การละเล่นและพิธีกรรมในสังคมไทย

Socail Like & Share

มโนราห์
โดยทั่วไปมักเป็นที่เข้าใจกันว่า การละเล่นต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมไทยตั้งแต่อดีต และที่ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นการละเล่นสนุกเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น และถ้าหากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมอยู่บ้างก็เกี่ยวแต่ในเรื่องการบันเทิงแต่ถ่ายเดียว
ด้วยข้อจำกัดทางความคิดเช่นนี้ จึงทำให้การศึกษาเรื่องการละเล่นที่ปรากฏในสังคมไทยจึงเน้นแต่เพียงรูปแบบว่าเล่นอย่างไร ? คือ ร้องอย่างไร ? รำอย่างไร ? เป็นส่วนมาก ไม่ค่อยพิจารณาถึงเนื้อหา และบทบาท ตลอดจนความหมายทั้งหมดของการละเล่นนั้นๆ ที่มีต่อสังคมส่วนรวม
รายงานนี้จึงมีจุดมุ่งหมายจะพยายามศึกษาการละเล่น โดยมีสมมติฐานว่า การละเล่นส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในสังคมไทยทั้งในอดีตและที่ยังเหลืออยู่นั้น ล้วนแต่มีรากฐานที่สัมพันธ์ อย่างแยกไม่ออกกับพิธีกรรมความเชื่อเกือบทั้งสิ้น แม้แต่กรณีการพูดเรื่องทางเพศในการเล่นเพลงโต้ตอบต่างๆ ก็ตาม ข้อมูลที่ใช้ประกอบในการเรียบเรียงส่วนใหญ่จะได้มาจากเอกสารต่างๆ ที่มีผู้ศึกษาไว้แล้วและจากประสบการณ์ในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา
จากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการของสังคมไทย จะเห็นได้ว่า ดินแดนประเทศไทยนี้ ตามความเป็นจริงแล้ว เป็นที่อยู่ของคนหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาผสมปนเปกินเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่กล่าวได้ว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Homogeneous culture) ดังจะเห็นได้จากภาษาระบบความเชื่อ และประเพณีต่างๆ ที่มีที่มาจากสภาพแวดล้อมในทางภูมิศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนใน ประเทศนี้เป็นสำคัญ กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ ลักษณะของสังคมไทยเป็นสังคมที่เรียกกันว่า สังคมตามประเพณี (tradi¬tional society) ที่มีพื้นฐานมาจากสังคมที่มีพัฒนาการมาจากสังคมแบบเผ่าพันธุ์ ซึ่งแยกอยู่โดดๆ มีความสมบูรณ์ของตัวเองมาเป็นสังคมแบบชาวนา (peasant society) ที่มีลักษณะสำคัญคือ ในขณะที่ยังรักษาลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอยู่ ก็ยอมรับและต้องการรูปแบบบางอย่างของวัฒนธรรมแบบเมืองเข้ามาผสมผสาน และเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมของตนอยู่เรื่อยๆ ทำให้สังคมแบบชาวนามีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ (part society) และเช่นเดียวกับสังคมชาวนาอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนผืนแผ่นดินใหญ่ที่ลักษณะทางวัฒนธรรมไทยอาจจำแนกออกได้เป็น ๒ ระดับมาแต่โบราณ คือ วัฒนธรรมของคนในระดับชั้นผู้นำ หรือชนชั้นสูงเรียกว่า ประเพณีหลวง (great tradition) และลักษณะของวัฒนธรรมของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหรือชนชั้นต่ำา ซึ่งจะแตกต่างออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ เรียกว่า ประเพณีราษฎร (little tradition)
ความสัมพันธ์ที่แสดงถึงความกลมกลืน เป็นอันหนึ่งเดียวกันของประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ก็คือ ได้มีการเลียนแบบหยิบยืมวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ประเพณีหลวงเองก็ได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาประสมประสานกับวัฒนธรรมต่างประเทศจนกลายเป็นประเพณีหลวงโดยสมบูรณ์ หลังจากนั้นแล้วก็จะมีอิทธิพลส่งกลับไปสู่ ประเพณีราษฎรอีกครั้งหนึ่งโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้ประเพณีราษฎร์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามประเพณีหลวง ในเรื่องการละเล่นก็เช่นเดียวกันที่จะจำแนกได้เป็น ๒ ระดับ คือ ส่วนที่เป็นประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวง แหละในสังคมลักษณะเช่นสังคมไทยดังที่กล่าวมาแล้วนี้ การพักผ่อนหย่อนใจส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพิธีกรรมและการทำมาหากินในรูปของการละเล่นต่างๆ ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่าการละเล่นเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่มีความหมายต่อสังคมไทย อย่างไรเพื่อความเข้าใจร่วมกันจึงจะให้คำจำกัดความของการละเล่นและพิธีกรรมรวมทั้งอธิบายถึงลักษณะของการละเล่น และพิธีกรรมต่างๆ ในสังคมไทย เป็นส่วนแรกและจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของการละเล่นกับระบบความเชื่อเป็นส่วนที่สอง ในส่วนสุดท้าย จะเป็นการสรุปถึงความหมายของการละเล่นในสังคมไทยและบทบาทที่การละเล่นเคยมีในสังคมไทย โดยสังเขป
การละเล่น หมายถึง การเล่นดนตรี การเล่นเพลง การเล่นรำ การเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ที่เรียกว่า มหรสพ หรือศิลปะการแสดง (performing art) แต่ไม่รวมการละเล่นของเด็ก
ลักษณะสำคัญของการละเล่น
ลักษณะสำคัญของการละเล่นของไทยแต่ดั้งเดิมนั้น มีความสัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาอย่างน้อย ๔ ประการ คือ
๑. ผู้ให้กำเนิดไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา และมักเกี่ยวพันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ข้อนี้มีปรากฏในพงศาวดารล้านช้าง ว่าหลังจากพระยาแถนหลวง (น่าจะหมายถึงพระอินทร์) ได้สร้างบ้านแปงเมือง ตลอดถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินให้มนุษย์เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ดำริที่จะสร้าง “เครื่องอันจักเล่นจักหัวและเสพรำคำขับทั้งมวล” ให้แก่มนุษย์ พระยาแถนหลวงจึงสั่งให้ “ศรีคันธพะเทวดา” (น่าจะหมายถึงคันธรรพเทวดา) “….ลง มาบอกสอนคนทั้งหลายให้เฮ็คฆ้องกลองกรับ เจแวปี่พาทย์ พิณเพี๊ยะเพลงกลอนได้สอนให้ดนตรีทั้งมวล และเล่าบอกส่วนครูอันขับฟ้อนฮ่อนนะสิ่งสว่าง ระเมงละมางทั้งมวลถ้วนแล้ว…”
เรื่องราวของพระยาแถนหลวงหรือ “แถน” นี้มีบทบาทและมีอิทธิพลสูงต่อความรู้สึกนึกคิดของชนชาติไทย-ลาว โดยเฉพาะแถบที่อาศัยอยู่ละแวกริมแม่น้ำโขงและใกล้เคียงนับตั้งแต่ดินแดนภาคอีสาน และภาคเหนือของประเทศไทยตลอดไปจนถึงชาวลาวในประเทศลาว และชาวไทยลื้อแห่งสิบสองปันนาในเขตปกครองตนเองมณฑลยูนนานที่ประเทศจีน เพราะพระยาแถนหลวงหรือ “แถน” ก่อให้เกิดการ บวงสรวงด้วยบั้งไฟ และการรำ การเซิ้งบั้งไฟ ในช่วงฤดูแล้ง หรือสงกรานต์
กล่าวโดยสรุปแล้ว “แถน” เป็นผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในสังคมของชนชาติไทย-ลาว และดูเหมือนจะเป็นความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งหลงเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่
เรื่องพระยาแถนหลวงให้ “ศรีคันธพะเทวดา” ลงมาสอนการร้องรำให้แก่มนุษย์นี้ ตรงกันกับเรื่องพระวิศุกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนสามองค์ของ “ดุริยเทพ” คือเทพเจ้าแห่งดุริยางค์ดนตรีของไทย
เกี่ยวกับกำเนิดของการร้องและรำนี้มีเรื่องราวแต่งเป็นคัมภีร์และบทละครเล่าสืบกันมาหลายกระแสด้วยกัน เช่น เรื่องราวของ “ศิวนาฏราช” ที่ทรงร่ายรำปราบมารหรืออสูร แล้วกลายเป็นแบบฉบับการร่ายรำสืบมา และพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เรื่อง “ธรรมา ธรรมะ สงคราม” ก็กล่าวถึงธรรมะเทพบุตร ปราบปรามอธรรมะเทพบุตรลงได้แล้วสอนให้ประชาราษฎรร้องรำ รื่นเริงสืบมาเป็นแบบฉบับ ส่วนพระราชนิพนธ์ของพระองค์อีกเรื่องหนึ่งคือ “พระภะรตเบิกโรง” เป็นเรื่องของพระภะรตมุนีผู้เป็นบรมครู ละคร อยากจะให้มีการละครเป็นการฉลอง และเพื่อให้เทวดาผู้ใหญ่โปรด จึงร่ายรำสั่งสอนลูกศิษย์ไว้ให้เป็นแบบอย่างสำหรับเล่นละคร
แม้แต่โนราก็มีที่มาด้วยเหตุ “เทพนิมิต” กล่าวคือ ราชธิดาของกษัตริย์เมืองหนึ่งฝันไปว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู การร่ายรำนั้นรำทั้งหมด ๑๒ ท่า มีเครื่องประโคมดนตรี คือกลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตร การประโคมดนตรี ลงกับท่ารำเป็นจังหวะกัน ราชธิดาองค์นี้จำได้แต่มีเหตุต้องถูกเนรเทศในขณะที่ทรงพระครรภ์ด้วย เหตุเพราะกินดอกบัวเข้าไป ต่อมาทรงคลอดลูกเป็นชายจึงได้รับการถ่ายทอดวิชา ร่ายรำตาม “เทพนิมิต” ให้ทั้งหมด กระทั่งเข้าเมืองได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และเครื่องต้น คือ เทริด กำไรแขนปั้นเหน่ง สังวาล พาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ทั้งสิ้น จากนั้นก็ถ่ายทอดการร่ายรำโนรานี้ให้แพร่หลาย เครื่องแต่งตัวโนราจึงเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์
เกี่ยวกับ “เทพนิมิต” นี้ ยังมีเรื่องเล่าว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงแต่งเพลงบุหลันลอยเลื่อนจากเหตุที่ทรงพระสุบินว่ามีเทวดาบรรเลงดุริยางค์ดนตรีแล้วทรงจำได้จึงทรงจัดเป็นโน้ตไว้ ต่อมาเรียกชื่อเพลงนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “เพลงทรงพระสุบิน” ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปในหมู่นักดนตรีไทย
ความเป็นมาของเพลงสาธุการซึ่งเป็นเพลงในพิธีกรรมที่สำคัญเพลงหนึ่งของไทยนั้น เชื่อกันมาว่าพระอิศวรซึ่งเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูแพ้พนัน “ซ่อนหา” กับพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้เสร็จใหม่ๆ จึงต้องทำเพลงถวายเพื่อแสดงความยอมอ่อนน้อมต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และให้ชื่อเพลงนี้ว่า “สาธุการ”
นอกเหนือจากนี้แล้ว การรำมวยอันเป็นสิ่งที่สืบทอดอยู่ในสังคมภาคอีสานมาเป็นเวลาช้านานนั้น มีความเป็นมาที่ผูกพันอยู่กับงานบุญประเพณีโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพระธาตุต่างๆ ของภาคอีสาน กล่าวคือมักจะมีการรำมวยถวายพระธาตุ เป็นต้น นอกจากนั้นก็รำมวยเนื่องในพิธีทางพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าแห่ปราสาทผึงออกพรรษา ฯลฯ
๒. มีความเชื่อถือและศรัทธาต่อ “เทวดา-ครู-ผี” อย่างเหนียวแน่น
ข้อนี้เกี่ยวพันมาจากข้อแรกในด้านที่ว่า “เทวดา- ครู-ผี” ซึ่งรวมเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจทั้งหลายในโลก เป็นผู้ให้กำเนิดเครื่องมือและการละเล่นนั้นๆ ดังนั้นจึงต้องทำความเคารพกราบไหว้ก่อนจะลงมือเล่น
การละเล่นบางชนิด ผู้เล่นจะต้องผ่านพิธีครอบจาก “ครู” เสียก่อนจึงจะเล่นได้ซึ่งในพิธีครอบนั้นจะต้องทำต่อหน้าเทวดาและผีดีทั้งหลายโดย “ครูผู้ใหญ่” ที่ได้รับการมอบหมายจากเทวดาและผีดีโดยเฉพาะ เหตุที่ต้องผ่านพิธีครอบเสียก่อนก็เพราะมีความเชื่อถือด้วยความเกรงกลัวว่าหากฉวยพลาดพลั้งหรือละเลยปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ได้รับการตราเอาไว้ อาจจะทำให้ผู้เล่นเป็นบ้าใบ้หรือล้มตายลงไปได้
โองการคำไหว้ครูของนักดนตรีไทยนั้นจะระบุนาม เทวดาที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดศิลปการดนตรีและขับร้อง ดังนี้
“พระวิศุกรรมผู้ทรงฤทธิ์
ท่านประสิทธิ์สาปสรรค์
เครื่องเล่นสิ่งสารพันในใต้หล้า
อีกทั้งท่านเทวดาปัญจสีขร
พระกรเธอถือพิณดีดดังเสนาะสนั่น
พระปรคนธรรพพระครูเฒ่า….ฯ”
สำหรบ “เทวดาปัญจสีขร” นั้น ในวงการศึกษาทางดุริยางคศิลปของไทยนับถือกันว่าเป็นบรมครูใหญ่ทางดนตรี ปีพาทย์ซึ่งจะต้องเคารพกราบไหว้บูชา ดังนั้น ใน “เพลงยาว ไหว้ครูมโหรี” ของเก่าจึงมีกล่าวคำนับเอาไว้ว่า
“ยอกรกึ่งเกล้าบงกชเกศ
ไหว้ไทเทเวศร์เป็นใหญ่
อันเรืองรู้ครูครอบพิณไชย
สถิตย์ในฉ้อชั้นกามา
ทรงนามชื่อปัญจศีขร

ได้สั่งสอนสานุศิษย์ในแหล่งหล้า
เป็นตำรับรับร้องสืบมา
ปรากฏเกียรติในแผ่นดินดอน”
บทไหว้ครูเสภาที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดมาจาก “นายอยู่” บ้านผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้วจะมีลักษณะแสดงให้เห็นความเชื่อได้อย่างดีทีเดียวว่า
o สิบนิ้วจะประนมเหนือเกศา
ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา
พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง
คงคายมนามาเป็นเกณฑ์
พระสุเมรึหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง
จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย
ไหว้ครูบิดาแลมารดา
ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย
อนึ่งจะบังคมองค์นารายณ์
อันสถิตแทบสายสมุทรไท
เอาพระยานาคราชเป็นอาสน์แก้ว
หามีเหตุไม่แล้วหาตื่นไม่
ทรงสังข์จักรคทาเกรียงไกร
ไวยกูณฐ์มาเป็นพระรามา
อนึ่งจะบังคมบรมพงศ์
ทรงหงส์เหินระเห็จพระเวหา
ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา
พระนารายณ์รามาธิบดี
ไหว้พระฤาษสิทธิ์แลคนธรรพ์
พระวิษณุกรรม์อันเรืองศรี
สาปสรรเครื่องเล่นในธรณี
จึงได้มีปรากฏแต่ก่อนมา ฯ
ท้ายที่สุดนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการ “ไหว้ครู” ซึ่งจะมีพัฒนาการ แตกแขนงออกไปกว้างขวาง โดยจะไหว้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เชื่อถือที่เคารพว่าศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชนนั้นๆ และจะปรากฏเนื้อความที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น ดังจะเห็นได้จากกลอนไหว้ครูของเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองซึ่ง เอนก นาวิกมูล และสุกัญญา สุจฉายา ได้ รวบรวมเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองภาคกลางเอาไว้อย่างดีที่สุดแล้ว ทั้งเป็นตัวอย่างของกลอนไหว้ครูของเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองทั่วไปทุกท้องถิ่นที่จะต้องกระทำก่อนจะถึงเวลาเล่นจริง
๓. เป็นการละเล่น ไม่ใช่การแสดง
ข้อนี้ หมายถึงการละเล่นเหล่านี้มิได้ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นการแสดงโดยวิธีชักชวนคน ออกจากบ้านไปซื้อบัตร เข้าชมอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยเยี่ยงในปัจจุบัน หากเป็นการละเล่นที่ทั้งผู้เล่นและผู้ชมมีความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และเกิดความมั่นคงในชุมชนของตน
การเล่นเพลง การเล่นดนตรี ตลอดถึงการเล่นระบำ รำฟ้อนต่างๆ ผู้ชมต่างรู้กันดีอยู่พอสมควรถึงระเบียบวิธีการเล่นนั้นๆ แล้ว หรือกล่าวได้อีกว่าผู้ชมรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเล่นอะไรและเล่นอย่างไร มีเนื้อหาสาระสำคัญว่ากระไร ทั้งนี้เพราะเป็นพิธีกรรมที่ต่างก็มีประสบการณ์กัน มาพอสมควร ยกเว้นเสียแต่คนใหม่ที่ยังไม่เคยผ่าน แต่ที่ผู้ชมยังถือโอกาสมีส่วนร่วมอยู่ด้วยนั้น เพราะเป็นสิ่งที่จะต้องประกอบพิธีร่วมกัน และในขณะที่ผู้เล่นกำลังเล่นอยู่นั้น ผู้ชมก็สามารถที่จะทำอะไรหรือแสดงอาการกิริยาอะไรขึ้นมาได้ตามชอบใจโดยที่ไม่ขัดกับพิธีกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การเดินไปมาหรือพูดคุยกัน
ในระดับชุมชนหมู่บ้าน การละเล่นอย่างทรงเจ้าเข้าผี การละเล่นนางด้งนางสาก การเล่นเพลงประเภทต่างๆ เช่น เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย ฯลฯ ตลอดถึงการเล่นแม่ศรี รวมไปถึงระดับสูงในราชสำนักอย่างการเล่นระเบ็งโมงครุ่ม คุลาตีไม้ ตลอดไปถึงโขนละครไม่ว่าจะเรื่องรามเกียรติ์หรืออุณรุท ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้ชมรู้มาก่อนจากประสบการณ์ และคำบอกเล่าว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร และลงท้ายอย่างไร แต่ผู้ชมซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชนนั้นๆ หรือในสังคมระดับนั้นๆ ต่างก็มีความเชื่อถือร่วมกันกับผู้แสดง และมีบทบาทในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงด้วย
การละเล่นเหล่านี้ ในชั้นต้นโดยทั่วไปแล้วไม่มีการยกพื้น ไม่มีเวทีเยี่ยงการแสดงทั่วไป หากจับเล่นกันบนลานดินทั่วไปหรือในพื้นที่ที่กำหนดร่วมกันขึ้นมา แล้วผู้ชมก็ตีวงนั่งล้อมการละเล่นนั้นๆ โดยอาจจะอุ้มลูกจูงหลานเข้ามาด้วยก็ได้ ในขณะที่อยู่ร่วมกับการแสดงนั้นก็อาจจะพูดคุยปัญหาต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่กำลังเล่นกันอยู่ก็ได้ การนำเอาลูกหลานเข้าไปร่วมด้วยนี้เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์หรือ เป็นการสั่งสอนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
๔. ไม่เล่นทั่วไป แต่จะเล่นเนื่องในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา
ข้อนี้ หมาย ถึงการละเล่นส่วนใหญ่จะผูกพันอยู่กับพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และความมั่นคงของชุมชนเพราะในยามปกติจะไม่เล่นกัน แต่จะต้องเล่นเฉพาะโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา หรือมิฉะนั้น ก็ในกรณีพิเศษซึ่งสมาชิกในสังคมตกลงกันว่าจะต้องเล่น เพราะถ้าหากไม่เล่นขึ้นมาแล้วจะเกิดความเดือดร้อนเสียหาย การละเล่นจึงต้องสัมพันธ์กับกาลเทศะด้วย
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *