กาลิเลโอผู้ยิ่งใหญ่ทางวิทยาการ

Socail Like & Share

(Galileo Galilei)
กาลิเลโอ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2107 ที่เมืองปิซา เขาเป็นชาวอิตาเลียน ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2185 ขณะมีอายุได้ 78 ปี

ขณะที่เขาเป็นนักเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัย วันหนึ่งเขาไปในโบสถ์ และนั่งอยู่ตรงหน้าที่บูชาอย่างสงบ เจ้าหน้าที่ในโบสถ์เอาตะเกียงน้ำมันที่เพิ่งเติมเสร็จใหม่ๆ มาให้แขวน ซึ่งมีสายโซ่สำหรับแขวน เขาสังเกตดูตะเกียงที่แขวนใหม่ๆ ว่าเมื่อแรกแขวนก็แกว่งไกวเป็นระยะกว้างอยู่เป็นเวลานาน แล้วแกว่งในระยะที่แคบลงเรื่อยๆ จนหยุดแกว่ง สำหรับคนอื่นอาจมองว่าไม่มีความสำคัญอะไร แต่สำหรับกาลิเลโอมันเป็นแสงสว่างแห่งความคิดอันใหญ่หลวงของเขา กาลิเลโอสังเกตเห็นว่าเสียงของสายโซ่จะดังเป็นจังหวะและใช้เวลาเท่ากัน ไม่ว่าตะเกียงจะแกว่งในระยะกว้างหรือแคบลงจนกว่าจะหยุดแกว่งไป

เป็นธรรมดาที่ของนั้นเวลาแกว่งในระยะกว้าง ความแกว่งก็เร็ว แต่พอระยะแคบ ความแกว่งก็ช้าลง จังหวะเสียงจึงเท่ากันและใช้เวลาเท่ากันเสมอ แต่กาลิเลโอได้ตั้งคำถามต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้ความเร็วลดลงคืออะไร แล้วทำไมจึงลดจังหวะได้พอเหมาะไม่คลาดเคลื่อน และตั้งคำถามต่อไปว่า ของที่แกว่งในระยะที่กว้างมาก กับที่แกว่งในระยะกว้างน้อยจะหยุดพร้อมกันได้หรือไม่ เขาจึงได้ทดลองเอาเชือกสองเส้นที่ยาวเท่ากัน เอาตะกั่วที่มีน้ำหนักเท่ากันติดที่ปลายเชือก ผูกเชือกสองเส้นไว้ใกล้ๆ กัน ให้คนหนึ่งคอยดูและนับระยะแกว่งของเส้นหนึ่ง และเขาก็ดูอีกเส้นหนึ่ง

เขาจับตะกั่วที่ปลายเชือกทั้งสองดึงไปข้างหนึ่ง แล้วรั้งให้ผิดระยะกัน เส้นหนึ่งดึงให้ห่างจุดศูนย์กลางสองฝ่ามือ อีกเส้นหนึ่งดึงให้ห่างจุดศูนย์กลางที่สี่ฝ่ามือ ซึ่งมีระยะแกว่งต่างกันเป็นเท่าตัว แล้วปล่อยมือพร้อมกัน จากนั้นก็นับจังหวะการแกว่งนั้น

ผลปรากฏว่า เชือกทั้งสองเส้นแม้จะปล่อยในระยะห่างกันถึงเท่าตัว จำนวนการแกว่งตั้งแต่ปล่อยมือจนถึงหยุดนิ่งก็มีจำนวนร้อยครั้งเท่ากัน และยังหยุดพร้อมกันอีกด้วย ความรู้เรื่องนี้จึงทำให้เขาพบหลักคำนวณสุริยุปราคาและจันทรุปราคาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งถือเป็นความยิ่งใหญ่ทางวิชาการ

กาลิเลโอ เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2107 บิดาของเขาเป็นครูสอนดนตรี เมื่อตอนเป็นเด็กบิดาบอกว่า เขาเป็นคนใจลอยกลัวผี มองเห็นภาพแปลกๆ ได้ยินเสียงประหลาดทำให้ตกใจกลัวเสมอ แต่เมื่อโตขึ้นก็ชอบที่จะทดลองทุกอย่างให้ประจักษ์แก่ตัวเอง โดยไม่ยอมรับหลักการหรือเชื่อสิ่งใดก่อน เด็กที่ขี้ขลาดหวาดกลัวตั้งแต่เด็กๆ ใช่ว่าจะประสาทอ่อนเสมอไป แต่บางทีอาจเป็นเพราะเขามีประสาทที่ไวเป็นพิเศษ และอาจเป็นมันสมองที่ดียอดเยี่ยมในภายหน้าก็ได้ อีกคนหนึ่งที่มีลักษณะเช่นนี้ ก็คือ มาร์ติน ลูเธอร์ ซึ่งในตอนเป็นเด็กเขามีความหวาดกลัวอย่างร้ายแรง แต่เมื่อโตขึ้นก็กลายเป็นคนที่มันสมองชั้นเอก

ตอนที่มาร์ติน ลูเธอร์ เข้าโรงเรียนในชั้นต้นๆ เขาก็เป็นเด็กที่ใจลอยเช่นเดียวกัน เป็นคนช่างประดิษฐ์ ชอบสร้างของต่างๆ เช่น รถ สีลม เรือ ทำของเล่นจากสิ่งที่มีอยู่ ชอบวิชาคำนวณมาก เมื่อเรียนจบวิชาสามัญก็ได้เข้าศึกษาวิชาแพทย์ในมหาวิทยาลัยปิซา ชอบอ่านตำราของยูคลิด และอาร์คีมีดีส และชอบทำการทดลองต่างๆ อยู่เสมอ แทนที่จะชอบอ่านตำราแพทย์ที่เขาเรียน

การศึกษาในสมัยโบราณ นักศึกษาจะถูกบังคับให้เชื่อในคำของโบราณจารย์ว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ แม้จะถามถึงเหตุผลก็เป็นการแสดงความไม่เคารพ

สำหรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นได้ใช้ตำราของอริสโตเติลเป็นหลัก เขาเป็นโบราณจารย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ในวิชานี้ เขาเขียนไว้อย่างไรก็ต้องเชื่อ แต่กาลิเลโอชอบเอาคำสอนของอริสโตเติลมาทดลอง เขาจะเถียงกับครูถ้าผลที่ทดลองได้ผิดกับหลักของอริสโตเติล สำหรับนักศึกษาสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมาก เมื่อเรื่องรู้ไปถึงบิดา กาลิเลโอก็ได้รับการตักเตือนว่า ไม่ให้เถียงคำของโบราณจารย์เป็นอันขาด

แต่เขาก็ไม่เชื่อ ยังคงชอบทดลองและเถียงหลักของโบราณจารย์อยู่เสมอ ยิ่งมีความอยากที่จะทดลองมากขึ้นหลังจากที่ได้ทดลองเห็นผลเรื่องความแกว่งจากตะเกียงนั้น ความประพฤติที่ไม่ดีในระหว่างการศึกษาทำให้เขาไม่ได้ประกาศนียบัตรเมื่อเรียนจบหลักสูตรแพทย์ศาสตร์แล้ว

กาลิเลโอสนใจในวิชาคำนวณและศึกษาจนรู้วิชาได้ดีมาก และไม่ค่อยสนใจในวิชาแพทย์มากนัก เขาได้เข้าเป็นครูคำนวณในมหาลัยปิซาเนื่องจากขาดครูสอนวิชานี้ แต่เงินเดือนที่ได้ก็น้อยจนไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้ เขาจึงใช้วิชาแพทย์ทำการรักษาโรคบ้าง เพราะในเวลานั้นยังไม่กวดขันว่าต้องเป็นแพทย์ที่มีประกาศนียบัตร

วันหนึ่งในมหาวิทยาลัย เขาพูดระหว่างพวกครูว่า ของอย่างเดียวกัน แม้จะมีขนาดต่างกัน แต่ถ้าปล่อยจากที่สูงจะตกถึงแผ่นดินพร้อมกัน ซึ่งความคิดนี้จะผิดกับหลักของโบราณจารย์ที่วางไว้ว่า ของที่มีน้ำหนักมากกว่าย่อมตกเร็วกว่าของที่มีน้ำหนักน้อย พวกครูได้ห้ามไม่ให้เขาแสดงความคิดนี้ แต่เขาก็ไม่ยอมและได้ท้าทายให้มีการทดลองที่หอสูงปิซา พวกนักศึกษามากมายเกิดความสนใจ และไม่มีใครห้ามเขาได้ ทั้งครูและนักศึกษาจึงพากันไปดูการทดลองนั้นด้วย

กาลิเลโอได้ถือโลหะสองก้อนไปบนหอสูงปิซา ก้อนหนึ่งมีน้ำหนัก 1 ปอนด์ อีกก้อนหนึ่งมีน้ำหนัก 10 ปอนด์ และทิ้งโลหะทั้งสองก้อนลงมาพร้อมกัน แม้จะมีน้ำหนักต่างกันแต่โลหะทั้งสองก้อนก็ตกลงมาสู่พื้นพร้อมๆ กัน

การทดลองนี้แทนที่จะทำให้กาลิเลโอเป็นคนดีขึ้นมา แต่กลับมีผลร้ายกับเขา เขาถูกชิงชังจากหมู่ครูอาจารย์มากขึ้น กฎข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่ตั้งไว้ว่าต้องสวมเสื้อครูอาจารย์แม้จะอยู่ข้างนอกหรือข้างในมหาวิทยาลัย แต่เขาก็ไม่ทำตามกฎ และถูกปรับอยู่เสมอ จนเงินเดือนที่น้อยอยู่แล้วแทบจะหมดไปทีเดียว

ต่อมาเจ้าชายยิโอวันนี เดอเมดิจิ คิดทำเครื่องขุดขึ้นเพื่อขุดร่องน้ำเป็นทางเรือเข้าท่าเมืองเลกฮอร์น โดยให้ทำแบบเล็กเป็นโมเดลก่อนแล้วส่งมาให้มหาวิทยาลัยพิจารณา มหาวิทยาลัยได้ให้กาลิเลโอออกความคิดเห็น เขาจึงบอกว่า เจ้าชายเป็นผู้ทรงพระปัญญาสูงยิ่ง ได้คิดทำเครื่องขุดนี้ด้วยพระปรีชาสามารถเลิศล้น เครื่องขุดที่ทรงคิดทำนี้ก็มีอะไรพร้อมทุกอย่าง ยังบกพร่องอยู่อย่างเดียว คือไม่สามารถจะใช้การได้

เมื่อเรื่องทราบถึงเจ้าชาย ก็สั่งให้มหาวิทยาลัยปลดกาลิเลโอออกจากตำแหน่งครู เพราะความเห็นนั้นแสดงว่า กาลิเลโอไม่มีความรู้อะไรเลย ทางมหาวิทยาลัยอยากปลดมานานแล้วจึงได้ปลดเขาออกด้วยความยินดี เขาถูกโห่ร้องขับไล่จากพวกนักศึกษาเมื่อเวลาออกจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีใครเห็นดีเห็นชอบกับเขาเลย

ส่วนเครื่องขุดที่สร้างขึ้นจากความคิดเจ้าชายนั้น เมื่อนำไปใช้ก็ปรากฏว่าใช้การไม่ได้จริงๆ

พฤติการณ์ของยุโรปเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว เป็นประเทศที่ถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ศาลพิเศษที่ศาสนาตั้งขึ้นเรียกกันว่า อินควิสิชั่น(Inquisition) เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาลงโทษผู้ที่มีความคิดเห็นนอกรีตของศาสนาได้ มีพระเป็นผู้พิพากษา โดยในชั้นแรกจะตักเตือนให้เปลี่ยนและเลิกความคิดเห็นที่ผิดนั้นเสีย แต่ถ้ายังทำอีกก็อาจพิพากษาลงโทษถึงประหารชีวิต และริบทรัพย์สมบัติด้วย

ถ้าเป็นโทษจำคุก พระก็จะมีคุกขังนักโทษเอง แต่ถ้าต้องโทษประหารก็ต้องส่งตัวให้บ้านเมืองดำเนินการต่อไป ส่วนทางราชการบ้านเมืองที่ต้องอาศัยพึ่งบารมีพระหรือกลัวการคว่ำบาตรตามวิธีของศาสนา ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ราษฎรก่อการจลาจลขึ้น หรือเป็นเหตุให้อาณาจักรอื่นฉวยโอกาสเข้ารุก ก็ต้องทำตามคำสั่งพระ ศาลจะพิพากษาประหารชีวิตใคร บ้านเมืองก็ต้องทำตาม

ต่อมา ศาลพระก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมือที่พระมหากษัตริย์จะใช้กำจัดศัตรู หรือริบทรัพย์ของคนมาแบ่งกันกับวัด และสเปนก็เป็นประเทศที่ใช้ศาลพระมากกว่าใครๆ มีคนถูกประหารชีวิตและริบทรัพย์ไม่น้อย และยังใช้ผู้พิพากษาคฤหัสถ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ในอาณาจักรที่มีศาลพระ อำนาจของศาสนาก็ได้เข้าครอบคลุมการศึกษาในบ้านเมืองด้วย พระจะเป็นผู้กำหนดให้ว่าจะให้เรียนตำราของใคร ตำราใดได้เป็นหลักสูตรก็มีความศักดิ์สิทธิ์เท่าคัมภีร์ทางศาสนา ได้รับความยกย่องเหมือนเป็นคำของพระเจ้า การคัดค้านตำรานี้เท่ากับคัดค้านคัมภีร์ของศาสนาหรือคำของพระเจ้า การทรยศต่อศาสนาก็มีความผิดร้ายแรงเท่ากับหรือยิ่งกว่าการทรยศต่อประเทศชาติ อาจมีโทษถึงประหารชีวิต โทษประหารชีวิตของผู้มั่งคั่งจะมีโทษริบทรัพย์อยู่ด้วยก็ยิ่งถูกประหารชีวิตได้ง่าย

แต่บางอาณาจักรก็ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของศาสนา เพราะเชื่อมั่นว่าพลเมืองของตนมีความรักชาติ และจะไม่ก่อการจลาจล เชื่อว่าตัวเองมีกำลังป้องกันเพียงพอที่จะไม่มีใครมารุกรบหรือประทุษร้าย หรือในฐานะที่เป็นตราชูถ่วงอำนาจของชาติอื่นๆ ชาติทั้งหลายคอยกีดกันกันเองที่จะไม่ให้อีกชาติหนึ่งมาทำร้ายอาณาจักรน้อยๆ อาณาจักรหนึ่งของอิตาลี ซึ่งอยู่ในลักษณะนี้ คือ เวนิช ประเทศใหญ่ๆ ได้คอยรักษาไว้ให้เป็นกลางในสมัยหนึ่ง ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจศาสนา มีการเล่าเรียนและค้นคว้าทางศิลปวิทยากันอย่างเสรี ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ของโบราณาจารย์สำหรับที่นี่ ที่มหาวิทยาลัยปาดูอาของเวนิช เป็นที่ใครๆ ก็แสดงวิชาความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องเกรงโบราณาจารย์ ในเวนิชจึงมีความเจริญทางศิลปะวิทยาการเป็นอันมาก แม้ได้มีการประกาศทางศาสนาว่าให้เอาเวนิชออกนอกความคุ้มครอง แต่เวนิชก็ไม่ได้เกิดผลร้ายแต่อย่างใด

พวกเพื่อนๆ ที่ยังเหลืออยู่ของกาลิเลโอ ได้ชักนำให้เขาได้ตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยปาดูอา เขาได้เงินเดือนมากกว่าที่มหาวิทยาลัยปิซาถึง 3 เท่า นักศึกษาทั้งหลายได้ตบมือและส่งเสียงต้อนรับเมื่อเขาขึ้นสอนเป็นครั้งแรก เพื่อนอาจารย์และนักศึกษาก็ชอบเขา ที่นี่จึงเหมาะที่สุดสำรับกาลิเลโอ ที่สามารถทำการค้นคว้าทดลอง สอน และแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี

เมื่อกาลิเลโอมีอายุเพียง 24 ปี เขาได้รับความผาสุกที่สุดในชีวิต เนื่องจากพวกเจ้า พวกขุนนางบรรดาศักดิ์ และนายทหารที่สนใจในความรู้ความคิดใหม่ๆ ได้เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์ของเขา ซึ่งบางคนได้นำผู้รับใช้มาและกินนอนอยู่กับกาลิเลโอ คอยทำอาหารอย่างดีมาให้รับประทาน กาลิเลโอก็พลอยมีคนใช้ มีอาหารอย่างดีไปด้วย

ในเวนิชจะมีโสเภณีซึ่งถือว่ามีเกียรติ ไม่เสื่อมเสียอะไร เป็นสตรีที่มีการศึกษาดีที่สุด ทั้งในด้านดนตรี อักษรศาสตร์ และศิลปะ โสเภณีเป็นผู้นำสมัย สตรีชั้นเจ้านายยังต้องไปขอรับการศึกษาในเรื่องการแต่งกาย การทำผม การทำเสื้อผ้า แม้สตรีทั่วไปก็คอยดูว่าโสเภณีทำอย่างไรก็จะทำตามอย่างนั้น

กาลิเลโอไม่มีความประสงค์จะแต่งงาน เขาจะหาความสุขกับโสเภณี เพราะเขาคิดว่า การเป็นนักวิชาการกับการเป็นสามีที่ดีนั้นเป็นปกปักษ์ต่อกัน คนเป็นนักวิชาการจะเป็นสามีที่ดีในเวลาเดียวกันนั้นไม่ได้ แต่เขาก็ได้อยู่ด้วยกันอย่างผัวเมีย และมีลูกกับโสเภณีคนหนึ่งที่ชื่อ มารินา กัมบา และมีลูกด้วยกันถึง 3 คน โดยไม่ได้แต่งงานกัน

กาลิเลโอต้องมีหนี้สินมากขึ้นและยากจนลง เพราะเมื่อญาติพี่น้องที่เมืองปิซารู้ว่าเขามีฐานะดีขึ้นในเวนิช น้องชายต้องการไปหางานทำในโปแลนด์ก็ให้กาลิเลโอออกค่าเดินทางให้ ซึ่งค่าใช้จ่ายเท่ากับการทำงานของกาลิเลโอถึงหนึ่งปี เขาก็ต้องกู้ยืมเงินมาให้น้องชาย ส่วนน้องสาวก็จะแต่งงาน ซึ่งธรรมเนียมของฝรั่งนั้นผู้หญิงจะต้องให้เงินผู้ชาย และน้องสาวก็ได้เขาว่าพี่ชายเป็นคนมั่งคั่งจะให้เงินในการแต่งงานจำนวนหนึ่ง ทำให้ผู้ชายพอใจและตกลงแต่งงานด้วย น้องสาวบอกกาลิเลโอว่าได้สัญญากับฝ่ายชายแล้วต้องส่งเงินมาให้ด้วย กาลิเลโอส่งเงินมาให้ส่วนหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือเขาก็ยอมทำสัญญาว่ายังขาดอยู่และจะส่งให้ภายหลัง และน้องเขยของเขาก็ได้ฟ้องต่อศาลให้ส่งเงินตามสัญญาหลังจากแต่งงานแล้ว การลิเลโอก็ต้องกู้ยืมเงินไปให้จนครบตามสัญญา

กาลิเลโอมิได้ละทิ้งความพยายามในการค้นคว้าแม้จะมีความยากลำบากเช่นนี้ เขาได้ตั้งวิทยาลัยพิเศษของเขาขึ้น เรียกว่า วิทยาลัยหลบภัย มีรูปเป็นสโมสรวิทยาการสำหรับนักรู้นักคิดที่หลบภัยทางการเมือง การศาสนา หรือหลบภัยจากศาลพระเข้ามาอยู่ในเวนิช มีการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความคิดรู้กันอย่างเสรี เขาได้คิดสร้างเข็มทิศขึ้นมาเนื่องจากที่ได้เห็นโคมไฟแกว่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่โลกมาจนทุกวันนี้

ตามธรรมดาน้ำย่อมไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ เขาได้คิดเครื่องสูบน้ำที่สามารถทำให้น้ำจากที่ต่ำขึ้นมาสู่ที่สูงได้ ซึ่งนับว่ามหัศจรรย์ไม่น้อย เครื่องสูบน้ำจึงเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบันนี้

และต่อมาก็ได้ค้นพบเครื่องวัดความร้อน ที่เรียกกันว่า ปรอท ที่สามารถให้ประโยชน์ได้มากมายในปัจจุบันไม่ว่าจะใช้เพื่อวัดความร้อนในอากาศ วัดความร้อนในตัวคนไข้ และใช้ในงานอุตสาหกรรมต่างๆ

ในปี พ.ศ. 2151 เขามีอายุได้ 44 ปี เวลานี้เขาอยู่ทีเวนิช ได้มีข่าวลือว่า มีช่างทำแว่นตาชาวฮอลันดาคนหนึ่งชื่อ ลิปเปอร์ซี ขณะที่คัดเลือกกระจกแว่นตาได้หยิบกระจกสองอันวางถูกแง่กันเข้า ทำให้เห็นของไกลๆ ให้มาใกล้ได้ กาลิเลโอได้ความรู้นี้มาและทดลองทำดูก็ได้ผลอย่างที่ว่าจริงๆ ลิปเปอร์ซี ชาวฮอลันดา ได้รับการยกย่องจากโลกว่าเป็นคนแรกที่พบวิชาส่องกล้องทางไกล แต่กล้องของเขาใช้ได้ผลเพียงเล็กน้อย และไม่ได้ต่างจากการมองด้วยตาเปล่าเทาไรนัก

หนึ่งปีภายหลังจากการค้นพบของลิปเปอร์ซี กาลิเลโอได้พยายามค้นคว้าหาวิธีใหม่เพื่อให้ผลดียิ่งขึ้น ครั้งถึงวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2151 เขาก็ได้สร้างกล้องขึ้นมาเป็นของตัวเอง และพาคนขึ้นไปบนที่สูงแห่งเมืองเวนิชและใช้กล้องดูในทิศทางต่างๆ ซึ่งได้ผลอย่างมหัศจรรย์ สามารถมองเห็นภาพไกลๆ ได้ชัดเจนอยู่ในกล้องไม่ว่าจะดูไปในทิศทางใด

การใช้กล้องดูในเวลากลางคืนจะมองเห็นดวงดาวในท้องฟ้าแจ่มแจ้งใหญ่โต เป็นสิ่งที่ทำให้คนตื่นเต้นมากที่สุด สามารถมองได้ใกล้กว่าตาเปล่าเป็นอันมาก ทำให้มีคนสนใจสั่งซื้อกล้องส่องทางไกลของเขาเป็นอันมาก เขาได้ทำกล้องอย่างดีเป็นพิเศษจนถึงถวายแก่ดุ๊กแห่งเวนิช ซึ่งเป็นที่พอพระทัย และสั่งให้มหาวิทยาลัยบรรจุกาลิเลโอเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย นับเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในเวลานั้น

การที่กาลิเลโอยังไม่ได้ดีในบ้านเมืองของเขา จึงทำให้เขายังไม่พอใจ เพราะเขาคิดว่าเป็นความรุ่งโรจน์ในต่างด้าว เขาพยายามที่จะกลับมาเมืองปิซา โดยได้ยื่นคำร้องต่อแกรนด์ดุ๊กแห่งฟลอเรนซ์ซึ่งเป็นเจ้านครปิซา ขอรับตำแหน่งประจำราชสำนัก เขาแต่งหนังสือเล่มหนึ่งถวายให้แก่แกรนด์ดุ๊ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วยวิชาการเกี่ยวกับเข็มทิศทาง ทำความพยายามทุกอย่างจนเข้าเมืองของตนได้ ยอมละทิ้งตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยปาดูอา ซึ่งทำความรุ่งโรจน์แก่เขา กลับมาสู่ใต้บังคับของศาสนา ใต้อำนาจของศาลพระ เพราะด้วยความที่เขารักบ้านเมืองของตัวเอง แต่การกลับมาสู่บ้านเมืองของเขาได้ก่อโชคร้ายให้กับชีวิตเขาอย่างมาก

กล้องโทรทัศน์ที่เขาทำขึ้น และพยายามให้พัฒนาดีขึ้นทุกที ช่วยให้เขาสามารถสำรวจท้องฟ้าได้อย่างที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เขาได้ค้นพบว่าพระจันทร์ไม่มีแสงในตัวเองต้องอาศัยแสงสะท้อนจากดวงอาทิตย์ พบว่าในดวงจันทร์มีห้วยเหวและภูเขา ได้พบดวงดาวต่างๆ ที่ไม่มีใครรู้และพูดถึงมาก่อน พบจุดดำในดวงอาทิตย์ และพบว่าโลกหมุนได้ และหมุนไปรอบดวงอาทิตย์ด้วย และเขาก็ได้ทำหนังสือบรรยายเกี่ยวกับการค้นพบเหล่านี้มาเป็นเรื่องๆ

การค้นพบว่าโลกหมุนได้ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับทางศาสนาขึ้นทันที เพราะทางศาสนาเชื่อว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างโลกไว้ให้หมุน เขาจึงถูกเรียกให้ไปปรากฏตัวต่อหน้าศาลพิเศษของพระ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2159

พระสังฆราช เบลลามิเน ได้แนะนำให้เขาทำหนังสือสารภาพผิดว่า ความคิดของเขาที่ว่าโลกหมุนนั้นผิดไป เขากระทำผิดอย่างร้ายแรง ที่บังอาจรู้ดีกว่าพระเจ้า บัดนี้เขารู้สึกนึกความผิดของตัว และยอมรับว่าความจริงโลกไม่ได้หมุน

เขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปเพื่อค้นคว้าหาความรู้ จึงไม่กล้าขัดคำสั่งของพระสังฆราช และยอมเซ็นหนังสือสารภาพตามคำแนะนำ เพราะเขาจำได้ว่าเมื่อ 16 ปีมาแล้ว มีนักคิดคนหนึ่งชื่อ ยอร์ดาโน บรูโน ชาวอิตาเลียน ได้ถูกศาลพระพิพากษาให้เผาทั้งเป็นกลางกรุงโรม เพราะได้แสดงความคิดเห็นกระทบกระเทือนถึงเดชานุภาพของพระเจ้า

กาลิเลโอได้ทำการค้นคว้าต่อไป และได้แต่งหนังสือขึ้นมาใหม่เล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นตำราดาราศาสตร์ที่ดีที่สุดในสมัยนั้น เป็นการค้นพบสิ่งที่ยังไม่มีใครพบ และเกี่ยวข้องกับโลกหมุน เป็นธรรมดาของนักค้นคว้าที่เมื่อค้นพบอะไรก็เก็บนิ่งไว้ไม่ได้ ต้องแสดงออกมาให้คนเห็น เขาถูกศาลพระเรียกตัวอีกครั้งหนึ่งเมื่อหนังสือนี้ได้เผยแพร่ออกไป

กาลิเลโอ กำลังป่วยมากขณะที่ได้รับหมายเรียกในครั้งนี้ และเขาจะต้องไปที่กรุงโรม แพทย์ได้ทำรายงานว่า ถ้าให้เดินทางไปกรุงโรม ก็กลัวว่าจะเป็นอะไรไปเสียก่อน แต่ทางศาลพระก็บอกว่าต้องเอาตัวไปให้ได้ แม้จะต้องหาม หรือเอาโซ่ผูกคอลากไปก็ตาม

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2176 ซึ่งเป็นฤดูหนาว กาลิเลโอต้องเดินทางไปกรุงโรม ในขณะนี้เขามีอายุ 69 ปี การพิจารณาคดีในครั้งนี้ กินเวลาถึง 6 เดือน เขาต้องลงนามในคำสารภาพอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 22 มิถุนายน เป็นข้อความว่า

“ข้าพเจ้าขอสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ข้าพเจ้าละทิ้งและเกลียดชังความคิดเดิมของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสารภาพว่า เป็นความมักใหญ่ใฝ่สูงและความโง่เขลาของตนเอง ข้าพเจ้าขอสาบาน ณ บัดนี้ว่า โลกไม่ได้หมุนเลย”

พวกเพื่อนๆ ประคองตัวกาลิเลโอออกมาจากศาล เมื่อได้เซ็นคำสารภาพนี้เสร็จแล้ว เขาได้กระซิบกับเพื่อนเมื่อพ้นห้องพิจารณาว่า “ที่จริงมันหมุน”

การลงนามในคำสารภาพครั้งที่สอง เป็นแต่เพียงการลดหย่อนผ่อนโทษเท่านั้น และไม่ได้ทำให้เขาพ้นโทษ เขาต้องจำคุกโดยไม่มีกำหนด โดยมีคำพิพากษาของศาลดังนี้

“ในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูคริสต์ และของพระมารดามารีพรหมจารีผู้รุ่งโรจน์ เราขอประกาศว่า หนังสือของกาลิเลโอเป็นหนังสือต้องห้าม และลงโทษผู้เขียน ให้จำคุกไว้เป็นเวลาไม่มีกำหนด สุดแต่เราจะเห็นสมควร”

กาลิเลโอได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า “กฎของการหมุน” เขาต้องเขียนอย่างซ่อนเร้นระหว่างที่อยู่ในคุก เขาลอบส่งต้นฉบับออกไปทีละน้อย และหนังสือเรื่องนี้ก็ได้พิมพ์ขึ้นที่ประเทศฮอลันดา

กาลิเลโอ ตาบอดทั้งสองข้างเนื่องจากเกิดการเจ็บป่วยที่นัยน์ตาระหว่างอยู่ในคุก 4 ปี และในปี พ.ศ. 2180 เมื่อเขามีอายุได้ 73 ปี เจ้านคร ทุสกานี ได้ร้องขอต่อพระสังฆราชให้เอาตัวเขาออกจากคุก และรับรองว่าจะเอาไปกักกันไว้เอง และได้รับการอนุญาตจากพระสังฆราช ต่อมาในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2185 เขาก็ได้ถึงแก่กรรมลง เมื่อมีอายุได้ 78 ปี

ที่มา:พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ