เครื่องตี:เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

Socail Like & Share

เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ

ฉิ่ง

ฉิ่ง  เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะ หล่อหนา เว้ากลางปากผายกลม รูปคล้ายถ้วยชาไม่มีก้น  สำรับหนึ่งมี ๒ ฝา แต่ละฝาวัดผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๖ ซม. ถึง ๖.๕ ซม. เจาะรูตรงกลางเว้นสำหรับร้อยเชือก ฉิ่งที่กล่าวนี้ สำหรับใช้ประกอบวงปีพาทย์ ส่วนฉิ่งที่ใช้สำหรับเครื่องสายและวงมโหรี มีขนาดเล็กกว่านั้น คือ วัดผ่านศูนย์กลางเพียง ๕.๕ ซม.

ฉาบ

ฉาบ เป็นเครื่องตีอีกชนิดหนึ่งทำด้วยโลหะเหมือนกัน  รูปร่างคล้ายฉิ่งแต่หล่อบางกว่าฉิ่ง  มีขนาดใหญ่กว่าและกว้างกว่าตอนกลางมีปุ่มกลม ทำเป็นกระพุ้งขนาดวางลงในอุ้งมือ ๕ นิ้ว ขอบนอกแบราบออกไปโดยรอบ และเจาะรูตรงกลางกระพุ้งไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับถือวัดผ่าศูนย์กลาง รวม ๑๒-๑๔ ซม. ฉาบใหญ่วัดผ่านศูนย์กลางราว ๒๔-๒๖ ซม. ใช้ขนาดละ ๒ อัน หรือขนาดละคู่ ตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะที่ต้องการ

ฆ้อง

ฆ้อง  เป็นเครื่องตีทำด้วยโลหะเหมือนกัน รูปร่างคล้ายฉาบ คือ มีปุ่มกลมตรงกลางและมีฐานแผ่ออกไปโดยรอบที่ต่างกับฉาบก็คือ หล่อโลหะหนากว่าฉาบ และมีหักงุ้มออกไปเป็นขอบคนละด้านกับปุ่มที่โป่งออกมา  ขอบที่หักงุ้มออกมานั้น เรียกว่า “ฉัตร” และที่ขอบหรือฉัตรนั้นเจาะรู 2 รู ไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับห้อย  มีไม้ตีต่างหาก ตรงหัวไม้ตีพันผ้าห่อหุ้มและถักหรือรัดด้วย  ใช้ตีตรงปุ่มกลางฆ้องให้เกิดเสียง

ก.  ฆ้องโหม่ง

ฆ้องของเรามีหลายขนาด ขนาดที่มีหน้ากว้างวัดผ่านศูนย์กลางราว ๓๐ ซม. ถึง ๔๕ ซม. ตีได้ยินเสียงเป็น “โหม่ง-โหม่ง” เรียกชื่อตาม เสียงว่า “ฆ้องโหม่ง” หรือ โหม่ง

ข.  ฆ้องชัย

ฆ้องที่สร้างขึ้นเป็นขนาดใหญ่  วัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘๐ ซม. ก็มีเมื่อตีก็เกิดเสียงก้องกระทบหึ่มเป็นกังวานได้ยินแต่ไกล  ฆ้องชนิดนี้เรียกตามเสียงครวญครางว่า “ฆ้องหมุ่ย” หรือ “ฆ้องหุ่ย” แต่ฆ้องขนาดนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องชัย เดี๋ยวนี้ยังนิยมใช้ตีในงานพิธีมงคลต่าง ๆ

นอกจากนี้  ยังมีฆ้องขนาดเล็ก หล่อบาง เรียกกันว่า “ฆ้องกระแต” สำหรับตีขานยามหรือประกาศป่าวร้องอย่างที่เรียกว่า “ตีฆ้องร้องป่าว”  ฆ้องขนาดต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ เป็นฆ้องลูกเดียวที่เรียกว่า “ฆ้องเดี่ยว”

ฆ้องเหม่ง

“ฆ้องเหม่ง” นั้น ใช้เรียกชื่อฆ้องชนิดหนึ่ง ซึ่งหล่อโลหะหนาเกือบ ๑ ซม. หน้ากว้างประมาณ ๑๙ ซม. ฉัตรสูงประมาณ ๖ ซม. ใช้ไม้จริงท่อนกลม ๆ ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ตีเดี่ยวในวง การบรรเลงที่เรียกว่า “บัวลอย”

ฆ้องคู่

ฆ้องคู่ คือฆ้อง ๒ ใบ ขนาดเล็กเท่าฆ้องกระแต แต่เนื้อโลหะหนา และขอบฉัตรคุ้มกว่า ใบหนึ่งเสียงสูง อีกใบหนึ่งเสียงต่ำ ไม่แขวนหรือหิ้วตีแต่เจาะรูที่ขอบข้างละ ๒ รู เป็นใบละ ๔ รู ร้อยเส้นเชือกผูกคว่ำเป็นคู่ไว้บนราง  ซึ่งทำด้วยไม้เป็นรูปหีบไม้ สี่เหลี่ยมผืนผ้าฝาปิด ตีตรงปุ่มได้ยินคล้ายเสียงว่า “โหม่ง-เม้ง ๆๆ” เข้าใจว่าประดิษฐ์ขึ้นจากฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ประเภทนี้ ใช้บรรเลงร่วมวงปี่พาทย์ประกอบการเล่นโนห์ราและละครชาตรี  ซึ่งสันนิษฐานกันว่า  มีมาก่อนหรือร่วมสมัยต้นของกรุงศรีอยุธยาและใช้บรรเลงในการเล่นหนังตะลุงด้วย

ฆ้องราว

ฆ้อง ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน  ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีเรียงไปตามลำดับลูกแล้วย้อนกลับ จะได้ยินเป็นเสียง  “โหม่ง-โมง-โม้ง,โม้ง-โมง-โหม่ง”  ใช้บรรเลงในการเล่นมหรสพโบราณชนิดหนึ่งเรียกว่า “ระเบง” หรือเรียกตามคำร้องของกลอน ซึ่งขึ้นต้นวรรคด้วยคำว่า “โอละพ่อ” เลยเรียกฆ้องราว ๓ ใบ ชนิดนี้ว่า “ฆ้องระเบง” เล่นในงานพระราชพิธี

ฆ้องราง

ฆ้องราง เข้าใจว่า ประดิษฐ์มาจากฆ้องคู่  โดยทำรางผูกลูกเรียงหนึ่งไปตามความยาวของราง  และเพิ่มจำนวนลูกให้ครบ ๗ ลูก หรือ ๘ ลูกก็มี  เทียบเสียงเรียงต่ำสูงลดหลั่นกันครบ ๗ เสียง เป็น hoptatonic บรรเลงเป็นทำนองเพลงได้ ฆ้องรางที่กล่าวนี้ บัดนี้ไม่ใช้บรรเลงในวงดนตรีไทย

ฆ้องวงใหญ่

ฆ้องวง เป็นเครื่องตีที่คิดประดิษฐ์สร้างให้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จากฆ้องเดี่ยว(๑๐) และฆ้องคู่(๑๒)แล้วฆ้องราง(๑๔) วงฆ้องใช้ต้นหวายโป่งทำเป็นร้านสูงประมาณ ๒๔ ซม. หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกันประมาณ ๑๔-๑๗ ซม.  ดัดโค้งเป็นวงล้อมไปเกือบรอบตัวคนนั่งตี  เปิดช่องไว้สำหรับทางเข้าด้านหลังคนตี ห่างกันราว ๒๐-๓๐ ซม. พอให้คนตีนั่งขัดสมาธินั่งตีได้สบาย  แล้วเจาะรูลูกฆ้องทางขอบฉัตร ลูกละ ๔ รู ใช้เชือกหนังร้อยผูกกับเรือนฆ้องให้ปุ่มลูกฆ้องหงายขึ้น ผูกเรียงลำดับขนาดลูกต้นไปหาลูกยอดตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เรียงลำดับเสียงตั้งแต่ต่ำไปหาสูง  ฆ้องวงหนึ่งมีจำนวน ๑๖ ลูก ลูกต้นวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๗ ซม.อยู่ทางซ้ายมือด้านหลังผู้ตี ลูกยอดวัดผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม. อยู่ทางขวามือด้านหลังผู้ตี และใช้ตีด้วยไม้ตีทำทำด้วยแผ่นหนังดิบตัดเป็นวงกลมเจาะกลาง สอดด้ามไม้สำหรับมือถือ วงหนึ่งใช้ไม้ตี ๒ อัน ถือตีข้างละมือ

การประดิษฐ์ฆ้องวงคงเกิดขึ้นก่อนระนาด เพราะมีภาพแกะสลักวงปีพาทย์แต่โบราณมีฆ้องวงแต่ไม่มีระนาด เช่นในครั้งกรุงศรีอยุธยาฆ้องวงคงมีขนาดเดียว  ใช้บรรเลงผสมวงปี่พาทย์

ฆ้องวงเล็ก

ฆ้องวงเล็ก  ปรากฎว่าสร้างกันขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์  โดยได้มีคณาจารย์ทางดุริยางคศิลป คิดประดิษฐ์ฆ้องวงขึ้นอีกขนาดหนึ่งเหมือนกับวงก่อนทุกอย่าง  แต่ขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย  ใช้บรรเลงร่วมในวงปี่พาทย์แต่นั้นมาปี่พาทย์วงหนึ่ง ๆ จะใช้ฆ้อง ๒ วง ก็ได้เรียกฆ้องวงขนาดใหญ่แต่เดิมว่า “ฆ้องวงใหญ่” และฆ้องวงขนาดเล็กที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่นี้เรียกว่า “ฆ้องวงเล็ก” ต่อมาได้ย่อขนาดสร้างขึ้นให้ย่อมลงอีกและใช้บรรเลงในวงมโหรีด้วย

ฆ้องมอญ

“ฆ้องมอญ”  เป็นฆ้องวงตั้งโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง ไม่วางราบไปกับพื้นเหมือนฆ้องไทยร้านฆ้องวงมอญมักประดิษฐ์แต่งกันอย่างสวยงาม เช่นแกะสลักเป็นลวดลายปิดทองประดับกระจกฆ้องมอญวงหนึ่ง ๆ มีจำนวน ๑๕ ลูก สำหรับใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์รามัญหรือปี่พาทย์มอญวงฆ้องมอญนั้นต่อมาก็ได้มีผู้คิดสร้างวงฆ้องมอญขึ้นเป็น ๒ ขนาดเหมือนกัน  คือมีทั้งวงใหญ่และวงเล็ก

วงฆ้องชัย

เมื่อรัชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงปรับปรุง วงปี่พาทย์สำหรับประกอบการแสดงละคร “ดึกดำบรรพ์” ได้ทรงนำเอาฆ้องหุ่ย หรือ ฆ้องชัย ๗ ลูก มาปรับเสียงใหม่ให้มีสำเนียงเป็น ๗ เสียง แล้วทำที่แขวนเสียงรอบตัวคนตี  สำหรับตีเป็นจังหวะต่าง ๆ ตามเสียงของทำนองเพลง ประกอบในวงปีพาทย์และเลยเรียกวงปี่พาทย์ที่ทรงปรับปรุงขึ้นสำหรับละครนั้นว่า “ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์”

ฆ้องเดี่ยวก็ดี  ฆ้องคู่ก็ดี ฆ้องราวหรือฆ้องระเบงก็ดี เป็นเครื่องตีให้จังหวะแต่การประดิษฐ์ฆ้องรางและฆ้องวงขึ้น เป็นเหตุให้สามารถเล่นเป็นทำนองได้และฆ้องทุกชนิดถ้าตีแล้วยังเกิดเสียงไม่ได้ที่เขาใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วติดตรงปุ่มกลางด้านในเป็นการถ่วงให้ได้เสียงตามแต่จะต้องการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *