การไหว้ทำความเคารพอย่างไทย

Socail Like & Share

การไหว้เป็นวิธีการแสดงความเคารพที่ทำกันอยู่เป็นปกติ แต่อาจไม่เป็นท่าที่แสดงความเคารพอย่างแท้จริงได้ ถ้าการไหว้นั้นทำด้วยความสะเพร่า ด้วยท่าทางที่หลุกหลิกทำเล่น ไม่ได้ตั้งใจ บางคนก็แสดงความนอบน้อมเสียจนเกินเลย ดูไม่น่าเชื่อว่าจะเคารพกันจริงๆ

การที่เราจะไหว้ใคร การเคารพนั้นก็ต้องเกิดจากน้ำใจที่แท้จริง ต้องคิดในใจเสมอว่าต้องสำรวมกาย และต้องเพ่งอยู่ที่ผู้ที่เราเคารพ ทำให้ผู้นั้นรู้สึกและรับรู้ว่าเราเป็นมิตร หรือรักใคร่เอ็นดู

ถ้าไม่มีความตั้งใจที่จะไหว้เพื่อแสดงความเคารพ ก็อย่าทำเสียดีกว่า ซึ่งการไหว้ที่ถูกต้องมีดังนี้

การไหว้
อิริยาบถไหว้ ประนมมือทั้งสองข้าง ให้นิ้วชิดกัน ปลายนิ้วจรดกัน

สำหรับผู้ที่มีฐานะเสมอกัน หรือเป็นการรับไหว้ผู้น้อย ให้ยกมือขึ้นระดับเสมออก ไม้ต้องน้อมหรือก้มศีรษะ หรืออาจก้มเล็กน้อย

สำหรับผู้ที่มีฐานะเสมอกัน หรือผู้มีอาวุโสกว่า ให้ยกมือขึ้นระดับเสมอจมูก สำหรับผู้ที่อาวุโสมาก ขณะไหว้ให้น้อมตัวและก้มศีรษะลงไป ขณะไหว้ให้ปลายนิ้วจรดจมูก ผู้ที่มีอาวุโสกว่าก็ควรจะรับไหว้เสมอ

สำหรับพระภิกษุหรือพระพุทธรูป ให้ยกมือขึ้นจรดหน้าผาก ไหว้ตรงๆ ไม่เอียงซ้ายเอียงขวา

การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่กับพื้น
หากเคารพผู้ที่มีอาวุโสพอควร ให้นั่งพับเพียบเก็บเท้า ยกมือไหว้พร้อมกับน้อมตัวก้มศีรษะ

การแสดงความเคารพเมื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้
ให้ไหว้ตามธรรมดา ถ้าผู้ที่เคารพมีอาวุโสน้อย แต่ถ้าเป็นผุ้ที่มีอาวุโสมาก ก็ควรหันไปน้อมตัวไหว้ แล้วนั่งโดยประสานมือกัน

หากผู้ทำความเคารพยังไม่ได้นั่งที่เก้าอี้ ก็ให้เดินไปนั่งเก้าอี้เสียก่อนแล้วจึงค่อยไหว้ทำความเคารพ

จะเป็นการแสดงความเคารพอย่างไทยที่ถูกต้องหากทำได้เช่นนี้ จะเกิดความเลื่อมใสจากผู้รับไหว้ ว่าเราแสดงความนับถือเขาอย่างจริงใจ ดังนั้น จึงไม่ควรแสดงความเคารพ ถ้าขาดการสำรวมกายและใจ

ที่มา:จากหนังสือเรื่อง มรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์