เพลงพื้นบ้านในประเทศไทย

Socail Like & Share

เพลงพื้นบ้านในประเทศไทยก็มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลสืบหาหลักฐานไม่ได้แน่นอนว่ามีต้นกำเนิดขึ้นในสมัยใด เป็นของที่เกิดขึ้นเป็นปกติวิสัยของคนในสังคม  เพราะเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงจากการหาต้นกำเนิดไม่ได้เช่นนี้ จึงมีผู้เรียกว่าเพลงพื้นบ้านเป็นบทเพลงที่ไร้ตำนานบ้าง เป็นเพลงบอกศตวรรษบ้าง เพลงนอกทำเนียบบ้าง เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี และความรู้ทุกแขนงในประเทศไทยที่เรามักจะอ้างสิ้นสุดแต่ศิลาจารึกก็มีความรู้ทุกแขนง ยกเว้นแต่เพลงพื้นบ้าน มีกล่าวถึงการละเล่นเพียงเล็กน้อย  ว่าเมื่อใดมีการมหรสพก็จะมี

“….เสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื้อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น – เล่น ใครจักมักหัว – หัว ใครจักมักเลื้อน – เลื้อน”  เพียงเท่านี้จะถือว่าเรามีการเล่นเพลงพื้นบ้านแล้วก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะเมื่อมนุษย์เรารู้จักดีด สี ตี เป่า พูดคำให้คล้องจองกันได้ ก็สามารถสร้างเพลงขึ้นมาได้แล้ว  อย่างน้อยน่าจะมีเพลงกล่อมควบคู่มากับการเลี้ยงเด็กทารก ส่วนในสมัยอยุธยานั้นมีหลักฐานเกี่ยวกับเพลงดังที่ลาลูแบร์  ก็กล่าวถึงการเล่นดนตรี จำพวกมโหรี ปีพาทย์ ในเมื่อมีมโหรี  ปี่พาทย์ก็น่าจะต้องมีการร้องในระดับชาวบ้านแน่นอน  มาปรากฎหลักฐานแน่ชัดในแผ่นดินสมัยพระบรมไตรโลกนารถว่าห้ามมีการ “ร้องเรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ ตีทับขับโห่”  ในบริเวณสระแก้ว

ดังนั้น  เราพอจะสรุปได้ว่า เพลงพื้นบ้านของไทยมีมาช้านานพอกับสังคมไทยแต่จะเป็นไปในลักษณะใด อาจจะต้องใช้การค้นคว้าอ้างหลักฐานให้แน่นอนกว่านี้  และหลักฐานเกี่ยวกับการเล่นเพลงพื้นบ้านมีปรากฎในสมัยอยุธยา  ชื่อที่พบ คือ เพลงเรือ เพลงเทพทอง(ปุณโณวาทคำฉันท์)  ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์มีชื่อเพลงพื้นบ้านปรากฎอยู่ในจารึกวัดโพธิ์  และในวรรณคดีต่าง ๆ สมัยต้นรัตนโกสินทร์, เพลงที่ปรากฎชื่อคือ เพลงปรบไก่ เพลงเรือสักวา แอ่วลาว ไก่ป่า เกี่ยวข้าว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า มีการเล่นเพลงเรือ สักวาในเทศกาลทอดกฐิน มีเพลงฉ่อน ลิเก ลำตัด และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมานั้น มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านไว้ให้เราได้อ่าน และได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเป็นจำนวนมาก

การแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้าน

การแบ่งประเภทของเพลงพื้นบ้านทำได้ต่าง ๆ กัน เช่น อาจจะแบ่งตามท้องถิ่น ก็เป็นการแบ่งอย่างกว้าง ๆ เช่น เป็นเพลงพื้นบ้านลานนา(เหนือ) เพลงพื้นบ้านอีสาน เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านทักษิณ(ใต้) จนกระทั่งแยกย่อยไปตามเขตวัฒนธรรมก็เพลงพื้นบ้านภาคตะวันออก เพลงพื้นบ้านภาคตะวันตกหรือเป็นจังหวัด เช่น เพลงพื้นบ้านกาญจนบุรี เพลงพื้นบ้านสิงห์บุรี เพลงพื้นบ้านปทุมธานี เป็นอำเภอเป็นหมู่บ้าน เช่น เพลงพื้นบ้านพนมทวน เพลงพื้นบ้านโพหัก เพลงพื้นบ้านเขาทอง เพลงพื้นบ้านบางลูกเสือ เพลงพื้นบ้านบางปะหัน ฯลฯ หรืออาจจะแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการเล่นเพลงเหล่านั้น เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงเด็กเล่น เพลงประกอบการเล่น เพลงปฏิพากย์ เพลงประกอบพิธี เพลงในลานนวดข้าว เพลงพื้นเมือง ฯลฯ ก็ได้

ในหนังสือนี้จะเสนอเพลงพื้นบ้านตามผู้เล่นซึ่งจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ได้แก่

1.  เพลงเด็ก

2.  เพลงผู้ใหญ่

การแบ่งเช่นนี้  เป็นการแบ่งอย่างกว้างที่ครอบคลุมทุกเพลงและทุกท้องถิ่น และจะได้จำแนกชนิดของเพลงทั้ง 2 ประเภทนี้ตามลำดับส่วนตัวอย่างพยายามยกให้ตรงทุกเพลง  อาจจะเป็นตัวอย่างจากภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคกลาง ภาคใต้ กระจายกันไป ขอให้เข้าใจตรงกันว่าเพลงเหล่านี้มีทุกภาค แต่ไม่สามารถยกตัวอย่างได้หมด

1.  เพลงเด็ก

เพลงเด็กในที่นี้หมายถึง เพลงที่ผู้ร้องและผู้เล่นเป็นเด็กจริง ๆ ตั้งแต่เด็กเริ่มร้องเพลงได้ไปจนถึงวัยก่อนหนุ่มสาว เพลงลักษณะนี้มีทุกภาค และทุกท้องถิ่น  อาจจะมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันไป(การจำแนกวิธีนี้ไม่รวมเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่เป็นผู้ร้อง เด็กเป็นเพียงผู้ฟัง)  ผู้ใหญ่อาจจะนำเพลงเหล่านี้ไปร้องเล่นบ้างแต่ก็เป็นบางครั้งบางคราว บางโอกาสเท่านั้น

การใช้คำ การใช้คำในเพลงเด็กจะใช้คำสั้น ๆ ง่าย ๆ มีลักษณะคล้องจองกันแต่ก็ไม่แน่นอน

เพลงเด็กจำแนกย่อยได้ดังนี้

1.1  เพลงร้องเล่น

1.2  เพลงหยอกล้อ

1.3  เพลงขู่ ปลอบ

1.4  เพลงประกอบการเล่น

1.1  เพลงร้องเล่น

เพลงร้องเล่นเป็นเพลงที่เด็กใช้ร้องเล่นกัน ไม่ต้องการเล่นประกอบ  ใช้ร้องเพื่อความสนุกสนาน เนื้อร้องอาจจะไม่มีความหมายก็ได้  แต่จะมีความคล้องจองใช้คำง่ายและชวนขัน  ตัวอย่าง

ฝนตกแดดออก               นกกระจอกเข้ารัง

แม่หม้ายใส่เสื้อ                        ถ่อเรือไปดูหนัง

ทิ้งลูกอยู่ข้างหลัง                      ร้องกระจองอแง(ภาคกลาง)

1.2  เพลงหยอกล้อ

เป็นเพลงที่เด็ก ๆ ร้องล้อเลียนกันเกี่ยวกับสิ่งที่ผิดปกติ เด็กที่ถูกจะโกรธเคืองกันบ้าง  บางทีถึงกับไล่ขว้างปาทะเลาะกันก็มี แต่ก็จะหายโกรธกันในเวลารวดเร็ว

ตัวอย่าง

ผมจุก                   มาคลุกน้ำปลา      เห็นขี้หมา    นั่งไว้พระจ้องหง่อง

ผมม้า                   หน้าเหมือนแมว    ดูเข้าแล้ว     หน้าเหมือนหมา

ผมเปีย        มาเลียใบตอง        พระตีกลอง     ตะลุมตุ้มมุง

ผมแกละ     กระแดะใส่เกือก    ตกน้ำตาเหลือก     เหลือเกือกข้างเดียว

1.3  เพลงขู่ ปลอบ

เพลงขู่ เพลงปลอบ คือเพลงที่ร้องขู่เด็ก หรือปลอบเด็กให้หยุดร้องไห้หายตกใจ  ส่วนมากพี่เลี้ยงเด็กหรือเด็กโตกว่าเป็นผู้ร้องเช่นที่ร้องขู่น้องให้หยุดร้องไห้ เพราะกลัวโดนแม่ตี(พี่) ที่ทำน้องร้องไห้

ตัวอย่าง

1. แม่ใครมา                             น้ำตาใครไหล

ได้เบี้ยสองไพ                           ติดก้นแม่มา(ภาคกลาง)

2.  ตำเบื่อโพล้งโพล้ง                กระต่ายเข้าโพรง

โพรงอยู่ที่ไหน                           โพรงอยู่ที่นี่ จักจี้ จักจ๋อย(ภาคกลาง)

3.  จ้ำเขาเบี๋ย                           เอียะลูกนก

จกขี่แล                                     แญฮู้คอ(ภาคอีสาน)

(เพลงจันทร์เจ้าขาก็เป็นเพลงปลอบเหมือนกัน)

1.4  เพลงประกอบการเล่น

เพลงประกอบการเล่น  ได้แก่ เพลงที่เด็กร้องประกอบการเล่น  อาจจะร้องเป็นกลุ่มหรือร้องทีละคน  สลับข้างกันก็ได้  บางทีมีตบมือให้จังหวะหรือทำท่าประกอบด้วย

ตัวอย่าง

1.  มอญซ่อนผ้า              ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง

ไว้โน่นไว้นี่                       ฉันจะตีก้นเธอ(เล่นมาญซ่อนผ้าภาคกลาง)

2.  จ้ำจี้มะเขือเปราะ       กระเทาะหน้าแว่น

พายเรืออกแอ่น               ตาแท่นต้นกุ่ม

สาวสาวหนุ่มหนุ่ม           อาบน้ำท่าไหน

อาบน้ำท่าวัด                  เอาแป้งที่ไหนผัด

เอากระจกที่ไหนส่อง       เยี่ยม ๆ มอง ๆ นกขุนทองร้องเน้อ(เล่นจ้ำจี้ ภาคกลาง)

2.  เพลงผู้ใหญ่

เพลงผู้ใหญ่ในที่นี้หมายถึง  เพลงที่ผู้ร้องเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงวัยชรา  ส่วนผู้ฟังไม่จำกัดอายุและเพศ  อาจจะเป็นเด็กโตที่ฟังความออกไปจนถึงผู้ใหญ่  ผู้เฒ่าผู้แก่ และทุก ๆ คนในหมู่บ้าน  เป็นเพลงที่มีมากที่สุดและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมากที่สุดตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  มีทั้งเพลงที่ร้องเพื่อความบันเทิงในเทศกาล ร้องประกอบพิธีกรรม และร้องประกอบการเล่นของผู้ใหญ่  มีทุกภาคเช่นเดียวกัน  ได้จำแนกเพลงผู้ใหญ่ไว้ 6 ประเภท ดังนี้

2.1 เพลงกล่อมเด็ก

2.2  เพลงปฏิพากย์

2.3  เพลงประกอบการเล่น

2.4  เพลงประกอบพิธี

2.5  เพลงเกี่ยวกับอาชีพ

2.6  เพลงแข่งขัน

ซึ่งจะได้อธิบายและยกตัวอย่างพอเข้าใจตามลำดับ

2.1  เพลงกล่อมเด็ก

ความหมาย เพลงกล่อมเด็ก คือเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องขับกล่อมเด็กในเวลานอน เพื่อต้องการให้เด็กเบนความสนใจมาสู่สำเนียงกล่อมสนใจฟังเนื้อเพลงซึ่งมีต่าง ๆ กัน  จะรู้เรื่องบ้างหรือไม่รู้เรื่องบ้างก็ไม่เป็นไร  จะได้หยุดอ้อนร้องไห้โยเย เกิดความเพลิดเพลินกับกทำนองขับเอื้อน  ในที่สุดก็หลับไปโดยไม่รู้ตัว

เพลงกล่อมเด็กมีชื่อเรียกต่างกันไป  เช่น เรียกเพลงเห่กล่อมพระบรรทมใช้กับพระโอรส ธิดา พระมหากษัตริย์ ภาคกลางเรียกเพลงกล่อมเด็ก ภาคเหนือ ภาคอีสาย เรียกเพลงอื่อ เพลงอื่อลูก ภาคใต้เรียกเพลงร้องเรือ หรือเพลงชาน้อง เพลงกล่อมเด็กนี้ปรากฎในชนชาติอื่นด้วยเช่นเดียวกัน  ในภาษาอังกฤษ มีคำ Lallaby Nursury Rhym ซึ่งหมายถึงเพลงกล่อมเด็กทั้งสิ้น ชาติอื่น ๆ เช่น อินเดียนแดง จีน มอญ ลาว เขมร มลายู ก็มีเพลงกล่อมเด็กเช่นเดียวกัน

ที่มา  เพลงกล่อมเด็กจะมีต้นกำเนิดขึ้นเมื่อใดไม่สามารถตอบได้  เพลงกล่อมเด็กจัดเป็นวรรณกรรมปากเปล่า Oral Poctry เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านชนิดอื่น ๆ แต่ต่างกันที่วัตถุประสงค์ เพลงกล่อมเด็กมีวัตถุประสงค์การร้อง เพื่อกล่อมให้เด็กนอนหลับ ผู้ร้องผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานชั่วขณะเมื่อเด็กหลับจะได้เริ่มงานใหม่ต่อไป

เมื่อเริ่มต้นร้องเพลงกล่อมเด็กอาจจะเริ่มต้นสำเนียงกล่อมเป็นเสียงเอื้อนทำนองในคอ เช่น อื่อ อือ เอ่อ เอ่เอ (ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน) ฮาเออ เหอ (ภาคใต้) แล้วจึงใส่เนื้อร้องสั้น ๆ ที่แสดงถึงความน่ารัก  น่าเอ็นดูของเด็ก ต่อมาสอดแทรกสภาพความเป็นอยู่ ความเชื่อ ของสังคมท้องถิ่นลงไปจึงมีเพลงที่กล่าวถึงนกสัตว์เลี้ยงอื่นแทรกภาพชีวิต นิทาน ตำนาน นิยายประจำถิ่นลงไป ด้วยซึ่งผู้ฟังเพลงเหล่านี้(อาจจะมิใช่เด็ก) จะได้รับการปลูกฝังความรู้และค่านิยมเหล่านี้ลงไปโดยไม่รู้ตัว

เพลงกล่อมเด็กในประเทศไทยก็เช่นเดียวกับเพลงพื้นบ้านอื่นที่ขาดช่วงของการสืบทอดไประยะหนึ่ง ตั้งแต่มีความเจริญทางด้านการสื่อสารเข้ามา  ไม่มีการร้องเพลงกล่อมเด็กกันอีกเลยในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา  จากการไปสำรวจเพลงกล่อมเด็กในช่วงหลังนี้ผู้ที่ร้องได้กันคนละเพลงสองเพลง  ประวัติการรวบรวมเพลงกล่อมเด็กดังที่กล่าวมาในตอนต้นแล้ว(ใน พ.ศ.2467-2471) ส่วนในปัจจุบัน (20 ปีที่ผ่านมา) ความสนใจที่จะรวบรวมข้อมูลเพลงกล่อมเด็กมีมากขึ้น  เราจึงเห็นผลงานการค้นคว้ารวบรวมวรรณกรรมชาวบ้าน  ซึ่งรวบรวมเพลงกล่อมเด็กไว้ด้วยส่วนหนึ่งเสมอ  บางท้องถิ่นได้มากมายเป็นจำนวนพัน(ภาคใต้) บางท้องถิ่นเป็นร้อย (ภาคกลาง) บางท้องถิ่นได้เป็นจำนวนสิบ (ภาคเหนือ ภาคอีสาน) แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเพลงกล่อมเด็กมีจำนวนทั้งหมดเพียงเท่านี้  ยังตกสำรวจอยู่อีกเป็นจำนวนมาก  แต่การร้องกล่อมเด็กตามวัตถุประสงค์เดิมไม่มีอีกแล้ว  เพราะไม่มีผู้ร้องได้ การกล่อมเด็กในปัจจุบันใช้วิธีฟังนิทาน (จากเทป) ฟังเพลง (จากวิทยุ เทป) เป็นส่วนใหญ่ จึงน่าจะมีการฟื้นฟูการร้องเพลงกล่อมเด็กกันให้จริงจังเสียที เพราะเป็นเพลงพื้นบ้านที่มีคุณค่าต่อสังคมมาก

ตัวอย่าง เพลงกล่อมเด็ก(ยกตัวอย่างภาคละ 1 เพลง)

1.  อื่อ อื่อจา                             (ภาคเหนือ)

อื่อ อื่อ จา                                           นายหลับสองตาจะไปให้

แก้วแก่นไท้ลูกแม่จะใหญ่วัหนึ่ง นายไห้อย่ากิ๋นจิ้น

บ่อมิไผใดแล่นไปหา                           นายไห้อยากกินป๋า

บ่อมิไผคนใดแล่นไปส้อน                   มีเข้าเย็นอยู่สองสามก้อน

ป้อนแล้วค่อยหลับไป                         อดไจ๋หลับสองตา

เจ้านอนจาจะไปให้                             แก้วแก่นไท้ ลูกอี่แม่จะใหญ่วันหนึ่ง

2.  น้อนสาเด้อ                          (ภาคอีสาน)

นอนสาเด้อหล่า                                  น้อนสาแมสิกอม

แมสิไป๋เข็นฝ้าย                                  เดี๋ยนหงายเอ๋าพอ

เอ๋าพอม้าเกี่ยวหญ่า                           มุ้งหลังคาให้เจ้ายู

ฝนสิฮ้ำ อูแก้ว                                    สิไปซนยูไส

คันเพินได่กิ๋นซิ่น                                 เจ้ากะเหลียวเปิงต๋า

คันเพินได้ป๋า                                      เจ้ากะสิเหลียวเบิงหน้า

มูพี่น่องเฮื้อนใก้                                  เพิ่นกะซัง

3.  วัดโบสถ์                              (ภาคกลาง)

วัดเอยวัดโบสถ์                         มีต้นโตนดอยู่เจ็ดต้น

เจ้าขุนทองไปปล้น                    ปานฉะนี้ไม่เห็นมา

คดเข้าออกใส่ห่อ                      จะถ่อเรือออกไปหา

เขาก็เล่าภามา                         ว่าเจ้าขุนทองตายแล้ว

เหลือแต่กระดูกแก้ว                  เมียรักจะไปปลง

ขุนศรีจะถือฉัตร                        ยกกระบัดจะถือธง

ถือท้ายเรือหงส์                         ปลงศพเจ้าพ่อนา

4.  เดือนขึ้น                                        (ภาคใต้)

ฮาเอ้อ…เดือนขึ้นเหอ                          ขึ้นมาเทียมปลายไม้ไผ่

รักกันแต่ในใจ                                    ไม่เท่ใช้ใครไปขอให้

ตัวพี่นั้นเป็นไม้ฉวย                             ตัวสาวน้อยเป็นดอกไม้

ไม่เท้ใช้ใครไปขอให้                            รักกันแต่ในเห้อ…ใจ

2.2  เพลงปฏิพากย์(ยาว)

เพลงปฏิพากย์  คือเพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันในโอกาสและเทศกาลต่าง ๆ ลักษณะเฉพาะของเพลงปฏิพากย์ คือ เป็นเพลงที่ร้องโต้ตอบกัน 2 ข้าง  ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงและต้องเป็นเพลงปฏิภาณ คือร้องแก้โต้ตอบกันอย่างฉับพลันด้วย  เพราะเป็นการร้องสดบนเวทีกลางลานบ้านต่อหน้าผู้คนเป็นจำนวนมาก  ร้องเล่นกันได้เป็นเวลานาน

เพลงปฏิพากย์มีในทุกภาคของประเทศไทย  มีทั้งการร้องโต้ตอบกันสั้น ๆ และร้องโต้ตอบกันยาว ๆ จนถึงเป็นเรื่องเป็นราวก็มีตัวอย่างเพลงปฏิพากย์ในภาคเหนือ เช่น การเล่นซอพื้นเมืองมีลักษณะเป็นเพลงโคราชหมอลำกลอน ซึ่งมีผู้ร้องชายหญิง 2 ข้าง ร้องโต้ตอบกัน  ภาคใต้มีเพลงนกที่เข้าลักษณะเพลงปฏิพากย์  ส่วนภาคกลางมีเพลงพื้นบ้านที่เข้าลักษณะเพลงปฏิพากย์มากที่สุด  แม้กระทั่งเพลงในลานนวดข้าวก็ยังเข้าลักษณะเพลงปฏิพากย์อย่างสั้น  ตัวอย่างเพลงปฏิพากย์ในภาคกลางที่ร้องเล่นอย่างยาว  เล่นกันเป็นวงและได้รับความนิยมมากในอดีต  เช่น เพลงเรือ เพลงหน้าใย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงระบำบ้านนา เพลงพวงมาลัย เพลงเหย่ย เพลงอีแซว เพลงรำป่าบ้านไร่ เพลงปรบไก่ เพลงเทพทอง เพลงลำตัด เพลงแอ่วเคล้าซอ เพลงฉ่อย ฯลฯ

เหย่ย คำนี้ออกเสียงสระเออ เช่นเดียวกับคำอื่น ๆ ในภาษาไทย เช่น เออ เกย เลย เตย ไม่ต้องใส่ตัว อ เพราะเป็นสระลดรูป  ดังนั้นไม่ควรใส่ตัว อ เข้าไปเป็น เหย่อย ดังที่เขียนกันบางแห่งสันนิษฐานว่า เหย่ย มาจากคำเอยออกเสียงต่อเนื่องกันยาวออกไป  ถ้าเขียนไม่เหมือนกันจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นคนละเพลงกัน

ลำดับขั้นตอนในการเล่นเพลงปฏิพากย์อย่างยาวนี้  มีขั้นตอนเหมือนกันทุกเพลง คือเริ่มต้นจากร้องเกริ่นไหว้ครู แต่งตัว เกริ่นทักทาย ประ(เกี้ยว) ลักหาพาหนี ชิงชู ตีหมากผัว ร้องลา ให้พร ซึ่งจะอธิบายขั้นตอนเหล่านี้พอเข้าใจตามลำดับ

ร้องเกริ่น เป็นบทร้อง ก่อนจะเริ่มการเล่นเพลงเป็นทำนองชักชวนผู้เล่น

บทไหว้ครู ชายจะเป็นผู้เริ่มบทไหว้ครูก่อน  แล้วจึงตามด้วยบทไหว้ครูของหญิง  บทไหว้ครูจะกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาตั้งแต่พระรัตนตรัย เทวดา เจ้าพ่อ เจ้าแม่ บางทีต่อจากบทไหว้ครูก็ร้องเกริ่นชักชวนอีกครั้ง  บิดามารดา ครูพักลักจำ แล้วขอให้การร้องเพลงเล่นเพลงในครั้งนี้ดำเนินไปอย่างดี  ถ้าเป็นการแข่งขันก็ให้ชนะคู่แข่งขัน

บทแต่งตัว เมื่อเริ่มจะเล่นเพลงจะสร้างบรรยากาศคล้ายกับการไปเที่ยวงานมหรสพ คือมีการแต่งตัวจะไปเกี้ยวสาว จะไปชวนสาวไปเล่นเพลงกัน  การแต่งตัวนี้จะสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการแต่งตัวในสมัยนั้น ๆ เป็นอย่างดี เช่น สมัยนุ่งโจงกระเบนเสื้อคอปิด สมัยกางเกงแพร เสื้อคอกลม สมัยกางเกงหรั่ง(สากล) เสื้อคอแบะ(เชิ้ต) หรือผู้หญิงนุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ สมัยนุ่งผ้าถุง เสื้อแขนสามส่วนห่มสไบสีต่าง ๆ ตามวัน ฯลฯ

บทเกริ่น ทักทาย เป็นบทที่ชายจะร้องกล่าวทักทายหญิง ชักชวนให้มาร่วมเล่นเพลง  จะสร้างบรรยากาศเหมือนมายืนร้องเรียกอยู่ที่หน้าบ้านเป็นเวลานาน  เมื่อหญิงตกลงปลงใจก็จะกล่าวทักทายแล้วเริ่มต้นว่าประกันต่อไป

บทประเกี้ยวพาราสีผูกรัก ลักหมู่พาหนี-สู่ขอ เป็นบทที่ชายหญิงเกี้ยวกันเป็นขั้นตอนที่นานจะพูดเกี้ยวกันนานแค่ไหนก็แล้วแต่ความสามารถของผู้เล่นเพลง อาจจะ 2-3 ชั่วโมง หรือทั้งคืน หรือเล่นกัน 3 วัน 3 คืนก็ได้ การเล่นเพลงปฏิพากย์ธรรมดาจะสิ้นสุดเพียงแค่บทผูกรัก มาจบตอนที่รักหาพาหนี  บางทีถ้าไม่หนีตามกันก็ตกลงให้ผู้ใหญ่มาสู่ขอ  เมื่อใดที่ฝ่ายหญิงตกลงรับรักหนีตามกันไปหรือให้มาสู่ขอก็เป็นอันจบการเล่นเพลง  แต่ส่วนมากนิยมลักหาพาหนีมากกว่า

บทชิงชู้ คือบทร้องระหว่างชาย 2 หญิง 1 จะสร้างภาพว่าชายจากบ้านไปอาจจะไปทัพหรือไปธุระอื่นใด  พอกลับมาบ้านไม่พบเมีย พบแต่บ้านร้างทรุดโทรม ลูกเต้ามอมแมม ได้ข่าวว่าเมียตามชู้ไป ฝ่ายชายจะไปตามจนพบเมียกับชายชู้  ทะเลาะกันจนถึงขึ้นโรงขึ้นศาล

บทตีหมากผัว คือบทร้องระหว่างหญิง 2 ชาย 1 หญิง 2 คน แย่งผัวกัน ชาวบ้านชอบฟังกัน  เพราะมีบทด่าว่าดุเดือดระหว่างเมียหลวง เมียน้อย

บทร้องลาและให้พร เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการเล่น  ทั้งสองฝ่ายจะร้องลาจาก มีการแสดงความอาลัยต่อผู้เล่น  ผู้ชม และให้พรให้ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ให้ยุ้งข้าวเหนียวแต่ยอดมะพร้าว ผุ้งข้าวเจ้าแต่ยอดไผ่ เป็นต้น

การเล่นเพลงปฏิพากย์ตามธรรมดาจะเล่นไปไม่ถึงบทชิงชู้และตีหมากผัว  เพราะเพียงแต่ประเกี้ยวพาราสีกันในบทผูกรัก ก็หมดเวลาเสียแล้ว จะเล่นบทชิงชู้และตีหมากผัว ผู้ฟัง ผู้ชมต้องขอร้องเป็นกรณีพิเศษ  หรือบางทีให้เล่นเพลงพิเศษเป็นเพลงเบ็ดเตล็ดก็ได้  ซึ่งก็แล้วแต่เจ้าภาพ เช่น เพลงตับต่าง ๆ ตับแมว ตับธง ตับภาษีฎีกา กลอนยักคิ้ว กลอนกะได กลอนแดง กลอนชมป่า ชุดเช่านา ชุดเช่าเรือ ชุดหาซื้อควาย เพลงชม ฯลฯ

ฉันทลักษณ์  โครงสร้างและการเล่น

เพลงปฏิพากย์ก็เช่นเดียวกับเพลงพื้นเมืองอื่นคือ  อาจจะเป็นวรรคละ 3-13-14 คำ  ส่วนมากจะเป็นกลอนหัวเดียว  เป็นกลอนลา กลอนสี กลอนลัว กลอนไล เวลาร้องจบตอนจะมีลูกคู่คอยเสริมหรือรับ  และคอยตบมือเข้าจังหวะ  เครื่องดนตรีที่ใช้ก็ใช้แต่ ฉับ กรับ รำมะนา บางทีอาจจะมีวงกลองยาวผสมด้วย  ก็แล้วแต่ท้องถิ่นจะจัดหาเพิ่มความสนุกสนานกันไปตัวอย่างเพลงปฏิพากย์ตามลำดับขั้นตอนการเล่น นำตัวอย่างมาจากหลายเพลง

บทเกริ่นชักชวนก่อนเล่น

มาเถิด แม่มา                                     มาเล่นพาดผ้ากันเอย(เพลงเหย่ย)

เอย…                                                 ตะวันก็ด่วนเลยจวนเพล

แม่ผมกระจายหลายเส้น                    เพลแล้วไม่เห็นมาเอย(เพลงเกี่ยวข้าว)

บทไหว้ครู

ช.  ลูกจะยกกำนนขึ้นไว้บนกระบาล  ไหว้ครูอาจารย์ ผู้เป็นใหญ่ ไหว้ครูฉิ่งครูฉาบครูกรับครูกลอง ไหว้ทั้งครูร้องกันละมากมาย ไหว้พระพุทธที่ล้ำไหว้พระธรรมที่เลิศ ไหว้พระสงฆ์องค์ประเสริฐที่เป็นใหญ่

ไหว้ทั้งคุณครูให้มาสู่ในคอ        ให้มาต่อหัวข้อ เป็นเพลงใน

ลูกจะไหว้เจ้าพ่อที่ศาลแก่         ลูกจะไหว้เจ้าแม่ เบิกไพร

ถ้าลูกเจอแล้วไม่ลบหลู่             เออแล้วลูกก็ชู มือไหว้

พอไหว้ครูเสร็จสรรพ                 ลูกถอยหลังมาคำนับผู้เป็นนาย

(ลูกคู่รับ เอ้อ เอย ผู้เป็นนาย)

ญ.1  ลูกยกพานขึ้นเหนือเศียร            พานดอกไม้ธูปเทียนลูกก็ยกขึ้นไหว้

ไหว้พระพุทธที่ล้ำไหว้พระธรรมที่เลิศ  ไหว้พระสงฆ์องค์ประเสริฐ พระเมตไตรย์

ไหว้คุณบิดรหรือว่ามารดา                  ท่านที่เลี้ยงลูกมาจนโตใหญ่

ญ.2  ไหว้พระภูมิเจ้าที่พระธรณีเจ้าขา          ที่ปกปักรักษาลูกไว้

ลูกไหว้ทั้งครูแนะครูนำ                       ไหว้ทั้งครูลักจำกันยกใหญ่

ลูกไหว้ครูบาหรือว่าอาจารย์               ที่ให้ร่ำเรียนเขียนอ่านแล้วเอาไว้

ลูกไหว้ครูแนะครูนำ                           ทั้งครูที่จำแล้วเอาไว้

ถ้าแม้นผู้ชายมันมาดูหมิ่น                  ให้มันรอดแผ่นดินลงไป

ถ้าแม้นชายใดมันมาคิดแก้                ขอให้มันพ่ายแพ้ลูกไป

ถ้าแม้นผู้ชายมันมาดูถูก                    ก็ให้มันแพ้ลูกแล้วหนีไป

ลูกจะร้องอะไรขออย่าให้ผิด               ให้เหมือนยังริดตาไม้

ขอให้ขึ้นคล่องและลงคล่อง                เหมือนยังกับช่องช่องน้ำไหล

บทแต่งตัว

ซ.  ได้ยินสาวมาดูจะไปเที่ยวสาวมั่ง

ถ้าจะเป็นสาวดอกกระมังเราจะเป็นหนุ่มอยู่ทำไม

หยิบผ้าเก่าเข้าไปหยิบผ้าใหม่ออกนุ่ง

หยิบเข็มขัดรัดพุงไปด้วยทันใด

เรามาจัดแจงแต่งตัวหวีหัวผัดหน้า

ตบแต่งกายากันให้ทันสมัย

เราเป็นชายโสดต้องนุ่งกางเกงขาสั้น

ใส่เสื้อแบะคอบานรองเท้าผ้าใบ

เราจะใส่รองเท้าคัดชูจะเป็นเจ้าชูหยาบช้า

แต่งนักจะเกินหน้าไม่ใช่ตำแหน่งเจ้านาย

แต่งตัวเล่นเพลงต้องนุ่งกางเกงหรั่ง

แต่งกันให้จังให้สาวเห็นชอบใจ

สวมเสื้อชั้นในล้วนแต่ผ้าไหมอย่างดี

พรมน้ำอบราตรีส่งกลิ่นหอมไกล

แม้นหญิงใดได้พบกลิ่นน้ำอบราตรี

ต้องวิ่งเล่นแอ่นสีออกมาให้

แล้วหยิบแป้งขึ้นผัดหน้าว่าคาถาหลวงพ่ออ่ำ

ว่า อ อา อะ อำ จนเม็ดแป้งเป็นไอ

แล้วหยิบไข่กบเป็นแก้วตาแมวเป็นเพชร

ว่านปรอทสำเร็จเราก็เตรียมเอาไป

หยิบไอ้หอกด้ามตู้ตั้งแต่ครั้งปู่รบศึก

ท่านได้จารึกเป็นอักษรไทย

เรามาแต่งตัวเราไม่มัวอยู่ช้า

หันมาชวนเพื่อข้ากันไป

วันนี้มีงานงานบวชพระ

ประเดี๋ยวจะฟาดให้ดะไม่ว่าของใคร

ญ. น้องแต่งตัวไม่มัวตะบอย

เพื่อเล่นเขาจะคอยนานหลาย

มือหนึ่งใส่แหวนแขนหนึ่งใส่สร้อย

แล้วก็เดินยิ้มน้อยยิ้มใหญ่

เดินกระชดกระช้อยแล้วลอยหน้า

กรีดกิริยาว่าจะไป

น้องแต่งตัวเสร็จน้องไม่ช้า

น้องก็รีบเดินมาไวไว

แต่พอเหยียบหัวรอดตลอดหัวพลึง

ย่างเท้าก้าวถึงหัวบันได

พอถึงบันไดน้องหยุดชะงัก

ไม่มีใครร้องทักน้องก็ไม่ไป

บทลักหาพาหนี

ช.  พี่เอาช้างงาใหญ่                 เข้ามาผูกไว้ตรงหน้าต่าง

พี่เป็นผัวของแก้วตา                  จะเหยียบลงบ่ามันไม่ต้องย่าง

ขอเชิญโฉมศรีมาขี่ช้าง             เถิดนะนางงามเอย

ญ.  แลเห็นไอ้ช้างชาติชั่ว น้องนึกกลัวเต็มที

ติดจะตระหนกตกใจ                 จึงว่าไปกับพี่

ช้างน้องไม่เคยขี่                       จะขี่คอพี่แล้วเอย

(เพลงเกี่ยวข้าว)

บทเชิงชู้(ผัวแก่ตามมาพบเมียกำลังอยู่กับผัวใหม่)

ญ.  พี่อย่าเพ่อโกรธข้า                        มาพบญาติกา หยุดสนทนาปราศรัย

ช.1(ผัว)อีตอแหลแก้หน้าว่าญาติกา    ทำไมมึงมานอนหงาย

ญ.  ข้าเป็นลมรันทด                           วานเขาช่วยกดท้องไห้

ช.1 วานเขากดท้องมึง                        ทำไมก้นถึงเปรอะไป

ญ.  ลมมันกล้าเหลือล้น                     อ้ายเหงื่อก้นมันไหล

ช.1 มาหลอกผัวตัวดี                          ประเดี๋ยวตีให้ตาย

ฝ่ายภัสดาความโกรธหนักหนา           จึงชี้หน้าว่าเอ๋ยไป

เหวยไอ้ชายชู้ มาลอบลักเมียกู           มึงไม่รู้จักตาย

ช.2(ชู้) ลมมันพัดจัด พัดละออง จึงมาต้องติดกาย

ช.1   ว่าลมพัดฝุ่นฟุ้ง                          ทำไมผมจึงยุ่งสยาย

ช.2   อ้ายลมจัดพัดกล้า                     เส้นเกศากระจาย

ช.1   กูได้เห็นกับตา                           มึงอย่าได้มาหลอกใคร

บทตีหมากผัว(เมียน้อยทะเลาะเมียหลวง)

แหมพิศโฉมประโลมพักตร์  แม่เมียน้อยน่ารักเสียนี่กระไร

เนื้อก็เหลืองไม่ต้องเปลืองขมิ้น  สวยไปตั้งแต่ตีนตลอดไหล่

อะไร ๆ แม่คนนี้ดีไปทุกสิ่ง         เสียแต่เป็นหญิงตูดไว ตูดไว(เอ่ชา)

เขาว่าเมียเขาไม่ดี                    เขาอยู่เอกีเปล่ากาย

เมียเขามีจริง                            แล้วเขาก็วาทิ้งกันไป

กินแล้วก็นอนร้องละครไปวันยังค่ำ     งานการน่ะทำไปเสียเมื่อไร

ดีแต่ประแป้งแต่งตัว                 เอาแม่ผัวไปนินทาซุกหัวกระได

ผัวเขาเลยขายส่งไปเสียที่โรงตรอก     ไม่รู้เมียหลวงลอยดอกมาเมื่อไร

(เอช่า)

บทร้องล่าให้พร

ตัวของฉันจะให้พร          ให้คุณสถาวรมีชัย

ขอให้แพ้กับพระชนะมาร          โภยภัยอย่าพานต้องกาย

ให้พ่อร่ำรวยถูกหวยรัฐบาล       ถูกเป็นล้านล้านนะพี่ชาย

ขอให้ยศได้เลื่อนเงินเดือนได้ขึ้น          ปีละหมื่นสองหมื่นพอใจ

ขอให้แม่ภิญโญไปยิ่งยิ่ง                     อีกทั้งแม่ผู้หญิงพ่อผู้ชาย

กลอนเพลงปฏิพากย์นี้ร้องได้ทั่วไป  ทั้งเพลงฉ่อย เพลงเรือ และเพลงอีแซว เพียงแต่เปลี่ยนท่วงทำนองการร้องไปตามชนิดของเพลงเท่านั้น  เราจึงพบว่าพ่อเพลง แม่เพลง คนหนึ่งจะร้องเล่นเพลงได้หลายชนิดโดยใช้เนื้อเพลงเดียวกัน

2.3  เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน

เพลงประกอบการเล่นพื้นบ้าน หมายถึง เพลงที่ใช้ร้องประกอบการเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านทั้งชายและหญิง  การเล่นพื้นบ้านนี้มีทั้งการเล่นเพื่อความสนุกสนาน  และการเล่นในเทศกาล การเล่นเป็นพิธีการในโอกาสพิเศษ เช่น ในเทศกาลตรุษสงกรานต์

การเล่นพื้นบ้านนี้ มีเพลงประกอบ เช่น การเล่นรำโทน(ซึ่งต่อมากลายเป็นรำวง) การเล่นในเทศกาล เช่น เล่นลูกช่วง(ช่วงรำ) เล่นเข้าผี เล่นโม่งเจ้ากรรม บางครั้งนำการเล่นของเด็กมาเล่นด้วย เช่น เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นรีรีข้าวสาร

จะได้กล่าวถึงเพลงประกอบการเล่นเหล่านี้พอเป็นตัวอย่าง

2.3.1  เพลงประกอบการเล่นรำโทน

การเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนาน  เป็นที่นิยมเล่นกันในหมู่ชาวบ้านมาก  ก็คือการเล่นรำโทน  การเล่นรำโทนนิยมเล่นในภาคกลาง การเล่นผู้เล่นจะแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ชาย-หญิง เมื่อจังหวะดนตรีเริ่ม  และเพลงขึ้นชายจะออกมาโค้งหญิงออกไปรำเป็นคู่  จะมีผู้เล่นดนตรีพื้นบ้านง่าย ๆ คือ กลองโทนหรือใช้วงกลองยาว มีผู้ร้อง ต้นเสียงและลูกคู่ บางทีทุกคนก็พร้อมใจกันร้องเพลงร่วมกัน  มีเสียงปรบมือให้จังหวะ

การเล่นรำโทนเสื่อมความนิยมไปช่วงหนึ่ง  ในสมัยที่มีวิทยุกระจายเสียงและมีการบันทึกเสียงเกิดขึ้น  มาเริ่มฟื้นฟูกันอีกครั้งในหลายท้องถิ่น  มีผู้แต่งเพลงนิรนามเกิดขึ้นสร้างเพลงรำวงขึ้นมากมาย

เพลงรำวงจะเป็นเพลงสั้น ๆ เนื้อร้องง่ายใช้คำคล้องจองกันจังหวะสมัยใหม่  อาจจะมีจังหวะของเพลงสากลเข้าไปปะปนบ้าง เนื้อร้องอาจจะเปลี่ยนคำหรือเปลี่ยนความไปตามท้องถิ่นได้  การเล่นรำโทนนี้ผู้รำจะร้องเพลงคลอตามและทำท่าประกอบเพลงไปด้วย  การค้นคว้าเพลงรำวงในยุคนี้ พบว่ามีมากในหลายท้องถิ่น และเป็นเพลงที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ตัวอย่างเพลงรำโทน

ใกล้เข้าไปอีกนิด

ใกล้เข้าไปอีกนิด             ชิดชิดเข้าไปอีกหน่อย

สวรรค์น้อยน้อย              อยู่ในวงฟ้อนรำ

รูปหล่อเขาเชิญมาเล่น    เนื้อเย็นเขาเชิญมารำ

มองมานัยน์ตาหวานฉ่ำ  มา มารำกับพี่นี่เอย

2.3.2  เพลงประกอบการเล่นเข้าผี

การเล่นเข้าผี เป็นการเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ที่นิยมให้มีผู้เล่นเป็นผู้เข้าทรง เป็นผีชนิดต่าง ๆ เช่น ผีลิง ผีสุ่ม ผีกระด้ง ผีแม่ศรี ผีกะลา เมื่อผีเข้าจะทำท่าทางต่าง ๆ เช่น วิ่งไล่ตบ(ผีลิง) รำทำท่าทางอ่อนช้อย(ผีแม่ศรี)

ตัวอย่าง    เพลงเข้าผีแม่ศรี

แม่ศรีเอยแม่ศรีสวยสะ   ยกมือไหว้พระก็จะมีคนชม

ขนคิ้วเจ้าก็ต่อขนคอเจ้าก็กลม  ชักผ้าปิดนมชมแม่ศรีเอย

แม่ศรีเอยแม่ศรีสาคร      นมยานหน้าอ่อนเขาเลี้ยงเจ้าไว้

นิดหน่อยหนึงนา             เอาผ้าห้อยบ่า เอาไว้หัวห้อง

กระดิกท้องร่องทองคำจำเปลว           ลงมาเร็วเร็วแม่เอวอ่อนเอ้ย

ผีลิง

ลิงลมเอยมาอมข้าวกล้อง         เล็กน้อยทั้งสองมาทัดดอกจิก

เจ้าพระยานกพริก                    เจ้าพระยานกเขา

ตวงเบี้ยตวงข้าว                       ข้าพเจ้าลิงลม

มะพร้าวใบกลม                       ขนมต้นชมพู

ไอ้แก้วน่าดู                               เล่นชู้กับชาววัง

กระต่ายเล่นหนัง                      เอละเห่ตุ้มปอง

เอละเห่ตุ้มปอง

ผีสุ่ม

ผีสุ่มเอย                สุ่มปลาในไหน

สุ่มปลาในห้วย      สุ่มปลาในหนอง

สุ่มปลาในคลอง    แม่ทองสุ่มเอย

ฯลฯ

2.3.3  เพลงประกอบการเล่นโม่งเจ้ากรรม

การเล่นโม่งเจ้ากรรม ผู้หญิง ผู้ชายจะยืนหันหน้าเข้าหากัน เมื่อเริ่มเล่นผู้หญิงจะเดินออกมาเอามือแตะฝ่ายชาย  แล้วร้อง “โม่ง” ผู้ชายจะเดินออกมาจากแถว ผู้หญิงจะร้องเพลงต่าง ๆ ให้ผู้ชายรำทำท่าตามเพลง

ตัวอย่าง

เพลงโม่งเจ้ากรรม

โม่งเจ้ากรรม         (ชื่อคนที่โดนโม่ง)ต้องรำเลยเอย

รำได้รำมา             อย่าช่วยกันช้าเลยเอย

เพลงรำนกยูง

นกกะยูง กะยูงรำแพน    นกอีแอ่นลอยล่อง

เจ้าพวงมาลัย เจ้าหรือจะไปจากห้อง            เจ้าลอยละล่องออกจากห้องไหนเอย

เพลงรำนกอีแซว

นกอีแซว อีแซวไม่ไต่ซาก           มายืนอ้าปากกะเติ้วเฮิ้ว

นกผีเลี้ยงไว้                             เอาไว้ไม่ไล่กะเติ้วเฮิ้ว

ฯลฯ

2.3.4  เพลงประกอบการเล่นช่วงรำ

การเล่นช่วงรำ  เป็นการเล่นของหนุ่มสาวชาวบ้าน แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย ชาย-หญิง มีเส้นแบ่ง 11 คน ลูกช่วงจะทำด้วยผ้าขาวม้  บิดเป็นเกลียวแล้วพันผูกให้แน่น  มีชายผ้าเหลืองไว้ใช้โยนลูกช่วงข้ามไปข้ามมาแล้วปาโดนถูกตัวใครเป็นฝ่ายแพ้  จนกระทั่งหมดผู้เล่นข้างใดข้างหนึ่ง ข้างนี้แพ้โดนลงโทษ เช่น ให้รำ เพลงที่ให้รำใช้เพลงต่าง ๆ เช่น เพลงเหย่ย เพลงพวงมาลัย

ตัวอย่าง

เพลงพวงมาลัย

เจ้าพวงมาลัย                 ควรหรือจะไปจากห้อง

เจ้าลอยละล่อง               เข้าในห้องไหนเอย

ดอกเอ๋ย                          เจ้าดอกพุดตาน

ยามตรุษยามสงกรานต์  สนุกสนานกันเอย

2.3.5  เพลงประกอบการเล่นคล้องช้าง

การเล่นคล้องช้าง นิยมเล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์ วิธีเล่นใช้วิธีล้อมวงเอาครกตำข้าวใบใหญ่วางคว่ำไว้ตรงกลาง  ผู้เล่นชายหญิง  ไม่จำกัดจำนวนยืนเป็นวงรอบครกผู้หญิง  ผู้จะทำหน้าที่คล้องช้างขึ้นไปยืนบนก้นครก ถือผ้าขาวม้ามืดละชายทำเป็นบ่วงคล้องช้าง  เมื่อเริ่มเล่นผู้คนอื่น ๆ จะเดินวนรอบครก พร้อมกับร้องเพลงคล้องช้าง  ผู้หญิงที่ยืนบนก้นครกจะคอยคล้องผู้ชายที่เดินวน  แล้วให้ผู้คล้องได้ขึ้นไปยืนคล้องช้างบนก้นครกแทนสลับชาย-หญิงไปอย่างนี้

ตัวอย่าง

เพลงคล้องช้าง

คล้องช้างเอามาได้เอย             เอามาผูกไว้  ผูกไว้ที่ก้นครก

ช้างเถื่อนมันไม่เคย                   เอาหัวไปเกยกับช้างบก

ก้นครกละมันเล็กนัก                มันจะหักลงเอย

การเล่นของชาวบ้านมีอีกหลายอย่างที่นิยมเล่นกันในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเพลงประกอบเหล่านี้ก็ต่างกันไป  จึงขอยกตัวอย่างเพียงเท่านี้

2.4  เพลงประกอบพิธี

พิธีกรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ มีทั้งพิธีกรรมที่มาจากความเชื่อ เช่น พิธีขอฝน พิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อเป็นมงคลในการเปลี่ยนวัน เปลี่ยนภาวะ เช่น พิธีทำขวัญเด็ก ทำขวัญเดือน พิธีโกนจุก พิธีบวชนาค พิธีกรรมเหล่านี้มีทุกท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน หรือภาคใต้ และจะมีคำกล่าวที่ใช้ในพิธีเหล่านี้ เช่น มีเพลงแห่นางแมว ใช้ร้องในพิธีขอฝน บทแหล่ บทสวดทำขวัญ ในพิธีโกนจุก  บวชนาค แต่งงาน บทสวดคฤหัสถ์ในพิธีศพ ดังจะยกตัวอย่าง

2.4.1  เพลงแห่นางแมว

พิธีแห่นางแมวทำขึ้นเพื่อเป็นการขอฝนในภาคกลาง(ในภาคอีสานมีพิธีแห่บั้งไฟ พิธีเซิ้ง แม่นางด้ง เซิ้งนางแมว) จะทำพิธีนี้ในวันที่ร้อนจัดในปีที่ฝนล่า  ชาวบ้านจะออกมาเอาน้ำสาดแมวและขบวนแห่นางแมวพร้อมกับนำเงิน ขนมหรือเหล้ามาให้คนในขบวนแห่  เมื่อแห่นางแมวเสร็จ บางครั้งฝนตกทำให้ความเชื่อในเรื่องนี้มีมากขึ้น

ตัวอย่าง

เพลงแห่นางแมว

นางแมวเอย          มาร้องแป้วแป้ว              ที่ฟากข้างโน้น

ขอฟ้าขอฝน                    รอแมวข้ามั่ง                   ข้าจ้างแมวมา

ได้เบี้ยยี่สิบ                     มาซื้อหมากดิบ               มาล่อนางไม้

นางไม้ภูมิใจ                   นุ่งผ้าตะเข็บทอง             ไอ้หุนตีกลอง

ไอ้หักบ้ากะตู                  ไอ้งูพันกัน                       หัวล้านชนกัน

ฝนก็เทลงมา                   ฝนก็เทลงมา                   เต็มทุ่งเต็มท่า

เต็มนาสองห้อง               นิมนต์พระมา                  สวดคาถาปลาช่อน

ปั้นเมฆเสียก่อน              มีละครสามวัน                หัวล้านชนกัน

ฝนก็เทลงมา                   ฝนก็เทลงมา

ฯลฯ

2.4.2  บททำขวัญจุก

บททำขวัญจุกใช้ในพิธีทำขวัญจุก  ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้น เพื่อเป็นศิริมงคลแก่เด็กผู้ไว้ผมจุก  การไว้ผมจุกเป็นความเชื่อค่อนข้างจะไปทางศาสนาพราหมณ์ที่นิยมไว้ผมจุก  เพื่อเป็นที่อยู่ของขวัญประจำกาย เด็กหญิงจะโกนผมอายุ 11 ปี  เด็กชายจะโกนผมจุกอายุ 11-13 ปี บททำขวัญจุกแบ่งเป็น 3 ลาคือ

ลาหนึ่ง  บทไหว้ครูกำเนิดกุมาร

ลาสอง  บทไหว้ครูกำเนิดกุมาร

ลาสาม  พิธีการโกนจุก

ตัวอย่าง

บททำขวัญจุก

…..ศรี ศรี  สวัสดิบวรพิพัฒน์อันประเสริฐ  วาระนี้เป็นที่เลิศศุภวาร ท่านจึงทำมงคลการพิธี  แห่งกุมารกุมารีอันเจริญวัยตามโฉลกโชคพิชัยมงคล  จึงหาผู้รู้มาอำนวยผลประสาทพรแล้วสอนสั่งพ่อและแม่จงตั้งโสดสดับการตามโอวาท  สุนทรสารสุภาษิต ส่วนฆราวาสตามบุราณราชประเพณีจงตั้งกตัญญูกตเวทีไว้เหนือเกศอีกทั้งคุณของบิตุเรศและมารดา  ยิ่งกว่าดินฟ้าและสาครอันลึกล้ำ….

2.4.3  บททำขวัญนาค

เป็นบทสวดในพิธีบวชของชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนาซึ่งถือว่าผู้ชายทุกคนจะต้องบวชเป็นการเปลี่ยนจากวัยหนุ่มคะนองมาเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  เติมการบวชนั้นทำเพื่อเป็นกุศลคือละจากกิเลสเป็นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย  ต่อมาจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่กุลบุตรจะต้องบวชเมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี

พิธีบวชนั้นในวันก่อนบวช  ผู้ที่จะบวชจะต้องโกนผม  นุ่งขาวห่มขาว เรียกว่า นาค แล้วนำดอกไม้ธูปเทียนไปลาบวชกับญาติพี่น้องผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ  ในตอนเย็นมีการทำขวัญนาค

การทำขวัญนาคจะมีหมอทำขวัญมาว่าบทสวดทำขวัญในตอนเย็นหรือตอนกลางคืน  หรืออาจจะหาหมอทำขวัญฝีปากดีมาจากถิ่นอื่นมาว่าบททำขวัญนาค  เพื่อสั่งสอนนาคให้รู้จักคุณบิดามารดาให้รู้ปฏิบัติในสิ่งที่ควรในขณะบวชเป็นภิกษุ

บททำขวัญนาคจะเริ่มจากบทอันเชิญเทวดา เคารพคุณปฏิสนธิ นามนาค สอนนาค ลานาค เชิญขวัญ

ตัวอย่าง

บททำขวัญนาคตอนปฏิสนธิ

……พ่อนาคเอ่ย  วันพรุ่งนี้แล้วหนอ  พ่อก็จะสอดทรงซึ่งกาสาว์ ข้าพเจ้าจะขอกำจัดขันธมารห้า อย่าเบียดเบียน อย่าได้มาแวะเวียนราวี ขันธมารอย่าย่ำยีให้อาพาธ  มัจจุราชมารอย่าพิฆาติให้ถึงชีวิต อีกกิเลสมารในดวงจิตให้จืดจางประหารขันธมารให้เหินห่างอย่ายอนยล  ขอให้พ่อบวชสำเร็จผลสถาวร  จิตต์ของพ่ออย่าย่อหย่อนให้ผ่องแผ้ว  ดุจน้ำในคนโฑแก้วใสบริสุทธิ์ พ่อเอ่ยอันที่ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์มิใช่ง่าย  โดยคำพระอาจารย์บรรยายในบาลี พระอภิธรรมเจ็ดคำภีร์ก็แสดงไว้  จะกล่าวถึงปฏิสนธิในครรภ์ปริมณฑลแห่งพรชนนี ประดุจขนทรายจามจุรี อันชุบเช็ดน้ำมันสลัดเสร็จ  ถึงเจ็ดหน น้ำมันที่เหลือติดอยู่ที่ปลายขนแห่งฝูงสัตว์  พระบาลีท่านก็กล่าวชัดอีกเจ็ดทิวาเป็นเค้ามูลโลหิตนั้นขึ้นก่อน  ต่ออีกเจ็ดวันจึงผันผ่อนเป็นเปลือกสาย…..

เพลงที่ใช้ในพิธีกรรมมีอีกหลายประเภท เช่น เพลงร่อยพรรษาในหมู่บ้านพนมทวน  ใช้ร้องเรี่ยรายเงินในวันก่อนออกพรรษา เพลงพิษฐานร้องในโบสถ์ในเทศกาลสงกรานต์และในท้องถิ่นอื่น ๆ ก็มีเพลงอื่นอีก จัดเป็นเพลงที่น่าสนใจชนิดหนึ่ง

2.5  เพลงเกี่ยวกับอาชีพ

เพลงเกี่ยวกับอาชีพ  เป็นเพลงที่ใช้ร้องในขณะทำงาน โดยที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม อาชีพเกษตรกรรมหลักคือการทำนา  จึงมีเพลงที่ร้องในขณะทำกิจการงาน เนื่องจากการทำนาหลายเพลง  บางคนเรียกเพลงเหล่านี้ว่าเพลงในลานนวดข้าว ที่จริงแล้วเพลงหรือบทกล่าวที่เป็นทำนองที่ใช้ในการทำนามีตั้งแต่เริ่มปลูกข้าวดำนา ก็มีบททำขวัญข้าว ทำขวัญนา ซึ่งดูเคร่งครัดเป็นพิธีการ  ในที่นี้ได้จัดเข้าพวกเพลงประกอบพิธี  เพลงที่เกี่ยวกับอาชีพในที่นี้จึงมุ่งที่ความสนุกสนานเป็นใหญ่ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว และเพลงในลานนวดข้าว

สาเหตุที่จะเกิดเพลงร้องเกี่ยวกับอาชีพนี้  เข้าใจว่าเมื่อเกิดการรวมคนเพื่อช่วยแรงกันก็เกิดความสนุกสนานที่จะต้องเล่นเพื่อความบันเทิง  และเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน จึงเป็นเหตุให้เกิดเพลงเกี่ยวกับอาชีพการทำนาขึ้น  ตั้งแต่เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพานฟาง สงฟาง เพลงสงคอลำพวน เพลงชักกระดาน ซึ่งจะได้กล่าวถึงและยกตัวอย่างพอเข้าใจ

2.5.1  เพลงเกี่ยวข้าว

เพลงที่ร้องเล่นกันในระหว่างเกี่ยวข้าว เราเรียกเพลงเกี่ยวข้าว พบในหลายท้องถิ่น  มีทั้งเพลงเกี่ยวข้าวอย่างสั้นและเพลงเกี่ยวข้าวอย่างยาว  ซึ่งเข้าลักษณะเพลงปฏิพากย์  บางแห่งร้องเพลงเต้นกำรำเคียว(นครสวรรค์) ส่วนมากจะเป็นเพลงร้องโต้ตอบกันระหว่างชาย-หญิง  บางแห่งพบว่าผู้เกี่ยวข้าวเป็นผู้ร้อง  บางแห่งผู้ร้องเป็นคนที่มาร่วมสนุกสนานบางแห่งร้องในขณะเกี่ยวข้าว บางแห่งร้องหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว

เพลงเกี่ยวข้าวอย่างสั้น

เกี่ยวเถิดหนาแม่เกี่ยว                        อย่ามัวแลมัวเหลียว

เคียวจะบาดมือเอย

คว้าเถิดหนาแม่คว้า                           รีบตะบึงไปถึงคันนา

จะได้พูดจากันเอย

เพลงเต้นกำรำเคียว

บทว่าประ

ญ  ได้ยินสำเนียกเรียกหญิง               น้องเองไม่นิ่งอยู่ชักช้า

แม่เหยียบหัวซังกระทั่งหัวหญ้า           เดินเข้ามาหาชายเอย(รับ)

ช  เหยียบหัวซังกระทั่งหัวหญ้า

ไอ้ซังมันแห้งจะแยงเอาขา

ไอ้คอโสนมันโด่หน้า                           จะตำเอาขานางเอย(รับ)

เพลงเต้นกำรำเคียว

ช  มาเสียเถิดนางเอย เอ๋ยละแม่มา มาหรือมาแม่มา

มาเต้นกำย่ำหญ้ากันเสียในนาทีเอย

ลูกคู่ เอิงเอยพี่เอย มาเต้นกำย่ำหญ้ากันเสียในนาทีเอย

ญ  มาแล้วเอย เอ๋ยละพ่อมา มาหรือมาพ่อมา มาหรือมาพ่อมา

ฝนกระจายที่ปลายนาแล้วน้องจะมาอย่างไรเอย

ฯลฯ

2.5.2  เพลงสงฟาง

เพลงนี้ใช้ร้องหลังจากนวดข้าวแล้ว  ใช้ขอฉายพานฟางออกจากลานนวดข้าว  สงเถิดนะแม่สง แม่นกกระแวนหางวง มาช่วยกันส่งฟางเอย

(รับอิงเอย ฟางเอย แม่นกกระแวนหางวง มาช่วยกันสงฟางเอย)

สงเถิดนะพ่อสง จะขอวางลง บนหัวชายเอย

(รับเอิงเอย ชายเอย สงเถิดนะพ่อสง จะขอวางลงบนหัวชายเอย)

2.5.3  เพลงพานฟาง

ใช้ร้องตอนพานฟาง เช่นเกี่ยวกับเพลงสงฟาง

ญ  พานเถิดนะแม่พาน    มายืนอยู่รอบขอบลาน

มาช่วยกันพานฟางเอย   (ลูกคู่รับซ้ำ)

ช    พานเถิดนะพ่อพาน   มายืนอยู่รอบขอบลาน

มาช่วยกันพานฟางเอย     (ลูกคู่รับซ้ำ)

2.5.4  เพลงสงคอลำพวน

เพลงนี้ใช้ร้องหลังจากสงฟาง ในขณะนั่งล้อมวงเก็บเศษฟางที่เรียก ลำพวน

สงคอลำพวนเอย            ลำพวนก็ลำไผ่(ลูกคู่รับซ้ำ)

พี่เป็นคนสง                              ให้น้องเป็นคนสาง

โอ้แม่นวลนาง                           เฉยไว้

ฉันเป็นคนเขี่ย                          น้องก็เป็นคนคุ้ย

ของน้องก็ลุ่ย                            สงหน้าสงหลัง

ขอให้ช่วยนวลนาง                    เร็วไว(จากบางแพ)

2.5.5  เพลงชักกระดาน

ร้องในขณะรวมกองเมล็ดข้าวที่นวดแล้ว เพื่อจะขนขึ้นยุ้งต่อไป

ช้างเอยช้างชัก                                    ช้างน้อยห้อยหักอยู่ที่หลักเกียด

นี่แหละคู่ครองของแม่ทองเสนียด       ให้มารับเอาเถิดนะเจ้าเอย

(ลูกคู่รับ) แย่ตาลักมักตาเล่อ              ชักให้เสมอกันเอย

แย่ตาลักมักตาลู่                                ชักไม่เชื่อมาดูกันเอย

เพลงเกี่ยวกับอาชีพทำนาเท่าที่สำรวจพบมีเพียงเท่านี้ ต่อไปหลังจากขนข้าวขึ้นยุ้งแล้ว บางท้องถิ่นอาจจะมีบททำขวัญข้าว ทำขวัญยุ้ง

2.6  เพลงแข่งขัน

เพลงแข่งขัน  หมายถึง  เพลงที่ร้องขึ้นเวทีแล้ว มีการประกวดประชันกันระหว่างคณะเพลง 2 คณะ เพลงที่จะขึ้นเวทีแข่งขันส่วนมากจะเป็นเพลงปฏิพากย์ เช่น เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงซอ หมอลำ เพลงรำวง เพลงบอกโนรา ฯลฯ ซึ่งเพลงเหล่านี้เสื่อมความนิยมลง เพลงลูกทุ่งก็เข้ามาแทนที่เพลงลูกทุ่งจึงมีลีลาส่วนหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันกับเพลงพื้นบ้านเหล่านี้  เนื้อร้องง่ายและเกี่ยวกับชีวิตชาวบ้านทั้งระเบียบประเพณี  ความเป็นอยู่ความเชื่อจึงติดหู

ในที่นี้จกยกตัวอย่างเพลงแข่งขันขึ้นเวทีเพียง 1 อย่าง คือเพลงบอก (เพราะเพลงอื่น ๆ กล่าวถึงขั้นตอนการเล่นในเพลงปฏิพากย์แล้ว)

2.6.1  เพลงบอก

เพลงบอกเป็นเพลงพื้นเมืองของภาคใต้  ใช้ร้องบอกให้ชาวบ้านรู้เรื่องราวต่าง ๆ เช่น เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา  เทศกาล ว่าเรื่องราวต่าง ๆ บางครั้งก็มีการประชันกัน

ตัวอย่าง

เพลงบอกประวัติหมู่บ้านศรีวิชัย

พวกคณะนักศึกษาเท่เข้ามาวันนี้ (ลูกคู่รับ เอว่าเหวันนี้)

น้องนักศึกษาเท่ท่านมาวันนี้ (ลูกคู่ ทอย ข้า ข้า เหอ วันนี้)

ตั้งแต่เมื่อวาเรื่องบ้านนี้หนา

คั้นผมไม่เล่าถึงท่านถ้าไม่เข้าใจ(ลูกคู่ ถึงท่านไม่เข้าใจ เองเอย เรื่องบ้านี้หนาถ้าผมไม่เล่าถึงท่านไม่เข้า…..ใจ)

ฯลฯ

จบความรู้ทั่วไปโดยสรุปเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านเพียงเท่านี้

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *