ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์

Socail Like & Share

ในช่วงที่สยามเริ่มพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ความเจริญอย่างอารยประเทศนั้น มีสตรีผู้เกิดในราชินิกุล ได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลสตรียุคเก่าที่มุ่งหมายให้รอบรู้ในกิจการบ้านเรือนและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ท่านเป็น “แม่เรือน” ที่มีท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์คุณสมบัติยอดเยี่ยมท่านหนึ่งของยุคนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ท่านก็เป็นสตรีที่มีความริเริ่ม มีความคิดอ่านที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ เป็นผู้หนึ่งที่ขยายบทบาทของสตรีให้กว้างขวางมากขึ้น จากสถาบันครอบครัวไปสู่สังคมภายนอก สตรีท่านนี้คือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เป็นแบบอย่างของสตรียุคเก่าและยุคพัฒนาที่รวมอยู่ในบุคคลเดียวกัน

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ หรือท่านผู้หญิงภาสกรวงศ์ (เปลี่ยน บุนนาค) เดิมอยู่ในราชินิกุล “ชูโต” เป็นธิดาของนายสุดจินดา (พลอย) บุตรจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด) มารดาของท่านชื่อ “นิ่ม” เป็นธิดา ของพระยาสุรเสนา (น้องจมื่นศรีสรรักษ์ (ถัด)) กับคุณเปี่ยม ซึ่งเป็นธิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค เรียกกันโดยทั่วไปว่าสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ดังนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนจึงมีศักดิ์เป็นหลานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ด้วย

ในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับการศึกษาอบรมตามแบบกุลธิดาสมัยก่อน ซึ่งเกี่ยวกับการดูแลกิจการบ้านเรือน และโดยเหตุที่ท่านเป็นสตรีที่ฉลาด มีอุปนิสัยรักความประณีต อีกทั้งมีความคิดริเริ่มที่ดี ท่านจึงได้พากเพียรศึกษา ฝึกฝน และปรับปรุงการประกอบอาหารหวานคาว ฝีมือการปรุงอาหารของท่าน เป็นที่เลื่องลือทั่วไปว่าเป็นหนึ่งไม่มีสอง เป็นที่ชื่นชมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งท่านยังริเริ่มการ ประดิษฐ์อาหารและขนมให้ดูน่ารับประทาน เช่น การประดิษฐ์ “ลูกชุบ” ขึ้นถวายเจ้านาย ซึ่งยังเป็นที่นิยมจนถึงขณะนี้ นอกจากนี้ท่านยังได้รวบรวมและเรียบเรียงตำราอาหารหวานคาวทั้งของไทยและของต่างชาติขึ้นไว้ คือตำรา แม่ครัวหัวป่าก์ ซึ่งนับว่าเป็นตำรากับข้าวเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทยโดยมี เจ้าจอมพิศว์ ธิดาของท่านเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ตำราอาหารเล่มนี้ยังใช้เป็นแบบอย่างอยู่จนทุกวันนี้ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ท่านผู้หญิงยังมีฝีมือในการแกะสลักผักและผลไม้ รวมทั้งการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ดอกไม้สด และดอกไม้ขึ้ผึ้งอบหอม ส่วนฝีมือในการเย็บปักถักร้อยของท่านก็เป็นเยี่ยมเช่นกัน งานปักชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงต่างประเทศ คือ งานปักรูปเสือ ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานชิ้นสำคัญนี้ ได้ร่วมประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่างานปักของท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้รับรางวัลชนะเลิศของโลก ได้รับเงินรางวัลเป็นมูลค่าหลายพันเหรียญสหรัฐ รางวัลนี้นำเกียรติยศชื่อเสียงมาสู่ตัวท่านและวงศ์ตระกูล แต่ที่สำคัญคือเป็นเกียรติคุณอย่างยิ่งของประเทศชาติ

ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร หรือชุมพร บุนนาค) บุตรคนสุดท้องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ กับหม่อมอิน ตามหลักฐานที่ปรากฏทั้งสองมีบุตรธิดารวม ๒ คน คือ นายราชาณัตยานุหาร (พาสน์) และเจ้าจอมพิศว์ ในรัชกาลที่ ๕

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์นั้น นับว่าเป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยท่านหนึ่งที่ได้ปฏิบัติราชการด้วยความวิริยะอุตสาหะจนเกิดคุณประโยชน์มากมายแก่บ้านเมืองสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จในชีวิตการงานของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ส่วนหนึ่งมาจากผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังคือ ภริยา กล่าวคือ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นภริยาที่มีความสามารถในการบริหารบ้านเรือน สามารถปกครองดูแลบุตรบริวาร ให้ดำรงอยู่ด้วยความสุข สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวยกย่องท่านไว้ในหนังสือ “คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ดังนี้

“…การที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยาควรนับว่าเป็นโชคสำคัญในประวัติท่าน เพราะท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นนารีที่เฉลียวฉลาดและสามารถในกิจการจะหาผู้ที่เสมอเหมือน ได้โดยยาก ตรงกันกับลักษณะภริยาที่ยกย่องในพระบาลีว่า เปรียบด้วยมารดาและสหายของสามีรวมกันทั้ง ๒ สถาน ท่านผู้หญิงเปลี่ยนสามารถรับดูแลการงานบ้านเรือน ตลอดไปจนพิทักษ์รักษาโภคทรัพย์ ทั้งปวงมิให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ต้องอนาทรร้อนใจ และเอาเป็นธุระในการต้อนรับเลี้ยงดูผู้ที่ไปมายังบ้านเรือนสามี บางทีถึงอาจช่วยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ตลอดไปจนในกิจราชการ ไม่มีใครที่จะประมาณได้ว่า เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้รับประโยชน์และความสุขเพราะได้ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นภรรยานั้นสักเท่าใด แต่ข้อนี้ก็มีทั้งฝ่ายที่น่าสงสาร โดยความที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ได้เคยอาศัยท่านผู้หญิงเปลี่ยน สิ้นกังวลในการกินอยู่มาเสียช้านาน เมื่อท่านผู้หญิงเปลี่ยนถึงอนิจกรรม ท่านได้ความเดือดร้อนแสนสาหัส ก็ไม่อาจจะแก้ไขให้บรรเทาได้โดยลำพังตน จนเจ้าจอมพิศว์ธิดาออกไปอยู่ปรนนิบัติแทนมารดาต่อมา ท่านจึงค่อยได้ความสุขใจในตอนเมื่อแก่ชรา มาจนถึงอสัญกรรม…”

จึงเห็นได้ว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นสตรีที่ทำหน้าที่แม่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในระหว่างที่ “บ้าน” ขาดผู้นำครอบครัวเป็นครั้งคราว เนื่องจากเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณในต่างประเทศ ในระหว่างนั้นท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้ปฏิบัติหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเรือน บุตร บริวารให้อยู่ด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งการเป็น “แม่บ้าน” ของท่าน นั้นมิได้มีความหมายเพียงเรื่องการดูแลบ้านเรือน ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเฉพาะครอบครัว หากยังมีความหมายสำคัญยิ่งไปกว่านั้น เพราะแม่บ้านมีหน้าที่ดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือท่านวรรณ ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “การศึกษาของสตรี” ในหนังสือ “ชุมนุมพระนิพนธ์ของท่านวรรณฯ ว่าสตรีนั้น “….เป็นตัวจักรอันสำคัญยิ่งในการจรรโลงความเจริญและความก้าวหน้าของชาติ …” เพราะเหตุว่า “ครอบครัวเป็นหน่วยสาระสำคัญของสังคม คือ ชาติ ครอบครัวแน่นแฟ้น ชาติก็แน่นแฟ้น ครอบครัวเสื่อม ชาติก็เสื่อม ครอบครัวเจริญ ชาติก็เจริญ…” ดังนั้น นอกจากหน้าที่พื้นฐานโดยทั่วไปของสตรีคือ ความเป็นภริยาและมารดาที่ดีแล้ว สตรียังมีหน้าที่ที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์โดยส่วนรวม ในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคมด้วยเช่นกัน

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นสตรีที่มีสำนึกในหน้าที่ กล่าวคือ นอกจากการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของท่านจนเป็นที่ยกย่องชื่นชมแล้ว ท่านยังมีผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น และด้วยความเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน เพื่อประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมอันนับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในชีวิตของท่านอีกด้วย กล่าวคือในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับ ฝรั่งเศส เรื่องพรมแดนที่ฝั่งแม่นํ้าโขง ผลของการกระทบกระทั่งกลายเป็นการสู้รบ เนื่องจากฝ่ายฝรั่งเศสส่งกองทัพเรือมาปิดอ่าว ในการสู้รบครั้งนั้นปรากฏว่ามีราษฎร และทหารทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนไม่น้อย ท่านผู้หญิงเปลี่ยนได้เล็งเห็นความทุกข์ยากของทหารและราษฎรเหล่านั้น จึงได้ดำริว่า น่าจะมีองค์กรสักองค์กรหนึ่ง เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ ดังนั้นท่านจึงได้ชักชวนบรรดาสตรีชั้นสูงทั้งหลาย ให้มาร่วมมือกัน โดยท่านได้นำความกราบทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ขอให้ทรงรับเป็น “ชนนีผู้บำรุง” ขององค์การนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งนัก มีพระราชดำริว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรการกุศล เหมือนอย่างประเทศตะวันตกที่เคยมีมาแล้ว จึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีพระบรมราชานุญาต ให้กลุ่มสตรีอาสาสมัครนี้ทำการเรี่ยไรได้เงินทั้งสิ้น ๔๔๔,๗๒๘ บาท ซึ่งนับว่าเป็นมูลค่าอันมหาศาลสำหรับสมัยนั้น เงินที่ได้ทั้งหมดนี้ใช้ไปในการซื้อยาเพื่อรักษาผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ โดยส่วนหนึ่งใช้ในการเดินทางไปเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือครอบครัวทหารและพลเรือนที่ออกปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ด้วย

การปฏิบัติภารกิจของกลุ่มสตรีอาสาสมัครที่มีท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้นำเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสมาคมการกุศลในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยพระองค์ทรงพระกรุณาลงพระนามาภิไธยจัดตั้ง “สภาอุณาโลมแดงแห่งสยาม” อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีทรงเป็น “สภาชนนี” พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงดำรงตำแหน่ง “สภานายิกา” พระองค์แรก และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการิณี งานสำคัญของสภาอุณาโลมแดงแห่งสยามนี้คือ การจัดส่งยา อาหาร เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ ไปช่วยบำรุงทหารในสนามรบ ซึ่งสภาฯ ได้ดำเนินการเป็นผลดีจนกระทั่งการสู้รบได้ยุติลง นับว่าเป็นการทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ในการช่วยบำบัดทุกข์ให้แก่ทหารและพลเรือน เป็นการร่วมมือทั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังทรัพย์ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์อย่างดียิ่ง สภาอุณาโลมแดงแห่งสยามนี้ ต่อมาคือ “สภากาชาดสยาม” และเปลี่ยนชื่อเป็น “สภากาชาดไทย” ได้เข้าเป็นสมาชิกสภากาชาดสากลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้มีการเปิดโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้นในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลศิริราช) สำหรับเป็นสถานศึกษาวิชาพยาบาลและผดุงครรภ์ของสตรี ซึ่งเป็นพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ทรงเห็นว่าการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในขณะนั้น ยังไม่เจริญและยังคงตั้งพระทัยที่จะให้สตรีไทยได้รับการศึกษากว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงธรรมการเป็นผู้วางหลักสูตรการอบรมพยาบาลและการผดุงครรภ์ขึ้น เพื่อช่วยในการดูแลผู้ป่วย และการทำคลอด ในขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯ ให้ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ คือท่านผู้หญิงเปลี่ยน เป็นผู้อำนวยการ มีนายแพทย์เอช อาดัมสัน เป็นครูผู้สอน (ท่านผู้นี้ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระบำบัดสรรพโรค) ท่านผู้หญิงได้จัดการบริหาร จัดหากุลสตรีเข้ารับการอบรมโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบสนองตามพระราชประสงค์ทุกประการ โรงเรียนนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล”

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีฯ ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสถาบันการแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์ที่ศิริราชพยาบาล (ต่อมาคือ โรงเรียนราชแพทยาลัย) ปรากฏว่ามีนักเรียนแพทย์และผดุงครรภ์ที่สอบได้ตามหลักสูตรและได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรเป็นรุ่นแรก ๑๐ คน เป็นนักเรียนที่เข้าศึกษาในสมัยที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยนเป็นผู้อำนวยการทั้งสิ้น ซึ่งท่านผู้หญิงได้ใช้ความวิริยะ อุตสาหะ และไหวพริบในการจัดการและบริหารโรงเรียนฯ ให้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นคุณประโยชน์สำหรับการศึกษาของสตรีไทยและสำหรับประชาชนทั่วไป

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ นับได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งของสตรีไทยที่มีความเพียบพร้อมในทุกๆ ด้าน การวางตนและการปฏิบัติตนของท่านนั้นเป็นที่ภาคภูมิใจของสามี บุตร ธิดา มิตรสหาย และบริวาร รวมทั้งสตรีไทยโดยทั่วไปด้วย ท่านเป็นผู้ที่ทำงานมาตลอดช่วงชีวิตของท่าน และงานที่ทำก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นทั้งสิ้น นับได้ว่าท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นสตรีที่มีความสามารถสูง ในการจัดกิจการต่างๆ ทั้ง “ในบ้านและนอกบ้าน”

นารีนี้เปรียบด้วย บาทหลัง คชนา
บุรุษประดุจดัง บาทหน้า
บาทหลังไป่เก้กัง ก้าวเรียบ ตามเฮย
คชก็แล่นไป่ล้า ลุด้าวแดนประสงค์

ยิ่งอนงค์ทรงไว้ซึ่ง ความดี ด้วยเฮย
สามารถปราชญ์เปรื่องมี จิตรมั่น
นอกจากกิจจรลี เปรียบคช คระไลเฮย
ยิ่งช่วยบาทหน้ากั้น ผิดก้าวไปตรง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ศาสตราจารย์ พระวรเวทย์พิสิฐ