ขนบธรรมเนียมประเพณีกับชีวิตของคนไทย

Socail Like & Share

๑. ขนบธรรมเนียมประเพณี นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมาสู่อนุชนรุ่นหลัง และได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ขนบธรรมเนียมประเพณียังเป็นสิ่งหนึ่งที่กำหนดรูปแบบของสังคมไทย เช่น การทำความเคารพด้วยการยกมือไหว้ ขนบธรรมเนียมไทยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคนไทย ถ้าเทียบกับประเทศอื่นในแถบเอเชียที่นิยมการไหว้ด้วยกัน เช่น อินเดีย หรือ ศรีลังกา เราก็สามารถทราบได้ทันทีว่าคนไหนเป็นคนไทย ยิ่งถ้าเทียบกับประเทศตะวันตกด้วยแล้วจะมองเห็นลักษณะของขนบธรรมเนียมประเพณีได้อย่างชัดแจ้ง อันจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงสังคมของชาตินั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ลักษณะพิเศษของขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่ยกย่องเจ้านายนั้นทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน เจียมเนื้อเจียมตัว ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่รวมอำนาจไว้ส่วนกลาง

การที่คนไทยยึดมั่นในสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เพราะชาติไทยเป็นชาติเอกราชมาช้านาน การแสดงออกของคนในชาติและประเพณีเกี่ยวกับบุคคลทั่วไป เช่น ความสมัครสมานร่วมมือร่วมใจกันในการประกอบอาชีพ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือผู้ด้อยกว่าตน ในฐานะและโอกาส ความนับถือยกย่องกันและกันในชุมชน สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้ด้วย ความสันติสุข และผ่านพ้นภัยพิบัติได้ตลอดมา

ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีมีความผูกพันกับการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก เช่น การทำบุญในโอกาสต่างๆ ของคนไทยจะมีอยู่หลายลักษณะ มีความแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม

ส่วนพระมหากษัตริย์ ทรงประกอบพระราชพิธีต่างๆ ตามโบราณราชประเพณีสืบทอดมาเป็นเวลาช้านาน แสดงให้เห็นถึงความผูกพันอยู่กับประเพณีของชุมชนในชาติไทย ประชาชนชาวไทยต่างตระหนักดีว่า พระบรมเดชานุภาพและพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวนํ้าใจคนไทย และชาติไทย ทำให้สามารถรักษาเอกราชอธิปไตยและความมั่นคงมาได้ด้วยดีตลอดมา

ดังนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยบางอย่างจึงกำหนดรูปแบบของสังคมไทยให้มีลักษณะเฉพาะของตนเอง หรือเป็นเอกลักษณ์ของไทย แม้บางสิ่งบางอย่างจะรับวัฒนธรรมของต่างชาติมาใช้ แต่ก็ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขจนเกิดเป็นรูปแบบของตน ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า “ไทยเป็นชาติที่เก่งในการประสานประโยชน์” เช่น การรับวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศในการนับปีปฏิทินเพื่อความสะดวกนานาประการ แต่ก็มีการทำบุญตักบาตรตามประเพณีไทยด้วย เป็นต้น

๒. ด้านการเมืองและการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมีส่วนครอบงำด้านการเมือง การปกครองของไทย ทั้งด้านผลดีและผลเสีย กล่าวคือการยกย่องผู้ใหญ่ กตัญญูรู้คุณ การโอบอ้อมอารีของคนไทยมีส่วนช่วยดำรงความมั่นคงและความสามัคคีปรองดองของชนในชาติอีกด้วย ส่วนผลกระทบอีกด้านหนึ่งนั้นก็คือ การที่ชาวไทยเคยชินกับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบบเจ้าขุนมูลนายมาเป็นช้านาน จนเกิดความคิดในเรื่องการเคารพเชื่อถือในตัวบุคคล อำนาจวาสนาและผู้มีเงิน ทำให้ชาวไทยมักเห็นว่าการปกครองเป็นเรื่องของเจ้านายผู้มีอำนาจวาสนา ราษฎรไม่ควรยุ่งเกี่ยว จึงขาดความกระตือรือร้นที่จะสนใจหรือใช้สิทธิใช้เสียงของตนตามหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล การสั่งงานตลอดจนการวางแผนต่างๆ ส่วนใหญ่จึงมาจากเบื้องบน การบริหารงานบางอย่างของรัฐบาลจึงไม่สามารถขอความร่วมมือจากประชาชนได้ อันจะนำมาซึ่งความล้มเหลวของโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงาน และการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง

อีกประการหนึ่งในเมื่อสังคมไทยยกย่องผู้ใหญ่ ผู้น้อยจึงมักไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเกรงจะถูกสังคมตำหนิ แม้ว่าในปัจจุบันความคิดวิทยาการต่างๆ จะก้าวหน้า การเมืองได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม ชาวไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าแสดงออกมากนัก และค่านิยมยังอยู่ในวงแคบ คนมักจะนึกถึงแต่เพียงเรื่องของการดำเนินชีวิต และปากท้องของครอบครัวตนหรือชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงตนเท่านั้น ถ้าจะมีการแสดงความคิดเห็น เสียสละและปฏิบัติเพื่อส่วนรวมในด้านการเมืองการปกครองโดยไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากกว่านี้แล้วบ้านเมืองของเราก็จะก้าวหน้าไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะนี้

๓. ด้านเศรษฐกิจ ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น การทำบุญ การสร้างวัด คนไทยมักสละทรัพย์อย่างเต็มที่ในการทำบุญให้ทานโดยไม่คำนึงถึงฐานะเศรษฐกิจของตน ทั้งนี้เป็นเพราะความคิดของคนไทยในเรื่องการหวังผลตอบแทนจากการทำบุญมากเกินไปนั่นเองทั้งๆ ที่พุทธศาสนาสอนให้รู้จักประมาณตนเองอยู่แล้ว

การจัดงานเลี้ยงในบางงานฟุ่มเฟือยจนเกินไป เพราะคนไทยมักนิยมความมีหน้ามีตา บางคนต้องกู้หนี้ยืมสิน เช่น งานแต่งงาน พิธีศพ” ดังมีคำกล่าวว่า “ตำน้ำพริกละลายแม่นํ้า” หรือ “คนตายขายคนเป็น” เป็นต้น ถึงแม้จะมีพุทธภาษิตข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า “สุขเกิดจากการไม่มีหนี้สิน” แต่คนไทยก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนัก

ที่มา:กรมศิลปากร