ประเพณีโกนผมไว้ทุกข์

ตามประเพณีเดิมของไทยถ้าพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลง ราษฎรต้องไว้ทุกข์ด้วยการโกนศีรษะและนุ่งขาวด้วยกันหมดทุกคน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าลำบากและยุ่งยากแก่ราษฎร จึงให้ยกเลิกการโกนศีรษะเพียงแต่แต่งกายไว้ทุกข์ตามโบราณโกนผมไว้ทุกข์ราชประเพณีเท่านั้น นอกจากนี้ยังสั่งการว่างานพระบรมศพของพระองค์ให้ตัดสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่จำเป็นออกไป เช่น การมหรสพ การเลี้ยงอาหาร จำนวนวันงาน ซึ่งประหยัดเวลาและ ค่าใช้จ่ายลงได้มาก พระราชนิยมดังกล่าวนี้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติกันต่อมา ประกอบกับเหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบันในขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ

การแต่งกายไว้ทุกข์ของชาวไทยเราแต่เดิมนุ่งสีขาว ต่อมาเปลี่ยนเป็นนุ่งดำ และยังมีสีกุหร่า สีนกพิราบ สีน้ำเงินอีกด้วย ดังที่พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) อธิบายไว้ในหนังสือ เรื่องประเพณีเนื่องในการตายว่า

“นุ่งขาวพูดกันว่าเอาอย่างจีน แต่ถามพวกจีนเขาก็ว่าไม่ได้นุ่งขาว ตกลงจะมาแต่ไหนก็ไม่ทราบ แต่นุ่งดำนั้นจำฝรั่งมาแน่ และเป็นแน่ว่าเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ด้วยที่นุ่งสีกุหร่า สีนกพิราบ และสีนํ้าเงิน อะไรเหล่านี้ เชื่อว่าเป็นของเราคิดขึ้นเองเพื่อจะเดินให้เป็นสายกลางเพียงแต่แต่งขาวแต่งดำก็ลำบากอยู่แล้ว ไฉนไปรับเอาอย่างอื่นมาพอกให้ลำบากยิ่งขึ้นอีกเล่า”

ในปัจจุบันการแต่งกายไว้ทุกข์จะแต่งตามประกาศนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการไว้ทุกข์ดังได้กล่าวมาแล้วในเรื่องการไว้ทุกข์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงปฏิรูปสิ่งอื่นอีกหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เช่น การสร้างถนนหนทาง นำเครื่องจักร เครื่องกลเข้ามาใช้ ตลอดจนปฏิรูปการศึกษา กฎหมาย และการศาล มีพระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ. ๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) และตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรทำให้แนวการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลิกทาสเป็นการล้มล้างประเพณีเก่าโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรื่องการเลิกทาสนี้ พระองค์มีพระราชประสงค์มาแต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เพราะทรงพระราชดำริว่าเป็นเครื่องกีดขวางความเจริญของบ้านเมือง ตัวทาสก็ขาดเสรีภาพและปราศจากความสุขด้วยประการทั้งปวง ต้องถูกกดขี่เยี่ยงสัตว์เดียรัจฉาน ผลประโยชน์ที่เกิดจากแรงงานต้องตกเป็นของนายเงินทั้งหมด ทาสเป็นเสมือนทรัพย์สินของเจ้าของ ลูกของทาสที่เกิดมา แทนที่จะเป็นของพ่อแม่ซึ่งเป็นทาสด้วยกัน กลับตกเป็นของนายเงินประดุจดังลูกของสัตว์เลี้ยง นอกจากนั้นกฎหมายยังยอมให้นายเงินใช้ทาส ไปรับโทษแทนตัวบุตร ภริยา ญาติพี่น้องของตัวได้อีกด้วย เป็นการอยุติธรรมแก่ทาสอย่างยิ่ง กฎหมายให้ประโยชน์แก่นายเงินมากไป เพราะฉะนั้นนอกจากจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาแรงงาน ปัญหาเศรษฐกิจแล้วยังก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมขึ้น พลเมืองส่วนมากซึ่งเป็นทาสได้หลุดพ้นจากการ ถูกกดขี่

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศตะวันตกอีกหลายอย่าง เช่น การใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล การกำหนดคำนำหน้านามสตรีและเด็กดังที่ประเทศเจริญแล้วปฏิบัติกัน นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนแปลงการนับเวลาและใช้เวลามาตรฐานสากล แต่เดิมการนับเวลาถือกันว่าเวลายํ่ารุ่งเป็นสิ้นสุดวัน ยํ่ารุ่งแล้วเป็นต้นวันของวันใหม่ นับเวลาเป็น “โมง” “ทุ่ม” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการนับเวลาเป็น “โมง” “ทุ่ม” นั้นไม่สะดวกกับการติดต่อกับชาติยุโรปที่นับเวลาเป็นนาฬิกา จึงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามสากลนิยมโดยถือเอาเวลา ๒ ยาม (เที่ยงคืน) ล่วงแล้วเป็นวันใหม่ (ก่อนหน้านี้นับ ๖ โมงเช้าเป็นวันใหม่) เวลาทุ่มโมงเปลี่ยนเรียกว่านาฬิกาและได้ยึดถือเวลาที่เมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นมาตรฐาน

“โดยพระราชกฤษฎีกาประกาศการนับเวลาเหมือนประเทศในตะวันตกแบ่งเป็นก่อนเที่ยง หลังเที่ยง ใช้อักษรย่อ ก.ท. และ ล.ท. ตามลำดับ เช่น ๗ ก.ท. ตรงกับ ๗.๐๐ น. และ ๗ ล.ท. ตรงกับ ๑๙.๐๐ น. เท่ากับ A.M. และ P.M. ของฝรั่ง

การนับเวลาดังกล่าวมา มีเวลาก่อนเที่ยง (ก.ท.) และหลังเที่ยง (ล.ท.) ภาคละ ๑๒ ชั่วโมง แบ่งชั่วโมงเป็น ๔ ภาค ภาคละ ๑๕ นาที”

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ประกาศเปลี่ยนการนับเวลาเป็นวันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นการสะดวกกว่า ไม่ต้องพะวงว่าก่อนเที่ยงหรือหลังเที่ยง

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ถึงปัจจุบันก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในขณะนั้น อันเป็นลักษณะประการหนึ่งของวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามความเจริญและสิ่งแวดล้อม เช่น การยกเลิกบรรดาศักดิ์เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน ยกเลิกยศข้าราชการพลเรือนในตำแหน่งมหาอำมาตย์ อำมาตย์ และรองอำมาตย์ ซึ่งเห็นว่ามีแนวโน้มไปในทางแบ่งชั้นวรรณะ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยาม เป็นประเทศไทย ตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เป็นต้น

จะสังเกตเห็นได้ว่าตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ไทยเราได้มีการติดต่อกับนานาประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลตะวันตกกำลังแพร่ขยายเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ ยังผลให้ จำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่คิดว่าล้าสมัยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ส่วนมากจะพัฒนาให้เป็นไปตามชาติตะวันตก แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อของคนไทย อิทธิพลของศาสนาพุทธและศาสนาอื่นๆ ยังฝังแน่นอยู่ในความรู้สึกของคนไทย ฉะนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่จึงออกมาในรูปของการผสมผสานทางวัฒนธรรม

ที่มา:กรมศิลปากร