คำสนธิที่ใช้ในภาษาไทย

สนธิคือวิธีเชื่อมคำกับคำให้ติดเป็นคำเดียวกัน ในภาษาบาลี และสันสกฤตมีวิธีต่างๆ แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะที่ใช้กันอยู่ในภาษาไทย

คำที่ใช้สนธิกันได้ก็มีแต่คำที่มาจากบาลีและสันสกฤตเท่านั้น จะเอาคำในภาษาอื่นไปเชื่อมกันตามวิธีสนธิไม่ได้ และคำสนธิที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็เฉพาะแต่คำซึ่งเชื่อมกับอีกคำหนึ่งที่ขึ้นต้นด้วยสระ เช่น อมาตย์, อาตม์, อินทร์, อุบาย ฯลฯ เท่านั้น มีหลักที่สังเกตตามที่ใช้มากดังต่อไปนี้

(๑) สระท้ายของคำต้นเป็น อะ อา ถ้าต่อกับสระ อะ อา ของคำท้ายรวมกันเข้าเป็นสระ อาตัวเดียว เช่น เทศ กับ อภิบาล เป็น เทศาภิบาล, มหา กับ อานิสงส์ เป็นมหานิสงส์, ชีวะ กับ อาวาตม์ เป็น ชีวาตม์ ฯลฯ ถ้าต่อกับสระอะที่มีตัวสะกด เช่น อรรณพ, อัศจรรย์ ฯลฯ รวมกันเข้าเป็นสระอะ ตัวเดียว เช่น มหา กับ อรรณพ เป็น มหรรณพ, มหา กับ อัศจรรย์ เป็น มหัศจรรย์ เป็นต้น

ถ้าต่อกับสระอิ, อี รวมกันเข้าเป็น อิ, อี หรือ เอ ตัวเดียว เช่น ราช กับ อิณ เป็น ราชิณ (วัดเวฬุราชิณ), มหา กับ อิสี เป็น มเหสี, นร กับ อินทร หรือ อิศวร เป็น นรินทร์, นเรนทร์ หรือ นริศวร นเรศวร ตามลำดับ และอุตร กับ อีศาน เบน อุตรีศาน เป็นต้น ถ้าต่อกับสระอีที่มีตัวสะกดรวมกันเข้าเป็น อิตัวเดียว เช่น ชน กับ อินทร์ เป็น ชนินทร์, มหา กับ อิทธิ์ เป็น มหิทธิ์ เป็นต้น

ถ้าต่อกับ อุ, อู รวมกันเข้าเป็น อุ, อู หรือ โอ ตัวเดียว เช่น มรรค กับ อุเทศก์ เป็น มรรคุเทศก์, ราช กับ อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์, ราช กับ อุบาย เป็น ราโชบาย และ เอก กับ อูน เป็น เอกูน (หย่อนหนึ่ง) เป็นต้น

ถ้าติดต่อกับ เอ, ไอ, โอ, เอา รวมกันเข้าเป็น เอ, ไอ, โอ, เอา แต่มีที่ใช้ในบางคำ เช่น โภค กับ ไอศวรรย์ เป็น โภไคศวรรย์, มหา กับ โอฬาร หรือ เอาฬาร ก็เป็น มโหฬาร มเหาฬาร เป็นต้น

(๒) สระท้ายของคำต้นเป็น อิ อี ถ้าต่อกับสระ อิ หรือ อี ด้วยกัน รวมเป็น อิ หรือ อี แต่ตัวเดียว (คือลบเสียตัวหนึ่ง) เช่น มุนิ กับ อินทร์ เป็น มุนินทร์, กรี กับ อินทร์ เป็น กรินทร์, ผณี กับ อินทร์ เป็น ผณินทร์ แต่ถ้าต่อกับสระอื่น (นอกจาก อิ อี) ต้องทำสระ อิ อี ท้ายคำนั้นเป็น ย เสีย ก่อน เช่น มติ เป็น มตย(ที่แผลง “ติ” เป็น ตฺย แล้วแผลง ตฺย เป็น จฺจ ต่อไปก็มี เช่น อติ+เอก=อตฺยก แล้วแผลงเป็น “อัจเจก” เป็นต้น (เมื่อเอา อิ หรือ อี เป็น ย แล้ว ถ้าตัวสะกดกับตัวตามเหมือนกันต้องลบเสียตัวหนึ่ง เช่น รัตติ, อัคคี, สามัคคี เป็น รัตย, อัคย, สามัคย ไม่ใช้ รัตตย, อัคคย และ สามัคคย) แล้วประสมกันอย่างสระ อะ อา อยู่ท้ายในข้อ (๑) เช่น มติ กับ อธิบาย เป็น มตยาธิบาย, สามัคคี กับ อาจารย์ เป็น สามัคยาจารย์, อัคคี กับ โอภาส เป็น อัคโยภาส เป็นต้น

มียกเว้นบางคำที่ใช้ตามหลักนี้ เช่น หัตถี + อาจารย์ เป็น หัตถาจารย์ เป็นต้น

(๓) สระท้ายของคำต้นเป็น อุ อู ต้องแปลง อุ หรือ อู เป็น ว เสียก่อน แล้วเชื่อมกันได้ทุกสระ อย่างสระ อิ ที่แปลงเป็น ย เช่น ธนู กับ อาคม เป็นธันวาคม, คุรุ กับ อุปกรณ์ เป็น ครุโวปกรณ์ ฯลฯ ถ้าต่อกับ อุ อู ด้วย กัน จะคงรูปเป็น อุ อู แต่ตัวเดียว เช่น คุรุ กับ อุปกรณ์ เป็น คุรุปกรณ์ หรือ คุรูปกรณ์ ดังนี้ก็ได้

สระอื่นๆ ที่อยู่ท้ายของคำต้นนอกจากนี้ยังไม่พบตัวอย่างที่ใช้

(๔) อนึ่งคำที่มีสระ อะ อยู่หน้า เช่น อภิบาล, อนุช, อภิรมย์, อนุกูล เหล่านี้ เป็นต้น บางทีก็ลด อ ออกเสียเป็น ภิบาล, นุช ภิรมย์, นุกูล ดังนี้ก็มีบ้าง แต่โดยมากมักใช้ในคำประพันธ์ที่ใช้กันจนชินก็มี เช่น ภิรมย์, นุชนาฏ ดังนี้ถ้าเรียกให้เต็ม เป็น อภิรมย์, อนุชนาฏ ฟังกลับจะขัดไปเสียอีก

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร