วิธีแผลงวรรณยุกต์

Socail Like & Share

คำบาลี และสันสกฤต ซึ่งไม่มีกำหนดเสียงวรรณยุกต์ ครั้นตกมาในภาษาไทย เราอ่านตามเสียงอักษรสูง กลาง ต่ำ ของเรา ไม่ต้องใช้ไม้วรรณยุกต์ แต่มีบางคำที่แผลงออกไปจากนี้ คือ

(๑) เปลี่ยนวรรณยุกต์เป็นอย่างอักษรนำ คือ ศัพท์เดิมเป็นคำเรียงพยางค์ แต่เราอ่านตามวิธีอักษรนำ ทำให้เสียงวรรณยุกต์แผลงออกไปจากที่เคยอ่าน เช่น กากณึก ใช้อ่านเป็น กากะหนึก, ติลก เป็น ดิหลก, วาสนา เป็น วาด-สะหนา, ศาสนา เป็น สาด-สะหนา, อเนก เป็น อะเหนก ซึ่งควรจะอ่านเป็น กากะณึก, ดิลก, วาสะนา, อะเนก ดังนี้เป็นต้น

(๒) คำที่มีตัว ห การันต์) ใช้เติมไม้เอกลง เช่น วิเท่ห์, สนเท่ห์, พ่าห์, เสน่ห์, โล่ห์, โม่ห์ ฯลฯ

(๓) คำไทยที่ไม่มีไม้วรรณยุกต์ ใช้เติมไม้วรรณยุกต์ลงบ้างก็ได้ เช่น จึง, จุง, บ, ดัง แล, เพียง เป็น จึ่ง, จุ่ง, บ่, ดั่ง, แล้, เพี้ยง ฯลฯ

ที่ใช้เช่นนี้มักเป็นด้วยที่ต้องการ เอก โท ในการแต่งโคลง และ ร่าย บางทีก็กลับอักษรสูงเป็นต่ำ หรือกลับต่ำเป็นสูง เช่น เผ้า เป็น เพ่า, ช่วย เป็น ฉวย ฯลฯ วิธีนี้ท่านเรียกว่า ‘เอกโทษ’ หรือ‘โทโทษ’ตามที่ใช้เอกผิดหรือโทผิด เดี๋ยวนี้ไม่ใคร่จะนิยม เพราะเป็นวิธี ‘ขอไปที’ ซึ่งทำให้เนื้อความคลาดเคลื่อนได้

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร