การวิเคราะห์ความเชื่อในสังคมอีสาน

ประเพณี
จากการศึกษาเรื่องความเชื่อในสังคมอีสาน พบว่าชาวอีสานยังมีความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าศาสนาพุทธจะเข้าไปมีบทบาทในวิถีประชาของสังคมอย่างแท้จริงก็ตาม แต่ปรัชญาหรือหลักธรรมของศาสนาพุทธหาได้ลบล้างความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณในสังคมอีสานไม่ฉะนั้น เมื่อพิจารณาฮีตสิบสอง (คือจารีตที่จะต้องประพฤติปฏิบัติในรอบสิบสองเดือน) จะพบว่ามีจารีต หรือพิธีกรรมที่เนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอยู่ไม่น้อยกว่าพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ และยังพบว่าพิธีกรรมอันเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณไม่น้อยในภาคอีสาน ได้นำพระภิกษุมาร่วมพิธีอยู่ด้วย ซึ่งพระภิกษุชาวอีสานหาได้ปฏิเสธพิธีกรรมเนื่องด้วยผี ที่ชาวบ้านมาใช้วัด เป็นสถานที่จัดกิจกรรม และพระภิกษุก็เป็นผู้นำในการประกอบกิจกรรมเช่นการแห่บั้งไฟ (ใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการสร้าง ตกแต่งบั้งไฟ)
ฉะนั้นจะเป้นความเชื่อในเรื่องโลกและจักรวาลก็ดี การสร้างโลกก็ดี การกำเนิดมนุษย์ ตลอดจนพิธีกรรมในรอบชีวิตของบุคคล (เกิด แต่งงาน แก่ ตาย) มักจะวนเวียนอยู่ในความเชื่อเรื่องภูติผีซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณฝังแน่นอยู่ ในกระแสจิตสำนึกของสังคม อีสานในสมัยอดีต และในปัจจุบันก็หาเสื่อมคลายไปอย่างสิ้นเชิงไม่ ถึงแม้ว่ากระแสจิตสำนึกใหม่ๆ หรือค่านิยมใหม่ๆ ได้เข้าไปมี อิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตอยู่มากแล้วก็ตาม ถ้าเราจะพิจารณาดูในฮีต สิบสอง อันเป็นบทบัญญัติ ให้ปวงประชาจะต้องกระทำในรอบ ๑๒ เดือน คือรอบปี จะเห็นว่ามีพิธีกรรม เนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอยู่ไม่น้อย ดังนี้
๑. พิธีกรรมกรรมเนื่องด้วยความเชื่อภูติผีในฮีตสิบสอง
พบว่าบทบัญญัติในฮีตสิบสองนั้นได้กำหนดพิธีกรรมเนื่องด้วยความเชื่อภูติผีวิญญาณอยู่ด้วย เช่น บุญไหว้ผีตาแฮก (ผีประจำไร่นา) บุญชำฮะ ซึ่งมีพิธีถอดถอนหลักบ้านหลักเมืองและมีการตอกหลักบ้านหลักเมืองให้เที่ยงให้ตรง โดยถือเคล็ดว่าถ้าหลักเมืองเที่ยงตรงแล้ว บ้านเมืองจะอยู่อย่างสันติสุข บุญไหว้ผีปู่ตาซึ่งถือเป็นพิธีกรรมใหญ่ของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีพิธีกรรมทางศาสนาที่ปะปนกับความเชื่อเรื่องภูติผี เช่น บุญข้าวประดับดิน ซึ่งทำกันในเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมอาหารไว้จำนวนมาก แบ่งเป็น ๔ ส่วน ส่วนหนึ่งถวายพระที่วัด ส่วนที่สองเลี้ยงลูกหลานภายในครอบครัว ส่วนที่สามแจกญาติข้างเคียง ส่วนที่สี่ห่อใส่ใบตองเป็นห่อ แยกกันอาหารหวานคาวไว้เป็นห่อๆ แล้วนำไปไว้ตามต้นไม้บริเวณวัด ตอนยํ่ารุ่งก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว พอเช้าก็นำอาหารไปทำบุญที่วัด ส่วนบุญบั้งไฟก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือเป็นความเชื่อภูติผีวิญญาณ ดังกล่าวแล้ว
๒. พิธีกรรมเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติผีอื่นๆ
พบว่าพิธีกรรมที่เกี่ยวกับชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นพิธีกรรม เนื่องมาจากความเชื่อเรื่องภูติผี เช่น การเกิด มีการปักตาแหลวห้อ (เฉลว) เพื่อเป็นการป้องกันภูติผีมารบกวนทารก และแม่ลูกอ่อน ตาแหลวห้อนี้ทำด้วยไม้ไผ่ขนาดฝาบาตร พันด้าย ดำ แดง ขาว ไว้ที่วงรอบการแต่งงานมีการไหว้ผี เสียผี การสู่ขวัญ ก็เป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยความเชื่อเรื่องภูติฝีเช่นเดียวกัน หรือความเชื่อเรื่องคองผีหลวง และความ และความเชื่อเรื่องโชคลางต่างๆ
๓. ความเข้าใจเรื่องพุทธ ผี ของชาวอีสานกับการปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่
จากการสอบถามชาวบ้านโดยทั่วไปแล้ว พบว่าชาวบ้านอีสานจะไม่แยกว่าอะไรเป็นพุทธ เป็นผี นั้นคือจะเชื่อถือให้ความเคารพ และประกอบพิธีกรรมตามจารีตทุกผู้ทุกนาม แม้แต่พระภิกษุที่เป็นชาวท้องถิ่นเอง (ที่ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมสมัยใหม่) ก็ไม่นิยมชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่าพิธีกรรมใดเป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยผีสาง หรือพิธีกรรมใดเป็นพิธีกรรมของพุทธ และโดยปกติแล้วสังคมอีสานก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะแยก กลับเห็นพิธีกรรมเหล่านั้น เป็นพิธีกรรมที่จะนำมาเพื่อความสันติสุข เป็นศิริมงคลของครอบครัวและสังคม และไม่พึงใจที่จะละเว้นไม่ประกอบพิธีกรรม หรือไม่เคารพนับถือด้วยแนวคิดดังกล่าวนอาจจะเป็นคำตอบที่ดีในคำถามว่า “ทำไมความเชื่อ เรื่องภูติผีวิญญาณในสังคมอีสานนั้นยังฝังแน่นอยู่ในกระแสจิตสำนึกของชาวอีสานมากกว่าท้องถิ่น อื่นๆ โดยเฉพาะชาวภาคกลาง”
ในสังคมปัจจุบันกระแสความคิดใหม่ๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็ได้เข้าไปกับการศึกษาระบบโรงเรียนและสื่อสารมวลชน ชาวอีสานโดยทั่วไปก็รับรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าได้ละเลยหรือทอดทิ้งความเชื่อระบบเก่าๆ ที่ยึดถืออยู่ในสังคมไม่ การที่พบว่าในสังคมอีสานบางท้องที่ละเลยพิธีกรรมประจำปีของหมู่บ้านในบางปีนั้น หาได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ความเชื่อในพิธีกรรมเหล่านั้นหมดไป จากความคิดจิตสำนึกของชาวอีสานไม่ แต่ที่ละเลยเพราะไม่มีผู้นำในการกระทำ พิธีกรรมประการหนึ่ง หรือสภาวะทางเศรษฐกิจไม่อำนวย อีกประการหนึ่ง ฉะนั้นจึงพบว่าพิธีกรรมที่ได้งดเว้นไปบ้าง ในบางปีนั้น ภายหลังต่อมาเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น หรือเกิดความยุ่งยากในสังคม คือมีผู้คนล้มตาย (มากกว่าปกติ ซึ่งเป็นธรรมดา) หรือมีการทะเลาะวิวาท หรือมีผู้ร้ายชุกชุม พิธีกรรมเหล่านั้นก็ได้มีการนำมาประพฤติปฏิบัติกันอีก
ถึงแม้ว่าพิธีกรรมอันเป็นกิจประเพณีส่วนรวมของสังคมจะคลี่ คลายลงไปมากก็ตาม แต่ความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณของปัจเจกบุคคล หาได้เจือจางลงไปอย่างสิ้นเชิงไม่ นั่นคือกิจประเพณีส่วนบุคคลนั้นยึดถือปฏิบัติอยู่ เช่น ออกจากหมู่บ้านไปเรียนหนังสือ หรือประกอบอาชีพ จะต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวพ่อเชื้อแม่เชื้อหรือผีปู่ตา รวมทั้งการแต่งงานเสียผี นอกจากนี้ในท่ามกลางวิทยาการสมัยใหม่ในการรักษาโรค เช่น การแพทย์อันทันสมัยได้แพร่กระจายไปสู่สังคมชนบทอีสาน แต่ชาวอีสานจำนวนมากก็ยังนิยมหาพ่อมดหมอผีอยู่ และเชื่อว่าโรคบางชนิดที่การแพทย์สมัยใหม่ไม่อาจจะรักษาได้ แต่การรักษาโรค แบบดั้งเดิมจะช่วยได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวอีสานเองนั้นไม่ได้ปฏิเสธวิทยาการสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ทอดทิ้งคติความเชื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง
ที่มาโดย:รองศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง