บทเชื่อมที่ไม่เกี่ยวกับประโยค

Socail Like & Share

บทเชื่อมต่างๆ  บทเชื่อมย่อมทำหน้าที่เชื่อมคำ เชื่อมวลี เชื่อมประโยคต่างๆ หรือเชื่อมระคนกัน แม้ที่สุดเชื่อมความตอนหนึ่งกับอีกตอนหนึ่งให้ติดต่อกันก็ได้ ข้อสำคัญที่นำเรื่องบทเชื่อมมาแสดงนี้ก็เพื่อให้ผู้ศึกษาได้สังเกตได้ว่า บทเชื่อมชนิดไรเกี่ยวกับประโยคและบทเชื่อมชนิดไรไม่เกี่ยวกับประโยค แต่บทเชื่อมที่เกี่ยวกับประโยคนั้นได้อธิบายไว้พร้อมกับชนิดประโยคต่างๆ ข้างต้นแล้ว  ดังนั้นในที่นี้จะได้อธิบายเฉพาะบทเชื่อมที่ไม่เกี่ยวกับประโยคเท่านั้น ดังต่อไปนี้

ตารางบอกสัมพันธ์ประโยคช่อง บทเชื่อม นั้น หาได้กรอกบทเชื่อมทุกชนิดลงในช่องนี้เท่านั้นไม่ และบทเชื่อมที่กรอกลงในช่องนี้ก็ไม่เฉพาะแต่คำสันธานชนิดเดียวเท่านั้นด้วย คือหมายถึงบทต่างๆ ที่ใช้เป็นบทเชื่อมหรือบทปรับปรุงข้อความหรือประโยค ซึ่งไม่เกี่ยวกับส่วนของประโยคตามที่ตีตารางแบ่งไว้แล้วนั้นด้วย จะต้องกรอกลงในช่องบทเชื่อมนี้ทั้งสิ้น ตัวอย่าง-วลี หรือ คำ ที่เป็นพวกอุทาน เช่น อนิจจาเอ๋ย! โอ! ฯลฯ ก็ดี เป็นพวกอาลปน์ (คำร้องเรียก) เช่น คุณพ่อขอรับ! แดง! ฯลฯ ก็ดี เป็นพวกเชื่อมหรือปรับปรุงประโยค เช่น เพราะฉะนั้น จึง แต่ และ ก็ ฯลฯ ก็ดี เหล่านี้ต้องกรอกลงในช่องบทเชื่อมนี้ทั้งนั้น แต่ถ้าบทเชื่อมคำหรือวลีที่เชื่อมกันเข้าเป็นวลี กลุ่มหนึ่งๆ ซึ่งเป็นส่วนย่อยของประโยคก็ต้องกรอกลงในช่องส่วนย่อยของประโยคนั้นๆ หาได้กรอกลงในช่องบทเชื่อมนี้ไม่ เช่นตัวอย่าง “เขาไม่นอนเหนือเตียงหรือฟูก” บท เหนือเตียงหรือฟูก นี้เป็นวลีกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องกรอกลงในช่องบทขยายกริยาทั้งหมด ถึงแม้ว่าคำ หรือ จะเป็นสันธาน ก็ไม่ต้องแยกเอามากรอก ในช่องบทเชื่อมนั้น ดังนี้เป็นต้น ดังจะแยกอธิบายเพื่อเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

บทเชื่อมคำหรือวลี  ต่อไปนี้จะขอรวบรวมบทเชื่อมต่างๆ ที่ไม่ใช้เชื่อมประโยคมาไว้แห่งเดียวกัน  เพื่อเป็นที่สังเกตในการพิจารณาบทต่างๆ ที่เป็นส่วนของประโยคเป็นข้อใหญ่ เพราะส่วนของประโยคก็มีบทเชื่อมเป็นคำสันธาน เช่น และ กับ หรือ ฯลฯ เชื่อมอยู่เหมือนกัน แต่บางคำก็เอากรอกไว้ในช่องส่วนของประโยค ดังได้อธิบายไว้แล้ว ต่อไปนี้จะได้อธิบายให้ถี่ถ้วนออกไปอีก ดังนี้

(๑) บทเชื่อมที่เป็นบุพบท  ข้อที่มีบุพบทอยู่หน้าคำนาม สรรพนามหรือ กริยาสภาวมาลานั้น ก็เพื่อจะทำหน้าที่เชื่อมกับคำที่อยู่หน้าบุพบทอีกทีหนึ่งเช่นตัวอย่าง เขานอนบนเตียง หรือ เสื้อของฉัน นี้ คือคำ บน เชื่อมคำ นอนกับคำ เตียง ให้ติดต่อกัน และคำ ของ ก็เชื่อมคำ เสื้อ และ ฉัน ให้ติดต่อกัน เป็นต้น แต่บทที่มีบุพบทนำหน้านี้ท่านรวมเรียกว่า บุพบทวลี ซึ่งเชื่อมกับคำใดก็เป็นบทขยายของคำนั้น ถึงคำบุพบทวลีจะนำหน้าวลี เช่น ปีกของนกยางกรอก ดังนี้ บทว่า ของนกยางกรอก ก็เป็นบุพบทวลีขยายคำ ปีก เช่นเดียวกัน  ดังนั้นคำบุพบททั้งสิ้นถึงจะทำหน้าที่เชื่อมคำ หรือ วลีก็จริง แต่ก็ไม่ต้องกรอกไว้ในช่องตารางบทเชื่อม ถ้าเป็นบทขยายของส่วนใด ก็กรอกลงไว้ในช่องบทขยายของส่วนนั้นๆ แต่ถ้าบุพบทวลีซึ่งรวมอยู่ในบทปรับปรุงประโยค  เป็นพวกอุทานหรืออาลปน์ เช่น “อกของกูเอ๋ย!” หรือ “แน่ะ! ลูกรักของพ่อ” ฯลฯ เหล่านี้ไม่เกี่ยวกับส่วนของประโยค ต้องรวมเป็นวลีกรอกลงในช่องบทเชื่อมอย่างวลีอื่นๆ เหมือนกัน

(๒) บทเชื่อมที่เป็นสันธาน  คำสันธานโดยมากมักทำหน้าที่เชื่อมประโยค แต่ที่จริงสันธานไม่เชื่อมประโยคก็มีมากเหมือนกัน ย่อมทำให้เป็นที่สงสัยอยู่มาก จึงควรสังเกตดังต่อไปนี้

คำสันธานซึ่งเชื่อมส่วนสำคัญของประโยค คือเชื่อมบทประธานก็ดี เชื่อมบทกริยา หรือบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญแห่งภาคแสดงของประโยคก็ดี ทั้งนี้นับว่าเป็นบทเชื่อมประโยครวม ดังกล่าวแล้ว

ส่วนคำสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทอื่นๆ ของประโยค นอกจากบทสำคัญที่กล่าวแล้วนี้ คือ บทขยายประธาน บทขยายกริยา (ยกเว้นบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา) บทกรรมและบทขยายกรรม ทั้งหมดนี้ไม่นับว่าเป็นบทเชื่อมของประโยค แต่นับเพียงว่าเป็นบทเชื่อม ซึ่งทำให้คำนำหน้ากับคำหลังติดต่อกันเข้าเป็นวลีกลุ่มหนึ่งๆ อยู่ในบทนั้นๆ เอง หาได้แยกเอาคำสันธานนั้นมากรอกในตารางบทเชื่อม แล้วแยกบทที่เชื่อมนั้นๆ ออกเป็นประโยคย่อย ดังประโยคที่มีคำสันธานเชื่อมส่วนสำคัญดังกล่าวแล้วนั้นไม่ ดังจะชักตัวอย่างมาให้สังเกตต่อไปนี้

ก. สันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายประธาน เช่น
“คน สูงและผอม ไม่สวย” ดังนี้ บทว่า สูงและผอม เป็นวิเศษณ์วลีกลุ่มหนึ่งอย่างเดียวกับกล่าวว่า ทั้งสูงทั้งผอม หรือ สูงด้วยผอมด้วย รวมกันเป็นบทขยายประธาน ไม่ใช่เป็นประโยครวมซึ่งแยกเป็น คนสูงไม่สวย และคนผอมไม่สวย อย่างสันธานเชื่อมบทสำคัญ ดังกล่าวแล้ว

ถึงสันธานอื่นๆ ที่เชื่อมอยู่ในบทขยายประธานทำนองนี้ เช่น
“คน อ้วนแต่อ่อนแอ ไม่ดี”
“คน สวยหรือไม่สวย ไม่สำคัญ”
“คน สวยเพราะแต่ง ไม่ดี” ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือจะเป็นรูปอื่นๆ เช่น บุพบทวลี ดังตัวอย่าง
“บุตร ของตาสีและยายมี ตายเสียแล้ว” ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือเป็นบทวิกัติการก เช่น
“คุณสี สามีหรือเพื่อนร่วมชีพของฉัน ได้ตายเสียแล้ว” ดังนี้เป็นต้นก็ดี
นับว่าเป็นกลุ่มวลีขยายประธานเช่นเดียวกันทั้งนั้น

ข. สันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายกริยา  บทนี้ยกเว้นเฉพาะบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา  ซึ่งต้องแยกเป็นคนละประโยค ดังกล่าวมาแล้ว นอกนั้นก็เป็นทำนองเดียวกับบทขยายประธานเหมือนกัน ดังตัวอย่าง
“ท่านผู้นี้ทำงาน แข็งแรงและอดทน”
“เขาไม่ประพฤติ ตามประเพณีและศีลธรรมเลย” ดังนี้เป็นต้น

ค. สันธานเชื่อมอยู่ในบทกรรมและบทขยายกรรม ที่จริงบทกรรมนี้ก็มีหน้าที่ช่วยบทกริยา คล้ายกับบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยาเหมือนกัน ต่างกันที่ว่าใจความของวิกตรรถกริยานั้นมาอยู่ที่บทช่วย แต่ใจความของสกรรมกริยาอยู่ที่ตัวกริยานั้นเอง เช่นประโยคว่า “เขากิน ดังนี้บทกริยา “กิน” ก็ได้ความอยู่แล้ว ว่าเขาทำอะไร แต่ยังไม่ครบทีเดียวว่า เขากินอะไร เท่านั้น จึงต้องมี บทกรรมเข้ามาประกอบให้ได้ความครบ ดังนั้นบทกรรมจึงมีหน้าที่คล้ายกับบทขยายของบทสกรรมกริยา ถึงจะมีบทเชื่อมอยู่ในบทกรรมก็ไม่นับว่าเป็นบทเชื่อมของประโยค เพราะไม่ใช่ส่วนสำคัญของประโยค เช่นตัวอย่าง
“ตาสีด่า ลูกและเมีย เสมอ” หรือ

“ตาสีด่า ลูก เมีย และใครๆ เสมอ” หรือ
“เขาต้องกิน กาแฟหรือน้ำชา เวลาเช้าเสมอ” ดังนี้เป็นต้น

บทกรรมที่มีสันธานเชื่อมข้างบนนี้ คือ ลูกและเมีย ก็ดี ลูกเมียและใครๆ ก็ดี กาแฟหรือน้ำชา ก็ดี จึงเป็นเพียงนามวลีทำหน้าที่เป็นบทกรรมของกริยา ด่าและ ต้องกิน โดยลำดับเท่านั้น ไม่ต้องเอาสันธานไปเป็นบทเชื่อมของประโยค และไม่ต้องแยกประโยคเช่น ตาสีด่าลูกและเมีย ออกเป็นประโยคย่อยว่า ตาสีด่าลูก และตาสีด่าเมีย อย่างประโยครวมที่กล่าวมาแล้ว ในการบอกสัมพันธ์ก็คงบอกว่า ลูกและเมีย เป็นนามวลี บทกรรมของกริยา ด่า เท่านั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง

และสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายกรรมนั้นก็เป็นอย่างเดียวกับสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทขยายประธาน ดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวอีก

ข้อสังเกต  ในเรื่องสันธานที่เป็นบทเชื่อมดังกล่าวแล้ว เราจะต้องไม่ลืมคำ หรือ ที่เชื่อมความเป็นคำถาม เพราะคำ “หรือ” ที่เป็นคำถามไม่ว่าจะเชื่อมอยู่ในบทใด ต้องกรอกลงในตารางบทเชื่อมทั้งนั้น และต้องแยกประโยคนั้นอย่างประโยครวมอื่นๆ ด้วย เช่น ท่านเห็นคนดำหรือคนขาว? จะต้องแยกเป็น ท่านเห็นคนดำหรือท่านเห็นคนขาว? ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อยกเว้นจากข้อข้างบนนี้

ฆ. สันธานที่เชื่อมอยู่ในบทเชื่อมด้วยกัน บทเชื่อมที่เป็นวลี บางบทก็มีสันธานเชื่อมอยู่ด้วย เช่น บทว่า ลูกและเมียเอ๋ย! หรือบทว่า โอ้!เมียและมิตรที่ดีของข้าเอ๋ย! ดังนี้เป็นต้น

คำสันธาน และ ก็ดี หรือ ก็ดี ข้างบนนี้นับว่าเป็นบทเชื่อมคำ หรือวลีให้ติดต่อเป็นวลีกลุ่มเดียวกัน อย่างสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทกรรม หรือบทขยายกรรม ข้อ ค. ข้างต้นนี้ ดังนั้นสันธานที่เชื่อมอยู่ในบทเชื่อมเหล่านี้ ก็มีหน้าที่ทำให้คำหรือวลีติดต่อกันเป็นวลีหรือเป็นวลีกลุ่มใหญ่ขึ้น แต่ก็ต้องรวมอยู่ในช่องบทเชื่อมนั้นเอง

บทเชื่อมข้อความ  บทเชื่อมชนิดนี้มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกับบทเชื่อมประโยคเหมือนกัน กล่าวคือเป็นคำสันธานหรือเป็นสันธานวลีคล้ายคลึงกัน ดังนั้นบทเชื่อมข้อความที่กล่าวนี้ จึงต้องกรอกไว้ในตารางช่องบทเชื่อมประโยคอย่างเดียวกัน แต่หน้าที่ของบทเชื่อมทั้ง ๒ นี้ต่างกัน คือบทเชื่อมประโยคนั้นย่อมทำหน้าที่เชื่อมประโยคต่อประโยคให้ติดต่อเป็นอเนกรรถประโยค หรือเป็นสังกรประโยค ดังกล่าวมาแล้วโดยพิสดาร แต่บทเชื่อมข้อความนั้นมีหน้าที่เชื่อมข้อความให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นสองประเภทดังต่อไปนี้

(๑) เชื่อมข้อความให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน  วิธีเชื่อมข้อความตอนหนึ่งกับอีกตอนหนึ่งให้ติดต่อกันนี้ จะใช้ประโยคก็ได้ เช่นเราจะเล่าประวัติของนายดำ กับ นายแดง ความตอนต้นเราเล่าประวัติของนายดำก่อนจนจบ จะเป็นข้อความมากน้อยเท่าไรก็แล้วแต่เรื่อง ถ้าเราไม่ต้องการที่จะให้เรื่องของนายแดงติดต่อกับเรื่องนายดำที่เล่ามาแล้ว เราก็หยุดเสียเฉยๆ หรือกล่าวเป็นประโยคลงท้ายว่า เรื่องของนายดำจบเท่านี้ แล้วเราก็เริ่มกล่าวเรื่องนายแดงต่อไป ดังนี้นับว่าไม่ต้องการบทเชื่อม

ถ้าเราต้องการให้เรียงติดต่อกัน ในข้อความมากๆ เช่นนี้ เราจะใช้บทเชื่อมเป็นประโยคก็ได้ เช่นกล่าวว่า เรื่องนายดำจบเท่านี้ โปรดฟังเรื่องนายแดงต่อไป ดังนี้ หรือประโยคอื่นๆ ทำนองนี้ ทั้งนี้ถึงจะเป็นบทเชื่อมข้อความก็จริง แต่เราต้องกรอกประโยคเหล่านี้ลงในช่องตารางประโยค แล้วก็บอกหมายเหตุว่า เป็นประโยคชนิดนั้น ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมความตอนต้นกับตอนท้ายให้ติดต่อกัน

ถ้าบทเชื่อมดังว่านี้เป็นเพียงวลีหรือคำ เราจึงกรอกลงในช่องตารางบทเชื่อมดังกล่าวแล้ว และบทเชื่อมข้อความชนิดนี้ก็คล้ายคลึงกับบทเชื่อมอเนกรรถประโยคเหมือนกัน กล่าวคือความตอนบนเรื่อง นายดำ กับตอนล่าง เรื่อง นายแดง ตามกัน เป็นทำนองอันวยาเนกรรถประโยค ก็ใช้บทเชื่อมว่า ส่วนนายแดง………….หรือ ส่วนว่านายแดง…………หรือ และนายแดง………………ฯลฯ ความแย้งกัน ทำนองพยติเรกาเนกรรถประโยค ก็ใช้บทเชื่อมว่า แต่นายแดง………….หรือ แต่ส่วนนายแดง……….ฯลฯ  ถ้าความจำกัดให้เลือกเอาทางหนึ่งทำนองวิกัลป์ปาเนกรรถประโยค ก็ใช้บทเชื่อมว่า หรือส่วนนายแดง……………ฯลฯ  ถ้าเป็นเหตุผลต่อกัน ก็ใช้บทเชื่อมว่า ทั้งนี้เพราะว่านายแดง………………หรือ ดังนั้นนายแดงจึง………………..ฯลฯ  ซึ่งแล้วแต่จะเหมาะกับข้อความตอนบน

ข้อสังเกต  คำสันธานที่เป็นบทเชื่อมข้อความนั้นใช้คำ ส่วน ส่วนว่า ฝ่าย ฝ่ายว่า (โบราณใช้ว่า เบื้อง เบื้องว่า บั้น บั้นว่า ก็มี) อันเป็นสันธานเชื่อมข้อความฝ่ายอื่นให้ติดต่อกัน ถ้าข้อความตอนบนกับตอนล่างมีเนื้อความตามกันหรือแย้งกัน ฯลฯ ก็ใช้สันธานนั้นๆ ประสมเข้ากันกับสันธานพวกนี้ เช่น และฝ่าย……….และส่วน……………แต่ส่วนว่า…………ฯลฯ ดังนี้ก็ได้แล้ว แต่จะเหมาะกับเนื้อความ

ถ้าเป็นข้อความเปรียบเทียบมักใช้คำวิเศษณ์ ฉันใด ขึ้นต้นในความตอนต้น แล้วใช้คำวิเศษณ์ ฉันนั้น ไว้ในตอนท้ายหรือละไว้ในที่เข้าใจ ดังนี้ คำวิเศษณ์ว่า ฉันใด ตอนต้น กับ ฉันนั้น ตอนท้าย นอกจากทำหน้าที่วิเศษณ์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมข้อความด้วย

(๒) เชื่อมข้อความปรุงสำนวน  ในการเรียงเรื่องราวนั้นต้องมีวิธีปรับปรุงถ้อยคำ ให้ครบสำนวนตามที่เขานิยมกันด้วย ถึงจะบรรจุเนื้อความลงไปถูกต้องตามไวยากรณ์แล้วก็ดี แต่สำนวนยังขัดเขินอยู่ก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีบทเชื่อมข้อความใช้ปรุงสำนวนที่จะกล่าวนี้อีกด้วย สำหรับใช้สอดแซมให้เรื่องราวนั้นๆ ครบสำนวนฟังถูกต้องตามนิยมของภาษา

เพราะบทเชื่อมพวกนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับบทเชื่อมข้อความให้ติดต่อกัน ดังนั้นเมื่อเวลาบอกสัมพันธ์จึงรวมบอกไว้ในตารางบทเชื่อมเช่นเดียวกันด้วยจะต่างกันก็เพียงบอกหมายเหตุไว้ ว่าเป็นบทเชื่อมชนิดนั้นๆ เท่านั้น

และบทเชื่อมที่ปรับปรุงสำนวนที่กล่าวนี้ มีลักษณะควรสังเกตดังต่อไปนี้

ก. สันธาน ได้แก่สันธานที่ใช้ปรับปรุงให้ครบสำนวนที่เรียกว่า สันธานชนิดเชื่อมเพื่อให้ความสละสลวย ที่ใช้ขึ้นต้นข้อความ เช่น อันว่า ตัวอย่าง อันว่า อรรถคดีอันโบราณกษัตราธิราช ได้ทรงบัญญัติไว้…..เป็นต้น และที่ใช้แทรกไว้ระหว่างข้อความ เช่นคำ ก็ ดังตัวอย่างว่า “เรา ก็ เป็นมนุษย์คนหนึ่งนี่นา” ฯลฯ และวลีต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นสันธานชนิดเชื่อมเพื่อให้ความสละสลวย ดังกล่าวแล้วในวจีวิภาค ก็นับเข้าในบทเชื่อมในพวกนี้เหมือนกัน

ข. บทอาลปน์ (คำร้องเรียกที่ใช้ว่า กรรตุสัญญา) ก็นับเข้าในบทเชื่อมปรุงสำนวนด้วย เช่นตัวอย่าง คำอาลปน์-แดง เธอไปไหน? และบทวลีอาลปน์ เช่น ลูกเอ๋ย ท่านทั้งหลาย ข้าแต่ท่านผู้ดีทั้งหลาย ฯลฯ ที่ใช้ขึ้นต้นข้อความก็ดี แทรกไว้ในระหว่างข้อความก็ดี หรือลงท้ายข้อความ เช่น “โปรดทำดังนี้นะ ท่านเอ๋ย” ก็ดี ดังนี้เป็นต้น

ค. บทอุทาน หรือบทอุทานวลี ที่ใช้ขึ้นต้นข้อความเช่น “โอ! ฉันลืมไป”  เป็นต้นก็ดี แทรกอยู่ระหว่างข้อความ เช่น “ทรัพย์ของเราหมดสิ้นแล้ว โอ้อกเอ๋ย จะทำอย่างไรดี” เป็นต้นก็ดี ที่ใช้ลงท้าย เช่น “เราจะทำไฉนดี โอ้อกเอ๋ย” ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือคำอุทานที่ใช้ในคำประพันธ์ เช่น เฮย เอย แฮ ดอกเอ๋ย วันเอ๋ย เป็นต้นก็ดี ย่อมนับเข้าในบทเชื่อมชนิดนี้ทั้งนั้น

ข้อสังเกต  ควรวินิจฉัยว่า บทเชื่อมใดๆ ถ้าไม่ใช่บทเชื่อมคำหรือ วลีก็ดี ไม่ใช่บทเชื่อมประโยคก็ดี และไม่ใช่บทเชื่อมข้อความให้ติดต่อกันดังกล่าวแล้วก็ดี ก็ไม่นับว่าเป็น บทเชื่อมข้อความปรุงสำนวน นี้ทั้งนั้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร