การทำบุญในวันลากพระ

Socail Like & Share


ในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ราษฎรพลเมืองก็เตรียมของทำบุญเรียกว่าทำต้ม (ทำข้าวต้ม) ทำวิธีต่าง ๆกัน คือ  ทำต้มด้วยข้าวเหนียวห่อด้วยใบกะพ้อ และบางทีก็ห่อด้วยใบตาลโตนดหรือใบมะพร้าวแล้วแต่ใครจะทำอย่างไรก็ได้  แต่ผลที่สุดเป็นข้าวต้มก็แล้วกัน

พอวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันปวารณาออกพรรษาและวันลากพระ  ชาวบ้านก็ทำบุญตักบาตรด้วยข้าวต้มนั้นเป็นพิธีครั้งที่ ๑ ในวันนั้น  พอตักบาตรพระแล้ว ในวันนั้นหยุดงานหยุดการหมด  ฤดูนี้บางจังหวัดถึงฤดูทำนา  แต่ชาวบ้านหยุดทำนาในวันนั้น  ต่างก็แต่งตัวอย่างเรียบร้อย  หาลูกพาหลานไปลากพระตามวัดที่ใกล้ ๆ

พอประมาณ ๙ น.  ชาวบ้านทั้งผู้หญิงผู้ชายมาช่วยลากพระจากวัดไปถึงที่หยุดซึ่งที่หยุดนั้นมักเป็นย่านกลางของวัดต่าง ๆ บางแห่งการลากไปรวมกันตั้ง ๓-๔ วัดก็มี  เช่นนี้เป็นการสนุกสนานมาก  ที่จะได้เห็นฝีมือการช่างทำรถลากด้วยฝีมืออันวิจิตร  ทั้งยังได้ฟังเสียงกลองดังสนั่นประชันแข่งขันกันไปด้วย  ราษฎรก็ต่างไปประชุมกันที่นั่นมาก  พระภิกษุสามเณรก็ออกจากวัดตามรถลากหรือบางทีนั่งบนรถลากไปประชุมให้ชาวบ้านทำบุญที่ลากพระไปหยุดนั้นด้วย  ที่พระไปหยุดบางแห่งมีศาลา  บางแห่งไม่มีศาลา แต่ก็ได้อาศัยร่มไม้เป็นที่ทำบุญ เรียกตามความเข้าใจของพลเมือง การที่ลากพระมาหยุดกันนั้นเรียกว่ามา “สมโภช”

พอเวลา ๑๑ นาฬิกาลากพระมาถึงพร้อมกันที่หยุด  ชาวบ้านก็ทำบุญตักบาตรถวายเข้าต้มพระอีกเป็นครั้งที่ ๒  และพระที่มาจากวัดก็มาฉันเพลที่นี้ด้วย

ระหว่างที่กำลังลากพระยังไม่ถึงที่หยุดนั้น  ชาวบ้านที่เอาข้าวต้มไปถวายพระ  ไม่ต้องการจะไปทำบุญตักบาตร ก็ทำเป็นพวงพากันไปแขวนไว้บนรถลาก  พวกศิษย์วัดก็เอาจัดแจงใส่ที่ไว้สำหรับนำไปถวายพระต่อไป  เรียกวิธีนี้ว่า “ต้มแขวนหน้าพระ”

ขณะที่กำลังฉันเพลนั้น  กลองที่กำลังตีแข่งกันอยู่นั้นก็หยุดจนพระฉันเพลแล้วเสร็จจึงเริ่มตีต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *