ภาษิตและคำพังเพยเกี่ยวกับไก่

Socail Like & Share

ก่อนจะผ่านเรื่องไก่ชนไป จะขอพูดถึงการชนไก่ในวรรณคดีสักเล็กน้อย จาก วรรณคดีเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเอาเค้าโครงเรื่องมาจากชวาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปรากฏว่ามีการชนไก่อยู่ตอนหนึ่ง คือการชนไก่ระหว่างปันหญีกับอุนากรรณ แสดงว่าการชนไก่มีมานานแล้ว และเป็นกีฬาในราชสำนักหรือกีฬาพระราชาด้วย

นอกจากเลี้ยงไก่ไว้ชนแล้ว การเลี้ยงไก่ไว้ดูเล่นก็น่าจะมีนานแล้วด้วย เพราะไก่บางชนิด เช่นไก่ป่าบางพันธุ์มีขนงามเป็นพิเศษ คนเราจึงน่าจะนำไก่มาเลี้ยงไว้ดูด้วยเหมือนที่เราเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ไว้ดูเวลานี้ เรื่องของไก่งามปรากฏอยู่ในวรรณคดีของเราเรื่องหนึ่งนั้นคือ ในเรื่อง “ลิลิตพระลอ” แต่ไก่ลิลิตพระลอนั้นเป็นไก่ลงเสน่ห์แต่ถึงไม่ลงเสน่ห์ ถ้าเราไป พบเห็นเข้าก็คงจะต้องตามไก่อย่างพระลอเป็นแน่ลองฟังร่ายตอนนี้ในลิลิตพระลอดูบ้าง

ร่าย
“ปู่กระสันถึงไก่ไพรพฤกษ์ ปู่กระสันถึงไก่ไก่ก็มา บ่รู้กี่คณากี่หมู่ ปู่เลือกไก่ตัวงาม ทรงทรามวัยทรามแรง สร้อยแสงแดงพระพาย ขนเขียวลายระยับ ปีกสลับเบญจรงค์ เลื่อมลายหงสบาท ขอบตาชาดพะพร้อง สิงคลิ้งหงอนพรายพรรณ ขันขานเสียงเอาใจ เดือยงอนใสสีระรอง สองเท้าเทียมนพมาศ เพียงฉลุชาดทราง…..” พบไก่งามอย่างนี้ พระลอก็ตามไก่

เพราะเหตุที่ไก่อยู่กับคนมานาน คนเราสังเกตกิริยาอาการของไก่แล้วเอามาตั้งเป็นคำพังเพยหรือสุภาษิตมากมาย คำพังเพยหรือสุภาษิตนี้มีแทบทุกชาติทุกภาษา เช่นฝรั่งว่า “ไก่กระต๊ากทีหนึ่งไข่ทีหนึ่ง” ซึ่งหมายความว่า คนที่ทำอะไรต้องการปิดบังไม่ให้ใครรู้ แต่ตัวเองนั่นแหละเป็นคนพูดออกมาเอง ตรงกับสำนวนไทยว่า “ตัวไหนไข่ตัวนั้นกระต๊าก”

“ไข่ฟองเดียววันนี้ ดีกว่าแม่ไก่พรุ่งนี้” เป็นสำนวนอิตาเลียน และตรงกับ สำนวนไทยว่า “สิบเบี้ยใกล้มือ” ถึงอย่างไรก็เอาไว้ก่อนดีกว่า

“ไก่กินข้าวเปลือก” เป็นสำนวนไทย จะเกิดเมื่อไรก็ไม่ทราบ มีความหมายว่าไก่นั้น ชอบกินข้าวเปลือก ซึ่งแสดงธรรมชาติของไก่ เลยเอามาใช้ไปในทางที่ว่าตราบใดไก่ยังกินข้าวเปลือก คนก็ยังกินสินบนอยู่ตราบนั้น พวกที่จะกินสินบนได้ ก็คือพวกพนักงาน เจ้าหน้าที่ ใครที่นึกว่าสินบนเป็นของอร่อยเหมือนข้าวเปลือกที่ไก่ชอบละก็ ระวังตัวให้ดี เพราะว่าข้าวเปลือกนั้นอาจจะถูกคลุกเคล้าด้วยยาพิษไว้ก็ได้ ไก่ที่ชอบกินข้าวเปลือกตายไปมากแล้ว เช่นเดียวกับคนที่กินสินบน ถูกไล่ออกจากงานและติดคุกติดตะรางไปมากต่อมากแล้ว

“เจ้าชู้ไก่แจ้” เป็นสำนวนไทย หมายถึงผู้ชายที่เดินเกี้ยวผู้หญิงป้อไปป้อมา ไม่เคยได้เรื่องได้ราวสักที ทำนองเดียวกับไก่แจ้ ที่กรีดกรายตัวเมียซ้ายทีขวาทีนั่นแหละ เจ้าชู้แบบนี้ไม่ค่อยอันตรายเท่าเจ้าชู้ยักษ์

“ไก่เห็นพลอย” เป็นสำนวนไทย คงจะได้มาจากนิทานอีสปเรื่องไก่ไปพบพลอยเม็ดหนึ่งแล้วก็เดินเลยไป บ่นว่าพลอยนั้นสู้ข้าวสุกข้าวสารเมล็ดเดียวก็ไม่ได้ หมายความถึงคนที่ไม่รู้จักคุณค่าหรือราคาของที่ดีพบแล้วก็ไม่สนใจ

“ปล่อยไก’” เป็นสำนวนไทย ใครจะบัญญัติขึ้นครั้งไหนก็จำไม่ได้ แต่มีความหมายว่า ปล่อยความโง่ออกมาให้คนอื่นเห็น สำนวนนี้น่าจะมาจากนิทานเรื่องหนึ่งที่ว่า ยังมีชายแก่คนหนึ่งเป็นคนถือศีลกินเพล ตาแก่เลี้ยงไก่ไว้เล้าหนึ่ง เวลาจะกินไก่ ก็บอกหลานชาย ที่เฉลียวฉลาดคนหนึ่งว่า ไปปล่อยไก่สักตัวซิ เจ้าหลานชายคนนั้น ก็ไปจัดการฆ่าไก่มาทำ อาหารให้ตาแก่ทุกครั้งเสมอมา อยู่มาวันหนึ่งหลานชายคนนั้นไม่อยู่ แต่ยังมีหลานชายอีกคน ซึ่งไม่ค่อยรู้เรื่องนี้มาก่อน ชายแก่ก็สั่งหลานชายคนนี้ให้ปล่อยไก่อีก เพราะหลานชายคนนี้ไม่เฉลียวฉลาดเท่าคนก่อนก็ไปจัดการปล่อยไก่เสียหมดเล้าเลย ตาแก่รู้เข้าโมโหโกรธาเป็นอันมาก พูดออกมาว่า ข้านึกว่าแกฉลาดที่แท้ก็โง่ดักดาน มีรึไปปล่อยไก่ของข้าออกหมดเล้า เป็นอันว่า สำนวนปล่อยไก่จะเนื่องมาจากนิทานนี้ก็ได้

“ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” นี่ก็สำนวนไทย เป็นที่รู้กันว่า งูนั้นไม่มีตีน และไก่นั้นก็ไม่มีนม เหมือนคนเราที่มีเล่ห์เหลี่ยมต่างกันก็ต่างปกปิดกัน แต่คนที่มีเล่ห์เหลี่ยมทันกั,น ก็ย่อมมองเห็นเล่ห์เหลี่ยมกันได้ตรงกับสำนวนของบังกลาว่า “ไก่รู้ว่างู่ขู่”

“ไก่แก่แม่ปลาช่อน” หมายถึงผู้หญิงที่มีมารยาเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ มากมาย ถ้าเป็นผู้ชายก็เรียกว่า “แปดเหลี่ยมแปดคม” สำนวนไก่แก่แม่ปลาช่อนนี้ เป็นสำนวนพูดกันทั่วไป แต่เมื่อค้นตามหนังสือเก่าๆ แล้วจะไม่พบสำนวนนี้ กลับไปพบสำนวนว่า “กระต่ายแก่ แม่ปลาช่อน” เสียทั้งนั้น เช่นในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องคาวีในรัชกาลที่ ๒ ตอน พระคาวีตามลงไปง้อนางคันธมาลีมีกลอนว่า

“ไม่พอที่ตีวัวกระทบคราด    สัญชาติกระก่ายแก่แม่ปลาช่อน
แสร้งสบิ้งสบัดตัดรอน        จะช่วยสอนให้ดีก็มิเอา

ดีแก่ทำปั้นปึ่งขึ้งขี้เหร่        โว้เว้ใจหายเจียวยายเฒ่า
ไม่เสงี่ยมเจียมตัวมัวเมา    เออเอาแต่อะไรมาบ่นอึง”

คอนนางคัธมาลีขึ้นเฝ้าก็มีกลอนว่า
“ได้เอยได้ฟัง                นางผินหลังหลบเลี่ยงเมียงม่าย
นึกจะไปนั่งด้วยก็ขวยอาย        อดสูดูร้ายรำคาญใจ
แกล้งทำแยบยายกระต่ายแก่     แสนแง่แสนงอนค้อนให้”

ในหนังสือพระอภัยของสุนทรภู่ก็พูดคำว่ากระต่ายแก่ไว้ตอนหนึ่ง คือตอนที่พระอภัยมณีว่านางสุวรรณมาลีกับนางละเวงว่า

‘‘กระต่ายแก่แต่ละคนล้วนกลมาก ทั้งฝีปากเปรื่องปราดฉลาดเฉลียว’’

และอีกตอนหนึ่งว่า
“ขี้เกียจเกี้ยวเคี่ยวขับข้ารับแพ้     กระต่ายแก่แม่ปลาช่อนงอนไม่หาย”

สำนวนเดิมของเราคงจะใช้คำว่ากระต่ายแก่แม่ปลาช่อนอย่างน้อยก็ถึงสมัยที่ท่านสุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนสำนวนไก่แก่แม่ปลาช่อนนี้คงจะเกิดภายหลัง อย่างมากน่าจะไม่เกินสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์แต่ใครจะเป็นผู้ใช้ครั้งแรก ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

สำนวนเกี่ยวกับไก่ยังมีอีกมากมายหลายภาษา จะนำมากล่าวในที่นี้ก็รู้สึกว่าจะเฝือจนเกินไป

เมื่อพูดถึงไก่แล้วถ้าไม่พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับไก่ในสามก๊ก วรรณคดีจีนของเรา ก็เป็นที่น่าเสียดาย เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อโจโฉหนีทัพเล่าปี่มาติดอยู่ในหุบเขาเสียดก๊กนั้น ตอนเย็นวันหนึ่ง ขณะที่โจโฉกำลังรับประทานขาไก่อยู่ และกำลังชูขาไก่ขึ้นไว้ รำพึงแต่ในใจว่า จะทิ้งเสียก็เสียดายด้วยยังมีรสอยู่ ขาไก่นี้เปรียบเสมือนการสงครามครั้งนี้ ครั้นจะเลิกละเสีย ก็จะอัปยศ จะทำเอาชัยชนะก็ไม่สะดวก พอดีขณะนั้นแฮหัวตุ้นเข้ามาถามว่า คืนนี้จะขานรหัสว่ากระไร โจโฉจึงบอกว่า ขาไก่ ฝ่ายเอียวสิ้ว สมุห์บัญชีของกองทัพครั้นทราบว่าโจโฉให้ขานยามว่าขาไก่ ก็รู้ทันทีว่าโจโฉต้องถอยทัพแน่ในวันพรุ่งนี้ จึงสั่งให้ทหารของตนเก็บข้าวของ ทหารหน่วยอื่นก็เก็บข้าวของบ้าง เกิดโกลาหลกันทั้งกองทัพ ครั้นโจโฉทราบความจึงถามว่า ใครสั่งให้เก็บของพอรู้ว่าเอียวสิ้วเป็นคนสั่งโจโฉจึงถามเอี้ยวสิ้วว่าทำไมจึงบอกทหารดังนั้น เอียวสิ้วจึงว่าเพราะได้ยินให้ขานยามว่าขาไก่ จึงรู้ว่าจะเลิกทัพโจโฉได้ฟังดังนั้นก็โกรธ ว่าท่านมากล่าวดังนี้ผิด แกล้งจะให้ทหารเราเสียน้ำใจโทษท่านถึงตาย จึงให้ทหารเอาตัวเอียวสิ้วไปตัดศีรษะเสียบไว้ประตูค่าย พอรุ่งขึ้นเช้าโจโฉก็ยกทัพออกจากหุบเขาเสียดก๊ก สมดังเอียวสิ้วเข้าใจไม่ผิด แต่เอียวสิ้วตาย เพราะว่ารู้ทันนายเกินไป

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ท่านที่มีนายหรือมีผู้บังคับบัญชา จงระวังตัวให้ดี ถ้าท่านมีนายดีชอบคนฉลาดก็ไม่เป็นไร แต่นายอย่างโจโฉนั้นมีมาก ท่านจะรู้ทันนายก็จงเก็บไว้ในใจอย่าให้นายรู้ มิเช่นนั้นท่านจะลำบาก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี