วรรณคดีสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

Socail Like & Share

ระเด่นลันได
(พ.ศ.๒๓๖๗-พ.ศ.๒๓๙๓)
ในรัชกาลนี้ ความเจริญของวรรณคดีไทย ก็สืบต่อมาจากรัชกาลที่ ๒ มีกวีหลายท่านที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๒ คงฝากพลงานเอาไว้เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น

ในรัชกาลนี้ ได้มีการพิมพ์หนังสือเกิดขึ้น ผู้ริเริ่มพิมพ์อักษรไทยเป็นคนแรก เป็นชาวอังกฤษชื่อ ร้อยเอก เจมส์โล ได้คิดหล่อตัวอักษรไทยขึ้นที่เบงกอล พ.ศ. ๒๓๗๑ พิมพ์ไวยากรณ์ไทยให้ฝรั่งเรียน ต่อมาพวก มิชชันนารีเห็นเข้า ก็สั่งพิมพ์หนังสือสอนศาสนา เพื่อส่งมาแจกที่กรุงเทพ ฯ ใน พ.ศ. ๒๓๗๘ และได้นำเอาโรงพิมพ์มาตั้งในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๘๐ หมอบรัดเล ก็ได้ตั้งโรงพิมพ์อีกแห่งหนึ่ง

การพิมพ์ส่วนมากพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาและเอกสารทางราชการ ซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ คือ ประกาศห้ามสูบฝิ่น

ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ได้มีการประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ เริ่มใน พ.ศ. ๒๓๔๗ โดยพระองค์จะให้ถือเป็นแหล่งรวมวิชา มีภาพเขียนบนฝาผนัง รูปปั้น ความรู้ใดที่เห็นว่ามีประโยชน์ก็ทรงโปรดให้จารึก บนฝาผนัง เอา ไว้ เช่น วิชาทางศาสนา วรรณคดี ประเพณี ตำรายา ตำราหมอ เช่นตำราหมอนวด ก็มีภาพเขียนท่าประกอบเช่นท่าฤาษีดัดตนอันจะเป็นประโยชน์แก่อนุชน คนรุ่นหลัง

เสภาขุนช้างขุนแผนในรัชกาลที่ ๓
สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ มี ๒ ตอนคือ ตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนช้างตามนางวันทอง เช่น
ขุนช้างตกลงต้ำผลุง             หลังกุ้งวิ่งตรงเข้าดงหนาม
เกี่ยวเนื้อปอกไปเลือดไหลทราม     อารามกลัวฺมุดไปไม่หยุดเลย
เถาวัลย์พันขาดลงดิ้นแด่ว         กูติดบ่วงเข้าแล้วปลดทีเหวย
อ้ายย่าโม่ทิ้งกูไม่อยู่เลย         อกเอ๋ยหมดท่าเข้าตาจน

โคลงปราบดาภิเษก
รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์    โดยทรงบรรยายพิธีปราบดาภิเษกของสมเด็จพระราชบิดา    ที่ทรงปราบกบฏเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตได้สำเร็จ    และสดุดีพระเกียรติสมเด็จพระราชบิดาด้วย

ลักษณะ เป็นร่ายสุภาพ ๑ บท    เป็นโคลงสี่สุภาพ ๑๕๘ บท ลงท้ายด้วยร่ายสุภาพ

เนื้อเรื่อง กล่าวถึงขนบธรรมเนียม ราชประเพณีสำหรับกษัตริย์ในการขึ้นครองราชสมบัติ โดยการปราบดาภิเษก เป็นต้นว่า ราชพิธีจัดขบวนถวายเครื่องเบ็ญจราชกกุธภัณฑ์ การเลียบเมือง ตัวอย่าง
ราชวัติฉัตรเจ็ดชั้น        เบญจรงค์
ล้อมราชมณเฑียรทรง        เทริดเกล้า
จักรพรรดิบรรยงก์        พิมานมาศ
เฉลิมนิเวศน์วังเจ้า        แผ่นหล้าอภิรมย์

กรงศรีอยุธเยสลํ้า        เลอสวรรค์
ปานอมรแมนสรร        เสกสร้าง
แสนสนุกเทียบทัน        ทิพย์โลก แลเฮย
ทุกเทศยอยศอ้าง        อ่อนเกล้าถวายกร

มีถ้อยคำไพเราะ เทียบเท่ากับโวหารของกวีมีชื่อในสมัยนั้น นับว่าพระองค์ทรงเป็นนักกวีที่ทรงรอบรู้ เฉลียวฉลาด เลือกสรรค์ถ้อยคำให้ถูกต้องตามแบบฉบับ อันจะเป็นตัวอย่างของอนุชนรุ่นหลังที่จะถือเป็นแบบฉบับต่อไป

สังข์ศิลป์ชัย
ทรงพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นบทกลอนละคร    เพื่อใช้ ในการแสดงละครในสมัยนั้น ให้ความไพเราะ สนุกสนาน ใช้เล่นละครนอกได้ดีเป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ยาวที่สุดของพระองค์

จับตอน สังข์ศิลป์ชัยตกเหว และท้าวเสนากุฎเข้าเมือง

เรื่องย่อว่า พระสังข์ศิลป์ชัยพานางเกสรสุมณฑา และนางศรีสุพรรณกลับเมืองปัญจาล์ ถูกหกกุมารผลักตกเหว ทำให้สองนางเศร้าโศกเสียใจ ใช้สไบและช้องผมเสี่ยงทาย แล้วหกกุมารพาไปยังเมืองกราบทูลพระราชบิดาเป็นความเท็จว่า เป็นผู้พานางเกสรสุมณฑา และนางศรีสุพรรณกลับมาได้

ครั้นกาลต่อมา นางทั้งสองได้ของเสี่ยงทายกลับคืน จึงแน่ใจว่าพระสังข์ศิลป์ชัยไม่ตายแน่ จึงขอให้ท้าวเสนากุฎไปตามพระสังข์ศิลป์ชัย และได้พบพระสังข์ศิลป์ชัย เพราะพระอินทร์ช่วยชีวิตไว้ และได้พบนางปทุม และไกรสร กับสิงหราด้วย

นางเกสรสุมณฑา และนางปทุม ได้แนะนำทั้งสองใหัรู้จักกัน และคืนดีกัน ต่อมาพระอินทร์เนรมิตเมืองไว้ต้อนรับ มีการประลองศร พิสูจน์ความบริสุทธิ์ และตอนสุดท้าย ด้วยความผิดของหกกุมาร จึงตกเป็น ข้าของพระสังข์ศิลป์ชัย

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า คล้ายกับ ขุนช้างขุนแผนที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ ตัวอย่าง
ถึงท้องตลาดใหญ่ใกล้วัง         เห็นนางนั่งเรียงรายทั้งซ้ายขวา
รูปโฉมโนมพรรณเพียงขวัญตา     พิศผ้านุ่งห่มก็สมตัว
ขายล้วนแก้วแหวนเงินทอง        สิ่งของอย่างดีไม่มีชั่ว
เห็นรูปเขางามงามให้คร้ามกลัว     ก้มตัวดำเนิน เดินไป
เพลงยาวในรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ ตอนที่ดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น และหลังจากครองราชสมบัติก็ดี

ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นกลอนเพลงยาว มี ๒ ชนิดคือ เพลงยาวสังวาส เนื้อเรื่องเป็นทำนองสังวาส มี ๖ บท บทที่ ๗ เป็นเพลงยาวปลงสังขาร พระราชนิพนธ์ตอนปลายรัชกาล

เพลงยาวปลงสังขาร
นิจจาเอ๋ยกระไรเลยโอ้เบญจขันธ์     จะผูกพัน ตราตรึงไปถึงไหน
ยามนอนก็ได้นอนสักอึดใจ         ควรหรือไม่เห็นว่าขันธ์นั้นไม่ดี
ยังจะหลงหมักหมมด้วยสมบัติ     ไม่หลีกละสละสลัดเอาตัวหนี
อันญาติมิตรสนิทต่อหน้าทั้งตาปี     จะยินดีก็แต่ได้สมใจนึก

นอกจากนี้    พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวจารึกไว้ที่วัดเชตุพน ชื่อว่า กลบทหงส์คาบพวงแก้ว ว่า

ได้ยลน้องนวลพักตร์พักตร์ผ่องผิว
เจ้างามโฉมโฉมชื่นจิตจิตเจียนปลิว     ดูดั่งลิ่วลิ่วลอยเลื่อนเลื่อนลงดิน
จะหาไหนไหนจะเหมือนเหมือนโฉมสมร จริตงองอนงามเฉิดเฉิดโฉมฉิน
มารยาทยาตรเยื้องอย่างย่างกินริน     พี่แดดิ้นโดยรักรักรึงใจ

กลบทดอกไม้พวง
อ่อกระนี้ดอกฤาชายไม่ขายหน้า         อ่อกระนี้ดอกฤากลัว
สัญญาได้
อ่อกระนี้ดอกฤาสัตย์สะบัดไป        อ่อกระนี้ดอกฤาใจช่างไม่คิด
เสนาะเหลือเมื่อยามรักอักษรสาร         เสนาะเหลือเมื่อยามหวานละหวานสนิท
เสนาะเหลือเมื่อยามชังไม่หวังมิตร     เสนาะเหลือเมื่อยามจิตจะผิดกัน

สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร
โคลงโลกนิติ
เป็นสุภาษิตโบราณ มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีทั้งที่มาจากบาลี และสันสกฤต คัมภีร์และคาถาต่างๆ ซึ่งแปลเป็นโคลง มีภาษามคธ กำกับข้างต้น ได้มีการชำระโดย สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ในรัชกาลที่ ๓ เป็นคำโคลงให้ความรู้ และมีคติสอนใจ เช่น
มดแดงแมลงป่องไว้         พิศม์หาง
งูจะเข็มพิศม์วาง            แห่งเขี้ยว
นรชนทั่วสรรพางค์        พิศม์อยู่
เพราะประพฤติมันเกี้ยว    เกี่ยงร้ายแกมดี

ความรู้เรียนเมื่อน้อย        หนังสือ
ค่อยสมรรถจึงหัดปรือ        โล่ห์ตั้ง
รู้แล้วเลิศอย่าถือ            ตนถ่อม เถิดพ่อ
บุญจัดให้ใครรั้ง            เริ่มรู้เป็นเอง

โคลงกระทู้
ตา มัวมืดคู่เข้า            คหา
บอด บ่ ทราบสุริยา        ย่ำฆ้อง
ได้ สบสิ่งเสริมตา        จักใส่
แว่น แต่หยิบจ้องจ้อง         จับแล้วเวียนวาง

ทรงชำระให้ดีกว่าเดิม
ผจญคนโกรธด้วย        ไมตรี
ผจญหมู่ทรชนดี            ต่อตั้ง
ผจญหมู่โลภจงมิ            ทรัพย์เผื่อ อวยนา
ผจญอสัตย์จงตั้ง            ต่อด้วยสัตยา
(ของเก่า)

ผจญคนมักโกรธด้วย        ไมตรี
ผจญหมู่ทรชนดี            ต่อตั้ง
ผจญคนจิตโลภมี        ทรัพย์เผื่อ แผ่นา
ผจญอสัตย์ให้ยั้ง            หยุดด้วยสัตยา
(ทรงปรับปรุงใหม่)

สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดา นิ่ม พระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายมั่ง” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๕ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ มีพระนามในพระสุพรรณมัฎว่า “กรมหมื่นเดชาดิศร”
ได้เลื่อนเป็น “กรมขุนเดชาดิสร” ในรัชกาลที่ ๒ ใน รัชกาลที่ ๔ เป็นกรมพระยาเดชาดิศร ทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒ ทรงเป็นต้นสกุลเดชาติวงศ์ ณ อยุธยา

นอกจากนี้    พระองค์ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงนิราศ เสด็จไปทัพเวียงจันทร์ ครั้งรัชกาลที่ ๓ อีกด้วย

กรมหลวงวงษาธิราชสนิท
ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาปราง พระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าน่วม” ได้รับพระนามในสุพรรณมัฎ เป็นเจ้าต่างกรมเป็น “กรมหลวงวงษาธิราชสนิท” ทรง ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๑ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ ทรงเป็นต้นสกุล สนิทวงศ์

นิราชพระประฐม
ทรงนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่อนิพนธ์เสร็จแล้ว ได้ทรงให้อาจารย์คือ สมเด็จพระปรมานุชิตทรงแก้ไข

เพื่อบันทึกเรื่องราว ในการเสด็จไปนมัสการ พระประฐม พระประโทน ที่นครปฐม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗

เป็นนิราศโคลงสี่สุภาพ ใช้ถ้อยคำสละสลวย มีการเปรียบเทียบ บางบทเล่นตัวอักษรน่าฟังว่า
โมงเมียงแมกม่วงไม้         มองเมีย
ยางเหยียบยอดยางเยีย    ยาตรเยื้อง
คลิ้งโคลงคว่ำเคล้าเคลีย    คลอคล่อ
แอ่นแอ่นอกแอบเอื้อง        ออกเอี้ยงอึงอล

โคลงที่ถูกต้องฉันทลักษณ์ที่สุดได้แก่
คำนึงนุชอยู่รั้ง            แรมวัง
จักชื่อสนิทเนาหลัง        ห่อนรู้
ยังคงก่อสัจจัง            จริงแน่ ไฉนนา
ฤาแม่หลงลมชู้            ชื่นแล้วลืมเรียม

โคลงจินดามณี
กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ลักษณะโคลงสี่สุภาพรวม ๓๙ บท โคลงสี่สุภาพกระทู้ ๓๕ บท และเป็นกาพย์ สุรางคนางค์ ๕ บท

ทรงนิพนธ์ เพื่อให้เป็นหนังสือบทเรียน เป็นการสอนจริยาวัตร ซึ่งพระราชโอรสทุกพระองค์ในเวลาเดียวกันด้วย มีคติธรรม คำสอนอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเพื่อเป็นการเสริมพระเกียรติของกษัตริย์

ขึ้นต้นด้วยการสดุดีพระมหากษัตริย์ ชมบ้านเมือง มีบทคำสอน    บอกชื่อผู้แต่งและชื่ออาจารย์ผู้แต่งอีกด้วย เช่น

โคลงกระทู้สั่งสอน
อย่าฉ้อหลวง         ล่วงล้วง        ลักบัง
ให้ขาด             ราชทรัพย์คลัง     ท่านให้
อย่าฉ้อราช         ราษฎรหวัง        ประโยชน์แก่ตนแฮ

ให้ขุ่น             ข้นจนได้        ยากแค้นขายตัว
ชมปราสาทราชวัง
ปราสาทสูงเทริดฟ้า        สู่โพยม
จรูญรัตน์จำรัสโสม        สุกแพร้ว
พ่างไพชยนต์ประโลม        จิตโลก เล็งเฮย
สิงหาศน์มาศกอบแก้ว        ก่องหล้าเลอสวรรค์

นับว่าให้ความไพเราะ และเป็นคติเตือนใจได้เป็น
อย่างดี

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ทรงประสูติเมื่อ พ ศ. ๒๓๓๓ ในพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับเจ้าจอมมารดาจุ้ย ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี ทรงผนวชเมื่อพระชนมายุ ได้ ๑๒ ชันษา และได้อยู่ในสมณเพศตลอดจนสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ ศ. ๒๓๙๖

พระองค์เป็นผู้เชี่ยวชาญในอักษรศาสตร์ ภาษาบาลี สันสกฤต วรรณคดี ราชนิติศาสตร์ และโหราศาสตร์

ลิลิตตะเลงพ่าย
เป็นเรื่องราว ทางประวัติศาสตร์ไทย ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนเรศวร ที่มีชัยต่อพระมหาอุปราชแห่งประเทศพม่าในการชนช้าง

กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์เป็น ลิลิตสุภาพ เพื่อเทอดพระเกียรติของสมเด็จพระนเรศวร และพระเอกาทศรถ

ได้รับการยกย่องว่าดีเสมอกับลิลิตญวนพ่าย ลิลิตพระลอ แม้เรื่องราวจะเกี่ยวกับสงคราม แต่ด้วยโวหาร และความสามารถของผู้นิพนธ์ ทำให้เกิดรสในวรรณคดีอย่างมาก ไพเราะน่าอ่าน ให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ ในด้านอักษรศาสตร์ ชื่อนก ชื่อไม้ อาวุธ และตำราพิชัยสงคราม ใช้ถ้อยคำกระทัดรัดมีความหมาย เช่น

ชมนก
กระเต็นกระตั้วตื่น        แตกคน
ยูงย่องยอดยูงยล        โยกย้าย
นกเปล้านกปลีปน        ปลอมแปลก กันนา
คลํ่าคลํ่าคลิ้งโคลงคล้าย    คู่เคล้าคลอเคลีย

นางนวลนึกนิ่มน้อง        นวลปราง
จากพรากพรากจากนาง    หนึ่งนั้น
พิราบพิลาปคราง        ครวญแข่ง ข้าฤา
บัวว่าบัวนุชปั้น            อกน้องเรียมถนอม

ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ไว้ ๑๓ กัณฑ์

ลักษณะ เป็นร่ายยาวปนภาษาบาลี ทรงนิพนธ์ เพื่อเทศน์สั่งสอนประชาชน    แทรกขนบประเพณีไทย สุภาษิต มีความไพเราะมาก เช่น

คติเตือนใจ
จะมารักเหากว่าผม         จะมารักลมกว่าน้ำ
จะมารักถ้ำกว่าเรือน        จะมารักเดือนยิ่งกว่าตะวัน

พรรณนาไม้
ยังรุกขชาติที่ชายเชิงเขาเป็นคันเขต     กอรปด้วยเบญจโกฏฐ์เกตกรรณิการ์แกมกับพุดดง  กุหลาบลุลีแลกาหลงกุหลาบล้วน
ลำดวนดอกดูสล้าง ทั้งแคฝอยแลอ้อยช้างชูช่อ เป็นชั้นๆ ประกวดกันทุกก้านกิ่ง โน่นก็บุนนาค กากะทิง กระถิน ทั้งกระทุ่มแลทองกวาว เหล่าทองหลางล้วนมะเกลือกลุ่ม ประคำไก่แลแก้วกุ่มมะรุมรัก ราชพฤกษ์ สะพรั่งดอกดูดาษตา..”

พรรณนานก
ทั้งดุเหว่าเขากู่ก็คูขัน             บ้างก็หกหันโหนห้อยเห็นแต่ตัว
บ้างก็เป็นสีหมึกมัวหมอกหม่น     บ้างก็แดงดำดูขำขนสลับสี
ทั้งสัตวาโนรีร้องระงมดง        เหล่าสกุณชาติหงส์เห็นวิเศษ
หมู่สกุณเมยุเรศรำแพนหาง         เหล่าคณายางเยื้องย่อง
กระเรียนร้องก้องกังวานไพร     สาลิกาจับไม้แล้วเมียงมอง

ได้อ่านและได้ฟังทำให้เกิดภาพพจน์ มีการพรรณนาโวหารอย่างยอดเยี่ยม เพราะความมีสติปัญญาของพระองค์ สมกับที่พระองค์เป็นกวีเอกผู้หนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์

ปฐมสมโพธิกาถา
สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ ได้รับคำยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของร้อยแก้วเชิงพรรณนาที่ไพเราะอย่างยิ่ง ทรงพระนิพนธ์ถวายรัชกาลที่ ๓ ที่ได้อาราธนาไว้

เนื้อเรื่อง เป็นเรื่องราว ทางพุทธประวัติ โดยพิสดารเริ่มตั้งแต่การวิวาห์มงคลของพระเจ้าสุทโธทนะ จนถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพาน    และอันตรธาร ๕ ประการ รวม ๒๘ ปริจเฉท

ประโยชน์ ได้รับความรู้ในด้านพุทธศาสนาอย่างละเอียด

ได้ประโยชน์ในด้านอักษรศาสตร์ มีคำสนธิและสมาส นิพนธ์ไว้สละสลวยมาก ใช้สำนวนโวหารสูง เป็นประโยชน์ในด้านวรรณคดี
ตัวอย่างเช่น การพรรณนาถึงความงามของพระนางศิริมหามายาว่า

พระบรมโอษฐ แห่งพระสิริมหามายาราชบุตรี มีพรรณอันแดงดุจสีผลมะพลับทองอันสุกสด และพระทนต์ก็งามปรากฏ กลระเบียบวิเชียรรัตนประภัสรโวหาร ทั้งได้สดับพระสุรศัพท์สำนวนมธุรสารเสนาะ ดุจสำเนียงแห่งท้าวมหาพรหมอันเพราะพร้อมไปด้วยองค์ ๘ ประการ มีดังนั้น กรวิโกวิย เปรียบปานประดุจเสียงสกุณการเวก และเสียงขันแห่งสกุณกินรี อันไพเราะเป็นปิยกถาบริบูรณ์ด้วยลักษณะ

เรื่องปฐมสมโพธิ มีกวีแต่งกันอย่างแพร่หลาย แต่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์นี้ มีทั้งคติทั้งทางมหายาน และคติทางหินยาน คำศัพท์ที่ใช้ส่วนมาก เป็นศัพท์บาลี จึงให้คุณค่าในด้านอักษรศาสตร์มาก

กฤษณาสอนน้องคำฉันท์
สมเด็จกรมพระปรมานุชิต ทรงนิพนธ์ เป็นสุภาษิตสั้นๆ สอนหญิงที่พึงปฏิบัติต่อสามี ใช้ภาษาง่ายๆ มีคนจำได้มาก ลักษณะเป็นฉันท์และกาพย์

เนื้อเรื่อง นางกฤษณาและนางจิรประภา สองพี่น้องเป็นธิดาท้าวพรหมทัต เมืองพาราณสี ได้เลือกคู่

กฤษณาเลือกสวามีได้ ๕ องค์ และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ส่วนจิรประภามีสวามีองค์เดียวอยู่ด้วยกันไม่มีความสุข นางกฤษณาจึงสั่งสอนน้อง ให้ปฏิบัติสามีให้ถูกต้อง ในที่สุดก็อยู่กันอย่างมีความสุข
ตัวอย่าง คำสอนเปรียบเทียบ
พฤษภกาสร    อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง    สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี    ประดับไว้ในโลกา

มีคนจดจำได้มาก มีลักษณะคล้ายสุภาษิตของสุนทรภู่
ตัวอย่าง คำสอนปฏิบัติสามี
ตื่นก่อนเมื่อนอนหลัง         นั่งเฝ้าฟังบรรหารแสดง
ตรัสใช้รไวรแวง            ระวังศัพท์รับสั่งสาร

สรรพสิทธิคำฉันท์
สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์เป็นคำฉันท์ คือ ฉันท์ปนกับกาพย์ เพื่อสนองคุณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นแบบฉบับในการแต่งฉันท์ด้วย

พระสรรพสิทธิ์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองอลิกนคร มีความชำนาญในการถอดหัวใจ มีความสามารถ ทำให้นางสุพรรณโสภาแห่งนครคีรีพัชระพูดด้วย โดยอาศัยการเล่านิทาน ๔ เรื่องให้ฟัง จึงได้อภิเษกกับนาง ต่อมาได้ครองทั้งเมืองอลิกนครและเมืองคีรีพัชระ

บทละครเรื่อง ระเด่นลันได
พระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นผู้แต่ง พระมหามนตรีผู้นี้เป็นนักเลงกลอนในสมัยรัชกาลที่ ๓

มีลักษณะเป็นกลอนบทละคร แต่ไม่มีเพลงหน้าพากย์กำหนดไว้

เนื้อเรื่อง ระเด่นล่นไดมีอาชีพขอทาน ได้ไปขอทานถึงบ้านท้าวประดู่ นางประแดะได้ให้อาหารเป็นทาน เกิดมีความพอใจในระเด่นลันได ท้าวประดู่นี้มีอาชีพเลี้ยงวัว พอท้าวประดู่กลับมา รู้ว่านางประแดะให้ทานแก่ ระเด่นลันไดก็โกรธ เข้าทุบตี

ในคืนนั้น ระเด่นลันไดก็เข้าหานางประแดะ แต่ไปคลำถูกขาท้าวประดู่ เรื่องลับก็เลยแตกขึ้น รีบออกจากบ้านท้าวประดู่ มาพบนางประแดะกลางทาง ก็พาไปไว้

นางกระแอคนรักเก่าของระเด่นเกิดหึงหวง แต่ภายหลังเข้าใจกันและคืนดีกัน ท้าวประดู่ก็รับนางประแดะกลับไป

เป็นละครตลกอ่านสนุกๆ เป็นการเสียดสีสังคมเรื่องแรก ใช้สำนวนไพเราะมาก แทรกคำตลกขบขันไว้ในตัว เช่น
ถึงมิใช่ตัวเปล่าเจ้ามีผัว        พี่ไม่กลัวบาปดอกนะโฉมศรี
อันนรกตกใจไปใยมี        ยมพบาลกับพี่เป็นเกลอกัน

มีกลอนตลกๆ อีกมาก เช่น
พี่ก็ทรงศักดากล้าหาญ            แต่ข้าวสารเต็มกระบุงยังแบกไหว
ปลาแห้งพี่เอาเข้าเผาไฟ         บัดเดี๋ยวใจเคียวเล่นออกเป็นจุณ
อยู่ปราสาทเสาคอดยอดด้วน     กำแพงแก้วแล้วล้วนแต่เรียวหนาม
มีทหารหอนเห่าเฝ้าโมงยาม        คอยปราบปรามปัจจามิตรที่คิดร้าย

นับว่าท่านเป็นผู้มีอารมณ์ขันอยู่ไม่น้อย
ครั้นรุ่งเช้าท้าวประดู่ภูธร     เสด็จจรจากวังไปเลี้ยงวัว
โฉมเฉลาเนาไนที่ไสยา        บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว

บทชมนางก็ขำมิใช่น้อย
สูงระหงทรงเพรียวเรียวชะลูด     งามละม้ายคล้ายอูฐกระหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา     ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ
คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย         จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ        ลำคอโตตันสั้นกลม
สองเต่าห้อยตุงดังถุงตะเคียว     โคนเหี่ยวแห้งยวบเหมือนบวบต้ม เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม        มันน่าเชยน่าชมนางเทวี

ถ้าวาดตามคำกลอนนี้แล้ว คงจะสวยชนิดเด็กเห็นแล้ววิ่งหนี

เพลงยาวว่ากระทบพระยามหาเทพ (ทองปาน)
พระมหามนตรี (ทรัพย์) ผู้แต่งเป็นกลอนทำนองเพลงยาว ๕๔ คำกลอน แต่งคล้ายกับบัตรสนเท่ห์โดยทั่วไป ไม่ลงชื่อผู้แต่ง โดยประสงค์จะให้ผู้อ่านลดความศรัทธาในตัวของพระยามหาเทพ (ทองปาน)

บรรยายเสียดสีในการแต่งตัว ในการทำงาน และการวางตัวมีอำนาจราชศักดิ์ ลงท้ายผู้เขียนก็ขอฝากตัว

เมื่อเขียนแล้วก็นำไปติดไว้ที่เสาใกล้ๆ กับหน้าบ้าน พระยามหาเทพ เพื่อให้คนอ่าน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบมิได้ทรงกริ้ว และโปรดให้ปิดไว้ตามเดิม แม้จะมีลักษณะเหน็บแนมแต่ไม่หยาบคาย น่าฟังมีความไพเราะ และความหมายอยู่ในตัว เช่น
ถนนกว้างสี่วามาไม่ได้         กีดหัวไหล่ไกวแขนให้ขัดข้อง
ฟอกหัวไม่เห็นกลัวหนังหัวพอง    ยกสองมือกราบอกราบดิน

นอกจากนี้ยังได้เหน็บแนมคุณหญิงว่า
ตกลงมาอยู่กรุงพุงป่อง        แต่ลงท้องตาลอยอยู่น้อยหรือ
รอดด้วยยาเข้าอึ้งกับกิ้งกือ        พึ่งจะรื้อจากไข้ได้สามเดือน

เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ
แต่งโดยคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือจ้าง)
คุณพุ่มเป็นข้าหลวงเดิม ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกวีที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓-๕ เป็นบุตรีของพระยาราชมนตรี (ภู่) อยู่เรือนแพที่ท่าพระ

มีเนื้อความตอนต้น กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนรัชกาลที่ ๔ จะสวรรคต มีอาเพศเกิดขึ้น เช่นพระจันทร์ไม่แจ่มใส มืดมัว มีดางหางเกิดขึ้น มีอุบาทว์ประชุมเหตุ มีการบรรยายสดุดีรัชกาลที่๔ และประวัติผู้แต่ง ใช้ภาษาตลาด สำนวนไพเราะ เช่น
สมเด็จพระจอมธเรศตรี        ละบุรีกรุงเทพทวารา
ทั้งสนมพระบรมโอรส            ให้กำสรดโศกสร้อยละห้อยหา
สละหมดทวยทศโยธา            ละฎีกาหมายประกาศราษฎร
หนีขุนนางร้างนิราศพระศาสนา    เคยเปรมปราด้วยพระเดชมเหศร
ทั้งคุณจอมหม่อมเถ้าแก่แม่ละคร    ให้อาวรณ์ถึงพระเดชเทวษทวี

ที่เรียกว่าบุษบาท่าเรือจ้าง เพราะเป็นนักกวีที่ชอบบทบุษบา เป็นนักสักวาฝีปากคม รูปงามและฉลาด เคยปะทะคารมกับสมเด็จพระปิ่นเกล้า ครั้งดำรงพระยศเป็นพระนายไวย และจอดแพอยู่ใกล้ท่าเรือจ้าง จึงมีคนเรียกบุษบาท่าเรือจ้าง

ที่มา:โฆฑยากร