ประวัติต้นโพธิ์ต้นแรกในโลก

Socail Like & Share

เมฆินทร์  พานิชกุล

กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

เมื่อเห็นหัวข้อเรื่องแล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าจะเอาอะไรมาเป็นหลักฐาน หรือพิสูจน์ให้แน่ชัดลงไปว่า ต้นโพธิ์ที่กำลังจะพูดถึงนี้เป็นต้นโพธิ์ต้นแรกในโลกจริง ต้นโพธิ์ต้นอื่นที่มีก่อนต้นโพธิ์ต้นนี้ไม่มีบ้างหรือ ข้อนี้อาจทำให้ท่านคิดเลยเถิดไปว่า เรื่องนี้อาจจะเข้าทำนองว่า “อาดัมกับอีวา เป็นมนุษย์คนแรก (คู่แรก) ในโลก” นี้ เป็นความคิดของนักปราชญ์ในกาลก่อนว่าไว้ในแง่ของมนุษยชาติ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นจริง หรือไม่จริงก็ได้ อย่างไรก็ตามเรื่องต้นโพธิ์ต้นแรกนี้ จะเป็นความจริงหรือไม่ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเองตามเนื้อความที่จะกล่าวต่อไป แต่ก่อนที่จะพูดถึงความเป็นมาของต้นโพธิ์ต้นแรก ควรรู้ถึงความหมายของคำว่า “โพธิ” ก่อน ตามหลักภาษาศาสตร์ที่นักปราชญ์กล่าวไว้

ถ้าจะว่ากันตามคัมภีร์ที่นักปราชญ์นิยามความหมายไว้ คำว่า “โพธิ” ที่เป็นคุณศัพท์ของต้นไม้ อันเราเรียกกันว่า”ต้นโพธิ์” นั้น แปลตามภาษาศาสตร์ว่า “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์” หรือ “พระโพธิสัตว์นั่งใต้ต้นไม้ใดแล้วได้ตรัสรู้ธรรมทั้ง ๔ ประการ ต้นไม้นั้นเรียกว่า “โพธิ” (เป็นที่ตรัสรู้ของพุทธ) หากว่าพิจารณาตามนี้ พอจะพูดได้ว่า ต้นไม้ที่พระโพธิสัตว์นั่งใต้ต้นตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้นามว่าต้นโพธิ์ คำว่า “พระโพธิสัตว์” ในที่นี้แปลว่า “ผู้ข้อง(หวัง) ในอันที่จะตรัสรู้เป็นพุทธ” ท่านผู้ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านี้ ท่านผู้รู้บางท่านเรียกว่า “ปรารถนาพุทธภูมิ” หรือ “ปรารถนาโพธิญาณ”

เรื่องต้นโพธิ์นี้ ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ปริจเฉท(บท) ที่ ๘ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๓ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย จัดพิมพ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…เสด็จลีลา จาก ทิวาวิหาร (เสด็จสำราญพระอิริยาบถเวลากลางวันที่ได้ต้นนิโครธ) จักบทจรสู่สถานโพธิพฤกษ์มณฑล…..”

ตามเนื้อความที่กล่าวนี้ ไม่บ่งชัดว่าที่เรียกว่า “โพธิพฤกษ์มณฑล” นี้มีชื่อมาก่อนพระสิทธัตถโพธิสัตว์ตรัสรู้ หรือเรียกอย่างนั้น หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้ว

ในปริเฉทที่ ๓ แห่งพระปฐมสมโพธิกถานี้เช่นเดียวกัน มีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึง “สหชาติ” ซึ่งหมายถึงผู้หรือสิ่งที่เกิดพร้อมกับพุทธ มี ๗ อย่าง คือ ๑.  ยโสธราพิมพา ๒.  พระอานนท์พุทธอนุชา ๓.  นายฉันนามาตย์  ๔.  นายกาฬทายีอำมาตย์ ๕.  ม้ากันฐกะ ๖.  ต้นมหาโพธิ์  ๗.  ขุมทรัพย์ทั้ง ๔

เรื่อง “สหชาติ” นี้ มิได้บ่งชัดว่า “ไม้มหาโพธิ์” ที่ว่าเกิดพร้อมกับพุทธนั้น พอเกิดขึ้นมาก็เรียกว่า “ไม้มหาโพธิ์” หรือเรียกชื่ออย่างอื่นก่อนแล้ว จึงได้นามว่า “ไม้มหาโพธิ์” หลังจากพระโพธิสัตว์ตรัสรู้แล้ว เรื่องนี้ถ้าพิจารณากันตามเนื้อความที่ว่า “เกิดพร้อมกัน” น่าจะมีชื่อว่า “ไม้มหาโพธิ์” ก่อนคือพอต้นไม้เกิดงอกขึ้นมาก็มีชื่อว่า “ไม้มหาโพธิ์” มิใช่มีชื่อว่า “ไม้มหาโพธิ์” หลังจากที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้แล้ว

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ปริจเฉทที่ ๒๐ ใจความตอนที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ อชิตภิกษุว่า “….ขณะนั้น อันว่าปราสาทก็เลื่อนลอยขึ้นบนนภากาศ ลงมาประดิษฐาน ณ ปฐพีใกล้ “ไม้นาคมหาโพธิ์ คือ ไม้กากะทิง” พระมหาโพธิสัตว์ก็ลงจากปราสาทถือทิพยกาสาวพัสตร์อันท้าวมหาพรหมนำมาถวายแล้วบรรพชา….”

ตามเนื้อความที่กล่าวในปริจเฉทนี้ เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า “ไม้กากะทิง” เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งก่อนพระเมตไตยยโพธิสัตว์ หรือพระศรีอาริยเมตไตย์ตรัสรู้ ต่อเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว จึงได้นามใหม่ว่า “ไม้นาคมหาโพธิ์”

หนังสือต้นไม้สำคัญในพุทธประวัติของหลวงบุเรศบำรุงการ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายสวัสดิ์  ผึ่งผายงาม พ.ศ. ๒๕๑๓ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ต้นศรีมหาโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) เป็นต้นไม้ที่สำคัญยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้ภายใต้ร่มศรีมหาโพธิ์…”

เนื้อความในหนังสือนี้แสดงให้รู้ว่า “อัตถพฤกษ์” เป็นชื่อเดิมของ “ต้นศรีมหาโพธิ์”

หนังสืออนาคตวงศ์ คือ เรื่องราวของพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ฉบับพิมพ์ โรงพิมพ์พระจันทร์ พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้กล่าวไว้ในหน้า ๑๑ ว่า “….กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระมหาโพธิ์ สิ้นประมาณ ๗ วัน…..”

คำกล่าวในหนังสือนี้ คำว่า “พระมหาโพธิ์” นี้มิได้บ่งชัดว่ามีชื่อเช่นนั้นมาก่อนพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ หรือหลังตรัสรู้

ในหนังสือพระไตรปิฎกภาษาไทย เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ข้อที่ ๑ ฉบับของกรมการศาสนา กล่าวว่า “โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน ฯลฯ…”

ตามหลักฐานที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนี้ ไม่มีคำว่า “อัสสัตถพฤกษ์” ซึ่งเป็นชื่อของต้นโพธิ์มาก่อนเหมือนในคัมภีร์อื่น ๆ ที่เขียนขึ้นทีหลัง จึงชวนให้สงสัยว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ตรัสรู้แล้วจึงมีนามว่า “โพธิพฤกษ์” หรือมีชื่ออย่างนั้นมาก่อนพระองค์ตรัสรู้

ในหนังสือชื่อ ๔๕ พรรษา ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระสาสนโสภณ วัดบวรนิเวศน์วิหาร เป็นผู้เรียบเรียง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…พระพุทธเจ้าพระองค์ได้ตรัสรู้ที่ภายใต้ต้นไม้ชื่อว่า “อัสสัตถะ” ต่อมาก็เรียกว่า “ต้นโพธิ์” คำว่า “โพธิ” แปลว่า “ตรัสรู้” เพราะพระพุทธเจ้าไปประทับนั่งใต้ต้นไม้นั้นตรัสรู้ จึงได้เรียกว่า “ต้นไม้ตรัสรู้” เรียกเป็นศัพท์ว่า “โพธิพฤกษ์” แต่ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ว่า “อัสสัตถพฤกษ์…”

ตามนัยที่กล่าวในหนังสือนี้ บ่งชัดว่าที่เรียกว่า “ต้นโพธิ์นั้น” ได้นามนี้หลังจากเป็นที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ชื่อสิทธัตถะ

แม้ใน อรรถกถามหาวรรค ชื่อสมันตปาสาทิกา และฎีกาสมันตปาสาทิกา ชื่อ สารัตถทีปนี ได้แก้เนื้อความในบาลีไว้ว่า คำว่า “โพธิ” หมายถึงพระโพธิสัตว์ตรัสรู้มรรค ๔ (โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีญาณหยั่งรู้ชัดแจ้งในมรรคทั้ง ๔ นั้นที่ใต้ต้นไม้นี้ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกต้นไม้นั้นว่า “โพธิ” ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เมื่อพิจารณาตามเนื้อความที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า เมื่อมีพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็มีต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ๆ จึงน่าจะลงความเห็นได้ว่าเมื่อมีพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกในโลกในกาลใด ในกาลนั้นนั่นแหละจึงเกิดมี “ต้นโพธิ์ต้นแรกขึ้นในโลก” อันว่าต้นโพธิ์ที่เป็นที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์นี้ ย่อมเป็นปูชนียสถาน เป็นที่สักการบูชาเคารพนับถืออย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชน และแม้ของผู้ที่มิใช่พุทธศาสนิกชนบางกลุ่มบางหมู่ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร กับพระอานนท์ว่า สถานที่ซึ่งชวนให้เกิดความสังเวชสลดใจ ควรรู้ ควรเห็น ของผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งบุญสัมปทาได้นั้น คือสถานที่ตถาคตเจ้าตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นี้ประการหนึ่ง…

สำหรับในภัททกัปป์นี้ในศาสนาแห่งพระสมณโคดมพุทธเจ้านี้ ย่อมเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ที่พุทธคยา ตำบลคยา แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย ปัจจุบัน ต้นโพธิ์หรือต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่สืบเนื่องมาจากต้นโพธิ์ต้นแรก ซึ่งเป็นที่ตรัสรู้ของพระสิทธัตถราชกุมาร เจ้าชายหนุ่มแห่งแคว้นสักกะผู้เสด็จออกบวชเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ได้ตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ ๓๕ ปี

ปัจจุบันนี้ ชาวอินเดียถือว่า “ต้นโพธิ์” ที่พุทธคยา เป็นวัตถุโบราณซึ่งจัดเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์และมีค่ามหาศาล เป็นเหมือนขุมทรัพย์อันล้ำค่า เป็นบ่อเกิดของทรัพย์โดยไม่ต้องลงทุน ทำรายได้ให้ประเทศ จากนักท่องเที่ยวจากทิศานุทิศ ในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมากมาย หากใครสักคนหนึ่งไปประเทศอินเดีย แม้นมิได้ไปเยือนหรือนมัสการสถานที่นี้ ก็เหมือนมิได้ไปประเทศอินเดีย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *