อิริยาบถต่างๆ ที่ถูกต้อง

Socail Like & Share

มารยาทงามไม่ได้หมายถึง การแสดงออกได้ถูกต้องเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงการแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า หน้าตา ทรงผม และอาภรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอดี

อิริยาบถสำคัญต่างๆ รวมถึงการยืน เดิน นั่ง คลาน การแสดงความเคารพ การเข้าพบผู้ใหญ่ การส่งและรับของ และการเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ที่จะนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องงดงาม และเป็นตัวอย่างของคนรุ่นต่อๆ ไป

อิริยาบถของผู้ชาย จะต้องไม่เป็นการฝืน แม้ในเวลาเดิน นั่ง และยืน ตัวต้องตรง และนอบน้อมเมื่อถึงเวลาอันสมควร แม้ในท่าที่สบายที่สุดก็ต้องมีความสุภาพ ไม่หัวเราะ หลุกหลิก หันหน้าหันหลัง หรือเหลียวซ้ายแลขวา หากใครเห็นเข้าว่าเป็นอย่างนี้ก็ต้องติว่าเป็นกิริยาที่ไม่ดี และถ้ามีความกระดากอายอยู่ในนิสัยใครก็นับว่าดี ความอายมีความหมายกว้างๆ ว่า อายในการแต่งตัวไม่สุภาพเรียบร้อย และอายในการประพฤติผิด

ผู้มีมารยาทงาม หมายถึง ผู้ที่ไม่หลุกหลิกลุกลน แต่อย่าเข้าใจผิดว่าต้องเป็นคนเชื่องช้า สงบเสงี่ยม ไม่พูดคุยเลย

นักเรียนคนหนึ่งที่ชื่อสุจิตรา ครูอาจารย์ต่างก็ชมเชยในมารยาทงามของเธอ แม้ขณะที่เธอยืนก็น่าดู

การยืนของสุจิตรานั้นอยู่ในลักษณะสุภาพ อยู่ในท่าสบาย แต่ขาชิด ตัวตรง แขนทอดลงตามสบาย ในบางครั้งก็ยืนเอียงตัวเล็กน้อยพองาม ไม่หันหน้าหันหลัง หรือแกว่งแขนไปมา เมื่อพูดกับใครก็ไม่เข้าไปชิดใบหน้าของผู้ที่พูดด้วยเกินไป ไม่ใช้นิ้วเป็นท่าทางประกอบคำพูด ไม่หัวเราะเสียงดัง ไม่เคี้ยวหมากฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือในที่อื่นๆ

เมื่อยืนต่อหน้าครู หรือผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่าเธอ สุจิตราจะยืนตรง ขาชิด ปลายเท้าแยกห่างจากกันเล็กน้อย มือแนบข้างลำตัวทั้งสองข้าง หรือน้อมตัวตั้งแต่เอวขึ้นไปเล็กน้อย มือประสานกันไว้ข้างหน้าในท่าสุภาพ มือคว่ำวางซ้อนกัน จะวางมือซ้ายทับมือขวา หรือมือขวาทับมือซ้ายก็ได้แล้วแต่ถนัด หรือจะใช้วิธีหงายมือทั้งสองข้างแล้วสอดนิ้วประสานกัน

ถ้าฝึกยืนแบบสุภาพได้ดีแล้ว ก็จะมีประโยชน์มาก เพราะสามารถนำไปใช้ได้ตลอดแม้กระทั่งการยืนหน้าที่ประทับ ถ้าต่อหน้าผู้มีอาวุโสมากก็ควรน้อมตัวลงมากหน่อย แต่ถ้าอาวุโสน้อยก็ให้โค้งลงพอสมควร ให้ดูพองาม

สำหรับผู้ชาย จะใช้มือประสานกันก็ได้ หรือจะยืนในท่าตัวตรง มือแนบขนานกับลำตัว รวมปลายนิ้วมือชิดชายเสื้อนอก หรือจรดส่วนหนึ่งของกางเกงที่สวม ปลายเท้าทั้งสองข้างแยกออกเล็กน้อย

วิบูลย์ รับหน้าที่เดินนำเสด็จฯ องค์อุปการะของโรงเรียน และตามเสด็จฯ ใครๆ ก็พากันสนใจเขา แม้วิบูลย์จะไม่ได้เป็นหัวหน้าชั้น แต่อาจารย์ใหญ่ก็เลือกเขาให้ทำหน้าที่นี้ เพราะเขามีความเรียบร้อย และมารยาทที่ดีงาม และเป็นนักเรียนที่เก่าแก่ที่สุดของโรงเรียนด้วย จึงได้รับการไว้วางใจในเรื่องนี้

อาจารย์ใหญ่บอกกับวิบูลย์ว่า
“เธอจะต้องฝึกหัดไว้บ้าง”
“และต่อไปจะได้เกิดผลดีสำหรับตัวเธอเอง วันนี้เธอเดินนำและตามเสด็จฯ พระบรมวงศานุวงศ์ แต่วันหน้าเธออาจต้องเดินนำและตามเสด็จฯ องค์พระมหากษัตริย์ หรือพระมเหสี เธอจะได้ทำได้งามถูกต้อง ไม่เสียทีที่ได้รับการฝึกหัดมาจากโรงเรียนของเรา”

อาจารย์ใหญ่กล่าวต่อว่า
“เธอจะต้องเดินนำเสด็จฯ ในหน้าที่มัคคุเทศก์ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรอาคารใหม่ๆ ของโรงเรียน และภาพยนตร์ที่เราจะจัดฉายถวายในห้องโถงใหญ่ของโรงเรียน”

อาจารย์ให้วิบูลย์ลองเดินหน้า ด้านซ้ายของพระองค์ท่าน มีระยะห่างพอสมควรในขั้นแรก เพื่อจะได้พอฟังคำรับสั่งได้ยิน

“ถ้าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินและมีลาดพระบาท(พรม)ปู เธอจะต้องไม่เหยียบลาดพระบาทเลยเป็นอันขาด ต้องเดินอยู่แต่ข้างนอกเท่านั้น”

วิบูลย์เดินเอียงตัวเล็กน้อยมาทางองค์ประทานของโรงเรียน เพื่อจะได้สังเกตว่า หากพระองค์ท่านประสงค์จะประทับยืน ก็จะได้หยุดทันท่วงที

“ก้มนิดหน่อย ค้อมส่วนบนลงเล็กน้อย” อาจารย์สั่ง
“มือทั้งสองประสานกัน อย่างนั้น! ยกมือขึ้นเหนือแนวเข็มขัดเล็กน้อย”

“เอาละ….เมื่อพระองค์ท่านเสด็จถึงที่ประทับ ที่ทางโรงเรียนจัดไว้อัญเชิญให้ประทับ เธอจะเดินผ่านไป แล้วจึงหันมาถวายคำนับทางที่ประทับ เท่ากับเธอกราบทูลว่า ถึงที่ประทับแล้ว เมื่อเธอจะถอยออกไป ถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง และก่อนที่เธอจะไปนั่งที่ของเธอ ต้องถวายคำนับอีกครั้งหนึ่ง”

การถวายคำนับแบบชาย คือ ยืนตรงมือทั้งสองข้างแนบลำตัว แล้วก้มตัวลงต่ำ ซึ่งวิบูลย์ก็ทราบอยู่แล้ว

“ส่วนการเดินตามเสด็จฯ นั้น เธอต้องสำรวมมาก เพราะต้องมองตรงเสมอ ไม่มีการยิ้มหัวทักทาย หรือหยุดทำความเคารพ พูดคุยกับคนอื่นอย่างเด็ดขาด” อาจารย์สอน

“เธอจงเดินในลักษณะที่เดินกับผู้ใหญ่ คือ เดินเบื้องหลังพระองค์ท่าน เดินอย่างสุภาพไม่หลุกหลิกเลย และไม่เอาใจใส่กับใครทั้งสิ้น นอกจากผู้ที่กำลังดำเนินอยู่ข้างหน้าเท่านั้น”

งานที่อาจารย์ใหญ่มอบให้วิบูลย์ก็ปฏิบัติได้สมกับความไว้วางใจ เขายังได้นำความรู้ไปสอนให้กับน้องๆ ที่บ้าน เพื่อนๆ ก็พากันชมเชยในความสุภาพเรียบร้อยของเขา และอยากจะทำเหมือนเขาบ้าง วิบูลย์เต็มใจสอนให้ทุกคน แต่ทุกคนก็บอกว่าวิบูลย์สามารถทำได้ดีกว่า

นับตั้งแต่นั้น การฝึกหัดความเป็นผู้มีมารยาทงามแบบวิบูลย์ก็แพร่หลายไปทั่วบ้านอย่างรวดเร็ว น้องสาวของเขาที่ชื่อวนิดา ก็สนใจไปขอความรู้จากพี่ชายอยู่บ่อยๆ

“คุณแม่บ่นว่านิดนั่งไม่สวน บางทีก็เขย่าขา บางทีก็โยกเก้าอี้ พุทโธ่! นิดเคยชินเสียแล้วค่ะนิสัยอย่างนี้น่ะ จนคิดว่าแก้ไม่หาย แต่ถูกคุณแม่เอ็ดหลายหน จึงอยากลองแก้สักพัก” วนิดาบ่น

“เวลานี้นิดก็นั่งสวยนี่จ๊ะ” วิบูลย์ชม
“นิดนั่งอย่างนี้เรียกว่า นั่งตามลำพัง เพราะพี่สมมติว่าตัวพี่ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องนี้นะ นิดกำลังนั่งพับเพียบอย่างสุภาพดีมาก สังเกตตัวเองนะ นิดยืดตัวแต่ไม่ต้องเก็บปลายเท้า มือวางบนตัก จะเท้าแขนก็ได้ แต่เวลาเท้าแขนอย่าเอาข้อพับหน้าแขนมาไว้ข้างหน้า เอาปลายมือมาไว้ข้างหน้าแทน ส่วนผู้ชายอย่างพี่เขาห้ามเท้าแขนเพราะดูเป็นผู้หญิง พี่จึงนั่งปล่อยแขนเฉยๆ ได้ หรือนิดจะเอามือวางไว้บนตักก็ได้ ถ้าไม่ชอบเท้าแขน อย่าเหยียดเท้าให้ยาวนักจ้ะ”

วนิดาหัวเราะชอบใจ
“ถ้าสมมติว่านิดนั่งอยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่ล่ะคะ จะทำอย่างไร?
“นั่งคนเดียว นิดอาจทำได้ แต่ถ้ามีคนอื่นแล้วมันคอยแต่จะผิดอยู่ร่ำไป”

“นั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ ก็ใช้วิธีนั่งพับเพียบเหมือนกับนั่งตามลำพังน่ะแหละนิด แต่ควรน้อมตัวเล็กน้อย ข้อสำคัญคือต้องเก็บปลายเท้าไม่ให้ยื่นออกมา มือทั้งสองประสานกันบนหน้าขาเหนือเข่า ก้มตัวลงมาเล็กน้อยอย่างนั้น หรือจะก้มมากจนกระทั่งข้อศอกวางอยู่บนตัก และมือที่ประสานกันล้ำออกมาเล็กน้อยจากปลายเข่าที่พับเพียงอยู่ก็ได้ แล้วแต่นิดจะต้องการแบบใด อ้าว! อย่าก้มหน้ามองแต่พื้นสิจ๊ะ เพราะนิดต้องสมมติว่ากำลังพูดกับท่าน หรือฟังท่านพูด ต้องมองท่านพูดด้วยจ้ะ นอกจากถ้าท่านสั่งสอน จะก้มหน้านิดๆ ไม่ต้องจ้องเป๋งตลอดเวลาก็ได้”

“อ๋อ นิดเข้าใจแล้วละค่ะ” วนิดาพูด

“ความจริงก็ไม่ยากอะไรเลยนะคะ อาศัยที่คนอื่นทำให้ดู และมีคนสอน แหม! นิดนี่โชคดีจริงที่มีพี่ช่วยสอน เอ! พี่คะ ไอ้การนั่งลงศอกที่คุณครูของพี่เคยพูดๆ น่ะ แปลว่าอะไรคะ นิดนึกภาพไม่ออกสักที นั่งลงศอกๆ”

“ไม่ยากเลยแหละน้อง” วิบูลย์พูด
“แต่การนั่งลงศอกเป็นอิริยาบถที่ใช้กับผู้มีอาวุโสมาก และใช้ในเวลาที่นั่งเก้าอี้”

“อ้าว ถ้าเผื่อไม่นั่งเก้าอี้ แต่ต้องนั่งพื้นล่ะคะ จะใช้วิธีนั่งลงศอกได้หรือเปล่าคะ?” วนิดาขัดขึ้น

“ได้จ้ะ ถ้านั่งบนพื้น ใช้วิธีนั่งพับเพียบเก็บปลายเท้า น้อมตัวลงต่ำ แต่เงยหน้าเล็กน้อย วางส่วนแขนลงบนหน้าขา มือทั้งสองประสานกัน วิธีนี้ไม่นิยมการวางศอกลงบนพื้น นอกจากว่าอีกมือหนึ่งจะทำงานไปด้วย เช่นกวาดพื้นเฉพาะตรงนั้น ก็ลงศอกซ้ายบนพื้น มือขวาใช้ทำกิจธุระตามที่จำเป็น”

วิบูลย์ลงจากเก้าอี้มาทำท่าให้น้องสาวดูตลอดเวลา วนิดาทำได้ดีอย่างไม่มีที่ติเมื่อเธอทำตามเพียงสองครั้งเท่านั้น

“เอาละค่ะ ขอบพระคุณที่มากที่สุด เย็นนี้นิดจะทำให้คุณแม่แปลกใจทีเดียว เราจะมีแขกผู้ใหญ่มาหาตอนค่ำ คุณแม่ไม่ชอบให้นิดขึ้นไปนั่งเก้าอี้เสมอกับท่านอยู่แล้ว นิดจะใช้วิธีนั่งตามแบบที่พี่สอนให้ และจะไม่ยอมให้ท่านบ่นได้อีกเลยค่ะ ว่านิดนั่งไม่สวย”

“ดีมาก แต่พี่ขอเตือนอีกหน่อยนะ นิดยังหัวเราะเก่ง และคุยเสียงดังเกินไป….”

“แต่ถ้าแขกมา นิดก็ลดเสียงลงได้ค่ะ และกลั้นหัวเราก็ได้”
“พี่ว่าถึงแขกไม่มา นิดก็ควรหัดเสีย เพราะนิดเป็นผู้หญิงต้องงามหมดทุกอิริยาบถ ไม่ใช่สักแต่รู้ว่าทำอย่างไร แต่ทำไม่ได้ดีครบทุกอย่าง”

“ค่ะ นิดจะพยายาม อ้อ! ต้องไม่ลืมเปลี่ยนกางเกงเสียด้วย คุณแม่เกลียดนัก เรื่องลูกสาวนุ่งกางเกงให้แขกเห็น”

ขณะที่น้องสาววิ่งขึ้นไปปฏิบัติตามคำที่เธอพูด วิบูลย์ก็หัวเราะ และอดที่จะรู้สึกอิ่มใจนิดๆ ไม่ได้

ที่มา:จากหนังสือเรื่องมรรยาทงาม ของ ผกาวดี อุตตโมทย์