คำสรรพนาม

Socail Like & Share

คำสรรพนาม ‘สรรพนาม’ เป็นคำที่แผลงมาจากคำสันสกฤต ‘สรรพ’ แปลว่า ทั้งปวง ‘นาม’ แปลว่า ชื่อ รวมกันเข้าเป็นคำสมาส แปลว่า ชื่อทั้งปวง คือหมายความว่าคำที่เป็นชื่อได้ทุกอย่าง ได้แก่ ‘คำแทนชื่อ’ ประโยชน์ของสรรพนามนี้ ก็คือใช้แทนคำนามต่างๆ ก็ดี ข้อความต่างๆ ก็ดี ที่เข้าใจกันอยู่แล้ว หรือที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อมิให้ซ้ำซากเป็นที่เบื่อหู เช่น ตัวอย่าง ‘พระสวนพบนายมี พระสวนจึงพูดกับนายมีว่า ‘นายมีไปไหน ไม่มาหาพระสวนบางเลย’ เช่นนี้มีคำซ้ำชื่อกันอยู่มาก ฟังขัดหู ถ้าใช้คำสรรพนามแทนเสียบ้างว่า ‘พระสวนพบนายมี ท่านจึงถามเขาว่า ‘แกไปไหน ไม่มาหาฉันบ้างเลย’ ดังนี้ เนื้อความก็สละสลวยดีขึ้น เช่นนี้เป็นต้น

คำสรรพนามนี้แบ่งออกเป็น ๖ จำพวก คือ

(๑) บุรุษสรรพนาม

(๒) ประพันธสรรพนาม

(๓) ปฤจฉาสรรพนาม

(๔) วิภาคสรรพนาม

(๕) นิยมสรรพนาม

(๖) อนิยมสรรพนาม ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

บุรุษสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนคำชื่อในการพูดจากัน คำ ‘บุรุษ’ แปลว่า ชาย ในที่นี้หมายความว่าคนที่เกี่ยวข้องในการพูดจากัน บุรุษสรรพนามนี้จัดเป็น ๓ พวก คือ
(๑) สรรพนามที่ใช้แทนตัวผู้พูดเอง เรียกว่า ‘บุรุษที่หนึ่ง’ ได้แก่คำว่า ข้า กู ฉัน ผม ดีฉัน อีฉัน เกล้ากระผม เกล้ากระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ข้าเจ้า เป็นต้น

(๒) สรรพนามที่ใช้แทน ชื่อผู้ฟัง เรียกว่า ‘บุรุษที่สอง’ ได้แก่คำว่า เจ้า เอ็ง มึง สู ท่าน ใต้เท้า ใต้เท้ากรุณา ใต้เท้ากรุณาเจ้า ฝ่าพระบาท ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นต้น

(๓) สรรพนามที่ใช้แทน ชื่อคน สัตว์ และสิ่งของที่พูดถึง เรียกว่า ‘บุรุษที่สาม’ ได้แก่คำว่า เขา มัน ท่าน, พระองค์ เป็นต้น

ประพันธสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามที่ติดต่อกัน คำ‘ประพันธ์’ แปลว่าผูกพันกัน ในที่นี้หมายความว่า สรรพนามที่ติดต่อกับ คำนามที่อยู่ข้างหน้า เช่นตัวอย่าง ‘ฉันชอบคนคนขยัน’ ดังนี้ คำ ‘คน’ ที่อยู่ต่อกับคำ ‘คน’ ข้างหน้า ต้องใช้ประพันธสรรพนามแทนว่า ‘ฉันชอบค ขยัน’ ดังนี้เป็นต้น และคำประพันธสรรพนามที่ใช้อยู่โดยมากนั้น คือคำ ‘ที่ ผู้ที่ ซึ่ง ผู้ซึ่ง’ อันจะเลือกใช้คำใดก็ได้ แต่คำ ‘ที่’ มีที่ใช้มาก

หมายเหตุ คำประพันธสรรพนามนี้ ใช้แทนคำนามหรือสรรพนามที่เรียง อยู่ติดๆ กันเท่านั้น โดยมากมักจะเป็นข้อความที่มีประโยคซ้อนเข้ามา เช่น ตัวอย่าง
(ก) คนซึ่งเกียจคร้าน ต้องลำบาก
(ข) ฉันเสียดายม้าที่ฉันขาย
(ค) บ้านอันเปลี่ยวมักจะร้าง เป็นต้น
ความที่พิมพ์ด้วยตัวหนานั้น เป็นประโยคเล็กที่แทรกเข้ามา ถ้าไม่ใช่ประพันธสรรพนาม ก็จะมีนามซ้ำอยู่ติดๆ กัน ดังนี้

(ก) คนคนเกียจคร้าน ต้องลำบาก
(ข) ฉันเสียดายม้า ม้าฉันขาย
(ค) บ้าน บ้านเปลี่ยว มักจะร้าง ดังนี้เป็นต้น

และประพันธสรรพนามเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมคุณานุประโยคของสังกรประโยค ในวิธีบอกสัมพันธ์ประโยคด้วย

ข้อสังเกต ประพันธสรรพนามมีที่สังเกต  คือต้องอยู่ติดกับนามหรือ สรรพนามเท่านั้น, แต่ถ้าอยู่ติดกับคำกริยาหรือวิเศษณ์ก็เป็นคำประพันธวิเศษณ์ ทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมอนุประโยคชนิดอื่น ดังจะกล่าวในข้อประพันธวิเศษณ์ต่อไป

วิภาคสรรพนาม คือคำสรรพนามที่ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อจำแนกนามนั้นออกเป็นส่วนๆ คำ ‘วิภาค’ แปลว่า จำแนก สรรพนามพวกนี้ได้แก่คำ ‘ต่าง บ้าง กัน’ มีที่ใช้ต่างกันดังนี้

‘ต่าง’ ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นจำแนกเป็นหลายส่วน แต่ ทำกิริยาอย่างเดียวกัน เช่นในความว่า ‘ชาวสวนต่างก็ฟันดิน’ คำ ‘ต่าง’ในที่นี้เป็นวิกัติการกแทนชาวสวน แสดงว่าชาวสวนแบ่งเป็นหลายพวก แต่ทุกๆ พวกก็ฟันดินอย่างเดียวกัน

‘บ้าง’ ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นหลายส่วนเหมือนกัน แต่แยกทำกิริยาต่างๆ กัน เช่นในความว่า ‘ชาวนาบ้างไถนา บ้างดำนา’ คำ ‘บ้าง’ ในที่นี้เป็นวิกัติการกแทนชาวนา และแยกชาวนาออกเป็นพวกๆ และทำกิริยาต่างกันด้วย

‘กัน’ ใช้แทนนามข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่านามนั้นหลายส่วน ซึ่งทำกิริยา เกี่ยวข้องกัน เช่นในความว่า ‘ชาวเมืองตีกัน’ คำ ‘กัน’ ในที่นี้แทนชาวเมือง แสดงว่าชาวเมืองหลายพวก ซึ่งทำกิริยาตีแก่กันและกัน

คำ ‘ต่าง’ กับ ‘กัน’ ใช้แทนนามข้างหน้า ที่แยกอยู่แล้วก็มี เช่นตัวอย่าง ‘ชาวสวน ชาวนาต่างก็ทำงาน’ และ ‘ชาวสวน ชาวนา ตีกัน’ ดังนี้เป็นต้น แต่คำ ‘บ้าง’ นั้นมักจะใช้แทนนามที่ไม่ได้แยกกัน ดังตัวอย่างข้างบนนี้

ข้อสังเกต คำ ‘ต่าง’ ถ้าใช้ลอยๆ ดังกล่าวแล้วนับว่าเป็นวิภาคสรรพนาม แต่ถ้าใช้ประกอบคำนามก็ดี คำกริยาก็ดี ซึ่งโดยมากประกอบข่สงหน้า เช่นตัวอย่าง ‘ชาวสวนต่างคนก็ต่างอยู่’ ดังนี้เป็นต้น นับว่าเป็นคำวิเศษณ์ ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

คำ ‘บ้าง’ ถ้าใช้ประกอบหลังคำนาม หรือ กริยา เช่นตัวอย่าง ‘นกบ้าง กาบ้าง นอนบ้าง นั่งบ้าง’ ดังนี้เป็นต้น ก็นับว่าเป็นคำวิเศษณ์อย่างเดียวกัน

คำ ‘กัน’ นี้ บางทีเป็นคำวิเศษณ์ได้ เช่น ‘เขาลือกัน ทำงานกัน’ ดังนี้ คำ ‘กัน’ แต่งกริยา ‘ลือ’ และ ‘ทำงาน’ เป็นวิเศษณ์ ดังจะอธิบายต่อไปข้าง หน้า ส่วนคำ ‘คน’ ที่เป็นวิภาคสรรพนามนั้นมีที่สังเกตคือ เป็นคำใช้แทนนาม ที่เป็นผู้ถูกกระทำ หรือนามส่วนหนึ่งส่วนใดของประโยค เช่นตัวอย่าง ผัวเมียตีกัน ผัวเมียอยู่ด้วยกัน เขาเห็นแก่กัน ดังนี้เป็นต้น

นอกจากนี้คำ ‘กัน’ ยังใช้เป็นคำชนิดอื่นได้อีก เช่นเป็นบุรุษสรรพนาม ดังตัวอย่าง ‘กันลาก่อนละ’ และเป็นกริยาดังตัวอย่าง ‘เขาเอามือกันฉันไว้’ ดังนี้เป็นต้น

นิยมสรรพนาม  คือสรรพนามที่ใช้แทนนาม เพื่อให้รู้กำหนดแน่นอน คำว่า ‘นิยม’ แปลว่า กำหนด สรรพนามพวกนี้ได้แก่คำว่า ‘นี่ นั่น โน่น’ มีที่ใช้ต่างกันดังนี้

คำ ‘นี่’ ใช้แทนนามที่ใกล้ที่สุด เช่นตัวอย่าง ‘นี่ ของใคร’ หรือ ‘ท่านมาที่นี่ เมื่อไร’ เป็นต้น

คำ ‘นั่น’ ใช้แทนนามที่ห่างออกไปจาก ‘นี่’ เช่นตัวอย่าง ‘นั่น ของใคร’ หรือ ‘ เขาไปที่นั่น เมื่อไร ’ เป็นต้น

คำ ‘โน่น’ ใช้แทนนามที่อยู่ห่างที่สุด เช่นตัวอย่าง ‘โน่นคือใคร’ หรือ ‘ท่านมาจากที่โนน เมื่อไร’ เป็นต้น

ข้อสังเกต คำ ‘นี่ นั่น  โน่น’ กับคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ตามปรกติคำ ‘นี่ นั่น, โน่น’ ใช้เป็นนิยมสรรพนามดังกล่าวแล้ว และคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ ใช้เป็นนิยมวิเศษณ์ ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า แต่บางทีก็ใช้ปนกันบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ให้สังเกตว่า คำ ‘นี่ นั่น โน่น’ หรือคำประสมที่มีคำ ‘นี้ นั้น โน้น’ อยู่ท้าย เช่นทั้งนี้ เช่นนั้น ฯลฯ ถ้าเอามาใช้ในที่สรรพนาม เช่นตัวอย่าง ‘นี่ของใคร นั้นของใคร โน้นของใคร ทั้งนี้ไม่มี ฯลฯ เช่นนี้ต้องนับว่าเป็นนิยมสรรพนามเหมือนกัน ถึงคำ ‘นี่ นั่น โน่น’ ก็เหมือนกัน ถ้าเอาไปใช้ในที่วิเศษณ์ดังจะกล่าวต่อไป ก็ต้องนับเป็นวิเศษณ์

อนิยมสรรพนาม คำ‘อนิยม’ แปลว่าไม่กำหนด คำสรรพนามที่ใช้แทนนามที่ไม่กำหนดแน่นอนลงไปว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เรียกว่า ‘อนิยมสรรพนาม’ ได้แก่คำว่า ‘ใคร อะไร ไหน ผู้ใดผู้อื่น ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้หนึ่งผู้ใด ชาวไหน ชาวอะไร ชาวอื่น ใดๆ อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นคำถาม ดังตัวอย่าง
(ก) ฉันไม่เห็นใครแล้ว
(ข) ฉันไม่อยากฟังผู้หนึ่งผู้ใดเลย
(ค) ชาวไหนก็สู้ชาววังไม่ได้
(ฆ) ผู้ใดจะอยู่ก็ได้
(ง) ใดๆ ในโลก ล้วนอนิจจัง ดังนี้เป็นต้น

ปฤจฉาสรรพนาม คำสรรพนามที่ใช้เป็นคำถาม เรียกว่า ‘ปฤจฉาสรรพนาม’ คำ ‘ปฤจฉา’ แปลว่า คำถาม อย่างเดียวกับคำ ปุจฉา ปฤจฉาสรรพนามหมายความถึงคำที่ใช้แทนชื่อ คน สัตว์ หรือสิ่งของ ที่ไม่แน่ นอนอย่างเดียวกับอนิยมสรรพนามเหมือนกัน ต่างกันก็คือ ปฤจฉาสรรพนาม เอามาใช้เป็นคำถามเท่านั้น, ตัวอย่างเช่น คำ ‘ใคร อะไร ไหน’ ถ้าเอามาเป็นคำถาม ‘ใครมา? อะไรตก? ไหนเป็นบ้านท่าน?’ ดังนี้ คำ ‘ใคร’ หมายความว่าแทนคนที่มา คำ ‘อะไร’ หมายความว่าแทนของที่ตก และคำ ‘ไหน’ หมายความว่าแทนบ้านที่ถาม ซึ่งจะต้องถามให้ทราบ ที่เป็นคำสมาสก็มี เช่น ผู้ใด ชาวไหน ชาวอะไร เป็นต้น

หมายเหตุ คำ ‘ใคร’ มักใช้แทนคน และใช้เป็นคำวิเศษณ์ไม่ได้ คำ ‘อะไร, ไหน’ ใช้แทนทั่วไป และใช้เป็นคำวิเศษณ์ได้ด้วย เช่น สัตว์อะไร ตำบลไหน เป็นต้น คำ ‘อะไร’ บางทีก็ละ ‘อะ’ ออกเสีย เช่นตัวอย่างว่า ‘เขาเป็นไร’ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต อนิยมสรรพนามโดยมากเหมือนปฤจฉาสรรพนาม ต่างกันแต่ ปฤจฉาสรรพนามใช้เป็นคำถาม และอนิยมสรรพนามไม่ใช้เป็นคำถามเท่านั้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร