การแต่งกายสมัยรัชกาลที่ ๕

รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓)
ในรัชกาลนี้ไทยได้มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น  แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างแล้วก็ตาม แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ทั้งที่พระองค์โปรดให้มีการประกาศสวมเสื้อเข้าเฝ้า แต่ในเวลาปกติแล้วบรรดาขุนนาง เจ้านาย และเสนาบดียังนุ่งผ้าผืนเดียว ไม่สวมเสื้อ การแต่งกายสมัยร.5ด้วยยึดถือประเพณีเดิมอย่างเคร่งครัด โดยไม่คำนึงว่าล้าสมัยหรือผิดถูกอย่างไร “ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่า คำสรรเสริญของพระเจ้าแผ่นดินมักกล่าวว่า “รักษาโบราณราชประเพณีมั่นคง” หรือ “ทรงประพฤติตามโบราณราชประเพณี” ในคำกลอนเรื่องพระไชยสุริยาของสุนทรภู่ ก็กล่าวถึงพวกข้าเฝ้าเจ้าเมืองสาวัตถี “ดัดจริตผิดโบราณบ้านเมืองจึงเป็นอันตราย” ดังเช่น เซอร์ จอน เบาริง ราชทูตอังกฤษเล่าเรื่องที่เข้ามากรุงเทพฯ ภายหลังมาอีก ๓ ปี ว่าเมื่อไปหาสมเด็จเจ้าพระยาฯ องค์ใหญ่ ครั้งแรก จัดรับอย่างเต็มยศเห็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่แต่งตัวนุ่งจีบคาดเข็มขัดเพชรแต่ตัวเปล่าไม่สวมเสื้อความที่กล่าวส่อให้เห็นต่อไปว่าขุนนางผู้น้อยซึ่งเป็นบริวารอยู่ในที่นั้นก็คงไม่สวมเสื้อเหมือนกันทั้งนั้น เพราะถือกันว่าต้องสวมเสื้อในเวลาเข้าเฝ้า เวลาอื่นยังมีเสรีภาพที่จะรับแขกหรือไปไหนตัวเปล่าได้เหมือนอย่างเดิม”

การที่ไม่นิยมสวมเสื้อเพราะเสื้อผ้าหายากมีราคาแพงและทำความสะอาดลำบาก เนื่องจากไม่มีสบู่ใช้อย่างปัจจุบัน การทำความสะอาดต้องใช้ขี้เถ้ามาละลายน้ำซึ่งเรียกว่าด่างและใช้น้ำนี้มาซักผ้า น้ำด่างนี้ยังกัดเสื้อผ้าให้เปื่อย ขาดง่าย ไม่ดีเหมือนใช้สบู่อย่างสมัยต่อๆ มา ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ สบู่หายาก จึงได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ ผงซักฟอกเข้ามาแทนที่และเป็นที่นิยมใช้กันเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีว่า การแต่งกายดังกล่าวย่อมเป็นดูหมิ่นเหยียดหยามของชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นเวลาที่จะเสด็จประพาสต่างประเทศ(สิงคโปร์และชวา) เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๑๓ จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายตามแบบฝรั่ง เพื่อแสดงความเป็นอารยประเทศ ทรงกำหนดเครื่องแบบทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีทั้งเครื่องแบบเต็มยศและเครื่องแบบปกติ ฝ่ายพลเรือนมีแต่เครื่องแบบเต็มยศเท่านั้น เครื่องแบบของฝ่ายพลเรือนเป็นเสื้อแพรสีกรมท่า ปักทองที่คอและข้อมือ ในเวลาปกติใช้เสื้อคอเปิด ผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนนุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าและกำหนดให้สวมถุงเท้า รองเท้าด้วย สำหรับผ้าม่วงสีกรมท่านั้นใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงานแต่ครั้งนั้นสืบมา

เครื่องแต่งกายของชายไทยในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ได้ปรับปรุงตามแบบประเพณีนิยมสากลของชาวตะวันตกเป็นครั้งแรก แต่หลังจากเสด็จประพาสอินเดีย-พม่า ในปี พ.ศ.๒๔๑๔ แล้ว มีพระราชดำริว่า การสวมเสื้อนอกแบบฝรั่งซึ่งต้องมีเสื้อเชิ้ตสวมข้างในแล้วยังมีผ้าผูกคออีกด้วยนั้น ไม่เหมาะสมกับอากาศร้อนของเมืองไทย จึงโปรดให้ดัดแปลงเป็นเสื้อนอกสีขาวคอปิด ติดกระดุมตลอดอก ๕ เม็ด เรียกกันว่า “เสื้อราชแปตแตนท์ (Raj Pattern) ซึ่งต่อมาเพี้ยนไปเป็น “เสื้อราชปะแตน” ซึ่งแปลว่า แบบหลวง แต่ยังคงนุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าเหมือนเดิม

ในสมัยนี้ นิยมสวมหมวกแบบยุโรปหรือหมวกหางนกยูง ถือไม้เท้า ซึ่งมักจะใช้คล้องแขนจึงเรียกกันว่า “ไม้ถือ”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทหารนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงโจงกระเบนสีกรมท่า เป็นผลให้ประชาชนเริ่มนิยมนุ่งกางเกงขายาวและสวมหมวกกะโล่กันขึ้นบ้างในตอนปลายรัชกาล

การแต่งกายของชายทั่วๆ ไป ยังคงนิยมแต่งกายตามสบายเช่นเดียวกับสมัยรัชกาลก่อนๆ คือ นุ่งผ้าลอยชาย มีผ้าขาวม้าหรือผ้าอะไรก็ได้แตะบ่า คลุมไหล่หรือคาดพุง ซึ่งคงจะเป็นประเพณีการแต่งกายของคนไทยตามปกติมาแต่โบราณ การนุ่งผ้าลอยชายนี้นิยมนุ่งทั้งคนแก่และคนหนุ่ม แต่คนหนุ่มจะใช้ผ้าคลุมสองไหล่และคาดพุง ไม่นิยมใช้ผ้าแตะบ่า

การนุ่งผ้าลอยชายคือ การเอาผ้าทั้งผืนนั้นมาโอบหลังกะให้ชายผ้าข้างหน้าเท่ากัน แล้วขมวดชายพก ค่อนข้างใหญ่เหน็บแน่นติดตัว แล้วทิ้งชายห้อยลงไปข้างหน้า การนุ่งผ้าลอยชายนี้ บางคนชอบนุ่งใต้สะดือ ชายพกที่ค่อนข้างใหญ่นี้เพื่อเก็บกล่องหรือหีบบุหรี่ตามที่ตนชอบ ส่วนผ้าคาดพุงไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้าหรือผ้าส่านหรือผ้าอะไรผูกเป็นโบเงื่อนกระทก ไว้ข้างหน้า ทิ้งชายผ้าลงมาเล็กน้อย

ผู้ชายบางคนแต่งตัวแบบนักเลงโต กล่าวคือ นุ่งกางเกงชั้นใน คาดกระเป๋าคาด ที่เอวทับกางเกงใน นุ่งผ้าโสร่งทับนอก (โสร่งไหมตัวใหญ่ๆ หรือผ้าตาโก้งหรือตาโถงที่พวกต้องซู่นำมาขายหน้าเทศกาลพระพุทธบาทสระบุรี) นุ่งเสร็จมักจะหยิบผ้านุ่งตรงสะโพกทั้งสองข้างยกขึ้นไปเล็กน้อยไปเหน็บไว้ที่เอว เรียกว่า “นุ่งหยักรั้ง” มีผ้าขาวม้าหรือผ้าอะไรพันคอ ชายหนึ่งอยู่ข้างหน้า ตะหวัดอีกชายหนึ่งไปข้างหลัง หากจะซื้อของก็เลิกผ้าโสร่งขึ้นหยิบเงินในกระเป๋าคาด ในสมัยนั้นถือเป็นของธรรมดา

การนุ่งผ้าลอยชายนี้คงจะมีอยู่เพียงปลายรัชกาลที่ ๕ และคงจะมีบ้างประปรายในรัชกาลที่ ๖ แต่ก็ไม่ได้หมดไปทีเดียว ยังมีอยู่เรื่อยมาแม้กระทั่งปัจจุบัน

เครื่องประดับของชายคงจะมีไม่มาก จะมีบ้างเป็นพวกแหวน สร้อยคอแขวนพระเครื่อง เป็นต้น

การไว้ผมของชายไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ไว้ผมตัดยาวอย่างฝรั่ง มีทั้งหวีแสกและหวีเสย เลิกไว้ผมมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำการไว้ผมตัดยาวทั้งศีรษะทั้งมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพารไว้ผมยาวได้ตามความสมัครใจ คนทั้งหลายก็นิยมไว้ผมยาวตามแบบฝรั่งตั้งแต่นั้นมา เพราะเห็นสวยงามกว่าทรงผมมหาดไทย

แม้จะโปรดให้เลิกไว้ผมมหาดไทยแล้วก็ตาม ยังมีข้าราชการผู้ใหญ่บางท่านนิยมผมมหาดไทยอยู่ ดังเช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้ให้ช่างตัดผมสั้นรอบศีรษะ ไว้ข้างบนยาวคล้ายทรงผมมหาดไทย เรียกกันว่า “ผมรองทรง”

เครื่องแต่งกายของสตรีไทยในสมัยนี้ได้ดัดแปลงแก้ไขหลายครั้ง แต่เดิมในราชสำนักยังคงนุ่งผ้าจีบ ห่มสไบแพรเฉียงแนบกับตัวเปล่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๖ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งหลังโปรดให้เปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายใหม่ ให้สตรีนุ่งผ้ายกจีบ ห่มตาด หรือห่มสไบปักเฉพาะเวลาเต็มยศใหญ่เท่านั้น ในโอกาสทั่วไป นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อพอดีตัว ผ่าอก คอกลมหรือคอตั้งเตี้ยๆ ปลายแขนแคบยาวถึงข้อมือ ชายเสื้อยาวเพียงเอว เรียกว่า “เสื้อกระบอก” แล้วห่มแพรจีบตามขวาง สไบเฉียงทับบนเสื้ออีกชั้นหนึ่ง แพรจีบที่ใช้ห่มสไบเฉียงทับเสื้อนี้ ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นแพรสะพาย ซึ่งใช้แพรชนิดที่จีบตามขวางเอวนั้นมาจีบตามยาวอีกครั้งหนึ่ง  จนเหลือเป็นผืนแคบตรึงให้เหมาะ แล้วสะพายอย่างตึงมากบนบ่าซ้าย รวบชายแพรทั้ง ๒ ข้างเข้าด้วยกันทางด้านขวาของเอวคล้ายๆ สวมสายสะพาย และสวมรองเท้าบู๊ตโดยมีถุงเท้าหุ้มตลอดน่องด้วย

ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ หลังจากเสด็จกลับจากยุโรป ได้ทรงนำแบบอย่างการแต่งกายของชาวยุโรปมาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทย สตรีในครั้งนั้นจึงเริ่มใช้เสื้อตัดตามแบบยุโรป สวมถุงเท้า รองเท้า แต่ยังคงนุ่งโจงกระเบนและสะพายแพรอยู่ แบบเสื้อที่นิยมกันมากในสมัยนี้ก็คือ เสื้อแขนพองแบบฝรั่ง คอตั้ง แขนยาว ต้นแขนพองคล้ายขาหมูแฮม จึงเรียกกันว่า “เสื้อขาหมูแฮม” มีผ้าห่มหรือแพรสไบเฉียงแล้วแต่โอกาส ทับตัวเสื้ออีกทีหนึ่ง

หลายรัชกาลที่ ๕ สตรีนุ่งโจงกระเบนกันเกือบทั้งหมด แต่ตัวเสื้อนิยมใช้ผ้าแพร ไหม ผ้าลูกไม้ตัดแบบชาวตะวันตก คอตั้งสูง แขนยาว ฟูพองหรือระบายลูกไม้เป็นชั้นๆ รอบแขนเสื้อ บางทีเอวเสื้อจีบเข้ารูป บางทีคาดเข็มขัด สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง หญิงชาวบ้านทั่วไปยังคงนุ่งโจงกระเบนเป็นประจำและห่มผ้าแถบอยู่กับบ้านเช่นเคย ไม่นุ่งจีบ ยกเว้นคนชั้นสูงจะมีงานมงคลอะไรใหญ่เป็นพิเศษ ก็อาจแต่งบ้างบางราย (การนุ่งจีบมักจะนุ่งแต่คนชั้นสูงเท่านั้น)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลิกผมปีกไว้ผมยาวแทน โดยให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์(แพ) เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก เป็นผู้นำคนแรกด้วยการไว้ผมยาวประบ่า ต่อมาพวกเจ้านายฝ่ายในและหม่อมห้ามได้ทำตาม แต่บางคนไว้ผมตัดทรงดอกกระทุ่ม จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชนต่อมา ทำให้ไว้ผมยาวประบ่าบ้าง ไว้ผมทรงดอกกระทุ่มบ้าง แต่ส่วนใหญ่นิยมผมทรงดอกกระทุ่ม

สตรีสมัยนี้เริ่มใช้เครื่องสำอางอย่างชาวตะวันตกบ้าง นิยมใช้เครื่องประดับสร้อยข้อมือ สร้อยคอ สร้อยตัว (สร้อยเฉลียงบ่า) แหวน กำไล ใส่ตุ้มหูบ้างแต่มักไม่ค่อยใส่กัน เข็มขัดทอง เงิน นาก ถ้าเป็นคนชั้นสูงที่นุ่งจีบจะต้องใช้เข็มขัดคาด ก็มักจะใช้เข็มขัดทองทำหัวมีลวดลายงดงามลงยาประดับเพชรพลอย การใช้เครื่องประดับของสตรีนั้นแตกต่างกัน ถ้าเป็นภรรยาบุตรหลานข้าราชการ ขุนนาง เวลาอยู่กับบ้านมักไม่ค่อยแต่งเครื่องประดับ จะมีแต่งบ้างเป็นพวกสร้อยข้อมือเล็กๆ สร้อยคอสายเล็กๆ ใส่แหวนบ้าง ตุ้มหูไม่ค่อยใส่กัน แต่ถ้าเป็นหญิงชาวสวน นิยมใส่สร้อยข้อมือ สร้อยคอเส้นโตๆ ใส่แหวนเป็นประจำ ตุ้มหูมีใส่บ้างแต่ไม่นิยมกัน ถ้าเปรียบกับสมัยปัจจุบันก็คล้ายๆกับตู้ทองเคลื่อนที่ และเป็นธรรมเนียมสืบทอดมาจนปัจจุบันที่ชาวชนบทบางคนหรือผู้ที่มีความคิดอยากจะแต่งเพื่อโอ้อวดหรือแสดงถึงความเป็นผู้มีฐานะยังคงนิยมแต่งอยู่ก็มี แต่ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๒๕) ทองมีราคาแพงมาก ทำให้มีการวิ่งราวชิงทรัพย์กันอยู่บ่อยๆ คนแต่งเครื่องประดับมีค่าจึงลดน้อยลง แต่ก็เกิดเครื่องประดับวิทยาศาสตร์ใช้แทนทำให้ “ไม่รวนก็สวนได้”

เด็กผู้หญิงในสมัยนี้ นุ่งโจงกระเบนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ไม่สวมเสื้อ เวลาออกงานจึงสวมเสื้อคอติดลูกไม้ที่เรียกว่า เสื้อคอกระเช้า เวลาแต่งตัวเต็มที่นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาวคอปิด แต่งด้วยผ้าลูกไม้งดงาม สวมถุงเท้ารองเท้า เจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ทรงฉลองพระองค์แขนยาวพองและทรงเครื่องประดับมาก ยังคงนิยมไว้ผมจุก เมื่อตัดจุกแล้วจึงเริ่มไว้ผมยาว

ได้กล่าวแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่มีพระราชประสงค์จะให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่นเหยียดหยามคนไทยว่าแต่งกายเหมือนคนป่า จึงทรงกวดขันเรื่องนี้มากถึงกับโปรดให้ออกประกาศ ๒ ฉบับ ใช้บังคับราษฎร ฉบับแรก คือ “ประกาศห้ามคนแต่งตัวไม่สมควรมิให้ไปมาในพระราชฐานที่เสด็จออก” โดยห้ามผู้ใหญ่ทั้งชายหญิงสวมแต่เสื้อชั้นในหรือไม่สวมเสื้อเลย หรือนุ่งกางเกงขาสั้นเหนือเข่า หรือนุ่งผ้าหยักรั้งไม่ปิดเข่า หรือนุ่งโสร่ง หรือสวมรองเท้าไม่มีถุงเท้า ไม่ว่ารองเท้าชนิดใดๆ หรือสวมรองเท้าสลิปเปอร์ (Slipper) ตลอดจนเด็กที่เปลือยกายเข้ามาในบริเวณพระราชวังชั้นนอกด้านหน้ากับบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยกเว้นคนทำงานขนของก่อสร้าง กวาดล้าง ถ้าผู้ใดฝ่าฝืน หรือพาเด็กหรือปล่อยเด็กที่แต่งกายไม่สมควรดังกล่าวล่วงเข้ามาในเขตที่กำหนดไว้ ให้นายประตูขับไล่ห้ามปราม ถ้าไม่ฟังให้จับส่งศาลกระทรวงวังตัดสินลงโทษ ปรับไม่เกินคราวละ ๒๐ บาท หรือขังไว้ใช้การไม่เกินคราวละ ๑๕ วัน หรือทั้งปรับทั้งขังตามควรแก่โทษ ถ้าผู้ทำผิดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีลงไป บิดามารดาหรือมูลนายหรือผู้เลี้ยงดูเด็กนั้นจะต้องรับโทษแทนทุกประการ ประกาศเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๗ เป็นต้นไป

อีกฉบับหนึ่ง คือ “ประกาศห้ามการแต่งกายไม่สมควร” ห้ามชายหญิงที่นุ่งผ้าหยักรั้งไม่ปกเข่าหรือนุ่งกางเกงขาสั้น หญิงเปลือยอก หรือห่มผ้าไม่ปิดบังอกให้เรียบร้อย เด็กไม่นุ่งกางเกง หรือไม่สวมเสื้อผ้าเดินไปมาตามถนน แม่น้ำ ลำคลอง หรืออยู่ในบ้านเรือนที่อยู่ริมถนน หรือบ้านเรือน หรือเรือนแพที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองหรือตามที่สาธารณะให้เป็นที่รำคาญตาแก่ผู้พบเห็น หากผู้ใดฝ่าฝืนให้เจ้าพนักงานกรมกองตระเวนจัดส่งศาลพิจารณาลงโทษปรับไม่เกินคราวละ ๑๐ บาท ถ้าผู้ทำผิดเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีลงไป บิดามารดาหรือผู้ปกครองต้องไปรับโทษแทน ประกาศเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) ใช้บังคับหลังจากวันที่ออกประกาศนี้ล่วงแล้ว ๗ วัน

ที่มา:กรมศิลปากร