ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

Socail Like & Share

บรรดาวีรสตรีที่ได้รับการสดุดีประวัติไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ๒ พี่น้องชาวถลาง เป็นผู้ที่ได้ประกอบวีรกรรมเป็นแบบอย่างแห่งการต่อสู้ เพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนไว้โดยสุดกำลัง เหตุการณ์สู้รบกองทัพพม่าที่มาล้อมเมืองถลาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ แม้เวลาจะล่วงเลยมานานปี แต่ลูกหลานไทยก็ยังเล่าขาน ความกล้าหาญของท่านไว้โดยไม่ลืมเลือนท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร

ประวัติวีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เกิดขึ้นในสมัยเมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งสถาปนาได้เพียง ๓ ปี เป็นเหตุการณ์ศึกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า พม่าคงจะมาตีเมืองไทยจึงโปรดให้สร้างกรุงเทพมหานครทางฝั่งข้างตะวันออกแทนที่จะอยู่ทั้งสองฝั่งอย่างกรุงธนบุรี ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

..ด้วยทรงพระราชดำริว่าพม่าคงจะมาตีเมืองไทย กรุงธนบุรีสร้างป้อมปราการทั้ง ๒ ฝั่ง เอาแม่นํ้าไว้กลางเมืองเหมือนอย่างเมืองพิษณุโลก มีประโยชน์ที่อาจเอาเรือรบไว้ในเมืองเมื่อเวลาถูกข้าศึกมาตั้งประชิด แต่การสู้รบรักษาเมือง คนข้างในจะถ่ายเทช่วยกันรบพุ่งรักษาหน้าที่ไม่ใคร่ทันท่วงทีด้วยต้องข้ามนํ้า… ทรงพระราชดำริว่า…ถ้าข้าศึกเข้ามาได้ถึงพระนครจะไม่สามารถต่อสู้ข้าศึกรักษาพระนครได้…ถ้าสร้างเมืองแต่ฟากเดียวจะได้แม่นํ้าใหญ่เป็นคูเมืองทั้งด้านตะวันตก และด้านใต้ต้องขุดคลองเป็นคูเมืองแต่ด้านเหนือกับด้านตะวันออกเท่านั้น ถ้าข้าศึกจะเข้ามาได้ถึงพระนครก็พอต่อสู้ได้ ด้วยเหตุนี้จึงโปรดให้ย้ายพระนครมาสร้างข้างฟากตะวันออกแต่ฝังเดียว”

การที่ได้ทรงพระราชดำริว่าพม่าคงจะมาตีเมืองไทยนี้ถูกต้องแม่นยำยิ่งนัก เพราะใน พ.ศ. ๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงขึ้นครองราชสมบัติต้องการที่จะแสดงพระบรมราชานุภาพเช่นกับพระเจ้าบุเรงนอง จึงต้องเข้ามาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศ โปรดให้เกณฑ์พลเป็นกองทัพใหญ่เข้ามาถึง ๙ ทัพ โดยเส้นทางที่กองทัพพม่ายกเข้ามาครั้งนั้นทางหนึ่ง คือ ยกเข้าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย ดังปรากฏหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ว่า

“… ให้เนมโยคุงนะรักเป็นแม่ทัพใหญ่… ถือพล ๒,๕๐๐ เป็นทัพหน้ายกมาทางเมืองมะริดให้ยกมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา ให้แกงวุ่นแมงยี่ถือพล ๔,๕๐๐ เป็นทัพหนุนยกมาอีกทางหนึ่ง แล้วเกณฑ์ทัพเรือให้ยี่วุ่นเป็นแม่ทัพ…ถือพล ๓,๐๐๐ ยกมาตีถลาง…”

เนื้อความที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดารตอนนี้เอง คือ เหตุการณ์ที่มาแห่งวีรกรรมของชาวเมืองถลาง ซึ่งมีท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เป็นหัวหน้าทำการสู้รบจนได้ชัยชนะ

เป็นที่ทราบกันว่าสตรีไทยแต่โบราณมามีบทบาทในเรื่องราชการบ้านเมืองน้อยมาก ดังที่มีคำเปรียบเทียบไว้ว่า สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง หน้าที่สำคัญของผู้หญิงคือ การเป็นแม่บ้าน ดูแลบ้านเรือน สามี ลูก และผู้คนในบ้าน ส่วนงานบ้านงานเมืองนั้นตกอยู่ในหน้าที่ของผู้ชายเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทรต้องออกหน้า ทำหน้าที่อันหนักยิ่งนี้ ย่อมต้องมีมูลเหตุที่มาว่า เป็นเพราะเหตุใด เพื่อทำความเข้าใจกับบทบาทของสุภาพสตรีพี่น้อง ๒ ท่านนี้ จึงสมควรย้อนศึกษาชาติภูมิ เป็นเบื้องต้น

ชาติภูมิ
พงศาวดารเมืองถลางบันทึกชาติภูมิของท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ไว้ดังนี้

“…ขอเล่าเรื่องราวตามผู้เฒ่าเล่ามาแต่ก่อน และได้รู้ได้เห็นเองว่าเมืองถลางแต่ก่อนนั้น จอมร้างบ้านตะเคียนเป็นเจ้าเมือง เมียจอมร้างเป็นแขกเมืองไทร…หม่าเสี้ยขัดใจไม่อยู่เมืองไทรมาอยู่เมืองถลาง ได้กับจอมร้างเป็นผัว มีลูกชาย ๒ หญิง ๓ รวม ๕ คน หญิงชื่อจันเป็นท้าวเทพกระสัตรี หญิงน้องถัดมาชื่อมุกเป็นท้าวศรีสุนทร…พระยาพิมลเป็นพระกระมาอยู่เมืองชุมพรได้กับท้าวเทพกระสัตรีๆ นั้น เมื่อหนุ่มสาวเป็นเมียหม่อมศรีภักดี…หม่อมศรีภักดีนั้นได้กับท้าวเทพกระสัตรีมีลูกสองคน หญิงชื่อแม่ปราง ชายชื่อ เทียน… ท้าวเทพกระสัตรีเป็นหม้ายแล้วได้กับพระยาพิมล. ..”

ตามสาระในพงศาวดารเมืองถลางข้างต้นนี้ ได้ทราบว่า ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร มีนามเดิมว่า จัน และมุก เป็นบุตรีของเจ้าเมืองถลาง ท่านได้สมรสครั้งแรกกับหม่อมศรีภักดี มีลูกด้วยกันสองคน ชื่อ แม่ปราง และเทียน ต่อมาได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมลมีตำแหน่งพระกระ คือ ผู้ดูแลเมืองกระ แล้วมาอยู่เมืองชุมพร ซึ่งผู้ศึกษาประวัติชีวิตราชการของพระยาพิมลพบว่า ท่านมีความภักดีอยู่กับเจ้าเมือง นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่ได้แต่งงานกับคุณจันนั้นเป็นช่วงที่มาช่วยราชการเมืองถลาง ต่อมาได้ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุงคงจะได้กลับคืนมาครองเมืองถลาง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุรินทรราชา ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ว่าเมื่อใกล้จะเกิดศึกพม่าเข้าตีเมืองถลางนั้น ท่านล้มเจ็บลง ท่านผู้หญิงจันต้องรับภาระแทนเช่นในเรื่องที่ได้เคยติดต่อทำมาค้าขายอยู่กับพระยาราชกปิตัน ยังไม่สามารถชำระหนี้สิน ได้เรื่องหนึ่ง ดังที่ท่านผู้หญิงจันได้มีหนังสือถึงพระยาราชกปิตันขอผัดผ่อนไว้ก่อน มีความที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง ดังนี้

“.. หนังถือท่านผู้หญิงมาถึงลาโตก ด้วยมีหนังสือไปนั้นได้แล้ว ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่…แลมี (เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าจะมาตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ ถ้าพม่ายกมาจริง ข้าเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่ยุดต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุก ค่าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนัก มิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวจุดเตือนให้..”

เนื้อความในจดหมายท่านผู้หญิงจันฉบับนี้ นอกจากเป็นหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นที่ช่วยให้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เจ้าเมืองถลางล้มเจ็บ ว่าเป็นเรื่องที่มีผลต่อความมั่นคงของบ้านเมืองแล้ว บุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะผู้เป็นภรรยา ยิ่งต้องระทมทุกข์เป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านผู้หญิงเป็นสตรีที่มีความเข้มแข็ง จึงหาทางผ่อนปรนกับพระยาราชกปิตันไว้ก่อน และที่เห็นในนํ้าใจภักดีของความเป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากก็คือ ท่านแบกรับภาระไว้เอง โดยไม่นำความเรียนให้ท่านพระยาถลางทราบ เพราะเกรงจะกระทบกับสภาพเจ็บป่วยของสามี

แต่แล้วพระยาถลางก็ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อกำลังเกิดศึกพม่าเข้าตีเมืองถลางพอดี ท่านผู้หญิงจัน พร้อมด้วยคุณมุกน้องสาวจึงเข้าแบกรับหน้าที่แทนพระยาถลางโดยไม่สามารถหลีกหนีได้

เหตุการณ์เมื่อทัพพม่าเข้าล้อมเมืองถลาง ซึ่งท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกน้องสาวรวบรวมไพร่พลต่อสู้รักษาบ้านเมืองไว้คราวนั้น มีหลักฐานกล่าวไว้ว่า

“…ภรรยาถลางชื่อจัน กับน้องสาวอีกคนหนึ่ง (ชื่อมุก) เป็นคนใจกล้าหาญองอาจ จึงให้กรมการเกณฑ์ไพร่บ้านพลเมืองทั้งชายหญิง ออกตั้งค่ายรบกับพม่านอกเมือง ยิงปืนใหญ่น้อยโต้ตอบสู้รบกันอยู่ทุกวัน จนประมาณได้เดือนเศษพม่าก็หักเอาเมืองมิได้ ไพร่พลในกองทัพก็ขัดสนเสบียงอาหารลงก็จำเป็นต้องเลิกทัพกลับไป…”

“ฝ่ายกรมการเมืองถลาง ครั้นทัพพม่าเลิกกลับไปแล้ว ได้ข่าวว่าทัพหลวงสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จพระราชดำเนินออกมาตีทัพพม่าทางบกแตกไปสิ้นแล้ว จึงบอกข้อราชการมากราบทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพมหานครฉบับหนึ่ง และขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จกลับเข้ามาถึงพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชโองการให้มีตราออกไปยังเมืองถลาง ตั้งกรมการผู้มีความชอบในการสงครามเป็นพระยาถลางขึ้นใหม่ แล้วโปรดตั้งจันท์ภรรยาพระยาถลางเก่า ซึ่งออกต่อรบพม่านั้นเป็นท้าวเทพสตรี โปรดให้ตั้งมุกน้องหญิงนั้นเป็น ท้าวศรีสุนทร พระราชทานเครื่องยศโดยควรแก่อิสตรีทั้ง ๒ คน ตามสมควรแก่ความชอบ ในการสงครามนั้น…”

แม้พงศาวดารจะบันทึกยุทธวิธีสู้รบกับข้าศึกไว้โดยรวบรัดว่า ท่านและน้องสาวได้เกณฑ์ไพร่พลออกตั้งค่ายรบนอกเมือง และใช้ปืนใหญ่น้อยโต้ตอบทุกวันนานประมาณ 9 เดือน แต่หากพิจารณาสภาพความเป็นจริง การยืนหยัดสู้ข้าศึกที่เหนือกว่าทั้งด้วยพละกำลังและศัตราวุธนานนับเดือน จนในที่สุดข้าศึกต้องล่าถอยกลับไปนั้น ต้องนับว่าผู้ที่จะกระทำเช่นนี้ได้ต้องมีทั้งความพากเพียรพยายาม ความหาญกล้าและจิตใจที่มุ่งมั่นอย่างถึงที่สุด

มีผู้ศึกษาชีวประวัติของท่าน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า มูลเหตุที่ท่านผู้หญิงจันและคุณมุกจะเข้าสู้รบ ป้องกันราษฎรชาวเมืองด้วยฐานะของภรรยาและผู้อยู่ในครอบครัวเจ้าเมืองตามหน้าที่นั้น สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เร่งระดมผู้คน โน้มน้าวจิตใจให้ร่วมกันต่อสู้โดยเร็ว คือ ท่านเห็นว่าบ้านเรือนทรัพย์สมบัติของท่านเองยังถูกทำลายเสียหายจนหมดสิ้น หากเป็นชาวบ้านชาวเมืองจะยิ่งเสียหายกว่ายิ่งนัก ถ้าไม่สามารถรวมพลต่อสู้ข้าศึกได้ก็จะไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่เลย

บทบาทในฐานะเป็นแม่และการรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล
แม้จะเสร็จศึกพม่าได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดินเป็นท้าวเทพกระษัตรี คู่กับท้าวศรีสุนทร ผู้เป็นน้องสาวแล้ว แต่ภารกิจของท่านท้าวเทพกระษัตรี ยังมิเสร็จสิ้นแต่เพียงนั้น

เพราะท่านยังต้องดูแลบำรุงเมืองจัดหาเสบียงอาหารให้พอเพียงแก่ผู้คนพลเมือง และครอบครัวของท่านเอง ดังที่ท่านผู้หญิงมีหนังสือไปถึงพระยาราชกปิตัน พรรณนาความยากลำบากขัดสน และขอความช่วยเหลือในการค้าขายต่อไป ดังนี้

“… หนังสือท่านผู้หญิงเจริญมายังท่านพระยาราชกปิตันเหล็กให้แจ้ง… แลอยู่ทุกวันนี้ ณ เมืองถลางพม่าตีบ้านเมืองเป็นจลาจล อดข้าวปลาอาหารเป็นหนักหนา ตูข้ายกมาตั้งทำดีบุก ณ ตะ (กั่ว) ป่า ได้ดีบุกบ้างเล็กน้อย เอาซื้อข้าวแพงได้เท่าใดซื้อสิ้นเท่านั้น…บัดนี้ท่านมาตั้งอยู่เกาะปุเลาปีนังแล้วใกล้กับเมืองถลาง แลท่านกับท่านผู้ตายได้เคยเป็นมิตรกันมาแต่ก่อน เห็นว่าจะได้พลอยพึ่งบุญรอดชีวิตเพราะสติปัญญาของท่านสืบไป…แลตูข้าได้แต่งนายแชม จีนเสมียนอิ่วคุมเอาดีบุกไปถึงท่านให้ช่วยจัดซื้อข้าวให้… ถ้าได้ข้าวแล้วนั้น ขอท่านได้ช่วยแต่งสลุบกำปั่นเอามาส่งให้ทัน ณ เดือน ๑๑ เห็นว่าจะได้รอดชี (วิต) เห็นหน้าท่านสืบไป…”

นอกจากนี้เนื่องจากบุตรชายของท่าน คือ พระยาทุกขราษฎร์ (เทียน) ซึ่งยังมิได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ตามวงศ์ตระกูล ด้วยจิตสำนึกของผู้เป็นแม่ ความตระหนักในเกียรติยศของผู้สืบสายวงศ์ตระกูลเจ้าเมืองถลางแต่โบราณ รวมทั้งความเป็นผู้มีนํ้าใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวและชาญฉลาด ท้าวเทพกระษัตรีจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ใหญ่ยิ่งอีกครั้ง คือ การเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสม เด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

เมื่อท้าวเทพกระษัตรีจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ครั้งนั้น ท่านได้เตรียมการต่างๆ อย่างพรักพร้อม ด้วยการจัดหาสิ่งของมีค่าเตรียมนำเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายตามธรรมเนียม เช่น ปืน ผ้าชนิดต่างๆ นํ้าหอม ต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นของดีทั้งสิ้น ของเหล่านี้ท่านได้ติดต่อขอซื้อจากพระยาราชกปิตันเช่นเคยดังความในจดหมายเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๓๐ มีไปถึงพระยาราชกปิตันดังนี้

“…หนังสือข้าฯ ท่านผู้หญิง ปรนนิบัติมายังโตกพระยา (นายท่า) น ด้วย ณ เดือนแปด ข้างแรมนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปกรุงเป็นแน่… แลให้โตกพระยานายท่านช่วยจัดปืนสุตันสัก ๕๐ บอก ผ้าขาวก้านแย่งลายเครือ ผ้าขาวอุเหม้าเนื้อดี แพรดาไหรสีต่างกัน นํ้ามันจันทร์ นํ้ากุหลาบ…แลข้าพเจ้าไปครั้งนี้โดยขัดสนหนักหนา สิ่งอันใดพระยานายท่านได้เห็นดู ข้าพเจ้าด้วยเถิด…ข้าฯ (จะ.) ว่ากล่าวคิดอ่านออกมาให้พระยาทุกราชทำการ ณ เมืองถลางดูสักครั้งแต่จะเอาบุญพระยานายท่านปกเป็นที่พึ่งด้วย. ..”

การซึ่งท้าวเทพกระษัตรีตั้งใจจะขึ้นไปกรุงฯ ครั้งนี้มีเหตุต้องเลื่อนไปก่อนเพราะท่านต้องจัดการเกี่ยวกับลูกหนี้ ซึ่งติดค้างเงินดีบุกของหลวงซึ่งมีตรามาเร่งรัดจนเรียบร้อย จึงเดินทางเข้ากรุงได้ในเดือน ๓ ดังความในหนังสือที่ท่านเล่าเรื่องไปยังพระยาราชกปิตันให้ช่วยหาสิ่งของเช่นเดิมซึ่งไม่ทราบว่า ในคราวก่อนท่านได้รับความช่วยเหลือแล้วหรือไม่ ดังนี้

“… หนังสือท่านผู้หญิง โอยพรสี่ประการมายังท่านพระยาราชกปิตัน ด้วยเดิมข้าพเจ้ามีหนังสือมาแก่ท่านโตกพระยาว่าจะขอลาเข้าไปบางกอก แลข้าพเจ้ายกไปจากถลาง แต่ ณ เดือน ๑๐ ไปค้างนํ้าอยู่ ณ เมืองใต้…ข้าพเจ้าจะเข้าไปบางกอก ณ เดือน ๓ เป็นแน่แล้ว โต (ก) พระยาท่านได้เห็นดูอย่าให้ข้าพเจ้าเข้าไปมือเปล่า ให้ช่วยหาปืนน้อยยอดสุตันสัก ๒ บอก… พร้อกบุญท่านช่วยอนุเคราะห์ ด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้หญิงหามีที่เห็นหน้าผู้ใดคนอื่นไม่…”

และนอกจากสิ่งของมีค่านานาชนิดที่ตระเตรียมไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ท้าวเทพกระษัตรียังนำบุตรสาวนามว่า ทอง ไปน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นบาทบริจาริกาคนหนึ่ง และบุตรชายนามว่า จุ้ย ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กคนหนึ่ง บุตรสาวของท่านต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดาในพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าหญิงยุคล ส่วนพระยาทุกขราษฎร์ผู้เป็นบุตรนั้น ต่อมาได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้เป็นพระยาถลาง มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม นับว่าจุดมุ่งหมายที่ท้าวเทพกระษัตรีเพียรพยายามเข้าไปดำเนินการ ณ เมืองกรุง บรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้ทุกประการ

ในบั้นปลายชีวิตท้าวเทพกระษัตรี น่าจะมีชีวิตเป็นปกติสุขอยู่กับลูกหลาน ส่วนท้าวศรีสุนทรผู้เป็นน้องสาวไม่ปรากฏเรื่องราวว่าเป็นเช่นใด แต่สันนิษฐานว่าท่านคงอยู่กับพี่สาวต่อมา

หลักฐานสุดท้ายที่กล่าวถึงท้าวเทพกระษัตรี เป็นช่วงที่ท่านอยู่ในปัจฉิมวัย ดูเหมือนว่าจะมีสุขภาพไม่สู้เป็นปกติเท่าใดนัก ดังที่เจ้าพระยาเพชรคีรีศรีสงคราม พระยาถลางมีจดหมายไปถึงพระยาราชกปิตัน ผู้เป็นสหายเก่าแก่ของมารดาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๓๕ เรื่องการค้าขายโดยอ้างให้เห็นแก่ผู้เป็นมารดาด้วยว่า

“หนังสือเจ้าพระยาเพชรคิรีศรีสงคราม พระยาถลาง บอกมายังโตกพระยาท่าน ณ เกาะหมาก…แลบัดนี้ ตูข้าต้องการปืนสุตันสัก ๒๐๐ – ๓๐๐ บอก ให้ท่านช่วยจัดซื้อให้ มากับเครื่องทองเหลือง แม่ขันอาบนํ้าของซึ่งงกปิตันเลนเอามาแต่ก่อน โตกท่านเอ็นดูแก่คุณมารดาด้วยเถิด ด้วยทุกวันนี้ก็แก่ลงกว่า (แ) ต่ก่อนแล้ว ก็ขัดสนไม่สบายเหมือนแต่ก่อน…”

ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อใดไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นช่วงก่อนศึกพม่าใน พ.ศ. ๒๓๓๕ ซึ่งบุตรของท่านได้ไปราชการทัพพม่าที่เมืองมะริดทำหน้าที่ เช่น เดียวกับผู้เป็นมารดา และท่านน้าที่ได้ทำไว้แล้วแก่บ้านเมือง

เหตุการณ์วีรกรรมของท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้เป็นความทรงจำของผู้คนในชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัย ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กวีสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รจนาความเก่งกล้าสามารถขึ้นไว้มีความอันไพเราะและกินใจ ดังต่อไปนี้

ท้าวเทพกษัตรี (จันทร์)
• เมืองถลางปางพม่าล้อม ลุยรัณ
รอดเพราะคุณหญิงจันทร์ รับสู้
ผัวพญาผิอาสัญ เสียก่อน ก็ดี
เหลือแต่หญิงยังกู้ เกียรติ์ไว้ชัยเฉลิม

• เริ่มรบรุกตลบต้าน โจมตี
ทั้งสกัดตัดสเบียงที ดักก้าว
พม่าอดหมดพลังหนี จากเกาะ กระเจิงแฮ
กลศึกแพ้แม่ท้าว ไม่ท้อโถม ทนง

• อุบายรงค์คงคู่ใช้ สมเขบ็จ
ใครโฉดลงโทษเข็ด จึ่งยั้ง
ใครชอบตอบบำเหน็จ สมชอบ
ยั่วจิตถวายชีวิตตั้ง แต่สู้ริปูหาญ

• ไป่ท้านไป่ท้อไป่ เปิ่งมุด
เชื่อพระเดชพระพุทธ ยอดฟ้า
ลือหึ่งว่าถึงอยุท- ธยาล่ม แล้วแฮ
มานะห่อนละกล้า กราดป้องหงองไฉน

• พลไทสมทบทั้ง ชายหญิง
โรมรุธสัประยุทธ์ยิง เลิกแพ้
ถวิลเดียวจะเฉี่ยวชิง ชัยขจัด อรินแฮ
ฉลองพระคุณเจ้าแม้ ชีพม้วยอวยถวาย

• เพราะนางนายทัพกล้า เกรียงญาณ
ชักฝ่ายหญิงชายทหาร เหิ่มแกล้ว
สมสั่งประดังผลาญ พม่าล่า ประลัยแฮ
เมืองมั่นขวัญไทแผ้ว ผึ่งหล้าฉ่าเฉลิม

• เผยเพิ่มพิระศักดิ์ก้อง โลกี
ท้าวเทพกษัตรี โปรดตั้ง
เป็นเยี่ยงสตรีศรี อยุธเยศ แม่เอย
ชีพดับเกียรติศัพท์ยั้ง อยู่ช้าชวนถวิล

• แผ่นดินพุทธยอดฟ้า ฝังใจ
พันลึกปัจจนึกภัย พ่างดิ้น
หากครบนักรบไท เอกเอก อนันต์แฮ
ไทยจึ่งไทยไป่สิ้น สืบเชื้อชูสยาม

• พระรามอธิราชเจ้า จักรี วงศ์เอย
ผยองพระฤทธิบารมี แมกกล้า
เหตุอมาตย์ราชเศรณี สนองภัก – ดีนา
ข้าผึ่งเดชพึ่งเจ้า จึ่งพื้นยืนเกษม สันติ์แล ฯ

คำเริงสดุดี สตรีไทยนักรบ
• เกิดเป็นไทยชายหญิงไม่นิ่งขลาด แสนสมัครักชาติศาสนา
กตัญญูสู้ตายถวายชีวา ต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินสิ้นทุกคน

ยามสบายปล่อยชายเป็นนายทหาร ครั้นเกิดการศึกเสือเมื่อขัดสน
พวกผู้หญิงใช่จะทิ้งนิ่งอับจน ออกต่างขวนขวายช่วยม้วยไม่กลัว

เปลก็ไกวดาบแกว่งแข็งหรือไม่ ไม่อวดหยิ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว
ไหนไถถากกรากกรำไหนทำครัว ใช่รู้จักแต่จะยั่วผัวเมื่อไร

แรงเหมือนมดอดเหมือนกากล้าเหมือนหญิง นี่จะจริงเหมือนว่าหรือหาไม่
เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้

เครื่องกลไกเพราะไอผลักให้วิ่ง เหมือนผู้หญิงยวนชายตะกายแต้
เลี้ยงให้อ้วนชวนให้กล้าท้าให้แย ใช่อ้อแอ้อ่อนอุบายเช่นชายงง

กรุงศรีอยุทธยาใครอย่าหยาม มีวันทรามยามดีมีวันส่ง
มีคราจ้าครามึนขึ้นขึ้นลงลง แต่ไทยคงเป็นไทมิใช่ทราม ฯ

อธิษฐาน
ขึ้นชื่อไทยใจกล้าใครอย่าหมื่น รัตน์โกสินทร์เอกอมรนครสยาม
รวยคนดีสีห์สง่ากล้าสงคราม ชั้นหญิงไทยไม่คร้ามต่อความตาย ฯ

ฤทธิ์รักชาติศาสนามหากษัตร์ โสมนัสมอบชีวาบูชาถวาย
ขอพระวงศ์จักรีนิรันตราย เป็นเจ้านายนิรันดรสมพร เทอญ ฯ

สรรเสริญพระบารมี
พระเดชพระมหากษัตร์ศึก ปราบปัจจนึกนิกรพม่าแตกล่าหนี
เหมือนช้างโขลงโผงแผ่แพ้ฤทธี มนุษน้อยปางนี้น่าอัศจรรย์ ฯ

สร้อย
โอ้ยามดึกพาละมฤคคร่ะทึมหน เสือสีห์พิกล
เสียวเสียงคำรณเลวงไพร สยดสยองคนองไฉน
สง่ามิเหมือนสง่าชัย อำนาจชาติไทยสง่าเอย ฯ

ศึกพม่าคราไหนไม่ใหญ่เหมือน เปรียบเหมือนเลื่อนลูกหีบหนีบนิ้วสั้น
โอ้นิ้วเพ็ชร์เด็ดดัสกรทัน ผองพม่าอาสัญครั่นสงคราม ฯ

สร้อย
โอ้ดวงอังสุมาลีที่ร่อนหาว แสงฉายพร่ะพราว
แสนสวะว่ะวาวเวิ้งพนม สว่างไสวน่าใคร่ชม
ถวิลมิเหมือนบาทบรม ข้าน้อยนิยมพระเดช เอย ฯ

ขอพระวงศ์จักรีจีระฐิต อาญาสิทธิ์ปกชีวาประชาสยาม
ขอกรุงรัตนโกสินทร์ภิญโญงาม อย่ารู้ทรามเกษมสันติ์นิรันดรเอย ฯ

สร้อย
โอ้เอื้องฟ้าลดาสวรรค์วันะสถาน รเหยหอมพนานต์
เฉียวฉุนเสาวมาลย์เมื่อลมพา ชื่นผลูบรู้รา
มิเหมือนพระมิ่งมงกุฎพุทธยอดฟ้า พระเกียรติยศคู่หล้าเหลือลืม เอย ฯ

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: บุหลง ศรีกนก