ตลาดจำหน่ายไก่และไข่

Socail Like & Share

การมีตลาดจำหน่ายไก่และไข่
ตลาดจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงไก่นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง เพราะผู้เลี้ยงไก่ก็ย่อมมีเป้าหมายที่จะขายสินค้าให้ได้ราคาดี มีกำไรเพื่อจะได้เป็นทุนสำรองส่วนหนึ่ง และมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ความเจริญในด้านการเลี้ยงไก่ให้เจริญรุดหน้าไป แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่มักประสพปัญหาราคาสินค้าในตลาดไม่แน่นอน ไม่มั่นคงแทบทั้งสิ้น จนทำให้ตลาดจำหน่ายไก่และไข่เกษตรกรที่มีทุนทรัพย์น้อย และดำเนินการไม่ถูกจังหวะ หรือโชคไม่ดีต้องเลิกล้มกิจการไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหมือนๆ กับกิจการเลี้ยงสัตว์หรือการเกษตรอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้อาจเนื่องมาจากนิสัยชอบเอาอย่างของเกษตรกร กล่าวคือเมื่อเห็นผู้ใดทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วได้กำไรดีก็เอาอย่างกัน เมื่อมีผู้ทำสิ่งของอย่างเดียวกันมาก แต่ความต้องการของตลาดมีจำกัด ราคาสินค้านั้นก็ตกลงเป็นของธรรมดา ผู้ดำเนินงานในระยะหลังโชคไม่ดีเพราะขาดทุนและไม่มีกำลังใจที่อยากจะทำต่อก็จำเป็นต้องล้มเลิกกิจการไป เช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่หรือการทำเกษตรกรรมอย่างอื่น ๆ

การหาตลาดที่สามารถจะขายไก่ และไข่ให้ได้ราคาดี ผู้ขายเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดจะต้องรู้ภาวะตลาด ใจเย็น มีความอดทนสูงพอ ประกอบกับความสามารถในการขาย ซึ่งเกษตรกรเราส่วนใหญ่ยังมีไม่มากนัก ถ้าหากเกษตรกรมีความเพียรพยายามฝึกฝนโดยเอาเยี่ยงพ่อค้าที่ประสพความสำเร็จบางคนแล้ว  ต่อไปก็คงจะเป็นผู้ขายที่ดีได้ ในที่นี้ ผู้เขียนขอยกข้อความบางข้อ ซึ่งเห็นว่าอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการขายสินค้ามาเสนอไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้ คือ

๑. สินค้าที่ขาย ควรมีคุณภาพดี ราคาพอสมควร หรือถูกกว่าตลาดเล็กน้อย

๒. สินค้านั้นมีจุดเด่นเป็นพิเศษ เป็นต้นว่า ไข่ฟองโตเป็นพิเศษ เปลือกไข่มีสีสวย หรือไข่แดงมีสีสรรน่าบริโภค มีความสม่ำเสมอ เป็นต้น

๓. ผู้ขายต้องรักษาชื่อเสียง พูดจาเชื่อถือได้ หรือมีสัจจะมีความซึ่อสัตย์ต่อลูกค้า

๔. สินค้ามีหลายชนิด หรือหลายขนาด ให้ผู้ซื้อได้เลือกตามความพอใจ

๕. ผู้ขายมีอัธยาศัยใจคอ ตลอดจนการพูดจามีความเป็นกันเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ซื้อ ทำตัวเป็นมิตรที่ดีต่อลูกค้า

๖. มีการให้บริการแก่ผู้ซื้อ เป็นต้นว่า ส่งของให้ถึงบ้าน เป็นต้น

๗. สถานที่ทำการค้า ควรจะอยู่ในแหล่งชุมนุมชน หรืออยู่ใกล้แหล่งชุมนุมชน  ซึ่งมีการคมนาคมได้สะดวกพอสมควร

๘. รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

๙. ผู้ขายต้องมีสุขภาพดี แต่งกายสะอาด

นอกจากที่เกษตรกรจะทำตนเป็นผู้ขายแล้ว ควรจะทำตัวเป็นผู้ซื้อที่ดีด้วย กล่าวควรจะซื้อเฉพาะของที่จำเป็นต่อการครองชีพ ไม่จ่ายเกินจำเป็น การซื้ออุปกรณ์การเลี้ยงไก่ อาหารสัตว์ และอื่นๆ ควรจะซื้อจากแหล่งหรือร้านค้าที่เชื่อถือได้ว่าจะได้ของที่มีคุณภาพดีจริงๆ ในราคาที่เหมาะสม ผู้ที่ประสงค์จะริเริ่มเลี้ยงไก่ ควรจะสอบถามจากเพื่อนสมาชิกผู้เลี้ยงไก่ที่เลี้ยงอยู่ก่อน และได้ผลดีถึงเรื่องเหล่านี้ แล้วนำไปคิดใคร่ครวญดูก่อนการตัดสินใจซื้อ วิธีการอันหนึ่งซึ่งผู้เขียนเห็นว่าจะซื้อของได้ในราคาถูกก็คือ การสืบราคาสินค้าที่จะซื้อก่อนหลายๆ ร้าน แล้วจึงค่อยตัดสินใจซื้อจริงๆ ก็จะได้สินค้าที่ดี และมีราคาพอสมควรไม่ถูกตบตาได้โดยง่าย อนึ่ง หากเกษตรกรสามารถรวบรวมสมาชิกที่เลี้ยงไก่ได้เป็นกลุ่มเกษตรกร แล้วรวบรวมเงินไปจัดซื้อครั้งละมากๆ ก็เป็นทางอันหนึ่งที่ทำให้สามารถซื้อสินค้าได้ราคาถูก เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางตลอดจนการขนส่ง และความสิ้นเปลืองเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ของสมาชิกได้หลายคนด้วย เหตุที่ผู้เขียนได้เสนอความคิดเห็นของผู้เขียนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นแนวทางอันหนึ่งสำหรับผู้ประสงค์จะริเริ่มเลี้ยงไก่ ได้พิจารณาประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

การเลี้ยงไก่  ถ้าจะเลี้ยงเพียงเป็นอาหารในครอบครัวสัก ๙ ตัว ๑๐ ตัว ก็ไม่มีภาระอะไรมากโดยเลี้ยงปล่อยให้หาอาหารกินเองบ้าง ให้อาหารบ้าง ก็ไม่สิ้นเปลืองอะไรมาก แต่ถ้าจะเลี้ยงเป็นขนาดใหญ่เป็นการค้าต้องศึกษาหาความรู้ความชำนาญให้มาก เพราะการเลี้ยงไก่จำนวนมากมักจะมีปัญหาเรื่องโรคไก่ ต้องให้อาหารและยาถูกต้องตามหลักวิชาจึงจะได้ผลดี การหาความชำนาญนั้นไม่มีตำราที่ไหนดีเท่ากับลงมือเลี้ยงเอง โดยเลี้ยงจำนวนเล็กน้อยก่อน เมื่อมีความชำนาญแล้วก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำได้อย่างนี้ เวลาเกิดความเสียหายก็เสียหายไม่มาก เพราะเรารู้วิชาการเลี้ยงเสียแล้ว

เวลานี้คนนิยมเลี้ยงไก่ไข่และไก่เนื้อกิน แต่ไก่ไข่นั้นต้องเลี้ยงถึง ๖ เดือนจึงจะได้ผลส่วนไก่เนื้อนั้น ถ้าเราเลี้ยงเป็นไก่กระทงเพียง ๒ เดือนกว่าๆ ถึง ๓ เดือนก็ขายได้แล้ว แต่ก็ต้องดูตลาดให้ดีมิฉะนั้นต้องเสี่ยงกับการขาดทุน การเลี้ยงไก่ที่ไม่ต้องเสี่ยงมากก็คือการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ – พันธุ์ เนื้อ คือเมื่อไก่ไข่ครบ ๑ ปีแล้วก็ขายตัวไก่ไปเลย แล้วหารุ่นต่อมา สำรองไว้ ทำเช่นนี้ขายได้ทั้งไข่ทั้งเนื้อ

อย่างไรก็ตาม ผู้รู้ท่านวางหลักเรื่องการเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดีไว้ ๘ ประการ คือ

๑. เลี้ยงตัวที่ดีที่สุดของพันธุ์ที่ดี

๒. คัดตัวที่แคระ แกรน หรือเจ็บป่วยออก

๓. เลี้ยงดูให้สบายและบริบูรณ์

๔. ให้อาหารดีๆ กิน มีน้ำอาหาร เปลือกหอยและผักสดเช่น หญ้า แก่ไก่จนพอเพียง หญ้านี้เท่าที่สังเกตไก่ชอบหญ้าขน หรือหญ้าแห้วหมูมาก หากลานบ้านหรือสวนของท่านมีหญ้าแห้วขนหนาแน่น จงปล่อยลูกไก่ลงไปแล้วหาสุ่มหรือตาข่ายกั้นไว้ ลูกไก่จะกินหญ้าจนเตียนเราคอยเลื่อนที่ต่อๆ ไปจนหมดบริเวณแล้วกลับมาที่เดิมอีก เลี้ยงอย่างนี้ไม่ต้อง เสียเวลาเอาผักหญ้าให้กินมากนัก

๕. เลี้ยงตัวเมียเอา ไข่ไม่ต้องเลี้ยงตัวผู้ เพราะไก่จะมีไข่ไม่ต้องอาศัยตัวผู้ผสมพันธุ์ แต่ไข่ชนิดนี้จะนำไปฟักให้เป็นตัวไม่ได้เพราะไม่มีเชื้อตัวผู้ผสม ถ้าจะเอาไข่ไว้ทำพันธุ์ ต้องให้ตัวผู้ผสมเสียก่อน ตัวผู้ตัวหนึ่งจะคุมฝูงหรือผสมพันธุ์ตัวเมียได้ถึง ๑๐ ตัว

๖. คัดตัวมีไข่ไม่ดีหรือไข่ไม่ดกออก เลี้ยงตัวไข่ดีหรือไข่ไม่ดกแทน

๗. ทำให้ไก่ไข่ดีขึ้นทุกปี โดยหาไก่ที่ดีกว่ามาเลี้ยง

๘. ทำมูลไก่ให้เป็นเงิน โดยใช้เลี้ยงปลาหรือเป็นปุ๋ยจำหน่าย

การทำมูลไก่ให้เป็นเงินนี้ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เคยแนะนำว่า ถ้าจะเอามูลไก่เลี้ยงปลาให้ขุดสระแล้วทำเล้าไก่ในสระนั้น ไก่จะถ่ายมูลลงสระและในสระนั้นเราเลี้ยงปลาจีนหรือปลาสวายไว้เพราะปลาพวกนี้ชอบกินไรน้ำทีเกิดจากมูลไก่ เล้าไก่ก็จะสะอาด ไม่มีกลิ่น รอบๆ เล้าไก่บนขอบสระก็ปลูกต้นตำลึงไว้ ปล่อยให้เลื้อยขึ้นหลังคาโรงไก่ ยอดตำลึงเป็นอาหารที่มีประโยชน์เก็บรับประทานเองบ้าง หรือจะเก็บไปขายเอาเงินมาซื้ออาหารไก่หรืออาหารคนเลี้ยงก็ได้ทั้งนั้น คนโบราณจึงตีราคาผักตำลึงไว้ว่ามีค่าถึงหนึ่งตำลึง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี