ความสัมพันธ์ระหว่างการละเล่นกับระบบความเชื่อ

Socail Like & Share

ลอยกระทง
ดังกล่าวมาแล้วว่าส่วนประกอบที่สำคัญของพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนามีอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) การเซ่นสรวงบูชาหรือทำบุญ (๒) การกินเลี้ยง และ (๓) การละเล่นรื่นเริง
ส่วนประกอบทั้ง ๓ ประการนี้มีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ ดังนั้น การละเล่นจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดหรือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมของความเชื่อทางศาสนา แต่การละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมนี้แสดงออกมาด้วยการกระทำอย่างเป็นสัญญลักษณ์ (symbolic action) ซึ่งเราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจขบวนการทั้งหมดของพิธีกรรม กับความเชื่อที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เมื่อนั้น เราจึงจะเห็นสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับพิธีกรรม และทั้งมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และต่อสังคม
พิธีกรรม ที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสังคมนั้น ได้แก่พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวกับด้านอื่นก็มีบทบาทเช่นเดียวกัน หากแต่รายงานเรื่องนี้จะชี้ให้เห็นอย่างละเอียดเพียงเรื่องเดียวโดยจะพยายามยกตัวอย่างให้เห็นทั้งในระดับประเพณีราษฎร์และประเพณีหลวง ส่วนพิธีกรรมอื่นๆ นั้นไม่อาจกล่าวได้โดยละเอียดเนื่องจากมีเนื้อที่จำกัด
ว่ากันที่จริงแล้วพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์นั้นจะมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากจะถือตามคติโบราณดั้งเดิมแท้ๆ ที่ว่าปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน และเดือนแรกของปี หรือขึ้นปีใหม่กันในเดือนอ้าย” แล้ว พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำมาหากินก็จะมีตั้งแต่เดือนอ้ายไปจนจบ เดือนสิบสอง อย่างต่อเนื่องกัน

เรื่องขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายนี้เป็นคติที่เก่าแก่กว่าขึ้นปีใหม่ในเดือนห้าหรือ “สงกรานต์” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ประชาชนยังเชื่อถือทั้ง ๒ คติ กล่าวคือเมื่อเริ่มเดือนอ้ายก็มีพิธีกรรมขึ้นปีใหม่ ครั้นเมื่อถึงเดือนห้าก็มีขึ้นปีใหม่อีก อย่างน้อยที่สุดชื่อว่า “เดือนอ้าย” ย่อมเป็นเค้าให้เห็นอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการนับเดือนที่หนึ่งอย่างไทยแท้ๆ กรณีนี้มีปรากฏในชนเผ่าไทย-ลาว ทุกแห่งตรงกัน เข้าใจว่ามาเปลี่ยนเป็นขึ้นปีใหม่ในเดือนห้า “สงกรานต์” โดยกลุ่มที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเริ่มรับอารยธรรมอินเดียแล้วจึงแพร่หลายไปยังไทยเผ่าอื่นๆ ในภายหลัง
ดังได้ชี้ให้เห็นมาก่อนแล้วว่า “ประเพณีราษฎร์” และ “ประเพณีหลวง” นั้นมีความต่อเนื่องกัน, แต่มีความสลับซับซ้อนต่างกัน เพราะราชสำนักมีพื้นฐานมาจาก “ประเพณีราษฎร์” แต่ได้รับวัฒนธรรมจากต่างประเทศมาประสมประสานทำให้สร้าง “ประเพณีหลวง” ขึ้นมาด้วยการประสมประสานวัฒนธรรมต่างประเทศ เช่น วัฒนธรรมอินเดีย แต่ ก็ยังคงสาระสำคัญของ “ประเพณีราษฎร์” เอาไว้ ดังกรณี การย่อส่วนเพื่อ “บงการ” ธรรมชาติตามที่ยกมาแล้วในเรื่อง “ตาแรก” และการ “แรกนา” ดังนั้น จึงไม่ประหลาดใจเลยว่าพระราชพิธี ๑๒ เดือนที่กระทำ อยู่ในราชสำนักตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาลงมานั้น ก็คือสิ่งที่ได้เค้าโครงมาจาก “ประเพณีราษฎร์” และล้วนเป็นพิธีกรรมของประเพณีหลวง ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน คงกรณีที่เดือนหกมีพระราชพิธีแรกนา ครั้นไปถึงเดือนสิบเอ็ด จะมีพิธีแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทายผลผลิตในนาอีกครั้ง พอถึงเดือนสิบสองจะมีพิธีจุดประทีปลอยโคมเพื่อบัดพลีดีไหว้พระคงคาคือน้ำให้หล่อเลี้ยงข้าวกล้าซึ่งกำลังแตกรวงอร่าม แต่พอถึงอ้ายจะมีการชักว่าว แล้วลงเรือเพื่อไล่น้ำให้รีบลดลงไป มิฉะนั้นข้าวจะแก่เน่า เกี่ยวเก็บไม่ได้สะดวก ดังนี้เป็นต้น
พระราชพิธีดังกล่าวนั้น ไม่ปฏิเสธเลยว่ามีอิทธิพล วัฒนธรรมจากต่างประเทศอย่างอินเดียเข้ามาประสมประสาน จนซับซ้อนแล้ว แต่วัฒนธรรมอินเดียจะดำรงอยู่ไม่ได้ถ้าหากไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการผลิตของสังคม และราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็คงจะไม่ทำขึ้นหรือไม่คิคทำขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีพื้นฐานสังคมดั้งเดิมรองรับมาก่อน ในที่นี้เชื่อว่าสังคมไทย – ลาวมีพื้นฐานพิธีกรรมของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินรองรับอยู่แล้วอย่างมีความเป็นตัวของตัวเอง ดังกรณีที่ชนเผ่าไทย – ลาวมีความเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมี “ผี” สิงสถิตย์อยู่แล้วก็กระทำบวงสรวงบัดพลีดีไหว้ “ผี” เหล่านี้ เพื่อปกปักรักษาหรือเกื้อกูลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ การรับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามานั้นเป็นเพียงเอามาประสมประสานให้มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์เป็นระเบียบวิธีมากขึ้น เท่านั้นเอง ไม่ใช่หยิบลอกเอาเข้ามาทั้งหมดอย่างที่ส่วนมากเข้าใจกัน
ถ้าหากพระราชพิธีที่เป็น “ประเพณีหลวง” ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของมนุษย์ในดินแดนประเทศไทยนี้ ล้วนรับแบบอย่างมาจากอินเดียทั้งสิ้นทั้งมวล ก็น่าจะหมายความว่าการทำไร่ทำนาก็ต้องรับมาจากอินเดียด้วย แต่การทำกสิกรรมในดินแดนที่เป็นประเทศไทยนี้มีพัฒนาการมาเป็นเวลานับหมื่นปีแล้ว ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็น มนุษย์รุ่นแรกๆ รุ่นหนึ่งของโลกที่มีการทำกสิกรรม ดังนั้นพื้นฐานทางพิธีกรรมก็ย่อมจะมีอยู่ควบคู่กันไปด้วย แต่ย่อมเป็นสิ่งที่แน่นอนว่า พิธีกรรมเหล่านี้ย่อมคลี่คลายไปเรื่อยๆ จนทำให้คนรุ่นหลังๆ อาจจะไม่เข้าใจถึงสาระสำคัญของความหมายดั้งเดิม ดังที่ทุกวันนี้ก็อาจจะไม่มีใครเข้าใจความหมายเก่าแก่ของพิธีกรรมซึ่งทำสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน
ที่มาโดย:ปรานี วงษ์เทศ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *