ลักษณะของควายที่ดีและไม่ดี

Socail Like & Share

อย่างไรก็ตาม ควายก็เหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ย่อมมีทั้งดีและชั่ว เพราะฉะนั้น การจะเลี้ยงควายจึงต้องเลือกลักษณะที่ดีไว้ ส่วนลักษณะที่ไม่ดีนั้น ท่านว่าส่งโรงฆ่าสัตว์เป็นอาหารของมนุษย์เสียแล

ควายนั้นมีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ชอบนอนน้ำ ไม่ชอบแดดร้อน เวลากลางคืนชอบนอนที่แห้ง ดังนั้นเวลาหน้าน้ำบางแห่ง จึงต้องทำร้านให้ควายนอน เรียกว่าเป็นเรือนควายก็ไม่ผิด เพราะต้องทำให้แข็งแรงพอๆ กับบ้านคนทีเดียวควาย2

ควายนั้นมีทั้งที่ดีและที่ไม่ดี ลักษณะควายงามที่ดีนั้น ผู้รู้ท่านบอกไว้ว่า “หนักบางและตึง จมูกกว้างมีเหงื่อชื้นอยู่เสมอ กระดูกตรงไม่คดไปทางซ้ายหรือขวา นัยน์ตาแจ่มใส แต่ไม่ใช่ตาตื่น โคนเขาเล็กเรียวไปตลอด ปลายเขาโค้งเข้าหากันไม่กางเกะกะ เนื้อเขาละเอียดคล้ายสีผึ้ง คอหนาปานกลาง หลังตรง ลำตัวลึกและกว้าง ส่วนท้ายใหญ่ ตะโพกใหญ่มนที่เรียกกันว่า “ก้นมะนาวตัด” โคนหางใหญ่ ซอกที่โคนหางมีเนื้อเต็มแน่น หางยาวลงไปถึงครึ่งหน้าแข้ง พู่หางเป็นพวง หน้าอกกว้าง ขาหน้าทั้งสองติดแนบชิดกับลำตัว ขาตรงไม่สอบเข้าหรือแบะออก ขาหลังตรงกีบใหญ่ กีบทั้งสองชิดกัน ดูเป็นวงกลมท่าทางประเปรียว กินหญ้าเร็ว ไม่ค่อยเลือกหญ้า มักเดินออกหน้านำฝูงเสมอ ควายบางตัวก่อนจะลงนอนมักหมุนตัวไปรอบๆ ที่ที่จะนอน และใช้เท้าหน้าตะกุยดิน ๓- ๔ ครั้งแล้วจึงนอน ควายชนิดนี้เรียกกันว่า “กวายกวาดกอง” ถือกันว่าเป็นควายมีตระกูลดี ควายชนิดนี้มักฝึกง่าย ใช้งานดี ควายเผือกหรือควายดำไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องใช้งาน”

ลักษณะและนิสัยควายที่ไม่ดี คือ หนังหนาและย่น จมูกรั้น กระดูกหน้าคด หน้าสั้น เขาใหญ่เทอะทะ เนื้อเขาหยาบมีรอยแตกร้าว เขาหลุด เขาคลอน เขากางเกะกะ ตาเชื่อมซึม หน้าอกแคบ กีบถ่าง ขอเท้าอ่อน กีบยื่นไปข้างหน้าเหมือนขาเป็ด ก้นเล็ก ตะโพกเล็ก โคนหางเล็ก ซอกโคนหางเป็นร่องลึก หางเล็กสั้น ควายบางตัวนอนกรนหรือคราง ชอบดูดลมเข้าปากดังเสียงซื้ดๆ นิสัยเหล่านี้ถือว่าเป็นอัปมงคล

เมื่อรู้ลักษณะดีชั่วของควายแล้ว พึงเลือกเลี้ยงแต่ควายที่ลักษณะดีเถิด แต่ควายที่จะมีลักษณะดีครบถ้วนตามตำราดังที่ว่ามาข้างต้นนี้ ดูจะหาไม่ค่อยง่ายนัก ดังนั้น เพียงแต่ควายที่มีลักษณะดีเป็นส่วนมาก มีส่วนเสียเล็กน้อยก็ควรจะเลี้ยงได้เหมือนกัน

ควายเป็นสัตว์จำเป็นสำหรับชาวนาไทย หรือกสิกรไทย ดังนั้น ทางการจึงต้องออกกฎหมายคุ้มครองไว้เช่นเดียวกับสัตว์อีกหลายชนิด กฎหมายนั้นคือพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. ๒๔๘๒ ความจริงเรามีพระราชบัญญัตินี้มาแต่ ร.ศ. ๑๑๙ แล้ว แต่มายกเลิกเสีย และใช้กฎหมายฉบับที่กล่าวแทนมาจนบัดนี้ ตามพระราชบัญญัตินี้ ระบุสัตว์พาหนะไว้ว่า มี ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ ลา และเมื่อเป็นสัตว์พาหนะแล้ว ก็ต้องทำตั๋วรูปพรรณขึ้นทะเบียนไว้เพื่อให้รู้ลักษณะว่าสัตว์ตัวไหนเป็นของใคร โดยลงรูปพรรณตำหนิ เช่นขวัญเป็นต้น ไว้ในตั๋วรูปพรรณนั้น กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ว่าสัตว์ชนิดใดต้องทำตั๋วรูปพรรณเมื่อใดไว้ดังนี้
(๑) ช้างมีอายุย่างเข้าปีที่แปด
(๒) สัตว์อื่นนอกจากโคตัวเมียมีอายุย่างเข้าปีที่หก

(๓) สัตว์ใดได้ใช้ขับขี่ลากเข็นหรือใช้งานแล้ว
(๔) สัตว์ใดที่มีอายุย่างเข้าปีที่สี่ เมื่อจะนำออกนอกราชอาณาจักร
(๕) โคตัวเมียมีอายุย่างเข้าปีที่หก เมื่อจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ เว้นแต่ในกรณีรับมรดก

วิธีจดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณก็คือ ให้เจ้าของหรือตัวแทนพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน หรือพยานในกรณีที่ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ใหญ่บ้านไปด้วยไม่ได้ นำสัตว์ไปขอจดทะเบียน ทำตั๋วรูปพรรณจากนายทะเบียนท้องที่คือนายอำเภอหรือผู้ทำการแทน ในท้องที่ที่สัตว์นั้นอยู่

การซื้อขายกระบือและสัตว์พาหนะที่กล่าวมานี้ ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว การซื้อขายนั้นใช้ไม่ได้ ภาษากฎหมายว่าเป็นโมฆะ คือเสียเปล่า

ควายก็ย่อมมีการเจ็บป่วยเช่นกับสัตว์อื่น  โรคระบาดสัตว์ที่ร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. ๒๔๙๙ คือ โรครินเดอร์เปสต์ หรือโรคลงแดง โรคเฮโมรายิคเซพติซีเมีย โรกแอนแทรกซ์ เฉพาะโรคนี้ติดต่อถึงคนด้วย โรคเซอร่าา โรคสารติก โรคมงคล่อพิษ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคอหิวาต์สุกร และโรคอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

การค้าสัตว์พาหนะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฆ่าสัตว์เหล่านี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นท่านจะต้องมีความผิด บางคนถือว่า สัตว์ของเรา เราจะฆ่าเสียเมื่อไรก็ได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่รู้ท่านก็พ้นโทษ แต่ถ้าถูกจับท่านก็ลำบากแน่ ที่ทางการต้องเข้มงวดกวดขันเรื่องการฆ่าสัตว์ก็เพื่อจะป้องกันโจรผู้ร้ายไม่ให้ลักสัตว์ไปฆ่ากันง่าย ป้องกันมิให้สัตว์ถูกทำลาย และประการสำคัญก็คือว่า เนื้อสัตว์นั้นเป็นอาหารอันโอชะของคนก็จริงอยู่ แต่โรคที่อยู่ในเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นอันตรายที่ร้ายแรงบางทีผู้กินเนื้อสัตว์ต้องเสียชีวิตไปก็มี ซึ่งก็มีมามากรายแล้วด้วย ดังนั้นหากสัตว์เช่นกระบือของท่านเจ็บป่วยก็ควรจะปรึกษาสัตวแพทย์ซึ่ง ประจำอยู่ที่อำเภอหรือจังหวัดเสียโดยเร็ว เพื่อสัตวแพทย์ท่านจะได้ออกไปเยียวยารักษาให้ การฆ่าสัตว์กินเป็นอาหารก็ต้องขออนุญาตและให้สัตวแพทย์ตรวจเสียก่อนจึงจะปลอดภัย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี