การที่จะเป็นนักเขียน

Socail Like & Share

นักเขียนก็เช่นเดียวกับนักละคร ดาราภาพยนตร์ นักเพลงและจิตรกร สร้างงานที่เขาเห็นว่าจะนำความเพลินตาเพลินใจมาให้แก่ตนเองและผู้อื่น บางคนเป็นนักเขียนโดยไม่ตั้งใจ และโดยไม่เคยเล่าเรียนวิชาการประพันธ์มาก่อน อย่างเช่น โคแนลดอยล์ เดิมเรียนจะเป็นแพทย์ กลายเป็นนักเขียน นวนิยายเชิงสืบสวน เรื่องนักสืบเชอร์ล็อคโฮม ซึ่งเป็นชุดนวนิยายการสืบสวนที่ยังหาที่เทียบไม่ได้จนทุกวันนี้ โธมัส ฮาร์ดี เรียนทางสถาปัตยกรรมตั้งใจจะเป็นช่างก่อสร้าง กลายเป็นนักเขียนนวนิยายชีวิต ที่คนอ่านยังนิยมอยู่จนทุกวันนี้ ดอกไม้สด เดิมเป็นครู เริ่มเขียนเรื่องเพื่อความเพลิดเพลินของตนเอง นักเขียนแล้วกลายเป็นนักประพันธ์สตรีที่เขียนเรื่องชีวิตคนชั้นกลางและชั้นผู้ดีได้อย่างยอดเยี่ยม และมีอยู่หลายคนที่ตั้งใจจะเป็นนักเขียน ได้สนใจเล่าเรียนวิชาการประพันธ์ แต่ก็เขียนอะไรไม่ได้จนแล้วจนรอด หรือเขียนได้ก็ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องเป็นราวนัก

ดังนี้จึงเชื่อกันว่า การเป็นนักเขียนนั้นเป็นมาแต่กำเนิด มีพรสวรรค์ หรือมีหัวทางขีดเขียน ที่กล่าวดังนี้ก็เป็นการถูกต้อง แต่คนที่มีหัวในการเขียน ถ้าไม่ได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง ก็จะเขียนให้ดีได้ยาก คนที่ไม่มีหัวในการเขียน อาจสร้าง “หัว” ขึ้นได้ หากได้ศึกษาเล่าเรียนในเชิงการเขียนและมีความเพียรพอเพียง เพราะทุกคนย่อมมีแนวความคิด แนวความคิดนี่แหละ เป็นต้นทุนสำคัญของนักเขียน คนที่จะเป็นนักเขียนไม่ได้จริงๆ ก็คือคนที่ไม่มีแนวคิดเสียเลย

แต่งานเขียนเป็นงานแสนยาก ราวกับการไต่ผาสูงชัน คนที่ไม่มีใจชอบและขาดอดทน ไม่สามารถจะขึ้นไปยืนบนยอดผา มองเห็นทิวทัศน์อัน ตระการตาที่กระจายอยู่เบื้องล่าง

นักเขียนบางคนถือเอาการเขียนเป็นอาชีพโดยตรง ตั้งแต่เริ่มแรก ประกอบอาชีพทีเดียว ประเภทนี้มักจะต้องล้มลุกคลุกคลาน ใช้นํ้าลูบท้อง บางคนเป็นอย่างนี้อยู่นาน บางคนเป็นอยู่ตลอดชีวิต ตายแล้วจึงทำให้คนข้างหลังรวย บางคนพรวดเดียวก็ขึ้นถึงยอดเขาราวกับปาฏิหาริย์ แต่ใครก็ตามที่อยากเป็นนักประพันธ์ต้องทำใจให้รู้เสียแต่เบื้องต้นว่า จะต้องอดๆ อยากๆ ความทุกข์และความอดอยากนี่เป็นนํ้าทิพย์ของนักเขียน ศิลปะเยี่ยมๆ มักเกิดจากความเจ็บปวด

หลักสำคัญข้อแรก
หลักข้อต้นสำหรับนักเขียน คือ ความพิถีพิถัน นี่เป็นหลักสำคัญที่สุด สำหรับศิลปะทั่วไป การทำอะไรอย่างลวกๆ เอาแต่ได้นั้นเป็นปฏิปักษ์กับศิลปะ การที่จะต้องพิถีพิถันนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ พิถีพิถันในทางคิด กับการพิถีพิถันในการเขียนต้นฉบับ
เมื่อท่านเขียนเรื่อง ท่านก็อยากให้คนอื่นอ่านหรือพูดกันให้สั้นเข้า ก็คือเขียนส่งให้หนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ เรียกว่า การทำต้นฉบับ ผู้ที่จะ เขียนเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ ต้องถือว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และเป็นการแสดงว่าท่านเข้าใจการเขียนอย่างเป็นอาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่นักเขียนหน้าใหม่จะต้องทำต้นฉบับให้ถูกต้องตามหลักอาชีพการประพันธ์ ไม่ใช่หยิบกระดาษอะไรได้ก็ลงมือเขียน เขียนแล้วใครจะอ่านออกหรือไม่ก็ช่าง ถ้าเป็นดังนี้ ก็อาจพูดได้ว่า ไม่มีวันที่ท่านจะเข้าไปอยู่ในโลกการประพันธ์ได้ สำนักพิมพ์บางแห่งไม่ยอมอ่านต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ เพราะฉะนั้นต้นฉบับที่เป็นพิมพ์ดีดดีที่สุด เพราะเจ้าของจะมีสำเนาไว้กับตนเอง หากฉบับที่ส่งไปเกิดสูญหายขึ้น ในการพิมพ์นั้นถ้าไปจ้างเขาพิมพ์ให้ก็ตกหน้าละประมาณ ๑๕ บาท ฉะนั้นนักเขียนอาชีพโดยมากจึงต้องพิมพ์ดีดเป็น สมัยก่อนนักเขียน เขียนเรื่องฟรีทางหนังสือพิมพ์ลงเรื่องให้ก็ดีเกินไปแล้ว ดังนั้นท่านจะเขียนลายมือยุ่งๆ อย่างไรก็ได้ แต่ถ้าจะเขียนเพื่อขาย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำต้นฉบับให้เรียบร้อย นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก

พิถีพิถันในเรื่องความคิด
ศิลปินไม่ว่าในทางไหน ย่อมสร้างงานเพื่อให้คนชอบคนชม คนเราจะชมกันได้ในเรื่องหลายอย่าง แต่ในการประพันธ์ เขาชมกันในเรื่องแนวคิด การที่จะคิดให้ลึกให้กว้าง และให้มีแนวใหม่นั้น เราจะคิดลวกๆ ไม่ได้ กุสตาฟ ฟลอแบรต์ นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศส บางทีคิดอยู่ตั้งหกเจ็ดวัน เพื่อหาประโยคเดียวที่จะบรรยายในเรื่องของเขา นี่คือคิดหาถ้อยคำ ยังเรื่องความคิดเกี่ยวกับอารมณ์ จิตใจมนุษย์ เช่น เรื่องความรัก ความแค้น อะไรเหล่านี้ ต้องดูลงไปให้ซึ้งถึงนํ้าใจของมนุษย์ เมื่อจะพูดถึงรูปร่างลักษณะ กิริยาท่าทีของตน ก็พิถีพิถันดูให้เห็น จับลักษณะที่เด่นให้ได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกตและตาไวที่จะจับลักษณะที่เด่นของสิ่งทั้งหลาย เรื่องนี้ฝึกยากสักหน่อย แต่ไม่มีอะไรง่ายสำหรับศิลปิน มันจะง่ายเมื่อท่านบรรลุความเป็นศิลปินแล้ว กว่า “ยาขอบ” จะเขียน ผู้ชนะสิบทิศ ได้ ก็ต้องจนและต้องทรมานตัวอยู่นาน

มีเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก คือนักเขียนต้องเป็นตัวของตัวเอง ทั้งในเชิงการประพันธ์ และในชีวิตจริงของตัวเอง ในเชิงความเป็นตัวของตนเองนั้น ทำให้เรามักเห็นนักเขียนเป็นคนหยิ่งๆ ทั้งนี้เพราะความเป็นตัวของ ตัวเองแสดงออกมาแรงเกินไป ถึงแม้นักเขียนจะต้องอ่านนวนิยาย หรือ วรรณกรรมของนักเขียนอื่น แต่เขาก็จะไม่ลอกแบบของคนอื่น อย่าง “ไม้เมืองเดิม” เขียนเรื่องแหวกแนวทั้งความคิดและสำนวน คนที่เขียนเอาอย่างเขาไม่อาจทำได้ดีเลย นักเขียนต้องเป็นเอกอิสระในตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกันต้องรู้จักแลเห็นลักษณะดีของนักเขียนอื่นด้วย

ในวงการของการประพันธ์

ในหมู่นักเขียนนั้น อาจแยกออกตามหน้าที่ได้เป็น ๓ พวกคือ
๑. พวกเจ้าหน้าที่ประจำ (Permanent Staff) คือพวกนักเขียนที่อยู่ ประจำสำนักงานหนังสือพิมพ์ พวกนี้ถ้าพูดตามทางธุรการ ก็ต้องอยู่กับหนังสือพิมพ์นั้นๆ จริงๆ จะเขียนให้หนังสือพิมพ์อื่นไม่ได้

๒. พวกส่งเรื่องประจำ (Permanent Contributor) คือพวกที่สัญญา กับหนังสือพิมพ์ว่า จะส่งเรื่องให้เดือนละกี่เรื่อง หรือกี่หน้า มีข้อตกลงกันในเรื่องค่าเขียน นักเขียนประเภทนี้อาจทำสัญญากับหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับก็ได้

๓. พวกไม่มีสังกัด (Free Lance) ในภาษาอังกฤษแปลตามตัวว่า พวกหอกอิสระคือ ไม่เป็นลูกแถวทองกองทัพไหน เขาเปรียบหอก (Lance) กับปากกา พวกนี้เขียนเรื่องแล้วเสนอขายให้สำนักพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์

ผู้เริ่มเขียนมักจะเป็นพวกไม่มีสังกัด เพราะถ้าใครจะรับเราเข้าสังกัด เขาก็ต้องได้เห็นฝีไม้ลายมือของเราเสียก่อน อีกประการหนึ่ง ในการประพันธ์นั้น มีคติของพวกนักประพันธ์เก่าๆ เตือนไว้ด้วยความเวทนาว่า ใครจะเป็นนักเขียน ควรหาอาชีพอะไรให้เป็นหลักฐานเสียก่อน การแต่งเรื่องในชั้นต้น ควรทำเป็นงานอดิเรก หรือเรียกตามสำนวนไทยๆ ว่าเป็นการหาลำไพ่พิเศษ และพวกที่เขียนเป็นงานอดิเรกนี้ ภายหลังกลายเป็นนักเขียนอาชีพก็มีตัวอย่างอยู่หลายคน คือแปลว่าชื่อของตนติดตลาดและงานของตนราคาดี

ผู้ที่สนใจในการประพันธ์ หากได้เข้าทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ ทางของท่านก็จะตรงยิ่งขึ้น เพราะท่านจะได้ฝึกการเขียนไปในตัว และมีเงินเดือนประจำ การที่จะเข้าทำงานหนังสือพิมพ์นั้น ถึงแม้เขาจะเชื่อถือผู้ที่เคยงานหนังสือพิมพ์มากกว่าเชื่อถือประกาศนียบัตรหรือปริญญาทางวารสารศาสตร์ก็ตาม ต่อไปผู้ที่ได้ศึกษาวิชาการหนังสือพิมพ์ และได้รับประกาศนียบัตรรับรองจะมีโอกาสมากขึ้น

การทำงานหนังสือพิมพ์นั้น ท่านก็อาจเป็นนักข่าว เป็นผู้เขียนข่าว เขียนบทนำ เขียนสารคดีเชิงข่าว เขียนคอลัมน์ ตรวจปรู๊ฟ จัดหน้า ทั้งนี้ แล้วแต่ความถนัด หรือตามที่เขาจะมอบหมายให้ทำ เขาว่ากันว่างานหนังสือพิมพ์นั้น ใครเข้าไปได้กลิ่นหมึกก็ติด เช่นเดียวกับคนที่เล่นการเมือง ส่วนใครจะไปได้ดีแค่ไหนก็แล้วแต่ความสามารถของตนเอง

หากท่านไม่ได้ทำงานในสำนักงานหนังสือพิมพ์ ท่านก็อาจเป็นนักเขียน อิสระ คือเขียนเรื่องส่งหนังสือพิมพ์ ซึ่งอาจทำโดยมีสัญญากัน หรือซื้อขายกันเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องสัญญานี้เขามักทำกับนักเขียนที่มีชื่อเสียงแล้ว การเขียนเรื่องเพื่อขายนั้น ก็มีเรื่องอยู่หลายชนิด ดังต่อไปนี้

นวนิยาย เป็นบันเทิงคดีหรือเรื่องอ่านเล่นขนาดยาวประมาณ ๑๐๐ หน้า (หน้าละ ๒๕ บรรทัด) ขึ้นไป หรืออาจเป็นอนุนวนิยาย ราว ๕๐ ถึง ๑๐๐ หน้า การเขียนนวนิยายนี้ ออกจะยากสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ เพราะต้องใช้เวลามาก และเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าจะขายได้ แต่ถ้านักเขียนหน้าใหม่จะเขียนในเวลาว่าง จะจบเมื่อไรก็ได้ และเขียนทิ้งไว้เป็นการทดลองกำลังความสามารถของตนเองก็ควร การเขียนทิ้งไว้นี้เท่ากับเป็น “ของเก่า” เราอาจมีเวลาต่อเติมแก้ไข และถ้าเรามีชื่อเสียงแล้ว เราอาจเอา “ของเก่า” มาขายได้ อย่างเช่น นายโนโบกอฟ ที่ได้ชื่อเสียงจากเรื่อง โลลิตา ต่อมางัดเอาเรื่องเก่าๆ ที่เขียนไว้ตั้งแต่อายุ ๒๒ มาขายได้เงินดีเสียด้วย

นวนิยายที่เขียนกันอยู่บัดนี้ เป็นพวกเขียน “ผ่อนส่ง” เสียโดยมาก คือนักเขียนกำหนดโครงเรื่องไว้ (บางคนก็ไม่กำหนด แล้วแต่เหตุการณ์จะ พาไป) เขียนตอนแรกๆ สองสามบท หรืออาจถึงสิบบทให้หนังสือพิมพ์ เมื่อหนังสือพิมพ์รับไว้ ตกลงกันแล้วก็เขียนส่งเป็นงวดๆ ไป เวลานี้นวนิยายที่มีคนติดก็กลายเป็นละครวิทยุ เป็นภาพยนตร์ เป็นรายได้พิเศษของเจ้าของเรื่องเพิ่มขึ้น

เรื่องสั้น คือเรื่องบันเทิงคดีหรือเรื่องอ่านเล่นสั้นๆ ประมาณ ๗ หน้า ถึง ๔๐ หน้า เหมาะที่สุดสำหรับผู้ที่เริ่มเขียนเรื่อง ว่าถึงการขายก็ง่าย เวลา ที่ใช้ในการเขียนอาจจะจบในวันเดียวได้ หากเราสามารถเขียนได้เดือนละ ๔ เรื่อง ก็อาจทำเงินได้ปานกลางพออยู่ได้สำหรับนักเขียน เพราะนักเขียนเมื่อยังไม่มีชื่อเสียง ต้องหัดเป็นคนกินน้อยใช้น้อย แต่ว่าต้องใช้หัวคิดมาก และทำงานมาก

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร