การป้องกันและกำจัดหนูในไร่นา

Socail Like & Share

หนูจัดว่าเป็นศัตรูพืชที่สำคัญมากชนิดหนึ่ง ของมนุษย์มาแต่สมัยโบราณ เนื่องจากมันทำลายพืชผลตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ และยังเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์ได้อีกการกำจัดหนูด้วย การที่หนูสามารถมีชีวิตอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งที่มนุษย์ทำการป้องกันและกำจัดอยู่ตลอดเวลา ก็เพราะว่าหนูเป็นสัตว์ที่ฉลาดและมีประสาททุกอย่าง(ยกเว้นประสาทตา) ดีเลิศ สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา หนูบางชนิดอาจทำรังอยู่ในรู บนต้นไม้หรือตามที่ลี้ลับและปลอดภัย หนูกินอาหารไม่เลือกเมื่ออดอยาก และสามารถผสมพันธุ์และให้ลูกหลายได้รวดเร็วมาก คือ หนูอายุประมาณ ๒-๓ เดือน ให้ลูก ๒-๓ ครอกๆ ละ ๘-๑๒ ตัว หนูท้องขาวให้ ๓-๕ ครอกๆ ละ ๘-๑๔ ตัว แต่หนูหริ่งให้ ๓-๔ ครอกๆ ละ ๕-๘ ตัว เป็นต้น ฉะนั้นโดยเฉลี่ย หนู ๑ คู่ สามารถเพิ่มจำนวนได้ถึงกว่า ๑,๐๐๐ ตัว ภายในเวลา ๑ ปี และหนูยังเป็นสัตว์ที่สามารถโยกย้ายหรืออพยพจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่น ขาดแคลนอาหารเป็นต้น

ในฤดูแล้งพืชที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากขาดแคลนน้ำทำให้หนูซึ่งอาศัยอยู่ในท้องที่เหล่านั้นขาดแคลนอาหารธรรมชาติ มันจะเริ่มโยกย้ายไปรวมกลุ่มกันตามแหล่งที่มีอาหาร เช่น บริเวณใกล้บ้านเรือน ยุ้งฉาง บริเวณที่มีการปลูกพืชครั้งที่ ๒ เป็นต้น ระยะเวลาดังกล่าวนี้นับว่าสะดวกต่อการเริ่มทำการกำจัดหนูอย่างยิ่ง เนื่องจากหนูขาดแคลนอาหารธรรมชาติ สะดวกต่อการวางเหยื่อกำจัดหนู ควรที่เกษตรกรทุกคนจะได้ร่วมมือกันกำจัดหนู เพื่อลดปริมาณของหนูให้ต่ำล่งและปลอดภัยต่อพืชผลของเกษตรกร

การสังเกตร่องรอยของหนู
การที่จะทราบว่าหนูในไร่นามีมากหรือน้อย สังเกตได้ดังนี้
๑. ทางเดินของหนูและทางผ่านไปตามบริเวณหญ้าหรือที่รกๆ

๒. รอยเท้าของหนูในที่ดินโคลนหรือดินเปียก
๓. รูหรือรังหนูตามพื้นดินหรือคันนา
๔. ขี้หนูตามทางเดินหรือบนพื้นดิน
๕. ความเสียหายของพืชผลที่มองเห็น

หากบริเวณใดมีร่องรอยของหนูดังกล่าวมาก ก็แสดงว่าไร่นาบริเวณนั้นมีหนูมาก หากร่องรอยมีน้อยก็แสดงว่ามีหนูน้อย แต่จะมีหนูน้อยหรือมากก็ตาม ต้องรีบทำการป้องกันและกำจัดโดยเร็ว เพราะหนูจำนวนเล็กน้อยนั้นสามารถเพิ่มจำนวนลูกหลานของมันได้รวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี