงฆ์ เมื่อหมดหน้าฝนแล้ว พระสงฆ์ท่านก็ออกจาริกตามกิจของท่าน ครั้นถึงหน้าฝนใหม่ท่านก็กลับมาพักอีกเพราะสะดวกดี แต่บางท่านก็อยู่ประจำเลย เหตุประการสุดท้ายนี้เอง จึงมีการขยายตัวเป็นวัดหรืออาวาสขึ้น แล้วในที่สุดเมื่อเกิดพระพุทธรูป วิหารก็กลายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไป บางทีเศรษฐีมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็เลือกหาสถานที่สงบเงียบไม่ห่างไกลจากชุมชนนัก สร้างที่พัก เรียกว่า “อาราม” ให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นปัจจุบันนี้

โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระตามพุทธานุญาตให้มีประจำตัวนั้น มีเพียงอัฏฐบริขารอันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน และกว่าพระท่านจะหาที่พักแรมได้ บางทีก็ถูกฝนต้นฤดูเปียกปอนมา ชาวบ้านที่ใจบุญจึงถวายผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝนสำหรับให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน และถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันของท่านเป็นพิเศษในวันเข้าพรรษานับเป็นเหตุให้มีประเพณีทำบุญเนื่องในวันนี้สืบมา

การที่พระภิกษุสงฆ์ท่านโปรดสัตว์อยู่ประจำเป็นที่เช่นนี้ เป็นการดีสำหรับสาธุชนหลายประการ กล่าวคือ ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระพุทธบัญญัติก็นิยมบวชพระ ส่วนผู้ที่อายุยังไม่ครบบวช ผู้ปกครองก็นำไปฝากพระ โดยบวชเป็นเณรบ้าง ถวายเป็นลูกศิษย์รับใช้ท่านบ้าง ท่านก็สั่งสอนธรรม และความรู้ให้ และโดยทั่วๆ ไป พุทธศาสนิกชนนิยมตักบาตรหรือไปทำบุญที่วัด รับอุโบสถศีล ฟังธรรม ในวันพระ ตามความสมัครใจ เพื่อเป็นการขัดเกลาและตัดความกังวลทั้งหลายที่มีอยู่ให้เบาบางลง และเดี๋ยวนี้ยังมีเพิ่มจากนั้นบางประการ เช่น งดดื่มเหล้า หรือของเสพติดให้โทษ นับว่าเป็นประโยชน์แก่สังคม และแก่ตนเองที่ช่วยส่งเสริมจิตใจของคนให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี จึงสมควรแล้วที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมา

ที่มา:กรมศิลปากร