สารทการทำบุญกลางปีของไทย

Socail Like & Share

สารท เป็นคำของอินเดีย หมายถึง ฤดู ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษ ว่า ออทัม แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง อยู่ในระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว สารท เป็นฤดูที่พืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุก ข้าวและต้นผลไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรกในฤดูนี้ เช่น ในทวีปยุโรปตอนเหนือหรือในประเทศจีนและประเทศอินเดียตอนเหนือประเพณีชิงเปรด ซึ่งอยู่ถัดเขตร้อนของโลกขึ้นไป ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนของโลก จึงไม่มีฤดูซึ่งมีลักษณะอย่างนี้ ข้าวก็ยังไม่สุก ผลไม้ก็มีบางชนิดเท่านั้นที่สุกในฤดูนี้

สารทเป็นการทำบุญกลางปีของไทยตรงกับวันสิ้นเดือน ๑๐ หรือวันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ พิธีนี้เป็นของพราหมณ์มาก่อน คือในถิ่นที่มีฤดูสารทดังกล่าว เมื่อถึงเดือน ๑๐ เป็นฤดูที่ข้าวสาลีในท้องนาออกรวงอ่อนเป็นนํ้านม ผู้คนพากันเก็บเกี่ยวรวงข้าวสาลีอันเป็นผลแรกได้มาทำมธุปายาสและยาคู เลี้ยงพราหมณ์ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา อีกอย่างหนึ่ง เขาทำเพื่อเซ่นบุรพชน คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว มาในชั้นหลังผู้ที่เคยถือศาสนาพราหมณ์แล้วกลับมานับถือพระพุทธศาสนาเมื่อถึงคราวที่เคยทำบุญตามฤดูกาลให้แก่พราหมณ์ ก็จัดทำถวายพระสงฆ์เหมือนที่เคยทำแก่พราหมณ์ถือกันว่า การทำบุญด้วยของแรกได้เป็นผลานิสงส์อย่างยิ่ง และเมื่อทำบุญแล้ว มักจะกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำพิธีอุทิศให้แก่ผู้ตายของชาวฮินดูเรียกว่า ศราทธ์ เสียงเหมือนกับคำว่า สารท ในภาษาไทยซึ่งเป็นชื่อฤดู

ของที่ทำในเทศกาลสารทถวายพระสงฆ์นี้ เรียกว่า “กระยาสารท” แปลว่า “อาหารที่ทำในฤดูสารท” กระยาสารทนี้คงจะเนื่องมาจากข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย ใช้ข้าว นํ้าตาล น้ำนม ผสมกัน และไม่กำหนดว่าทำเฉพาะฤดูสารท บางทีเขาทำกินกันเอง เช่น ที่นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้าก็เป็นเวลาเดือนหก ส่วนผสมของกระยาสารทไทยมีข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา ของ ๓ อย่างนี้คั่วให้สุกเสียก่อน แล้วนำมากวนกับนํ้าอ้อยกวนให้เหนียวกรอบเกาะกันเป็นปึก จะทำกรอบเป็นก้อนหรือตัดเป็นชิ้นๆ ห่อด้วยใบตองแห้งใส่ไว้ในโหลหรือปี๊บเก็บไว้ได้นาน ถ้ากวนไม่ดี จะร่วน ไม่เหนียว กินไม่อร่อย ผู้เขียนสังเกตว่ากระยาสารทของเดิมมาจากพืชผลล้วนๆ สมกับเจตนาว่า ทำจากพืชผลแรกได้ ต่อมาคนรุ่นหลังคิดดัดแปลงให้แปรเปลี่ยนไปใส่นมเนยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากสัตว์มาปนด้วย ไม่ใช่พืชล้วนๆ กระยาสารทเป็นของหวานจัดโดยมากคนจะกินกับกล้วยไข่สุก แต่ก่อน ชาวบ้านมักจะกวนกันเองนอกจากทำถวายพระแล้ว ยังเอาไปแจกเพื่อนบ้าน ต่างฝ่ายต่างแจก แลกเปลี่ยนฝีมือกัน เดี๋ยวนี้มีคนทำขายสะดวกดี เลยกวนกันไม่เป็น

พิธีสารทเป็นราชพิธีหนึ่งซึ่งทำกันมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ครั้งนั้นเรียกว่า “พิธีภัทรบท” ปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อาหารที่ทำเนื่องในพิธีสารทอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าวทิพย์ สิ่งของที่ใช้กวนมีพวกถั่วงา สาคู ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า มันเทศ กระจับ แห้ว ข้าวสาร ลูกบัว เมล็ดกลํ่า นํ้านมโค น้ำผึ้ง นํ้าอ้อย มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ชะเอมและอื่นๆ อีกมากเอามากวนให้เข้ากัน ใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้กวน การกวนข้าวทิพย์มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงกวนทั้งสิ้น แต่ในรัชกาลหลังๆ ใช้หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ซึ่งเป็นสาวพรหมจารีเป็นผู้กวน

ส่วนพิธีกวนข้าวทิพย์ของราษฎร มักทำกันที่วัดให้หญิงสาวพรหมจารีเป็นผู้กวน มีพระสงฆ์สวดมนต์ หลังจากเลี้ยงพระแล้ว แจกขาวทิพย์กันคนละเล็กละน้อย ถือว่ากินแล้วจะเกิดสวัสดิมงคลและระงับโรคภัยได้ การกวนข้าวทิพย์นี้ไม่สู้จะแพร่หลายเพราะต้องทำพิธีมาก

การทำบุญเนื่องในฤดูสารทนี้ นอกจากทำกระยาสารทอันเป็นอาหารที่ทำตามแบบอย่างทางลัทธิพราหมณ์แล้ว ยังมีการทำบุญเนื่องด้วยฤดูสารทอีกอย่างหนึ่ง คือ การถวายของ  ๕ อย่างแก่พระสงฆ์ มีเนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย มีมูลเหตุว่าครั้งพุทธกาล พวกภิกษุเกิดอาพาธขึ้นชนิดหนึ่ง เรียกว่า สารทิกาพาธ แปลว่า ไข้เกิดในฤดูสารท อาการมีฉันจังหัน แล้วอาเจียนทำให้ร่างกายซูบผอม พระพุทธองค์จึงทรงดำริหาสิ่งที่เป็นทั้งยาและอาหารและไม่ให้เป็นอาหารหยาบ เพื่ออนุญาตให้พระสงฆ์ฉันได้ตั้งแต่เที่ยงวันไปแล้วเพื่อบำรุงร่างกาย ของ ๕ อย่างนี้เป็นของที่มีในอินเดีย ในมืองไทยใช้เป็นยาไม่ได้ทุกอย่าง ใช้เป็นยาได้แต่นํ้าผึ้ง จึงพากันถวายแต่นํ้าผึ้งอย่างเดียวเรียกว่า ตักบาตรน้ำผึ้งบางที่มีนํ้าอ้อย นํ้าตาลกรวดด้วย การตักบาตรน้ำผึ้งนั้น เขามักมีการป่าวร้องหรือแจกฎีกา แล้วพร้อมกันไปทำที่วัด คือเอาบาตรมาตั้งแล้วใส่น้ำผึ้งลงไปในบาตร แล้วแบ่งถวายพระสงฆ์ในวัด พิธีถวาย ทายกจะเอาด้ายสายสิญจน์วงเข้ากับบาตรให้ผู้อื่นจับสายสิญจน์ต่อๆ กันไป  แล้วหัวหน้าว่านำให้ผู้อื่นว่าตาม สมัยนี้ไม่ใคร่มีการตักบาตรนํ้าผึ้ง คงจะเป็นเพราะใช้ประโยชน์ได้น้อย จึงเปลี่ยนเป็นตักบาตรข้าวสาร

ประเพณีสารททางปักษ์ใต้ทำบุญเดือนสิบเป็นสองระยะ คือ วันขึ้นคํ่าเดือน ๑๐ เป็นวันรับตายาย และบูชาข้าวบิณฑ์ ตายายในที่นี้คือ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นัยหนึ่งว่า เป็นวันเชิญตายายที่ตายไปแล้ว มากินเลี้ยงเนื่องด้วยเก็บเกี่ยวผลแรกได้ ถ้าเป็นชาวนาก็เลี้ยงด้วยข้าวใหม่ ข้าวบิณฑ์นั้น คือ ก้อนข้าว งานเริ่มแต่เวลากลางคืนของวันสิ้นเดือน ๙ พระสงฆ์จะทำพิธีสวดพระสูตรที่เนื่องด้วยเรื่องของเปรต คือ ผู้ที่ตายล่วงหน้าไปก่อนแล้ว มีติโรกุฑฺฑสูตร เป็นต้น รุ่งขึ้นเมื่อชาวบ้านนำข้าวไปทำบุญ พระสงฆ์จะสวดมนต์ต่อ สวดจบแล้วมีงานทำบุญเลี้ยงพระ พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วมีพิธีบังสุกุลอัฐิเป็นส่วนรวมเป็นเสร็จพิธีในวันนั้น แล้วทำซ้ำอีกในวันรุ่งขึ้น และวันถัดไปรวม ๓ วัน เป็นเสร็จพิธีรับตายายและบูชาข้าวบิณฑ์ พิธีบูชาข้าวบิณฑ์ที่เขาแยกทำ เขาจะนำข้าวใส่ภาชนะไปวางไว้หน้าพระสงฆ์ในศาลาไว้เป็นส่วนสัดเฉพาะครอบครัว เห็นจะอุทิศให้เฉพาะญาติของตน ส่วนที่ทำรวมจะนำข้าวใส่ ภาชนะไปรวมไว้เป็นกองกลาง คงจะอุทิศ หรือเลี้ยงผีที่ไม่มีญาติด้วย ข้าวบิณฑ์ที่บูชานี้เสร็จพิธีแล้วใครจะเอาไปกินก็ได้ ถือว่าถ้าได้กินข้าวชนิดนี้แล้วจะเกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้กิน ข้าวที่เหลือนำไปเทกองไว้

อีกระยะหนึ่ง คือ วันแรม ๑๕ คํ่า เดือน ๑๐ ซึ่งเป็นเทศกาลสารท มีพิธีส่งตายายและวันชิงเปรตในวันนี้ ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วนำอาหารแห้งที่เก็บไว้ได้นานเป็นของส่งตายายเมื่อจะกลับไปยังเปตโลก ไปวางไว้ตามโคนไม้หรือกอหญ้าสุดแท้แต่ใครจะหยิบไป นอกจากนี้ทำพิธีชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ตั้งเปรต” คือ เอาไม้ไผ่มาผูกโครงเป็นร้านยกพื้นสูง แล้วนำขนม อาหาร ผลไม้ ตลอดจนเสื้อผ้าวางไว้ข้างบน อุทิศเป็นเปรตพลี คนมาแย่งไปกินไปใช้เรียกว่า “ชิงเปรต” ภายหลังใช้วิธีทิ้งสลาก เมื่อแย่งได้ก็มาขึ้นรับเอาของไปตามสลาก ถือกันว่าผู้ที่มีร่างกายออดแอด หากได้แย่งเปรตกินเช่นนี้ จะกลับเป็นผู้ที่มีร่ายกายแข็งแรง

ที่มา:กรมศิลปากร