วันออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ คํ่าเดือน ๑๑ คำว่า “ออกพรรษา” คือออกจากการอยู่ประจำที่ในฤดูฝน หลังจากที่พระภิกษุอยู่จำพรรษาตลอดเวลา ๓ เดือนแล้วตักบาตรเทโว วันรุ่งขึ้นก็จะจาริกไปที่อื่นได้ สำหรับวันนี้พระสงฆ์ต้องแรมคืนอยู่ในวัดที่จำพรรษา เพื่อให้ครบกำหนด ๓ เดือนเต็มและทำปวารณาเสียก่อน ฉะนั้น อาจเรียกวันออกพรรษาว่า “วันปวารณา” หรือ วันมหาปวารณาก็ได้เหมือนกัน

โดยปรกติ พระสงฆ์ต้องสวดพระปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ คือสวดเป็นประจำทุก ปักษ์หรือทุกกึ่งเดือน หากวันนี้ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำปวารณาแทน

การทำปวารณานี้มีสาเหตุมาแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือ ระหว่างที่ภิกษุกลุ่มหนึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดในแคว้นโกศล ประสงค์จะป้องกันความวิวาท มิให้เกิดขึ้นแก่กันและกัน จึงตั้งกติกาสัญญาไม่พูดกันตลอดพรรษาใครมีกิจหรือหน้าที่อย่างไร ต่างก็ทำกิจตามหน้าที่ของตนๆ ไป การปฏิบัติเหมือนคนใบ้เช่นนี้ เรียกว่าวิธี “มูควัตร” ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี และกราบทูล มูควัตรที่ตนปฏิบัติให้ทรงทราบทุกประการ แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นการณ์ไกลกว่าจึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ปวารณาแก่กันและกัน

คำ “ปวารณา” โดยทั่วๆ ไปแปลว่า ยอมให้ใช้ ยอมให้ขอ ยอมให้ว่ากล่าว ในที่นี้หมายถึงยอมมอบตนให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือน ข้อผิดพลั้งของตนได้ ไม่มีทิฐิมานะ

การทำปวารณานี้ จะต้องเข้าประชุมพร้อมกันภายในสีมา ซึ่งเป็นเขตที่กำหนดไว้สำหรับกระทำสังฆกรรม พระสงฆ์ทั้งหมดนั่งคุกเข่าประนมมือพร้อมกัน ภิกษุผู้มีพรรษามากกว่าองค์อื่นจะเริ่มพิธี กล่าวคำปวารณาต่อสงฆ์เป็นภาษาบาลี ใจความว่า “ฉันขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นเองก็ดี ด้วยได้ฟังมาก็ดี ด้วยสงสัยก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวฉัน เมื่อฉันเห็นโทษนั้นจักทำการแก้ตัวเสีย” ครั้นแล้วภิกษุนอกนั้นก็กล่าวคำปวารณาตามลำดับพรรษาแก่อ่อนทีละรูป เว้นแต่พระผู้มีพรรษาเท่ากัน จะปวารณาพร้อมกันก็ได้

วิธีนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้ามิได้ทรงถือบุคคลเป็นใหญ่ แต่พระองค์ทรงถือธรรมคือความถูก ความควรเป็นสำคัญ เมื่อเห็นความไม่ดีไม่งามของกันและกันแล้ว ก็ทรงอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ทั้งนี้ก็เพื่อความบริสุทธิ์ของสงฆ์ ซึ่งยังผลให้เกิดความบริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนาด้วย

การมอบตนให้ผู้อื่นช่วยดู ช่วยฟัง ช่วยตักเตือนว่ากล่าวกันได้เช่นนี้ หากนำมาปฏิบัติในหมู่ฆราวาส ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันโดยหน้าที่การงาน การสมาคม หรือในฐานที่เป็นญาติกันก็ตาม ย่อมเป็นแนวทางให้ปรับปรุงตนเป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งยังช่วยป้องกันความเศร้าหมองอันอาจจะเกิดขึ้น นับว่าเป็นทางสร้างความสันติสุขแก่หมู่คณะทั่วหน้ากัน

บุญกุศลที่จะทำในวันออกพรรษามีหลายอย่าง เช่น ทำบุญ ตักบาตร จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาพระที่วัด รับศีล และฟังพระธรรมเทศนา เป็นการอบรมกาย วาจา ใจ ให้เกิดความสงบ ความบริสุทธิ์ขึ้นในตน นอกจากนี้ ยังมีกุศลกรรมพิเศษอีกอยางหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ คือ “ตักบาตรเทโว”

“เทโว” ย่อมาจากคำว่า “เทโวโรหนะ” ซึ่งแปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก หมายถึงการเสด็จจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงเทศนาโปรดประชาชนในแคว้นต่างๆ ของอินเดียตอนเหนือ ตั้งแต่เมืองราชคฤห์ เมืองพาราณสี เมืองสาวัตถี ตลอดถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นปิตุภูมิของพระองค์ ทรงเทศนาโปรดพระประยูรญาติทั้งหลายถ้วนหน้าแล้วทรงปรารถนาจะสนองคุณพระมารดาซึ่งหลังจากประสูติพระองค์ได้ ๗ วัน ก็สิ้นพระชนม์ และได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ฉะนั้นในพรรษาที่ ๗ หลังจากตรัสรู้พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดา อยู่พรรษาหนึ่ง ถึงวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ จึงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับเมืองสังกัสสะ ประชาชนพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรอย่างหนาแน่น

การตักบาตรเทโวนี้ บางวัดทำในวันออกพรรษา คือวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ คํ่า เดือน ๑๑ ทั้งนี้แล้วแต่ความตกลงร่วมใจทั้งทางวัดและทางบ้าน

พิธีที่ทำนั้น ทางวัดอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบก ซึ่งตั้งอยู่บนล้อเลื่อน มีบาตรขนาดใหญ่ใบหนึ่งตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป มีคนลากล้อเลื่อนไปช้าๆ นำหน้าพระสงฆ์ พระภิกษุสามเณรถือบาตรเดินตามไปโดยลำดับ พุทธศาสนิกชนต่างก็นำอาหารมาเรียงรายกันอยู่เป็นแถว ตามแนวทางที่รถบุษบกนั้นจะผ่าน เพื่อตักบาตร ของที่นิยมใช้ตักบาตรในวันนั้น นอกจากข้าวปลาอาหารธรรมดาแล้ว ก็มีข้าวต้มมัดไต้ และข้าวต้มลูกโยนเป็นพื้น บางทีก็อาจจะเป็นข้าวต้มมัดอย่างที่ทำขาย ทำรับประทานกันอยู่ก็ได้ โดยมากทำกันในบริเวณพระอุโบสถ แต่บางวัดทำในบริเวณวัดก็มี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสม

อนึ่ง การที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่เพียงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เนื่องจากมีพระประสงค์จะให้พระพุทธมารดาได้บรรลุโลกุตรธรรมอันเป็นธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้

ที่มา:กรมศิลปากร