ประเพณีวันมาฆบูชา

Socail Like & Share

เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันทำบุญเพื่อระลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสก็เลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือน ๔วันมาฆบูชา

ในวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ นับว่าเป็นวันที่พระพุทธศาสนา ได้วางรากฐานมั่นคง เรียกวันดังกล่าวว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ ๔ คือ
๑. พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวัน กรุงราชคฤห์โดยมิได้นัดหมายกันแต่อย่างใด
๒. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
๓. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งสิ้น

๔. ในวันนี้เป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้ พระพุทธองค์จึงถือโอกาสแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งมีใจความที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ไม่ทำความชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องใส พร้อมทั้งได้สอนหลักครู คือ หลักของผู้สอนไว้ด้วย เช่น ต้องมีความอดทน มุ่งความสงบ อยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจแน่วแน่ ทำแต่ความดีมีคุณประโยชน์ ฯลฯ เป็นต้น

สาเหตุของการชุมนม คงเนื่องมาจากภิกษุเหล่านั้นล้วนเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนและในวันเพ็ญเดือนมาฆะเป็นวันที่ทางศาสนาพราหมณ์ได้ประกอบพิธีศิวาราตรี คือ การลอยบาปในแม่น้ำคงคา และประกอบพิธีสักการบูชาพระเป็นเจ้าในเทวสถาน เมื่อถึงวันนี้ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเคยประกอบพิธีดังกล่าวจึงต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์

ในวันเพ็ญเดือนมาฆะยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งในสมัยพุทธกาล กล่าวคือเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ที่ปาวาลเจดีย์ แคว้นวัชชี เนื่องจากขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ได้ทรงแสดงอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ให้แก่พระอานนท์ ว่าถ้าใครเจริญได้แล้วสามารถจะต่ออายุได้ แต่พระอานนท์ก็มิได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ต่อไปอีก เมื่อพระอานนท์ออกจากที่เฝ้าแล้ว พระยามารจึงเข้ามาทูลขอให้พระองค์ปรินิพพาน โดยอ้างว่ามีพุทธบริษัท ๔ ครบแล้ว และพุทธศาสนาได้เจริญมั่นคงแล้ว พระพุทธองค์ได้เปล่งวาจาว่าอีก ๓ เดือนนับจากนี้ไปจะปรินิพพาน พระวาจาของพระพุทธเจ้าที่ทรงเปล่งออกมาครั้งนี้เรียกว่าทรงปลงอายุสังขาร

เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้น ๒ อย่าง จึงนับว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนาสมควรที่ชาวพุทธจะแสดงความระลึกถึงและจัดพิธีบูชาให้เป็นพิเศษต่างไปจากวันพระตามปกติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมองเห็นความสำคัญนี้จึงได้โปรดให้มีพระราชพิธีประกอบการกุศลขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ และให้เป็นงานหลวงตลอดไป ต่อมาได้แพร่กระจายไปตามวัดต่างๆ เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ในที่สุดก็ขยายไปยังวัดอื่นๆ จนเป็นที่นิยมทั่วไป และทางราชการหยุด ๑ วัน เพื่อให้ข้าราชการมีโอกาสบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ในวันนี้ ชาวพุทธจะทำบุญตักบาตร ไปวัด ฟังเทศน์ สวดมนต์ และเลี้ยงพระ กลางคืนมีพิธีเดินเทียนหรือปัจจุบันนิยมเรียกว่า เวียนเทียน เป็นการบูชาพิเศษ โดยทางวัดจะประกาศให้ทราบโดยกำหนดเวลาเวียนเทียนจะเป็นตอนเช้า บ่าย หรือคํ่าก็ได้แล้วแต่ความสะดวก ในกรุงเทพฯ มักเป็นเวลากลางคืนประมาณ ๒ ทุ่ม ๓ ทุ่ม ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนมารวมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือปูชนียวัตถุที่สำคัญในวัด แล้วแต่ทางวัดจะจัดทำพิธี ณ ที่ใด (บางครั้งชาวบ้านจะหาซื้อดอกไม้ธูปเทียนได้ในบริเวณนั้น) เมื่อถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ สามเณร จะมาชุมนุมกันในพระอุโบสถ สวดมนต์ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า (คำบูชาต่างกันไปซึ่งจะมีกำหนดใช้เฉพาะวันนั้นๆ) บางครั้งอาจมีคำแปล แปลภาษาบาลีให้ฟังด้วย หลังจากนี้ผู้เป็นประธานในหมู่สงฆ์จุดธูปเทียนเดินนำหน้าพระสงฆ์ สามเณร และชาวบ้านตามลำดับ โดยจัดแบ่งเป็นแถวๆ ละ ๔ คนบ้าง ๕ คนบ้างแล้วแต่ความกว้างแคบของบริเวณ ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนขวา จำนวน ๓ รอบ ครบ ๓ รอบแล้ว ปักดอกไม้ธูปเทียนในที่ที่จัดไว้เป็นอันเสร็จพิธีเวียนเทียน ทางวัดอาจจัดให้มีการฟังเทศน์ โดยมากมักเทศน์โอวาทปาติโมกข์ และสวดโอวาทปาติโมกข์ อาจสวดก่อนหรือหลังเทศน์ก็ได้ บางวัดก็จัดให้มีเทศน์เรื่องอื่นๆ อีกด้วย จะจัดทำตลอดรุ่งหรือแล้วแต่จะเห็นสมควรก็ได้

ที่มา:กรมศิลปากร