ความเป็นมาของพระคงคาเทวี

Socail Like & Share

พระแม่คงคา
คงคาเทวีก็คือแม่น้ำคงคานั่นแหละ อ้าว เป็นแม่น้ำแล้วเกี่ยวกับ “เทวดานุกรม” ได้อย่างไรเล่า เกี่ยวซิครับ เพราะแม่น้ำคงคานี่แหละ เป็นเทวดาเหมือนกัน จะต่างกันก็แต่เพียงเป็นเทวนารี (อย่าไปเรียกผิดๆ เป็นเทวดีเข้าล่ะ เข้าทำนอง ยักษา-ยักษี พยัคฆา-พยัคฆี หัวปลา-หัวปลี กระเป๋า-กระปี๋)

เพื่อเป็นการยืนยันก็ขอพรรณนาพระวรกายของพระนางเสียเลย คือมีพระวรกายเหมือนนางฟ้าที่งดงาม แต่มี ๓ เศียร มีพระกร ๖ กร ถือคัมภีร์และดอกบัว มีพระวรกายสีขาว รัศมีเทวนารีที่เรืองรองอยู่ก็สีขาว ทรงประทับอยู่บนหลังปลาสีขาว แต่เรื่องพระวรกายของพระแม่คงคานี่ก็ต่างกันตามตำนานต่างๆ บ้างก็ว่าพระนางมี ๔ กรเท่านั้น กรข้างขวาทั้งสองนั้นทรงถือดิน ส่วนกรข้างซ้ายสองข้าง ข้างหนึ่งทรงถือใบไม้อีกข้างทรงถือหม้อน้ำ เรื่องตำนานเกี่ยวกับเทวดาของอินเดียนั่นน่ะ สับสนอย่างนี้ทุกพระองค์ แล้วผมจะวิเคราะห์ตอนกล่าวถึงเทพอื่นๆ

ตามคัมภีร์พระเวทน่ะ ถือว่าพระแม่คงคานี้เป็นพระธิดาองค์หัวปีของพระหิมวัตหรือหิมพานต์ กับพระนางเมนา และเป็นเชษฐภคินีของพระอุมา ส่วนพระสวามีของพระแม่คงคาคือพระอิศวร แต่นั่นแหละครับ แปลว่าพระอิศวรได้ทั้งพี่และน้อง ว่างั้นเถอะ บางตำนานก็ว่าพระแม่คงคาน่ะ เดิมทีเป็นพระมเหสีของพระนารายณ์ แล้วต่อมามีเรื่องจิ๊บจ๊อยกัน พระนารายณ์ก็เลยประทานให้พระอิศวรไป-ก็เท่านั้น

เดิมทีน่ะ พระแม่คงคา หรือพระคงคามาตาสถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ทีเดียวก่อนที่จะไหลลงมาสู่เมืองมนุษย์น่ะมีอัตชีวประวัติยาวทีเดียว จะเล่าอย่างย่อชนิดยาวนะครับ

ก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี ในชมพูทวีป หรือก็คืออินเดียนั่นแหละ มีราชาครองแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่ง มีพระนามตามท้องเรื่องว่า “สัคระ” มีมเหสีเพียง ๒ องค์เท่านั้น มีนามว่า เกศินี และสุมดี พระมเหสีทั้งสองไม่มีโอรสสืบราชสมบัติ เรื่องก็ต้องรบกวนเทวดา จัดพิธีขอลูกกัน พระนางเกศินีทรงขอโอรสเพียงองค์เดียว คงจะมักน้อยอยู่สักหน่อย ส่วนพระนางสุมดีทรงขอถึงหกหมื่น ทุกอย่างก็สำเร็จกิจตามเทวพร พระนางเกศินีมีโอรสองค์เดียวตามที่ขอมีพระนามว่า อสมัญชะ พระนางสุมดีก็มีโอรสถึงหกหมื่น แต่จะให้บรรยายพระนามของโอรสทั้งหกหมื่นเห็นจะไม่ไหวละครับ ตำนานเองก็ไม่ได้บอกไว้ด้วย เข้าใจว่าพระบิดานั่นแหละไม่มีเวลาคิดตั้งชื่อลูกหรอก ต่อมาบรรดาโอรสทั้งหลายเจริญวัยขึ้น ก็ลูกมากออกเป็นหมื่นอย่างนั้น พ่อแม่ที่ไหนจะมีเวลาอบรมกันเล่า บรรดาโอรสก็เลยกลายเป็น “เด็กฮาร์ท” ที่ประพฤติตนแผลงๆ แม้แต่บรรดาเทวดาก็ระอากันตามๆ กันก็ไปฟ้องพระนารายณ์ตามธรรมเนียม พระนารายณ์ก็ทรงรับที่จะทรงกำจัดให้ แต่ทรงรอจังหวะก่อน

ต่อมาท้าวสัคระทรงกระทำพิธี “อัศวเมธ” พิธีนี้จะเล่าก็จะยาวไปครับ เอาเป็นว่าผู้ที่จะกระทำพิธีนี้ได้ต้องมีฐานกำลังหนุนมาก พิธีใช้ม้าปล่อยไปยังเมืองต่างๆ เมืองใดไม่ต้อนรับม้า ทหารที่ตามไปจะเข้าตีทันที เมื่อครบปีม้ากลับมา ก็จับม้าบูชายัญเสียนี่

ครั้นตระเตรียมม้าตัวเก่งได้แล้วก็ทรงมอบให้บรรดาโอรสช่วยคอยดูแล พระอินทร์ทรงแปลงเป็นรากษส ลักเอาม้าไปไว้ในเมืองบาดาลโน่น บรรดาโอรสทั้งหมดก็ติดตามไปถึงเมืองบาดาล ทรงพบพระกบิลดาบส ซึ่งที่แท้ก็คือพระนารายณ์แปลงนั่นแหละ กำลังบำเพ็ญฌานอยู่ที่ใกล้ๆ กันนั้นมีม้าตัวที่หายกำลังเล็มหญ้ากิน บรรดาโอรสก็แผลงฤทธิ์ พระนารายณ์แปลงก็บันดาลให้เกิดเพลิงไหม้ บรรดาโอรสหกหมื่นบวกกับหนึ่งก็สิ้นพระชนม์หมด ต่อมาท้าวสัคระทรงให้พระนัดดาคือพระอังศุมานไปตาม พระอังศุมานนี้ทรงมีพระนิสัยดีนะครับ เมื่อลงไปตามอย่างนี้ก็มีผู้หวังดีแนะนำซิครับ พระยาครุฑที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์นั่นแหละกระซิบบอกหมดว่าเป็นแผนของพระนารายณ์ที่จะทรงกำจัดคนชั่วละ เมื่อพระอังศุมานเสด็จไปพบพระกบิลดาบสก็ทรงแสดงความคารวะอย่างอ่อนน้อม พระนารายณ์ทรงชอบสิครับ คืนม้าให้ ทั้งยังรับสั่งว่าขอพระอะไรก็ได้ พระอังศุมานก็ขอให้บรรดาโอรสทั้งหลายทั้งปวงนั้นแหละพ้นบาป พระนารายณ์แปลงก็บอกว่า จะต้องบำเพ็ญตบะกิจขอพร เพื่อให้พระคงคาเทวีปล่อยน้ำลงจากสวรรค์ แม่น้ำนี้จะไหลผ่านกองพระอังคารของบรรดาโอรสก็จะพ้นบาปได้

เรื่องของเรื่องก็ต้องกระทำพิธีขอพรกันละ เริ่มจากท้าวสัคระนั่นแหละ แต่ไม่สำเร็จ สวรรคตก่อนพระอังศุมานครองราช แล้วก็ทำพิธีต่อ ไม่สำเร็จอีกสืบกันเรื่อยๆ ละครับ จนถึงท้าวภคีรถ พระองค์นี้ทรงตั้งพระทัยจริง ถึงกับเสด็จออกป่าละเพศคฤหัสถ์คราวนี้สำเร็จ พระพรหมเสด็จลงมาก่อน ตรัสให้ขอพร ท้าวภคีรถทรงขอให้พระแม่คงคาไหลลงสู่เมืองมนุษย์ พระพรหมตรัสว่า หน้าที่นี้ต้องเป็นเรื่องของพระแม่คงคา แต่พื้นดินจะต้านกำลังน้ำไม่ไหว เขื่อนพังแน่ เอ๊ย ไม่ใช่หรอก ลืมไป มีทางเดียวขอร้องพระอิศวรเถอะ

ท้าวภคีรถก็บำเพ็ยพิธีต่อไปโดยไม่ท้อถอยพระอิศวรจึงทรงช่วย โดยให้พระแม่คงคาที่พระแม่ประทานให้นั้นตกลงมาที่พระเศียรพระอิศวรก่อน แล้วค่อยไหลลงสู่พื้น พระอิศวรจึงมีพระนามใหม่อีกว่า พระธำรงคงคา และพระคงคาธร ก็แปลว่าผู้ทรงไว้ซึ่งพระคงคานั่นแหละ

ครับ เป็นอันว่าพระแม่คงคาไหลลงสู่เมืองมนุษย์ได้ แต่ก็ยังไม่เรียบร้อยหรอกครับ แม่น้ำคงคาไปไหลผ่านบริเวณที่ของพระดาบสชื่อ ชาหนุ (บางตำนานว่าชื่อชันหุ) พระดาบสตนนี้ออกจะโมโหโกรธาเก่งอยู่สักหน่อย เลยแผลงเดชกลืนน้ำคงคาหมด ร้อนถึงท้าวภคีรถต้องเสด็จมาอ้อนวอน พระดาบสยอมให้น้ำไหลออกจากช่องหู แม่น้ำคงคาตอนนี้จึงได้นามแฝงอีกว่า ชาหนวี แปลว่าเกิดจากพระดาบสชื่อชันหุ เป็นอันว่าแม่น้ำคงคาก็ไหลผ่านพระอังคารพระโอรสหกหมื่นบวกหนึ่งนั่นแหละ เลยพ้นบาปกลายเป็นเทพบุตรไปอยู่สวรรค์กันหมด

อันว่าแม่น้ำคงคานี้ มีนามปากกาเยอะนะครับ เช่น ชาหนวี อย่างที่ว่าไว้แล้วและสาคร แปลว่าเกิดแต่ท้าวสัคระ ก็ท้าวสัคระเป็นองค์แรกที่ทรงเริ่มพิธีขอน้ำนี่ครับ มีชื่ออีกว่า ภาคีรถี แปลว่าเกิดแต่พระภคีรถ ก็เป็นองค์ที่ทำให้แม่น้ำคงคาลงมาจากสวรรค์ได้สำเร็จนั่นแหละ

แม่น้ำคงคาที่ไหลมาจากสวรรค์แล้วตกลงที่พระเศียรพระอิศาวรนั้น แตกแยกออกเป็นหลายสาขารวมทั้งสิ้นก็เป็นแม่น้ำเจ็ดสาย เรียกว่า “สัป
ตนที” แปลว่าแม่น้ำเจ็ดสาย แม่น้ำที่แยกไปทางทิศตะวันออกมีชื่อว่า นลินี หลาทินี ปาวนี ที่แยกไปทางทิศตะวันตก มีแม่น้ำจักษุ สีตา และสินธุ ส่วนแม่น้ำคงคานั้นอยู่สายกลาง

แม่น้ำคงคานี้ ชาวอินเดียถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ผู้ที่อยู่ไกลจากแม่น้ำนี้ถึง ๓๐๐ โยชน์ ถ้ากล่าวว่า “พระแม่คงคา พระแม่คงคา” ก็สามารถชำระบาปได้ถึง ๓ คน ผู้ใดได้อาบได้ดื่มก็พ้นบาป ศพที่เผากันข้างฝั่งแม่น้ำ จะเผาหมดหรือไม่หมดก็ตาม โยนลงในแม่น้ำ ก็ชำระบาปได้อีก สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ชาวฮินดูมีพิธีที่เรียกว่า “ศิวราตรี” จะพร้อมใจกันลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคานี้ด้วยถือกันว่าเป็นการล้างบาป บาปลอยเป็นแพทีเดียว ถ้าอยู่ไกลนัก นึกเอาก็ได้

มาในวรรณคดีไทยเรา สุนทรภู่รำพันไว้ในเรื่องรำพันพิลาปตอนหนึ่งว่า
“เดชะพระคงคารักษาถนอม        อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม
ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม    กล่อมประทุมโสมนัสสวัสดี”

นี่ผมก็คิดว่าคงหมายถึงแม่น้ำคงคานั่นแหละ ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่นางเสาวคนธ์หนีออกจากเมืองการเวก ไม่ยอมแต่งงานกับสุดสาคร ก็ล่องเรือไปมีกลอนพรรณนาว่า

“นางอ่านดูรู้โฉลกโลกเชษฐ์        ที่เขาเขตขวาแควกระแสสินธุ์
ว่าไหลมาแต่สวรรค์ชั้นพระอินทร์    ผู้ใดกินแก้บาปอาบก็ดี
ตายจะได้ไปกำเนิดเกิดสวรรค์    ลำน้ำนั้นมาแต่หน้าพาราณสี
พวกถือไสยในจังหวัดปฐพี        เอาซากผีมาทิ้งทั้งหญิงชาย
ด้วยเชื่อฟังหนังสือตามถือไสย    จะให้ไปเกิดสวรรค์เหมือนมั่นหมาย”

นี่แหละครับ แสดงว่าสุนทรภู่รู้เรื่องแม่น้ำคงคาดีละครับ
ในเรื่องวาสิฏฐีหรือกามนิตที่เคยเรียนๆ กันอยู่น่ะ มีกล่าวถึงแม่น้ำคงคาหลายแห่งทีเดียว ตัดมาตอนเดียวพอนะ ก็ตอนกามนิตอาบน้ำในแม่น้ำคงคาละ “รู้สึกเบิกบานใจ ไม่ทราบอธิบายได้อย่างไร เพราะได้มีโอกาสมาสนานกายในน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมิใช่จะชำระล้างฝุ่นธุลีที่ติดตัวเพราะไปเดินทางมาเท่านั้น ยังเป็นน้ำที่สามารถชำระบาปมลทินให้หมดสิ้นไปได้ด้วย”

ส่วนแม่น้ำคงคาที่อยู่บนสวรรค์นั่นน่ะ บางโอกาสเราจะเป็นเป็นทางขาวที่เราเรียกว่า ทางช้างเผือก หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Milky-Way (ทางน้ำนม) ก็คือสายแม่น้ำคงคาที่อยู่บนเบื้องสวรรค์ละ ในทางดาราศาสตร์ทางช้างเผือกนี่ก็คือกลุ่มดาวนั่นเอง ในทางโหราศาสตร์เรียกทางช้างเผือกว่า อากาศคงคาบ้าง พโยมคงคาบ้าง คอลช้างบ้าง ในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า ตามปกติตอนดึกสงัดมักจะเห็นกลุ่มดาวธง ดาวรถ ดาวลูกไก่ ดาวเต่า และทางช้างเผือกอยู่ใกล้ๆ กัน ดาวธงเป็นกลุ่มดาว ๗ ดวง ถ้าโยงกันก็มีลักษณะคล้ายธง ดาวรถซึ่งบางทีก็เรียกว่าดาวอาชาไนย ชาวบ้านเรียกันต่างๆ บ้างก็ว่า ดาวม้า ดาวจมูกม้า ดาวคางทูม ดาวไม้ค้ำเกวียน ทางไสยศาสตร์เรียกว่า ดาวโรหิณี ดาวเหล่านี้เป็นกลุ่มดาว ๗ ดวง เห็นเป็นรูปศีรษะม้า มีผมชี้ออกมาอีก ๒ ดวง แต่ชาวอินเดียเป็นเป็นรูปรถ ส่วนดาวลูกไก่ เป็นกลุ่มดาว ๘ ดวง อยู่เหนือดาวรถขึ้นไป ดาวเต่านั้นเรียกกันต่างๆ เช่นดาวมฤคเศียร ดาวหัวเต่า ดาวหัวเนื้อ เป็นกลุ่มดาว ๓ ดวง

ครับ ทางช้างเผือกที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าคือแม่น้ำคงคาในสวรรค์นั้น ไทยเราเรียกกันต่างๆ ดังที่เล่าแล้ว อย่างในขุนช้างขุนแผนมีบรรยายหลายตอนเช่น
“ครานั้นขุนแผนแสนประเสริฐ    เลื่องชื่อลือเลิศตลอดหล้า
กับลูกชายหงายแหงนดูดารา    พอเพลาดาวธงเข้าตรงรถ
ดูอากาศแผ้วผ่องเป็นคลองช้าง    แจ่มกระจ่างเด่นดาวดวงสะกด”

และม่านปักของวันทอง ก็มีกล่าวถึงอากาศคงคาหรือทางช้างเผือก หรือก็คือแม่น้ำคงคาบนสวรรค์นั่นแหละ

“ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม        อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
วินันตกหัสกันเป็นหลั่นมา        การวิกอิสินธรยุคนธร
อากาศคงคาชลาสินธุ์            มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน”

เอาเข้าจริงหรือครับ แม่น้ำคงคาก็เกิดจากธารน้ำแข็งซึ่งอยู่ที่เขาหิมาลัยในแคว้นคารหวัล แล้วก็ไหลไปจนตกอ่าวเบงกอล แม่น้ำนี้ยาวประมาณ ๑,๕๐๐ ไมล์ นับว่า มีความสำคัญแก่ชาวอินเดียในด้านเกษตรกรรมมากทีเดียวครับ ตำนานถึงได้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนี้ละครับ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร