เรื่องราวของท้าวกุเวร

Socail Like & Share

ท้าวกุเวร

กุเวร, พระ
เรื่องของท้าวกุเวรนี้ออกจะสับสน เรียบเรียงยากแท้ ยิ่งใช้หนังสือหลายเล่ม ก็ยิ่งชวนให้ปวดเกล้าจริงๆ

ท้าวกุเวรเป็นโอรสของพระวิศรวัสมุนี กับนางอิทาวิฑา ในมหาภารตะว่าเป็นโอรสของพระปุลัสต์ ซึ่งเป็นบิดาของพระวิศรวัสอีกชั้นหนึ่ง กล่าวกันว่ามีเรื่องเป็นทำนองว่า ท้าวกุเวรใฝ่ใจกับท้าวพรหมา เป็นเหตุให้บิดาโกรธ จึงได้แบ่งภาคเป็นพระวิศรวัส และพระวิศรวัสเกิดแต่ปุลัสตย์ จึงได้นามอีกว่า เปาลัสตยัม ซึ่งรามเกียรติ์ไทยเรียกว่า ลัสเตียน ท้าวลัสเตียนได้กับนางนิกษา บุตรีท้าวสุมาลีรากษสเป็นชายาเกิดโอรสด้วยกัน คือ ทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก และสำมะนักขา ดังนั้นท้าวกุเวรกับทศกัณฐ์จึงเป็นลูกร่วมบิดาเดียวกัน

ท้าวกุเวรนี้ชาวบ้านเรียกกันว่าท้าวเวสสุวัณ เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ รากษสและภูตผี คนแต่ก่อนมักแขวนรูปเขียนเป็นพระยายักษ์ ซึ่งก็คือท้าวกุเวรหรือเวสสุวัณนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันอันตรายจากผีหรือยักษ์ เพราะเวสสุวัณเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์และผี และเพื่อป้องกันดูแลเด็ก และท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวัณมีคนเป็นพาหนะ คนจึงเป็นบริวารของท้าวกุเวรด้วย จึงมีนามอีกว่า นรราช(เป็นเจ้าแห่งคน) และเป็นเจ้าแห่งทรัพทย์ และคุยหกะ (พวกคุยหกะ เป็นอสูรจำพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เฝ้าทรัพย์ในแผ่นดินอย่างปู่โสมของไทยละครับ)

เขาเล่าว่า เดิมทีท้าวกุเวรครองนครลงกา ซึ่งพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างให้ แต่นางนิกษา ได้ยุแหย่ให้ทศกัณฐ์ผู้เป็นบุตร ให้มีความริษยาท้าวกุเวร ก็ได้ผลครับ ทศกัณฐ์ก็ไปแย่งชิงเอานครลงกาจากท้าวกุเวรได้ ทั้งยังเอาบุษบกที่พระพรหมประทานให้ด้วย บุษบกนี้ลอยไปไหนมาไหนได้ดังใจนึก แต่มีกติกาว่าห้ามหญิงที่ถูกสมพาสจากชาย ๓ คนนั่ง ต่อมาบุษบกนี้ก็ลอยไม่ได้ เพราะนางมณโฑนั่ง นางมณโฑนะเดิมนี่ก็เป็นเมียพาลี ต่อมาก็เป็นของทศกัณฐ์ แล้วหนุมานปลอมเป็นทศกัณฐ์ไปร่วมอีก ครบ ๓ พอดี บุษบกนั้นจึงขัดข้องทางเทคนิคที่จะลอยไปไหนมาไหนได้

อันที่จริง บุษบกนี้เข้าทีดี ในรามเกียรติ์เมื่อตอนพระลักษณ์ต้องศรพรหมาสน์ของอินทรชิต พระรามสำคัญว่าอนุชาสิ้นชีวิตเศร้าโศกจนสลบไป ทศกัณฐ์ให้สีดาขึ้นบุษบกมาดู บุษบกนั้นลอยได้ ลักษณะของบุษบกในรามเกียรติ์ว่าไว้ดังนี้

“บุษบกเอยบุษบกแก้ว            สีแววแสงวับฉายฉาน
ห้ายอดเห็นเยี่ยมเทียมวิมาน    แก้วประพาสกาบเพชรสลับกัน
ชั้นเหมช่อห้อยล้วนพลอยบุษย์    บัลลังก์ครุฑลายเครือกระหนกคั่น
พะพรายฟื้นรูปเทวัญ              คนธรรพ์คั่นเทพกินนค

เลื่อนเมฆลอยมาในอากาศ        อำไพโอภาสประภัสสร
ไขแสงแข่งศศิธร                   อัมพรเยี่ยมพื้นโพยมพราย
ดั่งพระจันทร์เดินจรส่องดวง    แลเฉิดลอยช่วงจำรัสแย
ดาวลาดดาษเกลื่อนเรียงราย   เริงคล้ายรีบเคลื่อนเลื่อนลอยมา
ครั้นถึงสนามรณรงค์              ก็ร่อนลงมาจากเวหา
หยุดอยู่กับพื้นพสุธา              ดั่งว่ามีจิตวิญญาณ”

ข้างฝ่ายท้าวกุเวรนั้น แม้เสียลงกาไปก็ไม่เป็นไร เพราะนัยว่าเป็นที่รักของพระพรหมา จึงได้สร้างนครให้ใหม่ ชื่อ อลกา หรือบางทีก็เรียกว่า ประภา บ้าง วสุธรา บ้าง วสุ สถลี บ้าง อยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อ เจตรรถ อยู่ที่เขามันทรคีรี อันเป็นกึ่งแห่งเขาพระสุเมรุ บางทีก็ว่าที่อยู่ของท้าวกุเวรนะ อยู่ที่เขาไกรลาศ และพระวิศวกรรมเป็นผู้สร้างวิมานให้ในเรื่องรามายณะและมหาภารตะเล่าว่า ท้าวกุเวรบำเพ็ยตบะหลายพันปี เป็นที่โปรดปรานของพระพรหมา จึงประทานพรให้ท้าวกุเวรเป็นอมฤต (ไม่มีตาย) ให้เป็นโลกบาล และเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ ด้วยอำนาจนั้น จึงได้เป็นผู้รักษาทิศเหนือ และได้เป็นเจ้าของทองและเงินแก้วต่างๆ และทรัพย์แผ่นดินทั่วไป มีกินนรและคนธรรพ์เป็นผู้รับใช้

นามที่ใช้เรียกท้าวกุเวรมีอยู่เป็นอันมาก เช่น กตนุ (ตัวขี้ริ้ว) ธนัท (ผู้ให้ทรัพย์) ธนบดี (เป็นใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) อุจฉาวส (มั่งมีได้ตามใจ) ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) มยุราช (ขุนแห่งกินนี) รากษเสนทร (เป็นใหญ่ในหมู่รากษส) รัตนครรภ (พุงแก้ว) ราชราช (ขุนแห่งขุน) นรราช (ขุนแห่งคน) เปาลัสตน์ (ลูกปุลัสตย์) ไอฑาวิฑะ (ลูกอิฑาวฑา)

รูปเขียนท้าวกุเวรนั้นหน้าเป็นยักษ์ กายพิการถือคฑา (บางทีเขียนให้ถือตะบองยาว) มีขา ๓ ขา บางแห่งว่าขาพิการ มีฟัน ๘ ซี่ สีกายขาวมีอาภรณ์ทรงมงกุฎอย่างงาม รูปเขียนเมื่อนั่งบุษบกมี ๔ กร และมีม้าขาวเป็นพาหนะด้วย

ส่วนเมียของท้าวกุเวรเป็นยักษิณีชื่อ จารวี หรือ ฤทธี ลูกของ มุราสูร มีลูกชาย ๒ คือ มณีครีพ หรือ วรรณกวี และ นลกุพร หรือ มยุราช มีลูกสาว ๑ คือ มีนากษี

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร