เครื่องประดับเศียรหรือศิราภรณ์

Socail Like & Share

ชฎาคืออะไร? พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายไว้ว่า ผมที่เกล้าเป็นมวยสูงขึ้นอย่าง ๑ เครื่องสวมศีรษะรูปคล้ายมงกุฎอย่าง ๑

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงอธิบายว่า “คำว่าชฎาแปลว่า “รก” มาแต่ตาฤษีแกเกล้าผมมวยผมยุ่งๆ อันไม่ได้หวี” อย่างคำว่าชฎิล ก็แปลว่าผู้มีผมมุ่น ชฎาเป็นชฎา ครั้งแรกๆ เมื่อคนเรายังไว้ผมยาวทั้งชายหญิง (เพราะคงหาเครื่องมือตัดผมยากจึงต้องไว้ผมยาว) การไว้ผมยาวถ้าไม่จัดการผูกมัดให้เป็นระเบียบก็ดูจะเป็นชีเปลือยหรือผีสาง นางโกงไป คนเรารักความสวยงามจึงจัดการรวบผมผูกให้สูงขึ้น แล้วภายหลังก็คงจะเป็นพวกท่านผู้หญิงก่อน เห็นว่าเกล้าผมไว้เฉยๆ ไม่สวย จึงหาของมาประดับผม เช่นเอาเงินหรือทองทำเป็นเกี้ยวรวบผมไว้ หรือทำเป็นกระบังหน้ากันผมปรกลง ส่วนพวกผู้ชายนั้นเอาความ สะดวกเข้าว่าก็คงจะใช้ผ้าโพกศีรษะเสีย การโพกก็มีศิลปพันให้สวยงามเป็นเกล้าผมทรงสูง แล้วเอาผ้าพันไว้ กลายเป็นรูปชฎาไป แล้วภายหลังก็เอาโลหะเช่นเงินหรือทองมาทำเป็นรูปชฎาสวมศีรษะเสียเลย ชฎาจึงกลายมาเป็นศิราภรณ์เครื่องประดับศีรษะไปด้วยวิวัฒนาการของ มนุษย์

คนไทยสมัยก่อนจริงๆ คงจะไว้ผมยาวทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะผู้หญิงนั้น ปรากฏว่าไว้ผมยาวแม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่า “พระอัครมเหสี พระราชเทวีทรงราโชปโภค มีมงกุฎเกือกทอง อภิรม ๓ ชั้น พระราชยานมีจำลอง

พระราชเทวีพระอัครชายา ทรงราโชปโภคลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่สักหลาดมีอภิรม ๒ ชั้น เทวียานมีมกรชู ลูกเธอเอกโททรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภคลายทอง

หลานเธอเอกโทใส่เศียรเพฐมวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว

แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์ ใส่สนองเกล้าเสื้อแพรพรรณ ชะแม่หนุนยิกใส่เกี้ยว ดอกไม้ไหวแซม

นางพระกำนัลนางระบำนายเรือน หนุนยิกเกี้ยวแซม โขลนเกล้ารักแครง”

เครื่องประดับเศียรมีตั้งแต่ชั้นสูงของพระอัครมเหสี เป็นมงกุฎ จนกระทั่งหนุนยิกเกี้ยวแซม แสดงให้เห็นว่าต้องไว้ผมยาว ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะเอาอะไรมาหนุนยิกและเอาเกี้ยวไปติด หรือรัดไว้ตรงไหน หากผมสั้น

เครื่องประดับเศียรนั้น ถ้าเป็นของสูงเช่นพระมหากษัตริย์ก็มีมงกุฎ พระมาลา คนธรรมดาก็เป็นหมวกหรือผ้าโพก จนกระทั่งที่สุดแม้แต่ใช้ดอกไม้เสียบผม

รวมความแล้วเครื่องประดับเศียรหรือศิราภรณ์ เท่าที่ปรากฏในทุกวันนี้มีดังนี้

๑. ผ้าโพกศีรษะ ยังใช้อยู่ในหมู่ชนอีกหลายชาติเช่นอินเดีย ปากีสถานเป็นต้น ซึ่งวิธีการโพกผ้าของเขาก็มักจะพันเป็นรูปสูงขึ้นไปคล้ายๆ ชฎาเหมือนกัน

๒. หมวกหรือมาลา หรือถ้าเป็นราชาศัพท์ก็เรียกว่าพระมาลา ทำไมหมวกจึงเรียกว่ามาลาเข้าใจว่าเดิมทีเดียวหมวกนั้น คงจะเป็นเพียงโครงทำด้วยไม้แล้วประดับด้วยดอกไม้ หรือมาลา จึงเรียกหมวกว่ามาลา หรือพระมาลา แล้วภายหลังจึงทำหมวกเป็นรูปร่างอย่างทุกวันนี้ และวัตถุที่ทำก็เป็นผ้าหรือสักหลาด หรือใบไม้หรือตอก เช่น หมวกใบลาน หรือปอ เป็นต้น

เมื่อพูดถึงหมวกหรือมาลาแล้วก็อดที่จะพูดถึงพระมาลาเบี่ยงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ได้ พระมาลาเบี่ยงจะมีรูปร่างเป็นอย่างไรไม่มีใครสามารถจะบอกได้ เรารู้จักแต่ชื่อเท่านั้น เข้าใจกันว่าพระมาลาของพระนเรศวรนั้นเป็นหมวกมีปีก สาเหตุที่จะเรียกว่าพระมาลาเบี่ยงก็เพราะว่าตอนพระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชแห่งพม่านั้นได้ถูก พระมหาอุปราชฟันด้วยพระแสงของ้าว แต่พระองค์ก็เบี่ยงหลบเสียทันคงถูกแต่พระมาลาหนังขาดลิไป เสร็จสงคราม จึงทรงขนานพระนามพระมาลาใบนั้นว่าพระมาลาเบี่ยง

หมวกนั้นคือเครื่องสวมศีรษะ เป็นเครื่องประดับหรือกันแดดกันฝน หมวกที่เป็นเครื่องยศของเราสมัยโบราณก็มีเรียกว่าหมวกทรงประพาส มีรูปเป็นกลีบๆ มีชายปกข้างหน้า และข้างหลัง หมวกนั้นมีทั้งที่มีปีกและไม่มีปีก ใช้สวมทั้งบุรุษและสตรี สมัยหนึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลประกาศให้คนไทยทั้งชายและหญิงสวมหมวกว่าเป็นเครื่องหมายของผู้ที่เจริญแล้ว แต่คราวนั้นการสวมหมวกแทนที่จะเป็นเครื่องหมายของความเจริญกลายเป็นเครื่องทรมานคนเฒ่าคนแก่ไม่ว่าในเมืองหรือชนบทไป เพราะว่าพวกข้าราชการทำการเกินกว่าสั่งหรือจัดการนอกคำสั่งไป ขนาดที่ใครไม่สวมหมวกไปติดต่อราชการไม่ได้เอาทีเดียว ร้อนจนถึงบางคนเวลาไปติดต่ออำเภอไม่มีหมวกจะสวม เอาขันน้ำหรือกะละมังทำเป็นหมวกก็มี ดูน่าทุเรศทุรงยิ่งนัก

๓. มงกุฎ คือเครื่องสวมพระเศียรโดยเฉพาะเจ้าแผ่นดินมียอดแหลมสูง เป็นหนึ่งในห้าของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งต้องถวายเมื่อทำพิธีราชาภิเษก

๔. ชฎา ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ชฎานั้นมีหลายอย่าง เช่นชฎาเดินหน คือ ชฎายอดงอนที่มีกลีบ ชฎากลีบ คือชฎารูปเหมือนชฎาเดินหน แต่มีกลีบเป็นลายประดับมาก ชฎาแปลง คือชฎามีรูปเหมือนชฎากลีบแต่ไม่มีลวดลาย ชฎามหากฐิน คือชฎาที่ทำยอดเป็นห้ายอดมีขนนกการเวกปักตอนบน

เรื่องมาลาหรือมงกุฎนี้ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงอธิบายไว้ว่า “มาลา ของเราที่มียอดสูง ฉันคิดว่ามาแต่เครื่องแต่งหัวของเรา เครื่องแต่งหัวนั้นฉันคิดเอาโดยความสังเกตเห็นว่าโพกผ้าแล้วประดับเครื่องทอง เป็น ๓ ชั้น คือ ๑. มาลาพวง ดอกไม้รัดหัว (เรียกกันว่าเกี้ยว ว่ากระบังหน้าก็มี) ๒. เกี้ยว (หมายความว่าผูก) ฉันเอาไปยกให้ผูกมวย ผม กับ ๓. ปิ่น คือสิ่งที่ปักมวยผม เมื่อต้องการไม่ให้ผมลุ่ยก็ปักข้าง เมื่อต้องการให้เป็นยอดแหลมสูงก็ปักบน ยอดมาลา ฉันคิดว่ามาแต่ปิ่นโดยต้องการให้แหลมสูง

“ในการที่มีหัวแหลมสูง ฉันคิดว่า เป็นด้วยเกล้าผม ถ้าเกล้าผมสูง เครื่องประดับผมก็จะต้องเป็นทรงแหลมสูงอยู่เอง เมื่อแหลมสูงยังไม่เป็นที่พอใจ ก็ส่งเสริมอะไรให้แหลมสูงยิ่งขึ้น จะเป็นด้วยเหตุใดไม่ทราบ สมัยยิ่งใหม่ลงมา อะไรๆ ก็ต้องการให้แหลมยาวขึ้นทุกที ของใหม่สั้นลงได้ที่ฉันเป็นผู้นำ ทำด้วยเป็นของเก่าท่านทำสั้นๆ ที่จริงคำว่า มงกุฎ เดิมก็ที่หมายความว่าพวงดอกไม้สวมหัว ไม่ใช่หมายความว่ายอดสูงแหลม มีพยานให้เห็นได้ในพวกลิงที่เรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ในพวกนั้นสวมแต่พวงมาลา จะหาว่าตัวใดซึ่งมีหัวแหลมก็หามิได้เลย …ทีหลังทั้งมงกุฎและชฎาก็มาเข้าใจกันว่าเป็นยอดสูงแหลมไป เป็นเข้าใจผิดทั้งนั้น”

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี