พิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยว

Socail Like & Share

ลงแขกเกี่ยวข้าว
ถึงเริ่มฤดูการผลิตใหม่
ความเชื่อทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์ในช่วงเวลาที่สำคัญและน่าสนใจศึกษาที่สุดจะเห็นได้จากพิธีกรรมหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น และพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อจะเริ่มฤดูการผลิตใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ที่ว่าสำคัญและน่าสนใจศึกษาที่สุดก็เพราะพิธีกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้เกิดการละเล่นต่างๆ ที่สะท้อนสภาพชีวิต และลักษณะสังคมของมนุษย์มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาอื่นๆ และลักษณะเช่นนี้เป็นปรากฏการณ์สากลที่เกิดมีอยู่เกือบจะทั่วโลกก็ว่าได้ ที่มีลักษณะสังคมคล้ายคลึงกัน
ถ้าหากศึกษาสภาพสังคมของชาวนา เราจะเห็นว่ามีความผูกพันอยู่กับผี ซึ่งมีทั้งผีดี และผีร้าย ดังนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกกับผีอยู่ทุกขณะ และบางครั้งก็ไม่อาจจำแนกได้ว่าพิธีกรรมที่กำลังทำกันอยู่นั้น เกี่ยวเนื่องด้วยผีดีหรือผีร้าย แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวเนื่องกันไป กล่าวคือในขณะที่กำลังไหว้ดีพลีถูกต่อผีดีเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ พิธีกรรมนั้นก็อาจจะปัดรังควานผีร้ายที่จะมาทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ขาดหายไปพร้อมๆ กันด้วย

ที่เกี่ยวกับการทำนา จะเห็นว่ามีการ “สู่ขวัญ” ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทำนาอยู่ตลอดเวลา ก่อนจะลงมือเก็บเกี่ยวข้าวที่แตกรวงเหลืองอร่าม ก็จะมีการเซ่นวักตั๊กแตนผีประจำนา หรือบ้างก็ “สู่ขวัญนา” ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากๆ ครั้นเมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะต้องเตรียมลานนวดข้าวไปพร้อมๆ กัน การทำขวัญลานหรือ สู่ขวัญลานก็เป็นพิธีกรรมที่จะขาดเสียมิได้ กระทั่งเมื่อนวดข้าวเสร็จก็ยังจะต้องสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญยุ้ง ฯลฯ ต่อไปอีก
การเกิดของเพลงเกี่ยวข้าว (หรือ-เพลงเต้นกำรำเคียว) เพลงสงฟางเพื่อการนวดข้าว แล้วเอาเส้นฟางออกจากกองข้าว หรือออกจากเมล็ดข้าว เพลงสงคอลำพวนเพื่อเก็บเศษฟางละเอียดหรือฝัดขาว เพลงชักกระดานเพื่อรวบรวมเมล็ดข้าว ด้วยการชักกระดานให้เป็นกองพูน จะเกิดขึ้นมาโดยเพียงเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงโดยขาดการต่อเนื่องสัมพันธ์กับการทำขวัญหรือสู่ขวัญต่างๆ นั้นย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะ
พติกรรมที่แสดงออกมามีความต่อเนื่องกับการทำขวัญหรือสู่ขวัญโดยมีเครื่องมือเครื่องใช้ประกอบการละเล่นอยู่ด้วยนั้น ย่อมเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่าการเล่นเพลงนั้นๆ เป็นไปเพื่อพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการทำมาหากินซึ่งกำลังปฏิบัติต่อเนื่องอยู่ และมนุษย์ต้องการผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์
ปัจจัยที่ทำให้เกิดเพลงประเภทนี้ขึ้นนั้น นอกเหนือจากการต่อเนื่องมาจากพิธีกรรมเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์และความสะดวกปลอดภัยในการทำงานนั้นๆ แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับกรณีที่สภาพสังคมยุคเก่าก่อนมีธรรมเนียมร่วมมือกันทำงาน ดังที่เรียกกันว่า “ลงแขก” ที่ญาติมิตรเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่างเอื้อเฟื้อช่วยเหลือแรงงานซึ่งกันและกันโดยเริ่มตั้งแต่เกี่ยวข้าว นวดข้าว กระทั่งเอาข้าวขึ้นยุ้งเป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งหมดเจ้าของนาจะต้องหุงหาอาหารเลี้ยงดูผู้มาช่วยทำงาน
อย่างน้อย 1 มื้อ และอย่างมากไม่เกิน 2 มื้อ แต่ถ้าหากไม่สามารถจัดหาอาหารมาเลี้ยงในเวลาที่ทำงานได้ เจ้าของนาที่ได้รับการช่วยเหลือก็จะต้องไปช่วยเหลือผู้ที่มาช่วยเป็นการตอบแทนสลับกันไปตามกำหนดเวลาที่จะต้องตกลงกันอย่างหลวมๆ ลักษณะรวมหมู่เป็นกลุ่มก้อนเช่นนี้ทำให้เอื้อต่อการที่จะสนองพิธีกรรมด้วยการร่วมกันเล่นเพลงขึ้นมาด้วย จุดประสงค์เริ่มแรกเพื่อความอุดมสมบูรณ์
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *