ชมพูทวีป ป่าหิมพานต์

Socail Like & Share

แผ่นดินชมพูทวีปนั้น มีปริมาณได้ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ทั้งด้านยาวและด้าน กว้างแยกออกเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่มนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นป่าเขาพระหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ เป็นทะเล ๔,๐๐๐ โยชน์ป่าหิมพานต์

ภูเขาหิมพานต์นั้นสูงประมาณ ๕๐๐ โยชน์ กว้างใหญ่ ๓,๐๐๐ โยชน์ มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด ที่เชิงเขาหิมพานต์นั้นมีต้นหว้าใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ใกล้ฝั่งแม่นํ้าชื่อว่า สีทานที ต้นหว้านั้นมีขนาดใหญ่โอบรอบได้ ๑๔ โยชน์ ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปถึงค่าคบสูงได้ ๕๐ โยชน์ ตั้งแต่ค่าคบขึ้นไปถึงยอดได้ ๕๐ โยชน์ และตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศตะวันออกมาถึงทิศตะวันตก มีระยะไกลถึง ๑,๐๐๐ โยชน์ ตั้งแต่ปลายค่าคบด้านทิศเหนือจดทิศใต้ ไกลถึง ๘๐๐,๐๐๐ วา ปริมาณปลายค่าคบ โดยรอบปริมณฑลได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา

ดอกของต้นหว้านั้น มีลักษณะงามมีกลิ่นหอมยิ่งนักและมีผลใหญ่ ขนาดเท่ากลองใบใหญ่ มีรสหวานอร่อยเหมือนนํ้าผึ้ง ผลหว้านั้นเมื่อร่วงลงใส่ร่างกาย กายนั้นจะหอมดุจดังนำตคระ ดุจแก่นจันทน์ฉะนั้น ถ้ายื่นมือล้วงเข้าไปในเนื้อผลหว้า พอสุดแขนจึงจะถึงเมล็ดของหว้าได้ ฝูงนกที่จิกกินผลหว้านั้นมีขนาดใหญ่เท่าช้างสารก็มี ใหญ่เท่าเรือนก็มี ผลหว้านั้นร่วงหล่นตกลงทั่วบริเวณรอบๆ ต้น และผลที่เกิดตรงค่าคบด้านทิศเหนือซึ่งร่วงหล่นในท่านํ้า ก็เป็นเหยื่อของฝูงปลาในที่นั้น ยางของผลหว้านั้นเมื่อร่วงหล่นลงกลายเป็นทองคำสุก ชื่อว่า ชมพูนุท

ถัดจากป่าไม้หว้านั้นไปเบื้องหน้า มีต้นมะขามป้อมซึ่งมีผลใหญ่ มีรสอร่อย ถัดจากป่าไม้มะขามป้อมไปเป็นป่าสมอ ซึ่งมีผลหวานปานนํ้าผึ้ง ถัดจากป่าสมอ ไปเบื้องหน้านั้นมีแม่นํ้าใหญ่ ๗ สาย ต่อจากแม่น้ำไป มีป่าไม้หว้าซึ่งมีผลหวานปานนํ้าผึ้ง หมู่ไม้นั้นบริเวณกว้างได้ ๔,๐๐๐ วา ถัดจากป่านั้น มีป่าไม้นารีผล ซึ่งมีลักษณะทรวดทรงงามยิ่งนัก เปรียบปานสาวรุ่นที่มีอายุได้ ๑๖ ปี เมื่อชายหนุ่มทั้งหลายได้มาพบเห็นก็มีใจเสน่หาลุ่มหลงรักใคร่ ครั้นยามร่วงหล่นลงก็มีฝูงนก กลุ้มรุมกันจิกกิน เหมือนกับหมีกินผึ้ง และผ่านป่าไม้หมู่นั้นไปทางด้านทิศตะวันออกยาวรีไปถึงแม่นํ้าสมุทรทางด้านทิศตะวันตก และยาวรีไปถึงแม่นํ้าใหญ่ ๗ สายนั้น โดยกว้างได้ ๑๐๐,๐๐๐ วา ถัดจากแม่น้ำไปเบื้องหน้ามีป่าไม้ ๖ ป่าคือ ป่ากุรภะ ป่าโกรกะ ป่ามหาพิเทหะ ป่าตะปันทละ ป่าโสโมโล และป่าไชยเยต

ป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยบำเพ็ญบุญของผู้ทรงธรรมทั้งหลาย ปลาเนื้อถ้าตายเอง พวกเขาจึงจะกินกัน ป่าไม้นั้นมีเนื้อทรายจามรีอยู่มากมาย พวกเขาเอาหางจามรีมามุงเรือนกันอยู่อาศัย พวกเขาอยู่ในที่นั้นโดยไม่ต้องทำไร่ไถนา หาเลี้ยงชีพ ข้าวสาลีและถั่วก็งอกขึ้นได้เอง โดยที่พวกเขาไม่ต้องยุ่งยากลำบากกาย และใจ ข้าวสาลีและถั่วนั้นกินมีรสหวานอร่อยปานนํ้าผึ้ง ถัดจากป่านั้นไปมีป่าไม้มะขวิดตั้งอยู่ พรรณไม้ต่างๆ ที่มีในป่าหิมพานต์นั้นกินหวานมีรสอร่อยทุกๆ อย่าง

ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่ ๗ สระ คือ สระอโนดาต สระกัณณมุณฑะ สระรถการะ สระฉัททันต์ สระกุณาละ สระมันทากินี และสระสีหปปาตะ

สระใหญ่ทั้ง ๗ นี้เท่ากัน ความกว้าง ลึก และมณฑลรอบเท่ากันทุกสระ คือ กว้าง ๔๓๖,๐๐๐ วา ลึก ๔๓๒,๐๐๐ วา มณฑลรอบ ๑,๒๙๖,๐๐๐ วา

สระอโนดาต มีเขา ๕ เทือกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตรกูฏ เขากาฬกูฏ เขาคันธมาทน์ และเขาไกรลาศ

ภูเขาทั้ง ๕ เทือกนี้ สูงเทือกละ ๒๐๐ โยชน์ เขาสุทัสสนะเป็นทองล้อมสระอโนดาตอยู่ดังกำแพง หนาได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา ล้อมสระดังปากกา เขาจิตรกูฏ เป็นแก้ว ๗ ประการ เขากาฬกูฏ สีเขียวดังดอกอัญชัน เขาคันธมาทน์ เป็นแก้วชื่อมสาลรัตนะ ข้างในเขานั้นเหมือนถั่วสะแตกแลถั่วราชมาษ พรรณไม้ที่เกิดในภูเขานั้น บางต้นรากหอม บางต้นแก่นหอม บางต้นยอดหอม บางต้นเปลือกหอม บางต้นลำต้นหอม บางต้นดอกหอม บางต้นผลหอม บางต้นใบหอม บางต้นยางหอม บางต้นหอมทุกอย่าง

อนึ่ง พรรณไม้หอมทั้ง ๑๐ หมู่ดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นยา และเครือเขา เถาวัลย์ที่เกิดบนภูเขาเทือกนี้ มีกลิ่นหอมทุกเมื่อไม่วายเลย จึงเรียกเขาเทือกนี้ว่า คันธมาทน์ เขาคันธมาทน์นี้เมื่อเดือนดับ จะรุ่งเรืองชัชวาลอยู่ดังถ่านเพลิง ถ้าเดือนเพ็ญรุ่งเรืองอยู่ดังไฟไหม้ป่าแลไหม้เมือง ณ เขาคันธมาทน์นั้น มีถํ้าเป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ประตูถํ้าแก้วมีไม้ต้นหนึ่งชื่อ บัญชุสกะ สูงได้โยชน์หนึ่ง ใหญ่ได้โยชน์หนึ่ง มีดอกบานสะพรั่งทั้งในนํ้าและบนบก ข้างหน้าต้นไม้นั้นมีศาลาแก้วหลังหนึ่ง เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปอยู่ในถํ้านั้นเมื่อใด มีลมอันหนึ่ง ชื่อสมาหรวาตะ พัดเอาดอกไม้เข้ามาไว้รอบเหนือแท่นแก้วที่มีในถํ้านั้น เป็นเครื่องบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้า และเมื่อดอกไม้เหี่ยวจะมีลมอันหนึ่งชื่อสัมมัชชนวาตะ มาพัดเอาดอกไม้เหี่ยวเหล่านั้นไปหมด แล้วลมสมาหรวาตะก็พัดเอาดอกไม้มาไว้ดังเดิม เพื่อเป็นเครื่อบูชาพระปัจเจกพุทธเจ้าเช่นนั้นทุกครั้ง

เขาไกรลาศนั้นเป็นเงิน เขาเทือกนี้ใหญ่และสูงเท่ากัน ยื่นไปในสระ อโนดาต ด้วยอานุภาพพญานาคราชและฝูงเทวดาที่บันดาลให้ฝนตก ณ สระอโนดาตนั้น ทั้งแม่นํ้าใหญ่น้อย ที่ไหลมาแต่ห้วยและภูเขา ก็ไหลไปขังอยู่ในสระอโนดาตนั้น สระอโนดาตนั้นจึงไม่เหือดแห้งสักครั้งเดียว

พระอาทิตย์และพระจันทร์ โคจรไปทางซ้ายทางขวาสระอโนดาต จึงจะ ส่องสว่างถึงพระอโนดาตนั้นได้ หากส่องไปทางตรงๆ ก็ไม่สามารถส่องสว่างไปถึงสระอโนดาตได้เลย นํ้าในสระอโนดาตนั้นใสงามนักหนา เพราะเหตุนั้นจึงเรียก ว่า สระอโนดาต

สระอโนดาตนั้นมี ๔ ท่า ท่าที่ลงอาบนํ้ามีบันไดทองประดับด้วยแก้ว มีพื้นศิลาแก้วรองภายใต้รอบๆ เกลี้ยงเกลาเสมองาม นํ้านั้นใสงามนักหนา แลเห็นตัวปลาภายใต้นํ้าได้ นํ้านั้นใสงามดังแก้วผลึก ท่านํ้าท่าหนึ่งเทวบุตรลงอาบ ท่านํ้าท่าหนึ่งเทวธิดาลงอาบ ท่าหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าลงอาบ ท่าหนึ่งฤษีสิทธิวิชาธรลงอาบ ทางเข้าสระอโนดาตมี ๔ ทิศใหญ่ ทางเข้าทิศหนึ่งดุจดังหน้าสิงห์ ทิศหนึ่งดุจดังหน้าช้าง ทิศหนึ่งดุจดังหน้าม้า ทิศหนึ่งดุจดังหน้าวัว นํ้าสระอโนดาต ที่ไหลออกมาทางปากวัว ริมฝั่งนํ้านั้นมีวัวมาก นํ้าที่ไหลออกมานั้นก็จะไหลไปทางทิศตะวันออก ไหลเวียนล้อมรอบสระอโนดาตแล้วจึงไหลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ไหลลงมหาสมุทร นํ้าที่ไหลออกทางทิศเหนือเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ไหลไปข้างหน้าแล้วมาบรรจบกันดังเดิม หลังจากนั้นก็ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ออกไปถึงมหาสมุทร นํ้าอันไหลออกทางทิศตะวันตกเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ แล้วจึงไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลออกมหาสมุทร นํ้าอันไหลออก ทางด้านทิศใต้ ไหลเวียนรอบสระอโนดาต ๓ รอบ ได้แก่ อาวัฏฏคงคา กว้าง ๔,๐๐๐ วา ที่ไหลไปทางทิศใต้ไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่อกัณหคงคา ไหลไปจดภูเขาเทือกหนึ่งแล้วพุ่งขึ้นเบื้องบนได้ ๖๐ โยชน์ เป็นวงกลมได้ ๖,๐๐๐ วา ชื่ออากาศคงคา ไหลตกลงเหนือหินแผ่นหนึ่งชื่อ ติยังคฬปาสาณ เป็นสระใหญ่ สระหนึ่ง ๕๐ โยชน์ ชื่อ ติยังคฬโบกขรณี นํ้าไหลเซาะฝั่งนํ้าติยังคฬโบกขรณี ออกไปจากศิลาไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่อ พหลคงคา นํ้านั้นไหลกระทบหินไปไกลได้ ๔๘๐,๐๐๐ วา ชื่ออุมังคคงคา และไหลไปจดเทือกเขาเทือกหนึ่งชื่อ พิชฌนติรัจฉานบรรพต พุ่งขึ้นเหนือแผ่นดิน เกิดเป็นแม่น้ำ ๕ สาย ดุจนิ้วมือ เรียกว่า ปัญจมหานที กล่าวคือ สาย ๑ ชื่อ คงคา สาย ๑ ชื่อ ยมุนา สาย ๑ ชื่อ อจิรวดี สาย ๑ ชื่อ มหี สาย ๑ ชื่อ สรภู

แม่น้ำนั้นไหลมาในเมืองมนุษย์และไหลออกมหาสมุทร ในแม่นํ้านั้นมีสระใหญ่ทุกสายกว้าง ๔,๒๓๒,๐๐๐ วา สระเหล่านั้นมีนํ้าไม่เหือดแห้งเลย และนํ้านั้นใสงามกว้าง ๒๐๐,๐๐๐ วา นอกจากนํ้ามีบัวขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากบัวขาว มามีบัวแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา เท่ากันกับบัวขาว นอกจากบัวแดงมีดอกโกมุทขาวกว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากโกมุทขาวมีเหล่าโกมุทแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าโกมุทแดงมีเหล่าอุบลขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าอุบลขาว มีเหล่าอุบลเขียว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากเหล่าอุบลเขียวแล้ว มีป่าข้าวสาลีขาว กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าข้าวสาลีขาวแล้ว มีป่าข้าวสาลีแดง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าข้าวสาลีแดงแล้ว มีป่าแตงชะแลง (แตงร้าน) มีลูกโตเท่าไหใหญ่ กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าแตงชะแลงแล้ว มีป่าแตงไทย กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าแดงไทยแล้ว มีป่าอ้อยลำต้นเท่าต้นหมาก กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าอ้อยแล้ว มีป่ากล้วยผลเท่างาช้างสาร กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่ากล้วยแล้ว มีป่าขนุนลูกใหญ่เท่าตุ่มอันจุนํ้าได้ ๖๐ กระออม กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่าขนุนแล้วก็มีป่ามะม่วง กว้าง ๔,๐๐๐ วา นอกจากป่ามะม่วงแล้วก็มีป่ามะขวิด กว้าง ๔,๐๐๐ วา แลสรรพผลไม้น้อยใหญ่ทุกชนิด ย่อมมีรสเลิศนักหนา

สระฉัททันต์นั้นมีภูเขาล้อมรอบอยู่ ๗ เทือกด้วยกัน ภูเขาเทือกหนึ่งๆ นั้นมีลักษณะต่างกันดังนี้คือ เทือกที่ ๑ ล้วนไปด้วยทองคำ เทือกที่ ๒ ล้วนไปด้วยแก้ว เทือกที่ ๓ ล้วนไปด้วยสีเขียวคล้ายดอกอัญชัน เทือกที่ ๔ ล้วนไปด้วยแก้วผลึก เทือกที่ ๕ ล้วนไปด้วยชาติหิงคุ เทือกที่ ๖ ล้วนไปด้วยแก้วมรกต เทือกที่ ๗ ล้วนไปด้วยแก้วไพฑูรย์

เมื่อพระยาช้างฉัททันต์คชสารโพธิสัตว์เกิดนั้น แผ่นดินแห่งนั้นเป็น ทองคำ และที่แห่งนั้นมีแผ่นแก้วไพฑูรย์ มีพื้นที่สูงได้ ๕ ศอก กว้าง ๕๐ ศอก มีสระพังทอง ๒ สระ สระหนึ่งมีนํ้าใสสะอาดและหอม สถานที่แห่งนั้นยังตั้งอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อช้างเผือกใดเกิดในตระกูลฉัททันต์ ช้างเชือกนั้นจะเป็นพระยาช้างในที่นั้น เป็นช้างที่มีลักษณะขาวงามยิ่งนัก อุปมาดังสังข์ที่ท่านขัดให้งาม ใหญ่สูงได้ ๘๘ ศอก และยาว ๑๖๐ ศอก ตลอดลำตัวจนถึงฝ่าตีนแดงงามดัง ชาติหิงคุ และนํ้าครั่งสด ช้างนั้นเมื่อเติบใหญ่เป็นช้างสารขึ้น มีกำลังมหาศาลหาตัวเปรียบเสมอมิได้ งวงช้างนั้นขาวใสดังหยวกกล้วย โดยยาวเรียวได้ ๕๘ ศอก งาทั้งคู่งามงอนดุจปล้องเงินที่ท่านใส่ปล้องทอง หนา ๑๕ ศอก ยาว ๓๐ ศอก มีสี สรรพรรณรายอยู่ถึง ๖ สีด้วยกัน คือ สีเหลือง เหมือนทองคำ สีดำ เหมือนปีกแมลงทับ สีแดง เหมือนชาติหิงคุและนํ้าครั่งสด สีขาว เหมือนสังข์ที่ชัดแล้ว สีหม่น เหมือนเงิน สีเขียว เหมือนดอกอินทนิล

สีทั้ง ๖ นี้ ย่อมเปล่งรัศมีฉายฉวัดเฉวียนรอบๆ ตัวพระยาช้างนั้นทุกๆ ขณะมิได้ขาด ช้างนั้นมีอานุภาพมากสามารถเหาะเหินไปในอากาศได้ พร้อมด้วยฝูงบริวารประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก ซึ่งมีลักษณะใหญ่และสูงเช่นเดียวกัน และช้างเหล่านั้นอาศัยอยู่ที่เชิงเขาหิมพานต์ เหนือแผ่นแก้วไพฑูรย์ที่อยู่บนแท่นทอง ซึ่งมีอยู่ที่บริเวณสระฉัททันต์นั้น และสระนั้นเป็นที่ลงอาบนํ้าและที่เล่นแห่งพระยาช้างฉัททันต์นั้นในกลางสระฉัททันต์นั้น มีน้ำเย็นใสสะอาด เต็มเปี่ยมอยู่ทุกขณะไม่เหือดแห้ง มีปริมณฑลโดยรอบได้ ๖๐๐,๐๐๐ วา ถัดจากนํ้านั้นออกมาข้างนอก มีผักตบลอยอยู่เวียนรอบๆ หนาได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าผักตบนั้นมา มีป่านิลุบล ซึ่งมีดอกผลิบานงดงามอยู่รอบๆ สระนั้นได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่านิลุบลนั้นมา มีดอกรัตตุบลขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่ารัตตุบลนั้นมามีป่าดอกเสตุบลขึ้นอยู่รอบได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าเสตุบลออกมาเป็นป่าดอกจงกลนี ขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าจงกลนีนั้นออกมา มีป่าบัวแดงขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้าง ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าบัวแดงนั้นออกมา มีบัวขาวขึ้นอยู่รอบๆ โดยกว้าง ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าบัวขาวนั้นออกมา มีดอกโกมุทขึ้นอยู่รอบกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา

ดอกบัวทั้ง ๗ ชนิดนั้นอยู่ชิดกัน ดูสวยสดงดงามตระการตา ถัดจากบัวทั้ง ๗ นั้นออกมา มีดอกผักตบขึ้นอยู่รอบๆ หนาและกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากป่าผักตบนั้นออกมาถึงขอบฝั่งมีนํ้าเพียงท้องช้าง นํ้าในที่นั้นใสสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น มีข้าวสาลีที่เกิดเองต้นตํ่าๆ ออกรวงงามยิ่งนัก โดยกว้างได้ ๘,๐๐๐ วา ถัดจากข้าวสาลีนั้นออกมามีป่าไม้ใหญ่ทั้งหลายงอกขึ้นตั้งอยู่เรียงราย รอบสระฉัททันต์มีผลดกงดงามยิ่ง ถัดจากป่าไม้หมู่นั้นออกมา มีถั่วหลายชนิด เกี่ยวพันลำไม้ขึ้นไป

ถัดจากป่าถั่วนั้นไป มีป่าฟักและแฟงแตงเต้ามีผลเท่าไห ถัดจากนั้นมีป่าอ้อยเกิดขึ้น มีลำใหญ่เท่าลำหมาก ถัดจากป่าอ้อยนั้นจึงเป็นป่ากล้วย เกิดขึ้นมากมายหลายพรรณ มีผลใหญ่เท่างาช้าง มีรสหอมหวาน ถัดจากป่ากล้วยนั้น เป็นป่าไม้รัง มีดอกสะพรั่งดูล้นกิ่ง ถัดจากป่าไม้รังนั้น มีป่าขนุนลูกเท่ากลองขนาดใหญ่ ถัดจากป่าขนุนมีป่ามะขามมีรสหวานดังนํ้าผึ้งและนํ้าตาล ถัดจากป่ามะขามมีป่ามะขวิด ถัดจากป่ามะขวิดมีป่าใหญ่ ประดับด้วยต้นไม้มากมายหลายพรรณ ถัดจากป่านั้น
มีไม้ซาง หมู่ไม้ทั้งหลายนานาพรรณนั้น เป็นเครื่องประดับตกแต่งสระฉัททันต์นั้นให้สวยงาม

ภูเขา ๗ เทือก ที่ล้อมรอบสระฉัททันต์นั้น มีชื่อดังนี้ สุวรรณรัตนบรรพต สูง ๕๖,๐๐๐ วา สัพพมณิบรรพต สูง ๔๘,๐๐๐ วา จุฬสุวรรณบรรพต สูง ๔๐,๐๐๐ วา มหาอุทกบรรพต สูง ๓๒,๐๐๐ วา จุลอุทกบรรพต สูง ๒๔,๐๐๐ วา มหากาลบรรพต สูง ๑๖,๐๐๐ วา จุลกาลบรรพต สูง ๘,๐๐๐ วา

ภูเขาสุวรรณรัตนบรรพตนั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างภูเขาทั้งหลาย มีลักษณะเป็นเรือนทอง มีเงารัศมีเปล่งออกจรดในสระฉัททันต์นั้นดูเรืองแสงงาม ดุจดังแสงพระอาทิตย์เมื่อแรกขึ้น

เมื่อถึงเดือน ๔ และเดือน ๕ ช้างทั้งหลายจะพากันบ่ายหน้าไปที่ท่านํ้า แล้วอาบนํ้าในสระฉัททันต์นั้น อันมีอยู่ในป่าหิมพานต์ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีไม้ประคำต้นหนึ่งอยู่ที่นั้น มีร่มเงาร่มเย็นสบาย ต้นไม้นั้นใหญ่ถึง ๔,๐๐๐ วา สูงตั้งแต่ดินจนถึงค่าคบได้ ๔๖,๐๐๐ วา ตั้งแต่ค่าคบถึงปลายยอดได้ ๘๔,๐๐๐ วา มีค่าคบใหญ่ ๔ ค่าคบ โดยยื่นออกไปในทิศต่างๆ ได้ ๔๘,๐๐๐ วา โดยรอบปริมณฑลรอบกิ่งไม้นั้นได้ ๒๘๘,๐๐๐ วา

พระยาช้างนั้นเล่นอยู่ใต้ร่มต้นไม้นั้น พร้อมด้วยโขลงช้างทั้งหลายที่เป็น บริวาร เมื่อถึงเวลาที่พระยาช้างนั้นลงอาบนํ้า โขลงช้างพังทั้งหลายต่างพากันมาขัดสีฉวีวรรณ อาบนํ้าให้แก่พระยาช้างนั้น ครั้นหมดจดขาวผ่องดังสังข์แล้ว ก็ขึ้นไปอยู่ใต้ร่มไม้ประคำอย่างเก่า แล้วหมู่โขลงช้างพลายช้างพังทั้งหลาย จึงลงอาบเล่นต่อในภายหลัง บางเชือกพ่นนํ้าเล่นไปทางซ้ายและขวา บางเชือกก็เอางาแทงดินเล่น บางเชือกก็มุดดำหัวเล่นตามสบาย ครั้นอาบนํ้าเสร็จแล้ว บางเชือกก็เอารากบัวบ้าง เอาฝักบัวบ้าง เอาดอกบัวบ้าง เอาข้าวสารสาลีบ้าง เอาแตงเต้าผลเท่าไหบ้าง เอาอ้อยลำงามเท่าลำหมากบ้าง เอาเครือกล้วยผลใหญ่ เท่างาช้างบ้าง เอาขนุนมีผลใหญ่เท่ากลองบ้าง เอามะขวิดบ้าง เอามะม่วงบ้าง เอามะขามบ้าง เอาดอกรัง ซึ่งสะพรั่งไปทั้งกิ่งหักถือมายกชูเหนือหัวแล้วเอาเข้าไปเฝ้าไปถวายแก่พระยาช้างทุกวันมิได้ขาด

ณ จอมเขาไกรลาศนั้นมีเมืองหนึ่งล้วนไปด้วยเงินและทอง มีหมู่นางกินรี อาศัยอยู่ที่เมืองนั้น บ้านเมืองนั้นมีความสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ คล้ายเมืองดาวดึงส์สวรรค์ชั้นทิพย์ และเมืองนั้นเป็นที่ประทับของพระปรเมศวรเจ้า

ภูเขาชื่อว่า จิตรกูฎ นั้น มีคูหาทองคำอยู่แห่งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เจ้าเมื่อครั้งเป็นพระยาหงส์ธตรฐราชเจ้า ก็อาศัยอยู่ในคูหาทองคำนั้น มีฝูงหงส์ทองประมาณ ๙ หมื่นตัวเป็นบริวารรับใช้ เหมือนดังโขลงช้างสาร ๘๐,๐๐๐ เชือก เป็นบริวาร รับใช้แก่พระยาช้างชื่อว่า ฉัททันต์ นั้น

แผ่นดินชมพูทวีปนี้มีบริเวณที่เป็นนํ้า ๓ โกฏิ ๒ ล้านวา เป็นป่าและภูเขาหิมพานต์ ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ วา ส่วนที่มนุษย์อยู่แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ฝ่ายใน เรียกว่า มัชฌิมประเทศ ฝ่ายนอกเรียกว่า ปัจจันตประเทศ

มัชฌิมประเทศนั้นมีหมู่บ้านชื่อว่า กชังคละ อยู่ในทิศตะวันออก บ้านนี้มีต้นรังอยู่ต้นหนึ่ง ภายในตั้งแต่ต้นรังนั้นเข้ามาเป็นมัชฌิมประเทศ ภายนอกจากไม้รังนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำชื่อว่า สัลลวตี ถัดจากแม่น้ำนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศใต้มีบ้านชื่อว่า เสตกัณณิกะ ถัดจากบ้านนั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศตะวันตกมีบ้านพราหมณ์ชื่อว่า ถูนคาม ถัดจากบ้านพราหมณ์นั้นออกไปเป็นปัจจันตประเทศ ในทิศเหนือมีภูเขาลูกหนึ่งชื่อว่า อุสีรธชะ ถัดจากภูเขาลูกนั้นออกไป เป็นปัจจันตประเทศ

มัชฌิมประเทศนั้นมีบริเวณโดยรีได้ ๓,๐๐๐ โยชน์ และโดยกว้างได้ ๒๕ โยชน์ โดยปริมณฑลรอบรวมได้ ๑๑,๐๐๐ โยชน์ ในมัชฌิมประเทศนั้นมี เมืองใหญ่ๆ ๑๖ เมือง เมื่อพระพรหมและเทพยดาทั้งหลายสิ้นอายุขัยแล้ว ย่อมจุติลงมาเกิดในมัชฌิมประเทศนี้ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตขีณาสพ พระยาจักรพรรดิราช พราหมณ์และฤษี เศรษฐีผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อมจุติลงมาเกิดในมัชฌิมประเทศนี้เหมือนกันในทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแผ่นดินชมพูทวีปนั้นมีลักษณะดุจดังทูบเกวียน คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ จึงมีดวงหน้า ละม้ายคล้ายแผ่นดินนั้น แผ่นดินในอุตตรกุรุทวีปนั้นมีพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยม โดยรีและกว้างได้เท่ากัน คือ ๘,๐๐๐ โยชน์ คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินนั้น จึงมีดวงหน้าเป็นสี่เหลี่ยม ละม้ายคล้ายแผ่นดินนั้น

แผ่นดินในบุรพวิเทหทวีป มีบริเวณกว้างได้ ๘,๐๐๐ โยชน์ และกลมดุจดังพระจันทร์ในวันเพ็ญ คนทั้งหลายที่เกิดในแผ่นดินนี้ จึงมีดวงหน้ากลมคล้ายแผ่นดินนั้น

บริเวณแผ่นดินก็ดี แม่น้ำก็ดี ป่าเขาลำเนาไพรดังกล่าวมาแล้ว ที่ไม่มีจิต ไม่มีชีวิตก็ดี โดยรูปธรรมก็มีแต่วินิโภครูป ๘ คือ ดิน นํ้า ไฟ ลม รูป กลิ่น รส เสียง เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแปรเปลี่ยนสภาพไป ไม่ตั้งอยู่ยั่งยืนเที่ยงแท้ได้เลย ไม่ต้องกล่าวถึงหมู่สัตว์ทั้งหลายที่มีจิตวิญญาณ ท่านทั้งหลายพึงพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของร่างกาย แล้วจงรำลึกฝึกใจใฝ่บำเพ็ญบุญกุศลให้ทานรักษาศีลเจริญเมตตาภาวนา เพื่อพาตนไปสู่พระอมตมหานิพพานอันปราศจากทุกข์ ปราศจากโศก ปราศจากโรคภัย ไม่มีความแก่ ไม่มีความวิบัติฉิบหาย ตลอดกาล

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน