วิวัฒนาการของธงชาติไทย

Socail Like & Share

การที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์นั้น มีสาเหตุมาจากอีกสาเหตุหนึ่ง เรื่องนี้จมื่นอมรดรุณารักษ์ ได้เล่าไว้ในหนังสือวชิราวุธนุสรณ์ ปี ๒๔๙๖ ใจความว่า เพราะในปี ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าได้เสด็จเยี่ยมราษฎรตอนน้ำท่วมทางภาคเหนือ ราษฎรได้พากันประกับบ้านเรือนและสถานที่รับเสด็จด้วยธงชาติ มีกระท่อมหลังหนึ่ง เอาธงชาติไปติดไว้ตรงจั่วธงชาติของกระท่อม ด้วยความจนหรือด้วยความไม่รู้ก็ไม่ทราบธงผืนนั้นแทนที่จะติดให้ช้างยืนอย่างชาวบ้านเขา ปรากฏว่าช้างนอนหงายท้อง คือเจ้าของกระท่อมติดธงเอาช้างนอนหงายนั่นเอง พระองค์ทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่จะเขียนรูปช้าง จึงได้ทรงคิดธงไตรรงค์ใช้ผ้าแถบเพลาะเข้าด้วยกันเป็นสามสีขึ้น ซึ่งสะดวกและง่ายในการที่จะทำและการใช้ เพราะจะติดอย่างไร เอาทางไหนขึ้นก็ไม่น่าเกลียดทั้งนั้น

ต่อมา ได้ตราพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับอื่นๆ และกำหนดลักษณะธงชาติขึ้นใหม่ดังนี้

“ธงชาติ รูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๙ ส่วน ด้านกว้าง ๒ ใน ๖ ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้างๆ ละ ๑ ใน ๖ ส่วน เป็นแถบสีขาวต่อสีขาวออกไปทั้ง ๒ ข้าง เป็นแถบสีแดง ธงชาตินี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ธงไตรรงค์”

ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดว่าธงชาติแถบกลางเป็นสีขาบ แทนจะเป็นสีน้ำเงินความจริงสีขาบก็คือสีน้ำเงินแก่นั่นเอง เรื่องของสีธงชาติจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนอกจากขนาดเท่านั้น

ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๔๗๙ ได้กำหนดธงไว้อีกหลายประเภท เช่น ธงหมายพระอิสริยยศ มีธงมหาราชใหญ่ ธงมหาราชน้อย ธงราชินีใหญ่ ธงราชินีน้อย เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีธงราชการ มีธงราชนาวี ธงราชการทั่วไป อันมีธงประจำกองทหารบก หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าธงชัยเฉลิมพล ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางธงมีรูปอุณาโลมทหารบก ธงประจำกองทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ที่ศูนย์กลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายในมงกุฎ สีของรูปนี้เป็นสีเหลือง

ธงประจำกองทหารอากาศ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงศูนย์กลางธงมีรูปอุณาโลมทหารอากาศ

นอกจากนี้ก็มีธงประจำคณะลูกเสือแห่งสยาม พื้นเป็นธงชาติ มีขนาดกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร ที่ตรงกลางมีตราธรรมจักรเป็นสีเหลือง ขนาดโตตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ เซนติเมตร คันธงยาว ๒.๖๐ เมตร ที่ยอดธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิร

ธงประจำกองลูกเสือ พื้นเป็นธงชาติ มีขนาดกว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๕๐ เซนติเมตร ที่ตรงกึ่งกลางมีรูปวงกลมพื้นสีเหลือง ขนาดโตตามเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๗ เซนติเมตร มีขอบเป็นสีดำ ๒ ขอบซ้อนกัน ขอบนอกกว้าง ๒ มิลลิเมตร ขอบในกว้าง ๑ มิลลิเมตร ระยะขอบนอกและขอบในห่างกัน ๒ มิลลิเมตรตรงกึ่งกลางวงกลมมีตรา คณะลูกเสือแห่งสยามและนามจังหวัดที่ได้รับพระราชทานเป็นอักษรสีดำอยู่เบื้องใต้ คันธงยาว ๒.๖๐ เมตร ที่ยอดคันธงทำด้วยเงินเป็นรูปวชิร
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติธง พ.ศ.๒๕๒๒ ได้ประกาศใช้ใหม่ยังกำหนดลักษณะธงอีกหลายอย่าง จะพูดถึงในที่นี้ก็จะยืดยาวเกินไป ผู้ใคร่รู้โปรดดูในพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้นเถิด

ธงเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ดังนั้นในดินแดนของชนชาติหนึ่ง ชนอีกชาติหนึ่งจะไปชักธงชาติของตนขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่เจ้าของประเทศไม่พึงประสงค์ ดังนั้นพระราชบัญญัติธง จึงกำหนดการชักธงชาติไว้ว่าในดินแดนของประเทศไทย ให้ชักได้แต่ธงชาติไทย ส่วนธงชาติต่างประเทศจะชักได้ก็แต่ในสถานทูต หรือสถานกงสุลตามธรรมเนียมและกฎหมายระหว่างประเทศ หรือชักธงบนเรือหรืออากาศยานของประเทศนั้นๆ หรือชักธงเมื่อประมุขของประเทศนั้นๆ มาเยี่ยมประเทศไทย หรือชักธงเมื่อได้รับอนุญาตจากทางราชการ แต่ต้องชักธงไทยคู่กันไปด้วย และธงไทยนั้นต้องมีขนาดไม่เล็กกว่าธงต่างชาติที่ชักนั้นด้วย และธงชาติไทยต้องอยู่ข้างขวาของชาติต่างด้าว

นอกจากนี้เพื่อให้ธงเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ กฎหมายยังกำหนดว่า มิให้ประดิษฐ์รูปหรือเครื่องหมายอื่นใดลงในธงชาติเป็นอันขาด หรือใช้ชักธง แขวนธงชาติหรือสีธงชาติไว้ ณ สถานที่อันสมควร หรือใช้ธงชาติแถบสีธงชาติโดยวิตถารวิธี หรือแสดงกิริยา วาจา อาการอย่างหนึ่งอย่างใดหยาบคายต่อธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ หรือประดิษฐ์ธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ลงในสถานที่หรือบนสิ่งของใดๆ โดยไม่สมควร สมัยหนึ่งเคยมีคนทำถุงเท้าเป็นสีธงชาติ มีคนนำไปใช้ถูกจับไปลงโทษก็เคยมี นอกจากนี้เคยเห็นคนเอารูปลอกธงชาติไปติดไว้ใต้อานรถจักรยานยนต์นึกว่าจะสวยงามก็เคยมี การกระทำเช่นนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งและนับเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย เพราะสีของธงนั้นมีความหมายถึงชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ของเรา ซึ่งซึมซาบกันอยู่ทั่วไปแล้ว การกระทำใดๆ ต่อธงชาติหรือแถบสีธงชาติโดยแสดงอาการเหยียดหยามก็เท่ากับเหยียดหยามสถาบันทั้งสามที่เป็นสัญลักษณ์นั้นด้วย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี