ธงประจำบุคคลต่างๆ

Socail Like & Share

นอกจากธงชาติแล้ว จะขอพูดถึงธงสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือธงมหาราช

ธงมหาราชเป็นธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ชักขึ้น ณ ที่ใด เป็นเครื่องหมายแสดงว่าองค์พระมหากษัตริย์ประทับอยู่ ณ ที่นั้น แต่ว่าธงมหาราชนี้ในชั้นเดิมหาได้มีรูปแบบอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ และก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ จะใช้ธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือใช้จะมีรูปเป็นอย่างไร ก็ไม่ปรากฏ เพิ่งปรากฏแน่ชัดเพียงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เท่านั้น ว่า “ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้น พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางเป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎและเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง เป็นที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้นแล้ว นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังด้วย แต่ถ้าไม่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ก็ลดธงนี้ลงเสีย เมื่อลดธงนี้ลงแล้ว เสาธงในพระบรมมหาราชวังก็ว่างเปล่าดูไม่สวยงาม จึงดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ธงไอยราพตขึ้นอีกธงหนึ่ง ใช้ชักแทนธงสำหรับพระองค์ เมื่อไม่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาได้มีพระบรมราชโองการประกาศแก้ไขธงประจำพระองค์ใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระปิยมหาราชเมื่อ ร.ศ.๑๑๐ เรียกว่า “ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็นพื้นนอกสีแดง ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์พื้นในสีขาบเป็นรูปโล่ตราแผ่นดินมีจักรีไขว้กันอยู่บนโล่ห์มหาพิชัยมงกุฎสวมบนจักรี มีเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้าง ในโล่ห์ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนเป็นรูปช้างไอราพตสามเศียร พื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวานั้น เป็นรูปช้างเผือกพื้นชมพู เป็นนามสัญญาแห่งมลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้น เป็นรูปกริชคดและตรงสองอันไขว้กันพื้นแดง บอกสัญญานามลายูประเทศแลมีแท่นรองโล่แลเครื่องสูง ๔ ชั้นพื้นเหลือง รวมสัญญานามเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงเป็นบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ สำหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยามินทร์แต่พระองค์เดียว”

ต่อมาใน ร.ศ. ๑๑๘ ในรัชสมัยพระปิยะมหาราชนั่นเอง ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธง อีกฉบับหนึ่ง เรียกธงประจำพระองค์ “ธงมหาราช” กำหนดลักษณะและขนาดดังนี้

“พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน พื้นในสีขาบ ขนาดกว้าง ๓ ส่วน ยาว ๔ ส่วน ที่ในพื้นที่ขาบนั้น กลางเป็นรูปโล่ ในโล่แบ่งเป็น ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอราพตอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาแห่งโล่ เป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นสีชมพู หันหน้าออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายของโล่เป็นรูปกริชคดแลตรงสองอันไขว้กันบนพื้นสีแดง บอกนามสัญญามลายูประเทศ เบื้องบนแห่งโล่นั้น มีจักรีไขว้กัน แลมีมหาพิชัยมงกุฎสวมอยู่บนจักรี แลมีเครื่องสูง ๗ ชั้น ๒ ข้างโล่ มีแท่นรองโล่แลเครื่องสูงด้วย รวมครบเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงเป็นธงมหาราช สำหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” นอกจากนี้ก็บอกวิธีการใช้ไว้เหมือนฉบับ ร.ศ.๑๑๐

ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติธงอีกฉบับหนึ่ง เมื่อ ร.ศ.๑๒๙ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบธงมหาราชอีกครั้ง เรียกธงมหาราชใหญ่ และธงมหาราชน้อย มีขนาดและลักษณะดังนี้

ธงมหาราชใหญ่ พื้นสีเหลือง ขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง เป็นธงสำหรับพระองค์พระมหากษัตริย์

ธงมหาราชน้อย ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงมหาราชใหญ่กว้างไม่เกิน ๖๐ ซ.ม. และมีชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งชายธงมีขนาดกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว ธงนี้สำหรับชักขึ้นบนที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่ง เช่น ธงมหาราชใหญ่ ผิดกันแต่เพียงว่า ถ้าโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงมหาราชน้อย ห้ามยิงสลุตถวายคำนับ

นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ยังได้กำหนดธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีอีก ๒ ธง คือ

ธงราชินีใหญ่ พื้นสีเหลืองขนาดกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกันกับธงมหาราช เป็นธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินี

ธงราชินีน้อย มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงมหาราชน้อย ต่างกันแต่สีชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงราชินีใหญ่ แต่เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ชักธงนี้ขึ้นในเรือพระที่นั่ง มิให้มีการยิงสลุตคำนับ

นี่เป็นเรื่องราววิวัฒนาการของธงมหาราช นำมาเผยแพร่เพื่อประดับความไม่รู้ให้รู้ขึ้นเท่านั้น

ธงอีกชนิดหนึ่ง คือธงซึ่งเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณ เช่นสถานที่ขายสุรารัฐบาลสมัยก่อนเขาจะมีธงแดงปักไว้หน้าร้าน คอสุราทั้งหลายพอเห็นธงแดงก็แวะเข้าไปได้ไม่ผิดหวัง แต่พวกที่ติดสุราอย่างแรงพอเห็นธงแดงเข้า ก็พาลจะลมใส่ เพราะอยากดื่มขึ้นมาทันทีทันใด

ธงขาวเป็นสัญญาณของการยอมแพ้หรือหย่าทัพ ทำไมต้องใช้ธงขาวเป็นสัญญาณของการยอมแพ้ก็ไม่ทราบ อาจจะเนื่องมาจากสีขาวเป็นสีของความบริสุทธิ์ใจ หรือสีขาวเป็นเครื่องหมายของหน้าที่ซีด อย่างไก่ตัวที่แพ้ก็เป็นได้ เราจึงมีคำพังเพยสำหรับการยอมแพ้ไม่ว่าในสงครามจริงหรือสงครามชีวิต “ยอมยกธงขาว”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี